Roborock Auto-Empty Dock

Roborock Auto-Empty Dock
แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock

หลังจากที่ผมได้ทำการเขียน รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock S7 ไปแบบเนื้อหาที่แน่นเอี๊ยด ยาวเหยียด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็พบว่า คุณสมบัติ และความสามารถ ของ Roborock S7 ของเครื่องนี้ นั้นมันเยอะเกินที่จะเขียนบรรยายสั้นๆ ได้ ซึ่งถ้าจะมาเขียนตัว แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ (Auto-Empty Dock) ที่เป็นอุปกรณ์เสริม (ที่ต้องซื้อแยกต่างหาก) ในบทความเดียวกัน ก็คงจะยิ่งยาวขึ้นไปอีก เลยขอแยกออกมาเป็นรีวิวอีกฉบับเลยละกัน

ขอเข้าเรื่องเลยนะครับ รีวิวฉบับนี้เป็น รีวิวแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ หรือที่ทาง แบรนด์ Roborock นี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Auto-Empty Dock” ซึ่งอันที่จริงแล้ว ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ มันก็คือ แท่นชาร์จที่สามารถทำความสะอาดได้เอง (Self-Cleaning Charge Base) นั่นเอง

เพราะโดยปกติแล้ว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Robot Vacuum Cleaner) แทบจะทุกรุ่น ทุกยี่ห้อนั้น มันจะต้องมีแท่นชาร์จ (Charge Base) ส่วนตัว ที่เปรียบเสมือนบ้านของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่จะต้องให้มันวิ่งกลับมาชาร์จไฟ (เติมพลัง) ก่อนจะกลับออกไปทำความสะอาดในครั้งต่อไป แต่ตัวนี้ นอกจากที่จะชาร์จไฟได้แล้ว ยังสามารถดูดฝุ่น หรือเศษสิ่งสกปรกต่างๆ ที่อยู่ใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง เข้าไปเก็บไว้ใน ถังเก็บฝุ่นไซโคลนขนาดใหญ่ ที่อยู่ที่ตัวแท่นชาร์จได้อีกด้วยเช่นกัน

โดยตัวนี้ จะช่วยลดภาระ ในการดูแล หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock S7 ของคุณให้น้อยลง เพราะไม่ต้องมาคอยเอาขยะไปทิ้งบ่อยๆ จากเดิมที่ควรจะต้องนำไปทิ้ง 2-3 วันต่อครั้ง สามารถยืดออกไปได้สูงสุด 6 สัปดาห์กันเลยทีเดียว และแว่วๆ มาว่า แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock อันนี้ จะสามารถใช้งานร่วมกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock ได้อีกหลายๆ เครื่องในอนาคตอีกด้วยเช่นกัน (ไม่ใช่แค่เฉพาะ Roborock S7 เท่านั้นนะ) เรียกได้ว่าซื้อครั้งเดี่ยว ใช้กันได้ยาวๆ สำหรับรายละเอียดเนื้อหาภายในบทความรีวิวจะเป็นอย่างไรนั้น อ่านต่อ หรือเลือกจากเมนูด้านล่างนี้ได้เลย

    1. รู้จักผลิตภัณฑ์ Roborock
    2. แกะกล่องผลิตภัณฑ์
    3. อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์
    4. ข้อมูลจำเพาะ ข้อมูลทางเทคนิค ของแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ
    5. คุณสมบัติ และ ความสามารถ ของแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ
    6. การติดตั้ง แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock
    7. สำรวจรอบๆ ตัวแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ
    8. ความเปลี่ยนแปลงของแอป Roborock หลังจากติดตั้งแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ
    9. สภาพหลังการใช้งาน
    10. ราคาอะไหล่ที่สามารถเปลี่ยนได้
    11. การติดต่อสั่งซื้อ และ การรับประกัน
    12. บทสรุปหลังการใช้งาน ข้อดี ข้อเสีย

หากใครที่ต้องการชมคลิปวิดีโอ ก็สามารถที่จะดูคลิปที่ผมทำมาให้ ความยาวเกือบๆ 17 นาที มีทั้งการอธิบายคุณสมบัติ และความสามารถหลัก รวมไปถึง ส่วนประกอบของตัวเครื่อง, สาธิตการใช้งาน และ สภาพฝุ่นภายในถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน ใครพอมีเวลานั่งดูก่อนได้เลยครับ

