ไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ แต่ละชนิด แตกต่างกันอย่างไร ?

Wood for Furniture - ไม้ทำเฟอร์นิเจอร์
รู้จักกับ ไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ แต่ละชนิด

บทความจาก Thanop.com นี้ไม่ใช่บทความรีวิว เหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นบทความให้ความรู้ที่ผมเขียนขึ้นมา เพื่อให้ความรู้ในเรื่องของ ไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ ที่เอามาประกอบทำ โต๊ะ ตู้ เตียง เก้าอี้ ต่างๆ นั้นมีความแตกต่างเป็นอย่างไร รวมไปถึง กระบวนการผลิต ตลอดจน ข้อดี ข้อเสีย ของ ไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ พร้อมรูปประกอบ แต่ละชนิดให้ดูกัน เป็นความรู้ประดับเอาไว้ เผื่อเวลาไปซื้อเฟอร์นิเจอร์แบบสำเร็จรูป น็อคดาวน์ หรือแม้แต่ เฟอร์นิเจอร์บิ้วท์อิน เวลาช่าง หรือ คนขายแนะนำอะไร จะได้เข้าใจ และไม่โดนหลอกเอาง่ายๆ ทั้งนี้บทความนี้ จะกล่าวถึง ไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ หลักๆ เท่านั้น ไม่รวม ไม้โครง ไม้ทำพื้น ต่างๆ นะ

ถ้าหากพูดถึง ไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ ในปัจจุบันนั้น อุตสาหกรรมด้านการ ผลิตเฟอร์นิเจอร์ ได้พัฒนาไปไกลมาก มีการใช้วัตถุดิบต่างๆ มาทำเฟอร์นิเจอร์มากมาย ทั้งวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติล้วนๆ แบบ 100% และ วัตถุดิบแบบสังเคราะห์ โดยที่แต่ก่อนมีเพียงไม้อัด หรือไม้แท้ที่นำไม้มาทำเฟอร์นิเจอร์ เท่านั้น

โดยตอนนี้มีไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ชนิดอื่นๆ อีก ซึ่งง่ายต่อการประกอบและขนย้ายมากขึ้น ทั้งยังเป็นตัวเลือกในการตกแต่งบ้านได้ดีเลย แล้วยังมีสีสันให้เลือกหลากหลายเลยทีเดียว ทำให้การแต่งบ้านสวยงาม และสนุกยิ่งขึ้นสำหรับคนรักบ้านอย่าได้พลาดที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับชนิดของไม้ที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์กัน

โดยหลักๆ แล้ว ปัจจุบัน ไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ มีอยู่ทั้งหมด 4 ประเภทด้วยกัน โดยผมขอเรียงลำดับจาก ไม้คุณภาพต่ำ ไปยัง ไม้คุณภาพสูง (ซ้ายไปขวา) เลยคือ ไม้ปาติเกิล → ไม้ MDF → ไม้อัด → ไม้แท้ หรือ ไม้จริง และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ขอมาเริ่มกันเลยดีกว่า

  1. ไม้ปาติเกิล (Particle Board)
  2. ไม้ MDF (Medium-Density Fiberboard)
  3. ไม้อัด (Plywood)
  4. ไม้แท้ หรือ ไม้จริง (Wood)
  5. สุดท้ายก่อนจากกัน (Conclusion)

Particle Board (ไม้ปาติเกิล)

Wood for Furniture Particle Board
ไม้ปาร์ติเกิลบอร์ด (Particle Board)

ไม้ประเภทแรก ที่จะนำมาทำความรู้จักคือ “ไม้ปาติเกิล” หรือ “Particle Board” ชนิดนี้ ส่วนมากจะเป็นการนำเศษไม้ยางพารา ขนาดเล็ก แต่ไม่ได้บดละเอียดถึงกับเป็นผง หรือ ที่เรียกว่า “ขี้เลื่อย (Sawdust หรือ Wood Dust)” โดยขี้เลื่อยเหล่านี้จะมีขนาดที่ไม่เท่ากัน บางเศษก็มีขนาดใหญ่ บางเศษก็มีขนาดเล็ก แล้วนำมาผ่านกรรมวิธี อัดบดเป็นแผ่น ผสมกาว และ ผ่านกระบวนการทางเคมีจนได้แผ่นไม้ต่างขนาดกัน อาทิ แผ่นไม้ขนาด 1.20 x 2.45 เมตร โดยความหนาของไม้ที่นิยมใช้มาทำเฟอร์นิเจอร์ จะมีความหนาต่อแผ่นอยู่ที่ประมาณ 15 มิลลิเมตร และ 25 มิลลิเมตร เท่านั้น แล้วแต่คุณภาพ

