Mamibot PreVac Review

Mamibot PreVac Side
มุมมองด้านข้าง ของตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac

สวัสดีครับ กลับมาพบกับ Thanop.com รีวิว กันอีกเช่นเคย และบทความรีวิวอันนี้ ก็ยังอยู่กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Robot Vacuum Cleaner) กันอีกเช่นเคย โดยตัวที่ผมหยิบยกมารีวิว ตัวนี้เป็น ยี่ห้อที่มีชื่อว่า “Mamibot” อ่านออกเสียงภาษาไทยว่า “มามิบอท” นั่นเอง โดยหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้ เป็นตัว Mamibot PreVac ซึ่งจัดเป็นรุ่นสูง ของสายการผลิต Mamibot นั่นเอง

สินค้าตัวนี้ ยกเลิกจำหน่าย จากทางผู้นำเข้าแล้ว !
(คุณสามารถดูสินค้าตัวอื่นๆ เพิ่มเติม จากแบรนด์ Mamibot ได้ที่นี่)

ซึ่ง Mamibot PreVac นั้น ได้พกเอาความสามารถเจ๋งๆ มาให้มากมาย อาทิ ดูดได้ทุกสภาพพื้นผิว อาทิ พื้นกระเบื้อง พื้นไม้ พรม วิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับได้ 2 เซนติเมตร พร้อมเทคโนโลยี ไจโรสโคปเซ็นเซอร์ (Gyroscope Sensor) ทำให้การวิ่งดูดฝุ่นนั้น ฉลาดมากยิ่งขึ้นไปอีกขึ้น รองรับพื้นที่ขนาด 120 ตารางเมตร  แต่ราคาสบายๆ ที่ใครๆ ก็สามารถจับจองเป็นเจ้าของได้ง่ายๆ เพียงหมื่นต้นๆ เท่านั้นเอง

เนื่องจากบทความรีวิวนี้ยาวมากๆ (พอดีผมเขียนมันส์ไปหน่อย) หากจะอ่านจากบนลงล่างทั้งหมด อาจจะเสียเวลา เกือบชั่วโมง (แต่ถ้าใครอ่านได้ ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งนะครับ) ด้านล่างนี้เป็นเมนูลัด ที่ผมตระเตรียมเอาไว้ ให้สามารถเข้าถึงเนื้อหา ต่างๆ ได้อย่างสะดวก และ รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

  1. ทำความรู้จักกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac
  2. แกะกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac
  3. ข้อมูลจำเพาะของ Mamibot PreVac
  4. คุณสมบัติ และ ความสามารถที่โดดเด่น
  5. สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง Mamibot PreVac
  6. เปิดใช้งานหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac
  7. คำถามที่คุณต้องอยากรู้ เกี่ยวกับมัน (FAQs)
  8. บทสรุปการใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac

รู้จักกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot ให้มากขึ้นกว่านี้

Mamibot Logo
โลโก้ เครื่องหมายการค้า Mamibot

คุณสามารถทำความรู้จักกับ ที่มาที่ไปของแบรนด์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot จากประเทศสหรัฐอเมริกา ให้มากกว่านี้ ว่าเป็นใครมาจากไหน น่าเชื่อถือได้แค่ไหน ได้โดยการกดที่ลิงค์เชื่อมต่อด้านล่างนี้ได้เลย

⇒ ทำความรู้จักกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot ได้ที่นี่

แกะกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac

Mamibot PreVac Box
กล่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac มาด้วยโทนสีขาวสบายตา

สำหรับกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac นี้ ก็มีในโทนสีขาว เทา สลับกับ สีน้ำเงินอ่อนๆ (สีโลโก้สินค้า) ดูเรียบง่าย แต่หรูหรา สมเป็นสไตล์อเมริกัน (เพราะอีก 2 ยี่ห้อ กล่องก็ดูหรูหราแบบนี้แหละ)  เอาละ มาดูกันเลย

ด้านนอกกล่อง

ด้านหน้ากล่อง : มีโลโก้ผลิตภัณฑ์สินค้า ด้านบน พร้อมรูปสินค้าจาก มุมมองด้านบน (Top View) และเขียนว่า “Robot Vacuum Cleaner” ด้านล่างก็มาพร้อมกับ คำอธิบาย ความสามารถที่โดดเด่น อยู่ทั้งหมด 4 อย่าง ที่ทางผู้ผลิตเขาหยิบยกมานำเสนอ บนหน้ากล่อง ได้แก่

  1. Smarter (ฉลาด ด้วย เทคโนโลยี Gyroscope ดูดฉลาด สมาร์ท)
  2. Stronger (ทรงพลัง แรงดูดสูง รีโมทคอนโทรล สั่งงานได้ไกล)
  3. Easier (ใช้งานง่าย ตั้งเวลาทำความสะอาดได้ ค่าบำรุงรักษาต่ำ)
  4. Longer (ใช้ได้นาน ด้วยแบตเตอรี่ ความจุสูง ทำงานต่อเนื่อง 2 ชม.)

ด้านหลังกล่อง : มีรูปโลโก้สินค้า เขียนว่า Mamibot PreVac ถัดลงมาเป็น เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ถ่ายจากมุมมอง ด้านหน้า พร้อมสโลแกนสั้นๆ ชิคๆ ว่า “My AutoMating Ideas” (ตรง Thanop.com นี่ไม่เกี่ยวนะครับ ลายน้ำ Watermark ของรูปภาพ ที่ผมทำเอาไว้เอง)

และยังมี โลโก้เขียนด้านล่างว่า “RoHS” ที่ย่อมาจากคำว่า “Restriction of Hazardous Substances” ซึ่งมันเป็นกฏระเบียบและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีข้อกำหนดต่างๆ มากมาย โดยเน้น ไปที่การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการ รีไซเคิล (Recycle) ของวัสดุที่ใช้ทำ นั่นเอง ซึ่งแน่นอน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac นี้ได้รับการผ่านมาตรฐานตรงนี้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีเครื่องหมาย “CE” ที่ย่อมาจากคำว่า “Conformite Europeene” ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรม ว่ามีความปลอดภัยด้านความปลอดภัย สุขภาพ และ สิ่งแวดล้อม นั่นเอง

ด้านซ้ายของกล่อง : จะเป็นในส่วนของ ข้อมูลจำเพาะ หรือข้อมูลทางเทคนิค (Technical Specifications) พอสังเขป คร่าวๆ ของตัวเครื่องนี้ (กดดู ข้อมูลจำเพาะ ของเครื่องได้ที่นี่)

ด้านขวากล่อง : มีบอกอุปกรณ์ พร้อมกับ จำนวน ที่ให้มาภายในตัวกล่องผลิตภัณฑ์ ในหัวข้อ “What’s in the Package ?” ซึ่งก็จะมีบอก ของทั้งหมดที่ให้มาภายในกล่อง

นอกจากนี้ยัง ส่วนล่างก็ยังมีสติ๊กเกอร์แปลว่า เครื่องด้านในเป็นเครื่องสีอะไร ซึ่งตัว เครื่อง Mamibot PreVac ของผมที่ได้มาทำการรีวิว นั้นเป็นตัวเครื่อง สีแดง (Color : RED) พร้อมกับหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์ (Serial Number) (ผมขออนุญาตลบหมายเลข Series No ออกนะครับ) ซึ่งเลขนี้สำคัญมาก เพราะว่าเป็นเลขเฉพาะของเครื่องเราเลย สุดท้ายเป็นส่วนของรายละเอียดผู้แทนจำหน่าย ว่าจัดจำหน่ายโดยใคร (Distributed by)

Mamibot PreVac Box Underside
ด้านล่างกล่อง Mamibot PreVac มีข้อมูลที่น่าสนใจ อยู่บางส่วน

นอกจากนี้แล้ว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac ยังมีข้อมูลที่อยู่ ด้านใต้กล่อง อีกด้วย ซึ่งก็มีชื่อบริษัท พร้อมที่อยู่

Mamibot Manufacturing USA Inc.
Orange St. #600, Wilmington,
New Castle, 19899, Delaware, USA

พร้อมเว็บไซต์ www.mamibot.com และอีเมล์คือ sales@mamibot.com โดยข้อมูลในส่วนของด้านขวา เขามีบอกรายละเอียดเขียนว่า

“Designed in USA, Assembled in China”

ก็คือ ออกแบบในประเทศสหรัฐอเมริกา (USA) และ ถูกผลิตและประกอบขึ้นในประเทศจีน (China) นั่นเอง ซึ่งตรงจุดนี้ ก็ถือเป็นเรื่องปกติครับ เพราะหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เกือบทุกยี่ห้อเป็นแบบนี้หมด จะดีหรือไม่ดีนั้น อยู่ที่การควบคุมคุณภาพ (Quality Control) ของบริษัทผู้ผลิต ในแต่ละเจ้ามากกว่า

ด้านในกล่อง

Mamibot PreVac Box Unpacked with Cover
เมื่อเปิดฝา กล่องผลิตภัณฑ์ Mamibot PreVac ออกมา มีแผ่นโฟม ขนาดเต็ม ปิดอยู่อีกชั้นนึง

คราวนี้มาดูส่วนประกอบด้านในกล่อง ที่เขาให้มาดูกันบ้าง เพียงแค่วางกล่องราบเป็นระนาบเดียวกับพื้น ปลดตัวล็อค และ เปิดฝาบนของกล่องกระดาษด้านนอก ขึ้นมา ก็จะพบกับ กล่องโฟมที่ห่อหุ้ม ตัว เครื่องเอาไว้เป็นอย่างดี แถมด้านบนก็มีฝาที่เป็นโฟม ห่อหุ้มเอาไว้อีกชั้นนึงเช่นกัน เพื่อเป็นการ ป้องกันความเสียหาย ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง หรือ เคลื่อนย้าย นั่นเอง

Mamibot PreVac Component
รายการอุปกรณ์ ทั้งหมด ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ ของ MamiBot PreVac

คราวนี้ลองมาดูอุปกรณ์ (Contents of the Box) ที่ให้มาในกล่อง ทั้ง 11 อย่าง กันบ้างว่ามี อะไรที่น่าสนใจกันบ้าง (เรียงตามหมายเลข ที่กำกับเอาไว้ในรูปด้านบนนี้ได้เลย)

1. Mamibot PreVac (หุ่นยนต์ดูดฝุ่น – 1 เครื่อง)

mamibot-prevac-front
ด้านหน้า หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac

