← กลับไปอ่านหน้า 1 (Previous Page)

สำรวจส่วนประกอบต่างๆ ของตัวเครื่อง Mister Robot Hybrid Camera Map Wi-Fi

ในส่วนนี้จะขอแบ่งส่วนประกอบต่างๆ ของตัวเครื่อง ออกเป็น 5 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน โดยเนื้อหาด้านล่างนี้ จะมีรูปภาพพร้อม กับหมายเลขในแต่ละจุด (ในบางหัวข้อ) พร้อมกับภาพประกอบที่ขยายในแต่ละส่วนให้ดูกันชัดๆ อีกที เพื่อการทำความเข้าใจที่ง่ายขึ้น

  1. ส่วนประกอบด้านบน
  2. ส่วนประกอบด้านล่าง
  3. ส่วนประกอบด้านข้าง
  4. ส่วนประกอบของ กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง และถังน้ำ
  5. ส่วนประกอบรีโมทคอนโทรล

Top Component (ส่วนประกอบด้านบน)

Mister Robot Hybrid Camera Map Component Top
ส่วนประกอบด้านบน ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Camera Map Wi-Fi (ภาพประกอบ จากรุ่นที่ไม่มี Wi-Fi)

ด้านบนของตัวเครื่องก็เน้นความเรียบง่าย แต่รูปทรงดูทันสมัยขึ้น กว่ารุ่นก่อนๆ (ความรู้สึกส่วนตัว) ด้านบนสุดจะเป็น กล้องสร้างแผนที่จำลอง (Mapping Camera) ในขณะที่ ส่วนอื่นๆ ก็จะไม่มี หน้าจอแสดงผล (Display Screen) หรือ ปุ่มกดฟังก์ชั่น (Control Button) ใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับการควบคุมผ่านตัวเครื่องก็จะมีแค่ปุ่มเดียวคือ “ปุ่ม AUTO” ซึ่งเป็นปุ่มเอาไว้ กดสั่งปลุกเปิดเครื่องในการกดครั้งแรก และ สั่งให้เครื่องทำความสะอาดใน โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติ (AUTO Mode) ในการกดครั้งที่ 2 เท่านั้น

ในขณะที่ส่วนที่แตกต่างกันแบบโดดเด่นเห็นได้ชัดก็คือ กล้องสร้างแผนที่จำลอง พระเอกของรุ่นนี้ ที่ปรากฏตัวอยู่ถัดขึ้นไปจาก “ปุ่ม AUTO” ขึ้นไป นั่นเอง และที่ส่วนล่างของด้านบนตัวเครื่องก็จะมี “ปุ่มปลดกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองหรือถังน้ำ (Dustbin / Water Tank Eject Button)” เพื่อให้กดปลดล็อคกันง่ายๆ นั่นเอง

Underside Component (ส่วนประกอบด้านล่าง)

Mister Robot Hybrid Camera Map Component Underside
ส่วนประกอบด้านล่าง ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Camera Map Wi-Fi (ภาพประกอบ จากรุ่นที่ไม่มี Wi-Fi)

ด้านล่างของตัวเครื่องนั้น ก็จะประกอบไปด้วยไปด้วยส่วนประกอบหลักๆ ที่สำคัญ ของตัวเครื่องมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ส่วนของระบบล้อขับเคลื่อน ระบบดูดฝุ่น ระบบถูพื้น รวมไปถึงเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่อยู่ข้างใต้เครื่อง เพื่อป้องกันการวิ่งทำงานแล้วตกบันได นั่นเอง

  1. Floor Sensor (เซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่น) : อุปกรณ์ป้องกันการเครื่องตกบันได หรือ จากที่สูง โดยมีอยู่ด้วยกันทั้ง 3 จุดด้วยกันคือบริเวณด้านหน้า 1 จุด (อยู่เหนือล้อหน้า) และบริเวณข้างซ้าย และ ข้างขวา อีกอย่างละจุด (ตำแหน่งตัวเซ็นเซอร์จะอยู่ใกล้ๆ กับล้อขับเคลื่อน) เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องวิ่งตกบันได หรือ ตกหล่นจากที่สูง ป้องกันความเสียหายที่อาจะเกิดขึ้น
  2. Front Caster Wheel (ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหน้า) : เป็นล้อพลาสติกที่ สามารถหมุนได้รอบตัว 360 องศา ใช้แค่รับน้ำหนักเครื่องด้านหน้าอย่างเดียว ไม่มีมอเตอร์ และ ไม่มีส่วนในการขับเคลื่อนใดๆ
  3. Charge Pin (จุดสัมผัสแท่นชาร์จ) : แผ่นโลหะใช้ถ่ายทอดพลังงานไฟฟ้าจากแท่นชาร์จ เข้าไปสู่แบตเตอรี่ที่อยู่ภายในตัวเครื่อง
  4. Side Brush Installation Area (พื้นที่ติดตั้งแปรงกวาดข้าง) : พื้นที่ติดตั้งแปรงกวาดข้าง ที่มีหน้าที่ใช้ในการช่วยปัดกวาดฝุ่นรอบๆ ตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ให้เข้ามาในรัศมีของ แปรงกวาดหลัก (แปรงหมุน) เพื่อดูดเข้าไปเก็บไว้ในกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองอีกที
  5. Battery Cover (ฝาครอบแบตเตอรี่)  : ฝาครอบแบตเตอรี่ ที่ห่อหุ้ม แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนขนาดความจุ 2,600 มิลลิแอมป์ (mAh) ด้านในเอาไว้ คุณสามารถถอดแบตเตอรี่ที่อยู่ด้านในเปลี่ยนเองได้ง่ายๆ เพียง ขันน๊อต 2 ตัวที่ปิดอยู่ออก ก็สามารถเปลี่ยนเองได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องเอาไปให้ช่าง หรือ ศูนย์บริการทำให้
  6. Main Wheel (ล้อขับเคลื่อนหลัก)  : ล้อหลัก 2 ล้อของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่ใช้ควบคุมการเคลื่อนที่ไปด้านหน้า เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา รวมไปถึงการ เดินหน้า ถอยหลัง มีดอกยางเสริมการยึดเกาะกับพื้นห้อง รองรับพื้นผิวได้ทุกรูปแบบ ทั้ง พรม กระเบื้อง และ พื้นไม้ต่างๆ
  7. Main Brush Installation Area (พื้นที่ติดตั้งแปรงกวาดหลัก) : พื้นที่ตรงนี้เอาไว้ใช้ในการติดตั้งแปรงกวาดหลัก ที่เป็น แปรงแบบหมุน (Rotating Brush) โดยรุ่นนี้เขาได้ให้มา 2 แบบด้วยกัน ได้แก่
    1. Bristle Brush (แปรงขนแบบเกลียว)
    2. V-Shape Rubber Brush (แปรงยางทรงวี)
  8. Dustbin or Water Tank Installation Area (พื้นที่ติดตั้งกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง หรือถังน้ำ) : พื้นด้านล่าง อยู่ส่วนหลังสุดของตัวเครื่อง จะเป็นพื้นที่เอาไว้ ติดตั้งกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) เพื่อเอาไว้ใช้ในภารกิจดูดฝุ่นธรรมดา หรือ ติดตั้งถังน้ำ พร้อมกับ ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ (ชื่อเต็มภาษาอังกฤษเรียกว่า “Mopping Device with Water Tank”) เพื่อใช้ในกรณีที่ต้องการดูดฝุ่นและถูพื้นแบบเปียก ไปด้วย นั่นเอง

