จดทะเบียนสมรส เปลี่ยนนามสกุล

Marriage Certificate Article Share
จดทะเบียนสมรส เปลี่ยนนามสกุล (Marriage Registration Change Surname)

เชื่อว่าหลายคน หรือ คู่สมรสหลายคู่ที่กำลังจะ จัดงานแต่งงาน หรือ จัดงานแต่งงาน เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว จะต้องมีคิดเรื่องของการ จดทะเบียนสมรส อย่างแน่นอน (จัดงานแต่งงาน กับ จดทะเบียนสมรส คนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง) ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องมีความคิดว่าจะจดทะเบียนดี หรือไม่จดดี และถ้าหากตัดสินใจว่าจดทะเบียนสมรสแล้ว ก็จะมีประเด็นอีกว่าจะ จดทะเบียนสมรส เปลี่ยนนามสกุล หรือไม่ หรือไม่เปลี่ยนนามสกุลดี เพราะเจ้าสาว หรือฝ่ายหญิง

หลายคนอาจจะเข้าใจว่าการเปลี่ยนนามสกุล มันจะยุ่งยากมากๆ เพราะไหนจะเอกสารที่เราได้ทำมาก่อนหน้าการจดทะเบียนสมรสนี้ อาทิเช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต – Passport) วีซ่า รวมไปถึงในส่วนของ เอกสารการเงินที่สำคัญๆ อย่างเช่น บัญชีธนาคาร บัตรเครดิต ต่างๆ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากใครที่ประกอบธุรกิจ มีกิจการเป็นของตัวเอง เปิดบริษัท ห้างร้านฯ อะไรพวกนี้ ก็คงจะคิดว่ายุ่งยากมากๆ ในการจะทำเรื่องเปลี่ยนทีนึง ซึ่งอยากจะบอกเอาไว้ตรงนี้เลยว่า “ไม่ยากอย่างที่คิด” เลย ถ้าอ่านบทความนี้จบ ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดทั้งหมดนี้ เราสามารถใช้เวลาทำเคลียร์ให้จบได้ภายใน 1 สัปดาห์ เรียกได้ว่าใครทำงานอยู่ หาโอกาสลางานยาวไปเลย 5 วัน โดยใช้สิทธิ์ลากิจไปเลย (เห็นหลายคนลาไปเที่ยวต่างประเทศยาวๆ ยังทำได้) อันนี้ขอหนเดียวเคลียร์เอกสาร เพื่อตัวเอง เพื่ออนาคต และจะอยู่กับเรา และคู่สมรส ไปตลอดจนตาย ขอทีเดียวจบ

ก่อนจะเริ่มอ่านบทความอันแสนจะยาวเหยียดนี้ ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านที่เป็นฝ่ายเจ้าสาวทุกท่าน และสุดท้าย ขอให้คู่สมรสทุกคู่ อ่านบทความนี้และนำไปใช้ดำเนินการ แค่ครั้งเดียวพอ ไม่อยากให้สมรสกันหลายๆ ครั้งนะครับ หากพร้อมแล้ว อ่านต่อด้านล่างได้เลย

จดทะเบียนสมรส

หากพูดถึง ทะเบียนสมรส ก็ถือเป็นเอกสารที่สำคัญสำหรับฝ่ายหญิง ที่แต่งงานกับฝ่ายชาย เนื่องจากเป็นหลักกฏหมายไทย ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าฝ่ายหญิงและฝ่ายชายได้ทำการจดทะเบียนสมรสกันทางกฏหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ว่า การจดทะเบียนสมรส ในสมัยนี้ สามารถจดได้ที่ สำนักงานเขตทุกเขต (เขตกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล) หรือ ที่ว่าการอำเภอ (ต่างจังหวัด) ได้ทั่วประเทศไทยเลยทีเดียว

เอกสารหลักฐานเพื่อใช้ จดทะเบียนสมรส

Marriage Certificate Article Wedding Ceremony in Church Walking
พิธีแต่งงานในโบสถ์ – กำลังเดิน (Church Wedding Ceremony – Walking)

เราทั้งสองตัดสินใจ ไปจดทะเบียนสมรส กันในวันคริสต์มาส (วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2556) ซึ่งก็เป็นวันดี และ วันสำคัญ (มากๆ) ทางศาสนาคริสต์

โดยเราทั้งสอง เลือกที่จะไปจดที่สำนักงานเขตบางรัก ด้วยสองสาเหตุหลักๆ คือ เพราะเป็นเขตที่คนมาจดเยอะ (ชื่อเขตเป็นมลคล) อีกเหตุผลคือ เพราะออฟฟิศ บริษัท ไทยแวร์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด อยู่ในเขตนี้ แต่ก่อนมาดำเนินเรื่องโน่นนี่บ่อย จึงคุ้นเคยกับสถานที่เป็นอย่างดี

สำหรับหลักฐานที่จะต้องใช้ในวันจดทะเบียนสมรสก็มีอยู่ทั้งหมด 3 อย่าง (สำหรับคู่ผม) คือ

  1. บัตรประชาชน ตัวจริงของทั้ง 2 ฝ่าย (ที่ยังไม่หมดอายุ) ✓
  2. ทะเบียนบ้าน ตัวจริงของทั้ง 2 ฝ่าย (เตรียมไปเผื่อ พร้อมถ่ายสำเนาคนละ 2 ชุด) ✓
  3. พยาน 2 คน (พร้อมบัตรประชาชน)
  4. สูติบัตรหรือทะเบียนบ้านของบุตร (กรณีมีบุตร เกิดก่อนหน้าที่จะมาจดทะเบียนสมรส)
  5. หลักฐานการจดทะเบียนหย่า กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเคยจดทะเบียนสมรส และ หย่ามาก่อน
  6. กรณียังไม่บรรลุนิติภาวะ (20 ปีบริบูรณ์) บิดา และ มารดา ต้องมาให้ความยินยอม ต่อหน้าเจ้าหน้าที่
  7. แบบฟอร์ม คร.1 หรือ คำร้องขอจดทะเบียนและบันทึกทะเบียนครอบครัว (ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม คร.1)
    (จริงๆ แบบฟอร์ม คร.1 ไปเอาที่เขต และเขียนตรงนั้นเลยก็ได้) ✓

ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส

สำหรับคู่เรา เอกสารเตรียมแค่ข้อ 1 – 3 และ ข้อ 7 (แบบฟอร์ม คร.1) ก็พอ เพราะอายุเกิน 20 ไม่เคยสมรสมาก่อน และ ยังไม่มีบุตรด้วยกันมาก่อนมาจดทะเบียนสมรส อิอิ ซึ่งหลังจากกรอกแบบฟอร์มเสร็จ ยื่นคำร้องส่งเอกสาร ก็นั่งรอฟังเจ้าหน้าที่นายทะเบียนเรียก เข้าไปสัมภาษณ์ สั้นๆ ไม่มีอะไรมาก วันที่ไป (25 ธันวาคม) ก็ไม่ได้มีคนมากมายอะไร แต่คู่ก่อนหน้า ดันเป็นคู่ที่มาแจ้งหย่ากัน ส่วนเรามาจดทะเบียนสมรส ก็แอบใจเสียเล็กน้อย เห็นต่างฝ่ายต่างเครียดกันทั้งสองฝ่าย แต่ก็เอาวะ คู่ใครคู่มัน ทางใครทางมันนิ ไม่ได้เกี่ยวกับซะหน่อย

Marriage Certificate Article Marriage Registration at Bangrak District Office
จดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตบางรัก (Marriage Registration at Bangrak District Office) โดย หลังจาก จดทะเบียนสมรส เรียบร้อยแล้ว รับมอบ ใบสำคัญการสมรส (แบบฟอร์ม คร.3) สังเกตุว่ามี 2 ใบ สำหรับ ฝ่ายชาย และ ฝ่ายหญิง เก็บคนละใบ

