Hashtag (แฮชแท็ก)

Hashtag Share
Hashtag คืออะไร ? และ วิธีการใช้ #Hashtag ที่เหมาะสม

คิดว่าใน ยุคนี้ พ.ศ. นี้ใครที่เล่นโซเชียลฯ คงจะไม่มีใครที่ไม่เคยเห็นสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมเหมือนตารางโอเอ็กซ์ (OX) ที่เราเคยเล่นกันในสมัยเด็กๆ นั่นก็คือเจ้าสัญลักษณ์ที่เรียกว่า “Hashtag (แฮชแท็ก)” หรือที่แปลภาษาไทย เปิดจากดิกชันนารี ก็แปลว่า “ดัชนีถ้อยคำ” ก็ยังคงงงอยู่ดีใช่ไหมครับ ? แต่หากบอกว่า หน้าตาของมันก็คือ เครื่องหมาย # หลายคนคงจะร้อง อ๋อ ! กันอย่างแน่นอน

ในปัจจุบันนี้นั้น ไม่ว่าจะเปิด App หรือโปรแกรมเล่นโซเชียลฯ อย่าง Twitter (ทวิตเตอร์) Facebook (เฟสบุ๊ค) Instagram (อินสตาแกรม) หรือแม้แต่ Google+ (กูเกิลพลัส) ก็ล้วนแต่เห็นเจ้าสัญลักษณ์นี้โลดเล่น ปรากฏอยู่ในหลายๆ โพส หลายๆ ข้อความ ทั้งสิ้น บทความนี้จะมาบอกว่ามันคืออะไร ใช้ยังไง และ มีส่วนสำคัญกับชีวิตของการเล่นโซเชียลมีเดีย ได้อย่างไรบ้าง ?

เนื่องจากบทความนี้ค่อนข้างจะยาว และมีเนื้อหามาก จึงมีเมนูลัด (Shortcut) เปรียบเสมือนสารบัญของบทความ เพื่อเป็นทางลัดให้คุณได้เข้าถึงหัวข้อต่างๆ ของบทความนี้ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ประวัติของ Hashtag โดยสังเขป

Hashtag Featured Image
เครื่องหมายแฮชแท็ก (Hashtag)

ความจริงเจ้าสัญลักษณ์ “# หรือ Hashtag” ตัวนี้ไม่ใช่ว่า เพิ่งจะมาเป็นที่นิยมในยุคโซเชียลมีเดีย หากจะพูดถึงประวัติและที่มาที่ไปของมันแล้ว คงจะต้องย้อนกลับไปไกลกันหน่อย โดยไปตั้งแต่ยุคเริ่มต้น และ ยุคบุกเบิกของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ประมาณปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) โน่นเลย เพราะเจ้าแฮชแท็กนี้ มันจะสิงสถิตอยู่ในวงการผู้พัฒนาโปรแกรม หรือเขียนโปรแกรมนั่นเอง มันมีส่วนสำคัญในการเขียนโปรแกรม ในภาษาแอสเซมบลี และ ภาษาซี (C Language) จาว่า (Java) ในเวลาต่อมา ซึ่งหากใครที่อยู่ในยุคนั้น คงจะรู้สึกคุ้นเคยกับเจ้าสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี

ต่อมาในยุค 90′ เจ้าสัญลักษณ์แฮชแท็ก มันได้เริ่มกระโดดออกนอกวงการการเขียนโปรแกรมเสียแล้ว โดยมันเริ่มเข้ามามีส่วนช่วย โปรแกรมแชท อย่างในสมัยก่อนที่เรียกว่า “IRC” ซึ่งย่อมาจากคำว่า “Internet Relay Chat” (ในปี ค.ศ. 2017 นี้ ถ้าใครอายุประมาณ 35 ปีขึ้นไป อาจจะรู้จัก IRC ครับ) มันถูกใช้เพื่อที่จะบ่งบอกความเป็น ช่อง (Channel) หรือ กรุ๊ป (Group) ที่ใช้ในการสนทนาพูดคุยนั่นเอง เช่น ห้องดนตรี ห้องกีฬา ห้องนักสะสมของเก่า อะไรแบบนี้เป็นต้น หากให้เปรียบเทียบกับเทคโนโลยีใน ปัจจุบันนี้ก็แนวๆ ห้องแชทแบบกรุ๊ปใน แอพ LINE แบบนี้เป็นต้น

จากนั้นเข้าแฮชแท็ก มันก็อยู่ในลูปของการเขียนโปรแกรม และ วงการแชท แบบนี้เรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงในยุคของ สื่อสังคมออนไลน์ (หรือเรียกว่า “โซเชียลมีเดีย – Social Media”) เกิดขึ้นมา ที่มาเป็นที่นิยมแบบสุดขีด ในระยะหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประมาณตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) เป็นต้นมา ซึงยุคนั้นมีบริการโซเชียลเกิดขึ้นมา เป็นดอกเห็ดอยู่มากมาย หลายสิบแบรนด์ แต่สุดท้ายก็เห็นมีอยู่รอดมาไม่กี่แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter Instagram หรือแม้แต่ Google+ นอกนั้นตายเรียบเกือบทั้งหมด

สำหรับโซเชียลมีเดียเจ้าแรก ที่เริ่มใช้แฮชแท็ก อย่างจริงจังเป็นเจ้าแรกๆ เห็นจะเป็นเจ้าบริการ Twitter (ทวิตเตอร์) นั่นเอง หลังจากนั้นก็ตามมาเพียบไม่ว่าจะเป็น Facebook (เฟสบุ๊ค) Instagram (อินสตาแกรม) และ กูเกิลพลัส (Google+) ต่างก็เล่นกับฟีเจอร์นี้ได้กันทั้งหมด

Hashtag คืออะไรในโซเชียลมีเดีย และบริการต่างๆ ?

หากพูดถึงเจ้าตัวแฮชแท็ก นัันมันก็เปรียบเสมือนช่อง (Channel) ของ คลื่นวิทยุสื่อสาร ที่เอาไว้ใช้พูดคุยกัน ขอให้นึกถึงวิทยุสื่อสาร ที่พวกตำรวจ รปภ. เขานิยมใช้สื่อสารกันนี่แหละ หรือเรามักจะแซวๆ กันว่า “ว.1 เรียก ว.2 ทราบแล้วเปลี่ยน” อะไรทำนองนี้

และถ้าหากคุณเลือกใช้แฮชแท็กแล้ว แต่ดันใช้กันละชื่อ มันก็ไม่มีทางหากันเจอ และก็สื่อสารกันไม่ได้ (ถูกมั้ยครับ ?) หรือแม้แต่จะกล่าวเอ่ยถึงงาน งานเดียวกัน และ อยู่สถานที่เดียวกัน ก็ไร้ประโยชน์ ถ้าคุณใช้แฮชแท็กกันแบบ คนละชื่อ

สมมุติว่าคุณอยู่ที่งานแต่งงานของเพื่อนชื่อป้อมและจอย (นามสมมุติ) หากคนนึงใช้แท็ก โพสลง Instagram ว่า #pomjoywedding และ เพื่อนอีกคนหนึ่งใช้ว่า #pomjoywd บางคนก็มาว่า #pomandjoywedding แบบนี้ก็จะถือว่า เป็นคนละคลื่น คนละช่องกันแล้ว ซึ่งไม่มีประโยชน์เลย เหมือนมาคนละงาน และยากที่จะหาข้อมูล ที่เกี่ยวข้องย้อนหลังได้ ดังนั้นควรจะมีการตกลงกันดีๆ ก่อน

ซึ่งปัจจุบันนี้ ผู้จัดงานแต่งงานหลายราย จะมีแปะแฮชแท็ก เอาไว้ที่หน้างานเลย

วิธีใช้ Hashtag ใช้ยังไง ?

