แอร์พกพา Evapolar

Evapolar Featured Image

บทความรีวิวนี้มาแปลกนิดนึง แต่ยังคงอยู่ในหัวข้อ เครื่องใช้ไฟฟ้า ในบ้านโดยชิ้นนี้เป็น อุปกรณ์ที่ช่วยให้ความเป็นอยู่ภายในบ้าน ของคุณดีขึ้น สบายขึ้น ด้วยการเพิ่มความเย็น ชุ่มชื้น ภายในห้องของเรานั่นเอง โดยเป็นการ รีวิวเครื่องปรับอากาศเคลื่อนที่ หรือ แอร์พกพา (ผมชอบเรียกว่า “แอร์กระป๋อง”) ที่มีชื่อว่า “Evapolar” อ่านภาษาไทยว่า “อีวาโปล่า” ผลผลิตนวัตกรรมสุดล้ำ จากทีมงานจากทวีปยุโรป มารวมตัวกัน และ จดทะเบียน อย่าง ไซปรัส (Cyprus) นั่นเอง ซึ่งถือว่าเหมาะกับ ประเทศไทย ที่เป็นเมืองร้อนอย่างเรามากๆ เลยทีเดียว

แอร์พกพา Evapolar นั้นจัดเป็น เครื่องปรับอากาศเคลื่อนที่ ขนาดจิ๋ว ที่มีความสามารถในการทำความเย็น เทียบเท่าเครื่องปรับอากาศ ขนาด 1,200 BTU (เมื่อเปิดพัดลมในระดับความแรงสูงสุด) เลยทีเดียว แต่ประหยัดไฟมากๆ แถมยังจ่ายไฟผ่านพอร์ต USB สะดวกสะบาย เพราะสามารถใช้ไฟจากแบตเตอรี่สำรอง ไฟในรถยนต์ได้สบายๆ เรียกได้ว่า ขนย้าย หรือ ยกไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกมากๆ เลยทีเดียว

นอกจากนี้แล้ว มันยังมีคุณสมบัติ และ ความสามารถหลักๆ อยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ มันเป็นทั้ง

  1. เครื่องปรับอากาศ
  2. เครื่องฟอกอากาศ
  3. เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ

ในตัวเดียวกัน แถมยังมีความปลอดภัยสูง และปราศจากสารเคมีใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการทำความเย็น อาทิ สารทำความเย็นประเภท HFC (หรือที่เรารู้จักกันในนามสารฟรีออน – Freon) ที่สารเหล่านี้ หากเกิดการรั่วซึมแล้วจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์

นอกจากนี้แล้ว มันยังจัดเป็น เฟอร์นิเจอร์ ตั้งโต๊ะ เอาไว้ประดับบ้าน หรือ ออฟฟิศสำนักงานชั้นดี บ่งบอกไลฟ์สไตล์อันทันสมัย และ ความเป็นตัวคุณได้อีกด้วยเช่นกัน มันสามารถปรับเลือกสี ที่แสดงอยู่บนตัวเครื่องได้ มากถึง 8 สี 8 สไตล์ ด้วยกันเลยทีเดียว และ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ก่อนที่จะเริ่มอ่านรีวิวนี้ ผมก็ได้ทำเมนูลัด มาให้ทุกท่าน ได้สามารถกระโดดข้ามไปอ่านเนื้อหาในหัวข้อที่ต้องการได้ อย่างรวดเร็ว มาดูกันเลย

  1. รู้จักกับ แอร์พกพา Evapolar กันก่อน
  2. แกะกล่องผลิตภัณฑ์ ดูทั้งด้านนอก และ ด้านใน
  3. ข้อมูลจำเพาะ ข้อมูลทางเทคนิค ของเครื่อง
  4. คุณสมบัติหลัก และ ความสามารถต่างๆ ในเมนูของเครื่อง
  5. สำรวจ ส่วนประกอบต่างๆ รอบๆ ตัวเครื่อง
  6. รู้จักกับ กล่องทำความเย็นแบบระเหย (Evaporative Cartridge)
  7. การเปิดใช้งาน เครื่องจริงๆ
  8. คำถามที่อยากรู้ เกี่ยวกับการใช้งาน
  9. บทสรุปการใช้งานของเครื่อง ที่ใช้งานมาแล้วสักระยะ

และก่อนที่จะไปเริ่มอ่านรีวิวกัน ผมก็ได้มีการทำคลิปวีดีโอรีวิว ออกมาให้รับชมกันก่อน หากดูแล้วไม่เข้าใจตรงไหน ในรีวิวนี้ผมมี ข้อมูลเตรียมพร้อมเอาไว้ให้แบบจัดเต็มเลยทีเดียวครับ ไปรับชมกันเลย

รู้จักกับ แอร์พกพา Evapolar กันก่อน

Evapolar Real on the Table
ขณะวาง แอร์พกพา Evapolar บนโต๊ะ

โดยที่มาที่ไปของชื่อ “Evapolar” นั้น มาจาก คำว่า “Evaporation (อีวาโปเรชัน)” มันเป็นกระบวนการการระเหยของน้ำ นั่นเอง นั่นหมายความว่า แอร์พกพา Evapolar ตัวนี้ เขาใช้หลักการ การระเหยของน้ำ จาก ถังเก็บน้ำ ที่มีอยู่ในตัวเครื่อง ผ่านตัวกลางที่ผลิตจากวัสดุนาโน เพื่อใช้ในการ สร้างความเย็น ให้เกิดขึ้นในห้องของเรานั่นเอง แน่นอนว่า วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ว่าส่วนใหญ่ ตัวเครื่องของแอร์พกพา จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แบบตั้งพื้นเลยทีเดียว เวลาจะขนย้าย หรือยกไปไหนมาไหน จะค่อนข้างลำบาก แต่ว่าตัวนี้ทางผู้ผลิต เขาได้ออกแบบดีไซน์ให้มันมีขนาดเล็ก ชนิดที่เรียกว่าสามารถวางบนโต๊ะทำงานได้เลยทีเดียว

แอร์พกพา Evapolar ตัวนี้ จัดเป็นโปรเจค ที่ได้ถูกเริ่มทำการค้นคว้าวิจัยและพัฒนา (Research & Development) มาตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2013 แล้ว ซึ่ง กว่าจะทำตัว ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Prototype) เสร็จออกมาได้ ก็ต้องมีการ ทดสอบแล้วทดสอบอีก จนกว่าจะเป็นที่น่าพอใจ และ ผ่านการรับรองมาตรฐานต่างๆ จนเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตสินค้าจริง ก็กินเวลาอยู่กว่า 3 ปีเห็นจะได้ สุดท้าย ก็ได้ฤกษ์งามยามดี เปิดขายสู่สาธารณะชนเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2016 ที่ผ่านมานั่นเอง