ตัว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac ที่เป็น ทรงเหลี่ยมผสมกลม (กึ่งเหลี่ยม กึ่งกลม) ที่มีขนาดมิติอยู่ที่ 315 x 315 x 74 มิลลิเมตร ซึ่งขนาดถือว่าค่อนเอียงไปทางเล็ก จึงทำให้ ทำงานได้สะดวก คล่องแคล่ว

ด้วยเหตุนี้เอง มันจึงสามารถวิ่งมุดไปทำความสะอาด ใต้เฟอร์นิเจอร์ ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าของความสูงของมัน ที่สูงเพียงแค่ 74 มิลลิเมตร มีดีพอที่จะมุดเลาะทำความสะอาดใต้โซฟา หรือ แม้แต่ ใต้ขาเก้าอี้สำนักงาน ได้

2. Charging Dock (แท่นชาร์จ – 1 ชุด)

Mamibot PreVac Charging Dock Side
ด้านข้าง ของ แท่นชาร์จ Mamibot PreVac มีรูที่เสียบ อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ

ชุด “แท่นชาร์จ” บางยี่ห้อเรียกว่า “Charge Base” แล้วแต่จะเรียกขาน มันเป็น อุปกรณ์ที่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ในปัจจุบันนี้ขาดไม่ได้เลย มันเปรียบเสมือนบ้าน หรือ ฐานที่มั่นของมันเลยทีเดียว ซึ่งเจ้า หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac จะจอดชาร์จไฟ อยู่ที่นี่ และเมื่อ เรากดสั่งมันทำความสะอาด หรือ ได้เวลาทำความสะอาด (หากเราตั้งเวลาทำความสะอาดเอาไว้) มันก็จะวิ่งออกจากแท่นชาร์จนี้โดยอัตโนมัติ

3. Spare HEPA Filter (แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง สำรอง – 1 แผ่น)

Mamibot PreVac HEPA Filter
แผ่นกรองอากาศ HEPA สำรอง คุณภาพสูง ป้องกันฝุ่น สิ่งสกปรก เล็กๆ หลุดลอด ออกจากตัวเครื่อง Mamibot PreVac

ในกล่องผลิตภัณฑ์ เขาจะมี แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง หรือที่เรียกว่า แผ่นกรอง HEPA ให้สำรองมาอีก 1 ชุด (ของจริงอยู่ใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง แล้ว – 1 ชุด) เผื่ออันนึงล้างทำความสะอาดอยู่ หรือ เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน ก็ยังมีแผ่นกรองอากาศ อีกชุดที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ แบบไม่ขาดตกบกพร่อง

4. Charging Adapter (ชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ – 1 ชุด)

Mamibot PreVac Charging Adapter
ชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ (Charging Adapter) พร้อมสายไฟยาว 1 เมตร

ชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ หรือ ตัวแปลงไฟฟ้า พร้อม สายชาร์จ ความยาว 1 เมตร มาให้ ตัวนี้จะแปลงไฟจากไฟบ้าน ที่สามารถใช้ได้ทุกประเทศ (ได้ทั้ง 110V และ 220V) มาเป็นไฟที่ใช้ภายในเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (DC 19V 0.5A) ดูจากขนาดของแอมป์มันแล้ว ถือว่ากินไฟต่ำมากๆ ถ้าหากสังเกตดูจากตัวเลข ปริมาณไฟที่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้บริโภคแล้ว ถือว่าน้อยมากๆ ดังนั้นหากใช้งานแล้วไม่ต้องกลัวค่าไฟขึ้นเลย มันแทบจะมีผลกับค่าไฟน้อยเอามากๆนอกจากนี้แล้ว ยังสามารถเอา ชุดอะแดปเตอร์ นี้ไปเสียบชาร์จไฟ ได้ทั้งกับ แท่นชาร์จ หรือ ชาร์จเข้าเครื่องโดยตรงเลยก็สามารถทำได้ เช่นกัน

5. Remote Control (รีโมทคอนโทรล – 1 อัน)

รีโมทคอนโทรล หรือ อุปกรณ์สั่งงานเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นระยะไกล ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง คอยส่งคำสั่งของคุณ ไปยังตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac โดยไม่ต้องลุกไปเดินตาม เดินหา หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ให้เมื่อย และ เสียเวลา โดยคุณสามารถใช้รีโมทคอนโทรลในการ สั่งงาน ควบคุมทิศทาง เปลี่ยนโหมดการทำความสะอาด หรือ ตั้งค่าต่างๆ อาทิ ตั้งเวลา และ ตั้งเวลาการทำความสะอาด ให้กับตัวเครื่องได้ง่ายๆ

6. User Manual (คู่มือการใช้งานภาษาอังกฤษ – 1 เล่ม)

คู่มือการใช้งาน (User Manual) บอกถึงรายละเอียด อุปกรณ์ วิธีการใช้งาน พร้อมกับ วิธีการดูแลรักษา (Robot Maintenance) รวมไปถึง วิธีการ แก้ไขปัญหาเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Troubleshooting) แบบ เบื้องต้น เอาไว้อย่างละเอียด

Mamibot PreVac User Manual
คู่มือการใช้งาน (User Manual) ภาษาอังกฤษ พร้อมรูปอธิบายประกอบ การใช้งานต่างๆ อย่างละเอียด

7. Magnetic Boundary (แถบแม่เหล็ก กั้นขอบเขต – 1 เส้น)

อุปกรณ์ชิ้นนี้ คุณอาจจะเรียกว่า “Magnet Strip” แถบแม่เหล็ก หรือ “Non-Battery Virtual Wall” กำแพงเสมือนไร้แบตเตอรี่ ก็ได้ อันที่จริง แล้ว มันคือแถบแม่เหล็ก ที่เอาไว้วางบนพื้นห้อง มีหน้าที่เอาไว้ ป้องกัน พื้นที่ ที่ไม่ต้องการให้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac ตัวนี้วิ่งเข้าไปทำความสะอาด เช่น ห้องครัวที่พื้นมีคราบมันๆ ห้องน้ำที่พื้นเปียก หรือแม้แต่ห้องที่มีเด็กเล็ก อยู่ ตัวนี้เปรียบเสมือนประตู หรือ กำแพงเสมือน (Virtual Wall) ที่กั้นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเอาไว้ ไม่ให้เข้าไปได้

โดย แถบแม่เหล็กนี้ เขาให้ขนาดความยาวมาอยู่ที่ ประมาณ 2 เมตร ด้วยกัน ซึ่งสามารถใช้กรรไกร ตัดให้มันสั้นลงได้ (แต่ตัดได้ครั้งเดียวนะครับ ต่อไม่ได้แล้ว) และถ้าหาก ต้องการจะใช้มากกว่านี้ ก็สามารถสั่งซื้อเพิ่มเติมได้ที่ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยได้เลยครับ

8. Polishing Cloth Holder (ที่ติดผ้าม็อบถูพื้น – 1 ชุด)

อุปกรณ์ติดผ้าม็อบถูพื้น ซึ่งถือเป็นออปชั่นเสริม ว่าจะเลือกให้ดูดฝุ่น และ ถูพื้น ไปในตัวด้วยหรือไม่ สามารถถอดเข้า ถอดออกได้ ตามต้องการ

9. Cleaning Cloth (ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ – 2 ผืน)

ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ หรือบางยี่ห้อจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Microfiber เป็นลักษณะผ้าม็อบแบบไมโครไฟเบอร์ขนาดเล็ก เอาไว้คอยช่วยเก็บกวาด ฝุ่นที่มีขนาดเล็กมากๆ โดยเขาให้มา 2 ผืน เอาไว้เผื่อสำรองเอาไว้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีงาม

Mamibot PreVac Polishing Cloth Holder and Cleaning Cloth Separated
ที่ติดผ้าม็อบถูพื้น และ ผ้าม็อบถูพื้น ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac ขณะแยกออกจากกัน

10. Multiple Cleaning Brush (แปรงทำความสะอาด อเนกประสงค์ – 1 แปรง)

แปรงทำความสะอาดตัวเครื่องแบบอเนกประสงค์ ด้านนึง เป็นแปรงพลาสติกแบบแข็ง และ อีกด้านนึงเป็นแปรงขนแบบอ่อน เอาไว้ใช้ทำความสะอาด ตามซอกมุมต่างๆ ของ ตัวเครื่อง Mamibot PreVac เอง

แปรงทำความสะอาด ตัวเครื่อง อเนกประสงค์ (Multiple Cleaning Brush)
แปรงทำความสะอาด ตัวเครื่อง อเนกประสงค์ (Multiple Cleaning Brush)

11. Spare Side Brush (ชุดแปรงกวาดข้าง สำรอง – 2 แปรง)

มีแปรงกวาดด้านข้าง (Side Brush) ชุดสำรอง เผื่อมาให้ใช้อีก 2 ชิ้น (1 ชุด) ซึ่งจริงๆ แล้วมีติดตั้งอยู่ที่ตัวเครื่องแล้วชุดนึง แต่ทางผู้ผลิต เขาก็ยังได้ให้สำรองมาให้อีก 1 ชุด (แปรงข้างด้านซ้าย และ ขวา) ซึ่งเวลาจะถอดออก ก็จะต้องใช้ ไขควง 4 แฉก ขันน๊อตที่ยึดติดอย่างแน่น ออกมา ซึ่งก็ไม่ได้ยากอะไร ใครๆ ก็ทำได้

Mamibot PreVac Side Brush
แปรงกวาดข้างสำรอง (Spare Side Brush) ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac ที่ให้มาสำรองเอาไว้อีก 1 ชุด (ของจริงติดอยู่ที่เครื่อง)

ข้อมูลจำเพาะ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac

คราวนี้ ก็ถึงเวลา มาดูสเปคหรือข้อมูลจำเพาะ (Specification) ของเครื่องกันเลยดีกว่า ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพราะส่วนมากแล้ว ปัจจุบันนี้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ต่างๆ ที่ผลิตออกมา ความสามารถต่างๆ ก็จะคล้ายๆ กันหมดแล้ว ก็จะเชือดเฉือน กันตรงสเปค หรือ ข้อมูลจำเพาะของเครื่อง ตรงนี้กันแหละ ว่าจุดไหนที่เด่นกว่า มากกว่า มาดูกันเลย

รายละเอียด
(Specification)
ขนาดมิติ
(Dimension)
315 x 315 x 74 มม.
น้ำหนัก
(Weight)
3.9 กิโลกรัม
ไฟเข้า
(Input)
AC 220-240V 50 Hz
ไฟออก
(Output)
DC 18.4V 1A
ประเภทของแบตเตอรี่
(Battery Type)
Li-Ion
ปริมาณความจุแบตเตอรี่
(Battery Capacity)
2,200 mAh
ระดับเสียง
(Noise Level)
60 dB. (เดซิเบล)
(วัดจากที่ระยะห่าง 1 เมตร)
ขนาดกล่องใส่ขยะ (ลิตร)
Dustbin Capacity (Litre)
0.60 ลิตร (600 mL)