ความรู้สึกส่วนตัวของผู้เขียน (ของผมเอง) หากจะพูดถึง ระดับความนิยมของ โซเชียลมีเดีย ที่นิยมใช้เจ้าแฮชแท็ก มากที่สุดของคนไทย ระดับความนิยมเห็นจะเป็น (มาก → น้อย ตามลำดับ)

Instagram – IG (อินสตาแกรม)Twitter (ทวิตเตอร์)Facebook (เฟสบุ๊ค)YouTube (ยูทูป)Google Plus (กูเกิลพลัส)

จากข้อมูลด้านบนจะสังเกตเห็นว่า ทั้งๆ ที่เจ้านกน้อยอย่าง Twitter นั้นมีให้บริการมานานแล้ว เป็นต้นตํารับ เลยก็ว่าได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมในบ้านเราเท่าไหร่นัก แต่กลับมานิยมใช้แฮชแท็ก กันในเหล่าบรรดาผู้เล่น Instagram เป็นเสียส่วนใหญ่ และ บางครั้งแฮชแท็ก ก็ถูกนำไปใช้แบบไม่เกิดประโยชน์อีกต่างหาก

จะว่าไปแล้ว การใช้ Hashtag นั้นมันไม่มีผิด 100% ไม่มีถูก 100% แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไร เพื่อให้ใช้มันได้อย่าง “เกิดประโยชน์สูงสุด” เช่น ใช้ขายของ ขายสินค้าที่เราต้องการได้ แถมบางทีอาจจะได้เพิ่มผู้ติดตาม (Follower) ได้เป็นจำนวนมากได้โดยไม่รู้ตัว เป็นของแถมอีกด้วย

คำแนะนำการใช้ Hashtag

Hashtag (แฮชแท็ก) นั้นเปรียบเสมือนเป็นคำค้นหาหลัก หรือ ที่เรียกกันว่าคีย์เวิร์ด (Keyword) ใช้เพื่อค้นหา กลุ่มคน กลุ่มเพื่อน ที่อาจจะไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ต่างมีความสนใจเหมือนกัน ในเรื่องเดียวกัน ด้านเดียวกัน มีความรู้สึกเหมือนกัน อารมณ์เดียวกัน ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน อยู่ในสถานที่เดียวกัน อยู่ในงานอีเวนต์เดียวกัน ใช้ของยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน เคยใช้บริการที่เดียวกันมาก่อน และอื่นๆ อีกมากมาย

โดยจะสังเกตได้ว่าที่กล่าวมาทั้งหมดเลยคือจะลงท้ายด้วยคำว่า “…เดียวกัน” ด้วยเหตุนี้เอง การใช้แฮชแท็ก เดียวกัน (ชื่อเหมือนกัน) อาจทำให้เราได้เพื่อนใหม่ ผู้ติดตามใหม่ๆ ที่สนใจเรื่องเดียวกับเรา โดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

การใช้แฮชแท็ก ควรจะมีความสั้น กระชับ อ่านแล้วได้ใจความ โดยขอสรุปการใช้มันมาให้สั้นๆ สัก 4 ข้อ ตามรายละเอียดข้างล่าง ดังต่อไปนี้

1. อย่าใช้ Hashtag สิ้นเปลือง หรือ พร่ำเพรื่อ จนเกินไป

เห็นบางคนใช้กันทุกวลี ทุกคำพูดที่พิมพ์ เว้นวรรคทีก็คั่นด้วยแฮชแท็ก สักทีนึง ซึ่งเกินความจำเป็นจนเกินไป เพราะคนอื่นจะเห็นว่ามันเป็นสแปมได้ ขอให้ใช้อย่างประหยัดและคุ้มค่ายกตัวอย่างประโยค

#เย้ๆ #วันนี้ #วิชา #Database #อาจารย์ #แคนเซิลคลาส #ไปไหนต่อดิ #อิอิ #ไม่มีที่ไป #ชิล์

จากที่เห็นข้อความด้านบน เชื่อว่าผู้เล่น Instagram คงอาจจะจะเคยพบเห็น ข้อความในลักษณะแบบนี้กันมาบ้าง ซึ่งแบบด้านบนนี้ถือเป็นการใช้แฮชแท็ก อย่างสิ้นเปลือง และไม่มีประโยชน์ ซึ่งการใช้แฮชแท็ก ที่ดีนั้น ไม่ใช่แค่เฉพาะช่วยผู้ที่ตามคุณ (Follower) เท่านั้น แต่มันยังสามารถใช้เพื่อช่วยคนที่เขาคนหาเรื่องหรือสิ่งนั้นๆ ได้อีกด้วย คำแนะนำของการใช้แฮชแท็ก ในกรณีด้านบนให้มีประโยชน์คือ

เย้ๆ วันนี้ วิชา Database อาจารย์ แคนเซิลคลาส ไปไหนต่อดิ อิอิ ไม่มีที่ไป ชิล์ #ABAC #BIS3635 #ABACBangna

จะสังเกตเห็นว่าใช้แฮชแท็ก แค่ 2 ตัวอันดับแรกคือเพื่อบอกให้รู้ว่าเป็นมหาลัยอะไร ไม่ใช่พูดขึ้นมาลอยๆ อันดับที่สองเพื่อให้รู้ว่าวิชาอะไร โดยใช้รหัสวิชา เพื่อทำให้เพื่อนร่วมห้อง ร่วมวิชาเดียวกับเรา แม้จะไม่รู้จักกัน ก็อาจจะทราบว่า วันนี้ไม่มีเรียน อาจารย์ไม่มาสอน เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางออกมามหาวิทยาลัย เพราะไม่มีเรียน

ส่วนสาเหตุที่ทำไมไม่ได้ใส่เครื่องหมายแฮชแท็ก ที่คำว่า “#Database” ก็เพราะว่า คนที่ใช้คำนี้มีทั่วโลก มันไม่มีประโยชน์เลย คนที่เขาสนใจศึกษาเรื่อง ฐานข้อมูล (Database) จะต้องมารับรู้เรื่องราวของคุณว่าคลาสของคุณไม่มีเรียนวันนี้ เพราะอาจารย์ไม่มาสอน

2. สามารถตั้ง Hashtag ใหม่เองได้ตามต้องการ

ในบางเหตุการณ์ บางครั้งคุณสามารถสร้างแฮชแท็กขึ้นมาเองได้เลย ไม่ต้องไปสมัคร ลงทะเบียนไม่ต้องไปขออนุญาตใคร นึกจะเปิดแท็กอะไร ก็สามารถพิมพ์ อย่างเช่นหากคุณต้องการที่จะรวบ หรือ กรุ๊ปเรื่องราว ที่เป็นเรื่องเดียวกันเอาไว้ เพื่อง่ายต่อการค้นหา ก็สามารถทำได้ในหลายกรณีเช่น