และนอกจากนี้แล้ว Evapolar ยังเป็นหนึ่งใน โปรเจคระดมทุนจากผู้ที่สนใจเข้าร่วมลงทุนทั่วไป  (Crowdfunding) ผ่านทาง เว็บไซต์ระดมทุนออนไลน์ รายใหญ่ของโลก อย่าง Indiegogo.com อีกด้วยและ ตั้งแต่เริ่มโปรเจคมา ก็ได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย และล่าสุด (ช่วงเดือน สิงหาคม ค.ศ.2016) โปรเจค Evapolar นี้ได้เงินเข้ามาในโปรเจคแล้วมากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (USD) แล้วเช่นกัน ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

ด้านล่าง เป็นคลิปวีดีโอ ที่แนะนำตัวผลิตภัณฑ์ จากผู้ผลิตเอง สละเวลาสักครู่เดียว เพื่อความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์ ที่ง่ายขึ้น

แกะกล่อง แอร์พกพา Evapolar

Evapolar with Box
แอร์พกพา Evapolar กับ กล่องของมันเอง

ด้านนอกกล่อง

ขอบอกว่าเมื่อเห็นเจ้า กล่องผลิตภัณฑ์ ของ แอร์พกพา Evapolar ตัวนี้ จากความรู้สึกส่วนตัวคือ มันดูซิมเปิ้ล พื้นๆ เอามากๆ ตัวกล่องไม่ได้มีลวดลายอะไรมากมาย เป็นแค่สีน้ำตาลกล่องกระดาษธรรมดา เท่านั้น แต่มีข้อมูลรอบๆ ด้าน มากอยู่พอสมควร เพื่อไม่ให้เสียเวลา มาเริ่มกันเลยดีกว่า

ตัวเครื่องนั้น มาพร้อมกับ กล่องทรงลูกบาศก์ ที่ด้านหน้ากล่อง ส่วนบนเป็นยี่ห้อของมันนั่นคือ “Evapolar” พร้อมกับ “Your Perfect Local Microclimate” และตรงกลาง จะเป็น ภาพวาดลายเส้น ของตัวเครื่องเอง

เขียนคำจำกัดความด้านล่างว่า “Personal Air Cooler” และคำขยายความว่า “Most Efficient Cooling Technology, Powerful and Compact” อ๋อ ! และที่สำคัญ เขาเขียนตัวเลข “10W” ไว้ที่มุมขวาบนด้านหน้ากล่อง นั่นหมายถึงการกินไฟเพียงแค่ 10 วัตต์ (Watts) นั่นเอง ประหยัดไฟเทียบเท่า หลอดประหยัดไฟแบบตะเกียบ ที่เราใช้ๆ กันตามบ้านกันเลยทีเดียว และ ในขณะที่ ด้านหลังกล่อง ก็มีข้อความเล็กน้อย สรุปใจความมาได้ประมาณว่า

Evapolar จะทำให้คุณได้มี ความสุข และ ผ่อนคลาย กับงานที่ทำ หรือ การพักผ่อน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในทุกๆ ที่ ที่คุณต้องการ

ด้านซ้ายของกล่อง จะเป็นการอธิบาย มิชชั่น หรือ จุดยืน ของการผลิต แอร์พกพา ประมาณว่ากระบวนการผลิต ไปจนถึงการใช้งานนั้น จะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmentally Friendly) นอกจากนี้แล้ว เขายังไม่ใช้สารทำความเย็นชนิด HFC หรือ ที่พวกเราอาจจะได้ยินว่า สารฟรีออน (Freon) ซึ่งปกติแล้วสารชนิดนี้ หากมันอยู่ในที่ของมัน ก็คงไม่ได้เกิด หรือ สร้างอันตรายอะไรใดๆ แต่ถ้าเกิดมันรั่วออกมาสู่อากาศ บรรยากาศภายนอก เมื่อไหร่ละก็ จะเกิดปัญหาขึ้นแน่ๆ

โดยวัสดุที่ใช้ผลิตเครื่อง Evapolar นี้สามารถที่จะนำมา ทำการรีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และ ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมใดๆ แถมมีการปรับปรุง ส่วนประกอบของตัวเครื่อง ไม่ให้เป็นตัวก่อให้เกิดแบคทีเรียใดๆ เช่นกัน วางใจได้เลย

และ ด้านขวาของกล่อง เป็นการบอกคุณสมบัติหลัก 3 ประการ ของมัน (รายละเอียดคุณสมบัติ แอร์พกพา Evapolar อธิบายด้านล่าง)

แกะกล่องออกมา ยังมีกระดาษข้อความของ นาย Eugene Dubovoi ผู้เป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Evapolar เขียนกล่าวทักทาย กับลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปอีกด้วย

Evapolar Box Message from CEO
กระดาษข้อความ จาก นาย Eugene Dubovoi ทางผู้บริหาร CEO ของ บริษัท Evapolar

ด้านในกล่อง

มาดูอุปกรณ์ที่ให้มา ด้านในกล่อง กันดูบ้าง ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรเยอะแยะมากมาย และ ซับซ้อน มากนัก ดังนั้นผมจึงไม่ได้เขียนหมายเลขกำกับเอาไว้ เหมือนที่เคยๆ ทำมา ในรีวิวก่อน มาดูกันเลย

Evapolar Component
ส่วนประกอบ อุปกรณ์ ทั้งหมด ที่ให้มาในเครื่อง แอร์พกพา Evapolar

จากรูปภาพด้านบน ขอเรียงลำดับ แจกแจง สิ่งของที่อยู่ในรูปด้านบนนี้กันในรูปแบบ บนลงล่าง ↓ และ ซ้ายไปขวา → ตามลำดับเลย นะครับ

  1. Evapolar (ตัวเครื่องแอร์พกพา)
  2. USB Power Cable (สายไฟแบบ USB ความยาวประมาณ 1.5 เมตร)
  3. AC Adapter (อะแดปเตอร์แปลงไฟบ้าน เข้าตัวเครื่อง ถ้ามีพอร์ต USB อื่น ที่จ่ายไฟได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวนี้ก็ได้)
  4. Product Guide (คู่มือการใช้งาน อย่างละเอียด พร้อมวิธีดูแลรักษา และ วิธีแก้ไขปัญหาเบื้องต้น)
  5. Quick Start Guide (คู่มือเริ่มต้นการใช้งานอย่างรวดเร็ว ด้านในมีแต่รูปอธิบาย)
  6. Product Package (กล่องผลิตภัณฑ์)
  7. Message from CEO (ข้อความทักทายจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Evapolar)

ข้อมูลจำเพาะ ข้อมูลทางเทคนิค ของ แอร์พกพา Evapolar

ก่อนที่จะไปกันต่อ ในส่วนของรายละเอียด และ ความสามารถหลัก ของตัวเครื่อง หลายคนอาจจะสงสัยว่าเจ้าเครื่องนี้ มันมีขนาดเท่าไหร่ กินไฟมั้ย เสียงดังหรือเปล่า มีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน มาดูกันที่ตารางสเปคของเครื่องนี้ที่ด้านล่างได้เลย