คุณสมบัติ และ ความสามารถ ของ Mamibot PreVac

ในส่วนนี้จะกล่าวถึง คุณสมบัติ และ ความสามารถหลัก ทั้งหมด 15 ข้อ !! ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac ตัวนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้ ผมได้สรุปข้อมูลมาจาก 3 แหล่งด้วยกันคือ 1. ข้างกล่อง 2. คู่มือการใช้งาน และ 3. จากการทดสอบใช้งานเองจริงๆ มาดูกันเลย

1. Super Slim Body (ขนาดเล็กกระทัดรัด)

จัดเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นอีกหนึ่งตัว ที่มีขนาดเล็กมากๆ แม้ตัวเส้นผ่าศูนย์กลางจะไม่ได้เล็กที่สุด แต่ว่าความสูงของตัวเครื่องขึ้นมาคือ 74 มิลลิเมตร (7.4 เซนติเมตร) ถ้าเปรียบเทียบกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่ผมเคยๆ รีวิว มานั้นถือว่ามีขนาดเล็กอยู่พอสมควร ข้อดีของมันก็คือ มันจะสามารถวิ่งมุดใต้เฟอร์นิเจอร์ อย่าง โซฟา หรือแม้แต่ ขาเก้าอี้สำนักงาน (ในบางรุ่น บางตัว) ได้เป็นอย่างดี นั่นเอง เพราะถ้าตัวใหญ่ ตัวเครื่องมันก็จะติด ไม่สามารถมุดลอดเข้าข้างใต้ได้ ส่งผลให้ พื้นที่เหล่านั้น ไม่ถูกทำความสะอาดไปด้วย

2. Automatic Charging (สามารถวิ่งกลับแท่นชาร์จอัตโนมัติ)

มีระบบกลับไปยังแท่นชาร์จอัตโนมัติ ซึ่งมันจะทำการค้นหาแท่นชาร์จอัตโนมัติโดยทันที มี 2 กรณี ที่ทำให้มันเป็นเช่นนี้ ได้แก่

  1. Cleaning Completed : ดูดเสร็จสิ้น ทั่วทั้งบริเวณห้อง หรือ บริเวณที่มันสามารถเข้าไปถึงได้แล้ว
  2. Battery Capacity < 15% : ปริมาณไฟใน แบตเตอรี่ ลดลงเหลือ 15% ในขณะกำลังทำงานอยู่

3. Gyroscope Sensor (เซ็นเซอร์ไจโรสโคป)

ถือเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ตัวแรก ที่มีเทคโนโลยี “Gyroscope Sensor – เซ็นเซอร์ไจโรสโคป” พ่วงติดเข้าไปด้วย มันเป็นเซ็นเซอร์ชนิดหนึ่ง ที่นิยมใช้กันใน สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แบรนด์ดัง มันมีเอาไว้ใช้ในการตรวจจับ และ จดจำ ลักษณะการหมุน การทำงาน ของตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ในแบบ 3 แกน (แกน X แกน Y และ แกน Z) และ ผลของการมี เซ็นเซอร์ Gyroscope คือ มันจะช่วยเรื่องของ องศาการหมุนตัวของตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เวลาหมุนจะ หมุนด้วยองศาพอดี ทำให้ไม่เหลือพื้นที่ว่าง ที่ไม่ได้ดูด ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น

4. Various Infrared and Ultrasonic Sensors (เซ็นเซอร์อินฟราเรด และ อัลตร้าโซนิกส์ รอบตัว)

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac ตัวนี้ มีเซ็นเซอร์ 2 ชนิด รวมแล้วกว่า 10 ตัว ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่

  1. Infrared Sensors x 3 (เซ็นเซอร์อินฟราเรด 3 ตัว) : มันมี เซ็นเซอร์อินฟราเรด ฝังอยู่รอบๆ ตัวมัน 3 ตัว ด้วยกัน โดยมันฝังอยู่ใต้ตัวเครื่อง ในตำแหน่ง ซ้าย กลาง และ ขวา ซึ่งประโยชน์ของมันก็เพื่อใช้ ป้องกันการวิ่งตกบันได นั่นเอง
  2. Ultrasonic Sensors x 7 (เซ็นเซอร์อัลตร้าโซนิกส์ 7 ตัว) : เซ็นเซอร์ประเภทนี้ ผมเพิ่งเคยเห็นใน Mamibot PreVac ตัวนี้ โดยมันจะใช้คลื่นย่านอัลตราโซนิกส์ (Ultrasonic) ยิงออกไปจากตัวเซ็นเซอร์ และ เมื่อเจอสิ่งกีดขวางก็จะสะท้อนกลับมา เพื่อวัดระยะห่างจากตัวเครื่องกับสิ่งกีดขวาง ประโยชน์ของมันคือ มีเอาไว้ใช้เพื่อใช้ ป้องกันการวิ่งชนสิ่งกีดขวาง ไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์ หรือ ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านของคุณ โดยมันฝังไว้ทั้งหมด 7 ตัว ในกันชน ด้วยกัน ได้แก่ ซ้าย 2 ตัว x กลาง 3 ตัว x ขวา 3 ตัว

5. More Logical Cleaning Route (มีระบบการประมวลผล คำนวณเส้นทางที่ฉลาด)

นอกจากนี้แล้ว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac ตัวนี้ ยังมีเซ็นเซอร์อื่นๆ รอบตัว และ หน่วยประมวลผลที่ชาญฉลาด ส่งผลให้ ไม่วิ่งทำงานมั่ว ไม่กลับไปดูดซ้ำที่เดิม ให้เสียเวลา และ เปลืองแบตเตอรี่ แต่ขณะเดียวกัน  มันจะวิ่งไปทุกที่ ในห้อง ให้ครบทั่วทุกบริเวณ

6. Big Dust Box (กล่องใส่ขยะฝุ่นละอองขนาดใหญ่)

มีขนาดของ กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) ที่ใหญ่ มันมีความจุขนาด 0.6 ลิตร (600 mL) ทำให้เก็บเศษฝุ่น หรือ เศษเส้นผมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

7. Voice Alerting Systems (ระบบแจ้งเตือนด้วยเสียง)

มีระบบ การแจ้งเตือนการทำงานด้วยเสียง ในหลากหลายกรณีที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น แบตเตอรี่อ่อน ใกล้หมด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเสียงของ การรายงานโหมดที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน หรือแม้แต่ การเริ่ม หรือ ยกเลิกการทำงานฟังก์ชั่น ต่างๆ ให้คุณทราบอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

8. Strong Rubber Driving Wheels (ล้อขับเลื่อนแบบยาง ที่แข็งแกร่ง)

สามารถวิ่งผ่าน พื้นที่ต่างระดับ ได้สูงสุดถึง 2 เซนติเมตร เพื่อให้ตัวเครื่องสามารถวิ่งผ่าน จุดเชื่อมต่อระหว่างพื้นธรรมดากับพรม หรือแม้แต่ ธรณีประตู (Doorsill) ได้อย่างสบายๆ ชิวๆ เลยทีเดียว

9. Quiet Cleaning (เสียงเงียบ ไม่รบกวนคนอื่น)

เครื่อง Mamibot PreVac ตัวนี้ นี้มีระดับเสียง ขณะกำลังปฏิบัติงาน อยู่ที่ประมาณ 60 เดซิเบล (dB) ซึ่งถือว่า ไม่ค่อย และ ไม่ดังหนวกหูมากจนเกินไป ถือว่าเป็นระดับเสียงมาตรฐาน ปกติทั่วๆ ไป ขณะที่เครื่องกำลังทำงาน มันจะไม่ไปรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ อาทิ อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ และอื่นๆ

10. Longer Working Time (ทำงานต่อเนื่องได้ยาวนาน)

ด้วยความจุแบตเตอรี่ แบบ ลิเธียมไอออน  (Li-Ion) ในระดับ 2,200 mAh และ ด้วยความที่มันเป็น ลิเธียมไอออน จึงทำให้ ตัวเครื่องจะ สามารถชาร์จไฟ ให้เต็มความจุของแบตเตอรี่ได้ในเวลาอันสั้น แต่สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นาน ถึง 2 ชั่วโมง (120 นาที) ติดต่อกันเลยทีเดียว

11. Large Coverage Area (ครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้าง)

ด้วยความสามารถของคอมพิวเตอร์ และ หน่วยประมวลผลที่ชาญฉลาด มันสามารถรองรับ การทำความสะอาดห้อง (รวมไปถึง ห้องเล็กห้องน้อยต่างๆ) ได้ในพื้นที่ขนาด 120 ตารางเมตร (หรือ ประมาณ 1,300 ตารางฟุต – Sq.ft) เลยทีเดียว (เท่ากับห้องคอนโดมิเนียม ของผมถึง 2 ห้องใหญ่ด้วยกันเลยทีเดียว) เรียกได้ว่า หากคุณมีบ้านเดี่ยวขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่สักหลัง ซื้อไปใช้สัก 2 เครื่อง (ข้างบนเครื่องนึง ข้างล่างอีกเครื่องนึง) เท่านี้ก็จะครอบคลุมทั้งหลังแล้วละ

12. Easier Maintenance (สามารถดูแลรักษาง่าย)

ตัวเครื่องถูกออกแบบออกมาให้ สามารถทำการ บำรุงรักษา ได้ง่ายๆ โดย อุปกรณ์สิ้นเปลือง รวมไปถึง อะไหล่ เกือบทุกชิ้น สามารถถอดประกอบ ถอดเปลี่ยนได้เองง่ายๆ โดยไม่ต้องพึ่งช่าง หรือ ศูนย์บริการ เรียกได้ว่า ใครๆ ก็ทำได้

13. Multiple Cleaning Mode (มีโหมดการทำความสะอาดที่หลากหลาย)

โหมดการทำความสะอาดหลัก ที่หลากหลาย ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ของการใช้งาน ที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ผู้ใช้งานจะนำไปประยุกต์ใช้ ได้แก่

