Squarebot Review

รีวิวครั้งนี้ มาพบกับสินค้า แกดเจ็ท (Gadget) ที่น่าสนใจเกี่ยวกับบ้านอีกหนึ่งตัว คราวนี้ก็ยังอยู่ในเรื่องของวงการ หุ่นยนต์ที่เกี่ยวข้องกับ วงการการทำความสะอาดบ้าน และ ครัวเรือน อยู่เช่นเคย โดยครั้งนี้ จะไม่ใช่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เหมือนที่เคยรีวิว แต่จะเป็น หุ่นยนต์ถูพื้น (Floor Mopping Robot) ที่มีความสามารถในการถูพื้นได้ทั้งแบบ โหมดถูแห้ง (Sweep Mode) และ โหมดถูเปียก (Mop Mode) สิ่งนี้ ใช้ชื่อว่า “Squarebot” อ่านว่า “สแควร์บอท” สาเหตุที่เรียกมันว่า Square นั้นก็เพราะตัวเครื่องของมันมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยม (Square) นั่นเอง ประโยชน์คือ มันสามารถเข้าไปถูพื้น ได้ตามซอกมุมได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

สินค้าตัวนี้ ยกเลิกจำหน่าย จากทางผู้นำเข้าแล้ว !
(คุณสามารถดูสินค้าตัวอื่นๆ เพิ่มเติม จากแบรนด์ AUTOBOT ได้ที่นี่)

หากพูดถึง หุ่นยนต์ถูพื้น (บางคนเรียก หุ่นยนต์ถูบ้าน) นั้นเราจะสามารถพบเห็นได้ ในท้องตลาดค่อนข้างน้อยมากๆ เพราะส่วนมากแล้ว ที่เห็นๆ กัน จะเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Robot Vacuum Cleaner) ที่พ่วงเอา แผ่นรองม็อบถูพื้น (Mop Pad) เข้าไปท้ายเครื่อง เป็นออปชั่นเสริม เสียมากกว่า

Squarebot

แต่ตัวนี้ เป็นเครื่องที่เกิดมาเพื่อเป็น หุ่นยนต์ถูพื้น เท่านั้น ! แน่นอนว่า ความสามารถด้านการถูพื้นย่อมดีกว่าการติดผ้าม็อบท้ายเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่เราเห็นวางจำหน่ายอยู่แล้ว บางรุ่นเป็นแน่ เพราะ การถูพื้น คือหน้าที่ของมันโดยเฉพาะ และมันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้

โดยผู้นำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย ก็ไม่ใช้บริษัทโนเนม ไร้ชื่อ ที่ไหน เพราะคือ บริษัท โรบอท เมคเกอร์ จํากัด ผู้จำหน่าย หุ่นยนต์ดูดฝุ่นราคาถูก อย่าง แบรนด์ Autobot และ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเกรดพรีเมี่ยม อย่าง แบรนด์ Neato Robotics ที่วางจำหน่ายอยู่บนห้างเดอะมอลล์ทุกสาขาในประเทศไทย นั่นเอง

ด้านล่างนี้คือคลิปวีดีโอที่ผมทำมาให้ ประมาณ 17 นาที เรียกได้ว่าโชว์ทุกฟังก์ชั่นให้เห็นกันเต็มๆ หากดูคลิปนี้แล้ว ซื้อไปแล้วแกะกล่อง ใช้งานได้เลยทันที

ก่อนที่จะไปเริ่มอ่านรีวิวกันแบบจุใจ ด้านล่างนี้ ผมได้ทำเมนูลัด เอาไว้ให้คุณผู้อ่าน ได้สามารถเข้าถึงเนื้อหาต่างๆ ของรีวิวได้อย่างรวดเร็ว ตรงถึงข้อมูลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

  1. ทำไมต้องหุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot ?
  2. แกะกล่องผลิตภัณฑ์
  3. ข้อมูลจำเพาะ (Technical Specifications)
  4. คุณสมบัติ และ ความสามารถเด่น
  5. สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง
    1. ที่ยึดผ้าม็อบถูพื้นแบบแม่เหล็ก
    2. กล่องลูกบาศก์นำทาง (GPS Navigation Cube)
  6. เปิดใช้งานเครื่อง
    1. การถูพื้นแบบแห้ง (Sweep Mode)
    2. การถูพื้นแบบเปียก (Mop Mode)
  7. 10 คำถาม หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot ที่ทุกคนอยากรู้
  8. บทสรุปการใช้งาน ข้อดี ข้อเสีย

ทำไมต้องหุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot ?

Squarebot Side

ส่วนใหญ่เราจะรู้จัก หุ่นยนต์ดูดฝุ่น กันมามากแล้ว แต่ก็อย่างที่ชื่อมันก็บอกอยู่ว่ามันก็แค่ “ดูดฝุ่น” ได้อย่างเดียว แต่อย่าลืมว่าการดูดฝุ่น มันก็เหมือนกับการกวาดบ้านด้วยไม้กวาด ที่กวาดเศษฝุ่นลง ที่โกยขยะ นั่นเอง

ลำพังแค่การดูดฝุ่น หรือ การกวาดบ้านนั้น พวกคราบมัน รอยเปื้อน ต่างๆ หรือแม้แต่เศษฝุ่นบางส่วนที่เล็กๆ เล็กมากๆ อาจหลงเหลืออยู่บนพื้นก็ได้ เพราะมันยังไม่ได้ถูกขจัดออกไปอย่างหมดจด ด้วยเหตุนี้เองจึงต้องมีกระบวนการการถูพื้น (Floor Mopping) ด้วยผ้าขี้ริ้วชุบน้ำหมาดๆ (ในสมัยก่อน) ด้วย

แต่ในปัจจุบัน ก็ไฮโซหน่อย มีการถูด้วยผ้าไมโครไฟเบอร์พิเศษ ที่อาจจะเป็นการถูแบบเปียก หรือ การถูแบบแห้ง ก็แล้วแต่สถานการณ์กันไป ซึ่งก็เป็นการถูด้วยไม้ม็อบถูพื้น แบบธรรมดานี่แหละ หาซื้อได้ตามร้านขายของ ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป

Floor Mop
ไม้ม็อบถูพื้น แบบที่ใช้อยู่ทั่วไป อย่างแพร่หลาย

และเดี๋ยวนี้มันมีเทคโนโลยีที่ล้ำไปกว่านั้นคือการใช้ หุ่นยนต์ เข้ามาช่วยในการถูพื้น แทนการถูพื้นด้วยไม้ม็อบ

หลายคน รวมทั้งผมเอง ก็ตั้งข้อสงสัยว่า การถูพื้นด้วย หุ่นยนต์ถูพื้น นั้นมันจะสะอาดเหมือนกับที่เราถูพื้นด้วยไม้ม็อบถูพื้นจริงๆ เหรอ ? เพราะมันคือแค่การวิ่งทำงานผ่านมาและก็ผ่านไป แต่หากเป็นคนเรา เวลาถูพื้น ก็จะต้องถูแบบถูไปถูมา ย้ำอยู่ที่เดิมชั่วขณะนึง แล้วเจ้าเครื่อง หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot ตัวนี้ มันสามารถถู ในลักษณะแบบที่คนถูได้จริงๆ หรือ ?