รายละเอียด
(Specification)
ขนาดมิติ
(Dimension)
170 x 170 x 174 มม.
น้ำหนักขณะไม่ได้ใส่น้ำ
(Weight without Water)
1.3 กิโลกรัม (KG.) หรือ 1,300 กรัม (g)
อัตราการกินไฟ
(Power Consumption)
10 วัตต์ (Watts)
5 โวลต์ (Volts)
2 แอมป์ (Amps)
ความสามารถการทำความเย็น
(Cooling Power)
100 ถึง 350 วัตต์ (Watts) หรือเทียบเท่า
350 ถึง 1,200 BTU
พื้นที่ทำความเย็นที่รองรับ
(Recommended Cooling Square)
3 ถึง 4 ตารางเมตร (m2)
ระดับเสียง
(Noise Level)
28 ถึง 40 dB. (เดซิเบล)
(ขึ้นอยู่กับการระดับความแรงของพัดลม)
ขนาดความจุถังเก็บน้ำ
(Reservoir or Water Tank Capacity)
0.75 ลิตร (750 mL)
สภาพแวดล้อมที่ทำงานได้ดี
(Working Condition)
Humidity (ความชื้นสัมพันธ์) < 70%
Temperature (อุณหภูมิ) > 18C
Evapolar with Power Bank and Voltmeter
ใช้เครื่องวัดไฟ (Voltmeter) วัด Evapolar ดูได้ 5 โวลต์ (Volts) ตรงตามสเปคของผู้ผลิต เป๊ะๆ

คุณสมบัติหลัก และ ความสามารถต่างๆ ในเมนูของเครื่อง

Evapolar with Box
แอร์พกพา Evapolar กับ กล่องของมันเอง

มาดูกันที่ส่วนของ คุณสมบัติ และ ความสามารถ ของ แอร์พกพา Evapolar ตัวนี้กันดูบ้างว่า เห็นตัวเล็กๆ กล่องจิ๋วๆ แบบนี้ มันมีความสามารถหลักอะไร ที่ทำกันได้บ้าง เมื่ออ่านแล้วคุณจะรู้สึกว่ามัน “เล็กพริกขี้หนู” จริงๆ โดยก่อนจะกล่าวถึงคุณสมบัติของมัน ของพูดถึงหลักการ การทำงานของมันสักเล็กน้อย

คุณสมบัติหลัก

หลักการ การทำงานของมันคือ ด้านในเครื่อง มันจะมีสิ่งที่เรียกว่า กล่องทำความเย็นแบบระเหย (Evaporative Cartridge) ใหญ่ๆ อยู่ด้านใน รูปร่างหน้าตามันจะมีลักษณะเป็นซี่ๆ โดย หน้าที่หลักของมันคือ มีพัดลมขนาดใหญ่เป่า เพื่อให้อากาศวิ่งผ่านเข้ามา เพื่อผสมกับน้ำที่ระเหยเข้ามาจากในถังเก็บน้ำ เพื่อแปลง ออกมาเป็นความเย็น นั่นเอง ผลลัพธ์คือ ความสามารถหลักของมัน เลยเป็นทั้ง 3 อย่างเลยคือ

  1. Air Cooler (เครื่องปรับอากาศ) : หรือ เครื่องทำความเย็น นี่คือ วัตถุประสงค์หลักของมันเลย นั่นก็คือการทำความเย็นนั่นเอง มันมีความสามารถในการทำความเย็น ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในธรรมชาติ จริงๆ ซึ่งไม่เหมือนเครื่องปรับอากาศ ทั่วๆ ไป ที่ทำความเย็นก็จริง แต่อากาศจะแห้ง และ ทำให้เป็นหวัดได้
  2. Air Purifier (เครื่องฟอกอากาศ) : ชุด กล่องทำความเย็น มันมีลักษณะเป็นซี่ๆ ถี่ๆ ในตัวมันเองอยู่แล้ว จึงทำให้ มันมีความสามารถในการช่วยกรองอากาศ ฟอกอากาศ ไปในตัวด้วย แต่ว่า มันอาจจะได้แค่ช่วย กรองฝุ่นละออง ที่มีขนาดใหญ่ (Large Particles) เท่านั้น ขนาดเล็ก ถึงเล็กมากๆ อาจะไม่สามารถทำได้ เหมือนพวก แผ่นกรองอากาศ HEPA ตามเครื่องฟอกอากาศจริงๆ ได้
  3. Air Humidifier (เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ) : ที่มันเป็นเครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศได้ ด้วยก็เหตุผลเดียวกันกับข้อ 2 คือด้วยความที่มันเอาน้ำจากในถังเก็บน้ำ มาใช้ทำความเย็นในอากาศ จึงได้เรื่องของการเพิ่มความชื้นในอากาศ เข้าไปด้วยในตัว ส่งผลให้ ผิวหนังและเส้นผมไม่แห้ง ขณะอยู่ในห้องของคุณ

ความสามารถทั่วไป

  1. Easy to Use (ใช้งานง่าย) : การใช้งานง่ายมากๆ เพียง แกะกล่อง เติมน้ำลงในถังเก็บน้ำ และ เสียบปลั๊ก ก็ใช้งานได้เลย การเลือกเมนู ฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ก็ง่ายมากๆ เพียงแค่หมุนวงล้อเลือกค่า กลมๆ เพื่อเลือกเมนู แล้วกดปุ่มบน หน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส ตรงกลาง เพื่อตกลง
  2. No Catching Cold (ลดโอกาส การเป็นไข้) : ด้วยอากาศที่ถูกปล่อยออกมา เป็นอากาศที่เย็นพร้อมชุ่มชื้น เป็นธรรมชาติ ไม่ใช้เป็นอากาศที่แค่เย็นอย่างเดียว
  3. Made from Evaporative Nanomaterial (ทำจากวัสดุนาโน)  : ส่วนประกอบของวัสดุใน กล่องทำความเย็นแบบระเหย ทำมาจาก วัสดุระเหยแบบนาโน (Evaporative Nanomaterial) จัดเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีส่วนผสมของ บะซอลต์ไฟเบอร์ (Basalt Fibers) ที่มีความสามารถในการดูดซับ และ ดูดซึม น้ำที่ดี
  4. Make Personal Climate Healthly (อากาศไม่แห้ง) : อากาศที่ออกมาจากเครื่อง แอร์พกพา Evapolar จะมีความชุ่มชื้น ไม่ทำให้ผิวและเส้นผมแห้ง
  5. Eco-Friendly (เป็นมิตรกันสิ่งแวดล้อม) : ประหยัดพลังงานกว่า ระบบทำปรับอากาศแบบแยกส่วน (Traditional Split Systems) ที่เราใช้กันอยู่ตามบ้าน สำนักงานทั่วไป มากกว่า 15 เท่า