Side Component (ส่วนประกอบด้านข้าง)

Mister Robot Hybrid Camera Map Right
ด้านขวามี ปุ่มสวิตซ์เปิดปิดเครื่องหลัก (Power Switch Button) และ ช่องเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์ (DC Jack) ไว้ช่วยอำนวยความสะดวก ในการใช้งาน (ภาพประกอบ จากรุ่นที่ไม่มี Wi-Fi)

รอบๆ ด้านข้างของตัวเครื่อง ก็ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกเล็กน้อย นั่นก็คือ บริเวณ ด้านข้างส่วนขวามือ ของตัวเครื่อง จะมี “ปุ่มสวิตซ์เปิดปิดเครื่องหลัก (Power Switch Button)” ที่เอาไว้ใช้ในการตัดการจ่ายไฟ หรือ ปล่อยการจ่ายไฟจากแบตเตอรี่ เข้าสู่ตัวเครื่องนั่นเอง โดยถ้ามันอยู่ในสัญลักษณ์ – หมายถึงเปิดเครื่อง แต่ถ้าอยู่ใน สัญลักษณ์ O ก็คือปิดเครื่องนั่นเอง

และถัดมาจาก “ปุ่มสวิตซ์เปิดปิดเครื่องหลัก” ก็จะมี ช่องเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์ (DC Jack) ที่เอาไว้ใช้ในการชาร์จไฟ จากไฟบ้าน ลง แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน ที่อยู่ในเครื่องโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านแท่นชาร์จ ในกรณีที่ แท่นชาร์จอาจจะชำรุดเสียหาย หรือ เวลาเอาเครื่องไปใช้ที่อื่นแล้วลืมเอาแท่นชาร์จติดไปด้วย ก็สามารถเสียบไฟตรงได้เลย (แต่ห้ามลืมอะแดปเตอร์ชาร์จไฟนะ)

ในขณะที่ด้านข้างเครื่อง ส่วนอื่นๆ ฝั่งอื่นๆ จะเป็นอย่างไรนั้น สามารถดูจากภาพชุด 4 ภาพ ที่ได้เก็บมาฝาก ที่ด้านล่างนี้ได้เลย

Dustbin and Water Tank Components (ส่วนประกอบของ กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง และถังน้ำ)

Mister Robot Hybrid Camera Map Water Tank and Dustbin
(กล่องหน้า) กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) และ (กล่องหลัง) ถังน้ำ (Water Tank) (ภาพประกอบ จากรุ่นที่ไม่มี Wi-Fi)

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Hybrid Camera Map Wi-Fi มีออปชั่นในการทำความสะอาดพื้น ให้เราได้เลือกอยู่ 2 อย่างคือ

  1. Dustbin (กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง) : หากต้องการ ดูดฝุ่นอย่างเดียว (Vacuum Only)
  2. Water Tank (ถังน้ำ) : หากต้องการ ดูดฝุ่นและถูพื้น ไปด้วยพร้อมๆ กัน (Vacuum and Wet Mopping)

ถ้าในกรณีที่ต้องการให้มันดูดฝุ่นอย่างเดียว คุณสามารถใส่แค่ตัว กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) เข้าไปในเครื่องก็เรียบร้อย แต่ในขณะที่ถ้าต้องการให้มัน ดูดฝุ่นและถูพื้น ไปด้วย ก็จะต้องนำเอา ถังน้ำ (Water Tank) เปลี่ยนเข้าไปติดแทน ซึ่งตัวถังน้ำ ก็มีช่องเอาไว้เก็บฝุ่นได้เหมือนกัน

Remote Control Component (ส่วนประกอบของรีโมทคอนโทรล)

รีโมทคอนโทรลทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาวสะอาดตา มีหน้าจอแสดงผล อยู่ด้านบน (คล้ายกับ รีโมทคอนโทรลของ เครื่องปรับอากาศ) ด้านล่างมีปุ่มควบคุมอยู่ประมาณหนึ่ง พร้อมสัญลักษณ์ไอคอนประกอบปุ่ม มาดูรายละเอียดกันเลย

Mister Robot Hybrid Camera Map Wi-Fi Component Remote Control
ส่วนประกอบต่างๆ ของ รีโมทคอนโทรล (Remote Control Components) ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Hybrid Camera Map Wi-Fi (กดที่รูป เพื่อขยายภาพใหญ่ได้)
  1. Display Screen : หน้าจอแสดงผล ขนาด 1.5 นิ้ว ใช้แสดงผลการตั้งค่าของตัวเครื่องหุ่นยนต์ อยู่ 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกันคือ
    1. PLAN Section : ส่วนของตารางเวลา แสดงผลอยู่ด้านบน
    2. CLOCK Section : ส่วนของนาฬิกา จะแสดงผลอยู่ด้านล่าง
  2. Direction Button : ปุ่มลูกศรควบคุมทิศทางเครื่องด้วยตัวเอง ลักษณะจะเป็นปุ่มวงกลม มีเอาไว้ใช้เพื่อ ควบคุมทิศทางของตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ได้ 3 ทิศทาง และสั่งงานอีก 1 โหมดคือ
    1. Forward Button (↑ ปุ่มลูกศรชี้ขึ้น) : ปุ่มสั่งเครื่อง เดินหน้า
    2. Left Button (← ปุ่มลูกศรซ้าย) : ปุ่มสั่งเครื่อง เลี้ยวซ้าย
    3. Right Button (→ ปุ่มลูกศรขวา) : ปุ่มสั่งเครื่อง เลี้ยวขวา
    4. MAX Button : โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติแบบเต็มกำลัง ด้วยพลังดูดสูงสุด (Maximum Power) ซึ่งการใช้งานโหมดนี้ จะเปลืองแบตเตอรี่ แต่ดูดสะอาดจริง
  3. CLOCK Button :  ใช้สำหรับตั้งเวลา ให้กับตัวเครื่อง เพียงแค่ชั่วโมงกับนาที เท่านั้น
  4. SPOT Button :  ปุ่มไอคอนรูปวงกลมก้นหอย คือ ไว้ใช้ใการเปิดโหมดทำความแบบเฉพาะจุด (SPOT Cleaning Mode) เฉพาะบริเวณพื้นที่ที่ต้องการเน้นให้หุ่นยนต์ทำความสะอาดเป็นพิเศษ
  5. HOME Button : ปุ่มไอคอนรูปบ้านนี้ ตามความหมายของมันเลยคือ ใช้สั่งให้หุ่นยนต์วิ่งกลับบ้าน หรือ แท่นชาร์จทันที ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ส่วนใดในห้อง หากได้รับคำสั่งนี้ต้องกลับแท่นชาร์จ โดยทันที
  6. AUTO Button : หรือ “ปุ่ม CLEAN” ใช้เพื่อสั่งให้หุ่นยนต์เริ่มทำการทำงาน (Start) แต่ถ้ากดอีกครั้ง จะเป็นการสั่งให้หยุดการทำงานแบบชั่วคราว (Pause)
  7. PLAN Button :  ใช้ตั้งค่าการทำความสะอาดอัตโนมัติรายวัน (ตั้งเวลาทำความสะอาดล่วงหน้า) เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถทำงานเองโดยอัตโนมัติตามเวลาที่กำหนด และ กลับ แท่นชาร์จ โดยอัตโนมัติเมื่อเสร็จ เช่นกัน
  8. Wi-Fi Button : กดเพื่อเริ่มการตั้งค่าการเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน กับตัวเครื่อง ผ่านเครือข่ายไร้สาย (Wi-Fi)
  9. EDGE Button : เปิดใช้งาน โหมดการทำความสะอาดแบบเลาะขอบกำแพง เครื่องจะวิ่งเข้าหากำแพงทันที และวิ่งเลาะขอบไปเรื่อยๆ จนครบ