โดยพื้นผิวด้านนอกนั้นส่วนใหญ่แล้ว ทางผู้ผลิตไม้ปาติเกิล จะปิดทับด้วย กระดาษพิมพ์ลายไม้ แผ่นฟอยล์ (Foil) หรือ แผ่นเมลามีน ก่อนการใช้งาน งานไม้ชนิดนี้นิยมนำไปทำเฟอร์นิเจอร์อันดับต้นๆ ในอุตสาหกรรมเลยก็ว่าได้ เนื่องจากมีราคาต้นทุนที่ต่ำมาก และด้วยความที่เศษไม้ เศษขี้เลื่อยมีขนาดไม่เท่ากัน แต่ถูกนำมาอัดนั้น จึงอาจจะทำให้มีอากาศแทรกอยู่ด้านในระหว่างช่องว่างของเศษขี้เลื่อยด้านในได้ด้วยเช่นกัน

ข้อดีไม้ปาติเกิล 🙂

  • ราคาถูกมาก
  • มีน้ำหนักเบา ขนย้ายสะดวก
  • เป็นที่นิยมใช้กันในวงกว้าง หาซื้อได้ง่าย

ข้อเสียไม้ปาติเกิล 🙁

  • วัตถุดิบโดยรวม ไม่แข็งแรง
  • ไม่สามารถโดนน้ำได้ เพราะอาจจะยุ่ย เปื่อยได้ ที่โดนน้ำได้เป็นเพราะพื้นผิวด้านนอก ที่ปิดทับช่วยเอาไว้
  • ไม่สามารถพ่นสีบนตัวงานได้
  • ปิดผิว PVC ได้แบบไม่เรียบแปล้ เนื่องจากขี้เลื่อยที่นำมาบดอัดมีขนาดไม่เท่ากัน
  • อาจมีเชื้อราขึ้นได้ ต้องหมั่นคอยดูแล อย่าให้ห้องมีความชื้น
Wood for Furniture Particle Board After Touched Water
ไม้ปาร์ติเกิลบอร์ดหลังโดนน้ำ จะสภาพยุ่ย เป็นขุย ความแข็งแรงลดน้อยลง

จากภาพด้านบน เป็นสภาพของ ไม้ปาติเกิลที่โดนน้ำมาในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจากที่สังเกตดูจะเห็นว่า เนื้อไม้จะเป็นขุย ยุ่ยๆ ผิวด้านบนจะไม่เรียบคงที่อีกต่อไป แม้วัสดุปิดผิวจะดีแค่ไหนก็ตาม เพราะโครงสร้างไม้เสื่อมหมดแล้ว ความแข็งแรงลดน้อยลง จนแทบจะไม่เหลือเลย และนี่คือข้อเสียหลักๆ ของมันเลย แต่ถ้าวัสดุปิดผิวไม้ มีความหนาอยู่ ก็อาจจะพอช่วยได้บ้างเล็กน้อย แต่ถ้าเจอน้ำท่วมมาเลยก็คงเอาไม่อยู่เหมือนกัน

Medium-Density Fiberboard (ไม้ MDF)

ต่อกันที่ไม้ประเภทที่สองคือ “ไม้ MDF” ซึ่งคำว่า MDF นี้ย่อมาจากคำว่า “Medium-Density Fiberboard” เราสามารถแปลเป็นภาษาไทยตรงๆ ตามชื่อความหมายภาษาอังกฤษของมันได้ว่า “แผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง

Wood for Furniture MDF Medium Density Fiberboard
ไม้เอ็มดีเอฟ (ไม้ MDF : Medium-Density Fiberboard) หรือ แผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง

โดยไม้ชนิดนี้ มีความคล้ายคลึงกับ ไม้ปาติเกิล (Particle Board) คือเอาเศษขี้เลื่อยของไม้ยางพารามาบดอัด ดั่งที่ได้กล่าวมาด้านบน แต่ว่า ไม้ MDF จะต้องผ่านกระบวนการอัดไม้ ด้วยเครื่องบดอัดไม้เฉพาะที่มีแรงอัดสูงมาก พร้อมกับความร้อน ด้วยเครื่องจักรเฉพาะทาง ความหนาแน่น จะอยู่ประมาณ 500 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (kg/m3) ขึ้นไป

ด้วยกระบวนการผลิตที่มีความละเอียด ซับซ้อนขนาดนี้ จึงทำให้เนื้อไม้ มีความแน่น ละเอียด ผิวเนียนมากกว่าไม้ปาร์ติเกิ้ล แม้ว่าส่วนใหญ่ ไม้ MDF จะเศษขี้เลื่อยของ ไม้ยูคาลิปตัส ไม้ยางพารา แต่บางโรงงานถ้าอยากผลิตไม้ MDF ที่มีคุณภาพดีหน่อย เขาจะนำไม้ท่อน มาบดอัดแทนเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีกว่า

โดยขนาดมาตรฐานของ แผ่นไม้ MDF ที่ขายกันตามท้องตลาด อยู่ที่ 1.22 x 2.45 เมตร (หรือ 4 x 8 ฟุต) ต่อแผ่น สามารถบวกลบ (±) ได้นิดหน่อย เรื่องความหนาของแผ่นไม้ MDF ที่นิยมนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ มีหลากหลายขนาด ตั้งแต่ 3 มิลลิเมตร ถึง 25 มิลลิเมตร กันเลยทีเดียว ขึ้นอยู่ว่าจะนำไปใช้ประกอบ หรือ รับน้ำหนักส่วนไหนของเฟอร์นิเจอร์

โดยพื้นผิวด้านนอก ของ ไม้ MDF นั้นสามารถปิดผิว ได้หลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น การปิดผิวด้วย กระดาษลายไม้ หรือลายอื่นๆ หรือจะ ปิดพื้นผิวด้านนอก ด้วยพีวีซี (PVC) ก็จะมีความแข็งแรงขึ้นมาอีกหน่อย รวมไปถึง การพ่นสีทับไปบนพื้นผิวด้านนอก ได้เช่นกัน

ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ จะได้งานไม้ที่มีความเรียบเนียนกว่างานไม้ปาติเกิลบอร์ดมากๆ ขึ้นรูปได้สะดวก เจาะรูง่าย ทำออกมาเป็นชิ้นงานง่ายขึ้น เน้นเรื่องการทำสีเป็นส่วนใหญ่ และราคาถูกกว่าไม้อัด อยู่พอสมควร

ข้อดีไม้ MDF 🙂

  • ความหนาแน่น (Density) ของแผ่นไม้สูงกว่า ไม้ปาร์ติเกิ้ล
  • ผิวละเอียด เรียบเนียน สม่ำเสมอ ตลอดทั้งแผ่น
  • มีความแข็งแรงมากกว่ากว่า รับน้ำหนักได้มากกว่า
  • สามารถพ่นสี ทาสีลงเข้าไปในเนื้อไม้ได้
  • สามารถทนน้ำได้ดีกว่าไม้ปาร์ติเกิ้ล

ข้อเสียไม้ MDF 🙁

  • มีราคาที่สูงกว่าไม้ปาร์ติเกิ้ล
  • มีน้ำหนักมากกว่าไม้ปาร์ติเกิ้ล เนื่องจากเนื้อไม้มีความหนาแน่นมากกว่า
  • ต้องระวังเรื่องความชื้น และ การโดนน้ำเช่นกัน แม้จะทนกว่าไม้ปาร์ติเกิ้ลก็ตาม
  • ขณะตัดไม้ จะมีฝุ่นเป็นจำนวนมาก ช่างไม้ และ ผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงต้องระวังให้ดี

ข้อมูลเพิ่มเติม

“นอกจากนี้แล้ว ในวงการยังมีไม้อีกประเภท ที่เรียกว่า ไม้ HDF (ย่อมาจากคำว่า “HIGH-Density Fiberboard”) หรืออีกชื่อนึงคือ “ไม้ Hardboard” แผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นสูง ก็จะมีความหนาแน่น ที่มากกว่า ไม้ MDF เข้าไปอีก คือตั้งแต่ประมาณ 800 kg/m³ ขึ้นไป แต่น้ำหนักก็จะมากกว่า ไม้ MDF เช่นกัน”