ความสามารถด้านฟังก์ชั่นการใช้งาน

เนื่องจากด้านบนตัวเครื่อง จะมี หน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส (Touchable Screen) อยู่ด้านบน และ วงกลมสีดำด้านนอก (Circular Power Lever) ก็สามารถหมุนเพื่อใช้ในการตั้งค่า เลือกค่าต่างๆ ได้เช่นกัน ซึ่งการใช้งานก็จะคล้ายๆ กับ ไอพอดคลาสสิค (iPod Classic) ที่จะต้องหมุนวงล้อเลือกค่า เพื่อเลือกค่าในเมนูต่างๆ นั่นเอง

โดยเมนูหลักๆ ของ แอร์พกพา จะมีอยู่ทั้งหมด 5 เมนูด้วยกัน การเริ่มต้นเข้าสู่เมนู ก็เพียงกดที่ หน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส ก็จะเริ่มแสดงผลเมนูแรกขึ้นมา ไล่เรียงกันไปเมนูที่ 2 3 4 5 ตามลำดับ โดยเมนูแรกจะเป็น

  1. Night Mode (โหมดกลางคืน) : การใช้งานในโหมดกลางคืน จะทำให้คุณนอนหลับสบาย เพราะไม่มีแสงไฟต่างๆ มารบกวน ขณะหลับพักผ่อน โดยเมื่อเปิดโหมดนี้แล้ว ไฟถังเก็บน้ำจะค่อยๆ หรี่และดับลง และ ไฟบนหน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส จะหรี่ลง ในลักษณะที่พอมองเห็น แต่ยังไม่ดับสนิท เมื่อเราตื่นแล้ว ก็เพียงแค่กดแตะบน หน้าจอแสดงผล ทีนึง ไฟต่างๆ ก็จะสว่างขึ้นมาปกติ (โดยที่เครื่องไม่ดับ) เป็นการปิดโหมดกลางคืน ไปในตัว
  2. Lighting Color (เปลี่ยนสีไฟถังเก็บน้ำ) : สามารถเลือกสี ของถังเก็บน้ำ (Water Reservoir Lighting) ได้ตามใจชอบ มีทั้งหมด 8 สี ให้เลือก เพื่อให้เข้ากับธีมห้องของคุณ สไตล์คุณ เพื่อบ่งบอกความเป็นตัวคุณ นั่นเอง
  3. Lighting Brightness (ปรับความสว่างของไฟถังเก็บน้ำ) : สามารถปรับระดับความสว่าง ของไฟถังเก็บน้ำ (Water Reservoir Brightness) ได้ตามใจชอบ หรือแม้จะปิดมันได้เลย
  4. Measurement Units (เปลี่ยนหน่วยวัดอุณหภูมิ) : เนื่องจากหน่วยวัดอุณหภูมิ ในโลกนี้มี 2 มาตรฐานหลักๆ ได้แก่ องศาเซลเซียส (°C – Centigrade) และ องศาฟาเรนไฮต์ (°F – Fahrenheit) จึงทำให้ แอร์พกพา Evapolar นี้สามารถเปลี่ยนหน่วยวัด ได้ตามความถนัดของผู้ใช้งานได้เช่นกัน (คนไทยเราก็ต้อง องศาเซลเซียส แน่นอน)
  5. Notifications (การแจ้งเตือน) : สามารถเปิดระบบการแจ้งเตือนได้ เมื่อ กล่องทำความเย็นแห้ง พูดง่ายๆ คือ น้ำหมดถังเก็บน้ำ นั่นเอง ระบบจะแจ้งเตือนด้วยการเปลี่ยนสี ไปเป็นสีที่คุณต้องการ อาทิ สีแดง สีส้ม และสีอื่นๆ เป็นต้น

สำรวจ ส่วนประกอบต่างๆ รอบๆ ตัวเครื่อง

หากสังเกตกันด้วยตาเปล่า ตัวเครื่อง จะเป็น พลาสติกสีขาวตรงฝาครอบด้านนอก กับ สีดำตรง ส่วนของตะแกรง ที่เป็น ช่องดูดอากาศเข้าเครื่อง (เส้นสีแดง) และ ช่องปล่อยอากาศออกจากเครื่อง (เส้นสีฟ้า)

ในขณะที่ ด้านบนของตัวเครื่อง จะสังเกตเห็นว่ามีช่องกลมๆ ดำๆ อยู่ ซึ่งถ้าเปิดใช้งานก็จะเป็น หน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส (Touchable Screen) สามารถกดสั่งงาน ส่งคำสั่งต่างๆ ได้จากบนหน้าจอเลย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา มาดูรูปประกอบ ด้านล่างกันเลยดีกว่า

Evapolar Top
ส่วนประกอบ ของตัวเครื่อง แอร์พกพา Evapolar
  1. Air Intake (ช่องดูดอากาศเข้าเครื่อง) : ช่องดูดอากาศเข้ามาทำความเย็นจาก ด้านหลังเครื่อง อากาศจะถูกดูดเข้ามาโดย พัดลมขนาดใหญ่ (ถ้าเทียบกับสัดส่วนของตัวเครื่อง กับ พัดลม) เข้ามาสู่กระบวนการทำความเย็นภายในเครื่อง (สาเหตุที่ใช้สีแดง เพราะแทนอากาศร้อนนั่นเอง)
  2. Air Out (ช่องปล่อยอากาศออกจากเครื่อง) : ช่องปล่อยอากาศเย็นออกมา หลังจากผ่านกระบวนการทำความเย็น ต่างๆ ภายใน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  3. Touchable Screen & Circular Power Lever (หน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส และ วงล้อเลือกค่า) : ด้านบนจะเป็น หน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส ที่เอาไว้ดูค่าต่างๆ ของเครื่อง พร้อมกันนั้นยังสามารถเลือกค่าต่างๆ ได้ด้วยการกดลงไปที่หน้าจอได้เช่นกัน นอกจากนี้ตรงขอบของหน้าจอแสดงผลแบบสำผัส ยังมีวงล้อเลือกค่า
  4. Reservoir (ถังเก็บน้ำ) : ถังเก็บน้ำขนาด 0.75 ลิตร เป็นลักษณะพลาสติกแบบขุ่น ให้แสงเข้าออกได้ เพื่อการเปล่งประกายของแสงจากหลอดไฟด้านล่าง ที่ออกมาทางถังน้ำ ในลักษณะเป็นสีต่างๆ แล้วแต่เราจะเลือกเอง