2.1 การบอกเล่าเรื่องราวยาวๆ

หากคุณต้องการที่จะ เล่าเรื่องราวยาวๆ ให้ฟังบน Twitter การพิมพ์เพื่อโพสข้อความในทวีตเตอร์ เพื่อเล่าเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญๆ โพสครั้งเดียวอาจจะมีพื้นที่ไม่พอ เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่า ทวีตเตอร์ ได้จำกัดข้อความในแต่ละทวีต (โพส) ได้ไม่เกิน 140 ตัวอักษร ต่อข้อความ ด้วยเหตุนี้เอง จึงจำเป็นจะต้องใช้แฮชแท็ก ในการช่วยรวมเรื่องเอาไว้ เวลาอ่านย้อนหลัง จะได้ค้นหาได้ง่ายๆ

อย่างเช่น หากคุณต้องการเล่า เหตุการณ์แชร์ประสบการณ์ร้องเรียน เกี่ยวกับ ผู้จำหน่ายสินค้ายี่ห้อหนึ่ง เนื่องจากซื้อสินค้ามาแล้ว ไม่ได้รับความเป็นธรรม อาทิ “ได้รับสินค้าที่ชำรุดเสียหาย แต่โดน ผู้ขายปัดความรับผิดชอบ” และอยากจะเล่าเรื่องราวลงทวีตเตอร์ ซึ่งข้อความเดียว 140 ตัวอักษร คงจะไม่จบแน่ๆ เราก็อาจจะคิดแฮชแท็ก ขึ้นมาใหม่สักตัวเช่น

#ningcomplain

โดยเวลาที่เราเล่าอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็อาจจะลงท้ายด้วยแฮชแท็ก ตัวนี้ไปตลอด ไม่ว่าจะร้องเรียนใคร สินค้าไหนยี่ห้ออะไร ก็จะใช้ตัวนี้ไปเลย เวลาคนเข้าชมสนใจ เขาจะสามารถกดที่ตัวแฮชแท็ก ได้เลย และก็จะได้เห็นทุกเรื่องที่เราบ่น (เอ้ย ร้องเรียน) หรืออาจจะเป็นเรื่องราว ที่เกิดขึ้นผ่านมาแล้วในอดีต ย้อนรำลึกเรื่องราวสมัยเด็ก

#whenningwasyoung

หรือถ้าหากต้องการ เล่าเรื่องราว หรือ โพสรูปถ่าย ชีวิตของเรา ในรั้วมหาวิทยาลัย ไปกินข้าว เลี้ยงสังสรรค์ ดูหนัง เตะบอล กับเพื่อนที่มหาวิทยาลัย ก็สามารถใช้แฮชแท็ก อย่างเช่น

#ABACLife #ChulaLife #KMITLLife

อะไรแบบนี้เป็นต้น แต่ก็อย่าลืมว่า ถ้าเราไม่เจาะจงชื่อแฮชแท็กลงไป ก็อาจจะมีคนอื่น มาใช้แฮชแท็กเดียวกับเรา หรือเราเองนั่นแหละ ไปใช้ซ้ำกับคนอื่นเขา ได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าอยากเจาะจงเป็นเฉพาะของเราคนเดียว ก็อาจจะเติมชื่อเล่นของเราเข้าไปก็ได้ เช่น

#NingABACLife #GolfChulaLife #GibKMITLLife

2.2 เหตุการณ์ต่อเนื่องหลายวันเช่น ออกทริป ไปเที่ยวต่างจังหวัด ต่างประเทศ

หรือในกรณีที่คุณไปเที่ยวต่างประเทศ เช่น ไปเที่ยว ประเทศฮ่องกง ก็อาจจะใช้แท็ก #ninghk หรือ เที่ยวอเมริกา #ningusa (คำว่า ning จริงๆ คือชื่อของผม ขอให้สมมุติว่าเป็นชื่อของคุณ ไปเลย)

#ninghk #ningusa #ningnz #ningphuket #ninghuahin #ningchiangmai

2.3 การใช้ Hashtag สำหรับงานอีเวนต์ และ กิจกรรมต่างๆ

หากคุณมีงานอีเวนต์ เช่นงานแต่งงาน งานเปิดตัวสินค้า ก็ควรที่จะใส่แฮชแท็ก ที่คุณอยากต้องการให้คนที่มาร่วมงาน อย่างเช่นคำว่า

#ninglingwedding #golfjanewedding #commart2019 #mobilexpo #ces2019

และหากเราเป็นผู้จัดงาน (เจ้าของงาน) เราก็อาจจะใส่แฮชแท็ก ที่ต้องการให้ผู้มาเข้าร่วมงานใช้ โดยอาจจะ ติดอยู่ในป้ายโปสเตอร์ ป้ายแบคดรอป (Backdrop) ก่อนเข้างาน หรืออาจจะใส่ไว้ใน ในหน้าจอฉายภาพโปรเจคเตอร์ หรือ ในการ์ดเชิญไปร่วมงาน การ์ดแต่งงาน เมื่อผู้ที่มาร่วมงานเห็น เขาจะได้ใช้แท็กตัวนี้ ร่วมกัน เผื่อใครที่ไม่ได้ร่วมงาน แล้วอยากกลับมา อ่านเหตุการณ์ ดูรูปย้อนหลัง ก็สามารถค้นหาได้จากตรงจุดนี้แหละ

หรือแม้แต่หากทางเว็บไซต์ Thaiware.com ของผมเอง เคยจัดงานสัมมนา เสวนา หากอยากให้คนติดตามเรื่องราวของงานเรา ในฐานผู้จัดงานก็สามารถที่จะคิดแฮชแท็ก ขึ้นมาก่อนงานเริ่มเลย เช่นแฮชแท็ก คำว่า #ititrend และ #thaiware (ใช้คู่กัน 2 อัน) อะไรแบบนี้เป็นต้น เรียกได้ว่าใครที่พลาดมาร่วมงาน ก็สามารถเข้าไปอ่านแท็กเหล่านี้ย้อนหลังได้ว่า ผู้คนที่มาร่วมงาน หรือ ทวีตถึงงานนี้พูดอะไรเกี่ยวกับงานบ้าง เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว ปัจจุบันยังมีบริการ พิมพ์รูปจากแฮชแท็ก ของ Instagram อีกด้วย เช่นงานแต่งงาน งานเปิดตัวสินค้าใหม่ งานสัมมนา งานเลี้ยงสังสรรค์ ใครที่ใช้แฮชแท็ก ตามที่ผู้จัดงานระบุเอาไว้ ก็สามารถไปให้เจ้าหน้าที่ ที่บูธ พิมพ์รูปใส่กระดาษอาร์ตมัน ออกมาจากเครื่องปรินต์ กลับไปเป็นที่ระลึกได้เช่นกัน (ค่อนข้างเป็นที่นิยมซะด้วย เห็นมาหลายงานแล้ว) ถือเป็นธุรกิจ ที่สามารถใช้ประโยชน์จากแฮชแท็ก ได้อย่างคุ้มค่า ทั้งผู้ประกอบธุรกิจ ผู้จัดงาน และ ผู้มาร่วมงาน ถือว่าไอเดียดีมากๆ เลยทีเดียว

Hashtag Instaprint Logo
บริการรับพิมพ์รูปภาพ จาก Hashtag บน Instagram ชื่อ InstaPrint ใช้พิมพ์รูป ตามงานอีเวนต์ ต่างๆ คิดค่าเช่าเป็นรายชั่วโมง และ จำนวนรูปที่พิมพ์