คำตอบก็คือได้ครับ เพราะ หุ่นยนต์ภูพื้น Squarebot มีโหมดการทำงานหลักๆ อยู่ทั้งสิ้น 2 โหมดหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่

  1. Sweep Mode (โหมดถูแห้ง) : โหมดถูแห้ง หรือจะเรียกว่า โหมดกวาดพื้น ก็ได้ การทำงานคือมันจะแค่วิ่งผ่านแต่ละพื้นที่ไปเฉยๆ รอบเดียว การทำงานคล้ายๆ กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น
  2. Mop Mode (โหมดถูเปียก) : โหมดถูเปียก โหมดนี้ เปรียบเสมือน การ ถูพื้นด้วยผ้าขี้ริ้วชุบน้ำหมาดๆ นั่นเอง และการทำงานของมันคือ มันจะวิ่งไปและวิ่งกลับ ย่ำอยู่บนพื้นที่เดิม เหมือนคนถูพื้นจริงๆ

แกะกล่อง หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

และแล้วก็ได้เวลามา แกะกล่องสินค้าของจริงดูกันสักทีว่า ด้านใน เขามีอุปกรณ์อะไรมาให้กันบ้าง ก่อนที่จะไปเปิดใช้งานจริงๆ

ด้านนอกหน้ากล่อง และ ด้านนอกหลังกล่อง

Squarebot Box Front
หน้ากล่อง หุ่นยนต์ถูพื้น ถูบ้าน Squarebot

ในส่วนของกล่องด้านหน้า และ ด้านหลัง นั้นก็ไม่มีอะไรมากมาย กล่อง หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot มาพร้อมกับโทนสีดำ และมีรูปผลิตภัณฑ์ แปะอยู่ตรงหน้า มีโลโก้สินค้าอยู่ตรงมุมซ้ายด้านล่าง และ โลโก้แบรนด์สินค้า AUTOBOT อยู่ทางด้านมุมขวาล่างเช่นกัน

Squarebot Box Rear
หลังกล่อง หุ่นยนต์ถูพื้น ถูบ้าน Squarebot

ด้านหลังของกล่อง การดีไซน์ออกแบบ เหมือนกับด้านหน้าเลย แต่มีการแทนที่ คำว่า EASY (ง่าย) ELITE (สุดยอด) SMART (ฉลาด) เขียนอยู่ที่มุมขวาล่าง แทนที่ รูปโลโก้แบรนด์สินค้า AUTOBOT

ด้านนอกซ้ายกล่อง

Squarebot Box Left
ด้านซ้ายกล่อง หุ่นยนต์ถูพื้น ถูบ้าน Squarebot

มาดูทางด้านซ้ายของกล่องกันดูบ้าง โดยด้านซ้ายนี้จะเป็นโลโก้ ที่สื่อถึง คุณสมบัติ และ เทคโนโลยี ที่นำมาใช้กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Squarebot ตัวนี้ มาดูกันที่โลโก้ตัวแรกกันเลย

  1. GPS : ระบบการนำทางของหุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot นี้จะมี ลักษณะแบบ GPS ที่ใช้ดาวเทียมเป็นสื่อกลาง แต่ ตัวนี้มี การนำทางจากกล่องทรงลูกบาศก์ ที่เรียกว่า “GPS Navigation Cube” ทำหน้าที่เหมือน ประภาคาร ดาวเทียม GPS คอยนำทาง และ สั่งการ ให้กับตัว หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot ตัวนี้
  2. Wet & Dry Moppping : สามารถทำการถูพื้นได้ทั้งแบบเปียก และ แบบแห้ง แล้วแต่สถานการณ์
  3. Micro-Fober : ผ้าไมโครไฟเบอร์ ที่มีคุณสมบัติในการดูดเกาะฝุ่นที่มีขนาดเล็กๆ ไปด้วย
  4. Smaller Size : ขนาดตัวที่เล็กมากๆ และ น้ำหนักเบามากๆ เช่นกัน (น้ำหนักเครื่อง ไม่ถึง 2 กิโลกรัม)

ถัดลงมาด้านล่างอีกหน่อยคือข้อมูลจำเพาะ (Specifications) ของเครื่อง ที่มีรายละเอียดอยู่เล็กน้อย ได้แก่

  • ยี่ห้อสินค้า : ออโต้บอท (AUTOBOT)
  • รุ่น : สแควร์ (SQUARE)
  • เวลาชาร์จ : ประมาณ 3 ชั่วโมง
  • เวลาทำงาน : ประมาณ 2-3 ชั่วโมง
  • ขนาด : 240 (กว้าง) x 80 (ยาว) x 218 (สูง) มิลลิเมตร (mm.)

ด้านนอกขวากล่อง

Squarebot Box Right
ด้านขวากล่อง หุ่นยนต์ถูพื้น ถูบ้าน Squarebot

ในส่วนของด้านขวาของกล่องผลิตภัณฑ์นั้น จะเป็นคำแนะนำภาษาไทยทั่วๆ ไป โดยมีบอก ชื่อสินค้า คุณสมบัติ และ ข้อควรระวัง พร้อมกับการดูแลรักษา โดยเขาเน้นย้ำมา 3 ข้อหลักๆ ด้วยกันคือ

  1. ห้ามนั่งหรือยืนบริเวณตัวเครื่องโดยเด็ดขาด
  2. เก็บพรมชนิดขนและสายไฟให้เรียบร้อยทุกครั้งก่อนใช้งานเครื่อง
  3. เก็บให้พ้นมือเด็ก

ด้านข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ของ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot ตัวนี้ ก็จะมี

  • ประเทศผู้ผลิต : จีน
  • ผู้นำเข้า : บริษัท โรบอท เมคเกอร์ จำกัด
  • ขนาดบรรจุ : สินค้า 1 ชิ้น 24 cm x 21.8 cm x 8 cm.
  • วันที่ผลิต : 15 กันยายน 2558
  • ราคาสินค้า : 9,900 บาท

ด้านในกล่อง

เมื่อแกะกล่องออกมาแล้ว ก็จะพบว่าด้านบนมือโฟมห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ เป็นอย่างดี มีซองพลาสติกใส ใส่คู่มือการใช้งานภาษาอังกฤษ (The User Manual) ที่อธิบายการใช้งานอย่างละเอียดมากๆ

และเมื่อเอาแผ่นโฟมด้านบนออก ก็จะพบกับ อุปกรณ์ที่เขาให้มาในกล่องทั้งหมด ซึ่งเก็บวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เป็นสัดส่วนอย่างดี ตามที่เห็นด้านล่างนี้เลยจ้า

อุปกรณ์ภายในกล่อง

Squarebot Component
อุปกรณ์ ส่วนประกอบ ต่างๆ ที่ติดมาในกล่อง Squarebot

เมื่อเอาอุปกรณ์ทั้งหมดที่อยู่ในกล่อง ออกมาตั้งโชว์เรียงกันแล้ว มีทั้งหมด 5 ชิ้นด้วยกัน (ไม่รวมคู่มือการใช้งาน) มาดูกันเลยว่ามีส่วนประกอบอะไร ที่น่าสนใจกันบ้าง

  1. Charging Adapter (อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ) x 1 ชุด
  2. Floor Mopping Robot (เครื่องหุ่นยนต์ถูพื้น) x 1 เครื่อง
  3. GPS Navigation Cube (ลูกบาศก์นำทาง) x 1 กล่อง
  4. Multi-Purpose Cleaning Cloth (ผ้าม็อบถูพื้น 2 ชนิด)
    1. Dry Cloth (ผ้าม็อบถูแห้ง สีขาว) x 1 ผืน
    2. Wet Cloth (ผ้าม็อบถูเปียก สีน้ำเงิน) x 1 ผืน
  5. Reservoir Pad (ที่ติดผ้าม็อบถูพื้น แบบเปียกและแห้ง)
    1. Dry Wiping Device (ที่ติดผ้าม็อบถูแห้ง) x 1 อัน
    2. Wet Mopping Deivce with Water Tank (ที่ติดผ้าม็อบถูเปียกพร้อมถังน้ำขนาดเล็ก) – 1 อัน

จากเท่าที่ดูอุปกรณ์ภายในที่ให้มานั้น ก็มีอะไรมากมายและซับซ้อน มีแต่ตรง ผ้าม็อบถูพื้น และ ที่ติดผ้าม็อบถูพื้น เท่านั้น ที่ให้มาอย่างละ 2 ชุด เนื่องจาก มีการถูพื้นห้อง กันทั้งแบบเปียก (Wet Mopping) และ แบบแห้ง (Dry Mopping) ตามสถานการณ์ หรือ แล้วแต่จะนำไปประยุกต์ใช้งาน