และ เมื่อทราบถึงส่วนประกอบต่างๆ ตามหมายเลขที่ ได้กำกับเอาไว้ด้านบน คราวนี้เราลองมาเจาะลึกดูทีละส่วนกัน เป็นลำดับต่อไปเลย โดยขอถอด ส่วนประกอบด้านในตัวเครื่อง อาทิ ถังเก็บน้ำ ฝาครอบตัวเครื่อง และ กล่องทำความเย็นแบบระเหย ออกมา ซึ่งก็สามารถแกะถอดเองได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือช่าง อย่างไขควง ช่วยแต่อย่างใด เมื่อถอดออกมาเสร็จแล้ว ก็จะเห็นอุปกรณ์ทั้งหมด เป็นแบบรูปภาพด้านล่างนี้

Evapolar Inside Component
ถอดแยกส่วนประกอบ ของ ตัวเครื่อง แอร์พกพา Reservoir ออกมาเรียงให้ดู

และลองมาส่องที่ ตัวเครื่องหลัก (Main Body) ของมันดูแบบชัดๆ บ้าง เพราะทั้งส่วนของ แผงควบคุม พัดลมดูดอากาศ ส่วนของการจ่ายไฟ ต่างๆ อยู่ที่นี่ทั้งหมด

จากรูปด้านบนซ้ายมือ ถ้าหากมอง จากด้านหน้าเครื่องจะเป็นช่องลมซี่ๆ ซึ่งเป็นลมที่ออกมาจาก ช่องปล่อยอากาศเย็น และหากมองทะลุเข้าไป ที่ด้านหลังเครื่อง จะสังเกตเห็นเป็น พัดลมขนาดใหญ่ (เหมือนพัดลมในเคสคอมพิวเตอร์เลย) โดยพัดลมนี้ สามารถปรับระดับความแรงจาก หน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส และ วงล้อเลือกค่า ได้เช่นกัน

ในขณะที่รูปด้านบนฝั่งขวา เป็นการ ถ่ายแบบเฉียงแทยง ให้ดูว่า ข้างในเป็นอย่างไร พัดลมหน้าตายังไง ส่วนตรงสีขาวในรูป เป็นจุดที่เอาไว้ใส่ กล่องทำความเย็นแบบระเหย เข้าไปให้ลงล็อคกันพอดี นอกจากนี้ น้ำจากถังเก็บน้ำ ก็จะมาเอ่ออยู่ตรง ที่พักน้ำก่อนดูดซึม เพื่อรอการดูดซึมขึ้นไปยัง กล่องทำความเย็นแบบระเหย และ ถูกพัดลมเป่าออกไป เป็นอากาศเย็น เป็นลำดับต่อไปนั่นเอง

รูปด้านล่าง คือ ถังเก็บน้ำ ทางผู้ผลิตเขาเรียกว่า “Reservoir” แต่ผมจะเคยชินกับคำว่า “Water Tank” มากกว่า มันมีขนาดความจุ 0.75 ลิตร ที่เมื่อเปิดฝาแล้ว คุณสามารถเติมน้ำสะอาด เข้าไปด้านใน โดยไม่ต้องถอดเอา ถังเก็บน้ำ ออกมาจากตัวเครื่องได้เลยโดยตรง

Evapolar Reservoir
ถังเก็บน้ำ แอร์พกพา Evapolar ขนาดความจุ 0.75 ลิตร

ด้านการประกอบเข้า หรือ ถอดออก ก็ไม่ยากเลย หลักๆ คือ การเปิดฝาครอบ ของมันออกมา ซึ่งก็ทำง่ายๆ ด้วยการบีบฝาครอบด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง (ใช้ 2 มือ) และดึงขึ้นมาอย่างช้าๆ ส่วนการใส่ก็ครอบฝาครอบลงมาเลย ช้าๆ เช่นกัน จัดว่าง่ายมากๆ ใครๆ ก็ทำได้

Evapolar Cover Placing
ฝาครอบเครื่อง แอร์พกพา Evapolar สามารถ แกะออก และ ประกอบ เข้าไปใหม่ ง่ายมากๆ

รู้จักกับ กล่องทำความเย็นแบบระเหย (Evaporative Cartridge)

Evapolar Cartridge Left
กล่องทำความเย็นแบบระเหย (Evaporative Cartridge) ของ แอร์พกพา Evapolar

กล่องทำความเย็นแบบระเหย หรือ “Evaporative Cartridge (อีวาโปเรทีฟคาร์ทริดจ์)” ชิ้นส่วนที่เป็น กุญแจสำคัญที่สุดของการทำความเย็น ของเจ้า แอร์พกพา Evapolar นี้เลยก็ว่าได้ มันเป็น เทคโนโลยีที่ถูกจดสิทธิบัตร (Patented Technology) เฉพาะ แล้ว อีกด้วยเช่นกัน

ลักษณะของมันจะเป็นกล่องสีดำทรงเหลี่ยม ที่ด้านในจะเป็นซี่ๆ คล้ายๆ กับรังผึ้งแอร์ตามบ้าน หรือ ในรถเป็นต้น แต่ทว่ารังผึ้งแอร์ นั้นจะเป็นวัสดุแข็ง อาจทำมาจาก เหล็ก อลูมิเนียม ฯลฯ แต่ กล่องทำความเย็นแบบระเหย ทำมาจาก วัสดุนาโน โดยใช้พื้นฐานของ เยื่อหินบะซอลต์ หรือ “Basalt Fibers – บะซอลต์ไฟเบอร์” หลายคนอาจจะไม่รู้จักมัน จริงๆ แล้วมันคือ หินผุที่เกิดจากการเย็นตัวอย่างฉับพลัน ของลาวาภูเขาไฟ เลยทีเดียว (แต่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์นะครับ เขา ค้นคว้า + วิจัย + ทดสอบ กันมาอย่างดีแล้ว) แต่เริ่มแรกที่ผมเห็น รู้สึกเหมือนกับ กระดาษสา ยังไงยังงั้น แต่จริงๆ ไม่ใช่นะ

หลักการ การทำงานของมันคือ เมื่อเราใส่ กล่องทำความเย็นแบบระเหย เข้าไปในเครื่อง แล้วเติมน้ำเข้าไปในถังเก็บน้ำ น้ำก็จะค่อยๆ ซึม เข้ามาข้างในตัวเยื่อบะซอลต์ไฟเบอร์ ที่อยู่ด้านใน เป็นซี่ๆ ของ กล่องทำความเย็นแบบระเหย ขึ้นไปด้านบน ก็จะมีลักษณะเปียกๆ แบบชุ่มๆ น้ำ เล็กน้อย หลังจากนั้นก็โดนพัดลมเป่าออกไป กลายเป็นความเย็น ออกมาให้เราได้เย็นสดชื่นกันนั่นเอง

Evapolar Cartridge Spare
ชุด กล่องทำความเย็นแบบระเหย (Evaporative Cartridge) ของ Evapolar สามารถสั่งซื้อเปลี่ยนได้