การที่จะตั้ง Hashtag ใหม่ขึ้นมาแบบนี้ คุณจะต้องแน่ใจเสียก่อนว่า ข้อความที่คุณจะโพส หรือทวีตออกไป จะต้องมีมากกว่า 1 ข้อความ (ทวีต) เพราะหากมีแค่ข้อความเดียวแล้วจบ ไม่มีเรื่องราว เรื่องเดียวต่อกันไปอีก ก็จะไม่รู้ว่าจะใช้ไปเพื่ออะไร ถูกมั้ยละครับ 🙂

3. ใช้ Hashtag ตามตามกระแส โอกาสคนเห็นข้อความ หรือ รูปภาพ มากขึ้น

หากบัญชีของโซเชียลมีเดีย (Social Media Account) ของคุณมีจำนวนผู้ติดตาม (Follower) น้อยมาก ชนิดที่แบบแค่ หลักสิบ (xx) หรือ หลักร้อย (xxx) ดังนั้น การที่คุณจะโพสข้อความหรือ อัพโหลดรูปภาพสุดสวย ที่อุตสาห์บรรจงถ่าย และคัดสรร มาเป็นอย่างดี ขึ้นไปนั้น คนที่จะสามารถเห็นได้ ก็คงจะมีแต่แค่ ผู้ติดตาม หลักสิบ หลักร้อย ที่คุณมีอยู่ในมือแค่นั้น

ซึ่งทั้งหมดนี้ เราก็ ได้แต่หวังว่า ข้อความที่โพส รูปภาพที่อัพโหลด มันโดนใจ ถูกใจ ผู้ติดตาม หลักสิบ หลักร้อย ของคุณจริงๆ เขาถึงจะมาเหลียวแล และ สนใจ อาทิ

  • Instagram : การใช้งาน Instagram ก็ต้องหวังว่า รูปจะสวยถูกใจ เขาจึงจะกดไลค์ (Like) หรือยิ่งไปกว่านั้น พ่อค้าแม่ขาย ทั้งหลาย ก็มักจะนิยมไปโพสคอมเม้นท์ โฆษณาร้านค้าตัวเอง ในโพสของ Instagram คนอื่นๆ ที่มีผู้ติดตามเยอะๆ อาทิ พวกเซเลป ดารา เน็ตไอดอล ทั้งหลาย เพื่อหวังให้คนที่อ่านคอมเม้นท์ ของคนเหล่านั้น จะผ่านหูผ่านตาโฆษณาร้านของเราบ้าง อันเป็นที่มาของคำว่า “งดฝากร้าน” ใน Instagram ของเซเลป หลายๆ คน
  • Twitter : ในทวีตเตอร์ ก็หวังว่าคนอื่น เขาจะ รีทวีต ข้อความ หรือ รูปภาพ ของเราออกไป เพื่อให้คนอื่นๆ ที่ไม่ได้ติดตามเรา ได้มีโอกาสเห็นทวีตของมากขึ้น

จาก การกระทำที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ หากโชคดี ก็ดังเป็นพลุแตกไป แต่ทั้งหมดนี้ แท้จริง มันก็คือการ “ยืมจมูก คนอื่นหายใจ” นั่นเอง ซึ่งก็ไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืน

ดังนั้นเคล็ดลับอีกหนึ่งวิธี ที่เราจะสามารถเพิ่มโอกาส การเห็น (Impression) หรือ การเข้าถึง (Reach) ข้อความ หรือ รูปภาพ ของเรา จากคนอื่นๆ ได้ก็คือ การใช้ “Hashtag ตามกระแส” นั่นเอง หมายความว่า เราจะต้องค้นหาให้เจอว่า สิ่งที่เราพูดถึง สิ่งที่เราบ่น รูปภาพที่เราอัพโหลด เกี่ยวกับเรื่องใดอยู่ และแฮชแท็ก ที่เกี่ยวข้องกับข้อความหรือรูปภาพของคุณ คำไหน ที่เป็นที่นิยม นั่นเอง

3.1 กรณีศึกษาแรก (1st Case Study)

เป็นการอัพโหลดรูปขึ้น Instagram ขณะที่กำลังเล่นฟิตเนส อยู่ตอนกลางคืน โดยใช้คำพูดประกอบรูปภาพ (Caption) ว่า

“Late Night Fitness กันนะเด็กๆ #fitness #workout #running #treadmill”

จากที่เห็น ผมใช้แฮชแท็ก ที่เป็นภาษาอังกฤษ ไป 4 คำ นั่นหมายความว่า ถ้าใครที่เขาค้นหาด้วย 4 คำเหล่านี้ ก็จะเจอรูปของผมด้วยเช่นกัน ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างด้านล่าง ว่าทั้ง 4 คำนี้ มีความนิยม มากน้อยเพียงใด

สังเกตดูว่าทั้ง 4 คำที่เลือก อย่างเช่นคำว่า #fitness นั้น มีคนใช้ไปแล้ว 166 ล้านโพสจากทั่วโลก เรียกได้ว่าทุกๆ 30 วินาที (ครึ่งนาที) จะมีคนใช้แท็กนี้อย่างน้อย 1 คนจากทั่วโลก ดังนั้นข้อดีคือ หากใช้แฮชแท็ก นี้ จะมีโอกาสที่คนเห็นเยอะมากๆ แต่ข้อเสียคือ รูปภาพของเรา ก็จะตกลงไปเร็วมากๆ ด้วยเช่นกัน (เพราะคนใช้แฮชแท็ก นี้เยอะมากๆ)

นอกจากนี้ทาง Instagram เขาก็ยังมีแฮชแท็ก แนะนำที่เกี่ยวข้อง มาให้ดู เพื่อเลือกใช้ด้วยเช่นกัน อย่างเช่นคำว่า #fitness ก็จะมี #fitnessmodel (17 ล้านโพส) หรือ #fitnessmotivation (13 ล้านโพส) ซึ่งเราก็สามารถเลือกใช้ได้เช่นกัน ถ้าคิดว่ามันเกี่ยวข้อง และ โอกาสที่คนเห็นก็จะมากขึ้นไปด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้แล้ว เราก็ยังสามารถใช้ แฮชแท็กภาษาไทย ได้เช่นกัน แต่เราก็จะได้กลุ่มเฉพาะคนไทย หรือ คนที่ค้นหา แฮชแท็กภาษาไทย เท่านั้น ที่มีโอกาสได้เห็นโพสของเรา ยกตัวอย่างเช่น

3.2 กรณีศึกษาที่สอง (2nd Case Study)

เคสที่สองจะเกี่ยวกับ แฮชแท็ก บริการ Twitter ที่ผมได้ไปดู ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โซนเอเชีย 12 ทีมสุดท้าย สาย B นัดที่ 5 ระหว่างทีมชาติไทย และ ทีมชาติออสเตรเลีย ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน (หัวหมาก) วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) วันนั้นก่อนแข่งขัน นักฟุตบอล สตาฟโค้ช และ เจ้าหน้าที่ ทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ทั้งหมด มีการแปลอักษรเพื่อถวายความอาลัยแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ ๙)

และในวันนั้นผมได้เข้าไปดูในสนาม และ ได้มีโอกาสถ่ายรูปขณะแปลอักษร และ ทวีตข้อความออกไปทาง Twitter ที่เป็นบัญชีส่วนตัว (@thanop) เพื่อแชร์ให้คนอื่นเห็น (เพราะตอนนั้น โทรทัศน์ยังไม่ตัดเข้าการถ่ายทอดสด) โดยใช้ข้อความในทวีตว่า