ข้อมูลจำเพาะ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

คราวนี้ลองมาดูข้อมูลจำเพาะ หรือ ข้อมูลทางเทคนิค (Technical Specifications) ของ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot ตัวนี้กันบ้างว่ามีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้าง ข้อมูลที่ว่านี้ ผมรวบรวมมาเองจากด้านใต้เครื่องบ้าง จากในคู่มือการใช้งานบ้าง จากข้างกล่อง ชั่งน้ำหนักเอง และ สอบถามทางผู้จัดจำหน่ายโดยตรง ได้รายละเอียดดังต่อไปนี้

รายละเอียด
(Specification)
ขนาดมิติ
(Dimension)
240 (กว้าง) x 80 (ยาว) x 218 (สูง) มิลลิเมตร(mm.)
น้ำหนัก
(Weight)
ประมาณ 1.8 กิโลกรัม (KG.)
ไฟเข้า
(Input)
AC 100-240V 50/60 Hz
ไฟออก
(Output)
DC 7.2V 0.5A
ประเภทของแบตเตอรี่
(Battery Type)
Ni-MH หรือ Nickel Metal Hydride
ปริมาณความจุแบตเตอรี่
(Battery Capacity)
2,500 mAh
ระดับเสียง
(Noise Level)
50 เดซิเบล (dB.)
(วัดระยะใกล้ชิดตัวเครื่อง เพราะเวลาเครื่องทำงาน ผู้ใช้ต้องขยับเครื่องไปด้วย)
ระยะเวลาชาร์จ
(Charging Time)
2 ชั่วโมง
ระยะเวลาทำงาน
(Operating Time)
– Sweep Mode (โหมดถูแห้ง) : 4 ชั่วโมง
– Mop Mode (โหมดถูเปียก) : 2.5 ชั่วโมง
รองรับขนาดพื้นที่
(Coverage Area)
40 ตารางเมตร (ทั้ง 2 โหมด)

คุณสมบัติ และ ความสามารถของ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

ในส่วนนี้จะกล่าวถึง คุณสมบัติ และ ความสามารถหลักของ หุ่นยนต์ถูพื้น ตัวนี้ ซึ่งผมขอสรุปจากหนังสือคู่มือการใช้งาน และ จากที่เห็น และทดสอบการใช้งานจริงๆ มาให้ดูกันเลยว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง

  1. GPS Navigation Cube : ตอนแรกเห็นข้างกล่องว่า GPS ก็ตกใจเหมือนกัน เพราะส่วนตัวมีความเข้าใจว่า GPS คือระบบระบุตำแหน่งพิกัดด้วยดาวเทียม แต่ไหง เข้ามามีส่วนร่วมกับ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot ที่ใช้งานภายในอาคาร นี้ได้อย่างไร ?คำตอบคือมันมีกล่องสี่เหลี่ยมอันเล็กๆ ที่เรียกว่า กล่องลูกบาศก์นำทาง (GPS Navigation Cube) ทำหน้าที่เหมือนกับประภาคาร เครื่องบอกตำแหน่ง ลักษณะเหมือนดาวเทียม GPS ที่คอยให้สัญญาณ ชี้นำทางให้ หุ่นยนต์ถูพื้น วิ่งไปถูพื้น เช็ดพื้น ทำความสะอาด ในพื้นที่ต่างๆ ในห้อง ได้อย่างแม่นยำ และไม่กลับมาทำความสะอาดที่เดิมอีก นั่นเอง ซึ่งการทำงานจริงๆ แล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับดาวเทียม ที่ลอยอยู่บนท้องฟ้าแต่อย่างใดนะ
  2. Longer Run Time : สามารถทำงานได้ยาวนานต่อเนื่องสูงสุด ถึง 2.5 ชั่วโมง ในโหมด ถูเปียก (Mop Mode) และ 4.0 ชั่วโมง โหมดถูแห้ง (Sweep Mode) ซึ่งถือว่านานมากๆ และ พอที่จะครอบคลุม พื้นที่ห้องของคุณได้ทั้งหมด อย่างละเอียด
  3. Smaller Size & Lightweight : ตัวเครื่องมีขนาดเล็กมากๆ เรียกได้ว่า ขนาดของมันพอๆ กับแท็บเล็ตเล็กๆ อันนึงเลย ไม่ใหญ่มาก ส่วนน้ำหนักเครื่องก็ 1.8 กิโลกรัม พอดิบพอดี
  4. Easy to Use : ใช้งานง่ายมากๆ มีปุ่มสั่งงาน (Control Buttons) ควบคุมเพียงแค่ 3 ปุ่มหลักเท่านั้น ได้แก่ ปุ่มปิดเปิดเครื่อง ปุ่มเลือกโหมดการทำงานอีก 2 ปุ่ม สั่งงานได้โดย ไม่ต้องใช้รีโมทคอนโทรล เนื่องจากมีฟังก์ชั่นการทำงานของเครื่องที่ไม่ซับซ้อน แต่ฉลาดมากๆ เช่นกัน (แต่ถ้ามีก็จะดีกับผู้สูงอายุกว่านะ)

สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

และแล้วก็ได้เวลามาสำรวจตัวเครื่อง กันดูแล้วว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไรกันบ้าง มีจุดไหนที่น่าสนใจเป็นพิเศษหรือเปล่า ลองมาดูกันเลย !

รูปทรงของเครื่อง หุ่นยนต์ถูพื้น ตัวนี้นั้น เป็น เครื่องที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยม (Square Shaped Machine) นี่เลยเป็นสาเหตุ ที่เขาเรียกเจ้าเครื่องนี้ว่า “Squarebot – สแควร์บอท” นั่นเอง

ด้านบน หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

Squarebot Front
ส่วนประกอบด้านหน้า ด้านบน หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

เครื่องหุ่นยนต์ถูพื้นตัวนี้ มีส่วนประกอบที่ไม่ซับซ้อนเท่าไหร่ การใช้งานถือว่าง่ายมากๆ เพราะมีปุ่มควบคุเครื่องอยู่เพียงแค่ 3 ปุ่มเท่านั้น ขออธิบายตามตัวเลข ที่เขียนกำกับไว้ด้านบนนี้เลยนะ

  1. Navigation Cube Sensor (เซ็นเซอร์จับการเชื่อมต่อกับลูกบาศก์นำทาง) : เปรียบเสมือนเรด้าร์ ที่เอาไว้เชื่อมต่อสัญญาณกับ ลูกบาศก์นำทาง
  2. Control Buttons (ปุ่มควบคุมหลักของเครื่อง) : มีการควบคุมที่ง่ายมากๆ เพียแค่ 3 ปุ่มเท่านั้น เปิดปิด และ เปลี่ยนโหมดการทำความสะอาด ซึ่งในแต่ละโหมด ก็จะมีวิธีการวิ่งทำความสะอาด ที่แตกต่างกันออกไป (ดูรูปปุ่ม ด้านล่างประกอบ)
    1. Buttons and Lights (ปุ่มกลาง – ปุ่มเปิดปิดเครื่องหลัก)
    2. Sweep Button (ปุ่มซ้าย – ปุ่มโหมด Sweep หรือแบบ ถูแห้ง)
    3. Mop Button (ปุ่มขวา สัญลักษณ์ คล้ายหยดน้ำ – ปุ่มโหมด Mop หรือแบบ ถูเปียก)

    Squarebot Button
    ปุ่มควบคุมหลัก ของ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot
  3. Navigation System Indicator (ไฟแสดงสถานะการทำงาน และ การนำทาง) : ไฟสีน้ำเงิน 3 ดวง หน้าเครื่อง ที่จะแสดงสถานะการทำงานต่างๆ ของเครื่อง อาทิ การทำงาน การตรวจจับการทำงานร่วมกับ กล่องลูกบาศก์นำทาง (GPS Navigation Cube และอื่นๆ
  4. Bumper (กันชน) : กันชน เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ดูดซับแรงกระแทก เพื่อลดโอกาสเกิดความเสียหายขึ้นระหว่างตัวเครื่องหุ่นยนต์ถูพื้น กับ เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน นอกจากที่ตัวกันชน ที่สามารถให้ตัวได้ค่อนข้างมาแล้ว ยังมีขอบยางที่ติดอยู่หน้ากันชน เพื่อลดแรงกระแทก ลดโอกาสเกิดรอยขูดขีด ไปได้อีกขั้นด้วยเช่นกัน