แกะกล่องผลิตภัณฑ์ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock

ตัวกล่องผลิตภัณฑ์ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock ที่ใช้กับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น มีขนาดมิติอยู่ที่ ยาว (L) 550 x กว้าง (W) 235 x สูง (H) 383 มิลลิเมตร ในขณะที่น้ำหนักสินค้ารวมกล่อง (Gross Weight) อยู่ที่ประมาณ 8.4 กิโลกรัม โดยที่ตัวกล่องมาในธีมสีขาว และเทา ผสมผสานกับสีดำ ที่เป็นสีของตัวเครื่อง และสีแดง ตามสไตล์ของแบรนด์ Roborock นั่นเอง เราลองมาดูรายละเอียดในแต่ละด้านของกล่องผลิตภัณฑ์กันเลย

ด้านหน้ากล่อง : มีคุณสมบัติ และความสามารถ ที่โดดเด่นของตัวแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติทั้งหมด 6 ข้ออยู่ที่ฝั่งซ้าย พร้อมกับรูปตัวแท่น ที่ถูกจัดวางอย่างเด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลาง รวมไปถึงโลโก้ Roborock พร้อมข้อความ “Auto-Empty Dock” อยู่ที่มุมขวาด้านบน

และนอกจากนี้แล้วที่มุมซ้ายด้านล่างยังมี โลโก้ การทดสอบ และรับรองจาก ทียูวีไรน์แลนด์ (TÜV Rheinland Certified) เกี่ยวกับการที่มันมี แรงดูดที่คงที่ (Constant Suction Power) อีกด้วย

ด้านหลังกล่อง : เป็นข้อมูลเชิงลึกของตัว แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ ที่มีบอกถึง คุณสมบัติ และความสามารถ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock พร้อมรูปกราฟิกประกอบแบบชัดเจน

ด้านซ้ายกล่อง : ข้อมูลเกี่ยวกับ คุณสมบัติ และความสามารถ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock ที่มีอยู่ทั้งหมด 6 ข้อด้วยกัน ในรูปแบบของ ไอคอนแบบกราฟิกแบบเวกเตอร์ พร้อมคำอธิบายสั้นๆ

ด้านขวากล่อง : ข้อมูลเกี่ยวกับ อุปกรณ์ทั้งหมด ที่ให้มาภายในกล่องผลิตภัณฑ์ (What’s Inside) ที่มีอยู่ทั้งหมด 8 ชิ้นหลักๆ ด้วยกัน

อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock

Roborock Aut-Empty Dock Box Unpacked
แกะกล่องผลิตภัณฑ์ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock

อันที่จริงแล้ว แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock ถือเป็น อุปกรณ์เสริม (Accessory) ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock แต่คิดไม่ถึงเลยว่าทาง Roborock เขาจะเอาใจใส่ และจัดอุปกรณ์มาให้แบบจัดเต็มขนาดนี้ เราลองมาดูกันเลยว่าเขาให้อะไรมาบ้าง

Roborock Auto-Empty Dock Component
อุปกรณ์ทั้งหมด ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock

1. Dock (แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ x 1 ชุด)

Roborock Auto-Empty Dock Main
แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ (Dock) หรือ ส่วนหลัก (Main)

อุปกรณ์ชิ้นแรกนี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญมากๆ ของ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock นี้เลยก็ว่าได้ เพราะอุปกรณ์ชิ้นนี้มันก็คือตัว แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ นั่นเอง (อย่าเพิ่งงงนะครับ) เอาจริงๆ แล้ว มันก็คือ ส่วนสำคัญ หรือ ส่วนหลักของมันนะแหละ ในขณะที่ อุปกรณ์อื่นๆ ที่เขียนอธิบายเพิ่มเติมอยู่ด้านล่างคือ อุปกรณ์เสริม ของอุปกรณ์ชิ้นนี้อีกทีนึงนั่นเอง