“สวยงามมากๆ ทีมชาติไทยแปลอักษรเป็นเลข ๙ ก่อนเริ่มซ้อม ก่อนแข่ง #บอลไทย #ballthai #WorldCupQualifier #Thailand #WC2018”

Hashtag Twitter Keyword Ballthai
การใช้แฮชแท็ก ของ Twitter ของ การแข่งขัน ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โซนเอเชีย 12 ทีมสุดท้าย สาย B นัดที่ 5 ระหว่างทีมชาติไทย และ ทีมชาติออสเตรเลีย วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016)
Hashtag Twitter Keyword Ballthai Stats
สถิติของข้อความ ฟุตบอลไทย ที่ทวีตออกไป ค่อนข้างสูง เนื่องจากการใช้ แฮชแท็ก ที่เกี่ยวข้อง

ผลลัพธ์ปรากฏว่า ข้อความ (ทวีต) นี้มีการถูกทวีตซ้ำ (Retweet) ไปกว่า 958 ครั้ง มีคนเห็น (Impression) ไปมากกว่า 4 หมื่นคน ซึ่ง แน่นอนว่าว่า มาจากแฮชแท็ก ที่ผมใช้ในจำนวน 5 คำนี้ อย่างแน่นอน ไม่เกี่ยวกับจำนวนผู้ติดตามของผมแน่ๆ เพราะมีแค่ 4 พันกว่าคนเท่านั้นเอง เพราะต่อให้ ผู้ติดตามของผม ทั้ง 4 พันคนเห็นหมด (ซึ่งเป็นไปได้ยากอยู่แล้ว) ก็ยังมี การเห็นไม่ถึง 4 หมื่นกว่าครั้งอย่างแน่นอน นี่ก็เป็นอีกกรณีศึกษาที่ การใช้แฮชแท็ก ที่กำลังได้รับความนิยม สามารถช่วยสร้าง อิมแพค ให้กับข้อความของเราได้

“ใน Twitter เราสามารถใช้ Hashtag ด้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากข้อความนึงจะได้ไม่เกิน 140 ตัวอักษร (ซึ่งการใช้  Hashtag ครั้งนึงก็จะเปลืองข้อความไปด้วย) ขณะที่บริการอย่าง Instagram Facebook หรือแม้แต่ YouTube เราสามารถใช้ ได้มากคำกว่านั้น”

ตัวอย่างการใช้ Hashtag กับโซเชียลมีเดีย และบริการต่างๆ

ปัจจุบันนี้โซเชียลมีเดีย หรือบริการต่างๆ อยู่มากมาย ให้บริการหลากหลายรูปแบบมากๆ บางบริการเปิดมาก็ดังช่วงแรกๆ แต่ก็มีล้มหายตายจากกันไปบ้างตามธรรมชาติ แต่ที่เห็นยังหลงเหลืออยู่ในแวดวง ก็เห็นจะมีแค่ 4 เจ้าหลักๆ ด้วยกันตามนี้เลย

1. Twitter Hashtag Usage (การใช้แฮชแท็กใน ทวิตเตอร์)

Twitter (ทวิตเตอร์) จัดเป็น ผู้นำ หรือบุกเบิก การใช้แฮชแท็ก บนสื่อสังคมออนไลน์ (Social Networrk) เลยก็ว่าได้ สำหรับเจ้านกน้อยอย่าง Twitter ที่เริ่มใช้กันมานาน ตั้งแต่ยุคแรกๆ กันเลยก็ว่าได้ เมื่อย้อนกลับไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ก็ได้มีการเริ่มใช้มันตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา

การใช้แฮชแท็ก สำหรับ Twitter นั้น ค่อนข้างจะเป็นไปได้ดี และไม่ค่อยฟุ่มเฟือย สาเหตุสืบเนื่องมาจาก Twitter ได้จำกัดข้อความ ที่ถูกทวีตเอาไว้ว่าจะต้องไม่เกิน 140 ตัวอักษร (Characters) ต่อ 1 ทวีต หรือ การส่งข้อความออกไป 1 ครั้งนั่นเอง ดังนั้นจึงจะใช้แบบสิ้นเปลืองมากก็ไม่ได้ เพราะถ้าเปลือง ข้อความก็จะเต็ม 140 ตัวอักษร ส่วนสาระสำคัญ ส่วนเนื้อๆ ก็จะหดหายไปอีก

จากที่เล่น Twitter มา สังเกตเห็นว่า ลักษณะการใช้แฮชแท็ก ของผู้ใช้งานทวีตเตอร์จริงๆ นั้น จะใช้ กล่าวถึงงาน อีเวนต์ เหตุการณ์ต่างๆ รวมไปถึงชื่อเฉพาะ ชื่อสินค้า ชื่อสถานที่ ชื่อคน มากกว่าที่จะใช้แฮชแท็ก บ่งบอก หรือแสดงถึงความรู้สึกทั่วๆ ไป เช่น

#เลือกตั้ง2562 #McotXpress #NationTV #ฟ้ารักพ่อ #เป๊กผลิตโชค

แต่ก็อาจจะมีแฮชแท็ก แปลกๆ ยาวๆ ที่เข้ามาติดโผกับเค้าเหมือนกัน อย่างเช่น

#มหกรรมเล่นมือถืออยู่ดีๆน้ำตาก็ไหล หรือแม้แต่ #โลกหมุนเร็วจนฉันตามไม่ทันแล้วพี่บัวลอย

ที่มา (Source) : http://www.lab.in.th/

2. Instagram Hashtag Usage (การใช้แฮชแท็กใน อินสตาแกรม)

Hashtag Instagram Hashtag Follow
สามารถกดติดตาม Hashtag ในบริการ Instagram ได้แล้ว

Instagram (อินสตาแกรม) หลักการ เหมือนกับที่กล่าวมาด้านบน แต่จากที่เห็นพบว่า บริการ Instagram นี้คนนิยมใช้แฮชแท็ก มากที่สุด แต่ก็ใช้แบบสิ้นเปลืองมากที่สุดเช่นกัน เช่น อัพโหลดรูป โพสรูป ที่ตัวเอง ถ่ายกับแมว ขึ้นไปรูปนึงก็ใส่ข้อความประมาณ

#cat #lovecat #miss #funny #lady #joopjoop

ซึ่งจากที่ดู ไม่มีคำไหนที่ไม่มีแท็กเลย ซึ่งก็จะดูรก และสามารถกดคลิกลิ้งค์เข้าไปได้ทุกอัน แต่ก็มีบางอันที่ดูแล้วไม่จำเป็นสักเท่าไหร่ เช่น #miss #joopjoop และ #lady เป็นต้น

ในปัจจุบันนี้ทางทีมงานผู้พัฒนา Instagram ก็ยังเพิ่มบริการการ “ติดตามแฮชแท็ก (Hashtag Follow)” สำหรับผู้ที่สนใจแฮชแท็กตัวใดตัวหนึ่งเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่นเพื่อ

  1. ติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้าที่ตัวเองสนใจ
  2. ติดตามความเคลื่อนไหวของคู่แข่ง
  3. ติดตามบรรยากาศของสถานที่ ที่ตัวเองชื่นชอบ
  4. ติดตามงานงานอีเวนต์ที่สนใจ
  5. และอื่นๆ อีกมากมาย