    Squarebot Bumper
    กันชนหน้าเครื่อง (Front Bumper) ของ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

สังเกตได้ว่า หุ่นยนต์ถูพื้น ตัวนี้ แม้ตัวเครื่องจะเล็ก แต่ทางผู้พัฒนาก็มีความพิถีพิถัน กับการออกแบบดีไซน์ เป็นอย่างมาก การมีกันชน (Bumper) จะช่วยดูดซับแรงกระแทก ระหว่างตัวเครื่อง และ เฟอร์นิเจอร์ ไปได้มากทีเดียว

ด้านล่าง หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

Squarebot Underside
ส่วนประกอบด้านล่าง ของ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

มาดูกันที่ส่วนประกอบด้านล่างของตัวเครื่อง กันดูบ้าง ซึ่งก็ง่ายๆ เพราะเจ้าเครื่องนี้มันไม่มีแปรงกวาด ไม่มีกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) มีแต่การใช้ผ้าม็อบถูพื้นอย่างเดียว ด้วจเหตุนี้เองจึงไม่มีอะไรที่ซับซ้อน โดยขออธิบายตามหมายเลขที่กำกับเอาไว้เช่นเคย มาดูกันเลย

  1. Wheel and Wheel Guards (ชุดล้อขับเคลื่อน และ อุปกรณ์ห่อหุ้มล้อ) : ส่วนนี้เป็นล้อขับเคลื่อนตัวหุ่นยนต์ถูพื้น ให้เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยงซ้าย เลี้ยงขวา ไปยังทิศทางที่ต้องการได้ ซึ่งการประมวลผลว่าจะเดินไปทางไหนนั้น ก็เกิดจากหน่วยประมวลผลที่ชาญฉลาด ของมันนั่นเอง ส่วนที่ห่อหุ้มล้อ (Wheel Guards) นั้นก็มีเอาไว้ใช้ป้องกันคราบ รอยวิ่งของล้อขับเคลื่อนบนพื้น ในเวลาที่วิ่งผ่านพื้นที่ที่เปียก หลังจากการถูเสร็จ ไม่ให้เป็นคราบบนพื้นอีก
  2. Battery Charging Port (จุดเสียบชาร์จแบเตเตอรี่) : จุดนี้จะสังเกต ว่าเป็นรูเสียบเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ล้อขับเคลื่อน ให้คุณได้สามารถชาร์จไฟลงในแบตเตอรี่ ที่อยู่ในเครื่องได้เลย ซึ่งตัวนี้จะไม่มีแท่นชาร์จ ให้มันวิ่งกลับอัตโนมัติ เลยต้องอาศัย การเสียบชาร์จไฟ เข้าไปโดยตรง
  3. Magnetic Reservoir Pad Clip (จุดติดที่ยึดผ้าม็อบถูพื้นแบบแม่เหล็ก) : ส่วนนี้ใช้ยึดติดกับ ที่ยึดผ้าม็อบถูพื้น มีลักษณะเป็นแม่เหล็ก โดยแม่เหล็กจะเป็นทรงกลม 2 อัน อยู่ฝั่งซ้ายและฝั่งขวา คุณสามารถนำเอา ที่ยึดผ้าม็อบถูพื้น ทั้ง 2 แบบ มาเสียบยึดตรงแม่เหล็กตรงนี้ได้เลยทันที ซึ่งก็ง่ายมากๆ เวลาติดก็เอาเข้าไปใกล้ๆ แม่เหล็กก็จะดูดเข้าไปโดยอัตโนมัติ (ดูรายละเอียดที่หัวข้อด้านล่าง)
  4. Battery and Moving Mechanism (แบตเตอรี่ และ ชุดขับเคลื่อน) : ด้านในจะเป็นแบตเตอรี่ ขนาดความจุ 2,500 mAh พร้อมมอเตอร์ สมองกล ต่างๆ ที่อยู่ด้านใน

รูปด้านล่างนี้แสดงให้เห็นถึง ฉลากติดรายละเอียด ข้อมูลจำเพาะต่างๆ ของตัวเครื่องให้เห็นกันชัดๆ อีกครั้ง โดยตัวเครื่องถูกออกแบบในประเทศไต้หวัน (Design by Squarebot in Taiwan) และ ผลิตในประเทศจีน (Assembled in China) นั่นเอง

Squarebot Underside Label Information
ฉลากติดรายละเอียด ใต้เครื่อง ของ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

ที่ยึดผ้าม็อบถูพื้นแบบแม่เหล็ก (Magnetic Reservoir Pad Clip)

ส่วนนี้เป็นส่วนที่เรียกว่า ที่ยึดผ้าม็อบถูพื้นแบบแม่เหล็ก หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Magnetic Reservoir Pad Clip” โดยในกล่องผลิตภัณฑ์ Squarebot นี้เขาให้มา 2 กล่องด้วยกัน ซึ่งใช้ต่างสถานการณ์กัน เพราะมีทั้งการใช้แบบใน โหมดถูแห้ง (Sweep Mode) และ โหมดถูเปียก (Mop Mode) นั่นเอง

Squarebot Reservoir Pad Clip Top
ที่ยึดผ้าม็อบถูพื้นแบบแม่เหล็ก ซ้าย ถูเปียก (Mop Mode) และขวา ถูแห้ง (Sweep Mode)

จากภาพที่เห็นด้านบน จะเห็นว่ามี ที่ยึดผ้าม็อบถูพื้นแบบแม่เหล็ก มาให้ทั้งหมด 2 ชุดหลักๆ อยู่ด้วยกัน และ หน้าตาของมันก็แตกต่างกันออกไปด้วย เนื่องจากแตกต่างที่ลักษณะการใช้งาน นั่นเอง ซึ่งหากแกะกล่องออกมา ก็จะมีฉลากครอบกำกับเอาไว้อยู่ (ดูผ่านๆ เผินๆ ก็คล้ายๆ ถุงเท้า เหมือนกันนะ)

และเมื่อดึงเอาฉลากครอบออกจาก ที่ยึดผ้าม็อบถูพื้นแบบแม่เหล็ก ก็จะมีหน้าตาเป็นแบบนี้

Squarebot Reservoir Pad Clip Top Uncovered
มุมมองด้านบนของ ที่ยึดผ้าม็อบถูพื้นแบบแม่เหล็ก แบบถอดฉลากรายละเอียดออก

ให้ดูกันแบบชัดๆ เลย สำหรับ ที่ยึดผ้าม็อบถูพื้นแบบแม่เหล็ก (ดูผ่านๆ นึกว่า เคสมือถือ) รายละเอียดมีดังต่อไปนี้

  1. (อันซ้าย) Wet Mopping Device with Water Tank (ที่ติดผ้าม็อบถูเปียกพร้อมถังน้ำขนาดเล็ก) : ส่วนนี้จะเห็นได้ว่า จะเป็นพลาสติกใสๆ พร้อมกับฝาจุกยางปิดเปิดถังน้ำ ขนาดความจุประมาณ 200 มิลลิลิตร (cc.) ที่เขาเรียกว่า “Fill Cap” ของถังเก็บน้ำขนาดเล็กถังน้ำนี้ คุณสามารถดึงจุกยางสีเขียวออกมา เพื่อเติมน้ำสะอาด (น้ำเปล่า) พร้อมกับน้ำยาถูพื้น (ถ้ามี) ผสมเข้าไปในถังน้ำขนาดเล็กตัวนี้ได้เลยหากคุณสังเกต ดูดีๆ จะเห็น จุกตรงกลาง ที่เป็นสีเขียวแล้วมีเหมือนสำลีเล็กๆ อุดเอาไว้อยู่ ซึ่งทางผู้ผลิตเขาเรียกว่า “Wick Cap” เอาไว้เป็นตัวปล่อยน้ำ ลงไปในผ้าม็อบ (สีน้ำเงิน) ที่ติดทับอยู่ข้างใต้อีกที เพื่อทำให้ผ้าม็อบถูเปียกของคุณนั้น เปียกชุ่มอยู่ตลอดเวลานั่นเอง เหมือนกับการถูบ้านจริงๆ
    Squarebot Wick Cap
    Wick Cap ที่ปล่อยน้ำออกจากถังเก็บน้ำ ลงผ้าม็อบถูพื้น

