กระจกนิรภัย iPhone 6

บทความรีวิวฉบับนี้ มาดูบทความที่เป็นการ รีวิวฟิลม์กันรอย iPhone 6 และ ฟิลม์กันรอย iPhone 6 Plus ของ COMMY กันดูบ้าง ก่อนหน้านี้ ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับ โทรศัพท์มือถือ iPhone มาแล้วครั้งนึง ได้รับความนิยมล้นหลามจริงๆ คนดูหลักแสนคนเข้าไปแล้ว นั่นก็คือบทความ วิธีแก้ปัญหา กล้อง iPhone ไม่ชัด กล้อง iPhone ไม่โฟกัส อันเกิดมาจากสาเหตของการตกหล่น ปรากฏว่าบทความนี้หลังจากที่ได้ถูกเผยแพร่ออกไป ผลตอบรับกลับมาดีมากๆ มันสามารถช่วยเพื่อนร่วมโลกได้อีกหลายๆ คน มีคนมาตอบกระทู้ดีใจที่สามารถแก้ไขได้ เกือบ 200 คน แถมมีคนแชร์ในเฟสบุ๊คไปอีกเกือบๆ พันคน ซึ่งก็ถือว่าเป็นสถิติที่ถือว่าเยอะมากๆ บทความหนึ่ง หากเทียบเว็บเล็กๆ จากบล็อกเกอร์โนเนม อย่างผมแบบนี้

บทความนี้ก็ยังคงเป็นบทความที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ ที่อาจเกิดขึ้นกับโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน อย่าง iPhone และอุบัติเหตุยอดนิยมที่สุดของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ทุกยุคทุกสมัยเลยนั่นก็คือ ทำตก ทำหล่น หล่นบนพรมยังไม่ว่า หล่นบนพื้นกระเบื้องในบ้านก็ยังพอทำเนา แต่ถ้าหากหล่นลงบนพื้นคอนกรีต อย่างพื้นถนน ที่มีเศษหิน เศษกรวด แบบนี้ โมเม้นท์ขณะที่กำลังเอื้อมลงไปเก็บมือถือสมาร์ทโฟนที่ตกแน่นิ่งอยู่บนพื้นนั้น มันช่างลุ้นยิ่งกว่าผลสอบเอ็นทรานซ์ เสียอีก ว่าโทรศัพท์มือถือสุดที่รักของเราจะนั้นจะบาดเจ็บมากน้อยแค่ไหน เครื่องจะเป็นรอยบุบ หน้าจอจะแตกร้าวหรือไม่

และบริเวณที่ส่วนมากแล้วคนทำมือถือหล่นพื้นจะเป็นห่วงมากที่สุดคือหน้าจอ (Screen) เพราะมันเป็นส่วนที่มีพื้นที่ ที่มากที่สุด และ สำคัญมากที่สุด เพราะถ้าหากหน้าจอเสียขึ้นมาทีนึง ไม่ใช่แค่การแสดงผลจะเพี้ยนมีปัญหาไป แต่การรับค่า (Input) ส่งคำสั่ง ยังมีปัญหาตามไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่ผู้คนจะสรรหามาช่วยปกป้องหน้าจอมือถือนั่นก็คือ ตัวปกป้อง ป้องกันหน้าจอ นั่นก็คือ “Screen Protector” นั่นเอง

กระจกนิรภัย vs ฟิลม์กันรอย

ในปัจจุบันนี้ ตัวป้องกันหน้าจอ ที่เป็นที่นิยมกันมากๆ มีอยู่ 2 อย่าง กระจกนิรภัย (Tempered Glass) และ ฟิลม์กันรอย (Screen Guard Film) ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันคร่าวๆ เสียก่อนว่ามันแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ฟิลม์กันรอย (Screen Guard Film)

