กล่องทีวีดิจิตอล Samart รุ่น Strong
หลังจากที่ได้เขียนรีวิวเจ้าตัว กล่องทีวีดิจิตอล MCOT HDBOX รุ่น View มาแล้วในบทความ รีวิวกล่องทีวีดิจิตอล ตัวที่แล้ว เนื่องจากตัวนั้นใช้ดูบนคอนโดฯ ที่อาศัยอยู่ คราวนี้หลังจากที่ไปสาธยายความสามารถของมันให้คุณพ่อฟัง ประกอบกับสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ อะไรต่างๆ ก็ต่างพูดถึงเรื่องของทีวีดิจิตอลกันหมด คราวนี้ท่านเลยอยากได้มาดูที่บ้านบ้าง เพราะมันชัดแจ๋ว แถมไม่ต้องเสียค่าบริการรายเดือนอีกต่างหาก

ทำไมต้อง ซื้อกล่องทีวีดิจิตอล Samart

แต่อันที่จริงแล้ว แล้วที่บ้านพ่อแม่ มีติดทรูวิชั่นส์ (True Visions) ในระบบเคเบิ้ล เป็น เฮชดีแพ็คเกจ จัดเต็ม ติดตั้งอยู่ทั้งหมด 3 จุดในบ้าน แต่ว่าเขาก็อยากจะมีฟรีทีวี ที่เอาไว้ดูตอนที่ทรูวิชั่นส์ มันเสีย ดูไม่ได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข้าหน้าฝน ชอบมีปัญหาอยู่บ่อยๆ เดิมทีก็ติดเสาอากาศแบบก้างปลอยู่บนหลังคาที่ ซึ่งก็เป็นการดูในระบบอนาล็อค (Analog) ซึ่งบอกได้เลยว่าไม่ชัดเอาซะเลย ตอนแรกก็กะจะไปซื้อกล่องแบบเดิมคือ MCOT HD BOX จากร้านเซเว่นอีเลฟเว่น มาให้ท่านดูเหมือนที่ใช้ดูบนคอนโดฯ แต่คิดไปคิดมา ไม่เอาดีกว่า ถ้าซื้อรุ่นเดิมก็เอามารีวิวไม่ได้นะสิ เพราะมันเหมือนกันหมด

สุดท้ายหยิบ Samart Strong มาครอบครอง

สุดท้ายเลยไปดูกล่องทีวีดิจิตอลที่ เดอะมอลล์รามคำแหง ซึ่งปรากฏว่ามีของให้เลือกเพียบ เขาจัดโซนขายไอ้เจ้ากล่องนี้เอาไว้เลย เดินดูไปเรื่อยๆ จริงๆ ก็รู้มาอยู่แล้วละ ว่าสเปค อะไรต่างๆ มันก็ไม่ได้ต่างกันมากมายเท่าไหร่ ก็ลองถามพนักงานดู ว่าแต่ละรุ่นเป็นอย่างไรบ้าง ทีนี้เขาก็มาแนะนำ กล่องทีวีดิจิตอล Samart รุ่น Strong รหัสรุ่นคือ DVB-T2 (กล่องทีวีดิจิตอลสามารถ รุ่น สตรอง) เพราะเขาบอกว่า มันมีพอร์ต USB และ สามารถเสียบเข้ากับ ฮาร์ดดิสก์ภายนอก หรือ พกพา (External Harddisk / Portable Harddisk) ได้นั่นเอง

ซึ่งจริงๆ ก็รู้มาอยู่แล้วละว่า กล่องทีวีดิจิตอล ส่วนใหญ่ เกือบทุกยี่ห้อ ทุกรุ่น มันมีพอร์ต หรือ ช่องเสียบสาย USB มาให้อยู่แล้ว แต่พนักงานขายก็บอกว่า กล่องอื่นๆ เสียบพวกฮาร์ดดิสก์แล้วจะ “ไม่สามารถ” เปิดอ่านไฟล์ หรือ ดูหนังฟังเพลง จากมันได้ ส่วนใหญ่แล้วจะอ่านไฟล์ได้จากแฟลชไดร์ฟ (USB Flashdrive) ได้อย่างเดียว แต่ว่าตัว Samart Strong ตัวนี้ สามารถอ่านจากฮาร์ดดิสก์ได้ด้วย ผ่านพอร์ต USB 2.0

สุดท้ายก็จัดมาในราคา 1,290.00 บาท (รวมภาษีแล้ว) รูดเครดิตการ์ดได้ สะสม M Point ได้อีกด ส่วนเสาอากาศทีวีดิจิตอล (แต่ได้ข่าวว่าบางที่ขาย 1,1xx บาท) กับกล่องนี้ นั้นไม่ได้ซื้อมาด้วย เพราะหลังจากที่ซื้อ กล่องทีวีดิจิตอล MCOT ไปแล้วก็พบว่า รูเสียบเสาอากาศของคอนโดฯ มันก็ใช้ดูได้ แต่ครั้งนั้นก็ซื้อเสามาด้วย สรุปคือ ครั้งแรกนั้น ซื้อเสาอากาศมาแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เลยวางเอาไว้เฉยๆ นึกว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์กับมันแล้ว แต่พอมาซื้อกล่องให้พ่อ เลยจัดให้เลยทีเดียว

มีอะไรที่หน้ากล่อง ทีวีดิจิตอล Samart รุ่น Strong

ก่อนที่จะสังเกตุดุว่าหน้ากล่อง จะมีโลโก้บอกสรรพคุณมากมายของเจ้ากล่องทีวีดิจิตอล ตัวนี้ เริ่มตั้งแต่