เมื่อถูกเรียกไปนั่งที่โต๊ะ เค้าก็จะถามว่าฝ่ายหญิงต้องการจะเปลี่ยนนามสกุล เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อหรือไม่ ยินยอมแต่งงานทั้งสองฝ่าย ไม่ได้ถูกใครบังคับมาใช่หรือไม่ ? ข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องทรพย์สินต่างๆ อะไรประมาณ ก็ตอบ ค่ะ / ครับ กันไปตามลำดับ และปรากฏว่าวันที่เรียกเข้าไป คู่ของเราไม่ได้พาพยานไปที่สำนักงานเขตด้วย ทางเจ้าหน้าที่เขตเขาจึงได้เอาคู่แต่งงานที่ต่อคิวหลังจากผม เป็นว่าที่สองสามีภรรยาเหมือนกัน มาเซ็นต์รับทราบ ลงในใบทะเบียนสมรัส (แบบฟอร์ม คร.2) เพื่อเป็นพยานในการจดทะเบียนสมรสให้กับคู่เรา ในทางกลับกันเขาก็ให้ผมและภรรยา ไปเซ็นต์รับทราบเพื่อเป็นพยานให้กับคู่เขาเช่นกัน (เพราะเขาก็ไม่ได้พาพยานมาด้วย) เรียกได้ว่าไขว้กันไปเลย หลังจากที่เซ็นต์เอกสารเรียบร้อย เราจะได้เอกสารสำคัญทางราชการ มาเพิ่มเติมอีก 2 ใบ นั่นก็คือ

  1. แบบฟอร์ม คร.2 : แบบฟอร์มนี้เรียกว่า ทะเบียนสมรส อย่างเป็นทางการ เป็นลักษณะใบที่มีเซ็นต์ยินยอมของทั้งสองฝ่าย พร้อมข้อกำหนด การใช้คำนำหน้าชื่อ การใช้นามสกุลของฝ่ายชาย นายทะเบียนจะระบุชัดเจนลงในแบบฟอร์มฉบับนี้)
  2. แบบฟอร์ม คร.3 : แบบฟอร์มนี้เรียกว่า ใบสำคัญการสมรส ซึ่งจะ เป็นใบรับรองมีลายดอกไม้สวยงาม ซึ่งเขาจะพิมพ์มาให้ 2 ฉบับ สำหรับฝ่ายชาย และ ฝ่ายหญิง เพื่อเก็บเอาไว้

เมื่อรับเอกสารสำคัญทั้ง 2 (แบบฟอร์ม คร.2 และ คร.3) กลับมาเรียบร้อย ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี การจดทะเบียนสมรส ถูกต้องตามกฏหมายอย่างเป็นทางการ หากซื้อกรอบ สมุดเล่มแดงๆ ราคาประมาณ 400.00 บาท มีให้ถ่ายรูปกับนายทะเบียนด้วยนะ

หลังแต่งงาน จดทะเบียนสมรส แล้วจะต้องทำอะไรต่อ ?

Marriage Certificate Article Wedding Ceremony in Church Holding Hands
พิธีแต่งงานในโบสถ์ – กำลังจับมือ (Church Wedding Ceremony – Holding Hands)

จากนี้ไป จะเป็นวิธีการเดินสายเปลี่ยนเอกสารมากมาย ในแต่ละหน่วยงาน ซึ่งเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ของการเข้าถึงข้อมูลของในแต่ละหัวข้อ จึงขอแยกเป็นหัวข้อๆ เอาไว้ หากใครต้องการจะข้ามไปอ่านอันไหน สามารถกดที่ลิ้งค์ด้านล่าง เพื่อไปอ่านในหัวข้อที่ต้องการได้เลยทันที

แจ้งเปลี่ยนนามสกุล หลัง จดทะเบียนสมรส ที่ว่าการเขตฯ

ขั้นตอนต่อไปหลังจากการที่ได้ทำการ จดทะเบียนสมรส เปลี่ยนนามสกุล ใหม่แล้ว หน้าที่ต่อไปฝ่ายหญิง จะต้องเหนื่อยหน่อย (ฝ่ายชายลอยลำ สบายแล้ว) เนื่องจากมีเอกสารหลายอย่างที่ต้องไปเคลียร์ เพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลง คำนำหน้าชื่อ และ นามสกุล ให้เรียบร้อยเสียก่อน ส่วนระยะเวลาหลังจากวันที่ไปจดทะเบียนสมรสที่เขต หรือ ที่ว่าการอำเภอ

Marriage Certificate Article Surname Change Registration Certificate
หนังสือสําคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล (แบบ ช.5) (Certificate of Surname Change Registration)

มาจนถึงวันที่ไปแจ้งเปลี่ยนนามสกุล ที่สำนักงานเขต ที่เรามีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้าน (ย้ำ !! ว่าต้องเป็นเขตที่เรามีชื่อในทะเบียนบ้าน เท่านั้น เขตอื่นไม่ได้) ซึ่งก็จะมีะยะเวลาไม่เกิน 90 วัน (3 เดือน) แต่ก็มี บางคนบอก 60 วัน (2 เดือน) แต่เอาเป็นว่า จดทะเบียนสมรสเสร็จแล้ว รีบไปให้เร็วที่สุดดีกว่า ไม่ต้องรอถึง 60 90 วันหรอก หลังจากจดทะเบียนแล้วจะต้องทำการแจ้งเปลี่ยนแปลงนามสกุลที่สำนักงานเขตหรือเทศบาล ที่ฝ่ายหญิงมีชื่ออยู่ในเขตนั้น โดยการนำเอกสารไปยื่นดังต่อไปนี้

  1. เล่มทะเบียนบ้าน ตัวจริง ที่ตน (เจ้าสาว) มีชื่ออยู่ในนั้น (สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ชุด)
  2. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง (ที่ยังไม่หมดอายุ) (สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ชุด)
  3. ใบทะเบียนสมรส ตัวจริง (สำเนาใบทะเบียนสมรส) (แบบฟอร์ม คร.2) (สำคัญมากๆ)
  4. ใบสำคัญการสมรส ตัวจริง (สำเนาใบสำคัญการสมรส) (แบบฟอร์ม คร.3)
  5. และเอกสารที่ทางสำนักงานเขตให้ไว้หลังจากทำการจดทะเบียนสมรสแล้ว อื่นๆ ทั้งหมด อาทิเช่น หนังสือรับรองการจดทะเบียนสมรส เป็นต้น

เข้าไปตรวจสอบเอกสารอีกครั้งกับฝ่ายประชาสัมพันธ์เขต เพื่อรับบัตรคิว แล้วรอเจ้าหน้าที่ทำการแก้ไขเปลี่ยนชื่อในเล่มทะเบียนบ้าน หลังจากถึงคิวจะได้รับเอกสารฉบับนี้มาคือ

“หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล หรือแบบฟอร์ม ช.๕ (ช.5)”

เอกสาร แบบฟอร์ม ช.๕ ตรงนี้ถือว่าสำคัญมากๆ และ สำคัญโคตรๆ “ห้ามหาย !” ควรถ่ายสำเนาเก็บเอาไว้เยอะๆ และแยกกันเก็บเอาไว้หลายๆ ที่เลย ทั้งบ้านเรือนหอของตัวเอง เก็บไว้ที่บ้านพ่อแม่ตัวเองไว้ด้วย ทั้งสองฝ่าย เพราะต่อจากนี้ไป เราจะต้องใช้เอกสารใบนี้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นแจ้งเปลี่ยนชื่อในเอกสารการเงิน บัญชีธนาคาร บัตรเครดิต หนังสือเดินทาง (พาสฟอร์ต) และอื่นๆ อีกเพียบ

↑ กลับขึ้นด้านบน

เปลี่ยนนามสกุล บัตรประชาชน เพื่อ ทำบัตรประชาชน ใบใหม่

หลังจากได้แบบฟร์อม ช.๕ มาแล้ว ซึ่งเปรียบเสมือนใบเบิกทาง ที่ทำให้เราได้กลับมาเป็นคนไทยที่ถูกกฏหมายอีกครั้ง (ความรู้สึกเป็นอย่างนั้น) หลังจากได้มาแล้ว ก็ขอให้นำใบนี้ไปยื่นเพื่อทำการเปลี่ยนบัตรประชาชนให้เรียบร้อย ที่ทำการเขต ที่เรามีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือ จะที่สำนักงานเขตอื่นๆ ที่สะดวกใกล้บ้าน ก็ได้เช่นกัน