ขอเริ่มต้นกันที่ ฟิลม์กันรอย กันก่อน ภาษาอังกฤษเค้าเรียกกันว่า “Screen Guard Film” มันก็เป็นแผ่นฟิลม์ ที่ทำมาจากพลาสติกใส ในท้องตลาดส่วนมาก มีให้เลือกใช้กัน 2 แบบหลักๆ คือ ฟิลม์กันรอยแบบใส ที่จะเห็นรอยนิ้วมือขณะใช้งาน ต้องหมั่นทำความสะอาดบ่อยๆ แต่จะเห็นสิ่งต่างๆ บนหน้าจออย่างชัดเจน และอีกแบบนึงคือ ฟิลม์กันรอยแบบด้าน แบบนี้สีของฟิลม์จะออกขุ่นๆ หน่อย ช่วยถนอมสายตาขณะใช้งาน แถม เวลาใช้งานจะไม่มีรอยนิ้วมือของผู้ใช้งานอีกด้วย

ถ้าถามว่าส่วนตัวผมชอบแบบไหน ขอตอบแบบแรก คือ ฟิลม์แบบใส ครับ เพราะมันเป็นธรรมชาติ ดีเหมือนไม่ได้ติดฟิลม์ อะไรใดๆ บนหน้าจอ

กระจกนิรภัย (Tempered Glass)

คำว่า “กระจกนิรภัย” ชื่อนี้ ส่วนมากแล้วเราจะเคยได้ยินจากตามกระจกตามประตู หน้าต่าง หรือแม้แต่ กระจกรถยนต์ ซึ่งกระจกพวกนี้เวลาได้รับการกระแทก อย่างแรง อย่างเช่น รถชน โดนทุบ มันจะไม่แตกแบบละเอียดและมีเศษกระจกที่แหลมคมออกมา ทำให้ไปบาดผู้คนได้ ด้วยความที่มันเป็น กระจกนิรภัย เวลาแตก ก็จะเป็นเศษเล็กๆ ละเอียดๆ เป็นเม็ดๆ ออกมาทั้งหมด ทำให้ผู้ที่โดนกระจก จะไม่ได้รับความบาดเจ็บ อะไรประมาณนั้น พูดง่ายๆ คือไม่บาดคนนั่นเอง

และปัจจุบันนี้เทคโนโลยีของ กระจกนิรภัย ก็ได้มาอยู่กับอุปกรณ์เครื่องใช้ ที่อยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้นอย่างอย่าง โทรศัพท์มือถือ นั่นเอง ส่วนมันมีคุณสมบัติพิเศษอะไรกว่าฟิลม์กันรอย บ้างนั้นมาดูคุณสมบัติด้านล่างนี้เลย

ข้อแตกต่างระหว่าง กระจกนิรภัย กับ ฟิลม์กันรอย

ก่อนจะไปลงในรายละเอียดของการรีวิวนั้น ขอแจ้งเรื่องของคุณสมบัติ และ ข้อแตกต่างระหว่าง กระจกนิรภัย กับ ฟิลม์กันรอย กันก่อน ว่ามีจุดแตกต่างกันอย่างไรตรงไหนบ้าง

  1. กระจกนิรภัย จะมีความหนากว่า ฟิลม์กันรอย
  2. มีพื้นผิวที่แข็งแกร่ง ทนทานต่อการขูดขีด และ แรงกระแทก
  3. ความใส พอๆ กับฟิลม์กันรอย แบบใส
  4. เวลากระจกแตก จะไม่แตกละเอียด และมีส่วนแหลมคมไปบาด ผู้ใช้งาน

กระจกนิรภัย iPhone ของ COMMY

ผมได้มีโอกาสนำเอา กระจกนิรภัย iPhone ทั้ง กระจกนิรภัย iPhone 6 ธรรมดา และ กระจกนิรภัย iPhone 6 Plus ยี่ห้อ COMMY มาเขียนรีวิวดู ซึ่งหลายๆ คนคงจะรู้จักสินค้าจากแบรนด์คอมมี่ (COMMY) กันบ้างอยู่แล้ว ในแง่มุมของ อุปกรณ์เสริมมือถือ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น สายชาร์จ แบตสำรอง อะแดปเตอร์ และอื่นๆ