Mamibot PreVac Cleaning Mode
4 โหมด ทำความสะอาดหลักของ Mamibot PreVac ได้แก่ โหมดซิกแซก (Zigzag Cleaning) โหมดเกลียว (Spiral Cleaning) โหมดอัตโนมัติ (Auto Cleaning) และ โหมดเลาะขอบกำแพง (Edge Cleaning)
  1. Zigzag (โหมดซิกแซก) : ตัวเครื่องจะวิ่งทำความสะอาดแบบแนวขวางของห้อง จากสุดขอบด้านนึง ไปยังอีกด้านนึง แล้วค่อยๆ ขยับไปเรื่อยๆ จนทั่วทุกมุมห้อง
  2. Spiral Cleaning (โหมดเกลียว) : โหมดนี่จะเหมาะกับ เวลาที่คุณทำเศษขนม เศษขี้ยางลบ เศษฝุ่นตกเป็นจุดๆ เพราะว่ามันจะทำความสะอาดเป็นแบบเกลียว คล้ายๆ ก้นหอย จากจุดเล็กๆ แล้วค่อยๆ แผ่ขยายออกไปกว้างขึ้นเรื่อยๆ
  3. Auto Cleaning (โหมดอัตโนมัติ) : มันจะใช้ความสามารถอันชาญฉลาดของมัน ออกวิ่งทำความสะอาด ทั่วทั้งอาณาบริเวณ ในห้องของคุณ ตรงไหนไปได้ก็จะลัดเลาะเข้าไป ตรงไหนที่ไปไม่ได้ ก็จะหยุด ไม่ฝืนเข้าไป เพื่อลดโอกาสเสี่ยง ในการเกิดความเสียหาย ของเครื่อง และ เฟอร์นิเจอร์ ของบ้านคุณนั่นเอง
  4. Edge Cleaning (โหมดเลาะขอบกำแพง) : เมื่อเลือกใช้งานโหมดนี้ ตัวเครื่องจะทำการวิ่งเข้าหาขอบกำแพง (Wall Edge) และ วิ่งเลาะขอบกำแพง หรือ ขอบเฟอร์นิเจอร์ ที่มันสามารถเลาะขอบไปได้ ซึ่งประโยชน์ของมัน ก็คือ มันจะสามารถ เก็บเศษฝุ่น ที่ตกค้างอยู่ตามขอบกำแพง ขอบเฟอร์นิเจอร์ ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้แล้ว มันยังมี ฟังก์ชั่น การทำงานเล็กๆ น้อยๆ ให้เลือกใช้งานอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โหมดควบคุมเครื่องเอง (Manual Mode) ให้ไปดูดทำความสะอาด ในทิศทางที่ต้องการ รวมไปถึง โหมดเทอร์โบ (Turbo Mode) ที่จะรีดประสิทธิภาพ แรงดูด ของเครื่องออกมาแบบหมดแม็ก เป็นต้น

14. Bigger Main Brush (แปรงกวาดหลักมีขนาดใหญ่)

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac นั้น มีขนาดของ แปรงกวาดแบบเกลียว ที่ค่อน ข้างใหญ่และยาวมาก (อย่าจินตนาการไปเป็นอย่างอื่นนะ) เพราะว่า ตรงตัวขนแปรงแบบเกลียวเอง มีความสูงของเกลียว สูงเกือบ 2 เซนติเมตร และ ความยาวของแปรง จากซ้ายจรดขวา นั้นไม้บรรทัดวัดเอา อยู่ที่ ประมาณ 20 เซนติเมตร ทำให้เรื่องการทำความสะอาด ดูดตีฝุ่นเข้าไปเก็บไว้ในเครื่องนั้น หายห่วงเลย สะอาดแน่นอน

Mamibot PreVac Main Brush Length
เปรียบเทียบขนาดความยาวของ แปรงกวาดหลัก (Main Brush) ของ Mamibot PreVac กับ ไม้บรรทัด

15. Mopping Function (สามารถถูพื้นด้วยผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ได้)

มีออปชั่น ความสามารถของ การถูพื้น (Floor Mopping) ด้วย ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ (Microfiber Cloth) ที่สามารถห้อยติดอยู่ด้านท้ายเครื่อง ถือเป็นออปชั่นเสริม

Mamibot PreVac Polishing Cloth Holder and Cleaning Cloth Installed
ที่ติดผ้าม็อบถูพื้น ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac ขณะ ติดตั้งผ้าม็อบถูพื้น ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง Mamibot PreVac

หลังจากที่เราได้เห็นอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีมาให้ในกล่องผลิตภัณฑ์ ในหัวข้อก่อนหน้านี้ทั้งหมด อย่างละเอียด กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลองมาสำรวจดูที่ตัวไฮไลท์ ที่ถือว่าเป็นพระเอกสำคัญกันดีกว่า นั่นคือตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น นั่นเอง

มุมมอง ด้านบน (Top View)

Mamibot PreVac Top

มุมมองด้านบน ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac

ด้านบนของตัว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ตัวนี้ ก็ไม่มีอะไรสำคัญมาก เพราะหลักๆ ระบบต่างๆ จะอยู่ด้านล่างเสียมากกว่า เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ไปมากกว่านี้ ขอเริ่มกันเลยดีกว่า ตามหมายเลขที่กำกับอยู่ในรูปประกอบเลย

  1. LCD Display Screen (หน้าจอแสดงผล) : ใช้แสดงค่าการทำงานต่างๆ ของตัวเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น การแสดงโหมดการทำงานปัจจุบัน สถานะของแบตเตอรี่ สถานะเวลาของเครื่อง เป็นต้น
  2. Control Panel (แผงควบคุมเครื่อง) : ปุ่มควบคุมสั่งการ ตัวเครื่อง ง่ายๆ มีแค่ 2 ปุ่มหลัก คือ
    1. ปุ่ม DOCK : เรียกเครื่องกลับแท่นชาร์จ (กลับฐาน)
    2. ปุ่ม AUTO : ปุ่มสั่งให้เครื่องทำงานใน โหมดอัตโนมัติ
  3. Dust Box (กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง) : หรือจะเรียกว่า “Dustbin” ก็ได้ ขนาด 0.6 ลิตร ถูกติดตั้งอยู่ด้านบนของตัวเครื่อง ถอดออกไปล้างทำความสะอาด และ สามารถประกอบกับได้ง่ายๆ เพราะอยู่ด้านบน (แบบนี้ผมชอบ) เพราะไม่ต้องสไลด์ออกด้านข้าง

มุมมอง ด้านล่าง (Bottom View)

Mamibot PreVac Underside

ส่วนประกอบใต้เครื่อง ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac

มาดูกันที่ส่วนประกอบด้านล่าง ของมันกันดูบ้าง ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง เพราะส่วนประกอบด้านล่างนี้ ถือเป็นจุดที่สำคัญมากๆ ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ทุกยี่ห้อ ทุกรุ่น เพราะระบบกลไกการขับเคลื่อน ตลอดจน ระบบการดูดฝุ่น เข้าไปเก็บเอาไว้ใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง นั้น ก็จะทำงานตรงส่วนนี้เช่นเดียวกัน

  1. Anti-Falling Sensor (เซ็นเซอร์ ป้องกันการตกหล่น) : หรือจะเรียกว่า “Infrared Sensor” ก็ได้ เพราะว่ามันใช้ระบบอินฟราเรด ในการตรวจสอบ พูดง่ายๆ คือป้องกันเครื่องวิ่งตกจากที่สูง หรือ ตกบันได นั่นเอง  โดยมันมีอยู่ทั้งหมด 3 ตำแหน่งด้วยกัน ใต้เครื่อง ถึงตัวนี้มีเอาไว้แล้วจะไม่ได้ช่วยให้บ้าน หรือ ห้อง ของคุณสะอาดขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้จริงๆ
  2. Side Brush (แปรงกวาดข้าง) : อีกหนึ่ง อุปกรณ์มาตรฐานสำหรับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่เป็นทรงเหลี่ยมกึ่งกลม ที่จะต้องมี โดยเขาให้ แปรงข้าง 3 แฉก มาถึง 2 ฝั่ง (ซ้ายขวา) เป็นอีกสิ่งนึงที่จำเป็นมากๆ ที่จะต้องมี เพราะสาเหตุที่จะต้องมีแปรงข้างก็เพราะมันจะไม่สามารถซอกซอน ชอนไช เข้าไปตามขอบมุมของห้อง หรือ เฟอร์นิเจอร์ ได้เหมือนกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่เป็นทรงเหลี่ยม ที่จะเข้าซอกมุมได้ดีกว่า เนื่องจากรูปทรง รูปร่างสรีระ ของตัวมันเอง ดังนั้นมันจึงจำเป็นที่จะต้องมีแปรงข้าง เพื่อที่จะกวาดฝุ่น ปัดฝุ่นที่อยู่นอกรัศมีทำการของเครื่อง ให้เข้ามาด้านใน เพื่อให้แปรงกวาดหลัก (Main Brush) สามารถดูดเข้าไปเก็บใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) ได้ง่ายๆ นั่นเอง
  3. Omni-Directional Wheel (ล้อรับน้ำหนักด้านหน้า) : อุปกรณ์ชิ้นนี้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น บางยี่ห้อ เรียกว่า “Caster Wheel” ล้อเลื่อน ที่เอาไว้ใช้ในการ รับน้ำหนักของตัวเครื่องด้านหน้า มันสามารถหมุนรอบตัว 360 องศา ได้อย่างอิสระ แต่ไม่สามารถส่งกำลังในการขับเคลื่อนได้ จุดเด่นของ รุ่น PreVac ตัวนี้คือ มีล้อเลื่อน ที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ถ้าเทียบกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวอื่นๆ จึงทำให้วิ่งทำความสะอาดได้ดีขึ้น ไม่ติดขัด
  4. Auto Charging Plate (จุดสัมผัสกับแท่นชาร์จ) : หรือจุดที่เป็นโลหะสีเงินๆ 2 จุดที่อยู่ใต้เครื่อง Mamibot PreVac ตัวนี้จะถูกใช้เป็นจุดที่ถ่ายทอดพลังงานไฟฟ้า จากแท่นชาร์จ เข้าสู่ตัวเครื่อง โดย เวลาเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น วิ่งกลับมาที่แท่นชาร์จ มันก็จะนำเอา จุดสัมผัสแท่นชาร์จ ตัวนี้ไปสัมผัสกับ จุดสัมผัสหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่อยู่ที่แท่นชาร์จ นั่นเอง เพื่อเป็นการถ่ายทอดพลังงานไฟ จากไฟบ้าน ลงไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ ขนาดความจุ 2,200 mAh ที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องนั่นเอง