  • Dolby Digital Plus (ระบบเสียง) : โลโก้นี้หากเห็นผ่านๆ ก็คงไม่แปลกใจอะไรมาก เพราะเป็นโลโก้ ที่บอกถึงระบบเสียงระบบ Dolby ที่ใช้กันมานานแล้วตามโรงภาพยนตร์ หรือ โฮมเธียเตอร์ เครื่องเสียงในบ้าน ต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้มันสามารถมาอยู่ในฟรีทีวี ได้แล้ว หากสถานีโทรทัศน์ส่งระบบเสียงมาแบบนี้ เราสามารถรับชมได้สบายๆ แต่มีข้อแม้ว่า โทรทัศน์ที่บ้านคุณจะต้องซัพพอร์ต มันด้วยเช่นกันนะ ถ้าโทรทัศน์กากๆ แบบรุ่นเก่าๆ ต่อให้ระบบเสียง Dolby มาจากห้องส่ง จนมาถึงที่กล่องรับสัญญาณของคุณแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์อะไร
  • Full HD 1080p (ระบบภาพ) : โลโก้นี้ก็เพิ่งมาเห็นในระยะปีหลังๆ เป็นช่วงที่วงการผู้ผลิต เครื่องรับโทรทัศน์ (ทีวี) ทุกค่าย หันมาใช้พอร์ต HDMI และ เปลี่ยนเครื่องรับโทรทัศน์มาเป็นระบบดิจิตอลกันมากขึ้น ซึ่งจะสังเกตุเห็นว่า Full HD 1080p นั่นคือ ความคมชัดสูงสุดจริงๆ ที่สามารถรับได้ ภาพจะใสแจ๋ว กิ๊ก เลยทีเดียว แต่ปัจจุบันนี้มันมีเหนือกว่านี้แล้วอย่างเทคโนโลยี 4K ความคิดเห็นก็เหมือนของระบบเสียงด้านบน ที่ว่าแต่ก่อนเราก็จะเห็น Full HD 1080p กันในเฉพาะพวกแผ่นดีวีดีหนัง แผ่นบลูเรย์ (Blu-ray) เท่านั้น ต่อมาก็เห็นมีทรูวิชั่นส์ ที่เริ่มเอาช่องเฮชดี (HD Channel) มาให้ดู แต่คราวนี้มันอยู่ในฟรีทีวีแล้ว !! ที่ใครๆ ก็สามารถดูได้ แต่มีข้อแม้ว่าโทรทัศน์คุณก้ต้องรองรับด้วยเช่นกัน (เหตุผลเดียวกับด้านบน)
  • Ext.HDD (สนับสนุนฮาร์ดดิสก์ภายนอก หรือ พกพา) : ตรงจุดนี้เอง (มั้ง) ที่พนักงานขาย เค้าบอกว่า มันสามารถใช้งานกับ ฮาร์ดดิสก์พกพา หรือ ฮาร์ดดิสก์ภายนอก (External Harddisk) ได้ ซึ่งขอบอกว่ามีบางรุ่นไม่สามารถดูหนังจากได้
  • SONY Tuner & Demodulator : ในกล่องของ กล่องทีวีดิจิตอล Samart ตัวนี้ได้ใช้ชิปเซ็ต ซึ่งเป็นหน่วยการประมวลผล และ ถอดรหัสสัญญาณ จากค่ายโซนี่ (SONY) เรียกได้ว่าชื่อชั้น ของโซนี่เป็นประกัน
  • REC (ระบบอัดบันทึกภาพและเสียง) : โลโก้นี้สามารถอัดบันทึกวีดีโอ พร้อมเสียง ลงสื่อมีเดียอย่างแฟลชไดร์ฟ หรือ ฮาร์ดดิสก์ เพื่อเก็บบันทึกเอาไว้ดูย้อนหลังในโอกาสต่อไปได้
  • DivX และ MPEG 4 (ดูหนังจากไฟล์มาตรฐานสากลได้) : กล่องนี้สนับสนุนการบันทึกไฟล์หนัง หรือเปิดไฟล์หนัง จากมาตรฐานไฟล์สากลอย่าง MPEG4 หรือ DivX ได้ ซึ่งไฟล์รูปแบบนี้นั้น สามารถรับชมกันได้ถึงบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน อย่างไอโอเอส (iOS) และ แอนดรอยด์ (Android) กันได้เลยทีเดียว
  • DVR (Digital Video Recorder) : เป็
  • TimeShift : รองรับการหยุดเวลา
  • Media Player (ดูหนังฟังเพลง ดูรูปได้) : สามารถใช้ดูหนังฟังเพลง และ ดูรูปภาพได้ จากอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลพกพา อย่าง ฮาร์ดดิสก์ภายนอก แฟลชไดร์ฟ ในไฟล์เพลง ไฟล์หนัง ตระกูลที่พวกเรารู้จักกันดีอยู่แล้ว

อุปกรณ์ใน กล่องทีวีดิจิตอล Samart รุ่น Strong DVB-T2

ในกล่องนี้มีรายการของที่ให้มาอยู่ทั้งหมด 7 ชิ้นหลักๆ ด้วยกัน ซึ่งจากที่ดูก็เป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่กล่องทีวีดิจิตอล จากค่ายอื่นๆ ก็ให้มาเช่นกัน โดยมาดูกันเลยดีกว่า ว่ามีอะไรให้มาในกล่องบ้าง

  1. กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล – 1 กล่อง
  2. ชุดอะแดปเตอร์ แปลงไฟล์ จากไฟล์บ้าน เข้ามาใช้ในกล่อง (สายยาว 1.5 เมตร) – 1 ชุด
  3. รีโมทคอนโทรล – 1 อัน
  4. ถ่าน AAA – 2 ก้อน
  5. สาย HDMI พร้อมพลาสติก ปิดส่วนหัว และ ส่วนท้าย ของสาย เพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าไป (ความยาว 1.1 เมตร) – 1 เส้น
  6. สาย AV (สายสีขาว สีแดง และ สีเหลือง ใช้สำหรับโทรทัศน์รุ่นเก่าๆ ที่ไม่มีพอร์ตรับสัญญาณภาพและเสียงแบบ HDMI) (ความยาว 1.0 เมตร) – เส้น
  7. คู่มือการใช้งาน – 1 เล่ม
Samart Strong Box Compare with Faucet
เปรียบเทียบ กล่องทีวีดิจิตอล Samart Strong รุ่น DVB-T2 กับ ก๊อกน้ำ ขนาดมาตรฐาน ให้ดูกันชัดๆ

ช่องเสียบสาย (พอร์ต) หลัง กล่องทีวีดิจิตอล Samart รุ่น Strong DVB-T2 มีอะไรบ้าง ?