ในความเป็นจริงแล้วทาง COMMY เอง ก็ยังทำตลาดในส่วนของอุปกรณ์ปกป้องหน้าจอมือถือ (Screen Protector) อย่าง กระจกนิรภัย ที่ได้ มาตรฐาน กระจกอาซาฮีจากญี่ปุ่น (Japan Asahi Glass) อีกด้วย

คุณสมบัติ กระจกนิรภัย iPhone ของ COMMY

กระจกนิรภัย ของ COMMY นั้นเป็นกระจกชนิดพิเศษ ที่ถูกออกแบบมาให้ทนต่อการกระแทก และ แรงขูดขีด ในระดับ 9H* มันสามารถดูดซับแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี เวลาตกพื้น หรือแม้แต่โดนคัตเตอร์ กุญแจต่างๆ มาขีดข่วน ก็สามารถปกป้องหน้าจอ ของโทรศัพท์มือถือ ของคุณเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

เชื่อได้ว่าคุณผู้ชายหลายคน มักจะใส่โทรศัพท์มือถือ อย่าง iPhone ไว้ในกระเป๋ากางเกง ควบคู่ไปกับกุญแจบ้าน กุญแจรถ (ผมก็คือหนึ่งในนั้น) และ ปัญหาที่พบคือ เมื่อ 2 สิ่งนี้อยู่ด้วยกัน คือ กุญแจจะเข้าไปสร้างรอยขีดข่วน รอยขูดขีด ให้กับ โทรศัพท์มือถือ ของคุณได้ง่ายๆ

แต่ด้วย กระจกนิรภัยของ COMMY นอกจากที่จะมีความแข็งแรงแล้ว ยังมีความใสสูง การแสดงผลหน้าจอ และ การพิมพ์ใช้นิ้วมือสั่งงาน ไม่ผิดเพี้ยนเช่นกัน แถมยังเคลือบผิวด้วยสารที่ป้องกันรอยนิ้วมือ และ รอยเปื้อนต่างๆ มาดูคุณสมบัติสรุปด้านล่างนี้กันเลย

  1. กระจกนิรภัย COMMY นั้น มีความบางเพียงแค่ 0.33 มิลลิเมตร (mm.) เท่านั้น แม้จะเป็นกระจกนิรภัย ก็ตาม
  2. ขอบกระจกเป็นแบบหลบมุม 2.5D เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้อย่างไหลลื่น ไม่มีสะดุด
  3. ทนแรงกระแทก แรงขูดขีด ได้ในระดับ 9H*
  4. วัสดุทำจากกระจกแท้ ทำให้การสัมผัสลื่น เป็นพิเศษ และ ไม่มีสะดุด
  5. เคลือบผิวกระจกด้วยสารป้องกันรอยนิ้วมือ และ รอยเปื้อนต่างๆ
  6. ติดตั้งง่าย เหมือนกับ ฟิลม์กันรอย ที่จำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป

9H* : การกันกระแทกระดับ 9H เป็นระดับของความสามารถในการกันแรงกระแทก ของ กระจกนิรภัย ต่อรอยขีดข่วน ขูดขีด ต่างๆ ในระดับสูงสุด ซึ่งมีความแข็งแรงในระดับที่ สูงกว่าฟิลม์กันรอยทั่วๆ ไปมากกว่า 5 เท่า คุณสมบัติเด่นคือ นอกจากนี้ เวลาแตกยังจะแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ (Shatterproof) อีกด้วย

Commy Screen Guard Tempered Glass with iPhone 6
กระจกนิรภัย COMMY กับ iPhone 6

ด้านหน้ากล่อง กระจกนิรภัย iPhone 6 จาก COMMY

ด้านหน้ากล่อง ในส่วนของ ด้านบนเขียนว่า ” COMMY Film Super Screen Guard” พร้อมเขียนที่มุมขวาด้านบนของกล่องฟลิตภัณฑ์ว่า Tempered Glass ซึ่งก็แปลว่า กระจกนิรภัย นั่นเอง