Plywood (ไม้อัด)

ไม้ประเภทที่สามคือ “ไม้อัด” หรือ “Plywood” ถือเป็นไม้ที่มีคุณภาพดีขึ้นมาอีกระดับ พูดง่ายๆ คือดีกว่าทั้ง ไม้ MDF และ ไม้ปาร์ติเกิ้ล ที่ได้กล่าวมาด้านบน ในแง่ของความทนทาน แข็งแรง และคุณสมบัติพิเศษต่างๆ เช่น การกันน้ำ กันปลวก เป็นต้น เพราะกระบวนการ การผลิต แรกเริ่ม ไม่ได้นำเอาไม้มา

Wood for Furniture Plywood
ไม้อัด (Plywood)

โดยส่วนใหญ่ ไม้อัด จะมีกระบวนการผลิตโดยที่ นำไม้มาปอกเปลือกชั้นนอกที่ตะปุ่มตะป่ําออกไปออกไป ต่อไปเป็นกระบวนการ ทำให้บาง และ อัดเป็นชั้นๆ จนแน่น หลังจากนั้นนำไปผ่านกระบวนการทางเคมี ซึ่งอาจเป็นการนำมาผสมกับกาวร้อนหรือกาวเย็น ตามสูตรเฉพาะ ของโรงงานผลิตไม้ในแต่ละที่ และ ปิดผิวด้วยเยื่อบุไม้ ซึ่งไม้อัด นั้นก็ทำมาจากไม้ชนิดต่างๆ หลากชนิด ถือว่ามีหลากหลายเอามากๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ผลิต หรือ ลูกค้า จะเอาไม้ชนิดใด ประเภทใด มาอัดขึ้นรูปนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น

  • ไม้อัดยาง หรือ ไม้ยางพาราประสาน
  • ไม้อัดสัก
  • ไม้อัดสักอิตาลี
  • ไม้อัดแฟนซี หรือ ไม่อัดลวดลาย
    • ไม้อัดแอชจีน
    • ไม้อัดแอชอเมริกา
    • ไม้อัดบีช
    • ไม้อัดเชอรี่ ในลายต่างๆ

โดยคุณสมบัติของ ไม้อัด นั้นนอกจากจะมีความคงทน แข็งแรง แล้ว ทางผู้ผลิตหรือจัดจำหน่าย บางแห่งก็จะพ่วงเอาคุณสมบัติพิเศษ มาให้เลือกใช้กันอีกด้วย อย่างเช่น ความสามารถของการกันน้ำ กันปลวกและแมลงจำพวกกินเนื้อไม้ได้ เป็นอย่างดี ที่เขาจะใช้กาวชนิดพิเศษในการยึดเนื้อมา ผสมกับน้ำยากันปลวก เข้าไปในแต่ละชั้นของไม้ ด้านนอกอาจจะมีการทาน้ำยาพิเศษเคลือบ

แบะนอกจากนี้แล้ว สามารถนำไปปิดผิวเพิ่มเติมเองได้ และยังแยกออกเป็น 3 ประเภท คือ ไม้อัดชนิดใช้ภายใน (Interior Plywood), ไม้อัดชนิดใช้ภายนอก (Exterior Plywood), ไม้อัดชนิดใช้งานชั่วคราว (Temporary Plywood)

ส่วนขนาดความหนามาตรฐานของไม้อัดก็มีตั้งแต่ประมาณ 3 มิลลิเมตร ถึง 20 มิลลิเมตร ส่วนขนาดของแผ่นไม้ที่จำหน่ายกันทั่วไป ในท้องตลาด ก็จะเป็นขนาดมาตรฐาน เหมือนกับกับไม้ชนิดอื่นๆ นั่นคือ อยู่ที่ 1.22 x 2.45 เมตร (หรือ 4 x 8 ฟุต) นั่นเอง

ข้อดีไม้อัด 🙂

  1. ไม่บิดงอได้ง่ายๆ และ คงทน แข็งแรง
  2. สามารถป้องกัน หรือ โดนน้ำได้ในระดับนึง
  3. สามารถทนความชื้นต่างๆ ได้เช่นกัน
  4. สามารถกันปลวกได้
  5. มีความสวยงาม ผิวดูเรียบ และมีออปชั่นให้เลือกมากมาย