กล่องทีวีดิจิตอลตัวนี้ ให้พอร์ตมาใช้สอย ถือได้ว่าเหมาะสมกับความต้องการ ในการใช้งานทั่วๆ ไปตามบ้าน นั่นหมายความว่า มันสนับสนุนทั้งเครื่องรับโทรทัศน์ หรือ ทีวี ทั้งแบบรุ่นเก่า และ รุ่นใหม่ คุณภาพก็ตามสาย และ รูปแบบพอร์ต หรือ ช่องเสียบสาย ที่เราไม่เสียบเพื่อใช้บริการของมันนั่นเอง ซึ่งขออธิบายโดยการเรียงจากซ้ายไปขวา บนลงล่าง เลย มีดังต่อไปนี้

พอร์ตหลังกล่องทีวีดิจิตอล Samart รุ่น Strong

 

พอร์ต ANT IN : ย่อมาจากคำว่า “Antenna In” หรือ รับสัญญาณจากเสาอากาศ (Antenna) ดิจิตอลทีวี เข้ามาประมวลผลในตัวเครื่อง ซึ่งตรงนี้จะสามารถเอา เสาอากาศทีวีดิจิตอล ของยี่ห้อใด มาก็ได้ (ไม่จำเป็นว่าจะต้องซื้อ เสาอากาศทีวีดิจิตอล ของ Samart เท่านั้น) หรือ ถ้าที่บ้าน หรือ คอนโดมิเนียม ใช้เสาแบบก้างปลา หนวดกุ้ง ที่สามารถรับสัญญาณ ในรูปแบบมาตรฐานของ UHF ได้ ก็สามารถเสียบตรงเข้าช่องนี้ได้เลย โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม เพื่อซื้อเสาอากาศทีวีดิจิตอล ต่างหากอีก

พอร์ต ANT OUT : ช่องนี้ย่อมาจากคำว่า “Antenna Out” หรือ ปล่อยสัญญาณโทรทัศน์ออกจากกล่องทีวีดิจิตอล Samart ตัวนี้ หลายคนคงจะสงสัยว่ามันจะต่อออกไปไหนได้อีก จริงๆ แล้วมันสามารถที่จะต่อออกไปยังเครื่องรับ หรือ กล่องทีวีดิจิตอลในจุดที่ 2 ได้ ในกรณี

ช่อง COAX : ช่องนี้ที่ให้มา ชื่ออย่างเป็นทางการคือ สายสัญญาณเสียงแบบดิจิตอล (Coaxial) ซึ่งเป็นช่องที่ชอบมากๆ นั่นคือช่องต่อของระบบเสียงดิจิตอล ซึ่งเสียงจะเสียงที่ถูกส่ง ปล่อยสัญญาณออกจากพอร์ตนี้นั้น จะเป็นคุณภาพแบบดิจิตอลจริงๆ ไม่ต้องมาแปลงเป็นอนาล็อก ให้เสียคุณภาพไป ซึ่งโดยส่วนมาก เราจะพบกับช่องรับสัญญาณ COAX นี้ใน ชุดเครื่องเสียงโฮมเธียเตอร์ หรือ แอมปลิฟายเออร์เกรดดีๆ

ช่องสาย AV (Video L R) : ช่องนี้เป็นช่องที่เอาไว้ใช้ต่อกับโทรทัศน์รุ่นเก่าๆ ที่มักจะเอาไว้เสียบกับเครื่องเล่นวีดีโอ วีซีดี วีดีโอเกมส์ ในรุ่นเก่าๆ เป็นต้น ซึ่งตัวนี้ก็เหมือนกัน ในสาย 1 ชุดจะมาพร้อมกับสาย 3 สาย ที่ปลายหัวมี 3 สี ด้วยกันคือ สาย RCA สีขาว สาย RCA สีแดง (สัญญาณเสียง) และ สาย RCA สีเหลือง (สัญญาณวีดีโอ หรือ สัญญาณภาพ)

ช่อง HDMI : พอร์ตนี้คำว่า HDMI ย่อมาจากคำว่า “High Definition Multimedia Interface” ในปัจจุบัน ถือเป็นขวัญใจมหาชนในยุคสมัยปัจจุบัน ที่โทรทัศน์ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ ต้องมีติดมาให้ ข้อดีของมันคือ มันเป็นพอร์ตที่ส่งสัญญาณออกจากกล่องรับสัญญาณในรูปแบบดิจิตอล 100% ไม่สูญเสียคุณภาพ กับการที่ต้องถูกแปลงไปเป็นสัญญาณอนาล็อก

พอร์ตฝั่งซ้าย

ช่องเสียบอะแดปเตอร์ : ฝั่งซ้ายจะมีพอร์ตอยู่พอร์เดียว พร้อมกับคลีบ หรือรูระบายอากาศ ระบายความร้อนจากในกล่อง นั่นคือจุดต่ออะแดปเตอร์ (Adapter) เพื่อรับกระแสไฟฟ้า มาจากข้างนอก (จากไฟบ้าน) เพื่อต่อตรงเข้ากับตัว กล่องทีวีดิจิตอล ซึ่งกระแสไฟฟ้าจะเป็นแบบ ไฟฟ้ากระแสตรง 5 โวลท์ 2 แอมป์ เท่านั้น

พอร์ตฝั่งขวา

ช่องเสียบ USB : ตัวนี้ถือว่าสำคัญ เพราะมันสามารถเอาไว้ใช้เชื่อต่อกับอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (Storage Devices) ต่างๆ ได้หลากหลาย ซึ่งอย่างที่แจ้งไปว่า นอกจากรุ่นนี้จะเสียบหรือทำงานได้ดีกับ แฟลชไดร์ฟ (USB Flash Drive) แล้ว มันยังสามารถเชื่อมต่กับฮาร์ดดิสก์พกพา หรือ ฮาร์ดดิสก์ภายนอก (External HDD) ได้ดีอีกด้วย