หลายคนอาจจะสงสัย ว่ามันสามารถทำวันเดียวกับวันที่ไปยื่นเรื่อง ที่ได้รับ หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล หรือ ช.๕ (ช.5) ได้เลยหรือไม่ คำตอบคือ “ได้” แต่ถ้ายังไม่หมดวันนะ เรียกได้ว่าต้องไปกันเช้าตรู่หน่อย เพื่อทำธุระให้เสร็จสองอย่างในวันเดียวกัน แต่ยังไงก็ต้องทำธุระเพื่อให้ได้ใบ ช.๕ มาก่อนแน่นอน

เอกสารหลักฐาน เพื่อใช้ทำบัตรประชาชนใหม่

  1. หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล (แบบฟอร์ม ช.๕) (ฉบับจริง พร้อม สำเนา 1 ชุด)
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
  3. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง (ที่ยังไม่หมดอายุ) (สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ชุด)
  4. ใบทะเบียนสมรส (ฉบับจริง พร้อม สำเนา 1 ชุด) (กันเอาไว้ก่อน เผื่อบางที่เรียกขอ)
  5. ค่าธรรมเนียม 20 บาท

โดยการทำบัตรประชาชนใหม่ เพื่ออัพเดท เปลี่ยนนามสกุล ให้ตรงกับนามสกุลใหม่ของเรานั้น ความจริงแล้ว สามารถไปทำบัตรประชาชนได้ที่สำนักงานเขตทั่วไป ที่ไหนก็ได้ แต่คิวจะค่อนข้างเยอะ หรือ จะไปทำที่ออกบัตรประจำตัวประชาชนแบบด่วนพิเศษ หรือที่เรียกว่า จุดบริการด่วนมหานคร (BMA Express) ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 4 ที่ทั่วกรุงเทพฯ คือ

สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS Station)

  1. สถานีรถไฟฟ้า BTS สยาม (BTS Siam Station) (โทร : 0-2250-0125-6)
  2. สถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต (BTS MoChit Station) (โทร : 0-2272-5346)
  3. สถานีรถไฟฟ้า BTS พร้อมพงษ์ (BTS Prompong Station) (โทร: 0-2663-5203-4)
  4. สถานีรถไฟฟ้า BTS อุดมสุข (BTS Udomsuk Station) (โทร : 0-2399-3499)
  5. สถานีรถไฟฟ้า BTS วงเวียนใหญ่ (BTS Wongwian Yai Station) (โทร : 0-2440-1604)

ทุกสถานีรถไฟฟ้า เปิดให้บริการรายละเอียดดังนี้คือ

  • วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ (เวลา 10.00 น. ถึง 19.00 น.)
  • วันเสาร์ และ วันอาทิตย์ (เวลา 10.00 น. ถึง 18.00 น.)
  • วันหยุดนักขัตฤกษ์ (เวลา 10.00 น. ถึง 18.00 น.)

ห้างสรรพสินค้า (Department Store)

  • ห้างสรรพสินค้าพาราไดซ์ พาร์ค ณ บริเวณชั้น G (Paradise Park)
    เปิดบริการ : 11.00 น. ถึง 19.00 น.
  • ห้างสรรพสินค้าแฟชั่นไอส์แลนด์รามอินทรา บริเวณชั้น B (Fashion Island)
    เปิดบริการ : 11.00 น. ถึง 19.00 น.

หมายเหตุ : กรณีไปการทำบัตรประชาชนใหม่ด้วยสาเหตุ บัตรหมดอายุแล้วภายใน 60 วัน จะไม่เสียค่าธรรมเนียม ถ้าหากเกินจะถูกค่าปรับ ไม่เกิน 200 บาท แต่ถ้าการไปทำบัตรประชาชนใหม่ ด้วยสาเหตุ เปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล หรือสูญหาย จะต้องเสียค่าธรรมเนียมแน่ๆ 20 บาท

↑ กลับขึ้นด้านบน

เปลี่ยนนามสกุล พาสปอร์ต (หนังสือเดินทาง)

การเปลี่ยนนามสกุลกับ หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) เขาจะไม่มีการแก้ชื่อ หรือ นามสกุล กับหนังสือเดินทางเล่มเก่า แต่จะเป็นการทำเล่มใหม่เลย ซึ่งค่าบริการทำเล่มใหม่ประมาณ 1,000 บาท ใช้เวลาประมาณ 2-3 วันทำการเสร็จ (หากไปรับเล่มด้วยตัวเอง เพราะต้องการรีบใช้ หรือสะดวกเพราะใกล้บ้าน)

แต่ว่าถ้าหาก มีความประสงค์ต้องการให้จัดส่งมาที่บ้านทางไปรษณีย์ ค่าจัดส่งทางไปรษณีย์ไทยให้ถึงบ้าน ซึ่งมีอีกประมาณ 40 บาท ใช้เวลารอประมาณ 5-7 วันทำการ

หมายเหตุ : ถ้าหากไม่รีบมาก ชนิดที่จะต้องบินวันนี้พรุ่งนี้ แนะนำว่า ให้เขาส่งมาให้ที่บ้านเลยจะดีกว่า เพราะถ้าไปเอาเอง ค่ารถ ค่าเดินทาง ก็เกินค่าส่งไปรษณีย์ แล้วละ

เอกสารหลักฐาน เพื่อใช้ทำบัตรหนังสือเดินทางใหม่

  1. หนังสือเดินทางเล่มเดิม
  2. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง (ที่ยังไม่หมดอายุ) (สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ชุด)
  3. หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล (แบบฟอร์ม ช.๕) (ฉบับจริง พร้อม สำเนา 1 ชุด)
  4. ค่าธรรมเนียม 1,000 บาท
  5. ค่าธรรมเนียมการรับรองหนังสือเดินทาง (Passport Endorsement)* หนังสือเดินทางทั้ง 2 เล่ม (เล่มเก่า และ เล่มใหม่) เข้าไว้ด้วยกัน 100 บาท (ใช้เวลารอเพิ่มอีกประมาณ 45 นาที)

หมายเหตุ* : ใช้เพื่อการยืนยัน และรับรองว่า เจ้าของหนังสือเดินทางเล่มเก่า กับเล่มใหม่ ว่าคือคนคนเดียวกันจริงๆ ส่วนมากจากจะใช้ในกรณีที่หนังสือเดินทางหมดอายุไปแล้ว แต่วีซ่าของบางประเทศอาจจะยังไม่หมดอายุในเล่มเดิม

โดยประเทศที่จำเป็นต้องทำการรับรองหนังสือเดินทางนั้นคือ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศเท่านั้น ในขณะที่ประเทศอื่นไม่จำเป็นต้องใช้ (แค่เวลาเดินทางก็พกหนังสือเดินทางติดตัวไปทั้ง 2 เล่ม ก็พอแล้ว) แต่ถ้ามีความประสงค์จะทำจริงๆ ก็สามารถทำได้ ถ้าต้องการ

การไปขอทำหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) เล่มใหม่ สามารถทำได้ ตามสถานที่ดังต่อไปนี้ เขตกรุงเทพ และ ปริมณฑล ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพ และ ปริมณฑล นั้นสามารถไปทำหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ได้ตามสถานที่หลักๆ 5 จุดซึ่งกระจายอยู่ ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. กรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ
    1. ที่อยู่ : 123 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
    2. โทรศัพท์ : 0-22030-5000 กด 1 (เพื่อติดต่อกรมการกงสุล) หรือ 0-2572-8442 (Call Center)
    3. โทรสาร : ไม่มีข้อมูล
    4. เวลาทำการ : วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 15.30 น.
  2. สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปิ่นเกล้า
    1. ที่อยู่ : อาคาร SC Plaza สถานีขนส่งกรุงเทพ (สายใต้ใหม่) ถนนบรมราชชนนี
    2. โทรศัพท์ :  0-2422-3431
    3. โทรสาร : 0-2422-3432
    4. เวลาทำการ : วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 15.30 น.
  3. สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางนา-ศรีนครินทร์
    1. ที่อยู่ : ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค (Thanya Park) ศรีนครินทร์ ชั้น 2 โซน E
    2. โทรศัพท์ : 0-2136-3800 / 0-2136-3802 และ 09-3010-5246
    3. โทรสาร : 0-2136-3801
    4. เวลาทำการ : วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 15.30 น.
  4. สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว มีนบุรี
    1. ที่อยู่ : ศูนย์การค้าบิ๊กซี สาขาสุวินทวงศ์ ชั้น 2
    2. โทรศัพท์ : 0-2024-8362-63 / 0-2024-8365
    3. โทรสาร : 0-2024-8361
    4. เวลาทำการ : วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 15.30 น.
  5. สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว MRT คลองเตย
    1. ที่อยู่ : สถานีรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) คลองเตย (อยู่ในส่วนของ Metro Mall ฝั่งทางออก 2)
    2. โทรศัพท์ : 0-2024-8896 / 09-3010-5247
    3. โทรสาร : 0-2024-8897
    4. เวลาทำการ : วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 15.30 น.
  6. ศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ จังหวัดปทุมธานี (เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เท่านั้น !)
    1. ที่อยู่ : ศูนย์การค้า ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต (ชั้น 3 โซนเซ็นทรัล)
    2. โทรศัพท์ : 0-2150-9266
    3. โทรสาร : ไม่มีข้อมูล
    4. เวลาทำการ : วันเสาร์ และ วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 11.00 น. ถึง 19.00 น.