    ดังนั้น หากคุณต้องการที่จะให้ หุ่นยนต์ถูพื้น ตัวนี้ถูพื้นในห้องที่มีขนาดใหญ่ๆ ระหว่างที่มันกำลังถูพื้นไปได้สักพัก ก็ควรจะหมั่นสังเกตปริมาณน้ำในถังด้วยว่า มันหมด หรือ มันพร่องไปบ้างหรือยัง ถ้าน้ำในถังหมด ประสิทธิภาพการทำงานก็จะหดหายลงไปด้วย เรียกได้ว่า แทบจะไม่มีประโยชน์ เลยที่ให้มันทำงานต่อไป

  2. (อันขวา) Dry Wiping Device (ที่ติดผ้าม็อบถูแห้ง) : จากรูปที่เห็นเป็นแถบเขียวๆ 2 แถบยาวๆ ตรงนั้นคือที่ติด ผ้าม็อบถูแห้ง (Dry Cloth) ที่เป็นผ้าสีขาว ติดทั้ง 2 ฝั่งเท่านั้น ไม่มีอะไรที่ยุ่งยากและซับซ้อน

ลูกบาศก์นำทาง (GPS Navigation Cube)

Squarebot GPS Navigation Cube
กล่อง ลูกบาศก์นำทาง (GPS Navigation Cube) ช่วยให้เครื่องทำงานแม่นยำ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อีกหนึ่งพระเอกของงาน ที่อยากแนะนำ ก็คือ กล่องลูกบาศก์นำทาง ในคู่มือเขาใช้ชื่อเรียกว่า “GPS Navigation Cube” อุปกรณ์หนึ่งที่คุณควรจะให้ความสำคัญกับมัน เพราะมันเปรียบเสมือนดาวเทียมที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า หรือ ประภาคารนำทางสำหรับเรือในการเดินทะเล ตัวนี้ก็เช่นกัน เอาไว้ชี้นำทาง ให้กับ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot ของคุณนั่นเอง

ด้านการใช้งานของ กล่องลูกบาศก์นำทาง นี้ ง่ายๆ คือ คุณควรจะต้องวางเอาไว้ในพื้นที่โล่ง ในตำแหน่งกลางห้อง เพื่อที่มันจะเอาไว้ส่งสัญญาณ ในการติดต่อสื่อสารกับตัว หุ่นยนต์ถูพื้น ว่าพื้นที่ไหนในห้อง ที่ทำความสะอาดไปแล้วบ้าง หรือยังไม่ได้ทำความสะอาด

และแน่นอน ตัวกล่อง ลูกบาศก์นำทาง เองก็ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า เหมือนกัน แต่ไม่ต้องห่วง มันไม่ได้ใช้ถ่านไฟฉาย ที่ต้องคอยมาเปลี่ยนกัน เพราะว่าด้านใน มันใช้แบตเตอรี่ ซึ่งสามารถชาร์จไฟได้ และใช้งานได้หลายครั้ง ซึ่งเราก็สามารถที่จะใช้ชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ ชุดเดียวกับที่ใช้ชาร์จตัวเครื่องหุ่นยนต์ถูพื้น ได้เลยเช่นกัน

โดย ลูกบาศก์นำทาง 1 กล่อง นั้น สามารถใช้งานได้ครอบคลุมพื้นที่ได้ ประมาณ 40 ตารางเมตร แต่ถ้าห้องคุณใหญ่กว่านั้น สามารถซื้อ ลูกบาศก์นำทาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน ให้ตัวเครื่องหุ่นยนต์ถูพื้น มันรองรับพื้นที่ได้กว้างขึ้นอีก ถ้าหากคุณมีหลายกล่อง อย่างเช่น 5 กล่อง ก็จะสามารถรองรับพื้นที่ได้สูงสุดประมาณ 200 ตารางเมตร เลยทีเดียว

เปิดใช้งาน หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

อธิบายมาเสียยืดยาว ได้เวลาเปิดใช้งานตัวเครื่องกันแล้ว แต่ก่อนที่จะเปิดใช้งานจริง แน่นอนว่าตามธรรมเนียมปฏิบัติของผม จะต้องทำการชาร์จไฟลงแบตเตอรี่ ที่อยู่ในเครื่องให้เต็มเสียก่อน เพราะ เราไม่มีทางรู้ว่า ปริมาณไฟในแบตเตอรี่ที่ให้มานั้น มีคงเหลืออยู่เท่าไหร่ ดังนั้น เราควรชาร์จไฟให้เต็มความจุ อีกครั้งก่อนการใช้งานครั้งแรก เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการใช้งานในครั้งแรก

Squarebot Charging
ขณะ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot กำลังชาร์จไฟ

โดยขณะที่ตัวเครื่องกำลังชาร์จไฟ จะมี ไฟสีแดงกะพริบช้าๆ และ เมื่อชาร์จเสร็จแล้วก็จะเปลี่ยนเป็น ไฟสีฟ้าแสดงค้าง เอาไว้ครับ เช่นเดียวกับ ลูกบาศก์นำทาง ก็ต้องชาร์จไฟให้กับมันด้วยเช่นกัน

Squarebot GPS Navigation Cube Charging
ลูกบาศก์นำทาง (GPS Navigation Cube) ขณะกำลังชาร์จไฟ ลงกล่อง

ซึ่งสถานะของการชาร์จไฟลงแบตเตอรี่ ของ กล่องลูกบาศก์นำทาง นั้นหากกำลังชาร์จไฟอยู่จะมีสถานะเป็น ไฟสีส้มแสดงค้าง และ ถ้าชาร์จไฟ จนกระทั่งเต็มความจุของแบตเตอรี่แล้ว จะเป็น ไฟสีฟ้าแสดงค้าง นั่นเอง

นอกจากนี้แล้วอีกจุดที่ดีงาม และผมชอบมากๆ เลยคือ ตัวอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ (Charging Adapter) ของ หุ่นยนต์ถูพื้น ตัวนี้นั้น มีไฟแจ้งเตือนไฟเข้า ด้วย ทำให้เรารู้ได้ว่าเราเสียบปลั๊กค้างเอาไว้อยู่หรือเปล่า

Squarebot Adapter Charging
อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ (Charging Adapter) ของ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot มีไฟแสดงเตือนสถานะ ไฟเข้า

และเมื่อชาร์จไฟกับทั้ง 2 อุปกรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาพร้อมใช้งานกันจริงๆ เสียที โดยเริ่มจากการที่นำเอา ลูกบาศก์นำทาง ไปวางในตำแหน่งที่เหมาะสมเสียก่อน ซึ่งทางผู้ผลิต เขาแนะนำว่า ให้เอาไปวางบนโต๊ะ ชั้นวางของ หรือ เค้าน์เตอร์ ที่มีเพดานเป็นลักษณะโล่ง และ ไม่มีชั้นวางของ หรือสิ่งกีดขวางอื่นๆ อยู่เหนือมันอีก

Squarebot GPS Navigation Cube Instructions
คำแนะนำ พร้อม วิธีการใช้งานที่ถูกต้อง ของ บาศก์นำทาง (GPS Navigation Cube)

ดูจากภาพด้านบนแล้วกล่อง ลูกบาศก์นำทาง มันจะใช้หลักการ การสะท้อนของสัญญาณลงมาจากเพดาน เพื่อกระจายสัญญาณ และ สามารถติดต่อสื่อสารกับทาง หุ่นยนต์ถูพื้น กันได้อย่างทั่วถึง และเมื่อพร้อมใช้งานแล้ว ก็สามารถกดปุ่มสวิตซ์เปิดปิดเครื่องได้เลย (ตามรูปด้านล่าง)