โดยถ้ากดปุ่มติดตาม (ปุ่ม Follow) ไปแล้ว ถ้ามีรูปใหม่ๆ จากใครก็ได้ที่ใช้แฮชแท็กนี้อยู่ ภาพเหล่านี้ก็จะถูกนำมาแสดงบนไทมไลน์ของ Instagram เราด้วยพร้อมๆ กับรูปของคนที่เราติดตามด้วยเช่นกัน

3. YouTube Hashtag Usage (การใช้แฮชแท็กใน ยูทูป)

Hashtag YouTube
ตัวอย่างการใช้งาน Hashtag บน YouTube

YouTube (ยูทูป) เว็บไซต์ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนวีดีโอ อันดับ 1 ของโลกมาหลายปีแล้ว เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) แต่เพิ่งมาเป็นน้องใหม่ในวงการแฮชแท็ก โดยเขาเพิ่งเริ่มใช้แฮชแท็ก ในช่วงกลางปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ใช้งานได้สามารถค้นหาคลิปวีดีโอต่างๆ ได้สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

สำหรับวิธีการใช้แฮชแท็ก บนบริการของ YouTube นั้นก็ง่ายๆ เพียงแค่เราใส่แฮชแท็ก (ที่มีเครื่องหมาย # อยู่หน้าคำหลักที่ต้องหาร – ห้ามมีเว้นวรรคใดๆ) ภายในหัวข้อของวีดีโอ (Video Title) หรือ คำบรรยายของคลิปวีดีโอ (Video Description) ตรงส่วนไหนก็ได้ และจะใส่แฮชแท็ก เข้าไปกี่คำก็ได้ ไม่ว่ากัน โดยมีเงื่อนไขอยู่ประมาณนี้

  1. ถ้าคุณใส่แฮชแท็ก อยู่ภายในหัวข้อของวีดีโอแล้ว ทาง YouTube จะให้ลำดับความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยจะสามารถกดลิงค์เข้าไปดูคลิปวีดีโออื่น ที่ใช้แฮชแท็กร่วมกันได้ แต่ถ้าไม่มีแฮชแท็ก ในหัวข้อของวีดีโอ ก็จะข้ามไปเงื่อนไขข้อ 2
  2. ไม่ว่าคุณจะใส่แฮชแท็ก เข้าไปในคำบรรยายคลิป เยอะมากเท่าไหร่ กี่คำ ระบบของ YouTube จะคัดเอาแฮชแท็กของคุณ มาแค่ 3 แฮชแท็กแรก ที่มันพบเท่านั้น เพื่อมาปรากฏอยู่ตรงตำแหน่งใต้คลิป (ตามภาพประกอบด้านบน)

4. Facebook Hashtag Usage (การใช้แฮชแท็กใน เฟสบุ๊ค)

Facebook (เฟสบุ๊ค) ก็เป็นโซเชียลมีเดีย ที่มาใช้เจ้าตัวแฮชแท็ก กันไม่นาน ประมาณช่วง เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ใช้บริการจะสามารถใส่ แฮชแท็ก ตามด้วยคำค้นหาหลัก (Keyword) ที่ต้องการใส่เข้าไปได้ ซึ่งหากข้อความนั้นถูกตั้งไว้ว่าเปิดให้ใครดูก็ได้ (Public) ก็จะถูกรวมตัวเอาไว้ที่หน้านี้ ซึ่งใครที่ใช้คำนี้ ก็จะสามารถเข้าไปกรุ๊ป หรือ รวมอยู่ได้จากทั่วโลก

https://www.facebook.com/hashtag/xxxxx
(โดย xxxxx แสดงถึงคำ Hashtag ที่ใส่เข้าไป ตัวอย่างด้านล่าง)

Hashtag Example Wrong
ตัวอย่างการใช้ Hashtag ที่ไม่ค่อยจะถูกต้องเท่าไหร่นัก

การใช้แบบนี้คำที่มีประโยชน์คือ #Breakfast แต่คำว่า #จัดแต่เช้า #ไหวมั้ยกระเพาะอาหาร ซึ่งหากเรานำไปค้นหาดูจริงๆ บน Facebook ก็จะพบว่า มีผลลัพธ์การค้นหาจริงๆ แค่แท็กเดียวนั่นคือคำว่า Breakfast นั่นเอง

  • https://www.facebook.com/hashtag/Breakfast

ในส่วนของคำว่า #จัดแต่เช้า และ คำว่า #ไหวมั้ยกระเพาะอาหาร จากที่ค้นดูจะไม่พบผลลัพธ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องตรงๆ เลย จะมีแต่ก็เป็น ข้อความที่เกี่ยวข้อง ในทางอ้อม เป็นต้น

  • https://www.facebook.com/hashtag/จัดแต่เช้า
  • https://www.facebook.com/hashtag/ไหวมั้ยกระเพาะอาหาร

“การใช้งานของ Hashtag ใน Facebook นั้น หากเรากดเข้าไปดูแล้ว จะสามารถเห็นคนที่ใช้แท็กเดียวกันทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่า เจ้าของข้อความนั้น จะต้องตั้งข้อความนั้นให้เป็นการแสดงแบบสาธารณะ (Public) เท่านั้น แต่ถ้าเลือกแค่เฉพาะเพื่อนเท่านั้น (Friend Only) ก็จะเห็นได้กับเฉพาะเพื่อนของเรา หรือ ผู้ที่ตาม (Follower) ของเราเท่านั้น คนอื่น ที่ไม่ใช่เพื่อน ไม่ได้ตาม ก็จะไม่เห็น”

การใช้ Hashtag เยอะๆ มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร ?

ข้อดีของการใช้ Hashtag 🙂

  • คนอื่นที่เขามีความสนใจในเรื่องเดียวกัน จะได้มีโอกาสเข้าถึงเราได้มากขึ้น
  • มีโอกาสที่จำนวน ผู้ติดตาม (Follower) เพิ่มมากขึ้น มากกว่าการที่ไม่ใช้แท็กอะไรเลย เพราะลำพังเพียงแค่ การโพสหรือทวีตข้อความ ให้กับเฉพาะผู้ติดตาม อาจจะเห็นกันแค่ในวงจำกัด วงแคบ การใช้แฮชแท็กช่วย ถือเป็นการเปิดโอกาสให้กว้างมากยิ่งขึ้น
  • สามารถช่วย สร้างโอกาสทำการตลาด หรือขายสินค้า ชิ้นนั้นได้ง่ายขึ้น เช่น การขายกระเป๋าแบรนด์เนม อย่าลืมใส่ แฮชแท็กในส่วนของ ยี่ห้อ หรือ รุ่น มันลงไปด้วย จะมีโอกาสขายได้ง่ายๆ เลยละ แม้คุณจะมีจำนวนผู้ตามน้อยก็ตาม
  • การใช้แฮชแท็ก อย่างในบริการ Instagram นั้นจะทำให้มีคนติดตามมากขึ้น แต่ไม่ใช่การติดตาม แต่จะช่วยให้จำนวนคนที่กด LIKE รูป ซึ่งจะทำให้คนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นเช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าบางคน เขาอาจจะไม่ได้ ติดตามเรา แต่เขาเหล่านั้นก็อาจจะ มอนิเตอร์ติดตาม เฉพาะจาก Hashtag เรื่องที่สนใจก็ได้
    • ตัวอย่าง : มีชาวต่างชาติที่สนใจการทำอาหารไทย เป็นจำนวนมาก ติดตามแท็กชื่อ #thaifood ถึงแม้เขาจะไม่ได้ติดตามกับเราเป็นการส่วนตัว แต่ติดตามเฉพาะแท็กได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเกิดเห็นจากแฮชแท็ก แล้วตามเข้ามาดูที่โปรไฟล์เรา ก็อาจจะเป็นผู้ติดตาม เราไปเลยก็ได้เช่นกัน