นอกจากนี้แล้วคุณยังสามารถสั่งซื้อ กล่องทำความเย็นแบบระเหย จากเว็บไซต์ของผู้ผลิต มาเปลี่ยนเองได้เลย ซึ่งทางผู้ผลิตเขาบอกว่า หากใช้เครื่องอย่างสม่ำเสมอ หรือใช้บ่อย ก็ประมาณ 8-12 เดือน ก็ควรจะเปลี่ยนสักทีนึง ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาของเรา ถ้าทำความสะอาด ดูแลรักษา อย่างสม่ำเสมอ ก็อาจจะช่วยยืดระยะเวลาของมันออกไปได้ และนี่คืออุปกรณ์ตัวเดียว ที่จะต้องเปลี่ยนเมื่อใช้งาน

ราคาตัวนึงก็ประมาณ $25.00 (หรือประมาณ 900 กว่าบาท) บวกค่าส่งอีกประมาณ $5.00 รวมๆ ก็พันต้นๆ ซึ่งในระบบการทำงานของตัวเครื่อง จะ “ไม่มี” ไฟแจ้งเตือนว่า ต้องเปลี่ยน เราใช้วิธีการกะประมาณเอาเองนะ

การเปิดใช้งาน แอร์พกพา Evapolar

เริ่มต้นเปิดใช้งาน ก็เพียงแค่ เติมน้ำสะอาด (ผมใช้น้ำกรองจาก เครื่องกรองน้ำ เลยละ) เข้าไปใน ถังเก็บน้ำ ที่อยู่ด้านข้างตัวเครื่อง โดยไม่ควรใส่น้ำหอมปรับอากาศใดๆ หรือ ของเหลว อะไรก็ตามแต่ ที่มีกลิ่นหรือสี ลงไปในถังน้ำเลยแม้แต่น้อย และ น้ำที่เทใสถังเก็บน้ำนั้นก็ “ไม่จำเป็นจะต้องเป็นน้ำเย็น” ก็ได้ เพราะผมทดสอบแล้ว ไม่ว่าจะน้ำเย็นหรือน้ำปกติ (อุณหภูมิที่ออกมา ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกันมากมาย)

Evapolar Reservoir Filling Up
เติมน้ำสะอาด ลงในถังเก็บน้ำ ของ Evapolar ให้เกือบเต็มถัง

หลังจากนั้น เมื่อเรียบร้อย ก็เสียบปลั๊ก กับ อะแดปเตอร์แปลงไฟบ้าน (AC Adapter) หรือจะเสียบไฟเข้ากับ แบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) ไฟจากพอร์ต USB ของ เครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค แล็ปท็อป ก็สามารถได้เช่นกัน

เมื่อเสียบไฟเข้าไป ในแหล่งจากไฟเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตัวเครื่องก็จะเริ่มทำงานทันที (ไม่ต้องเปิดสวิตซ์อะไรใดๆ เพราะไม่มีสวิตซ์มาให้)

หลังจากนั้นก็รอสักครู่ และ หลังจากนั้นค่าของ อุณหภูมิอากาศขาเข้า (Temperature of Incoming Air) และ อุณหภูมิอากาศขาออก (Temperature of Outgoing Air) ก็จะแสดงขึ้นมาแบบให้เราเห็นถึงความแตกต่างกันแบบชัดๆ ไปเลย ว่าเจ้าเครื่องนี้ มันช่วยเราทำความเย็นได้มากน้อยเพียงใด

คำถามที่อยากรู้ เกี่ยวกับการใช้งาน

ผมขอสรุป คำถามที่อยากรู้ เกี่ยวกับการใช้งานตัว ตัวนี้มาให้ดูกัน หลังจากการใช้งานมาได้ประมาณ 1 เดือน เผื่อใครมีคำถาม ข้อสงสัยอะไรในใจ ลองดู ถาม-ตอบ ด้านล่างนี้ว่า มีคำถามอะไรที่ตรงใจกันดูบ้างหรือเปล่า

1. การบำรุงรักษาตัวเครื่อง โดยหลักๆ แล้ว จะต้องทำอะไรบ้าง ?

  • หมั่นเติมน้ำในถังเก็บน้ำ ให้เต็มอยู่เสมอ พยายามอย่าให้น้ำขาด
  • หมั่นล้างและเช็ดทำความสะอาด ถังเก็บน้ำ อยู่เรื่อยๆ
  • เปิดฝากเครื่องออกมาเพื่อ ทำความสะอาดพัดลม และ เช็ดอุปกรณ์ภายใน ด้วยผ้านุ่ม (Soft Cloth)

หมายเหตุ : ก่อนทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ในเครื่อง ให้เทน้ำออกจากถังเก็บน้ำ ทั้งหมด และ เปิดเครื่องทิ้งไว้ ก่อน 3 ชั่วโมง ขณะที่ไม่มีน้ำในถังเก็บน้ำ

2. อุณหภูมิจะลดลงมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง ?

จากที่ผมใช้งานดูมาสักพักใหญ่ๆ ประมาณเดือนนึง พบว่า แม้ว่าอุณหภูมิภายในห้อง เราจะเท่ากัน ตัวเครื่อง แอร์พกพา Evapolar นี้ก็ยังทำความเย็น ให้ผลลัพธ์ความเย็นได้ไม่เท่ากันเลย

ซึ่งจากที่เข้าไปหาข้อมูล จากบนหน้าเว็บไซต์ Indiegogo.com มาแล้วพบว่า เครื่องนี้มันจะช่วยลดอุณหภูมิ ให้เราได้ มากน้อยเพียงใด นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ 3 ประการด้วยกันคือ

  1. Outside Air Temperature (อุณหภูมิภายนอก ที่ถูกดูดเข้ามา)
  2. Air Humidity (ความชื้นสัมพัทธ์ หรือปริมาณน้ำในอากาศ ยิ่งความชื้นมาก ก็ยิ่งทำความเย็นได้มาก)
  3. Fan Power Level (ระดับความแรงของพัดลม ยิ่งเปิดแรงยิ่งเย็น)

3. นานแค่ไหน ที่จะต้องเติมน้ำใน ถังเก็บน้ำ ?

ตามสเปคที่ทางผู้ผลิตเขาบอกเอาไว้จะอยู่ ประมาณ 6-8 ชั่วโมง ถ้าถามว่าจะหมดเร็วหมดช้า ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยที่ได้กล่าวไปใน ถาม-ตอบ ข้อ 2 นั่นก็คือ อุณหภูมิภายนอก ความชื้นสัมพัทธ์ และ ระดับความแรงของพัดลม

ซึ่งหลังจากที่ได้ใช้งานจริงๆ ก็พบว่าระยะเวลา เมื่อเปิดพัดลมในระดับความแรงสูงสุด น้ำจะหมดภายใน 6 ชั่วโมง เป๊ะเลยทีเดียว

4. ถ้าเปิดเครื่องขณะที่ “ไม่มีน้ำในถังเก็บน้ำ” จะเป็นอย่างไร ?