Squarebot Power Button
ปุ่มสวิตซ์เปิดปิดเครื่อง Power Button ของ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

แต่การรีวิวครั้งนี้ ผมขอเป็นการแยกใช้งานระหว่าง การถูแห้ง (Sweep Mode) และ ถูเปียก (Mop Mode) นะครับ

การถูแห้ง (Sweep Mode)

การถูแห้ง คือการถูที่ไม่ได้ใช้น้ำ เข้ามาเกี่ยวข้องในการทำความสะอาด ดังนั้น อุปกรณ์ จึงมีแค่มี ผ้าม็อบถูแห้ง (Dry Cloth) สีขาว ติดตั้งควบคู่กันกับ ที่ติดผ้าม็อบถูแห้ง (Dry Wiping Device) ที่มีลักษณะเป็น แผ่นพลาสติกยางสีดำ ด้านล่างเป็น แถบสีเขียวที่ยาวๆ และเป็นหยักๆ 2 แถบ เขาเรียกว่า “Gripping Strips” นั่นเอง

ด้านการใช้งานก็ง่ายมากๆ เพียงแค่ เอาผ้าม็อบถูแห้ง วางไว้บนพื้น แล้วนำเอา ที่ติดผ้าม็อบถูแห้ง มาวางทับไว้ด้านบน

หลังจากนั้นก็พับม้วนส่วนที่ยาวเข้ามาติดไว้ตรงแถบยางสีเขียว ที่มีลักษณะเป็นรอยหยัก แล้วกดผ้าลงไปในร่องของรอยหยักดังกล่าว ทั้ง 2 แถบ (2 ฝั่ง) ก็เป็นอันเสร็จพิธี

เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว ก็นำเอา ที่ติดผ้าม็อบถูแห้ง ที่ติดตั้งผ้าม็อบถูแห้ง ไปติดตั้งไว้ใต้เครื่องหุ่นยนต์ดูดพื้น โดยเพียงแค่คุณนำมันเข้าไปใกล้ๆ ตรงส่วนของ ที่ยึด Multi-Purposed Cleaning Pad มันก็จะถูกดูดเข้าไปติดตั้งกับตัวเครื่องโดยทันที เพราะมีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็กนั่นเอง

เมื่อติดตั้งทุกอย่างเสร็จ เรียบร้อยแล้ว คุณสามารถกดปุ่มเปิดเครื่อง ตามด้วย ปุ่มเปิดโหมดถูแห้ง (Sweep Mode) เพื่อเริ่มการทำความสะอาดได้เลย

การถูเปียก (Mop Mode)

การถูเปียก คือ การที่เครื่องทำงานโดย มีของเหลว (Fluid) ซึ่งของเหลวที่ว่านี้ อาจเป็นน้ำสะอาด หรือจะมี น้ำยาทำความสะอาดพื้น เข้ามามาส่วนช่วยในการทำความสะอาด ดังนั้นอุปกรณ์ที่คุณจะต้องใช้ จะต้องมี คือ ผ้าม็อบถูเปียก (Wet Cloth) สีน้ำเงิน ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ ติดตั้งควบคู่กันกับ ที่ติดผ้าม็อบถูเปียกพร้อมถังน้ำขนาดเล็ก (Wet Mopping Deivce with Water Tank) ที่มีลักษณะเป็น แผ่นพลาสติกยางสีดำ ด้านล่างเป็นแถบพลาสติกโปร่งใส พร้อมกับ ฝาจุกยางปิดเปิดถังน้ำ (Fill Cap) อยู่ที่มุม และ ที่ปล่อยน้ำลงผ้าม็อบถูพื้น (Wick Cap) อยู่ตรงกลาง

ก่อนการใช้งาน คุณจะต้องเอา ที่ติดผ้าม็อบถูเปียกพร้อมถังน้ำขนาดเล็ก ไปเติมน้ำให้เต็มถังเสียก่อน แล้วหลังจากนั้น จึงค่อยเอา ผ้าม็อบถูเปียก ติดทับเข้าไป เหมือน การติดตั้งอุปกรณ์ของการถูแห้ง เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมใช้งาน ในลำดับต่อไป

และ เมื่อติดตั้งทุกอย่างเสร็จ เรียบร้อยแล้ว เช่นเคย คุณสามารถกดปุ่มเปิดเครื่อง ตามด้วย ปุ่มเปิดโหมดถูเปียก (Mop Mode) ที่ปุ่มมีลักษณะเป็นรูปหยดน้ำ เพื่อเริ่มการทำความสะอาดได้เลย ในลำดับต่อไป

โหมดถูแห้ง (Sweep Mode) vs โหมดถูเปียก (Mop Mode)

ปกติแล้ว ถ้าเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น จะมีโหมดการทำงานต่างๆ ให้เลือกใช้งานมากมาย แต่สำหรับ เครื่องนี้แล้ว มันจะมีโหมดการทำงานให้เลือกง่ายๆ แค่ 2 โหมด นั่นคือ โหมดถูแห้ง (Sweep Mode) และ โหมดถูเปียก (Mop Mode) โดยส่วนนี้จะมาอธิบายในรายละเอียดให้ทราบว่า การทำงานของมันแตกต่างกันอย่างไร

การทำงาน โหมดถูแห้ง

หากกดที่ปุ่มของโหมดถูแห้ง ตัวเครื่อง หุ่นยนต์ถูพื้น จะวิ่งตรงไปข้างหน้าเป็นทางตรง และเมื่อสุดถึงกำแพงห้อง ก็จะวกหัวกลับดูในพื้นที่ต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ซ้ำพื้นที่เดิม (ดูรูปประกอบด้านล่าง)

Squarebot Sweep Mode Working
การทำงานของ โหมดถูแห้ง (Sweep Mode) ของ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

หมายเหตุ : โหมดนี้เหมาะสำหรับการรักษาความสะอาดห้องทั่วไป ต้องการกวาดฝุ่น เส้นผม ต่างๆ ทุกวัน ใช้ในกรณีที่ห้องไม่มีคราบต่างๆ ฝังพื้น

การทำงาน โหมดถูเปียก

โหมดถูเปียก ก็จะต้องใช้อุปกรณ์แยกอีกชุดหนึ่ง ทั้งตัวผ้าและที่ติดตัวผ้า โหมดนี้จะทำงานแบบเดินหน้าและถอยหลังสลับคู่กันไป โดยเวลามันเดินหน้า จะมีวิ่งแฉกไปทางซ้ายที ทางขวาที เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เหมือนกับที่คนถูพื้นจริงๆ (ดูรูปประกอบด้านล่าง)

Squarebot Mop Mode Working
การทำงานของ โหมดถูเปียก (Mop Mode) ของ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

หมายเหตุ : โหมดนี้เหมาะสำหรับการทำความสะอาดพื้นห้อง ที่มีความสกปรก มีคราบ รอยเปื้อน (Grime) ฝังอยู่บนพื้น ก็จะสะอาดกว่า

10 คำถาม หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot ที่ทุกคนอยากรู้

มาถึงส่วนสุดท้ายของการรีวิว หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot กันแล้วว่า มีส่วนไหนที่น่าสนใจบ้าง โดยคำถามเหล่านี้ มีบางส่วนที่คนอื่นเห็นผมใช้ก็ถามมา และ ก็มีบางส่วนที่ผมตั้งเองตอบเอง (เต็มป่าวเนี๊ย 55) มาดูกันเลยครับ

1. วิ่งตกบันไดหรือไม่ ?

หุ่นยนต์ถูพื้น ตัวนี้ ก็มีลักษณะ หลักการทำงาน เหมือนกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ทั่วๆ ไป ที่ใช้งานกันอยู่ นั่นคือ มันมีเซ็นเซอร์ ที่ใช้ในการตรวจจับพื้นที่ต่างระดับอยู่รอบๆ ตัว พร้อมกับ การสั่งงานจาก กล่องลูกบาศก์นำทาง (GPS Navigation Cube) (ถ้าคุณเปิดใช้งานด้วย) ดังนั้นไม่มีทางวิ่งตกบันไดอย่างแน่นอน

2. สามารถวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับได้หรือไม่ ?