    Mamibot PreVac Omni Directional Wheel and Auto Charging Plate
    (ด้านบน) เซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่น (ซ้าย-ขวา) จุดสัมผัสแท่นชาร์จ (ล่าง) ล้อรับน้ำหนักด้านหน้า
  5. Main Brush (แปรงกวาดหลัก) : อุปกรณ์ชิ้นนี้ จัดได้ว่าขาดไม่ได้จริงๆ เพราะ แปรงกวาดหลัก เป็นอุปกรณ์ที่เอาไว้กวาดฝุ่น ตีฝุ่น เข้าไปเก็บไว้ใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ที่อยู่ด้านบน จะดูดละเอียดหรือไม่ สะอาดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเจ้าสิ่งนี้เลย
  6. Driving Wheel (ล้อขับเคลื่อน) : ล้อขับเคลื่อนแบบพลาสติก ห่อหุ้มด้วยยาง เพื่อเพิ่มแรงเสียดทาน และ การยึดเกาะ ให้กับเครื่อง ป้องกันการลื่นไถล จัดเป็น อุปกรณ์อีกชิ้นที่จัดเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องตัวนี้เลยก็ว่าได้ เพราะมันมีส่วนขับเคลื่อนให้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac นี้ ไปวิ่งทำความสะอาด ยังจุดที่ต้องการได้ โดยแต่ละล้อ จะมีมอเตอร์ขับเคลื่อน แยกอิสระ การทำงานซ้าย ขวา ออกจากกัน เรียกได้ว่า ล้อใครล้อมันโดยเวลามันเดินหน้า มอเตอร์ 2 ตัว (2 ล้อ) ก็จะทำงานพร้อมกัน หากจะเลี้ยวซ้าย หรือ เลี้ยวขวา มอเตอร์ก็จะทำงานข้างนึง ส่วนอีกด้านนึงก็จะหยุดทำงาน เพื่อให้เลี้ยวไปยังทิศทาง ที่ต้องการได้
  7. Polishing Cloth (ผ้าม็อบถูพื้น) : เป็นลักษณะ ผ้าไมโครไฟเบอร์ สีเขียว ที่มีประสิทธิภาพในการ ดูดจับฝุ่นสูง ซึ่งมันจะถูกยึดติดกับ ที่ติดผ้าม็อบถูพื้น อีกที สามารถถอดนำไปซักทำความสะอาด ได้ ที่สำคัญ เขาให้มาตั้ง 2 ผืน แน่ สลับกันใช้ไปได้เลย หรือจะสำรองเอาไว้เป็นอะไหล่ก็ได้นะ
  8. Battery Cover Plate (ฝาครอบแบตเตอรี่) :

มุมมอง ด้านข้าง (Side View)

สำหรับด้านข้างมัน ก็ยังมีอุปกรณ์ที่น่าสนใจอยู่ เราลองมาดูกันที่มุมมองด้านข้าง ของเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac กันเลย

  1. Power Swtich (สวิตซ์เปิดปิดเครื่องหลัก) : ปุ่ม สวิตซ์เปิดปิดเครื่องหลัก ที่อยู่ทางด้านข้างของตัวเครื่อง ซึ่งอันที่จริงแล้ว ไม่ควรปิด จะปิดก็ต่อเมื่อ คิดว่าเราจะไม่ใช้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เป็นระยะเวลานานๆ จึงควรปิดการจ่ายไฟ จากแบตเตอรี่ ลงตัวเครื่อง แต่ถ้าหาก ใช้งานอยู่เป็นประจำ ก็ควรเปิดทิ้งเอาไว้เลย แล้วเปิดการทำงานเครื่องโดย กดที่ปุ่มทำความสะอาดแทน
  2. Power Supply Connector (ช่องเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์) : หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibo PreVac ตัวนี้ ยังเปิดโอกาส ให้คุณได้สามารถต่อไฟตรงจากอะแดปเตอร์ (Adapter) ที่แปลงไฟบ้าน (AC) มาเป็นไฟที่ใช้กันภายในหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (DC) ให้โอกาสคุณ ในกรณีที่คุณลืมเอาแท่นชาร์จมา หรือ แท่นชาร์จเสีย ก็สามารถต่อไฟตรงได้เช่นกัน เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่ผู้ผลิตเขาเตรียมมาให้
  3. Ultrasonic Sensor (เซ็นเซอร์อัลตร้าโซนิค) : หนึ่งในอุปกรณ์สำคัญ ที่เอาไว้ใช้ในการตรวจจับ สิ่งกีดขวาง ที่อยู่ด้านหน้า ว่ามีอะไรบ้าง สามารถวิ่งผ่านไปได้หรือไม่ เพื่อป้องกันการชน อันเป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหาย ทั้งกับตัวเครื่องเอง และ กับ เฟอร์นิเจอร์ ในบ้านของคุณ โดย หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac นี้ มีเซ็นเซอร์อัลตร้าโซนิค นี้ติดมาให้รอบกันชนหน้า ทั้งหมด 7 ตัวด้วยกันเลยทีเดียว ถือว่าเยอะมากๆ
  4. Exhaust Grille (ช่องระบายอากาศ) : ส่วนนี้ บางยี่ห้อ อาจจะเรียกว่า “Ventilator” มันเป็นช่องที่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac จะปล่อยลมออกมา จากที่ดูดอากาศเข้าไปด้วย พัดลมดูดอากาศ (Vacuum Fan) พร้อมกับฝุ่น ซึ่งสุดท้ายแล้ว ลมก็จะถูกปล่อยระบาย ออกมาทางช่องนี้ ซึ่งอากาศก่อนปล่อยนั้น ผ่านการกรองโดย แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง HEPA เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหายห่วงเรื่องของอากาศสกปรก ที่อาจจะถูกปล่อยออกมา ไปได้เลย

แท่นชาร์จ (Charging Dock)

มาต่อกันที่ในส่วนของ แท่นชาร์จ (Charging Dock) หรือ อุปกรณ์ที่มีความสำคัญมากๆ อีกตัวหนึ่งไม่แพ้กับตัวเครื่องที่ได้กล่าวมา ลองมาดูส่วนประกอบกันได้เลย

  1. Power Indicator (แถบแสดงสถานะไฟ) : แสดงสถานะว่า ตอนนี้มีไฟเข้าแท่นชาร์จ และ กำลังชาร์จอยู่ หรือไม่
  2. Power Supply Connector (ช่องเสียบไฟกับอะแดปเตอร์) : ใช้เสียบไฟกับอะแดปเตอร์ ที่ต่อตรงกับไฟบ้าน
  3. Charging Contact (จัดสัมผัสกับตัวเครื่อง) : จุดถ่ายทอดพลังงานไฟบ้าน ลงสู่ตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac
  4. Infrared Signal Window (แถบปล่อยสัญญาณอินฟราเรด) : เพื่อส่งสัญญาณอินฟราเรด ออกไปบอกตัวเครื่อง ที่กำลังทำงานอยู่แถวๆ บริเวณนั้นว่า แท่นชาร์จอยู่ตรงนี้นะ ! ถ้าจะกลับ ข้าอยู่ตรงนี้

 

รีโมทคอนโทรล (Remote Control)

Mamibot PreVac Remote Control
รีโมทคอนโทรล ควบคุม และ สั่งงาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac จากระยะไกล ในระยะสายตา

อุปกรณ์สั่งงานและควบคุมเครื่องระยะไกล หรือ รีโมทคอนโทรล (Remote Control) จัดเป็น อุปกรณ์อีกชนิดหนึ่งที่ จัดมาให้กับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac ตัวนี้ โดยลำพังแค่ ปุ่มบนตัวเครื่อง นั้น ไม่สามารถปรับแต่งค่าอะไรได้มากมาย ดังนั้น การตั้งค่า เปลี่ยนโหมด บังคับควบคุม ต่างๆ นั้น จะต้องทำกับรีโมทคอนโทรล เป็นเสียส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ ห้ามพัง ห้ามถ่านหมด เลยทีเดียวละ

เราลองมาดูความสามารถของ รีโมทคอนโทรล กันดูบ้าง แล้วคุณจะรู้ว่า มันสำคัญมากน้อยเพียงใด (หมายเลขด้านล่าง เรียงจากปุ่มแถวบนลงล่าง และ ซ้ายไปขวา)

  1. Power Button (ปุ่มสวิตซ์เปิดปิดเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น)
  2. Auto Cleaning (ปุ่มเปิดโหมดทำความสะอาดอัตโนมัติ)
  3. Zigzag Cleaning (ปุ่มเปิดโหมดทำความสะอาดแบบซิกแซก)
  4. Edge Cleaning (ปุ่มเปิดโหมดทำความสะอาดแบบเลาะขอบกำแพง)
  5. Arrow Buttons (ปุ่มลูกศร เปลี่ยนค่า และ ควบคุมทิศทางให้เครื่อง)
  6. Confirm Button (ปุ่ม “OK” เพื่อยืนยันการตั้งค่า ต่างๆ)
  7. Home Button (ปุ่มเรียกเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น กลับแท่นชาร์จทันที)
  8. Clock Setting (ปุ่มตั้งค่าเวลาให้กับตัวเครื่อง เฉพาะครั้งแรกเท่านั้น)
  9. FULL & GO Button (ปุ่มเปิดโหมด ชาร์จไฟเต็มแล้วออกไปดูดเลย)
  10. Turbo Mode (ปุ่มเปิดโหมดเทอร์โบ ดูดแรงขึ้น แต่กินแบตมากขึ้น)
  11. Scheduling Button (ปุ่มตั้งเวลาทำความสะอาดเครื่อง รายวัน)
  12. Voice Function (ปุ่มเปิดปิด ฟังก์ชั่นแจ้งเตือนการทำงานด้วยเสียง)
  13. Spot Cleaning (ปุ่มเปิดโหมด การทำความสะอาดเฉพาะจุด)

กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dust Box)

กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dust Box) หรือ บางยี่ห้อจะเรียกว่า “Dust Bin” หรือ “Dust Container” ก็สุดแท้แต่ ซึ่งไม่ว่าจะเรียกด้วยคำว่าอะไร อุปกรณ์ชิ้นนี้ ก็ถือเป็นอุปกรณ์อีกอย่าง ที่ดูเหมือนว่าจะไม่สำคัญเท่าไหร่นัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีส่วนสำคัญมากๆ สำหรับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ทุกตัว เพราะมันจะเป็นส่วนที่กักเก็บ เศษฝุ่น เส้นผม ขน ขี้ยางลบ และอะไรต่อมิอะไร ที่แปรงกวาดตีฝุ่นขึ้นมา ให้เก็บอยู่ด้านในนี้

โดย กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ของ Mamibot PreVac ตัวนี้ มีความจุอยู่ที่ 0.6 ลิตร (600 mL) ซึ่งก็ไม่เล็กเลยทีเดียว สามารถเก็บฝุ่นเอาไว้ได้ในปริมาณที่มากพอสมควรเลยทีเดียว