เริ่มต้นใช้งานเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Hybrid Camera Map Wi-Fi

การใช้งานเครื่องนี้ ก็จะเหมือนหุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั่วๆ ไป ที่จะต้องมีการติดตั้งแท่นชาร์จ รวมไปถึงการชาร์จไฟ เข้าเครื่องให้เรียบร้อยเสียก่อนที่จะเริ่มต้นใช้งาน ในครั้งแรก มาดูกันตามหัวข้อด้านล่างนี้เลย

  1. การติดตั้งแท่นชาร์จ และ ดึงอุปกรณ์ป้องกันเครื่องออก
  2. การชาร์จไฟครั้งแรก
  3. การตั้งเวลาเครื่อง และ ตั้งเวลาทำความสะอาดรายวัน
  4. การใช้งานอุปกรณ์สำหรับถูพื้น
  5. การเชื่อมต่อแอปพลิเคชั่น ผ่าน Wi-Fi (ใหม่)

1. Charge Base Installation and Protection Removal (การติดตั้งแท่นชาร์จ และ ดึงอุปกรณ์ป้องกันเครื่องออก)

อันดับแรกสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือ การติดตั้งแท่นชาร์จ โดยจะต้องหาพื้นที่ในบ้าน ที่เป็นขอบผนังห้องที่โล่ง และ ไม่มีสิ่งกีดขวางในระยะ 2 เมตรด้านหน้า ขณะที่ ฝั่งซ้าย และ ฝั่งขวา ฝั่งละ 1 เมตร เพื่อความแม่นยำของเครื่องในการตรวจจับหาแท่นชาร์จและเข้าออก ได้อย่างแม่นยำ

2. First Time Charging (การชาร์จไฟครั้งแรก)

หลังจากที่ติดตั้งแท่นชาร์จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการชาร์จไฟลงแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน ที่อยู่ในเครื่องเสียก่อน โดยก่อนการชาร์จไฟนั้นอย่าลืมเปิด “สวิตซ์เปิดปิดเครื่องหลัก” ที่อยู่ข้างขวาของตัวเครื่องก่อน เพื่อให้ไฟเข้าเครื่อง ซึ่งการชาร์จนั้นสามารถทำได้ 2 วิธีด้วยกันคือ

  1. Charge via Charge Base : ชาร์จไฟผ่าน แท่นชาร์จ
  2. Charge via DC Jack : ชาร์จไฟตรง ช่องผ่านเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์

3. Time and Daily Cleaning Schedule Settings (การตั้งเวลาเครื่อง และ ตั้งเวลาทำความสะอาดรายวัน)

อีกสิ่งนึงที่จะทำก็ได้หรือไม่ทำก็ได้นั่นก็คือ การตั้งเวลาเครื่อง (Time Setting) ซึ่งจะต้องให้มันรู้จักเวลาปัจจุบันเสียก่อน เพราะถ้าคุณต้องการที่ใช้งานฟังก์ชั่น ตั้งเวลาทำความสะอาดรายวัน (Daily Cleaning Schedule Setting) ก็จะต้องตั้งเวลาให้มันเสียก่อน

การตั้งเวลาเครื่อง

สามารถทำผ่านรีโมทคอนโทรล ได้เลย (จะไม่สามารถตั้งผ่านปุ่มใดๆ ที่ตัวเครื่องได้) โดยจะเป็นการตั้งเวลาในส่วนของ ชั่วโมง (Hour – HH) และ นาที (Minute – MM) เท่านั้น (ไม่ต้องตั้งวันที่)

ตอนแรกก็เริ่มจากการกดที่ “ปุ่ม CLOCK (รูปนาฬิกา)” หลังจากนั้น เครื่องจะส่งสัญญาณดัง “ตี๊ด” ครั้งนึง และคุณสามารถใช้ “ปุ่มลูกศรชี้ขึ้น ↑ (เพื่อปรับเวลาขึ้น)” และ “ปุ่ม MAX (เพื่อปรับเวลาลง)” เพื่อค่าชั่วโมง หลังจากนั้นก็กด “ปุ่มลูกศรชี้ขวา →” เพื่อตั้งค่านาที หลังจากนั้นกด “ปุ่ม CLOCK” อีกครั้ง เพื่อยืนยันการตั้งเวลา

การตั้งเวลาทำความสะอาดรายวัน

วิธีการตั้งค่าส่วนนี้จะเหมือนกับ การตั้งเวลาเครื่อง ด้านบนแต่ให้กด “ปุ่ม PLAN (รูปกระดิ่ง)” แล้วทำตามขั้นตอนเดียวกับ การตั้งเวลาเครื่อง แต่ตรงการตั้งค่านาที นั้นจะสามารถตั้งได้แบบทีละ 15 นาที เท่านั้น เช่น 15.00 น. / 15.15 น. / 15.30 น. และ 15.45 น. เท่านั้น จะมาตั้งแบบ 15.06 น. หรือ 15.39 น. แบบนี้จะไม่ได้

Mister Robot Hybrid Camera Map Time and Cleaning Schedule Setting
การตั้งเวลาเครื่อง (Time Setting) และ การตั้งเวลาทำความสะอาดรายวัน (Cleaning Schedule Setting) (ภาพประกอบ จากรุ่นที่ไม่มี Wi-Fi)

4. Mopping Device and Water Tank Usage (การใช้งานอุปกรณ์สำหรับถูพื้น)

สำหรับการถูพื้นแบบเปียก (Wet Mopping) จะเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ในส่วนด้านหลังของตัวเครื่อง โดยที่ต้องถอดอุปกรณ์ที่เป็น กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) ธรรมดา ที่ติดมากับเครื่อง ออกไปก่อน แล้วค่อยติดตั้งอุปกรณ์อุปกรณ์สำหรับถูพื้น หรือที่เรียกว่า ถังน้ำ (Water Tank) ที่มาพร้อมกับผ้าม็อบไมโครไฟเบอร์ (สีฟ้าๆ) เข้าไปแทน

การติดตั้งตั้งผ้าม็อบถูพื้นเข้ากับตัวแท๊งค์น้ำ : ใช้ตัวผ้าม็อบไมโครไฟเบอร์วางบนแถบตีนตุ๊กแก (Velcro Tape) หรือ แถบหนามเตย เพื่อยึดติดเข้าไว้ด้วยกัน