ภาพตรงกลางกล่อง มีรูปค้อนกำลังทุบกับกระจกนิรภัย ที่กำลังติดบนหน้าจอ แต่กระจกนิรภัยแตกร้าว แต่ในภาพแสดงให้เห็นว่าข้างหลัง ที่เป็นตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ นั้นไม่เกิดความเสียหายอะไรเลย

ส่วนด้านล่างมีบอกคุณสมบัติของ กระจกนิรภัย iPhone นี้ว่ามีอะไรที่โดดเด่น และ น่าสนใจบ้าง พร้อมที่อยู่เว็บไซต์ www.commy4u.com

ด้านหลังกล่อง กระจกนิรภัย iPhone 6 จาก COMMY

Commy Screen Guard Tempered Glass Package Back
ด้านหลังกล่อง กระจกนิรภัย iPhone 6 (กล่องซ้าย) และ iPhone 6 Plus (กล่องขวา)

ในส่วนของด้านหลังกล่อง กระจกนิรภัย iPhone 6 นี้นั้นก็จะมีแสดงรายละเอียด คำอธิบายเพิ่มเติม พร้อมบอกวิธีการติดตั้งตัวกระจกนิรภัย กับเครื่องโทรศัพท์มือถือ iPhone เพียงง่ายๆ แค่ 3 ขั้นตอนเท่านั้น ดังต่อไปนี้

  1. Clean Device (ทำความสะอาดหน้าจอ) : ทำความสะอาดหน้าจอ จากผ้าไมโครไฟเบอร์ (Microfiber Cloth) ที่แถมให้มาในกล่อง
  2. Peel Layer Mask (ดึงฉลากที่แปะบนกระจกนิรภัยออก) : ดึงฉลากที่แกะติดบนกระจกนิรภัยออก ซึ่งที่ฉลากสีแดงๆ เขียนว่า “COMMY, Please peel off this mask before application”
  3. Squeeze out Air Bubbles (ไล่ฟองอากาศ) : ขั้นตอนสุดท้ายคือการไล่ฟองอากาศ ที่อาจมีอยู่ใต้กระจกนิรภัย ด้วยแผ่นไล่ฟองอากาศ (Scratch Card)

ข้างในกล่อง กระจกนิรภัย iPhone 6 มีอะไรบ้าง ?

หลังจากที่ได้ยลโฉม ดูรูปลักษณ์ภายนอกกล่องกันเสร็จแล้ว ลองมาดูส่วนประกอบภายในกล่องกันดูบ้าง ว่าเขาให้อะไรมาใช้สอยกันบ้าง

เมื่อเปิดเข้ามาด้านในกล่องจะเห็นว่า ภายในมีส่วนประกอบหลักๆ อยู่ 3 ส่วนด้วยกันคือ (เรียงจากซ้ายไปขวา)

  1. ฟิลม์กันรอยด้านหลัง
  2. กระจกนิรภัย
  3. ซองใส่อุปกรณ์เสริม

ในส่วนของ ซองใส่อุปกรณ์เสริม นั้น ผมก็ขอแกะและถอดออกมาให้ดูกันชัดๆ อีกซะหน่อยว่า มีอะไรข้างในซองใสๆ นั้นบ้าง

Commy Screen Guard Tempered Glass Inside Envelope
สิ่งท่บรรจุอยู่ภายใน ซองพลาสติกใส ที่มากับกล่อง กระจกนิรภัย iPhone 6 จาก COMMY ว่ามีอะไรบ้าง ?

และ เมื่อเทซองใส่อุปกรณ์เสริม ของ กระจกนิรภัย ออกมา ก็จะพบกับอุปกรณ์ชิ้นเล็กชิ้นน้อยทั้งหมด 5 อย่างด้วยกัน ของเรียงจากซ้ายไปขวา และ บนลงล่าง ได้แก่