อุปกรณ์ชิ้นนี้ มีน้ำหนักมากที่สุด (เกือบๆ 4.5 กิโลกรัม) โดยมันจะต้องถูกติดตั้งคู่กับ ฐานของแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ (Base) โดยมันมีหน้าที่ในการดูดฝุ่น หรือเศษสิ่งสกปรกต่างๆ ออกมาจาก กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) ที่อยู่ภายใน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock นั่นเอง (ส่วนประกอบของตัวเครื่อง)

ด้วยแรงดูดกว่า 1,000 วัตต์ (Watts) เพื่อนำมากักเก็บ ภายในถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน 3 ลิตร ของตัวแท่นนี้ จึงทำให้ เราไม่ต้องดูแลใดๆ กับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock ไปได้เลยสูงสุดกว่า 6 สัปดาห์ (หรือประมาณ 1.5 เดือน)

2. Base (ฐานของแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ x 1 ชุด)

Roborock Auto-Empty Dock Base
ฐานของแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ (Base)

ส่วนของฐานแท่น (Base) เป็นอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสอง รองลงมาจาก แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะตัว แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ ที่อยู่ด้านบนนั้น จะไม่สามารถตั้งตระหง่านอยู่ได้ ถ้าไม่มีฐาน (Base) ตัวนี้

โดยมันมีหน้าที่เป็นตัวรองรับ ตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock เมื่อทำภารกิจทำความสะอาดพื้นเสร็จสิ้น ก็จะมาจอดอยู่บนฐานนี้ที่นี่ และขั้วชาร์จไฟ รวมไปถึงท่อลำเลียงเศษฝุ่นต่างๆ ออกจากตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ก็อยู่ที่นี่ด้วยเช่นกัน

3. Power Cable (สายไฟ x 1 เส้น)

Roborock Auto-Empty Dock Power Cord
สายไฟ (Power Cord) ความยาว 1.8 เมตร

สายไฟขนาดความยาว 1.8 เมตร (6 ฟุต) ที่ให้มานี้ ไม่ใช่สายไฟขนาดเล็กเหมือนกับสายไฟของ ชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ ทั่วๆ ไป เพราะนี่คือสายไฟที่ต้องนำส่งกำลังไฟฟ้าขนาด 1,000 วัตต์ (Watts) เข้าไปยัง ชุดแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ เพื่อขับเอามอเตอร์ดูดฝุ่นพลังสูงให้ดูดเอาฝุ่น หรือเศษสิ่งสกปรกต่างๆ ออกมา จากตัวเครื่อง

โดยสายไฟที่ให้มานี้เขียนว่าเป็นยี่ห้อ BAOHING (เป่าชิง) รุ่น GTSA-2 (N14586) ชนิดยืดหยุ่นแบบ H05VV-F ขนาด 2 x 1.0 ตารางมิลลิเมตร (mm2) หัวปลั๊กไฟเป็นขากลมชนิด E (Type E Plug) ครับ ซึ่งทาง BAOHING  ก็แบรนด์ผู้ผลิตสายไฟ สายเคเบิล ชื่อดังของประเทศจีน พร้อมมีการรับรองมาตรฐานการผลิต และ มาตรฐานอุตสาหกรรม อย่าง CE เป็นต้น

4. Screwdriver (ไขควง x 1 อัน)

Roborock Auto-Empty Dock Screwdriver
ไขควง (Screwdriver)

ไขควง 4 แฉก (4-Point Screwdriver) โลหะขนาดเล็กสั้นๆ มีความยาวประมาณ 6.4 เซนติเมตร ถูกติดอยู่ข้างใต้ ฐานของแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ แต่สามารถแกะออกง่าย (มันมีที่ล็อกเก็บอยู่ตรงนั้นพอดี ใช้เสร็จแล้วอย่าลืมเก็บเข้าไว้ที่เดิมนะครับ ป้องกันหาย) มีหน้าที่เอาไว้ในการไขนอต เพื่อยึดเอา ฐานของแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ (Base) เข้ากับ ฐานเก็บฝุ่นอัตโนมัติ (Dock) เข้าไว้ด้วยกัน จะได้ยึดติดกันอย่างเหนียวแน่ และแข็งแรง โดยมีอยู่ทั้งหมด 5 จุด

หมายเหตุ : ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถใช้ไขควง 4 แฉก อันอื่นมาไขก็ได้เช่นกัน ในกรณีที่สมมุติเกิดมันหายขึ้นมาจริงๆ