ทำพาสปอร์ตต่างจังหวัด ในกรณีที่ ผู้ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด สามารถไปทำที่สำนักงาน งานกองหนังสือเดินทาง กรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ ได้ที่สำนักงานในแต่ละจังหวัดดังต่อไปนี้

“จัดหวังเชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ยะลา พิษณูโลก นครสวรรค์ อุดรธานี ภูเก็ต และจันทบุรี”

สำนักงานต่างจังหวัด เปิดทำการวันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 16.30 น. โดยไม่มีการหยุดพักกลางวัน แต่อย่างใด

↑ กลับขึ้นด้านบน

เปลี่ยนนามสกุล วีซ่า ประเทศต่างๆ และ วีซ่าสหรัฐอเมริกา

นอกจากเรื่องรายละเอียดในหนังสือเดินทาง พาสปอร์ต ทั้งชื่อและนามสกุล ที่ต้องอัพเดทแล้ว ก็ยังมีเรื่องของวีซ่า (Visas) หรือตรวจลงตรา ของในแต่ละประเทศ ที่ต้องการวีซ่ารับรอง ก่อนการเดินทางไปยังประเทศของเขา อีกด้วย ซึ่งตรงจุดนี้ การจดทะเบียนสมรส เปลี่ยนนามสกุล ส่วนใหญ่ไม่ต้องทำวีซ่าใหม่ เพราะจะมีอยู่ 2 สาเหตุดังต่อไปนี้

  1. วีซ่าเก่าหมดอายุไปแล้ว : วีซ่าในแต่ละประเทศส่วนใหญ่ ที่พวกเราได้มา ก็จะมีอายุอยู่ ไม่นานมาก ระยะเวลาที่เขาให้วีซ่าเราก็มีตั้งแต่ 2 สัปดาห์ 1 เดือน 3 เดือน เผลอแป๊บเดียว ก็หมดอายุ ซึ่งหากมันหมดอายุไปเอง ต้องการเดินทางใหม่ครั้งหน้า ก็สามารถนำพาสปอร์ตเล่มใหม่ (ที่เปลี่ยนนามสกุลแล้ว) ไปขอวีซ่าใหม่ ในนามชื่อ-สกุล ใหม่ได้เลย ยกเว้นบางประเทศ อย่างประเทศออสเตรเลีย (Australia) หรือ สหรัฐอเมริกา (USA) ที่มีอายุนานๆ (อ่านข้อ 2 ต่อเลย)
  2. วีซ่าเก่ายังไม่หมดอายุ : หากในกรณีที่วีซ่าคุณมีอายุนานมากๆ ยกตัวอย่างเช่น วีซ่า เข้าประเทศสหรัฐอเมริกา กงสุลของเขาบอกเลยว่า เราสามารถเข้าประเทศได้ โดยไม่ต้องไปทำเรื่องขอวีซ่าใหม่ แต่จะต้องมีหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ พร้อมคำแปลภาษาอังกฤษที่ได้รับการรับรองเอกสาร ติดตัวไปด้วยขณะผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเข้าประเทศเขา (ดูรายละเอียด คำถามที่พบบ่อย (FAQs) ของการขอวีซ่าสหรัฐอเมริกา)

หมายเหตุ : สุดท้ายก่อนจากกันคือ หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า หลังจาก เปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล ใหม่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุจากการแต่งงาน หรือ สาเหตุอื่นๆ จำเป็นที่จะต้อง เปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล บนหนังสือเดินทาง ใหม่เลยทันทีหรือไม่ ?

คำตอบ : “ยังไม่จำเป็น” เพราะตราบใดที่ชื่อตั๋ว และ วีซ่า ยังเป็นชื่อและนามสกุล ที่ตรงกับหนังสือเดินทาง ก็ยังสามารถใช้มันไปได้จนหมดอายุ แต่ถ้าหากระหว่างนั้นมีความจำเป็นจะต้องทำวีซ่า เข้าประเทศใดประเทศหนึ่งเพิ่มเติม และมีเหตุให้ต้องใช้บัตรประชาชนด้วย ตรงจุดนี้ควรจะต้องไปทำหนังสือเดินทาง ที่เป็นชื่อและนามสกุล ที่อัพเดทใหม่ล่าสุดแล้ว จะดีกว่า

↑ กลับขึ้นด้านบน

เปลี่ยนนามสกุล ใบขับขี่ (ใบอนุญาตขับรถ)

ในส่วนของการเปลี่ยนนามสกุลในใบอนุญาตขับรถ หรือที่เรารู้จักกันในนาม “ใบขับขี่” นั้น ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ซึ่งขั้นตอนนี้สามารถทำได้ที่สำนักงานขนส่งพื้นที่ใดก็ได้ ที่สะดวก ใกล้บ้านคุณเลย

เอกสารหลักฐาน เพื่อใช้ใบขับขี่ใหม่

  1. ใบขับขี่ (ใบอนุญาตขับรถ) ใบเดิม
  2. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง (ที่ยังไม่หมดอายุ) (สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ชุด)
  3. หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล (แบบฟอร์ม ช.๕) (ฉบับจริง พร้อม สำเนา 1 ชุด)
  4. ค่าธรรมเนียมคำขอ 5 บาท
  5. ค่าธรรมเนียมการแก้ไขรายการในใบขับขี่ รายการละ 50 บาท
  6. ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขับรถแบบใหม่ระบบคอมพิวเตอร์ (แถบแม่เหล็ก) 100 บาท

จากที่เห็นด้านบน เบ็ดเสร็จจะต้อง เสียค่าธรรมเนียม จำนวนทั้งสิ้น 155.00 บาท (ผลรวม จาก 3 รายการด้านบน) ซึ่งรายละเอียดทั้งหมด รวมไปถึง สถานที่ ที่ติดต่อทำเรื่องขอเปลี่ยนชื่อ หรือ ขอเปลี่ยนนามสกุล ในใบขับขี่ ไม่ต้องเฉพาะผู้หญิงที่สมรสก็ได้นะ สำหรับคนที่เปลี่ยนชื่อ หรือ นามสกุลมาใหม่ ก็สามารถใช้ขั้นตอน เดียวกันกับทุกๆ คนได้เลย

เขตกรุงเทพ และ ปริมณฑล

  • กรมการขนส่งทางบก
  • สำนักงานขนส่งเขตพื้นที่ 1 – 4

ทำใบขับขี่เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล ต่างจังหวัด

  • สำนักงานขนส่งส่วนภูมิภาคของแต่ละจังหวัด

หมายเหตุ : สำหรับคนที่เคยได้ใบอนุญาตขับรถ (ใบขับขี่) แบบตลอดชีพ มาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ต้องกังวลว่า แจ้งเปลี่ยนนามสกุล หรือ เปลี่ยนชื่อแล้ว ทางการเขาจะเปลี่ยนประเภทไปเป็นแบบชั่วคราว (มีวันหมดอายุ) ทุกอย่างจะยังเป็นตลอดชีพ อยู่เหมือนเดิม แต่เจ้าหน้าที่ เขาจะเปลี่ยนรูปแบบบัตรไปเป็น ใบอนุญาตขับรถแบบใหม่ระบบคอมพิวเตอร์ (แถบแม่เหล็ก) หรือ บัตรแข็ง ให้ทันที (ค่าธรรมเนียม 100 บาท ตามที่แจ้งไว้ด้านบน)