แม้ว่าตัวเครื่องจะมีระบบแจ้งเตือนน้ำหมดถัง แต่ก็ยังสามารถเปิดได้ปกติอยู่ดี โดยที่ตัวเครื่อง ก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะน้ำเอง ไม่ได้มีส่วนในการใช้ไปหล่อลื่นอะไรใดๆ กับวัสดุในเครื่องเลย

แต่ด้วยความที่ไม่มีน้ำ ที่เป็นสื่อกลางในการทำความเย็น หากสังเกตที่ หน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส อุณหภูมิอากาศขาเข้า จะเท่ากับ อุณหภูมิอากาศขาออก ไปโดยปริยายทันที

Evapolar Working without Water
สังเกตดูว่า อุณหภูมิอากาศขาเข้า จะเท่ากับ อุณหภูมิอากาศขาออก เลย เมื่อไม่มีน้ำในถังเก็บน้ำ เหลืออยู่เลย

5. ขณะใช้งานเสียงเครื่องดังมากน้อยเพียงใด ?

เสียงเครื่องขณะทำงานนั้น ค่อนข้างดังพอสมควร ประมาณ 40 เดซิเบล (dB) ในกรณีถ้าหากเปิดพัดลมในระดับสูงสุด เสียงจะค่อนข้างดังอยู่ พอสมควรเลยทีเดียว ถือเป็นข้อเสียนิดๆ ที่บางคนอาจจะรับได้ แต่ขณะที่ บางคนก็รับไม่ค่อยได้ (อย่างแฟนผมเป็นต้น) เพราะอาจจะนอนหลับไม่สนิทได้ (เห็นบ่นมาแบบนี้)

6. หากวางเครื่องไว้นอกอาคาร จะช่วยเราได้มากน้อยแค่ไหน ?

หลังจากที่ทดสอบตัวเครื่องกับ ห้องพักในคอนโดมิเนียม ผลลัพธ์ที่ได้มา ก็ตามที่เห็นในบทความนี้ด้านบน และ ในคลิปวีดีโอ แต่คราวนี้ ผมลองเอาเจ้าเครื่องนี้ไปวาง ทดสอบใน อาคารเปิด (Outdoor Test) ดูบ้าง โดยลองวางในพื้นที่โล่งเปิด ว่ามันช่วยลดอุณหภูมิ ให้เราได้มากน้อยเพียงใด

ผลลัพธ์ที่ได้ ก็จัดว่าน่าทึ่งมากๆ เหมือนกันที่เครื่องนี้ มันสามารถช่วยลดอุณหภูมิ ได้มากถึงเกือบ 5 องศาเซลเซียส เลยทีเดียว โดย อุณหภูมิอากาศขาเข้า → 32.3 องศาเซลเซียส และผลที่ได้คือ อุณหภูมิอากาศขาออก 27.6 องศาเซลเซียส → ถือว่าช่วยได้เยอะทีเดียว

7. ราคาเท่าไหร่ และ สามารถสั่งซื้อเครื่องนี้ได้ที่ไหน

สามารถสั่งซื้อ แอร์พกพา Evapolar นี้ได้จากเว็บไซต์ Thaiware.com ในราคา 7,590 บาท ตามที่อยู่เว็บเพจ ด้านล่างนี้ได้เลยครับ

https://shop.thaiware.com/3200-Evapolar-Air-Cooler.html

8. ตัวเครื่องรับประกันกี่ปี ?

รับประกัน 1 ปีครับ

บทสรุปการใช้งานของเครื่อง ที่ใช้งานมาแล้วสักระยะ

หลังจากที่ลองใช้งาน แอร์พกพา Evapolar มา ได้สักระยะ (ประมาณ 3 สัปดาห์ ต่อเนื่องกัน) ก็พบว่า มันสามารถให้ความเย็นกับเราได้จริงๆ โดยไม่ว่าห้องจะมีสภาพอากาศเป็นอย่างไร อยู่ในสภาพร้อนอบอ้าว แค่ไหน ตัวนี้ก็ช่วยให้เย็นขึ้นได้จริงๆ

ข้อดี 🙂

  • สามารถทำให้เรารู้สึกเย็นขึ้นจริงๆ ในรัศมีอันใกล้ ไม่ว่าอุณหภูมิห้องจะสูงเท่าไหร่ ถ้าเปิดเครื่องต้องมีความแตกต่าง ให้เห็นแน่นอน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ อุณหภูมิดั้งเดิมในห้อง ความชื้นสัมพัทธ์ ในห้อง โดยจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
    • อย่างน้อย 2-3 องศาเซลเซียส
    • อย่างมากสุดที่เคยเห็นคือ 8-9 องศา
  • ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก และ เบา ทำให้ยก พกพา ไปไหนมาไหน ได้อย่างสะดวก เอาไป ปิคนิค ก็ได้
  • มาตรวัดอุณหภูมิที่ตัวเครื่องมีความแม่นสูงมากๆ ขึ้นลงให้เห็นทันที แบบสดๆ
  • ประหยัดไฟจริงๆ แค่ 10 วัตต์ เทียบเท่า หลอดประหยัดไฟแบบตะเกียบ 1 หลอด
  • ใช้ไฟผ่าน USB ดังนั้น สามารถใช้กับไฟบ้าน หรือแม้แต่ แบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) ได้ ดังนั้น เอาไปใช้ที่ไหนก็ได้ และถ้าหาก ไฟดับ ก็หายห่วง
  • ตัวเครื่องถูกออกแบบดีไซน์ดูทันสมัย เป็นของตกแต่งบ้าน หรือ สำนักงานได้ เก๋ๆ
  • สามารถเปลี่ยนสีไฟตามสีที่เราชอบได้ ใช้ประดับห้องนอน ห้องนั่งเล่น โต๊ะทำงาน ได้ บ่งบอกความเป็นตัวเราได้ดี พร้อม ปรับระดับความสว่างของไฟ ได้ตามต้องการเช่นกัน
  • มีโหมดกลางคืน (Night Mode) เวลานอน ไม่ต้องห่วงว่า ไฟจะสว่างจ้า เพราะเปิดโหมดนี้แล้ว สีไฟถังเก็บน้ำ จะดับลง และ ไฟหน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส จะถูกหรี่ลง ให้คุณหลับอย่างสบาย
  • สามารถถอดประกอบง่าย มี อุปกรณ์ทั้งหมด 4 ส่วนหลักๆ