คำตอบคือ “ไม่ได้” หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot ไม่ได้ถูกออกแบบให้วิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับ หรือ ธรณีประตู (Doorsill) ได้เหมือนกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่ทางผู้ผลิตมักชอบเคลมว่าวิ่งผ่านได้สูงระดับเท่านี้เท่านั้น

แต่สำหรับ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot นั้น จะวิ่งทำความสะอาดได้ในเฉพาะพื้นที่เรียบเท่านั้น และ ไม่สามารถวิ่งข้ามขึ้นไปถูทำความสะอาดบนพรม ได้

เพราะถึงแม้จะปีนขึ้นไปวิ่งถูบนพรมได้ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะนอกจากจะไม่ได้ทำให้พรมสะอาดขึ้นแล้ว ยังทำให้พรมเปียกอับชื้น และ เหม็นอับ อีกด้วย หากเป็นการถูในโหมดถูเปียก ดังนั้น ผมว่าเป็นแบบนี้แหละดีแล้ว

Squarebot and Doorsill
หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot และ ธรณีประตู (Doorsill) จะไม่สามารถวิ่งผ่านเส้นสีแดงไปได้

3. จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกบาศก์นำทาง เชื่อมต่อกับ Squarebot  หรือไม่ ?

หากคุณเปิดเครื่อง แล้ว และถ้าวาง กล่องลูกบาศก์นำทาง  (GPS Navigation Cube) ไว้ใกล้ๆ ในรัศมีการเชื่อมต่อของมัน ตัว กล่องลูกบาศก์นำทาง จะทำการเปิดเองอัตโนมัติ สังเกตได้ว่าจะมีไฟสีฟ้าแสดงขึ้นมาที่ตัวกล่องลูกบาศก์นำทาง (พอมันเปิดแล้ว ผมลองกดปิดดู เดี๋ยวมันก็เปิดขึ้นมาใหม่อีก) นั่นหมายความว่า ระบบได้ทำการเชื่อมต่อ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ระหว่าง 2 อุปกรณ์ นั่นเอง

Squarebot GPS Navigation Cube Working Together
ขณะ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot ทำงานร่วมกับ ลูกบาศก์นำทาง Navigation Cube

นอกจากนี้แล้วที่ตัวเครื่อง หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot ก็จะมีไฟแสดงสถานะการเชื่อมต่อกับตัว กล่องลูกบาศก์นำทาง อีกด้วยเช่นกัน ในลักษณะของไฟสีน้ำเงิน 1 ดวง กระพริบๆ ที่หน้าเครื่องเมื่อตรวจจับได้ และ ไฟสีน้ำเงินกระพริบค้าง เมื่ออยู่ในสถานะที่ล็อค และไฟดับไปในกรณีที่ ไม่สามารถตรวจจับได้

4. ขณะที่เครื่องทำงาน เสียงดังมากไม่ ?

Squarebot Soundtest
ระดับเสียง ประมาณ 51 เดซิเบล วัดโดย แอพ LINE Tools ของ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

เสียง ไม่ดังเลย ถือว่าเป็นการทำงานที่ค่อนข้างจะเงียบที่สุด อยู่ที่ประมาณ 51 เดซิเบล (dB.) เพราะในตัวเครื่องไม่มีระบบการดูด ที่ต้องใช้พลังลมเลยแม้แต่น้อย เพียงแต่มีระบบขับเคลื่อนตัวเครื่อง ให้เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยงซ้าย เลี้ยงขวา ไปยังทิศทางที่ต้องการได้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองเสียงจึงเงียบมากๆ เรียกได้ว่า ไม่ได้ยินเลยก็ว่าได้

5. เมื่อเครื่องทำงานเสร็จสิ้น จะเป็นอย่างไรต่อไป ?

โดยปกติแล้ว จะมี 2 สาเหตุ ที่ทำให้เครื่องหุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot หยุดการทำงาน ได้แก่

  1. ทำความสะอาดเสร็จทั่วทั้งบริเวณห้อง
  2. แบตเตอรี่ใกล้จะหมด

ลักษณะการทำงานของมันคือ มันจะส่งสัญญาณเสียงเพลงบี๊บๆ สั้นๆ และจะวิ่งกลับไปยังตำแหน่งที่ ที่มันเริ่มต้นทำงาน (ตรงจุดที่คุณกดปุ่มสั่งมันเริ่มทำงาน)

6. หลังการใช้งาน สภาพผ้าม็อบเป็นอย่างไร ?

และเนื่องจากว่า ห้องพักที่คอนโดมิเนียมของผมนั้น มีหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ช่วยทำความสะอาด อยู่เป็นประจำทุกวัน วันละ 2 เวลา ช่วงสายๆ กับ ช่วงเย็นๆ (เพราะมี 2 เครื่อง) ทำให้การถูพื้นแต่ละครั้ง ผ้าม็อบถูเปียก ยังสกปรกแบบไม่ถึงพริกถึงขิงเท่าไหร่

Squarebot Cleaning
ขณะที่ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot กำลังปฏิบัติการ ถูพื้น ใน โหมดถูเปียก (Mop Mode)

ด้วยเหตุนี้เอง เพื่อให้ได้อรรถรสในการชมรีวิว ผมจึงนำเอาเครื่องนี้ไปถูในห้องพระ ที่บ้านของแฟนผมเอง ที่มีที่อยู่ อยู่ติดริมถนน ที่มีรถใหญ่ รถบรรทุก วิ่งกันอย่างพลุกพล่านในแต่ละวัน

การถูพื้นห้องทำความสะอาดครั้งแรก (แต่ปกติทุกวันจะใช้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Neato Botvac ดูดเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว) ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง สำหรับห้องขนาดประมาณ 35 ตารางเมตร ผลลัพธ์จึงได้ออกมาประมาณนี้ มาดูกันเลย

Squarebot Wet Cloth After Used
ผ้าม็อบถูเปียก Wet Cloth หลังถูพื้น ในห้องพระเสร็จสิ้น ของ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

และหลังการทำความสะอาด ซักผ้าเสร็จ ความสะอาดก็คืนกลับมาสู่ผ้าม็อบถูเปียกเหมือนเดิม ซึ่งจะสังเกตได้ว่าคราบสกปรก คราบดำ ต่างๆ นั้นหายไปหมดแล้ว

Squarebot Wet Cloth After Washed
ผ้าม็อบถูเปียก Wet Cloth ซักเสร็จ ของ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

7. มีการบำรุงรักษาเครื่องอย่างไรบ้าง ?

การบำรุงรักษาเครื่องตัวนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีงามมากๆ เพราะมันไม่มีแปรงกวาด (Brush) และ ระบบดูดอากาศ ใดๆ รวมไปถึง ไม่มีกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) มาให้ทำความสะอาด มีแต่ผ้าม็อบ เท่านั้น ที่จะต้องถอดเอาไปซัก ในแต่ละวัน ง่ายมากๆ

ซึ่งการซักผ้าม็อบถูพื้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งแบบ ผ้าม็อบถูแห้ง และ ผ้าม็อบถูเปียก ต่างก็สามารถนำไปซักในกาละมัง ถังพลาสติก หรือ อ่างน้ำ ด้วยน้ำสะอาด ได้เหมือนกัน (เหมือนกับการซักผ้าทั่วๆ ไป) แต่แนะนำว่าควรซัก และ ทำความสะอาดทุกวัน

8. วิ่งชนเฟอร์นิเจอร์ หรือ สิ่งกีดขวางบ้างหรือไม่ ?