ข้อเสียไม้อัด 🙁

  1. ราคาค่อนข้างสูง
  2. มีน้ำหนักมาก

Wood (ไม้แท้ หรือ ไม้จริง)

Wood for Furniture Genuine Wood
ไม้แท้ หรือ ไม้จริง (Wood) สัมผัส กับ เนื้อไม้ ลายไม้ ที่เป็นธรรมชาติ อย่างแท้จริง

ไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ ส่วนสุดท้ายคือ “ไม้จริง” หรือ “ไม้แท้ (Wood)” จะสามารถแยกออกได้ ไปหลากหลายชนิดเช่นกัน นอกจากนี้แล้ว เนื้อไม้ของไม้แท้ กับอายุของเนื้อไม้ที่โตแล้ว ก็มีความแตกต่างกันมากในเรื่องของราคาและการนำมาใช้งาน แม้จะเป็นไม้ประเภทเดียวกัน ชนิดเดียวกันก็ตาม ส่วนใหญ่จะนับเป็นแบบ หน้าไม้ท่อน ตั้งแต่ 1 นิ้วขึ้นไป เรื่องความหนาไม่ต้องเป็นห่วงเลย เพราะเป็นไม้เนื้อเดียว จากธรรมชาติเลยจริงๆ ไม่ได้ถูกบด แล้วนำมาบีบอัดทีหลัง เหมือนไม้ที่กล่าวมาด้านบน ดังนั้นความทนทานจะสูงมากๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทำการอบน้ำยาเพื่อป้องกันเชื้อรา แมลง ปลวก มอดกินไม้ ต่างๆ ด้วย

ข้อดีไม้แท้ 🙂

  1. มีความแข็งแรง คงทน (ถ้าอายุไม้อยู่ในระดับที่พอดี)
  2. มีความสวยงาม และ ผู้ใช้งานจะได้สัมผัสกับ ลวดลายไม้ เห็นเนื้อไม้ จากธรรมชาติ จริงๆ

ข้อเสียไม้แท้ 🙁

  1. มีราคาแพงสุด หายาก
  2. ต้องดูดีๆ ว่า ไม้แท้ ที่ได้มาทำเฟอร์นิเจอร์ มีอายุเก่าแก่มากน้อยเพียงใด ถ้าได้อายุน้อยๆ ก็อาจจะไม่แข็งแรงได้
  3. ต้องระวังเรื่องปลวก และ แมลง ต่างๆ กระบวนการทาน้ำยาเคลือบรักษาเนื้อไม้ จึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง
  4. ควรหมั่นทาน้ำยารักษาเนื้อไม้ อย่างสม่ำเสมอ

สุดท้ายก่อนจากกัน

สำหรับคนที่รักบ้านอยากตกแต่งบ้านด้วยไม้เฟอร์นิเจอร์ ควรจะต้องทำความเข้าใจกับประเภทของงานไม้ แต่ละชนิดให้ดีเสียก่อน ดังที่ได้กล่าวมาด้านบน เพราะความทนทาน ความหนาแน่น ความสามารถในการทนความชื้น และ อายุการใช้งานของไม้แต่ละชนิดไม่เท่ากัน แถมยังมีส่วนประกอบและกรรมวิธีที่แตกต่างกันไปตามผู้ผลิตอีกด้วย

ถึงแม้ว่า ไม้จะเป็นประเภทเดียว กันก็อาจจะมีคุณภาพที่แตกต่างกันก็ได้ เพราะมีกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน การบดอัด กาว วัสดุที่ใช้เคลือบ ปิดผิวต่างๆ ดังนั้นต้องสังเกตให้ดี หวังว่าบทความนี้ ผู้อ่านจะได้รับประโยชน์ไปไม่มากก็น้อย พบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีครับ

สุดท้ายนี้ Thanop.com ขอขอบคุณรูปภาพประกอบ จาก White on Block Interior Design บริการรับออกแบบตกแต่งภายใน และข้อมูลประกอบเพิ่มเติม ร้านเอเซียเฟอร์นิเจอร์ไทยแลนด์ (Asia Furniture Thailand Store)

1 ความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้