รายการไฟล์วีดีโอ เสียง รูปภาพ ที่กล่องทีวีดีจิตอล Samart รุ่น Smart สนับสนุน

ถือได้ว่า หากมีกล่องทีวีดิจิตอล นี้อยู่ที่บ้านแล้ว เปรียบเสมือนมี โปรแกรมดูหนังฟังเพลง หรือแม้แต่ โปรแกรมดูรูป ติดตั้งเอาไว้ด้วยเลย ความสะดวกคือ คุณสามารถที่จะเปิดไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ ผ่านเครื่องรับโทรทัศน์ได้เลยทันที ไม่ว่าโทรทัศน์จะเป็นรุ่นใหม่ ที่มีพอร์ต HDM ไปยันรุ่นเก่ามากๆ ก็สามารถรับชมได้ด้วยเช่นกัน ลองมาดูรายละเอียดของไฟล์มัลติมีเดีย ที่กล่องนี้สามารถเปิดดู เปิดรับชมได้ด้านล่างเลย

  • Video Files (ไฟล์วีดีโอ) : AVI DIVX XVID MOV VOB FLV DAT MPEG MPG MP4 และ TS
  • Audio Files (ไฟล์เสียง) : MP3 และ WMA
  • Image Files (ไฟล์รูปภาพ) : JPEG BMP และ PNG

ซึ่งจากรายการที่เห็นอยู่ด้านบนพบว่า เป็นไฟล์วีดีโอ ภาพยนตร์ ไฟล์เสียง ไฟล์รูปภาพ ในตระกูลมาตรฐานที่รู้จัก กันอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องห่วงว่า จะมีไฟล์ไหนที่นำมาเปิดแล้ว เปิดไม่ได้ หากไม่ได้จริงๆ แนะนำให้ ดาวน์โหลดโปรแกรมแปลงไฟล์ ไปใช้ เพื่อแปลงไฟล์ ให้เป็นตระกูลที่มีในรายการด้านบนนี้

เสาอากาศรับสัญญาณ Digital TV ของ Samart
จากที่ไปดูที่ห้างฯ มา ทาง Samart เขาได้มีรูปแบบเสาอากาศรับสัญญาณ ทีวีดิจิตอล หลากหลายรุ่นมากๆ ซึ่งจากที่เห็นมีให้เลือกช้อป เลือกซื้อกันมาถึง 4 รุ่น 4 แบบด้วยกัน

เสาอากาศทีวีดิจิตอลของ Samart

ขณะที่ไปซื้อกล่องทีวีดิจิตอลของ Samart ที่ที่ห้างเดอะมอลล์ นั้นก็เหลือบตาไปเห็นเสาอากาศ ของ Samart เองที่มีผลิตออกมา และ รองรับ ทีวีระบบดิจิตอล หลายรุ่นมากๆ ซึ่งก็ได้ถ่ายรูปมาให้ดูเหมือนกันว่าแตกต่างกันอย่างไร ส่วนผมไม่ได้ซื้อ เพราะว่าใช้เสาอากาศ ของ Createch ที่ซื้อมากับกล่องของ MCOT ตอนแรก แทน

เสาอากาศ ทีวีดิจิตอล Samart รุ่น Q1 Indoor และ OrbitD
ภาพ เสาอากาศ ทีวีดิจิตอล Samart รุ่น Q1 Indoor (ภาพซ้าย) และ OrbitD (ภาพขวา) ที่วางขายอยู่บนแผง

เสาอากาศ Samart รุ่น Q1 Indoor

เสารุ่นนี้รุ่น Q1 Indoor เป็นเสาอากาศที่ใช้สำหรับ ภายในอาคาร (Indoor) เท่านั้น ไม่เหมาะสำหรับการวางนอกอาคาร ตากแดด ตากฝน ลักษณะเป็นเสาอากาศรับสัญญาณโทรทัศน์เหมือนสมัยก่อน (รุ่นทีวีอนาล็อก) สามารถรับสัญญาณได้ทั้งประเภท UHF VHF และ FM ตัวเสาแบ่งออกเป็นเสารับสัญญาณสองฝั่ง ตัวเสาสามารถยืดขึ้นได้สูงมากๆ (คนขายแสดงให้ดู) และเสาอากาศแบบ VHF ที่อยู่ตรงกลาง สามารถหมุนได้รอบทิศทาง (360 องศา) ตรงกลางมีที่หมุนสีเหลือง เพื่อปรับจูน และรับสัญญาณได้เป็นอย่างดี

เสาอากาศ Samart รุ่น Orbit D

เสาอากาศรูปทรงดาวเทียมแบบนี้ มีลักษณะการออกแบบที่ล้ำสมัย มีความสามารถในการรับสัญญาณโทรทัศน์ ในรูปแบบ UHF VHF และ FM เหมือนกับ เสาอากาศ รุ่น Q1 แต่มีความแตกต่างตรงที่ ส่วนกลางจะเป็นลักษณะดาวเทียม ที่สามารถหมุนไปมาได้ 180 องศา ในขณะที่ยังมีเสาอากาศที่ด้านซ้ายและด้านขวา เพื่อรับสัญญาณ VHF และ FM ได้อยู่เหมือนเดิม ความยาวยืดได้สูงประมาณ 1 เมตร

เสาอากาศ Samart รุ่น D1A Indoor

เสาอากาศ ทีวีดิจิตอล Samart รุ่น D1A (Flat Corner Reflector Antenna)
เสาอากาศ ทีวีดิจิตอล Samart รุ่น D1A รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาว (ตรงลูกศรสีแดงๆ)

สำหรับ เสาอากาศ Samart รุ่น D1A ตัวนี้ถือเป็นอีก 1 ความภูมิใจ (ของคนขาย) มากๆ ที่เขานำเสนอตัวนี้ เนื่องจากว่ามีการออกแบบรูปทรง หากดูดีๆ ลักษณะเสาจะเป็นกล่องสีเหลี่ยมผืนผ้า เขาเรียกเสาแบบนี้ว่า “Flat Corner Reflector Antenna” คล้ายกับเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ที่เราเห็นตามตึก หรือ ตามท้องถนน แต่ตัวนี้เป็นเสาที่ใช้สำหรับภายในอาคาร (Indoor) เท่านั้น