5. Auto-Empty Dustbin (กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง สำหรับใช้งานคู่กับแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ x 1 ชุด)

Roborock Auto-Empty Dock Auto-Empty-Dustbin-Detail
รายละเอียดกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง สำหรับใช้งานคู่กับแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ (Auto-Empty Dustbin Detail)

สำหรับใครที่ มีหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7 อยู่แล้ว และต้องการที่จะใช้งาน แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock เสริมเติมเข้าไปด้วย จะต้องเปลี่ยนเอาตัว กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง อันที่ติดมากับตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ออกมา แล้วเอา กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง สำหรับใช้งานคู่กับแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ (Auto-Empty Dustbin) เข้าไปใส่แทน เพราะมันจะต้องมีส่วนของช่องอากาศเข้ามาด้วย อยู่ทางด้านขวามือของกล่องฯ

6. Disposable Dust Bag (ถุงเก็บฝุ่นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง x 1 ถุง)

Roborock Auto-Empty Dock Disposable Dust Bag
ถุงเก็บฝุ่นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Disposable Dust Bag)

เครื่องนี้ยังมีออปชันเสริมพิเศษให้อีก ด้วยการให้ออปชันพิเศษเพิ่มเติมเข้ามาอีก อย่าง การเก็บฝุ่นด้วย ถุงเก็บฝุ่นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Disposable Dust Bag) สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการไปยุ่งวุ่นวายอะไรใดๆ กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเลย และยังไม่ต้องการ ทำความสะอาดถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน ที่อยู่ที่แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ ใส่ถุงเก็บฝุ่น (Dust Bag)

โดยถุงเก็บฝุ่นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งนี้ เขาให้ติดมากับ กล่องผลิตภัณฑ์ เพียงแค่ถุงเดียวเท่านั้น หากใช้แล้ว และมีความประสงค์ต้องการซื้อเพิ่ม สามารถ ติดต่อทางตัวแทนจำหน่าย Roborock ประเทศไทย ได้เลย

7. Disposable Dust Bag Holder (ที่ใส่ถุงเก็บฝุ่นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง x 1 ชุด)

Roborock Auto-Empty Dock Disposable Dust Bag Holder
ที่ใส่ถุงเก็บฝุ่นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Disposable Dust Bag Holder)

แผ่นพลาสติก (รูปทรงแปลกๆ ตามรูปที่เห็น อยู่ด้านขวามือ) มีหน้าที่เอาไว้ให้ตัว ถุงเก็บฝุ่นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง สอดเข้าไปในร่องด้านข้าง ในขณะที่ด้านบนของมัน จะถูกยึดกับ พื้นที่ด้านบนของ ถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน

แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าจะใช้ระบบการเก็บฝุ่นด้วย ถุงเก็บฝุ่นฯ นี้จะต้องถอดเอา ตัวแยกฝุ่นพลังไซโคลน (Cyclone Separator) ที่ติดตั้งอยู่ก่อนออกจาก ถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน ให้เรียบร้อยเสียก่อน (เพราะมันสามารถเลือก ที่จะเก็บฝุ่นได้เพียงรูปแบบเดียว หรือ อย่างใดอย่างหนึ่งได้เท่านั้น)

8. Machine Documents (เอกสารประกอบเครื่อง x 1 ชุด)

ขอย้ำอีกครั้งว่า ถึงแม้ว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้จะเป็นอุปกรณ์เสริม ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น อีกทีหนึ่ง แต่ทางผู้ผลิตก็ให้มาแบบชนิดที่เรียกว่า “จัดเต็มมาก” แม้แต่คู่มือการใช้งาน เขายังให้มาอย่างละเอียด เอกสารประสงค์เครื่องมาทั้งหมด 2 อย่างด้วยกันคือ

  1. User Manual (หนังสือคู่มือการใช้งาน x 1 เล่ม) : หนังสือคู่มือการใช้งานพิมพ์ขาวดำ พร้อมรูปประกอบ รูปเล่มหนาเตอะ มีทั้งหมด 5 ภาษา (อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี, สเปน) รวมทั้งหมด 171 หน้า
  2. Quick Start Guide Sheet (แผ่นแนะนำการเริ่มต้นใช้งานอย่างรวดเร็ว) : เป็นกระดาษแข็ง แผ่นเดียว (มีหน้าเดียว) เป็นข้อความภาษาอังกฤษ พร้อมกับรูปกราฟิกแบบเวกเตอร์ ที่แค่เห็น ก็สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ทันที