ด้านการทำความสะอาดก็ง่าย ไม่ยาก สามารถเปิดฝาด้านบน ที่อาจจะต้องปลดล็อคฝามันดีๆ (กลัวที่ยึดจะแตกหักเอา) แล้วก็สามารถนำไปเทใส่ถังขยะทิ้งได้เลย นอกจากนี้แล้ว ก็ยังสามารถใช้น้ำสะอาดล้าง เพื่อเก็บเศษฝุ่นผงเล็กๆ ให้ออกไปอย่างหมดจด เหมือนเพิ่งซื้อมาใหม่ได้ง่ายๆ อีกด้วยละ

ส่วน แผ่นกรองอากาศ เขาก็จัดมาให้คุณสองชั้น ซึ่งสามารถนำออกมาทำความสะอาดได้ง่ายๆ ด้วยเช่นกัน ได้แก่

  1. แผ่นตาข่ายกรองฝุ่นชั้นใน
  2. แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง HEPA

คำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ผลิต

“ทางผู้ผลิตเขาบอกว่า ควรหมั่นทำความสะอาด แผ่นกรองอากาศ HEPA ทุกๆ การเอาฝุ่นไปเททิ้ง 5 ครั้ง (คือเอาเศษผงในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ไปทิ้งถังขยะ 5 ครั้ง แล้วค่อยเอาแผ่นกรอง ไปทำความสะอาด ครั้งนึง) เพราะมันอาจจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพ การดูดฝุ่นโดยรวมของเครื่อง Mamibot PreVac ได้เช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น หากละเลย ไม่ทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศ อาจยังส่งผลให้ตัวเครื่องมีความร้อนสูง และทำให้อุปกรณ์ภายในเครื่องชำรุดเสียหาย อย่างรวดเร็วก็เป็นได้”

เปิดใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac

และแล้วก็มาถึงเวลาแห่งการรอคอย นั่นก็คือ การเปิดใช้งานจริงครั้งแรก (First Use) ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac แต่ก่อนที่จะเริ่มใช้งานจริงนั้น ก็จะต้องมีการตระเตรียมความพร้อมของ เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น สักเล็กน้อย เพื่อให้การใช้งานนั้นเกิดประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่ครั้งแรกเลย

1. ติดตั้งแท่นชาร์จ (Charge Base Installation)

Mamibot PreVac- Charging Area
ขณะ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mami PreVac กำลังชาร์จไฟ ควรห่าง จากสิ่งกีดขวาง พอสมควร (รายละเอียดตามรูปเลย)

โดยขั้นตอนต่อไป คือ การติดตั้งแท่นชาร์จ (Charge Base) กันก่อน โดยคุณจะต้องหาพื้นที่วางแท่นชาร์จ ไว้บนที่โล่ง และ ไม่มีอะไรกีดขวาง โดยหันหลังให้ชิดกับกำแพงบ้าน หรือ เฟอร์นิเจอร์ โดยมีรัศมี ด้านข้าง (ฝั่งซ้าย กับ ฝั่งขวา) ต้องมีสิ่งกีดขวาง วางห่างไม่ต่ำกว่า 0.5 เมตร และด้านหน้า 3 เมตร เพื่อที่จะให้ตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac สามารถตั้งลำ เข้าออกได้อย่างสะดวก และไม่ติดขัดกับสิ่งกีดขวางใดๆ นั่นเอง

2. ชาร์จไฟข้ามคืน 8 ชั่วโมง (Battery Charging)

เมื่อผมได้รับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น มารีวิว ตามธรรมเนียมปฏิบัติของผม กับทุกเครื่องนั้น ผมจะต้องทำการชาร์จไฟข้ามคืนกันก่อน ประมาณสัก 6-8 ชั่วโมง เป็นอย่างต่ำ โดยไม่สนใจว่า เครื่องนั้นจะมีแบตเตอรี่เหลืออีกเยอะ หรือ มีประสิทธิภาพดีเพียงใด เพราะเราจะไม่ทางรู้ว่าเครื่องจากโรงงานนั้นมีแบตเตอรี่ มาให้มากมายเท่าไหร่ กี่เปอร์เซ็นต์ บ้าง

และ เพื่อความแน่นอน เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในครั้งแรกนั้น เลยต้องชาร์จให้ได้ประมาณ 6-8 ชั่วโมงนี้ก่อน เพื่อความมั่นใจ

โดยเจ้า Mamibot PreVac ตัวนี้ เขามีทางเลือก ให้คุณได้ชาร์จไฟกัน 2 ช่องทาง ตามใจชอบเลย ได้แก่

  1. ชาร์จไฟผ่านทางแท่นชาร์จ (Charge Base)
  2. ชาร์จไฟผ่านทางอะแดปเตอร์แปลงไฟ (AC-DC Adapter)

3. ตั้งเวลาเครื่อง (Time Setting)

ขั้นตอนอีกอย่างหนึ่ง ที่สำคัญมากๆ ก่อนเริ่มต้นการใช้งานจริง คือ การตั้งเวลา ให้กับตัวเครื่อง Mamibot PreVac เสียก่อน ว่าตอนนี้มันกี่โมงกี่ยามแล้ว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตั้งเวลาทำความสะอาดรายวันนั่นเอง

โดยการตั้งเวลานั้น สามารถทำได้โดยผ่านการกดที่ “ปุ่ม Clock Setting” บนรีโมทคอนโทรล โดย โปรเซสการตั้งเวลาเครื่องจะเริ่มจากการตั้งว่า วันนี้เป็นวันอะไรของสัปดาห์ (วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ หรือ วันเสาร์) โดยไม่ต้องตั้งค่าวันที่ ตามด้วย ตั้งค่าชั่วโมง (หน่วยเป็นแบบ 24 ชั่วโมง) และสุดท้ายจบด้วยการ ตั้งค่านาที เป็นอันเสร็จพิธี

หมายเหตุ : กระบวนการตั้งเวลา ทั้งหมดนี้ สามารถทำแค่เฉพาะครั้งแรกของการใช้งาน เท่านั้น โดยมันจะจำเอาไว้ตลอดไป

Mamibot PreVac Time Setting
การ ตั้งเวลาให้กับตัวเครื่อง สามารถทำได้ ผ่าน รีโมทคอนโทรล (Remote Control) เท่านั้น

4. ตั้งเวลาทำความสะอาด (Cleaning Schedule Setting)

ฟังก์ชั่น ตั้งเวลาทำความสะอาด ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ในปัจจุบันถือเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ที่ทุกตัวจะมี (แต่ถ้าเป็นสมัยก่อนถือเป็นเรื่องที่ดีงามมาก) โดยจุดเด่นของ การตั้งเวลาทำความสะอาด ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac ตัวนี้ สามารถที่จะตั้งวันทำความสะอาด ได้ตามต้องการได้ เช่น วันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ (วันพุธ ไม่ทำ)

Mamibot PreVac Time Setting Zoom
หน้าจอ การตั้งเวลาเครื่อง และ ตั้งเวลาทำความสะอาด (ทุกวัน ยกเว้นวันพุธ วันเดียว)

การตั้งเวลาทำความสะอาดนั้น สามารถตั้งได้โดยใช้ รีโมทคอนโทรล เช่นเคย แต่ครั้งนี้ กดปุ่มแรกของแถวล่างสุดบนรีโมท “ปุ่ม Scheduling Button

คำถามที่อยากรู้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac

มาถึงช่วงที่บอกเล่าประสบการณ์หลังการใช้งาน ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac ตัวนี้มา ได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ต่อเนื่องกัน โดยตั้งให้ดูดฝุ่นทุกๆ 10 โมงเช้าของทุกวัน ก็ได้ข้อสรุป 11 คำถาม มาได้ประมาณด้านล่างนี้เลยครับ

1. ระบบเซ็นเซอร์ 3 ชนิด ของเครื่อง ทำงานได้อย่างแม่นยำหรือไม่ ?

เรื่องความแม่นยำของการทำงาน จาก เซ็นเซอร์แบบ (1) ไจโรสโคป (2) อินฟราเรด และ (3) อัลตร้าโซนิกส์ นั้น ถ้าหากเป็น เรื่องทางเทคนิค ผมไม่ทราบจริงๆ แต่ถ้าเป็น เรื่องของความแม่นยำ

2. วิ่งตกบันได หรือ ต้องหาอะไรมาปิด ป้องการการตกจากที่สูงหรือไม่ ?

ไม่จำเป็นเลย เพราะ ตัวเครื่อง Mamibot PreVac มีเซ็นเซอร์ป้องกัน ปัญหาตรงนี้อยู่แล้ว และ เซ็นเซอร์ ที่รับหน้าที่ดูแลตรงนี้คือ อินฟราเรดเซ็นเซอร์ ที่มี 3 ตัว อยู่ใต้เครื่องนั่นเอง ดังนั้นเรื่องวิ่งทำงานตกบันได หายห่วงเลย เพราะอันนี้เป็นความสามารถพื้นฐานของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั่วไป ที่พึงจะต้องมีอยู่แล้ว

3. วิ่งชนสิ่งกีดขวาง สร้างความเสียหายให้ เฟอร์นิเจอร์ หรือไม่ ?

ไม่วิ่งชนเลย ถือเป็นเรื่องน่าทึ่งมากๆ ในมุมมอง สำหรับผมที่ผ่านการรีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นมามากกว่า 10 ตัว ซึ่งตัวนี้ถือว่า เป็นตัวแรก ที่แทบจะไม่มีการ วิ่งชน ไปกระแทก สิ่งกีดขวางใดๆ เลยแม้แต่น้อย

สาเหตุเพราะ อาจจะด้วยเซ็นเซอร์รอบตัวของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซ็นเซอร์แบบอัลตร้าโซนิกส์ ที่มีอยู่รอบๆ ด้านหน้ามากถึง 7 ตัวด้วยกัน

และนี่คงเป็นเหตุผลที่ ทำไม หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้ ถึงไม่มีกันชนดูดซับแรงกระแทก ลดความเสียหาย ระหว่างตัวเครื่อง กับ เฟอร์นิเจอร์ หรือ ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านนั่นเอง

4. สามารถวิ่งผ่านสิ่งกีดขวาง ธรณีประตู ได้ในระดับไหน ?