นอกจากนี้แล้วทางคนขาย เขายังบอกต่ออีกว่าเสาตัวนี้มีการดูดสัญญาณ ที่ดีเยี่ยม แม้คุณจะอยู่ในอาคารลึก (ห่างหน้าต่าง) ซึ่งเขาก็แสดงสาธิต ให้ผมดูว่าเสาอากาศ ทั้งสองรุ่นที่ผ่านมา ไม่สามารถรับสัญญาณทีวีดิจิตอล ได้ ลักษณะจะเป็นการมาๆ หายๆ ดับๆ แบบนี้สลับกันไป เพราะตัวอาคารของเดอะมอลล์ 2 รามคำแหง เป็นอาคารค่อนข้างทึบ และ ที่ขายเสา ขายกล่องทีวีดิจิตอล นี้ก็อยู่ค่อนข้างลึก กลางอาคาร แต่เจ้าเสา D1A นี้สามารถรับสัญญาณได้ชัดแจ๋ว ไม่ติดๆ ดับๆ เหมือนสองรุ่นที่ผ่านมา

นอกจากจะรับสัญญาณ และ ดูดสัญญาณโทรทัศน์ได้ดีเยี่ยมแล้ว ยังมีข้อดีอีกมากมายเลยคือตัว เสาอากาศมีน้ำหนักที่เบามากๆ ผสมสาร UV ทำให้ทนทานต่อการเสื่อมสภาพ ใช้ได้นาน (ข้างกล่องบอกมา) และยังสามารถแขวนเจาะยึดติดกับฝาผนัง (ในอาคาร) ได้ง่ายๆ อีกด้วย แต่ข้อเสียของมันคือ สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์แบบดิจิตอล (แบบ UHF) ได้เท่านั้น จะไม่สามารถรับ VHF และ FM ได้เหมือนสองรุ่นที่ผ่านมา (ซึ่งก็ดูแล้วไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่นัก)

คุณสมบัติ เสาอากาศทีวีดิจิตอล Samart รุ่น D1A
คุณสมบัติ เสาอากาศทีวีดิจิตอล Samart รุ่น D1A ข้างกล่อง

ผลการทดสอบ กล่องทีวีดิจิตอล Samart

หลังจากที่ได้ซื้อมาแล้วลองนำมาเสียบสาย เพื่อใช้งานจริงๆ ที่บ้าน ก็พบว่าการตอบสนอง การเปลี่ยนช่องของ กล่องทีวีดิจิตอล Samart สามารถทำได้ค่อนข้างเร็ว และเมนูการตั้งค่า ใช้จ่ายต่างๆ ถือว่าค่อนข้างเคลียร์และชัดเจน โดยเริ่มจากรีโมทคอนโทรล กล่องทีวีดิจิตอล ด้านล่าง

Samart Strong Box Remote Control (รีโมทคอนโทรล กล่องทีวีดิจิตอล Samart)
รีโมทคอนโทรล กล่องทีวีดิจิตอล Samart Strong รุ่น DVB-T2 เป็น ภาษาไทย ล้วนๆ

หน้าต่างแสดงรายละเอียดของช่องโทรทัศน์ต่างๆ มีคำอธิบายชัดเจน (สามารถเปลี่ยนภาษาไปมาได้) โดยจุดที่ประทับใจคือ มีรายละเอียดของ ความแรงสัญญาณ (Signal Strength) และ คุณภาพสัญญาณ (Signal Quality) แสดงเป็นเปอร์เซ็นต์ชัดเจน

Samart Strong Signal Strength Indicator (ระดับความแรง และ คุณภาพ ของสัญญาณทีวีดิจิตอล)
แถบบอก ระดับความแรง และ คุณภาพ ของสัญญาณทีวีดิจิตอล (Signal Strength Indicator)

เมนูการใช้งานอธิบาย และถูกแบ่งออกเป็นหมวดหมู่อย่าชัดเจนโดยใช้ไอคอน หรือ รูปภาพแสดงสัญลักษณ์หน้าที่ต่างๆ ที่มีอยู่ในเมนู จึงขออธิบายดังต่อไปนี้

การติดตั้ง (Setting)

เริ่มจาก เมนูการติดตั้ง (Installation) ซึ่งจะมีเมนูให้เลือกว่าต้องการให้มีไฟเลี้ยงเสาอากาศหรือไม่ สามารถเปิด หรือ ปิด ได้ ซึ่งเมนูไฟเลี้ยงเสาอากาศ ตัวนี้หากคุณ “เปิด” มันเสาอากาศจะมีไฟไปหล่อเลี้ยง และทำการรับสัญญาณทีวีได้ดีกว่า ซึ่งเสาอากาศบางรุ่นจะมีหลอดไฟเล็กๆ บอกอยู่ทีสาย หรือ ตัวเสาอากาศ ว่ามีไฟมาเลี้ยงหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีเมนูของการตั้งค่าประเทศ ซึ่งค่าเริ่มต้น (Default) เป็นภาษาไทย พร้อมระบบค้นหาช่องแบบอัตโนมัติ หรือ จะเลือกค้นด้วยตัวเองก็ได้เช่นกัน

Samart Strong Setting Installation
เมนู การติดตั้ง กล่องทีวีดิจิตอล Samart Strong รุ่น DVB-T2 เป็นภาษาไทย อธิบายการใช้งาน ชัดเจน
Samart Strong Antenna Power Booster
ไฟเลี้ยงเสาอากาศ หากเปิดให้ไฟมาเลี้ยง ก็จะแสดงขึ้นมา หมายความว่าได้ไฟเลี้ยงจาก กล่องทีวีดิจิตอล

ตั้งค่าช่อง (Channel Setting)

เมนูที่สอง ถัดมาคือ เมนูการตั้งค่าของช่อง (Channel Setting) ซึ่งจะมีเมนูให้คุณได้สามารถแก้ไขการจัดเรียงลำดับ ช่องทั้งทีวี (โทรทัศน์) และ วิทยุ ได้ตามใจชอบ เช่นต้องการจะเริ่มต้นจากช่องไหนไปช่องไหน ก่อนหลัง