ข้อมูลจำเพาะ ข้อมูลทางเทคนิค ของแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock

Roborock Auto-Empty Dock Featured Image
แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock
รายละเอียด
(Specification)
ขนาดมิติ
(Dimension)
457 x 314 x 383 มิลลิเมตร
น้ำหนัก
(Weight)
8.4 กิโลกรัม (ชั่งเอง)
ไฟเข้า
(Input)
AC 100-240V 50/60 Hz
ไฟออก
(Input)
DC 20V 50/60 Hz (1.2A)
อัตราการกินไฟ
(Power Consumption Rate)
  • < 20 วัตต์ (ขณะชาร์จไฟ)
  • < 1,000 วัตต์ (ขณะดูดฝุ่นไปเก็บ)
ระดับเสียงสูงสุด
(Maximum Noise Level)
< 75 เดซิเบล (dB.)
รูปแบบการเก็บฝุ่น
(Dust Collection Types)
  1. ถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน
    (Cyclone Dustbin)
  2. ถุงเก็บฝุ่นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
    (Disposable Dust Bag)
ขนาดความจุของถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน
(Cyclone Dustbin Capacity – Litre)
  • 3.0 ลิตร (3,000 mL)
ขนาดความจุของถุงเก็บฝุ่นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
(Disposable Dust Bag Capacity – Litre)
  • 1.8 ลิตร (1,800 mL)

คุณสมบัติ และ ความสามารถ ของแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock

1. Powerful Cyclonic Separation (ระบบแยกฝุ่นด้วยเทคโนโลยีไซโคลน)

Roborock Auto-Empty Dock Feature Powerful Cyclonic Separation
ระบบแยกฝุ่นด้วยเทคโนโลยีไซโคลน (Powerful Cyclonic Separation)

เนื่องจากว่า ฝุ่นที่ถูกดูดเข้ามา มีหลายชนิด ทั้งเศษฝุ่นขนาดเล็กต่างๆ รวมไปถึงขนมขบเคี้ยว และ เส้นผม ขนสัตว์ ขนาดเล็ก หรือใหญ่ ผสมกันไป โดยเทคโนโลยีไซโคลนนี้ จะใช้อุปกรณ์ทรงกระบอก ที่ทาง Roborock เรียกมันว่า  ตัวแยกไซโคลน (Cyclone Separator) (สีแดงๆ ที่อยู่ด้านในถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน) และมีการออกแบบเส้นทางของลม ให้เข้ามาในรูปแบบคล้ายกับพายุไซโคลน (หมุนติ้ว) จึงทำให้เศษฝุ่นต่างๆ จับตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ช่วยให้สามารถนำไปเททิ้งถังขยะ ได้ง่ายและสะดวก ไม่ต้องนำมือเข้าไปล้วง หรือคว้าน ให้เลอะเทอะ เสียหลักสุขอนามัยไปอีกต่างหาก

2. Certified Constant Suction Power (รับรองแรงดูดฝุ่นต่อที่คงที่)

Roborock Auto-Empty Dock Feature Certified Constant Suction Power
มีการรับรองว่า มีแรงดูดฝุ่นที่คงที่ (Certified Constant Suction Power)

ด้วยความที่ เครื่องนี้มี ถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน ที่สามารถเก็บฝุ่นเป็นได้จำนวนมาก จึงทำหลายคนอาจตั้งคำถามว่า หากมีปริมาณฝุ่นละออง และเศษสิ่งสกปรกในถัง เป็นจำนวนมากแล้ว ยังจะทำให้แรงดูดของ แท่นกำจัดฝุ่นอัตโนมัติ ตัวนี้ตก หรือน้อยลงหรือเปล่า ? ขอตอบตรงนี้เลยว่า “ไม่เลย”