ข้อเสีย 🙁

  • ห้ามวางเครื่องเอียง เพราะน้ำอาจจะไหลออกมาจาก กล่องทำความเย็น ที่เป็นช่องๆ ซี่ๆ ได้ แต่ถ้าไม่ได้เคลื่อนย้ายไปไหนบ่อยๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร
  • พัดลมไม่ค่อยแรง ขนาดเปิดแรงสุดแล้ว ก็ยังไม่ค่อยแรงเท่าไหร่ (แต่ก็อย่างว่า สโลแกนเขาคือ Personal Air Cooler นิหน่า ใช้เฉพาะส่วนตัว ระยะใกล้ๆ ไม่ได้เย็นสาธารณะซะหน่อย)
  • เสียงพัดลมค่อนข้างดัง หากเปิดระดับแรงสุด นี่เสียงดังมากๆ เลยทีเดียว
  • ไม่มี สวิตซ์เปิดปิดเครื่องหลัก มาให้ พอเวลาเสียบปลั๊ก เครื่องก็จะเปิดทำงานขึ้นมาทันที น่าจะมีสวิตซ์หน่อยก็ดี แต่ถ้าจะปิดเครื่อง ก็กดที่ หน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส ค้างเอาไว้
  • ไหนๆ ก็ต่อพอร์ต USB แล้ว แต่ไม่สามารถเชื่อมต่อ หรือ สั่งงานอะไรใดๆ ผ่านคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์พกพา หรือ Wi-Fi ได้เลย

บทสรุปโดยรวม ถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่น่าสนใจ แต่ถ้าจะเอามาให้สร้างความเย็น ในห้องแบบเย็นฉ่ำ แบบนั้นคงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าคิดว่า เราอยากนั่งเล่นคอมพิวเตอร์อยู่ บนโต๊ะกินข้าว โต๊ะทำงาน แต่ไม่อยากเปิดแอร์บ้านปกติ (ประมาณว่า อยากประหยัดค่าไฟ) แล้วจะเอา แอร์พกพา Evapolar เอามาช่วยให้เย็นเฉพาะ ตรงที่เรานั่งได้ แบบนี้ถือว่าเหมาะสมมากๆ


หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนจากบทความนี้อ้างอิงมาจาก คู่มือการใช้งาน (Product Guide) ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ และ จากเว็บไซต์ ทั้ง 2 ด้านล่างนี้

28 ความคิดเห็น

  1. เป่าลมผ่าน Cooling pad ที่เปียกน้ำ อุณหภูมิลดลง 3-5C ได้ ถ้าเปิดในที่อับนานๆความชื้นจะสูง

  2. พัดลมไอเย็นครับ ผมซื้อมาใช้ ก็อย่างที่สโลแกนเข้าว่า พัดลมไอเย็นขนาดพกพา เอาไว้เป่าตัวเองเย็น ๆ (เย็นกว่าพัดลม) คนเดียว

  3. มีขายในเฟสบุ๊คจริง copy ข้อมูลของ evaporla มาลง บอกลดราคาเหลือ 1880 บาทเพื่อให้ทดลองใช้ พอส่งมาเก็บเงินปลายทาง ไม้ได้ตรวจสอบก่อน จ่ายเงินไปแล้ว กลายเป็นของเล่นพลาสติก หน้าตาเลียนแบบมาจากจีน

  4. ตอนนี้เห็นเกลื่อนเต็มเฟสบุ้ค
    ราคาขาย 1900 บาท
    มันจิปลอมไหมนิ??????

    • ผมเห็นโฆษณาบน Facebook อยู่เหมือนกันครับ ผมว่ามันไม่มีของปลอมไม่ปลอมนะครับ เพราะเขาไม่ได้ใช้ชื่อแบรนด์ Evapolar แต่ว่าจะหลักการเดียวกันหรือเปล่านั่นก็อีกเรื่องนึงครับผม

  5. ขอโทษนะค่ะอยากทราบว่าที่จิงแล้วมันคือแอร์หรือพัดลมไอเย็น

    • สวัสดีครับคุณ Pornpawee

      สามารถสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ Evapolar.com ได้โดยตรงเลยนะครับ จัดส่งถึงหน้าบ้านเลยครับ

  6. มีแต่ข้อมูลเต็มไปหมดแต่ไม่มีราคากับวิธีสั่งซื้อ

  7. ไหนบอกพันกว่าบาทแล้วอยู่ๆสรุปเจ็ดพันกว่าบาทมันยังไงกันคับงงมากๆ

  8. ถ้าจะพกไว้บนรถยนต์ได้ไหมคะ พอดีรถป้าแอร์มีปัญหามากซ่อมหลายเจ้าแล้วก็ไม่หายค่ะ แล้วถ้าต่อpower bank ได้นานสุดกี่ชั่วโมงคะ

    • ได้นะครับ แต่ไม่แนะนำครับ เพราะถึงแม้จะต่อผ่านไฟในรถ หรือ ไฟจาก Power Bank และสามารถเปิดใช้งาน ได้ก็จริงอยู่ แต่สุดท้ายจะมีปัญหาเรื่องของน้ำหก น้ํากระฉอก ออกจากถังเก็บน้ำ ขณะรถกำลังวิ่งได้ครับ ขอแนะนำให้ใช้วางในที่นิ่งๆ ดีกว่าครับ

  9. เห็นว่าเย็นแค่ใกล้อยากทราบว่ารัศมีมันประมาณเท่าไหร่คะที่ความเย็นส่งถึง 1-2 m?

    • ประมาณเมตรนึงครับ ไม่เกินนี้ เหมาะสำหรับใช้งาน ในกรณีเช่น นั่งขายของอยู่ เอาวางใกล้ๆ ตัว หรือ นั่งตามม้าหิน แล้วเอา เครื่องแอร์พกพา Evapolar นี้จ่อหน้าดู ให้ความเย็นได้ในระดับนึงนะครับ

  10. การทำงานเหมือนพัดลมไอเย็นที่ขายกันทั่วไปเลยค่ะ ราคาค่อนข้างสูงค่ะถ้าเทียบพื้นที่การกระจายลม แต่ในแง่ประหยัดไฟให้ผ่านค่ะ

  11. กรณีใช้งานในห้อง แรกๆ จะเย็นเพราะความชื้นในห้องยังต่ำอยู่ น้ำสามารถระเหยได้ง่าย พอใช้ไปสักพักจะรู้สึกไม่ค่อยเย็น เพราะความชื้นในห้องเริ่มสูงขึ้นจากไอน้ำที่ออกจากเครื่อง ทำให้น้ำระเหยได้น้อยลง จึงแนะนำให้ใช้งานในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก outdoor แล้วจะคุ้มมากครับสำหรับเจ้าเครื่องนี้!!?!

  12. เนื่องจากใช้หลักการการระเหยของน้ำในการให้ความเย็น น่าเหมาะกับสภาพแวดล้อมที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ความชื้นในอากาศต่ำๆ เพื่อให้ไอน้ำที่ออกจากเครื่องระเหยได้มากที่สุด ยิ่งระเหยมากยิ่งเย็นมาก ดังนั้นน่าจะเหมาะกับ outdoor มากกว่า ชอบขนาดเล็กหลกระทัดรัด หน้าตาหล่อ ใช้งานง่าย power bank ตัวเดียวก็เย็นได้แล้ว น่าเอาไปปิคนิคสุดๆ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้