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac มีความสามารถในการวิ่งผ่าน สิ่งกีดขวาง อาทิ ธรณีประตู (Doorsill) หรือ รอยต่อระหว่างพรมกับพื้นกระเบื้องธรรมดา เป็นต้น

ตามที่ทางผู้ผลิตแจ้งบอก เอาไว้ว่า มันจะสามารถวิ่งผ่านสิ่งกีดขวาง ได้สูงสุด 2 เซนติเมตร (20 มิลลิเมตร) นั้น ตอนขณะที่ผมทดสอบ ให้วิ่งผ่าน ธรณีประตูที่กั้นระหว่างห้องน้ำ กับ ห้องโถงรับแขก ความสูงประมาณ 2 เซนติเมตร กลับไม่วิ่งผ่านซะอย่างนั้น แต่ถ้าเป็น ระดับต่ำกว่านั้น ประมาณ 1.5 เซนติเมตร วิ่งผ่านฉลุย หายห่วงเลยทีเดียว

Mamibot PreVac Climbing Doorsill
ขณะที่ Mamibot PreVac กำลังวิ่งผ่านธรณีประตู (Doorsill) หรือ ที่กั้นระหว่างห้อง

ความคิดเห็นส่วนตัว

“จากคุณสมบัติ ข้อ 3 และ 4 ที่กล่าวมาด้านบน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac จะดูดีมากๆ ที่ ไม่มีชนสิ่งกีดขวาง เฟอร์นิเจอร์ อะไรใดๆ แถม วิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับระดับประมาณ 1.5 เซนติเมตร ได้แบบชิวๆ ตัวมันเองก็ยังมีอารมณ์หวาดเสียวให้เห็นเล็กน้อย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกกังวลอะไรใดๆ เท่าไหร่

พูดง่ายๆ คือ ถ้าหากมันมีพื้นที่ต่างระดับ ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ที่เรียกได้ว่า จะเตี้ยก็ไม่เตี้ย จะสูงก็ไม่สูง (สูงแบบครึ่งๆ กลางๆ) มันก็จะพยายามปีนป่าย ขึ้นไปบนนั้น อาจจะมีเสียงดังกุกกักๆ กันอยู่บ้าง แต่สุดท้าย มันก็จะเอาตัวรอด ออกมาจากอุปสรรคตรงนี้ได้อยู่ทุกครั้งเลยทีเดียว”

Mamibot PreVac Soundtest
Mamibot PreVac ทดสอบ ระดับเสียง ขณะที่เครื่องกำลังทำงาน

6. ผ้าม็อบถูพื้น สามารถนำไปซักล้างทำความสะอาดได้หรือไม่ ?

ได้ปกติเลย เหมือนผ้าทั่วๆ ไป ที่สามารถซักล้างด้วยน้ำสะอาด หรือซักพร้อม น้ำยาซักผ้า ได้เช่นกัน

7. ขณะที่เครื่องกำลังทำงานเสียงดังหรือไม่ ?

ระดับการทำงาน ของ เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่ค่อนข้างเงียบ มีระดับความดังของเสียงขณะทำงานอยู่ที่ประมาณ 61 dB. (เดซิเบล) แต่วัดขณะที่อยู่ห่างจากตัวเครื่องขณะทำงานประมาณ 1 เมตร (จากรูปภาพด้านข้าง)

ก็อยู่ในระดับของ การสนทนาทั่วๆ ไป (Usual Conversation) 60 dB. เลย โดยมันจะไม่รบกวนการนอน หรือ พักผ่อน ในวันหยุดของคุณมากมายนัก เรียกได้ว่า อยู่ในระดับที่รับได้

8. หลังการใช้งาน ฝุ่นเยอะหรือไม่ ?

หลังจากที่ได้ทดลอง ใช้งานเจ้าเครื่องนี้มาได้ 1 วัน ก็ลองมาเปิดดูหน่อยสิว่า ห้องในคอนโดมิเนียม ที่ทำความสะอาดด้วยหุ่นยนต์ดูดฝุ่น และ หุ่นยนต์ถูพื้น ทุกวัน นั้น หากมีตัวนี้มาทำเพิ่มแล้ว จะมีปริมาณฝุ่นมากน้อยขนาดไหน มาดูกันเลย

Mamibot PreVac Dustbox After Used
ปริมาณฝุ่นละออง Mamibot PreVac หลังการใช้งานผ่านไป 1 วัน

จากรูปที่เห็น ถือว่าเยอะอยู่พอสมควรเลยนะครับ เพราะห้องผมทำความสะอาดอยู่แล้วทุกวัน  ด้วย หุ่นยนต์ดูดฝุ่นอีกตัวนึง ซึ่งฝุ่นส่วนมาก จากไปติดอยู่ตรงแผ่นกรองอากาศ เสียส่วนใหญ่ ซึ่งสาเหตุที่ไปติดเพราะแรงลมจาก พัดลมช่วยดูดฝุ่น (Vacuum Fan) ทำให้ ฝุ่นไปติดแผ่นกรองฝุ่นนั่นเอง

9. สามารถสั่งซื้อ Mamibot PreVac ได้ที่ไหนบ้าง ?

คุณสามารถสั่งซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac ตัวนี้ได้ผ่านทางหลายช่องทาง อาทิ

  • Website (เว็บไซต์) : www.iggoothailand.com
  • LINE ID (ไลน์ไอดี) : @iGGOO
  • Facebook Page (เพจเฟสบุ๊ค) : อิกกูไทยแลนด์ (iGGOO Thailand) กรอบด้านล่าง

หรือ ถ้าอยากจะไปเห็นตัวจริง ก่อนสั่งซื้อ ทาง iGGOO Thailand ก็มีชอป ที่เป็นสถานที่จัดจำหน่าย ไว้ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ทั่วไปอยู่มากมายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • ห้างสรรพสินค้าเดอะมอล์ ในแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า ทุกสาขา
  • ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขา
    • เซ็นทรัลพลาซาพระราม 2 (Central Plaza Rama 2)
    • เซ็นทรัลพลาซาพระราม 3 (Central Plaza Rama 3)
    • เซ็นทรัลพลาซาแกรนด์ พระราม 9 (Central Plaza Grand Rama 9)
    • เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว (Central Plaza Lardprao)
    • เซ็นทรัลพลาซาเวสต์เกต (Central Plaza WestGate)
    • เซ็นทรัลเฟสติวัลอีสต์วิลล์ (Central Festival EastVille)
  • ร้าน B2S บางสาขา

10. ราคาอะไหล่ ของ เครื่อง Mamibot PreVac แพงหรือไม่ ?

ผมได้ไปขอ ราคาอะไหล่ (Part Pricelists) จากทางผู้แทนจำหน่าย ในเมืองไทย มา ราคาอะไหล่ ก็ตามรายเอียดด้านล่างนี้เลยนะครับ

Mamibot PreVac Part Pricelists
รายละเอียด ราคาอะไหล่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac

ความคิดเห็นส่วนตัว

ราคาอะไหล่ จัดได้ว่าสมเหตุสมผล อุปกรณ์ที่แพงที่สุด ก็เห็นจะเป็น แท่นชาร์จ กับ แบตเตอรี่ นอกนั้น ก็ลดหลั่น กันลงมา

11. การรับประกันของเครื่องเป็นอย่างไร ?

ด้านการรับประกันตัวเครื่อง โดยรวมถ้าเป็น การรับประกันตัวแผงวงจรเครื่อง (System Board) และ มอเตอร์ต่างๆ 2 ปี แต่ถ้าเป็นแบตเตอรี่ 1 ปี ครับ

บทสรุปการใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac

มาถึงช่วงสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด ของบทความรีวิวจาก Thanop.com กันแล้ว เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ คือ เราจะต้องมาเขียน สรุปข้อดีข้อเสีย (Pros and Cons) จากการใช้งานตัวเครื่อง ให้ทราบกันว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง กับความรู้สึกหลังการใช้งาน มาดูกันเลย

ข้อดี 🙂

  • สามารถใช้ได้กับสภาพพื้น ทุกประเภท อาทิ พื้นพรม พื้นกระเบื้อง พื้นไม้ (แต่พื้นซีเมนต์ พวกพื้นถนนแบบนั้น ก็ไม่ไหวนะครับ)
  • มีเซ็นเซอร์ตรวจจับ และ ควบคุมการทำงานที่หลากหลาย ให้มาทั้งหมด 3 ชนิด ด้วยกัน ได้แก่ เซ็นเซอร์ไจโรสโคป เซ็นเซอร์อินฟราเรด เซ็นเซอร์อัลตร้าโซนิกส์ ตามวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันออกไป
  • ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก และ น้ำหนักเบา
  • ขณะทำงานเสียงค่อนข้างจะเงียบมากๆ แทบจะไม่ได้ยิน
  • มีแปรงกวาดหลัก ที่ขนาดค่อนข้างใหญ่มาก ทำให้การดูดฝุ่น ทำความสะอาด เป็นไปได้อย่างละเอียด
  • สามารถถูพื้น ด้วยผ้าม็อบถูพื้น ที่เป็นออปชั่นเสริม ติดหลังเครื่องได้ในตัว
  • การถอดประกอบ กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dust Box) สามารถทำได้อย่างสะดวก เพราะอยู่ด้านบน
  • มีโหมดการทำงานที่หลากหลาย ทำให้มีความยืดหยุ่น และ รองรับการใช้งาน ในหลากหลายสถานการณ์ ได้เป็นอย่างดี
  • มีโหมด “FULL & GO” ซึ่งเห็น เพิ่งเคยเห็นที่ตัวนี้เป็นตัวแรก คือ ชาร์จแบตเตอรี่ ไฟเต็มเมื่อไหร่ ก็ออกมาทำความสามารถเมื่อนั้น ถือว่ามีประโยชน์มาก เหมือนกัน ในกรณีที่ แบตเตอรี่หมด ประมาณว่าเมื่อคืน ลืมเสียบปลั๊กชาร์จไฟ ตอนเช้ามาต้องออกไปทำงานแล้ว และเย็นก็ขี้เกียจมารอมันทำความสะอาดหลังกลับบ้านอีก เพราะต้องการจะพักผ่อน โหมดนี้ช่วยได้แน่นอน มันจะทำความสะอาดก่อนคุณกลับบ้าน
  • มี พัดลมช่วยดูดอากาศ (Vacuum Fan) อยู่ท้ายเครื่อง ช่วยเสริมประสิทธิภาพการดูดฝุ่นให้ดีขึ้น ดูดฝุ่นขนาดเล็กๆ ได้เป็นอย่างดี
  • สามารถตั้งเวลาการทำความสะอาดรายวันได้ ไม่ต้องมารอให้เรากลับบ้านก่อนแล้วค่อยมาเปิดเครื่อง
  • มี สวิตซ์ปิดเปิดหลัก อยู่ด้านข้างตัวเครื่อง ไม่ต้องยกตัวเครื่องขึ้น เพื่อเปิดปิดเครื่อง ให้เมื่อยแขน เมื่อยมือ
  • เมื่อปิดสวิตซ์ปิดเปิดหลัก ของเครื่อง ถ้าหากกดปุ่มปิดไป ก็ไม่ทำให้การตั้งค่าต่างๆ หายไป (เหมือนหุ่นยนต์ดูดฝุ่นบางยี่ห้อ บางรุ่น) โดยการตั้งค่าวันเวลา การตั้งค่า เวลาทำความสะอาดรายวัน ยังอยู่ครบทั้งหมด