5. Application Connection via Wi-Fi (การเชื่อมต่อแอปพลิเคชั่น ผ่าน Wi-Fi)

ในการควบคุมเครื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่า สั่งงานต่างๆ จะต้องทำผ่านแอปพลิเคชันชื่อว่า “CAMERA WIFI” โดยบริษัท M.M. Global Trade Company Limited เท่านั้น เนื่องจากบนตัวเครื่อง มีปุ่มควบคุมหลักอยู่เพียงแค่ปุ่มเดียวเท่านั้น จึงให้ทำอะไรไม่ได้มากเท่าไหร่

Camera Wifi App Logo
โลโก้ แอปพลิเคชัน CAMERA WIFI ที่ใช้กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Hybrid Camera Map

โดยเครื่องนี้ มีให้เลือกใช้กันทั้ง 2 ระบบปฏิบัติการเลยคือ iOS และ Android

  1. ดาวน์โหลดแอป CAMERA WIFI สำหรับ iOS ผ่าน App Store
  2. ดาวน์โหลดแอป CAMERA WIFI สำหรับ Android ผ่าน Play Store

และเมื่อดาวน์โหลดและติดตั้งเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้านล่างนี้คือขั้นตอนการเชื่อมต่อ แอปพลิเคชัน CAMERA WIFI กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Hybrid Camera Map Wi-Fi ได้เลย โดยขั้นตอนก็มีอยู่ประมาณนี้

  1. กด “ปุ่ม Wi-Fi” บนรีโมทคอนโทรล ค้างเอาไว้ประมาณ 3-5 วินาที จนกว่าจะได้ยิน “🔊 เสียงตี๊ด

    Mister Robot Hybrid Camera Map Wi-Fi App Interface My Device
    หน้าจอแสดงรายการหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่อยู่ในการครอบครอง หรือควบคุม (My Device)
  2. เปิดแอป CAMERA WIFI เข้ามาแล้ว ให้กด “ปุ่ม Add A Robot” เพื่อทำการเพิ่มหุ่นยนต์ดูดฝุ่นของเรา ให้เข้าไปในระบบ
  3. ระบบจะพามาหน้าเข้าสู่ระบบ (Login Page) แต่ถ้าเป็นการใช้งานครั้งแรก ให้กด “ปุ่ม Sign Up” เพื่อทำการลงทะเบียนผู้ใช้งานเสียก่อน
  4. ใส่อีเมลเข้าไปในช่อง “Please Enter Mailbox” พร้อมกดที่ “ปุ่มวงกลม” ตรงส่วนของ “User Agreement” เพื่อยอมรับข้อตกลงการใช้งาน แล้วหลังจากนั้นกด “ปุ่ม Next Step” เพื่อไปยังขั้นตอนต่อไป
  5. กด “ปุ่ม Get Verification Code” แล้วระบบจะส่งรหัสยืนยัน (Verification Code) เข้าไปทางอีเมลของเราที่ได้กรอกไว้เมื่อขั้นตอนที่แล้ว หลังจากนั้นนำค่าที่ได้กลับมากรอกในช่อง “Input Verification Code” แล้วหลังจากนั้นใส่รหัสผ่านที่เราต้องการในช่อง “Please Set Password” แล้วกด “ปุ่ม Sign Up
  6. ระบบจะแสดงชื่อหุ่นยนต์ดูดฝุ่น “HYBRID CAMERA MAP WIFI” ภายในตัวแอปฯ ซึ่งกดที่ชื่อมันต่อได้เลย
  7. กรอกรหัสผ่าน Wi-Fi ของ SSID ปัจจุบัน ที่เราใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ ลงในช่อง “Input Wi-Fi Password” หลังจากนั้นกด “ปุ่ม Begin to Connect” เพื่อไปยังขั้นตอนต่อไป แล้วรอสักครู่ (ประมาณ 15-20 วินาที)
  8. ระบบจะให้เราตั้งชื่อเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Device Name) ซึ่งจะเปลี่ยนก็ได้หรือไม่เปลี่ยนก็ได้ (ชื่อตั้งต้นคือ “Mister Robot”) หลังจากนั้นกด “ปุ่ม Confirm” เพื่อยืนยันชื่อ และไปยังขั้นตอนถัดไป
  9. เราจะเห็นรายการหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Hybrid Camera Map Wi-Fi แสดงขึ้นในแอปฯ และหลังจากนั้นก็สามารถเข้าไปควบคุมต่อ สั่งงาน หรือตั้งค่าต่างๆ ต่อได้เลย

คุณสมบัติ และความสามารถของตัวแอปพลิเคชัน CAMERA WIFI

  1. การสั่งงานเครื่อง (Execute Cleaning Command)
    1. สั่งให้เครื่องเริ่มทำงานในโหมดทำความสะอาดอัตโนมัติ (Auto Clean Mode)
    2. หยุดทำงานชั่วคราวหรือทำงานต่อ (Stop / Start Clean)
    3. สั่งให้เครื่องกลับแท่นชาร์จ (Recharge)
    4. ความสามารถการทำความสะอาดเสริมพิเศษ (Special Cleaning Features)
      1. โหมดทำความสะอาดเฉพาะจุด (Spot Cleaning Mode)
      2. โหมดทำความสะอาดแบบเลาะขอบกำแพง (Edge Cleaning Mode หรือ Along Wall Cleaning Mode)
      3. โหมดควบคุมทิศทางเครื่องด้วยตัวเอง (Direction Control Mode หรือ Manual Control Mode)
  2. การดูสถานะของตัวเครื่อง (Robot Status)
    1. ดูสถานะปัจจุบันของตัวเครื่อง (Current Status) ได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ อาทิ
      1. พร้อมใช้งาน (Standby)
      2. หยุดชั่วคราว (Paused)
      3. กำลังกลับแท่นชาร์จ (Recharge)
      4. กำลังหลับ (Sleep)
    2. ดูแผนที่จำลองของห้องแบบสดๆ (Real-time Cleaning Map) เพื่อดูว่าเครื่องทำงานครบทั่วทั้งพื้นที่ห้องแล้วหรือยัง และ ตรวจสอบรูปแบบการทำความสะอาดว่าทำงานอยู่ในโหมดใด นอกจากนี้ยังมีการบอก จำนวนตารางเมตร ที่เครื่องทำความสะอาดไปแล้ว
    3. ขนาดพื้นที่ที่ทำความสะอาดไปแล้ว (Cleaning Area) (หน่วยเป็นตารางเมตร – m2)
    4. ระยะเวลาที่ใช้ในการทำความสะอาด (Cleaning Time) (หน่วยเป็นนาที – Min)
    5. ปริมาณคงเหลือของแบตเตอรี่ (Remaining Power) (บอกเป็นแถบ – มีทั้งหมด 3 แถบ)
  3. การตั้งค่าทั่วไป (General Settings)
    1. สามารถตั้งเวลาทำความสะอาดอัตโนมัติ (Planning) รายวันได้ว่าในแต่ละวันของสัปดาห์ ทำความสะอาดเวลาไหนบ้าง (ได้แค่วันละครั้งเท่านั้น)
    2. สามารดูประวัติการทำความสะอาด (Cleaning Records) ย้อนหลังได้ทุกครั้ง ว่า วันไหน เริ่มเวลาไหน ทำความสะอาดไปกี่ตารางเมตร ใช้เวลาเท่าไหร่ และแผนที่จำลองของห้อง ในแต่ละครั้งเป็นอย่างไรบ้าง
    3. สามารถดูสถานะของอุปกรณ์สิ้นเปลือง (Consumable Parts) อย่าง แปรงกวาดข้าง แปรงกวาดหลัก หรือ แผ่นกรองอากาศ HEPA ได้ว่าเหลือกี่เปอร์เซ็นต์ (%) แล้ว ควรเปลี่ยนได้แล้วหรือยัง
    4. สามารถเลือกระดับของปริมาณน้ำที่จะปล่อยลงพื้น (Water Control) ได้ว่าจะให้พื้นเปียกมาก หรือเปียกน้อย โดยมีให้เลือกทั้งหมด 3 ระดับคือ
      1. เปียกน้อย (Soft)
      2. เปียกปานกลาง (Normal)
      3. เปียกมาก (Strong)
    5. สามารถตั้งชื่อหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Set Remark) ได้ตามต้องการ จะมีประโยชน์มากในกรณีที่เรามีหลายเครื่อง
    6. สามารถปรับพลังการดูด (Suction Power) ไปเป็นระดับสูงสุด (Max Suction Mode) ได้
    7. สามารถหาตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Find Robot) ด้วยการให้ตัวเครื่องส่งเสียงออกมาได้ ในกรณีที่หาไม่เจอ
    8. สามารถตั้งเปลี่ยนชื่อเรียก (Robot Name) ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นได้
    9. สามารถล้างการตั้งค่าทั้งหมด (Reset All Settings) ให้เป็นค่าเริ่มต้นจากโรงงาน เพื่อเริ่มต้นใหม่ได้