↑ กลับขึ้นด้านบน

เปลี่ยนนามสกุล ทะเบียนรถ (เจ้าของรถ)

หากเจ้าสาวท่านใดที่เป็นเจ้าของรถอยู่ก่อนแต่งงานขอให้อ่านด้านล่างนี้ไว้นะ (แต่ผมก๊อปเค้ามาอีกที) เพราะว่าพอดีแฟนผมไม่ได้ทำขั้นตอนตรงนี้ เพราะขณะที่เปลี่ยนชื่อ ยังเป็นรถป้ายแดงอยู่ พอได้ทะเบียนรถเป็นป้ายขาว ก็ใช้เอกสารต่างๆ เป็นฉบับใหม่ไปได้เลย

แต่ว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เขียนบล็อคอันนี้แล้วก็ถือโอกาส ไปหาข้อมูลมาให้เลย เพื่อความสมบูรณ์ ของบทความ ให้มากที่สุด ซึ่งการเปลี่ยนนามสกุล ชื่อ หรือแม้แต่ที่อยู่ของเจ้าของรถ สามารถทำได้ง่ายๆ โดยให้ยื่นคำร้องเปลี่ยนชื่อ หรือ เปลี่ยนนามสกุล หรือแม้แต่ ที่อยู่เจ้าของรถ พร้อม หลักฐาน ณ สำนักงานที่รถนั้นจดทะเบียนอยู่ จังหวัดไหน ไปจังหวัดนั้น โดยการเตรียมเอกสาร และค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้

เอกสารหลักฐาน เพื่อใช้ใบขับขี่ใหม่

  1. ใบคู่มือจดทะเบียนรถ (สมุดเล่มน้ำเงิน ที่รถทุกคันจะต้องมี)
  2. หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล (แบบฟอร์ม ช.๕) (ฉบับจริง พร้อม สำเนา 1 ชุด)
  3. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง (ที่ยังไม่หมดอายุ) (สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ชุด)
  4. ทะเบียนบ้านตัวจริง (สำเนาทะเบียนบ้าน) (ใช้ในกรณีที่แจ้งเปลี่ยนที่อยู่)
  5. ค่าธรรมเนียมคำขอ 5 บาท
  6. ค่าธรรมเนียมการแก้ไขรายการในใบทะเบียน รายการละ 50 บาท (รถจักรยานยนต์ 10 บาท)

↑ กลับขึ้นด้านบน

เปลี่ยนนามสกุล บัญชีธนาคาร

โดยปกติทุกธนาคาร หรือแม้แต่ สถาบันการเงินต่างๆ จะต้องยื่นเอกสารขอเปลี่ยนแปลงนามสกุลที่สาขาที่เราไปเปิดบัญชีไว้ เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูลหลัก ในระบบทั้งหมด หากในกรณีที่คุณมีบัตรเครดิตของธนาคารนั้นด้วยให้ทำการยื่นเพื่อขอแก้ไขข้อมูลไปพร้อมกันได้เลย ปัจจุบันเกือบทุกแบงค์น่าจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการแก้ไขข้อมูล ขึ้นอยู่กับธนาคารของแต่ละสาขา

เอกสารหลักฐาน เพื่อใช้ เปลี่ยนนามสกุลใน บัญชีธนาคาร

  1. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง (ที่ยังไม่หมดอายุ) (สำเนาไม่ต้องก็ได้ เพราะส่วนใหญ่ธนาคารจะมีบริการถ่ายสำเนาให้เราอยู่แล้ว)
  2. สมุดบัญชีเล่มเดิม
  3. หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล หรือแบบฟอร์ม ช.๕ (ฉบับจริง)

สถานที่สำหรับแก้ไขเอกสาร: ต้องกลับไปติดต่อกับธนาคารที่ท่านได้ทำการเปิดบัญชีไว้ตั้งแต่ตอนแรกเท่านั้น โดยจะ “ไม่” สามารถทำที่สาขาใกล้บ้านได้

↑ กลับขึ้นด้านบน

เปลี่ยนนามสกุล บัตรเครดิต

หากเราไม่ได้มีบัญชีธนาคารเดียวกับบัตรเครดิต การเปลี่ยนบัตรเครดิต ก็ไม่ยาก เพราะจากที่ทำมา 2 ธนาคาร (ขอสงวนชื่อธนาคาร) ก็มีขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลบนบัตรคล้ายๆ กัน ซึ่งจะต้องเป็นการทำบัตรใหม่เลย การส่งเอกสารไปมา ไม่ยาก เพียงแค่โทรไปที่ศูนย์บริการลูกค้า (Call Center) ของบัตรเครดิตนั้นๆ ซึ่งปกติแล้วเบอร์หาไม่ยาก อยู่หลังบัตรเครดิตของเรานั่นแหละ ก็โทรไปเลย ซึ่งส่วนมากเขาจะให้เตรียมหลักฐานดังต่อไปนี้

เอกสารหลักฐาน เพื่อใช้ เปลี่ยนนามสกุลในบัตรเครดิต

  1. สำเนาบัตรประชาชน อันใหม่
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน อันใหม่ (บางที่ต้องใช้ บางที่ไม่ต้องใช้)
  3. สำเนาหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล (แบบฟอร์ม ช.๕)
  4. สำเนาทะเบียนสมรส (แบบฟอร์ม คร.2)
  5. แบบฟอร์ม (เจ้าหน้าที่จะแฟกซ์แบบฟอร์ม มาให้) (บางที่ต้องใช้ บางที่ไม่ต้องใช้)
  6. ค่าธรรมเนียม ทำบัตรใหม่ ประมาณ 214 บาท (200 บาท + ภาษี 7%)

ในกรณีที่ เขาไม่มีแบบฟอร์มให้กรอก เขาจะให้เรากรอกชื่อ หรือ นามสกุลใหม่ ลงบนสำเนาบัตรประชาชน และเขียนข้อความประมาณว่า เปลี่ยนชื่อ หรือ เปลี่ยนนามสกุล เพื่อออกบัตรใหม่ หมายเหตุ : เอกสารที่แฟกซ์ หรือ ส่งอีเมล์กลับไปหาทางศูนย์บริการบัตรเครดิต ทุกฉบับ ทุกใบ จะต้องเซ็นต์สำเนาถูกต้องกำกับ

↑ กลับขึ้นด้านบน

เปลี่ยนนามสกุล ประกันสังคม

การแจ้งเปลี่ยนนามสกุล ประกันสังคม กับสำนักงานประกันสังคม นั้นมี 2 วิธีหลักๆ ด้วยกันคือ แจ้งเปลี่ยนผ่านฝ่ายบุคคล ของหน่วยงานที่ทำงานอยู่ และ แจ้งเอง

แจ้งเปลี่ยนนามสกุล ผ่านฝ่ายบุคคล (HR)

โดยปกติแล้ว หากคุณเป็นพนักงาน หรือ ลูกจ้าง ของบริษัท หน่วยงาน องค์กร หรือสถาบัน ต่างๆ การดำเนินการเปลี่ยนชื่อในเอกสารสำคัญด้าน ประกันสังคม จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคล (HR) ของบริษัท หน่วยงาน องค์กร ที่คุณทำงานอยู่ โดยสามารถ กรอกแบบ สปส.6-10 หรือ แบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงของผู้ประกันตน (ดาวน์โหลดแบบ สปส.6-10 ที่นี่) หลังจากกรอกแบบ สปส.6-10 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ขอให้แนบเอกสาร พร้อมเซ็นต์สำเนาถูกต้องดังต่อไปนี้

  1. สำเนาบัตรประชาชน (ที่เป็นบัตรประชาชนชื่อและนามสกุลใหม่)
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน
  3. สำเนาหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล หรือแบบฟอร์ม ช.๕

แจ้งเปลี่ยนนามสกุล ด้วยตัวเอง

คุณสามารถแจ้งเปลี่ยนชื่อ หรือ นามสกุล ได้ด้วยตัวเอง โดยให้ไปยื่นแบบฟอร์ม สปส.6-10 ได้ด้วยตัวเองในเขตพื้นที่ ที่รับผิดชอบ พร้อมนำเอกสารที่กล่าวไว้ด้านบน 3 ข้อ ไปยื่นด้วยเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่จะพิมพ์บัตรใหม่ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม หรือ ค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด หรือหากไม่สะดวกจะไปยื่นเอง ก็สามารถที่จะส่งเอกสารทั้งหมด พร้อมแบบฟอร์ม สปส.6-10 ผ่านทางไปรษณีย์ ได้ด้วยเช่นกัน หมายเหตุ : เพื่อความแน่ใจ กรุณาติดต่อสายด่วนประกันสังคม ที่เบอร์ 1506 เพื่อสอบถามพื้นที่ ที่รับผิดชอบเสียก่อน