รวมไปถึงการตั้งผังรายการล่วงหน้า (EPG ย่อมาจาก Electronic Program Guide) ที่ตอนนี้ยังไม่สามารถปรับได้ สาเหตุเนื่องจากว่า ช่องต่างๆ ยังไม่แสดงรายการทีวี ที่แน่นอนเข้ามา และนอกจากนี้ยังมีเมนู การเรียงตามหมายเลขช่อง (LCN – Logical Channel Number) ที่จะสามารถเลือกได้ว่าต้องการเรียงลำดับช่องแบบต่อเนื่อง (แบบอนุกรม) จากช่อง 1 2 3 4 5 … ช่อง n โดยไม่ข้ามเลขใดเลขหนึ่งไปเลย หรือต้องการจะ เรียงตามช่องที่เขาได้เซ็ตมาตั้งแต่แรก จากสถานทีโทรทัศน์

Samart Strong Setting Channel
การตั้งค่าช่องทีวี และ การตั้งค่าช่องวิทยุ ต่างๆ

 

ตั้งค่าวัน ตั้งค่าเวลา (Date Setting and Time Setting)

เมนูที่สาม คือเมนูการตั้งค่าเวลา ที่ให้ผู้ใช้งานได้สามารถ ตั้งค่าวันเวลา ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลา (+07.00) คือเวลาเมืองไทยเร็วกว่า GMT อยู่ 7 ชั่วโมง ซึ่งเป็นค่ามาตรฐาน ที่เมืองไทย จะต้องใช้ นอกจากนี้ยังมีการตั้งค่าวันที่ (Date Setting) ตั้งค่าเวลา (Time Setting) รวมไปถึงตั้งเวลาปิดกล่องล่วงหน้า ซึ่งสามารถเลือกได้เริ่มตั้งแต่ 15 นาที 30 นาที 45 นาที 60 นาที 90 นาที (1.30 ชั่วโมง) และ 120 นาที (2 ชั่วโมง) หรือแม้แต่ ตั้งเวลารับชม/บันทึก ล่วงหน้ารายการทีวีได้เช่นกัน

Samart Strong Setting Time
เมนูการตั้งค่าวัน ตั้งค่าเวลา ของ กล่องทีวีดิจิตอล Samart Strong รุ่น DVB-T2

ตั้งค่าทีวี (Television Setting)

ส่วนเมนูที่ 4 เป็น การตั้งค่าทีวี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่รูปแบบทีวี (Ratio) เพราะปัจจุบันนี้มีรูปแบบของทีวี มีอัตราส่วนขนาดความกว้าง และ ความสูง ที่หลากหลาย ซึ่งจะมีให้เลือก 3 รูปแบบตั้งแต่ 16:9 FIT 4:3 LB และ 4:3 PS

นอกจากนี้ยังสามารถเลือกเอาพุทวีดีโอ (Video Output) ได้หลากหลายรูปแบบ แต่เลือกค่าตั้งต้นคือ HDMI โดยขณะทำการทดสอบได้ลองเปลี่ยนไปเป็นแบบอื่นๆ ปรากฏว่าไม่ชัดเลย และต้องเสียงเวลารอมันเปลี่ยนและตั้งค่าใหม่ เพราะมันเปลี่ยนเดี๋ยวนั้นเลยแบบสดๆ ไม่รอยืนยัน หรือ กดปุ่มออก (Exit) ก่อนเลย

เมนูถัดไปจะเป็นความโปร่งใสของหน้าจอ หรือ ค่าความสว่างของหน้าจอนั่นเอง ซึ่งตัวเลขยิ่งมากเท่าไหร่ ความสว่างบนหน้าจอก็จะยิ่งมากขึ้นไปเท่านั้น และ เวลาแสดงข้อมูลรายละเอียดของช่อง คุณภาพสัญญาณ และอื่นๆ โดยมีเวลาให้เลือกตั้งแต่ 5 วินาที 10 วินาที 30 วินาที ไปจนถึงแสดงตลอดเวลา

Samart Strong Setting Television
เมนูการตั้งค่าทีวี ของ กล่องทีวีดิจิตอล (Television Setting)

ตั้งค่าภาษา (Language Setting)

ในเมนูนี้คุณสามารถตั้งค่าภาษา (Language) ที่แสดงผลทั้งภาพและเสียงได้ที่นี่ โดยมันแบ่งออกเป็น 4 เมนูย่อยๆ ดังต่อไปนี้

  1. ภาษา (Language) หรือ ภาษาหลักของเมนู ที่ใช้ในกล่องทีวีดิจิตอล Samart ซึ่งในนี้มีให้เลือกเพียงแค่ 2 ภาษา เท่านั้นคือ ไทย และ อังกฤษ
  2. ภาษาของสัญญาณเสียง หรือ ระบบเสียงที่มีได้หลายภาษา อยู่ในระบบ ซึ่งก็ขึ้นอยู่ว่างเขาจะปล่อยสัญญาณเสียงด้วยภาษาใดมา ซึ่งในกล่องนี้ มีให้เลือกหลักๆ คือ ภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ
  3. ภาษาคำบรรยาย
  4. ระบบเสียงดิจิตอล
Samart Strong Setting Language
เมนูการตั้งค่าภาษา (Language Setting) ของกล่อง

การตั้งค่าอื่นๆ (Other Setting)

ในส่วนของการตั้งค่าอื่นๆ ก็จะมี เมนูหลักๆ ให้เลือกกันทั้งหมด 6 เมนูด้วยกัน ซึ่งในที่นี้ก็จะมีเครื่องคิดเลข พร้อมเกมส์ให้เล่นด้วยเช่นกัน โดยรายการเมนูทั้งหมด มีอยู่ดังต่อไปนี้