  1. Microfiber Cloth (ผ้าไมโครไฟเบอร์) : ใช้เช็ดทำความสะอาดกระจกนิรภัย และ ตัวเครื่อง
  2. Scratch Card (แผ่นขูดไล่ฟองอากาศ) : ใช้รูดเพื่อไล่ฟองอากาศสะสม ด้านใน
  3. Home Button (ปุ่มโฮมกดเสริม) : มีให้เลือก 2 แบบคือ แบบใส กับ แบบดำ แต่หากคุณใช้ฟังก์ชั่นสแกนลายนิ้วมือ (Touch ID) เพื่อใช้ในการปลดล็อคเครื่อง หรือ ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น บน แอพสโตร์ ไม่แนะนำให้ติด เพราะจะใช้ฟังก์ชั่นนี้ไม่ได้
  4. Dust Removal Sticker (สติ๊กเกอร์ดูดจับฝุ่น) : ใช้ดูดจับฝุ่นออกจากฟิลม์ เหมือน สก๊อตเทป
  5. Alcohol Swap (ผ้าแอลกอฮอล์ ชนิดเปียก) : ที่เห็นเป็นซองสีเขียวๆ ใช้ในการกำจัดฝุ่น และ รอยนิ้วมือ คราบมัน ต่างๆ ออกจากหน้าจอ หรือ กระจกนิรภัย iPhone เช่นกัน มีคุณสมบัติแห้งเร็ว และสะอาดหมดจด

เรียกได้ว่าจุดขายของเขาคือ กระจกนิรภัย แต่จากที่กล่าวมาด้านบน อุปกรณ์เสริมต่างๆ จัดเต็มมาให้เพียบ เรียกได้ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ก็แล้วแต่เลย แต่ว่าแต่ละอย่างที่ให้มาล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งนั้น

การติดตั้ง กระจกนิรภัย iPhone 6

และก็มาถึงส่วนของการติดตั้งตัว กระจกนิรภัย เข้ากับโทรศัพท์มือถือ iPhone 6 ตัวเก่งของผมกันแล้วว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง และ มีขั้นตอนการติดตั้งที่ยุ่งยากหรือไม่นั้น มาดูกันทีละขั้นตอนกันเลย

ทดสอบการใช้งาน กระจกนิรภัย iPhone 6 ของ COMMY

มาถึงในส่วนของการทดสอบ เทส การใช้งานของกระจกนิรภัย COMMY กันดูบ้าง ผมมีเอา คัตเตอร์ (Cutter) กับ กุญแจ (Key) ลองกรีด ถูๆ ไถๆ ลงบนหน้าจอดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

Commy Screen Guard Tempered Glass Test with Cutter
ทดสอบ กระจกนิรภัย iPhone 6 ของ COMMY กับ คัตเตอร์
Commy Screen Guard Tempered Glass Test with Key
ทดสอบ กระจกนิรภัย iPhone 6 ของ COMMY กับ กุญแจ

ผลลัพธ์คือ ไม่มีรอยอะไรใดๆ เกิดขึ้น อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ว่า เพราะมันเป็นกระจกนั่นเอง (อ้าว แล้วจะเทสทำไมนี่ 555) คราวนี้ไม่ว่าคุณจะเอามือถือใส่เข้าไปในกระเป๋ากางเกง ที่มีพวงกุญแจรถ กุญแจบ้าน อยู่ด้วยแล้วละก็ หายห่วงเรื่องหน้าจอเป็นรอยได้เลย

บทสรุป กระจกนิรภัย iPhone 6 ของ COMMY

หลังจากที่ทดลองใช้ กระจกนิรภัย iPhone 6 ของ COMMY มาได้สักระยะ บอกว่าแรกๆ อาจดูแปลกๆ ไม่ชิน แต่ใช้เวลาแค่ 1-2 วันก็สามารถปรับตัวได้แล้ว ในส่วนของการควบคุม การพิมพ์บนหน้าจอ และ การใช้งานทั่วๆ ไปนั้นสบายมาก เหมือนที่เขาโฆษณาเอาไว้ ว่าการแสดงผลของหน้าจอ ถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยน และ การใช้งานทั่วๆ ไปนั้น การพิมพ์งาน ก็เหมือนติดฟิลม์กันรอย ทั่วๆ ไป ที่ผมเคยติดมาก่อน ได้อย่างไม่มีปัญหา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้