คำถามที่คุณต้องอยากรู้ เกี่ยวกับการใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Hybrid Camera Map Wi-Fi

มาถึงช่วงของคำถาม ที่คุณต้องอยากรู้ เกี่ยวกับการใช้งานเครื่อง โดยข้อมูลทั้งหมด ได้รวบรวมมาจาก การใช้งานจริงบ้าง และ สอบถามไปทางบริษัทผู้จัดจำหน่ายบ้าง มาดูกันเลย

1. มีกล้องแล้วรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ?

Mister Robot Hybrid Camera Map Box Rear Zoom
รูปเปรียบเทียบการทำงาน ระหว่างรุ่น Hybrid Camera Map กับ รุ่นอื่นๆ (รูปขยายจากด้านหลังกล่องผลิตภัณฑ์)

ขอตอบแบบตรงไปตรงมา ไม่ได้อวย คือ “ดีขึ้นมากๆ” มันเปลี่ยนรูปแบบการวิ่งทำความสะอาดไปจากรุ่นแรก Hybrid โดยสิ้นเชิง โดยรูปแบบของการวิ่งทำความสะอาด ของรุ่น Hybrid Camera Map ตัวนี้ จะเหมือนกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นสูงๆ ราคาแพงๆ คือลักษณะจะวิ่งออกไปทำความสะอาดในทุกพื้นที่ และ วิ่งขึ้นลงเป็นเส้นตรง ดังนั้นไม่พลาดการดูดทำความสะอาดทุกพื้นที่

นอกจากนี้แล้วมันจะจดจำ จุดที่มันเริ่มต้นทำความสะอาด และ เมื่อมันวิ่งครบทั่วทุกพื้นที่เมื่อไหร่ มันจะกลับมายังจุดเดิม นั่นหมายความว่า ถ้ามันเริ่มทำงานออกจากแท่นชาร์จ เมื่อมันเสร็จ มันก็จะกลับมายังแท่นชาร์จเหมือนเดิม แต่ถ้าเราสั่งให้มันเริ่มต้นทำความสะอาดจากจุดอื่น (ที่ไม่ได้มีแท่นชาร์จ) มันก็จะกลับมายังจุดๆ นั้น

2. การวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับ และ การเอาตัวรอดจากอุปสรรคเป็นอย่างไรบ้าง ?

Mister Robot Hybrid Camera Map Working on Carpet and Doorsill
ขณะที่เครื่อง Mister Robot Hybrid Camera Map Wi-Fi กำลังทำงานอยู่บนพรมเช็ดเท้า (Doormat) และ ธรณีประตู (Doorsill) (ภาพประกอบ จากรุ่นที่ไม่มี Wi-Fi)

มีความสามารถในการวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับ อาทิ ธรณีประตู (Doorsill) พรมเช็ดเท้าหน้าประตู (Doormat) ที่ค่อนข้างดีมากๆ เวลามันติดไม่สามารถไปต่อได้นั้น มันจะพยายามขยับตัวไปมา ล้อซ้ายหมุนสลับกับล้อขวา เพื่อเอาตัวมันออกมาจากอุปสรรคเหล่านั้นให้ได้

และจากที่สังเกตดูการทำงานของมันนั้น มันสามารถที่จะวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับได้สูงถึง 1.5 เซนติเมตร (แบบชัวร์ๆ) เลยทีเดียว เพราะปกติแล้ว หุ่นยนต์ดูดฝุ่นขนาดเล็ก มักจะมีปัญหาในการวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับด้วย (เพราะล้อขับเคลื่อนหลักมันก็ขนาดเล็กลงไปตามขนาดของตัวเครื่อง) โดยจะวิ่งผ่านได้ในระดับไม่ค่อยสูงมากเท่าไหร่ มิเช่นนั้นก็อาจจะไปติดแหง็กอยู่ตรงนั้น จนไม่สามารถกลับแท่นชาร์จได้ แต่สำหรับตัวนี้ไม่ใช่อย่างนั้น

3. การถูพื้นแบบเปียก มีความสะอาดมากน้อยแค่ไหน ?

Mister Robot Hybrid Camera Map Working with Mopping Function
ขณะที่เครื่อง Mister Robot Hybrid Camera Map Wi-Fi กำลังดูดฝุ่น และ ถูพื้นแบบเปียก (Wet Mopping) ไปด้วย (ภาพประกอบ จากรุ่นที่ไม่มี Wi-Fi)

ถ้าหากใช้ออปชั่น การถูพื้นแบบเปียก โดยการ ติดตั้งถังน้ำ พร้อม ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ เข้าไปนั้น เราจะสามารถเห็นความเปียก เป็นทางขณะวิ่งทำความสะอาดแบบชัดเจน และที่สำคัญ พื้นจะเปียกอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่มีช่วงไหนแห้งไป หรือ เปียกแฉะจนเกินไป

และเนื่องจากถังน้ำของเครื่องนี้ มีขนาดใหญ่ (0.3 ลิตร) จึงไม่ต้องมาคอยกังวลเติมน้ำอยู่บ่อยๆ โดยผมได้ เติมน้ำจนเต็มถัง และทดสอบ ถูพื้นในห้องพักที่คอนโดมิเนียม พื้นที่รวมๆ ประมาณ 50 ตารางเมตร พบว่า เมื่อดูดฝุ่น ถูพื้น จนเสร็จ ก็ยังคงมีน้ำเหลือในถังอีกอยู่พอประมาณ

4. ระดับเสียงที่วัดออกมาได้เป็นอย่างไร ดังหรือไม่ ?