ข้อเสีย 🙁

  • แปรงกวาดหลัก ขณะเวลา ใส่ประกอบเข้าไปค่อนข้างจะลำบาก ต้องใส่ให้ลงล็อคของมันดีๆ ไม่งั้นจะมีเสียงดังแปลกๆ ขณะที่เครื่องกำลังทำงาน
  • ผ้าม็อบถูพื้น มีขนาดหน้าสัมผัส แคบไปหน่อย ควรจะได้กว้างกว่านี้
  • ฟังก์ชั่นแจ้งเตือนการทำงานด้วยเสียง เสียงดังไปหน่อย ควรจะปรับระดับเสียงให้ค่อยกว่านี้ได้

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับ รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mamibot PreVac หุ่นยนต์ดูดฝุ่นจากอเมริกาอีก 1 ตัว ใครที่กำลังมองหา หุ่นยนต์ดูดฝุ่นราคาประมาณหมื่นกลางๆ ความสามารถครบ ทั้งถูพื้น ดูดฝุ่น เดินทางแม่นยำ ฉลาด กลับฐาน (แท่นชาร์จ) แม่น ต้องตัวนี้เลยครับ ..

18 ความคิดเห็น

  1. ขอแชร์ประสบการณ์ หนวดพังตามประสาการใช้งาน แต่การหาซื้อหนวดอะไหล่ กลับเป็นเรื่องยากเกินความจำเป็น
    shop ย้ายที่ ข้อมูลไม่ตรงบน web ไปถึงหน้าร้าน ก็ไม่มีขายหนวด บอกให้สั่งซื้อกับบริษัทเอา

  2. mamibot prevac อะไหล่หาซื้อได้ที่ไหนบ้างคะ โดยเฉพาะ HEPA คงต้องเปลี่ยนกันบ่อยหน่อยเพราะบ้านอยู่ริมถนน

  3. สนใจmamibotคะอยากเห็นreview การเกาะกล่องและใช้งาน ขอบคุณคะ

  4. สอบถามหน่อยครับ ในระหว่างการดูดเจ้าเครื่องนี้มีวิ่งชนแท่นชาร์ทมั่งไหมครับ ผมเห็นมันพยายามวิ่งผ่านแท่นชาร์ทจนกระเด็น เลยไม่แน่ใจว่าอาการนี้ปกติหรือไม่ครับ

    • เพิ่มเติมครับ อาการที่เกิดขึ้นมักจะเป็นตอนวิ่งผ่านด้านข้างของแท่นชาร์ทครับ

  5. ขอบคุณมากๆครับอาจารย์สำหรับข้อมูล

    ผมไปซื้อมาแล้วครับเมื่อวันศุกร์ สีแดงเด่นมาเลยครับ ปรากฏว่า เครื่องerror ตลอดครับ พอsensor กันตกทำงาน เครื่องค้างและไม่ทำงานต่อ วันนี้ต้องขับรถไปทำเรื่องคืนเงินมาครับ555

    ยังไงท่านใดสนใจซื้อให้ผู้ขายทดลองระบบต่างๆให้แน่ใจนะครับ
    สำหรับผมเรื่องกำลังดูดต่างๆประทับใจครับ คงเพราะโชคร้ายเจอเครื่องที่มีปัญหาพอดี

  6. ขอบคุณสำหรับรีวิวเป็นอย่างสูงครับ ผมมีคำถาม2-3ข้อที่จะรบกวนอาจารย์ครับ
    1. การตั้งเวลาไม่ทราบว่าสามารถตั้งเวลาแต่ละวันให้แตกต่างกันได้รึเปล่าครับ
    2. หากรุ่นtopๆ ราคาสองหมื่อนกว่าได้ 10คะแนนเต็ม รุ่นนี้อาจารย์ให้กี่คะแนนครับ โดยยังห่างจากพวกนั้นในเรื่องใดเป็นสำคัญครับ
    3. ระหว่างตัวนี้กับJupiter อาจารย์แนะนำตัวไหนมากกว่ากันครับ

    • ขอตอบคุณ Pop เป็นข้อๆ เลยนะครับ

      1. ตัวนี้จะตั้งเวลาแต่ละวันให้แตกต่างกัน ไม่ได้ นะครับ แต่จะสามารถตั้งได้แบบ วันจันทร์ทำ วันอังคารทำ วันพุธไม่ทำ วันพฤหัสบดีทำ วันศุกร์ไม่ทำ วันเสาร็ทำ วันอาทิตย์ไม่ทำ อะไรแบบนี้ได้ครับ แต่คนละเวลา รู้สึกจะไม่ได้ครับ

      2. ถ้าตัวท๊อปๆ ให้ 10 ตัวนี้ผมให้ประมาณ 7 ครับ ต่างกันเรื่องของความแม่นยำในการเอาตัวรอดจากอุปสรรคต่างๆ การวิ่งกลับแท่นชาร์จ ครับ

      3. ถ้าไม่ติดเรื่องงบประมาณที่ตัวนี้ จะห่างกันอยู่ ประมาณ 1-2 พัน (ราคาผมไม่แน่ใจเท่าไหร่ ว่าตอนนี้ขายกันอยู่เท่าไหร่) ผมแนะนำตัวนี้ครับ

  7. รบกวนถามคุณธรรณพอีกครั้งนะคะ ขอชมก่อนว่าคอลัมภ์ของคุณมีประโยชน์มากค่ะ ขอเรียนถามดังนี้ค่ะ
    1. ดิฉันซื้อ mister robot jupiter มาใช้ได้5 เดือนค่ะ แรกๆก็ดีค่ะ แต่ตอนนี้มีปัญหาทำงานเพียง 40 นาที แล้วแบตเหลือ 2 ขีดก็ดับค่ะ ถามบริษัทก็ไม่ทราบค่ะ บอกว่าต้องเช็คแบตกก่อน แต่ต้องรอเพราะของหมด พอทราบว่าเป็นเพราะอะไรไหมคะ
    2. Mamibot กับ mister robot jupiter อย่างไหนคุ้มกว่าคะ จะซื้อใหม่ค่ะไม่อยากรอบริษัทค่ะ
    ถามยาวหน่อยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

    • ถ้าไม่ติดเรื่องงบประมาณ ที่จะต้องจ่ายแพงกว่าถึง 2 เท่า Neato (ราคาประมาณ 30k) ดีกว่าครับ แม่นยำกว่า แต่ ถ้าเอาความคุ้มค่า ผมให้ Mamibot (ราคาประมาณ 12k) ครับ

  8. ถ้าเทียบตัวนี้กับตัวแพงกว่าอย่าง hom bot หรือ irobot เป็นยังไงมั่งครับในการใช้งานจริง

    ขอบคุณครับ

  9. สวัสดี และขอบคุณสำหรับข้อมูลรีวิวต่างๆ ครับ..

    อยากรบกวนให้ช่วยตัดสินใจเลือก bot ซักตัวในงบ ไม่เกิน 12,000฿ ครับ

    ผมเห็นราคาตัวนี้ในเวป Central อยู่ 11,xxx แต่อยากรู้ว่าในราคาประมาณนี้ หรือ ถูกกว่า มีตัวไหนที่แนะนำมั้ยครับ

    เน้นเฉพาะดูดฝุ่น ขนแมวเป็นหลัก ความฉลาดของ bot ตัวไหนน่าประทับใจกว่ากัน บ้านผมเป็นบ้านชั้นเดียว มีประตูปิดกั้นบันไดทั้งหมดครับ

    ส่วนในเรื่องถูพื้นมีก็ดีไม่มีก็ได้ ผมไม่เน้นครับ

    หรือถ้ากัดฟันไปเอา LG ตัวรอง หรือ ตัวท๊อป จะดีกว่าครับ?

    • ถ้าปัจจัยเรื่องราคาเข้ามาเกี่ยวข้อง ราคาประมาณ 11,000 บาท ตัวนี้ จัดว่าเหมาะสมที่สุดแล้วครับผม เพราะราคาแถวๆ นี้ก็จะมีอีกตัวที่ใกล้เคียงกันคือ Mister Robot Hybrid ราคาอาจจะถูกกว่านิดนึง แต่ถูบ้านด้วยน้ำ ได้ด้วย หากพูดถึง ความฉลาด ผมว่าตัว Mamibot PreVac นำอยู่หน่อยๆ ครับ เพราะเซ็นเซอร์แกเพียบ พกมาเต็ม ทั้ง อัลตร้าโซนิค ไจโรสโคป และ อินฟราเรด เซ็นเซอร์ เรียกได้ว่า รอบตัวเลยทีเดียว ครับ

      หมายเหตุ : ความฉลาดที่ผมพูดถึง ในที่นี้คือ

      – ระยะเวลาการดูด ในพื้นที่เท่าๆ กัน จะสั้นกว่า (นิดหน่อย)
      – วิ่งครอบคลุมพื้นที่ทั่วห้องมากกว่า (เหลือเศษผม ฝุ่นตกค้างในห้องน้อยกว่า)
      – เวลาที่วิ่งกลับฐาน (แท่นชาร์จ) จะไม่มั่ว

      • ขอบคุณ อ.ธรรณพ มากครับสำหรับข้อมูล

        ในมุมของอะไหล่ ผมสังเกตุว่าในรีวิวฉบับนี้ทางอาจารย์น่าจะยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะเขียนในบทความ คงต้องศึกษาเพิ่มเติมครับ

        ถ้าไม่แน่ใจยังไง ผมอาจจะกลับไปดู Jupiter หรือ Hom bot แทน ซึ่งตัวเลือกทั้งหมด ก็มาจากรีวิวในนี้ทั้งสินครับ

        ขอบคุณอีกครั้ง และถ้ามีตัวเลือกอื่นแนะนำ ผมยินดีมากครับ

        • ราคาอะไหล่ ผมได้ไปขอทาง ผู้จัดจำหน่ายในเมืองไทย มาแล้วนะครับ ลองเลื่อเม้าส์ ขึ้นไปดูด้านบนได้เลยครับ ตรงส่วนของ รวบร่วมคำถามที่อยากรู้ ข้อ 10 ครับ 🙂

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้