↑ กลับขึ้นด้านบน

เปลี่ยนนามสกุล ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต

โทรขอเอกสารให้ทางประกันหรือตัวแทนประกันส่งเอกสารมาให้เรากรอกที่บ้านได้เลยแล้วจัดส่งโดยแนบเอกสารที่เค้าขอไปให้ทางไปรษณีย์ หากไม่ทราบติดต่อสายด่วนของแต่บริษัทประกันได้ทันที

↑ กลับขึ้นด้านบน

บทสรุปการการ จดทะเบียนสมรส เปลี่ยนนามสกุล ของเจ้าสาว

Marriage Certificate Article Wedding Ceremony in Hotel Ballroom
งานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส ที่ห้องบอลรูมของโรงแรม (Wedding Ceremony in Hotel Ballroom)

บทความนี้ก็เป็นอีกบทความที่ได้บรรยายมายาวเหยียด ซึ่งถือว่าละเอียดมากๆ แต่หากมีสิ่งใดที่เขียนผิดพลาดไป ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย แต่ก่อนจากกันก็ขอสรุป จุดที่น่าสนใจมาดังนี้

  • เมื่อจดทะเบียนที่เขต ไม่ว่าจะเป็นเขตใดก็ตาม ให้รีบนำ แบบฟอร์ม คร.2 (ทะเบียนสมรส) และ แบบฟอร์ม คร.3 (ใบสำคัญการสมรส) ไปยื่นพร้อมทะเบียนบ้าน เพื่อขอรับ แบบฟอร์ม ช.5 (หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล) มาโดยทันที ก่อนที่จะไป ยื่นเรื่องขอเปลี่ยน เอกสารสำคัญอื่นๆ ทั้งหมด
  • หลังจากได้ หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล (แบบฟอร์ม ช.๕) มาแล้ว ส่วนมากจะ “ไม่ได้ใช้” ทะเบียนสมรส (แบบฟอร์ม คร.2) หรือ ใบสำคัญการสมรส (แบบฟอร์ม คร.3) ในการติดต่อราชการ หรือ สถาบันการเงิน ต่างๆ แล้วจะใช้แค่ แบบฟอร์ม ช.๕ อันเดียว
  • ควรถ่ายสำเนา แบบฟอร์ม ช.๕ และ บัตรประชาชน เอาไว้ให้มากที่สุด และแยกเก็บคนละที่ เช่น เก็บในเกะหน้ารถสัก 3 ชุด เก็บที่ลิ้นชักในออฟฟิศ เก็บไว้ที่บ้าน คอนโดฯ หรือจะให้ดี เก็บใส่กระเป๋าถือ เอกสาร แยกเก็บให้หมด เพราะประสบการณ์ตรงคือ เก็บไว้ที่ดี กระจุกรวมกัน พอถึงเวลาต้องใช้จริงๆ ต้องกลับมาเอาอีก เสียเวลาเป็นอย่างมาก
  • หน่วยงานบางที่ ขอสำเนา (ไล่ให้ไปถ่ายเอกสารเอง) หน่วยงานบางที่ ขอสำเนาเอกสาร (แต่ถ่ายเอกสารให้) หรือ บางที่ก็ไม่ต้องการสำเนา แต่ทางที่ดี ติดตัวเอาไว้ หรือ นำไปทุกครั้ง เมื่อมีการติดต่องานราชการดีที่สุด
  • สมัยนี้มีเทคโนโลยีล้ำสมัย ควรถ่ายรูปเอกสารทั้งหมด เก็บเอาไว้ในสมาร์ทโฟน เอาไว้ด้วย เผื่อมีเหตุฉุกเฉินที่จะต้องให้ใช้ จะได้เอารูปนั้นมาพิมพ์ผ่านทางปริ้นเตอร์ ได้ทันที
  • ควรแปลเอกสาร แบบฟอร์ม ช.๕ (หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล) เป็นภาษาอังกฤษ เอาไว้ด้วย เผื่อมีเหตุจำเป็นต้องทำ หรือ ดำเนินการเอกสารต่างประเทศ อย่างเช่น วีซ่า
  • การเดินทางไปต่างประเทศ หลังการแต่งงาน ควรนำสำเนา แบบฟอร์ม ช.๕ พร้อม เอกสารที่แปลแล้ว ติดตัวไปด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าเอาไปทั้งภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ เพราะเชื่อว่า ฝ่ายตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) ของแต่ละประเทศ เขามีคนไทย หรือ มีคนรู้ภาษาไทย อย่างแน่นอน
  • สิ่งที่ต้องติดตัวไปเสมอ เมื่อไปยื่นเรื่องเอกสารในหน่วยงานนั้นๆ เลยคือ
    • สำเนาบัตรประชาชน
    • หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล (แบบฟอร์ม ช.๕)
    • เอกสารที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานนั้นๆ เช่น ไปเปลี่ยนชื่อสกุล ในใบขับขี่ ก็ต้องเอาใบขับขี่ของเดิมไปด้วย ไปทำพาสปอร์ตใหม่ ก็ต้องเอาพาสปอร์มเล่มเดิมไปด้วย ไปขอสมุดบัญชีใหม่ที่ธนาคาร ก็ต้องเอาสมุดบัญชีธนาคารเล่มเดิมไปด้วย เป็นต้น
  • หากไม่มั่นใจ ควรโทรสอบถามศูนย์บริการ หรือ สายด่วน ของธนาคาร หน่วยงาน องค์กร นั้นๆ เสียก่อน ที่จะเข้าไป เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา

หวังว่าบทความนี้ จะเป็นประโยชน์และช่วย เจ้าบ่าว และเจ้าสาว มือใหม่ ได้ไม่มากก็น้อย ในส่วนของเรื่องเอกสาร หลักฐานบางอย่าง ผมไม่มั่นใจ ก็มีโทรหา Call Center ให้ด้วย ซึ่งก็ค่อนข้างที่น่าจะแน่นอน และชัวร์อยู่ในระดับนึงละ แต่ทางที่ดีเช็คอีกทีก็ดีครับ เพราะบทความก็ไม่ได้อัพเดทกันบ่อยๆ แต่ขั้นตอนมันประมาณนี้แหละ ไม่ต่างจากนี้มาก 🙂

↑ กลับขึ้นด้านบน

53 ความคิดเห็น

  1. เมื่อหกสิบปีที่แล้ว มีหรือไม่ เอกสารหมายเลข ช.5

  2. สวัสดีคะ จดทะเบียนสมรสมา2ปีแล้ว จดที่เขตหลักสี่คะ แต่อยากเปลี่ยนใช้นามสกุลสามี อยากทราบว่า เอกสารที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง และจำเป็นที่จะต้องพาสามีไปด้วยหรือเปล่าคะ ตอนนี้อยูที่เมืองไทยนะคะ จะไปทำการพรุ่งนี้คะ

  3. เดินเอกสารเปลี่ยนมีกำหนดเวลาไหมค่ะ ว่าต้องกี่วันอะไรยังไง หรือตามที่เราสะดวกว่างค่ะ

  4. ขอสอบถามผู้รู้คะ เอกสารที่ต้องเตรียมไปเปลี่ยนนามสกุลมีอะไรบ้างคะ (สามีเป็นชาวญีปุ่นคะ) จดทะเบียนสมรสที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ต้องการเปลี่ยนนามสกุลสามีมาด้วยแล้วยังต้องเตรียมเอกสารอะไรไปอีกบ้างคะ ขอบคุณคะ

  5. จดทะเบียนสมรสใช้นามสกุลสามีแต่แยกกันอยู่นานแล้วและสามีก็มีภรรยาใหม่แต่เขาไม่ยอมหย่าให้เลยอยากทราบว่สดิฉันจะเปลี่ยนมาใช้นามสกุลตัวเองได้ไหม