  1. ควบคุมโดยผู้ปกครอง ส่วนนี้เอาไว้ใช้ในการล็อครหัสผ่าน ในการเข้ามาแก้ไขข้อมูล จำกัดอายุผู้ใช้งาน
  2. อัพเกรดซอฟท์แวร์ ใช้สำหรับในกรณีที่มีซอฟต์แวร์ (เฟิร์มแวร์) ของกล่องตัวนี้ออกเวอร์ชั่นใหม่มา ผู้ใช้งานสามารถอัพเกรดได้จากเมนูนี้ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดไฟล์ เฟิร์มแวร์ จากอินเตอร์เน็ต ซึ่งไฟล์ที่ได้จะนามสกุล .ssu แล้วนำก๊อปปี้ลงไปในแฟลไดร์ฟ แล้วเอาไปเสียบที่กล่องทีวีดิจิตอล Samart แล้วเข้ามาที่เมนูนี้ เพื่อทำการอัพเดท
  3. ตั้งค่าโรงงาน ในกรณีที่ตัวกล่องทีวีดิจิตอล Samart ตัวนี้เกิดรวนๆ หรือตั้งค่าอะไรไปแล้วบ้างก็ไม่รู้ จำไม่ได้ เขามีโอกาสให้คุณได้สามารถย้อนกลับไปใช้ค่าตั้งต้น ค่าเริ่มต้นของโรงงาน (Reset to Default) เหมือนเครื่องใหม่แกะกล่อง ที่ยังไม่ได้ถูกตั้งค่าอะไรเลยได้ที่เมนูนี้
  4. ปฏิทิน (Calendar) ส่วนนี้เป็นปฏิทินจริงๆ ที่ไม่สามารถใส่บันทึกย่ออะไรเข้าไปได้เลย สามารถดูย้อนหลังล่วงหน้าได้หลายเดือน หลายปี
  5. เครื่องคิดเลข (Calculator) ก็เป็นเครื่องคิดเลขจริงๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย แต่ไม่สามารถใส่สูตรคำนวณทางวิทยาศาสตร์ หรือ คณิตศาสตร์ชั้นสูงได้
  6. เกมส์ (Games) ภายในเขาเกมส์มาให้อยู่ 3 เกมส์ ด้วยกัน ได้แก่ Gobang บ็อกแมน และเกมส์ตัวต่อยอดฮิตตลอดกาลอย่าง เตอติส (Tertis) ซึ่งอย่างตัวหลัง ได้ลองเล่นแล้วก็ไม่ได้เล่นยากอะไร สามารถเล่นได้จากรีโมทคอนโทรล (Remote Control) ที่มาจากกล่องฯ ได้เลย แต่ที่ยากคือ รีโมทซึ่งเป็นตัว “ส่งสัญญาณ” จะต้องชี้ไปที่ไปที่กล่องทีวีดิจิตอล Samart Strong ซึ่งเป็นตัว “รับสัญญาณ” อยู่ตลอดเวลา หากหลุด หรือรีโมทถูกชี้ไปทางอื่น ก็จะไม่สามารถควบคุมเกมส์ได้ ดังนั้นมือต้องนิ่งพอ

หมายเหตุ : รหัสผ่านตั้งต้น ที่เขาตั้งมาให้จากโรงงานคือ “0000” (ศูนย์สี่ตัว)

Samart Strong Setting Other
การตั้งค่าอื่นๆ (Other Setting) ของ กล่องทีวีดิจิตอล Samart Strong รุ่น DVB-T2
Samart Strong Setting Calculator (เครื่องคิดเลข)
เครื่องคิดเลข โปรแกรมเสริมใน กล่องทีวีดิจิตอล Samart Strong รุ่น DVB-T2

Samart Strong Setting Other Games

เกมส์ตัวต่อเตอติส (Tertis) ที่ติดมากับกล่องฯ เล่นแล้วไม่ยาก
เกมส์ตัวต่อเตอติส (Tertis) ที่ติดมากับกล่องฯ เล่นแล้วไม่ยาก

การเล่นไฟล์มัลติมีเดีย (USB Multimedia)

และเมนูสุดท้าย ที่ถือว่าเป็นอีกเมนูหนึ่งที่สำคัญสำหรับคอหนัง นักถ่ายรูป คนชอบฟังเพลง ต่างๆ เลยก็ว่าได้ เพราะว่าในกล่องนี้จะมีพอร์ต USB มาให้อยู่ 1 พอร์ต ซึ่งพอร์ตดังกล่าวนี้ประโยชน์ของมันมี 2 อย่างหลักๆ คือ เอาไว้อัพเกรดซอฟต์แวร์ (เฟิร์มแวร์) ของกล่องทีวีดิจิตอล และ ประโยชน์อย่างที่ 2 ของมันคือ เอาไว้ใช้ในการเปิดไฟล์มัลติมีเดีย ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไฟล์ภาพยนตร์ คลิปวีดีโอ ไฟล์รูปภาพ ไฟล์เพลง ต่างๆ ที่อยู่ในแฟลชไดร์ฟ หรือแม้แต่ ฮาร์ดดิสก์ภายนอก หรือ พกพา (External Harddisk หรือ Portable Harddisk) นั่นเอง

และเพื่อเป็นการพิสูจน์ความสามารถในการอ่านไฟล์มัลติมีเดียของมัน จึงได้นำเอาฮาร์ดดิสก์ภายนอก ของ Buffalo MiniStation รุ่น HD-PNTU3 ขนาดความจุ 1 GB. มาทดสอบ ซึ่งเจ้าฮาร์ดดิสก์ตัวนี้ จะไม่ได้ใช้อะแดปเตอร์ จ่ายไฟมาเลี้ยงจากข้างนอก แต่ใช้ไฟจากพอร์ต USB เลย นอกจากนี้แล้วยังรองรับพอร์ต USB 3.0 แต่คนขายกล่องทีวีดิจิตอล Samart บอกว่า รองรับ USB 2.0 ซึ่งแน่นอนว่า เราจะได้ความเร็วหรือสปีดของ USB 2.0 มาใช้

หลังจากที่เสียบฮาร์ดดิสก์ เข้าไปทางพอร์ต USB ที่อยู่ทางขวามือของกล่องทีวีดิจิตอล Samart แล้ว ก็เข้ามาที่เมนูนี้ พร้อมเลือกสิ่งที่คุณต้องการจะเปิด เช่นในฮาร์ดดิสก์มีไฟล์วีดีโออยู่ หลังจากเลือกในเมนู “ภาพยนตร์” แล้วก็จะเห็นเป็นรายการไฟล์หรือโฟลเดอร์ต่างๆ (อารมณ์จะประมาณใช้พวกเครื่องเล่น MP3 ดีวีดี วีซีดี) ที่มีอยู่ภายใน หลังจากนั้นก็กดปุ่มเล่น (ปุ่ม “Play”) ได้เลยทันที