สาเหตุเพราะว่า เครื่องนี้ใช้ระบบไซโคลน 15 อัน พร้อมแรงดูดมหาศาล ที่ผ่านการทดสอบ และรับรองจาก ทียูวีไรน์แลนด์ (TÜV Rheinland Certified) ซึ่งเป็นบริษัทที่ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เก่าแก่ และน่าเชื่อถือแห่งหนึ่งของโลก จากประเทศเยอรมัน ได้การทดสอบ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock ตัวนี้ว่า มีแรงดูดที่คงที่ (Constant Suction Power) ตลอดเวลาที่แท่นกำลังทำงาน ตามมาตรฐาน PfG Q2807/04.20 ที่ถึงแม้ว่าภายในจะมีปริมาณฝุ่นละออง และเศษสิ่งสกปรกในถัง เยอะเท่าใดก็ตาม

3. Support Disposable Dust Bag (รองรับถุงเก็บฝุ่นแบบใช้แล้วทิ้ง)

Roborock Auto-Empty Dock Feature Support Disposable Dust Bag
รองรับถุงเก็บฝุ่นแบบใช้แล้วทิ้ง (Support Disposable Dust Bag)

นอกจากที่แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock จะรองรับการเก็บฝุ่นใน ถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน (Cyclone Dustbin) แล้ว ก็ยังรองรับการเก็บฝุ่นในรูปแบบของ ถุงเก็บฝุ่นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Disposable Dust Bag) ได้อีกด้วยเช่นกัน ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานเข้าไปอีก เพราะเพียงแค่ใส่ ถุงเก็บฝุ่นฯ ที่ติดตั้งเข้ากับ ที่ใส่ถุงเก็บฝุ่นฯ เรียบร้อยแล้ว เข้าไปแทนที่กับตัวแยกไซโคลน ที่อยู่ภายในถังเก็บฝุ่น ก็เป็นอันเสร็จพิธี

ประโยชน์ของมันคือ เราจะไม่ต้องคอยมานั่งเอาฝุ่นออกจากถังเก็บฝุ่นฯ อีกต่อไป เพราะว่า ถ้าฝุ่นในถุงเต็มเมื่อไหร่ เราก็สามารถเอาถุงเก็บฝุ่นฯ ออกไปทิ้งถังขยะ (ทิ้งทั้งถุง) ได้เลย ประหยัดเวลาเข้าไปอีก (แต่ก็ต้องซื้อถุงเก็บฝุ่นเพิ่มเรื่อยๆ)

4. Intelligent Dust Collection (ระบบการดูดเก็บฝุ่นที่ชาญฉลาด)

Roborock Auto-Empty Dock Feature Intelligent Dust Collection
ระบบการดูดเก็บฝุ่นที่ชาญฉลาด (Intelligent Dust Collection)

ภายใน แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ ได้มีระบบตรวจจับปริมาณของฝุ่น ที่ใช้อัลกอริทึมการเก็บฝุ่นที่ชาญฉลาด (Intelligent Dust Collection Algorithms) ในการคำนวณ ระดับพลังดูด ให้เหมาะสมกับปริมาณของฝุ่นละออง และเศษสิ่งสกปรกต่างๆ ที่อยู่ภายใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ของตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock ว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเลือกเป็นโหมดอัจฉริยะเสียก่อน

โดยเราสามารถปรับรูปแบบการทำงานของ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ นี้ได้ผ่านแอปพลิเคชัน Roborock เช่นเคย เมนูพิเศษจะขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ เมื่อเราเปลี่ยนบ้านของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock S7 จาก แท่นชาร์จ (Charge Base) ธรรมดา ไปเป็น แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ (Auto-Empty Dock) ระบบจะตรวจจับอัตโนมัติได้เองว่า เราเปลี่ยน

5. Cyclone Dustbin Detection System (ระบบตรวจจับถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน)

Roborock Auto-Empty Dock Feature Dustbin Detection System
ระบบตรวจจับถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน (Cyclone Dustbin Detection System)