เรื่องเสียงเงียบ ก็ถือเป็นอีกหนึ่ง จุดเด่นของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot ตระกูล Hybrid กันมาอย่างช้านานแล้ว แต่รุ่นนี้ก็ถูกปรับให้เบาลงไปอีก โดยได้ใช้ แอพ Sound Meter บนระบบปฏิบัติการ iOS ในการทดสอบ โดยผลลัพธ์ได้ดังต่อไปนี้

  • Normal Mode (โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติธรรมดา) : 46 เดซิเบล (ระดับบทสนทนาทั่วไป)
  • MAX Mode (โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติแบบเต็มกำลัง) : 55 เดซิเบล (ระดับบทสนทนาทั่วไป)

จากผลการทดสอบพบว่า หากเราดูดฝุ่นให้เครื่องทำงานในโหมดปกติ ผลการทดสอบของระดับเสียงที่เห็นอยู่ด้านบนนั้น เรียกได้ว่า สามารถใช้บนคอนโดมิเนียม หรือ หอพัก ได้สบายๆ ไม่รบกวนห้องข้างๆ แน่นอน

5. อัตราการกินไฟของเครื่องเป็นอย่างไร ค่าไฟต่อเดือนประมาณเท่าไหร่ ?

และเช่นเคยผมได้ใช้ เครื่องทดสอบอัตราการกินไฟดิจิตอล (Digital Power Consumption Meter) ที่มีอยู่ มาใช้ในการคำนวณค่าไฟของเครื่องนี้ ผลลัพธ์อยู่ในรูปประกอบด้านล่างนี้เลย

Mister Robot Hybrid Camera Map Power Consumption when Charging
อัตราการกินไฟ ขณะเครื่อง Mister Robot Hybrid Camera Map กำลังชาร์จไฟ (Charging) (ภาพประกอบ จากรุ่นที่ไม่มี Wi-Fi)
สถานการณ์
(Situation)
การกินไฟ
(Power Consumption)
การคำนวณค่าไฟ
(Power Consumption Calculation)
ค่าไฟ / เดือน
(Electricity Charge / Month)
1. ขณะไฟยังไม่เต็มแบตเตอรี่

(When Charging)
≈ 15.2 วัตต์ (15.2 วัตต์** x 2 ชั่วโมง* x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต***) / 1,000 4.56 บาท
2. ขณะไฟเต็มแบตเตอรี่แล้ว

(Fully Charged)
≈ 1.8 วัตต์ (1.8 วัตต์ x 21 ชั่วโมง* x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต***) / 1,000 5.67 บาท

รวมทั้งสิ้นค่าไฟของเครื่องนี้ประมาณ 10.23 บาท ต่อเดือน

หมายเหตุ* : ประเมินจากสถานการณ์ ถ้าเครื่องทำงานจนแบตเตอรี่เกือบหมดเกลี้ยง จะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. ระยะเวลาการชาร์จไฟสูงสุดประมาณ์ : 2 ชั่วโมง (ต่อครั้ง ต่อวัน)
  2. ระยะเวลาที่เหลือขณะจอดที่แท่นชาร์จเฉยๆ : 21 ชั่วโมง (ต่อวัน)
  3. ระยะเวลาที่เครื่องออกไปทำงาน : 1 ชั่วโมง (ต่อวัน) (ไม่ถูกนำไปคำนวณ เพราะไม่ได้จอดอยู่ที่แท่นชาร์จ)

หมายเหตุ** : ตัวเลข 15.2 วัตต์ (Watts) นี้ เป็นจำนวนวัตต์แรกเริ่ม เมื่อชาร์จไฟ แต่พอเมื่อชาร์จไปได้สักพัก (ประมาณ ครึ่งชั่วโมง) ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ (ไม่ได้อยู่นิ่งคงที่ 15.2 วัตต์ แบบนี้ตลอด 2 ชั่วโมง) แต่เรายังคงใช้ค่านี้คำนวณค่าไฟตลอดการชาร์จ 2 ชั่วโมง เพื่อเป็นการคำนวณค่าสูงสุด ดังนั้น ค่าไฟจะถูกกว่านี้อีกแน่นอน

หมายเหตุ*** : คุณสามารถเปลี่ยน ค่าไฟต่อยูนิต (ในตัวอย่างนี้คิด 5 บาทต่อยูนิต – ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง) ให้เป็นตามที่จ่ายจริง เพราะที่พักอาศัยในแต่ละที่อาจจะคิดไม่เท่ากัน

6. ปริมาณฝุ่นละออง ในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง และ ถังน้ำ เป็นอย่างไรบ้าง ?

Mister Robot Hybrid Camera Map Dustbin After Used
สภาพกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) หลังใช้งานมาแล้ว 1 วัน (ภาพประกอบ จากรุ่นที่ไม่มี Wi-Fi)

ลักษณะฝุ่นที่ถูกดูดเข้ามาเก็บใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ดูๆ แล้วก็เหมือนกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั่วๆ ไป และที่สำคัญ ถ้าหากสังเกตดูดีๆ ทางด้านซ้ายมือ มีการดูดเอาลวดเย็บกระดาษ (Staple) พร้อมกับ คลิปหนีบกระดาษ (Paper Clip) เข้ามาด้วย ถือว่า พลังดูดของเครื่องจัดว่าไม่ธรรมดาเหมือนกัน แถมยังไม่ไปพันกับตัวแปรงกวาดหลักอีกต่างหาก (ในภาพนี้ใช้ แปรงขนแบบเกลียว)

ขณะที่สภาพของฝุ่นที่อยู่ภายถังน้ำหลังการใช้งาน ก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นถังน้ำ แต่ก็ยังมีส่วนที่สามารถใช้กักเก็บฝุ่นละอองเช่นกัน โดยฝุ่นละอองก็ยังคงสามารถถูกดูดเข้ามาได้ตามปกติ ขณะที่ ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ หลังการใช้งานก็มีสภาพเลอะๆ หน่อย ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะได้ทำความสะอาดจริงๆ

7. มีระยะเวลาการรับประกัน ยาวนานแค่ไหน?

หุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้านของ Mister Robot จะมีการรับประกันในส่วนของอุปกรณ์ภายในตัวเครื่องเป็นระยะเวลา 1 ปี ส่วนของแบตเตอรี่จะรับประกัน 6 เดือน หลังจากหมดช่วงระยะประกันแล้วสามารถสั่งซื้ออุปกรณ์อะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆ ได้ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ของผู้จัดจำหน่ายได้เลย

โดยลูกค้าที่สั่งซื้อไปใช้งานแล้ว ถ้าหากเครื่องมีปัญหา ก็สามารถติดต่อแผนกบริการหลังการขาย (After Service Support Team) ได้โดยตรงเลยที่

  • Hotline (สายด่วน) : 06-3269-9500
  • LINE ID (ไลน์ไอดี) : servicemisterrobot

หมายเหตุ : เมื่อแกะกล่องใช้งานแล้ว อย่าลืมกรอกข้อมูลส่วนตัวลงในบัตรรับประกันสินค้าเสียก่อน แล้วเก็บเอาไว้กับตัว (แนะนำให้เก็บไว้ในกล่องผลิตภัณฑ์เหมือนเดิม) เผื่อกรณีเครื่องมีปัญหา จะได้นำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงได้

8. สั่งซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Camera Map ได้ที่ไหน ?