    • จดทะเบียนสมรสแต่ใช้นาสสกุลตัวเองค่ะ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป้นใช้นามสกุลแฟนแล้วค่ะ แต่ในใบสมรสยัง
      เป้นนามสกุลเดิมเป้นไรมัํ๊ยค่ะ

  6. จดทะเบียนสมรสกับชาวญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้วค่ะแต่ทีนี้เราอยากจะขอวีซ่าให้สามีแต่เราไม่เก่งเรื่องเอกสารและการกรอกแล้วก็ภาษาอักฤษน่ะค่ะขอคำแนะหน่อยค่ะขอบคุณค่ะ

  7. อยากถามว่าจดทะเบียนสมรสที่ออสเตียเลีย ต้องแปลที่ออสเตรเลียหรือแปลที่เมืองไทยได้ค่ะ แล้วจะต้องไปจดทะเบียนสมรสที่ไทยอีกไหมค่ะ

  8. จดทะเบียนสมรสแต่ทะเบียนบ้านตัวจริงอยู่ ตจว
    สามารถใช้สำเนาแทนได้ไหมคะ

  9. เคยจดทะเบียนสมรสมาแล้วเปลี่ยนนามสกุลเป็นของสามีแล้วแต่ตอนนี้ได้หย่าแล้วคะแต่ยังไม่ได้เปลี่ยนนามสกุลเป็นของตัวเองแล้วอยากจะจดทะเบียนสมรสใหม่เปลี่ยนนามสกุลเป็นของคนใหม่เราสามารถทำได้มั้ยคะถ้าทำได้เราสามารถทำในเขตอื่นได้มั้ยที่ไม่ใช่เขตอำเภอเราคะ

  10. จดทะเบียนแต่ไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว..แต่ยังไมหย่าสามารถเปลี่ยนนาสกุลกลับมาใช้นามสกุลเดิมได้ไหมค่ะ..เพราะติดต่อกันเพื่อไปหย่าไม่ได้ค่ะ.ตอนนี้ใช้นามสกุลเขาอยุ่ค่ะ..อยากกลับมาใช้นามสกุลเดิม…รบกวนตอบหน่อยนะค่ะอยากทราบจริงๆค่ะ

  11. ขอถามเรื่องกฏหมายเกี่ยบกับเอกสารการสมรส ถ้าเราทำใบสมรสขาดหรือว่ามันหาย ใบรับรองขอใช้คำนำหน้ากับเปลี่ยนนามสกุลด้วยถ้ามันเกิดหายไปเสียก่อน เราจะทำยังไงคะ แล้วถ้าหากเกินกำหมดในการยื่นขอเปลี่ยนชื่อสกุล(ภายใน90วัน) เรายังไม่ได้ไปยื่นขอเปลี่ยนละจะมีผลอย่างไร มีคำตอบหรือวิธีแก้ไขอย่างไรคะ

  12. เป็นข้อมูลที่ละเอียดและมีประโยชน์มากๆ ค่ะ เยี่ยมเลย

  13. จดทะเบียนมาหลายปีแล้วค่ะ แล้วอยากเปลี่ยนมาใช้นามสกุลของสามี สามาถรเปลี่ยนได้ไหมคะ และต้องทำอย่างไรบ้างคะ

  14. ไม่ได้ไปแจ้งเปลี่ยนชื่อ ตามที่ทะเบียนจดการค้าพาณิชย์กำหนดต้องเขียนคำร้องอย่างไรคะ

  15. ขอบคุณมากคะ แม้จะยาวแต่ก็อ่านจนจบเลย มีประโยชน์มากๆคะ กำลังจะจูงมือไปจดทะเบียนสมรสเร็วๆนี้

  16. จดทะเบียนมา 1 ปีแล้วค่ะ แล้วอยากเปลี่ยนนามสกุลไปใช้นามสกุล สามี สมารถเปลี่ยนได้มั้ยค่ะ

  17. ขอสอบถามค่ะ แต่งงานจดทะเบียนสมรสแล้วไปเรียนต่อออสเตรเลียได้วีซ่า 3 ปี มีเหตุต้องเดินทางมาหย่ากับสามีที่ประเทศไทย หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้ว ถ้าเปลี่ยนกลับมาใช้นามสกุลเดิม สามารถทำตามนี้ได้เลยใช่ไหมคะ หมายเหตุ : สุดท้ายก่อนจากกันคือ หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า หลังจาก เปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล ใหม่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุจากการแต่งงาน หรือ สาเหตุอื่นๆ จำเป็นที่จะต้อง เปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล บนหนังสือเดินทาง ใหม่เลยทันทีหรือไม่ ? คำตอบ : “ยังไม่จำเป็น” ตราบใดที่ชื่อตั๋ว และ วีซ่า ยังเป็นชื่อและนามสกุล ที่ตรงกับหนังสือเดินทาง ก็ยังสามารถใช้มันไปได้จนหมดอายุ แต่ถ้าหากระหว่างนั้นมีความจำเป็นจะต้องทำวีซ่า เข้าประเทศใดประเทศหนึ่งเพิ่มเติม และมีเหตุให้ต้องใช้บัตรประชาชนด้วย ตรงจุดนี้ควรจะต้องไปทำหนังสือเดินทาง ที่เป็นชื่อและนามสกุล ที่อัพเดทใหม่ล่าสุดแล้ว จะดีกว่า

  18. คิดจะเปลี่ยนนามสกุลอยู่เหมือนกันค่ะ
    จดทะเบียนกับสามี ซึ่งเป็นชาวต่างชาติมา 2 แล้ว อยากจะเพิ่มนามสกุลของสามี เข้ามาในชื่อเรา ขั้นตอนเหมือนกันรึป่าวค่ะ

  19. สวัสดีคะดิฉันแต่งงานปีนี้ก็เข้าปีท่ีเก้า แต่งงานท่ีดมือไทย แต่งเสร็จไม่ได้ไปขอใบเปลี่ยนนามสกุล( ช 5 ) เพราะเดอนทางไปต่างประเทศ แต่ได้เปลี่ยนนามสกุลของพาสปอร์ต. ใบขับขี่ต่างประเทศ แบงค์บุค บัตรประจำตัวประชาชนไทย แล้ว ( ได้ระบแสตมป์การรับรองจากสถานทูตไทยวอชิงตันดี.ซี. ดิฉันยังต้องกลับไปท่ีอำเภอท่ีบ้านเพื่อขอใบ ช.5 ไหมคะ

  20. ขอสอบถามเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสหน่อยนะค่ะคือเเต่งงานมา อยู่กับเเฟนจะเข้าปีที่3เเล้วค่ะเเต่เเค่รอให้อายุ20บริบูรณ์ก่อนก้เรยคิดว่าอยากจะจดทะเบียนค่ะเเต่ฐานะก้อพอมีกันทั้งสองฝ่ายเเต่ที่อยากจะจดก็เพราะกำลังจะออกรถยนต์ร่วมกันอันนี้คือสินระหว่างสมรสไหมค่ะอันนี้เราสามารถจะจดทะเบียนสมรสได้ไหมค่ะ

  21. ขอบพระคุณมากๆเลยคะ ประหยัดเวลไปเยอาะ ขอให้คุณและครอบครัวมีความสุขและมีสุขภาพดีกันทั่วหน้านะคะ

    • ขอบคุณมากๆ เช่นกันนะครับ ขอให้ครอบครัวคุณ Spatb มีความสุข และ สุขภาพร่างกายแข็งแรงมากๆ ด้วยเช่นกันนะครับ

  22. อยากสอบถามกรณีแต่งงานกับชาวต่งชาติได้หนังสือรับรองการสมรสมาแล้วผ่าน กงสุลรับรองแล้วเหลือแต่ไปแจ้งลงบันทึกสถานะทาวครอบครัวแล้วจะเปลี่ยนนามสกุลตามสามีแต่สามีไม่สะดวกมาด้วยแต่มีเอกสารรับรองpassportจากสถานฑูตเอาไปแปลแล้วรับรองจากกวสุลแล้วอยากทราบว่าหนังสือยินยอมหรือหนังสือข้อตกลงตะให้ใช้นามสกุลฝ่ายชายขอจากที่ไหน

    • ต้องไปที่เขตค่ะ. แนะนำเขตที่จดทะเบียนสมรสค่ะ. เพราะเวลาเผื่อต้องกลับมาขอเอกสารอีกรอบ. เราเจอกับตัววุ่นวายมาก