มีระบบตรวจจับการติดตั้งของถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน (Cyclone Dustbin Detection System) ว่ามีการติดตั้งอยู่ที่แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock หรือไม่ ? โดยเขาได้ใส่ เซนเซอร์ตรวจจับเข้าไป เพื่อป้องกันปัญหา ในกรณีที่ถ้าหุ่นยนต์ดูดฝุ่นปฏิบัติภารกิจเสร็จแล้ว เข้าไปจอดที่แท่นฯ ถ้าระบบยังพยายามดูดฝุ่นออกจากตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น โดยที่ไม่ได้ติดตั้งถังเก็บฝุ่นอยู่ ก็อาจจะทำให้ฝุ่นคลุ้งกระจายไปทั่วห้องได้ ซึ่งอาจสร้างความลำบาก และยุ่งยาก ในการเก็บกวาด มากกว่าเดิมไปอีก

6. Extensive Air Filtration (ระบบกรองอากาศสุดละเอียด)

และนอกจากที่ทาง Roborock จะใส่ใจในเรื่องของการดูดฝุ่นละออง และเศษสิ่งสกปรกต่างๆ ที่อยู่บนพื้นห้องให้สะอาดหมดจดแล้ว เขาก็ยังใส่ใจในเรื่องของคุณภาพอากาศภายในห้อง หรือที่พักอาศัยของเราด้วยเช่นกัน เพราะว่าอากาศที่ถูกดูดเข้ามาพร้อมกับฝุ่นละออง และเศษสิ่งสกปรกต่างๆ นั้น จะถูกแยกและต้องปล่อยกลับออกไปสู่ภายนอก อีกด้วยเช่นกัน

Roborock Auto-Empty Dock Feature Extensive Air Filtration
ระบบกรองอากาศสุดละเอียด (Extensive Air Filtration)

โดยเขาเลือกใช้ แผ่นกรองอากาศ HEPA เกรด H13 ซึ่งเป็นเกรดมีความสามารถในการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กระดับ 0.3 ไมครอน (µ) ได้มากสูงสุดถึง 99.99% กันเลยทีเดียว ซึ่งก็ได้ผ่านการทดสอบ และรับรองจาก ทียูวีไรน์แลนด์ (TÜV Rheinland Certified) มาอีกด้วยเช่นกัน มั่นใจได้เลยว่า จะไม่ทำให้อากาศที่ถูกปล่อยกลับออกมาสู่ภายนอกนั้น มีการปนเปื้อนของ ฝุ่นละออง และเศษสิ่งสกปรกต่างๆ อย่างแน่นอน

การติดตั้ง แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock

Roborock Auto-Empty Dock Installation
การติดตั้งแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock

ในส่วนของการประกอบ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไรเลย โดยหน้าที่หลักๆ ของเราเลยก็คือ เอาส่วนของฐานแท่น (Base) มายึดติดกับ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ (Dock) ด้วยนอต ทั้ง 5 ตำแหน่งที่เราจะต้องไขเอง ซึ่งความลำบาก อาจจะอยู่ตรงที่ตัว แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ มันมีน้ำหนักค่อนข้างมาก และต้องยกมันเพื่อที่จะคว่ำ ก่อนที่จะนำเอา ส่วนของฐานแท่น มาวางไว้ด้านบน และ ไขนอตให้เรียบร้อย ก็เป็นอันเสร็จพิธี

ในขณะที่พลาสติกต่างๆ ที่แปะอยู่ที่ตัวแท่นฯ ก็ต้องดึงออกมาทั้งหมดด้วยเช่นกัน เพื่อให้ตัวแท่นฯ ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด

สำรวจรอบๆ ตัวแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock

มาดูกันว่าส่วนประกอบของตัวแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ ในแต่ละส่วนนั้น มันคืออะไร และมีความสามารถทำอะไรได้บ้าง  ? โดยจะเป็นภาพประกอบพร้อมคำบรรยายอย่างละเอียด ในที่นี้ขอนำเสนอเป็น 2 หัวข้อหลักๆ ได้แก่

  1. Top and Side Components (ส่วนประกอบด้านบน และด้านข้าง)
  2. Underside Component (ส่วนประกอบด้านล่าง)
  3. Rear Component (ส่วนประกอบด้านหลัง)

Top and Side Components (ส่วนประกอบด้านบน และด้านข้าง)