ข้อเสียการใช้ Hashtag 🙁

  • จะดูเยอะ และ รก จนเกินไป บางทีคำที่ไม่เกี่ยวข้อง ตาลาย แถมกดเข้าไปดู ก็ไม่มีข้อมูลอะไรน่าสนใจ
  • สิ้นเปลืองจำนวนตัวอักษรโดยใช่เหตุ อย่างน้อย 1 ตัวอักษรต่อ 1 แฮชแท็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการ Twitter ที่จำกัดตัวอักษรเอาไว้ ต้องใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด

สุดท้ายนี้อยากจะบอกว่า การใช้เจ้าเครื่องหมายสี่เหลี่ยมๆ แฮชแท็กตัวนี้ ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ไม่มีการโดนแบน ใดๆ จากทางผู้ให้บริการโซเชียลฯ ทั้งหลาย เพียงแต่มันอยู่ที่ว่า เวลาเรานำไปใช้แล้ว มันเกิดประโยชน์กับเรามากน้อยเพียงใด

บางทีการใช้แฮชแท็กถูกที่ถูกเวลา เข้ากับสถานการณ์ และข้อความหรือเนื้อหา ตลอดจนเราดี เป็นที่น่าสนใจ ของคุณหมู่มาก ก็สามารถนำพาให้เราดังเป็นพลุแตก หรือ ขายของออนไลน์ ได้ถล่มทลายก็เป็นได้ ส่วนการใช้แฮชแท็ก ที่มากเกินไป ถึงแม้มันก็ไม่ได้ผิดกฏอะไร แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์กับตัวเราเท่านั้นเองครับ ขอให้โชคดีทุกๆ ท่าน

ข้อมูลอ้างอิงส่วนหนึ่งนำมาจาก

  • เว็บไซต์ http://en.wikipedia.org/wiki/Hashtag
  • ขอบคุณ @yokekung บล็อกเกอร์ สายไอทีชื่อดัง สำหรับข้อมูลที่แนะนำกันเข้ามาเพิ่มเติม
  • ประสบการณ์ตรงของตัวเอง 🙂
ทบทวนภาพรวม
ความจำเป็นในการใช้ Hashtag
7.0
ประโยชน์ของการใช้ Hashtag
10.0
ความง่ายในการใช้ Hashtag
8.0
บทความก่อนหน้านี้รีวิว หุ่นยนต์ถูพื้น iRobot Scooba 390 หุ่นยนต์ถูพื้น ใช้น้ำ
บทความถัดไปนมอัลมอนด์ สอนวิธีทำนมอัลมอนด์ จาก เครื่องทำนมถั่วเหลือง
Thanop Somprasong
Thanop.com Founder + Thaiware.com Co-Founder + Business Director, Cloud Business Co.,Ltd. + Committee Thai Webmaster Association
hashtag<strong>ความจำเป็นในการใช้ Hashtag (7.0)</strong> : จริงๆ ไม่ได้มีใครมาบังคับว่าเราควรใช้ หรือไม่ใช้ Hashtag พูดง่ายๆ คือจะใช้ก็ได้ หรือไม่ใช้ก็ได้ <br /><br /> <strong>ประโยชน์ของการใช้ Hashtag (10.0)</strong> : ประโยชน์ของมันมีอยู่มากมายมหาศาล ตามที่ได้กล่าวไปแล้วบนบทความ โดยมันจะมีประโยชน์มากๆ ในแง่ของการทำให้คนรู้จักบัญชีโซเชียลเน็ตเวิร์ค ของเราให้มากขึ้น ในกรณีถ้าเรามีผู้ติดตาม (Follower) น้อยๆ ก็จะเป็นอีกช่องทางที่ให้คนเข้าถึงเราได้ และที่สำคัญ มันสามารถใช้ได้กับทุกบริการ ไม่ว่าจะเป็น Facebook/ Twitter/ Instagram/ YouTube ฯลฯ <br /><br /> <strong>ความง่ายในการใช้ Hashtag (8.0)</strong> : เรื่องความยากง่าย ถ้าจับจุดได้ และ เข้าใจหลักการวิธีการใช้งานแล้ว ไม่มีอะไรยากเลย จริงๆ แล้ว ถ้าอ่านบทความนี้จนจบ ก็สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ แล้ว แต่ที่ให้แค่ 8.0 (ไม่เต็ม 10) ก็เพราะว่า มันก็จะมีคำถามเกิดขึ้นในใจของหลายๆ คนว่า คำไหนเราควรใช้เป็น Hashtag และ คำไหนเราไม่ควรใช้ หรือ เราใช้ พร่ําเพรื่อไปหรือเปล่า เป็นต้น ซึ่งอันนี้ประสบการณ์จะเป็นตัวบอกเราเอง

67 ความคิดเห็น

  1. 1. ปกติแล้ว คนนิยมโพสต์คอนเทนต์ใน Facebook แล้ว ติด# ของตัวเอง กันไหมคะ
    2. การคิด# ของตัวเองขึ้นมา มีโอกาสให้คนอื่นเข้ามาเห็น และกลายเป็น# ยอดนิยม ได้อย่างไรบ้างค่ะ

  2. ถ้าใน 1 โพสต์ เราใส่ แท็ก#ไป 3 อัน เช่น #ซึงโฮ #อูบิน #เซฮุน ระบบทวิตเตอร์จะนับยอดแท็ก ว่า ซึงโฮสะสมได้ 1, อูบินสะสมได้ 1 , เซฮุน ได้ 1 หรือนับว่า แต่ละแท็กได้แค่ 1/3 (แบบ เอามาหาร 3)
    ปล.เป็นข้อสงสัย ที่ยังหาคำตอบชัดเจนจากเพื่อนๆ เวลาเล่นแท็กให้ศิลปินนะค่ะ
    ขอบคุณค่ะ
    16-1-64

    • ผมรบกวนสอบถามเกี่ยวกับการใส่แฮชแท็ก ผมจะโดนเอาผิดได้ไหม เรื่องมีอยู่ว่าถ้าเราโพสต์ว่ามีสิ้นค้าที่เราซื้อมาไม่รู้ว่าคืออะไรในขวดเบียร์นั้น มันมองด้วยตา ยังไม่เปิด แล้วเราติดแฮชแท็ค ถึงเบียร์นั้น ผิดไหม

  3. สงสัยมานาน เพิ่งถึงบางอ้อ เป็นบทความที่มีประโยชน์มากครับ

  4. สงสัยมานาน ตอนนี้ get แล้ว แถมได้ advance ด้วย ขอบคุณครับ

  5. อยากทราบว่าเครื่องหมายถูกมีลบด้านบนขวาด้วยนั้นหมายถึงอะไรในข้อความตอบกลับอัตโนมัติช่วยตอบด้วยนะค่ะ

  6. ได้ความรู้และความเข้าใจมากขึ้นจริงๆ คะ ถ้ามีอะไรที่เราชาวเน็ตควรรู้ ช่วยแชร์ให้อีกนะคะ ขอบคุณมากคะ

  7. ขอขอบคุณ สำหรับความรู้ใหม่ๆสำหรับป้า(รุ่นไดโนเสา) ซึ่งไม่ค่อยรู้เรื่องไอทีการใช้งานสักเท่าไหร่ ขอบคุณมากกกๆอีกครั้งค่ะ
    Thank you.