Samart Strong Setting USB-Multimedia Menu (เมนูไฟล์มัลติมีเดีย)
เมนูมัลติมีเดีย ใช้เลือกเพื่อเปิดไฟล์ ภาพยนตร์ (คลิปวีดีโอ) เพลง รูปภาพ ต่างๆ
Samart Strong Setting USB Multimedia Sample
เมื่อเลือกไฟล์เสร็จ ก็จะสามารถรับชมได้ทันที สามารถดูแบบเต็มจอ (Full Screen Mode) ได้

ซึ่งเมื่อใช้งานแล้ว จากที่เห็นคือเปิดไฟล์ MP4 ซึ่งเป็นไฟล์วีดีโอ ก็พบว่าภาพไฟล์ต่างๆ ไม่มีกระตุก ไม่ดีเลย์เลย สามารถดูคลิปได้สมูท ไหลลื่นมากๆ ทั้งภาพและเสียง

บทสรุปการใช้งาน กล่องทีวีดิจิตอล Samart

จากที่ได้ใช้งานมาสักระยะ ก็ค่อนข้างประทับใจกับกล่องของ Samart ตัวนี้อยู่พอสมควร เนื่องจากคุณภาพของภาพและเสียงชัด

ข้อดี 🙂

  • การปรับเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ จากช่องหนึ่งไปอีกช่องหนึ่ง สามารถทำได้เร็วกว่า
  • ระบบมีการแสดงระดับความแรงของสัญญาณ ในแต่ละช่อง ให้ทราบว่ามีความแรง (Signal Strength) และ คุณภาพ (Signale Quality) ของสัญญาณ มากน้อยเพียงใด
  • ครั้งแรก ที่เปิดใช้งาน กล่องทีวีดิจิตอล Samart ตัวนี้ รอการสแกนค้นหาช่องไม่นาน
  • ใช้ชิปเซ็ตของ SONY เพื่อการถอดรหัสสัญญาณ และแปลงสัญญาณ ทำให้รู้สึกมั่นใจ ในความเป็นโซนี่ (จริงๆ ไม่รู้หรอกว่าดีกว่ายังไง)
  • มีพอร์ต COAX มาให้กับกล่อง ทำให้มีโอกาสส่งสัญญาณเสียง แบบดิจิตอล 100% ไปยัง แอมปลิฟายเออร์ หรือ ระบบโฮมเธียเตอร์ ได้แบบไม่สูญเสียคุณภาพ ซึ่งพอร์ต COAX นี้ กล่องทีวีดิจิตอล บางรุ่น บางยี่ห้อ ไม่ได้มีมาให้ ซึ่งจุดนี้ถือว่า กล่องของ Samart ได้เปรียบ
  • กล่องมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา พกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก ไปต่างจังหวัด ใส่กระเป๋ากางเกงไปยังได้ ให้ความรู้สึกเหมือนมือถือเครื่องนึง
  • สามารถเปิดไฟล์ เพื่อดูหนังจาก ฮาร์ดดิสก์พกพา (Portable Harddisk) หรือ ฮาร์ดดิสก์ภายนอก (External Harddisk) ได้
  • รองรับมาตรฐานไฟล์มัลติมีเดีย เป็นจำนวนมาก (มากกว่ากล่องทีวีดิจิตอล หลายยี่ห้อ) อาทิเช่นไฟล์วีดีโอ รองรับ MKV AVI DIVX XVID MOV VOB FLV DAT MPEG MPG MP4 และ TS ไฟล์เสียงออดิโอ รองรับ WMA และ MP3 และไฟล์รูปภาพ รองรับ JPG GIF และ PNG
  • กล่องสินค้า และ คู่มือการใช้งาน บอกรายละเอียดมาอย่างครบถ้วน ทำให้เร็วรู้เร็ว และ เข้าใจง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนสูงอายุ
  • รีโมตการใช้งาน มีปุ่มบอกเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนไทยใช้และทำความเข้าใจได้ง่าย

ข้อเสีย 🙁

  • สายสัญญาณที่ให้มาในกล่องดูแล้ว (แค่สังเกตุดูภายนอกนะ) มีคุณภาพต่ำ ไม่ค่อยทนทาน และ แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นทั้งสาย AV สาย HDMI รวมไปถึง ชุดอะแดปเตอร์ ที่ใช้จ่ายกระแสไฟฟ้า
  • ข้อความ คำอธิบายบนรีโมทคอนโทรล เป็นภาษาไทย จึงสะดวกสำหรับคนไทย แต่หากเป็นคนต่างชาติจะเข้าใจยาก
  • ภาพกราฟฟิก หรือ หน้าตาอินเตอร์เฟซ ของซอฟต์แวร์ ที่ให้มากับคอมพิวเตอร์ สีสันไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่
  • ราคาค่อนข้างสูง (แต่ ณ วินาที ที่ซื้อกล่อง ก็ราคาประมาณนี้ เท่าๆ กันหมด จากทุกค่ายอยู่แล้ว)

สุดท้ายนี้หวังว่ารีวิวชุดนี้ จะเป็นตัวช่วยในการประกอบการตัดสินใจซื้อกล่องทีวีดิจิตอล ของคุณได้ เป็นอย่างดี หากมีอะไรที่ให้ข้อมูลผิดพลาดไป ก็ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

Samart Strong Box Remote Control Description
คำอธิบายรีโมทคอนโทรล กล่องทีวีดิจิตอล Samart Strong รุ่น DVB-T2 (ภาพนำมาจาก เว็บไซต์ www.samartdigital.com)

ข้อมูลอ้างอิง

3 ความคิดเห็น

  1. จะมีวิธีแก้ไขอย่างไรได้บ้างหรือซอพแวของเครื่องล่ม

  2. ไปซื้อรุ่นอื่นมาหลายยี่ห้อไม่เห็นมีปันหาอะไรเลยพอมาซื้อรุ่นนี้กับไม่มีความทนทานเอาซะเลย

  3. ซื้อกล่องสีขาวsamartมา2เครื่องดูได้ปรมาน4เดือนอีกเครื่องไม่ได้ใช้เลยเอามาใช้ดูไม่ได้เลยมีไฟเข้าปุ่มเขียวติดหน้าจอไม่มีอะไรขึ้นเลยเป็นเพราะอะไร

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้