คุณสามารถสั่งซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Hybrid Camera Map นี้ได้ผ่านทางหลายช่องทาง ถ้าไปซื้อหน้าร้านก็ เช่นที่ ห้างโฮมโปร (HomePro) หรือ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล (Central Department Store) ที่ร่วมรายการ หรือจะโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถามทาง บริษัท เอ็ม เอ็ม โกลบอลเทรด จำกัด ผู้จัดจำหน่าย ก่อนได้ที่เบอร์โทรศัพท์ ด้านล่างนี้เลย

  • Telephone No (เบอร์โทรศัพท์) : 08-7087-5352
  • Website (เว็บไซต์) : http://www.misterrobotcleaner.com
  • Line ID (ไลน์ไอดี) : @mister_robot
  • Facebook Page (เพจเฟสบุ๊ค) : misterrobotcleaner (มิสเตอร์โรบอทคลีนเนอร์) ตามกรอบด้านล่าง

บทสรุปการใช้งาน เครื่อง Mister Robot Hybrid Camera Map Wi-Fi

ข้อดี 🙂

  • ใช้ระบบกล้องนำทาง ทำให้การวิ่งทำงานมีความแม่นยำสูงขึ้น รวมไปถึงการวิ่งกลับแท่นชาร์จ ก็แม่นยำสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
  • มีระบบปล่อยน้ำลงพื้นอัจฉริยะ ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำจากถังน้ำหยดลงสู่พื้นจนเจิ่งนองขณะจอดชาร์จไฟ หรือ จอดอยู่กับที่เฉยๆ
  • ตัวเครื่องมีขนาดบางกว่าเดิมจากตระกูล Hybrid รุ่นก่อนๆ อีก อยู่ประมาณ 4 มิลลิเมตร (จากสูง 76 มิลลิเมตร ลดลงเหลือ 72 มิลลิเมตร) และ น้ำหนักเบาเพียง 2.5 เซนติเมตร ทำให้วิ่งเข้าซอกมุม มุดใต้โซฟา ขาเก้าอี้สำนักงานได้อย่างสะดวกสบาย
  • มีระดับเสียงในการทำงานของตัวเครื่องที่เบาค่อนข้างมาก (ต่ำกว่า 60 เดซิเบล) ไม่สร้างความรบกวนแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหอพัก หรือ คอนโดมิเนียม ที่เหมาะมากๆ
  • มีระบบตั้งตารางเวลาทำงานล่วงหน้าแบบอัตโนมัติ สำหรับสั่งการให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทำความสะอาดบ้านเองตามเวลาที่กำหนดไว้
  • สามารถใช้ทำความสะอาดบ้านได้นานกว่า 2 ชั่วโมง ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง
  • มีตัวเซ็นเซอร์กันตกจากที่สูง และเซ็นเซอร์หลบหลีกการชนกำแพง สิ่งกีดขวาง
  • ใต้แท่นชาร์จ มีแถบยางซิลิโคนติดตั้งไว้หลายจุด เพื่อให้ยึดติดกับพื้นได้มั่นคง และกันการเลื่อนในเวลาที่หุ่นยนต์วิ่งกลับมาชาร์จพลังงานที่แท่นชาร์จได้

ข้อดีในส่วนของแอปพลิเคชัน 🙂

  • ขั้นตอนการเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน ค่อนข้างง่าย ไม่ซับซ้อนเลย
  • การที่มันสามารถการสั่งงานผ่านแอปพลิเคชันได้นั้น ทำให้สามารถเลือกระดับของปริมาณน้ำที่จะปล่อยลงพื้นได้ถึง 3 ระดับ

ข้อเสีย 🙁

  • ไม่มีหน้าจอแสดงผล บนตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น สำหรับดูสถานะของการทำงานในโหมดต่างๆ มีแต่การแสดงสถานะด้วยไฟแสดงสถานะ ซึ่งต้องอาศัยความจำ ว่าไฟสีไหน กระพริบไม่กระพริบ หมายความว่าอย่างไรกันบ้าง
  • ไม่สามารถเปลี่ยนโหมด หรือฟังก์ชั่นการทำงานของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นได้ที่ตัวเครื่อง เพราะบนตัวเครื่องมีปุ่มอยู่เพียงปุ่มเดียว คือ “ปุ่ม CLEAN” (ต้องใช้รีโมทคอนโทรลเท่านั้น)
  • ตัวกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ไม่มีฝาปิดด้านนอก ดังนั้น ต้องใช้ความระมัดระวังในการถอดออกมาทำความสะอาด เพราะหากถือไม่ระมัดระวัง อาจทำให้เศษฝุ่นละออง ขนาดน้อยใหญ่ต่างๆ ร่วงหล่นออกมาได้ง่ายๆ เสียเวลาเก็บกวาดกันไปอีก
  • ถังน้ำ ที่ใช้สำหรับถูพื้นแบบเปียก ไม่ตัวแผ่นกรองฝุ่น

← กลับไปอ่านหน้า 1 (Previous Page)

1
2
ทบทวนภาพรวม
ความสะอาดการดูดฝุ่น
9
ความสะอาดการถูพื้น
9
การดูดทั่วทั้งบริเวณในห้อง
10
การเอาตัวรอดจากอุปสรรค กลับแท่นชาร์จเอง
9
การดูแลรักษา ทำความสะอาด
9
ความหลากหลายของอุปกรณ์เสริม
9
ความสะดวก และ ง่ายต่อการใช้งาน
8.5
ความสามารถของแอปพลิเคชัน
9
ความสะดวก และ ง่ายของการใช้แอปพลิเคชัน
8
ความคุ้มค่าเทียบกับราคา
8
ความพึงพอใจโดยรวม
10
บทความก่อนหน้านี้MITSUTA MAP450 เครื่องฟอกอากาศ 6 ขั้นตอน มีประจุลบ ตั้งเวลาได้ ปรับความแรงได้ 3 ระดับ
บทความถัดไปECOVACS DEEBOT OZMO 900 หุ่นยนต์ดูดฝุ่นระบบ Laser ถูพื้นเปียก ควบคุมน้ำได้ ใช้ App ได้
Thanop Somprasong
Thanop.com Founder + Thaiware.com Co-Founder + Business Director, Cloud Business Co.,Ltd. + Committee Thai Webmaster Association
mister-robot-hybrid-camera-map-reviewหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Hybrid Camera Map Wi-Fi ถือเป็นตระกูล Hybrid รุ่นที่ 4 แล้ว ที่ออกมา ให้ความหวือหวาพอสมควรในมุมของ ความแม่นยำในการวิ่งทำความสะอาด เนื่องจากใช้ กล้องสร้างแผนที่จำลองในการนำทาง และ วางแผนการทำความสะอาด แทนการใช้ อินฟราเรดเซ็นเซอร์ ในการนำทางเหมือน 2 รุ่นแรก <br /><br /> โดยในรุ่นที่ 4 นี้ จะมีความคล้ายคลึงกับรุ่นที่ 3 (Mister Robot Hybrid Camera Map) เอามากๆ ต่างกันหลักๆ ตรงที่ รุ่น 4 สามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi เพื่อสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน บนสมาร์ทโฟนได้ แค่นี้เอง <br /><br /> หากพูดถึง การนำทาง และ การวิ่งทำความสะอาด เห็นได้อย่างชัดเจนว่าวิ่งเป็นเส้นตรงขึ้นลง (จะเรียกว่า "ตรงไปตรงมา" ก็ไม่ผิด) การหมุนกลับพลิกตัว โดยรวมทำได้ดีมาก การวิ่งเข้าออกห้องต่างๆ ก็ทำได้ดี อย่าง 1 ห้องรับแขก 2 ห้องนอน ก็สามารถวิ่งได้ ครบทั่วทุกห้อง <br /><br /> นอกจากนี้แล้ว ยังมีจุดที่ Mister Robot Hybrid Camera Map Wi-Fi ได้ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆ อย่าง การออกแบบตัวเครื่องให้ มีความบางลงอีก 4 มิลลิเมตร เพิ่มโอกาสการวิ่งลอดใต้โซฟา ขาเก้าอี้สำนักงาน ให้สูงขึ้นไปอีก แถมยังมีระบบปล่อยน้ำลงพื้นอัจฉริยะ ที่ป้องกันน้ำเจิ่งนองขณะจอดอยู่กับที่ และ แปรงยางทรงวี (V-Shape Rubber Brush) ที่ดูดเส้นผม ขนสัตว์ ขนาดยาวๆ ได้เป็นอย่างดี <br /><br /> ในขณะที่จุดเด่นที่สร้างชื่อจากรุ่นก่อนๆ ที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น อย่าง ถังน้ำขนาดใหญ่ 0.3 ลิตร เซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่น ที่หายห่วงเรื่องการตกจากที่สูง ก็ยังอยู่กันครบ และที่สำคัญ แม้ตัวเครื่องจะเล็ก บาง แต่ก็ยังมีความสามารถ มีพลังที่พอจะวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับได้ในระดับ 1.5 เซนติเมตร <br /><br /> ขณะที่ข้อควรปรับปรุงจากรุ่นก่อนๆ ที่รุ่นนี้ ก็ยังคงไม่ได้ถูกปรับปรุง คือ กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ยังคงไม่มีฝาปิด ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังสูง ในการถอดออกมาและนำฝุ่นไปทิ้ง เพราะเศษฝุ่นละอองจากข้างใน อาจจะร่วงหล่นได้ง่ายๆ <br /><br /> ในขณะที่การสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน ก็ถือว่าตอบสนองได้รวดเร็วดี สามารถดูแผนที่จำลองของห้องได้แบบสดๆ พร้อมปรับเปลี่ยนโหมดการทำงานได้หลายรูปแบบทั้ง โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติ เฉพาะจุด เลาะขอบกำแพง หรือแม้แต่ควบคุมทิศทางเครื่องด้วยตัวเอง แต่การตั้งเวลาทำความสะอาดอาจจะดูงงๆ ไปนิดนึง แถม ใน 1 วันยังตั้งได้แค่เวลาเดียวเท่านั้น จริงๆ น่าจะตั้งได้หลายเวลากว่านี้