มีแน่นอน แต่ เป็นการชนที่เบามากๆ แทบไม่รู้สึกเลย เพราะมีกันชน (Bumper) พร้อมขอบยาง อยู่ด้านหน้า ที่ค่อนข้างจะให้ตัวยืดหยุ่นได้มาก

ดังนั้นผู้ใช้งาน ไม่ต้องกังวลเลย เรื่องที่จะเกิดความเสียหายระหว่างตัวเครื่อง หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot กับ เฟอร์นิเจอร์ และ ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน

9. ใส่ผ้าม็อบถูเปียก แต่เปิดโหมดถูแห้ง หรือ ใส่ผ้าม็อบถูแห้ง แต่เปิด โหมดถูเปียก ได้หรือไม่ ?

ได้ ! มันก็สามารถทำงานได้ของมัน แต่ลักษณะการวิ่งถู วิ่งทำความสะอาด จะแตกต่างกันออกไป ตามที่ได้อธิบายเอาไว้ข้างต้น

บทสรุปการใช้งาน หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot

ก่อนจากกัน ก็มาถึงช่วงบทสรุปการใช้งาน ว่าใช้แล้วเป็นอย่างไร ข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไรบ้าง มาดูกันเลย

ข้อดี 🙂

  • ไม่ใช่ของเล่น ! แต่มันสามารถช่วยงานถูพื้นบ้านของคุณได้อย่างสะอาดหมดจดจริงๆ
  • การทำงานของเครื่องค่อนข้างฉลาด วิ่งไปวิ่งมา ซอกแซก ได้ครบทั่วทุกบริเวณห้อง (ที่มันสามารถเข้าไปได้จริงๆ)
  • การปล่อยน้ำออกมาในผ้าม็อบ สำหรับการถูในโหมดเปียก (Mop Mode) สามารถทำได้อย่างพอดี ไม่มากจนพื้นแฉะ และ ไม่น้อยจนแห้งเกินไป ทำให้การดูดเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ตัวเครื่องมีน้ำหนักเบา ไม่ถึง 2 กิโลกรัม พกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก
  • แบตเตอรี่มีความอึดสูง เพราะมีขนาดความจุ 2,500 mAh ระยะเวลาชาร์จไฟประมาณ 2 ชั่วโมง และสามารถใช้งานต่อเนื่องได้นาน
    • 4.0 ชั่วโมง สำหรับโหมดถูแห้ง
    • 2.5 ชั่วโมง สำหรับโหมดถูกเปียก
  • ขณะเครื่องทำงานเสียงเงียบมากๆ จากที่ลองใช้แอพพลิเคชั่น LINE Tools ลองวัดดู ระดับเสียงอยู่ที่ประมาณ 50 เดซิเบล (dB.) เท่านั้น
  • เครื่องทำงานเบามากๆ เวลาชนกับสิ่งกีดขวางก็เบามากๆ เช่นกัน ดังนั้นโอกาสการเกิดความเสียหายขณะใช้งาน ระหว่างตัวเครื่อง กับ เฟอร์นิเจอร์ แทบเป็น 0 เลยทีเดียว
  • มีโหมดการทำงานอยู่ 2 โหมดหลักๆ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานจริง ในชีวิตประจำวัน ได้แก่
    • โหมดถูแห้ง (Sweep Mode)
    • โหมดถูเปียก (Mop Mode)
  • คู่มือการใช้งานเครื่อง มีบอกวิธีการใช้งานอย่างละเอียด รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ที่อาจจะเกิดขึ้น
  • อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ มีไฟขึ้นแจ้งว่ามีไฟเข้าที่อะแดปเตอร์ด้วยหรือเปล่า
  • ราคาถูก ประมาณเครื่องละไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท

ข้อเสีย 🙁

  • ไม่มีแท่นชาร์จ (Charge Base) ให้ตัวเครื่องวิ่งกลับไปชาร์จอัตโนมัติ ทำให้ต้องยกเครื่องกลับไปชาร์จกับอะแดปเตอร์ ทุกครั้ง
  • ไม่สามารถตั้งเวลาในการทำความสะอาด (Cleaning Schedule) ให้มันทำความสะอาดเป็นกิจวัตรประจำวัน ได้ ทุกวันต้องออกมาตั้งเครื่อง เปิดเครื่อง เพื่อให้มันทำความสะอาดเอง
  • ไม่มีรีโมทคอนโทรล (Remote Control) ดังนั้น จึงไม่สามารถสั่งงานเครื่องจากระยะไกล หรือ สั่งควบคุมไปในทิศทางที่ต้องการได้

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับ หุ่นยนต์ถูพื้น Squarebot ตัวนี้ ซึ่งถือว่าเป็น หุ่นยนต์ถูพื้น ด้วยผ้าม็อบล้วนๆ ตัวแรก ที่ผมได้มีโอกาสนำเอามารีวิวด้วยตัวเองสักที

เพราะที่ผ่านมาจะได้รีวิว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่มีคุณสมบัติถูพื้นได้ เพราะมีผ้าม็อบถูพื้นติดอยู่ด้านท้ายเครื่อง แต่ขอบอกได้เลยว่าถ้าต้องการให้ถูพื้นแบบมีประสิทธิภาพจริงๆ ต้องแนะนำให้ใช้ หุ่นยนต์ถูพื้น (Floor Mopping Robot) โดยเฉพาะจะดีกว่า เพราะมันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้จริงๆ

7 ความคิดเห็น

  1. อยากให้ช่วยรีวิว Braava ทั้งสองตัวด้วยค่ะ ตอนนี้กำลังมองหุ่นยนต์ถูบ้านอยู่ค่ะ ขอบคุณค่ะ

  2. ขอบคุณ @thanop ที่แนะนำและรายงานผลการทดสอบหุ่นถูพื้นตัวนี้ ผมนำมาใช้คู่กับ Roomba 980 แล้ว บ้านสะอาดมากที่สุด ลดภาระแม่บ้านได้ยอดเยี่ยม ผมมีข้อสังเกตจากการใช้ที่ปรากฏดังนี้ เมื่อนำหุ่นไปถูในห้องเล็กๆ ขณะที่มีเครื่องออกกำลังกายแบบกึ่งวงกลมและใช้ไฟฟ้ากำลังทำงาน (ซึ่งข้างในมีแม่เหล็ก) หุ่นจะทำงานแบบงงๆ สับสนและหยุดการทำงาน แต่เมื่อไม่ได้ใช้หรือปิดเครื่องออกกำลังกาย หุ่นก็ยังทำงานปกติดีมาก ซึ่งน่าจะตรงกับคำแนะนำในคู่มือหน้า 23 General Troubleshooting ข้อ 1 อีกประการหนึ่งผมคิดว่ามันคือหุ่นตัวเดียวกับหุ่น Braava แน่ๆ แต่ราคาถูกกว่ามาก เพราะในคู่มือหน้า 21 ผู้ผลิตปล่อยหลุดคำว่า “Braava” แทนคำว่า “Mopping Robot”

    • ขอบคุณมากๆ นะครับคุณเศรษฐรัช ผมเองก็ใช้ตัว Squarebot ที่บ้านอยู่ทุกวันครับ ใช้มาเกือบครบปีแล้วครับ ผมเจอปัญหาล้อหลุด แต่ก็เอาไปให้ทาง บริษัท AUTOBOT เขาซ่อมมาให้ ก็ไม่มีปัญหาอะไรต่อนะครับ

  3. สำหรับการถูเปียก ใช้นำยาถูพื้นผสมได้หรือเปล่าคะ

    • ลักษณะผ้าถู เหมือนของ irobot ใช้แทนกันได้หรือเปล่า

      • ดูแล้วทำงานเหมือนของ irobot เป๊ะ แม้แต่เสียงสัญญาณเริ่มทำงาน หยุดทำงาน ลักษณะการเดิน โหมดถูแห้ง โหมดถูเปียก เปลี่ยนแค่หน้าตานิดหน่อย
        ราคาถูกกว่า เพราะผลิตจากจีน?
        คุณภาพและความทนทานเหมือนหรือเปล่าคะ? ของ irobot กล่องใส่น้ำถูเปียก ผสมน้ำยาถูพื้นเข้าไป พังไปแล้วค่ะ ใช้ไม่ถึง 5 เดือน กรอบ แตก รั่ว พัง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้