  8. ถ้าติด Hashtag แบบนี้ในทวีตเตอร์ เช่น
    ก: ติดว่า #KITTYloveTHAILAND
    ข: ติดว่า #kittylovethailand
    ใช้ได้ไหมคะ และมีโอกาสจะถูกสแปมหรือเปล่าคะ

  9. ขอบคุณมากครับ ข้อมูลความรู้นี้ถึงแม้จะ เริ่มปี2014 ตอนนี้ปี2017 ข้อความ ท่าน มีประโยชน์มากมาย ทำให้เช่นตัวผมเป็น ซึ่งเป็น เจ้าของกิจการ ได้เล็ เล็งเห็นประโยชน์ของการใช้ # และแก้ปม ที่อยู่ในหัวและความคิด ว่า # คืออะไร ขอบคุณมากๆครับ ผมกำลังจัดคอนเสริตขึ้นในวันที่ 4/4/17 นี้ ซึ่งบอกตรงๆว่า เรารู้น้อย เพิ่งรู้หัดเรียนรู้ เพราะที่ผ่านมา เราพลาด ทำให้คนสนใจงานหรือ ไม่ทราบเรื่องงานทจ่ายโฆษณาไปเกินจริง วันนี้ คิดว่า # คงทำให้ข้อความที่จะสื่ออกกไปไดตรงตาม กรุ๊ป ที่สนใจและตรงเป้าหมายจริงๆซะที

  10. เราจะใช้มันหาแหล่งเพื่อสมัครงานให้ตรงสายที่ นศของเราเรียนได้ไหมคะ ผ่าน facebook น่ะค่ะ สาขาภาษาอังกฤษ งาน ใน ประเทศไทย keyword ควรจะเป็นอย่างไรคะ #neverusehashtagB4

  11. คืออ่านจนหมดบทความ ก็ยังไม่รู้เรื่องว่าใช้ยังไง เหมือนกับว่า อธิบายในสิ่งที่คนทราบอยู่แล้วฟัง

  12. ตัวตู้ prinstagram หาได้จากได้บ้างคะ สนใจจะใช้ในงานอีเว้นค่ะ ช่วยแนะนำหน่อยค่ะ

  13. ได้มีโอกาสเข้ามาอ่าน ได้ความรู้มีประโยชน์มากเลยค่ะค่ะ ขอบคุณค่ะ

  14. รบวนถามด้วคะ ถ้าเราเขียนว่า

    Thank you Emily and friend💕😊🍀 Momhouse Krabi
    ‪#‎Momhouse‬
    ‪#‎Krabi‬
    ‪#‎Aonang‬
    ‪#‎Thailand‬

    แบบนี้ถูกต้องมั้ยคะ จำเป็นต้องเขียนติดกันทั้งหมดมั้ย และที่เขียนไประบบ จะหาเจอแต่เฉพาะคำว่า momhouse รึเปล่าคะ ขอบคุณมากๆคะ

    • ผมว่าคำว่า Momhouse ไม่จำเป็นต้องใช้ Hashtag ก็ได้นะครับ เพราะการใช้ Hashtag คือใช้เพื่อ กรุ๊ปข้อมูล ให้คนอื่น ที่ต้องหาข้อมูลเหมือนกัน สามารถเข้าถึงได้เหมือนกันครับ

      แต่หากคุณต้องการกล่าวถึง บ้านคุณแม่ ก็ไม่จำเป็นละครับ อันนี้ความเห็นส่วนตัวผมนะ

      • คือ คำว่า Momhouse เป็นชื่อกิจการคะ ซึ่งเป็นกิจการ เกี่ยวกับบ้านพักตากอากาศ ที่อยู่ ตรงหาดอ่าวนาง จังหวัดกระบี่คะ เลยไม่แน่ใจคะว่าที่ใช้ Hashtag ตามข้อความนั้น ถูกรึเปล่าคะ ขอบคุณ มากนะคะ

  15. จะค้นหาคำยอดนิยมที่เขาใช้แฮคแท็ตได้ที่ไหนคะ เช่นจะหาคำว่า เพื่อชีวิต อบากรู้ว่ามีคนใช้คำนี้กันมากไหม จะไปดูได้ที่ไหน

  16. ขอบคุณมากๆเลยค่ะ จากที่ไม่เข้าใจเลย “O”ไม่รู้จักเลย อ่านแล้วได้ประโยชน์มากค่ะ

  17. ถ้าเราลบ # ออกจากบทความที่เราโพส (Facebook) เพื่อนๆที่ใช้ # คำเดียวกันจะสามารถเห็นโพสเราอีกมั้ยคะ

    • ไม่เห็นแล้วครับ แต่ว่า ถ้าเขาไม่ได้ Search แบบ Hashtag (Search แบบ Keyword ธรรมดา) ก็จะยังเห็นอยู่นะครับผม

  18. อยากทราบว่า ถ้าเราคอมเม้นใน IG ของคนอื่นเค้าจะทราบมั้ยว่าเราเป็นใคร

    • ขอบคุณมากที่แจ้งมาครับ ผมได้ทำการแก้ไขตัวเลขในบทความเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ ขอบคุณอีกครั้งครับผม

  19. กดHashtag ใน face book ไม่ได้ค่ามันไม่ขึ้นไปตามลิ้งคืเลยเพิ่งเป็นวันนี้ค่า ลองใช้ทั้ง frifox chrome internet Explorer ก็เปิดไม่ได้ค่า รบกวนด้วยนะค่า ขอบคุณมากค่า

    • ขอบคุณมากๆ นะครับ ยังไงรบกวนคุณพี่ช่วยเอาไปแชร์บนหน้า Timeline ก็ยังดีครับผม ขอบพระคุณมากๆ นะคร้าบ 🙂

  20. อ่านแล้วได้ประโยชน์มากค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง..วาทะของท่าน อ่านแล้วสนุกค่ะ

  21. อยากทราบว่า ถ้าเราทวีตติดแฮชแท็กไปแล้วพอกดเข้าไปดูในแฮชแท็กมันไม่ขึ้นควรทำยังไงคือลองใช้แอคอื่นนทวีตมันขึ้นนะ แต่มันเป็นเฉพาะแอคนี้ …

    • อันนี้หมายถึงทวิตเตอร์ (Twitter) ใช่ไหมครับ (เพราะผมเห็นใช้คำว่าทวีต) ไม่ทราบว่าที่ไม่ขึ้นนี่คือ ไม่ขึ้นแบบไหนเหรอครับ ?

      เป็นไปได้ว่าใน Hashtag นั้นอาจจะมีเว้นวรรค หรือ ตัวอักษรอักขระพิเศษ หรือเปล่าครับผม ยังไงรบกวนลองดูก่อนนะครับผม

  22. มีประโยชน์และให้ความรู้มากขึ้นด้วยคะขอบคุณ

  23. “อาทิ” ไม่ต้องมี “เช่น”ครับ
    อาทิ … …..
    เช่น … …..
    เลือกใช้คำใดคำหนึ่งครับ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้