  23. แต่งงาน จดทะเบียน แล้วเปลื่ยน คำนำหน้า และนามสกถุลสามีแล้ว แต่ดิฉันไม่ได้ใบ ช๔ ค่ะดิฉันสามารถทำอย่าไรได้คะ

  24. จะรู้ได้ยังไงคะว่าทะเบียนสมรสเป็นของจริงหรือของปลอม แฟนเก่าส่งทะเบียนสมรสที่จดกับแฟนให้ดู แต่แฟนยืนยันหนักแน่นว่าปลอม แต่ก็ไมวางไปอำเภอเพื่อพิสูจน์ จะมีวิธีไหนเช็คได้อีกบ้างไหมคะ ตอนนี้ร้อนใจมากอยากรู้ความจริง ใตรพอทราบรบกวนแนะนำหน่อยคะ

  25. อยากถามว่าจดทะเบียนสมรสได้เปลี่ยนนามสกุลเป็นของแฟนแล้ว.ถ้าจะเปลี่ยนนามสกุลใหม่อีกครั้งโดยที่เราเปลี่ยนคนเดียวแฟนไม่ได้เปลี่ยนด้วยได้มั้ย…

  26. สอบถามหน่อยคะว่า
    -จดทะเบียนสมรสในเขตที่ไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
    แต่เราต้องไปแจ้งเปลี่ยนนามสกุลที่เขตที่มีชื่ออยู่

    -ในกรณีนี้ ถ้าเราต้องการย้ายทะเบียนบ้านอยู่แล้ว (ย้ายมาอยู่ในเขตที่จดทะเบียนสมรส)
    หลังเราจดทะเบียนสมรสเสร็จแล้ว เราขอแจ้งย้ายทะเบียนบ้านก่อนได้มั้ยคะ(แจ้งย้ายปลายทาง) แล้วค่อยแจ้งขอเปลี่ยนชื่อสกุลทีหลัง จะได้ไม่ต้องไปทำเรื่องที่เขตทะเบียนบ้านเดิมอีก

    ขอบตุณมากๆนะคะ

  27. รายละเอียดเยอะมากค่ะ ขอบคุณนะคะที่โพส

    ***สำหรับเจ้าสาวที่จดทะเบียนสมรสในต่างประเทศ ขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลจะต้องเริ่มที่สถานกงสุล ณ ประเทศที่จดทะเบียน

    ต้องแปลทะเบียนสมรสเป็นไทย และให้กงสุลรับรอง พร้อมกรอกคำร้องขอใช้นามสกุลสามี ถ้าอยากมอบอำนาจให้คนที่เมืองไทยดำเนินการอื่นต่อ ก็สามารถยื่นเรื่องได้พร้อมๆกัน ส่งทางจดหมายก็ได้นะคะ รายละเอียดเรื่องเอกสารค่าใช้จ่ายติดต่อกงสุลค่ะ สองวันทำการ

    จากนั้นต้องส่งเอกสารรึยื่นเรื่องด้วยตนเองอีกครั้งที่กระทรวงต่างประเทศ ศูนย์ราชการหลักสี่ เพืี่อทำการรับรองที่ไทยอีกครั้ง อีกสองวันทำการค่ะ จากนั้นจึงจะสามารถดำเนินการขั้นตอนอื่นๆได้ตามปกติค่ะ

    ***ขอย้ำอีกทีนะคะว่าใบแปลทะเบียนสมรสต้องได้รับการรับรองมาจากกงสุล ณ ประเทศที่จดทะเบียนเท่านั้น มาทำเรื่องที่ไทยก่อนไม่ได้***

    ยุ่งเนอะ ^^”

  28. คือเคยจดทะเบียนมาก่อนแต่หย่าแล้วได้6เดือนแล้วและอยากจะจดทะเบียนกับชาวออสเตรเรียจะต้องใช็ใบรับรองแพทย์หรือเปล่าค่ะคือว่าอยากจดในเดือนกันยายนนี้ค่ะ หรือจะจดได้หรือเปล่าค่ะ

  29. ตอนจดทะเบียนสมรสได้เปลี่ยนใช้นามสกุลสามี…ปัจจุบันนี้จดทะเบียนหย่าแล้ว..ได้ระบุกลับไปใช้นามสกุลตัวเองตามตามเดิม..แต่อยากเปลี่ยนชื่อใหม่ นามสกุลใหม่ (*เป็นนามสกุลแม่…แต่ตอนนี้แม่เปลี่ยนนามสกุลใหม่..คืออยากใช้นามสกุลเก่าแม่..ต้องทำอย่างไรบ้างคะต้องใช้อะไรในการยืนยันหรือรับรองกับนามสกุลเก่าของแม่บ้างคะ)
    ขอความกรุณาให้คำตอบดิฉันด้วยนะคะคือ วันศุกร์นี้จะต้องไปเปลี่ยนแล้วค่ะเกินกำหนดมา3เดือนแล้วน่ะค่ะ
    ขอบคุณค่ะ

  30. อยากทราบว่า จดทะเบียนสมรสแล้ว ใช้นามสกุลสามีแล้ว แต่อยากจะกลับมาใช้นามสกุลเดิม ต้องใช้เอกสารอะไรบ้างค่ะ และเปลี่ยนที่ไหนได้บ้าง

    • ขอทราบรายละเอียดด้วยค่ะอยากเปลี่ยนมาใช้นามสกุลเดิมค่ะ

  31. แล้วในกรณีที่ไปทำเรื่องเปลี่ยนนามสกุลตามสามี แต่สามีไม่ได้เดินทางมาด้วย จะต้องเตรียมเอกสารใดเพิ่มเติมบ้างคะ? เราจะต้องทำหนังสือมอบอำนาจ+สำเนาพาสปอร์ตสามีไปด้วยหรือไม่ นอกเหนือจากนี้เอกสารของทางสามีต้องเตรียมอะไรไปเพิ่มบ้างหรือไม่? รบกวนด้วยคะ จะได้เตรียมเอกสารไปให้พร้อม เกรงว่าจะตกหล่น เพราะกว่าจะได้กลับเมืองไทยอีกที คงอีก 1-2 ปี ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

  32. อยากทราบว่าจดทะเบียนแล้วประมาณ2ปีกว่าแต่ยื่นคำร้องขอใช้นามสกุลสามีแต่ณ ปัจุบันนี้ยังไม่ได้เปลี่ยนนามสกุลเลยอยากทราบว่าจะมีปันหาหรือป่าวค่ะ ถ้าไม่เปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามีต้องไปยกเลิกที่ใหน ทำอย่างไรบ้างค่ะ

  33. สอบถามผู้รู้
    ดิแํนแต่งงานกับชาวอเมริกันและอยากจะกลับไปเปลี่ยนนามสกุลในเอกสารทั้งหมดในไทย ต้องเตรียมเอกสารอะไรไปบ้างค่ะ

    รบกวนด้วยคะ

  34. มีข้อข้องใจที่ต้องการทราบคำตอบคะว่า เมื่อดิฉันจดทะเบียนสมรส หลังจากที่ได้ย้ายที่อยู่เข้ามาอยู่ในบ้านของสามีแล้ว แต่ ณ ตอนนี้ ดิฉันต้องการย้ายที่อยุ่กลับมาที่ภูมิลำเนาเดิมของดิฉันเอง เพื่อความสะดวกในการสมัครและการสอบคัดเลือกในการเข้าทำงานใกล้บ้านหรือภูมิลำเนาเดิมของดิฉันเองแล้ว คำถามก็คือ “การแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทางของดิฉัน มีผลต่อทะเบียนสมรสหรือไม่” กรุณาไขข้อข้องใจของดิฉันด้วยคะ ขอบคุณมากเลยคะ

  35. สอบถามเพิ่มเติมนะคะ คือไปจดทะเบียนต่างเขตมาแต่ไม่ได้ใบทะเบียนสมรส(คร.2)กลับมาด้วยต้องไปขอที่เขตที่ไปจดมาใช่มั๊ยคะ หรือว่าสามารถไปติดต่อที่เขตที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้เลยคะกรณีที่จะเปลี่ยนนามสกุลตามสามีน่ะค่ะ

  36. เป็นประโยชน์มากๆเลย อธิบายละเอียดรวดเดียวเบ็ดเสร็จ
    ขอบคุณมากกกกกกๆเลยนะคะ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้