13 ความคิดเห็น

  1. ถ้าอยุ่ๆมันไม่ทำงาน ชาจไฟไม่เข้า วางบนแท่นชาจแล้วสั่งผ่านโทรศัพท์ก้ไม่ได้ แบบนี้ ต้องทำไง พอยกออกจากแท่นชาจก็ดับเลย

  2. ย้ายที่ตั้งแท่นชาร์จได้ไหมคะระหว่างทำงานหรือระหว่างวันเช้า-เย็นหรือคนละวัน. ทำไมบางทีทำนิดเดียวแล้วหยุด ต้องสตาร์ทใหม่และมีอาการขึ้นคำว่า………Error 2-3ครั้ง จำไม่ได้ค่ะ ตัวหนังสือสีเหลือง อุปกรณ์ล้างได้ทุกชิ้นไหมคะ นอกจากแผ่นฟอกอากาศ ต้องล้างอุปกรณ์ทุกวันไหมคะ ขอบคุณมากค่ะ รุ่น Mister Robot

  3. เวลาเปิดปิดไฟแสงสว่างในบ้านตอนที่มันกำลังทำงาน ปรากฏว่ามันวิ่งเพี้ยนไปจากเดิม คือมันวิ่งเป็นแนวทแยงซะงั้น และก็ทำงานไม่เสร็จซักที แถมกลับแท่นชาร์ทไม่ถูกอีก แบบนี้เป็นปัญหาไหม หรือว่าเป็นปกติครับ

  4. อยากทราบราคาช่วงปกติ และราคาช่วงโปรโมชั่น มีแถมไรบ้างคะ

  5. ไฟแท่นชาร์จ เวลาชาร์จ ไฟที่แท่นเป็นสีอะไร

  6. รุ่นนี้แก้ปัญหาเรื่องน้ำไหลออกมาตลอดตอนไม่ใช้งานไหมคะ

  7. ซื้อรุ่น มีกล้องมาค่ะ(รุ่นนี้เลย) ลองใช้แล้วทำไมหุ่นยนต์ถึงชนสิ่งกีดขวางตลอดเลยค่ะ รุ่นนี้มีตัวเซนเซอร์กันชนสอ่งกีดขวางไม่ใช่เหรอคะ รึเครื่องมีปัญหาคะ

  8. ผมอยู่คอนโด 34 ตารางเมตรครับเล็กๆ แต่อยากรบกวนเปรียบเทียบการทำงานต่อเนื่องระหว่างห้องของ Camere Map กับ Neato D5 ให้หน่อยครับ ใครฉลาดกว่ากัน

    จะเกินไปรึเปล่าครับถ้าจะซื้อ Neato D5 มาใช้กับคอนโด 34 ตารางเมตร (2 ห้องแยกเป็นห้องนอนห้องนั่งเล่น) หรือว่าแค่ Camera Map ก็เพียงพอแล้วครับ (ผมเน้นดูฝุ่นที่วิ่งระหว่างห้องเสร็จแล้วกลับมาที่ฐานได้ครับ) ขอบคุณครับ

    ปล. ผมชอบ Neato ตรงช่องดูฝุ่นที่มีขนาดยาวเกือบเต็มหน้าตัดทรงตัว D ครับ ส่วนยี่ห้ออื่นช่องดูดฝุ่นมันไม่ค่อยใหญ่เท่าไร

  9. ขอบคุณมากค่ะ จัด duo wifi มาแล้วค่ะ ตอบโจทย์เรื่องดูดแรงๆ ถูพอได้ กับใช้งานสะดวกตรงจอกับแอพดีค่ะ ตอนแรกจะรอรุ่น camera map แต่ออกมาแล้วดันไม่มีwifi ซะงั้น

  10. แล้วก็รุ่น camera ถ้าห้องไม่ได้เปิดไฟ มันผล่อระบบ camera map ไหมคะ

  11. camera map สามารถตั้งเวลาทำความสะอาด (Schedule Cleaning) แบบยืดหยุ่น เหมือนรุ่น duo wifi ไหมคะ
    อยากรบกวนให้ทำตารางเปรียบเทียบอีกค่ะ คิดไม่ตกว่าการสั่งงานสะดวกของduo wifi หรือ การวิ่งแบบแม่นยำ,ถูพื้นดีกว่าของ camera map อันไหนจะดีกว่า

    • ไม่สามารถตั้งแบบยืดหยุ่นได้ครับ คือถ้าตั้งเวลาไหน ก็จะได้เวลานั้นตลอดทั้ง 7 วันต่อสัปดาห์ไปเลยครับ

      ส่วนเรื่องตารางเปรียบเทียบ เดี๋ยวจะทำให้เร็วๆ นี้นะครับผม

      ขอบคุณมากครับ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้