Roborock Auto-Empty Dock Component Top and Side
ส่วนประกอบด้านบน และด้านข้างของ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock
  1. Vacuum Fan and HEPA Filter (ส่วนของพัดลมดูดฝุ่น และ แผ่นกรองอากาศ) : ส่วนของทรงกระบอกส่วนซ้าย เป็นส่วนของพัดลมดูดฝุ่นพลังสูงที่อยู่ด้านในตรงกลาง และ แผ่นกรองอากาศ HEPA ที่อยู่ส่วนบน โดยด้านบนสามารถหมุนฝา เพื่อนำ แผ่นกรองอากาศ ออกมาเปลี่ยน หรือทำความสะอาดได้
  2. Status Indicator Light (ไฟแสดงสถานะ) : แจ้งสถานะการทำงานของ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ ดังต่อไปนี้
    1. Steady White (ไฟสีขาวสว่างค้าง) : อยู่ในโหมดพร้อมใช้งาน
    2. Flashing White (ไฟสีขาวกระพริบ) : กำลังทำงานด้วย การดูดฝุ่นจากเครื่องเข้า ถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน
    3. Steady Red (ไฟสีแดงสว่างค้าง) : มีการทำงานผิดปกติ
    4. Light Off (ไฟดับ) : กำลังชาร์จ, ชาร์จเต็มแล้ว, ไม่ได้เปิดเครื่อง หรือมีการทำงานผิดปกติมากกว่า 10 นาที
  3. Dock Location Beacon (ตำแหน่งสัญญาณแท่นชาร์จ) : ตัวส่งสัญญาณ เพื่อสื่อสารกับ ตัวระบุตำแหน่งแท่นชาร์จ (Dock Locator) ที่ถูกติดตั้งอยู่ที่ ตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock ในกรณีที่เครื่องเข้ามาใกล้ประชิดกับแท่นชาร์จ หรือ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ เพื่อให้เข้าจอดได้อย่างเที่ยงตรง และแม่นยำ
  4. Charging Contacts (ขั้วชาร์จไฟ) : ลักษณะจะเหมือนกับที่ แท่นชาร์จ ปกติทั่วไป เพื่อใช้ในการถ่ายทอดพลังงานไฟฟ้าจากไฟบ้าน เข้าไปเก็บใน แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน (Li-Ion) ที่อยู่บนตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น
  5. Cyclone Dustbin (ถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน) : ด้านบนมีที่จับ (Handle) แบบหูหิ้ว ที่สามารถยกออกจากตัวแท่นฯ ได้อย่างสะดวกสบาย โดยไม่มีตัวล็อกใดๆ เพื่อให้เราสามารถนำเอาเศษฝุ่นละออง และเศษสิ่งสกปรกในถังไปทิ้งได้ง่ายๆ
Roborock Auto-Empty Dock Top and Side Detail
รายละเอียดส่วนประกอบด้านบน และด้านข้าง (Top and Side Component Details) ของ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock
  1. Cyclone Separator (ตัวแยกฝุ่นพลังไซโคลน) : มีหน้าที่ทำให้ฝุ่นเกาะกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ด้วยการทำให้ฝุ่นที่ถูกดูดเข้ามาด้วยแรงลมพลังสูงหมุนติ้ว (คล้ายกับพายุไซโคลน) และเมื่อฝุ่นเกาะตัวกันดีแล้ว ก็สามารถนำไปเททิ้งได้ง่ายๆ โดยอุปกรณ์ชิ้นนี้จะต้องนำออกจากถังฯ ในกรณีที่เปลี่ยนไปใช้ ถุงเก็บฝุ่นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
  2. Suction Inlet (ช่องดูดฝุ่น) : ฝุ่นจะถูกลำเลียงออกจากตัวเครื่อง ผ่านทาง พื้นที่ติดตั้งแปรงกวาดหลัก (พูดง่ายๆ คือ ฝุ่นออกจากตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ในช่องเดียวกับที่มันเข้ามานะแหละ) ซึ่งช่องนี้มีความกว้างอยู่ที่เกือบๆ 18 เซนติเมตร พร้อมกับแถบซีลยางอยู่รอบๆ เพื่อไม่ให้อากาศรั่วไหล ในขณะที่กำลังดูดลำเลียงฝุ่นออก
  3. Electrode Brush (แปรงทำความสะอาด จุดสัมผัสแท่นชาร์จ) : ขนแปรงที่โผล่ขึ้นมา 2 หย่อมเล็กๆ เอาไว้ใช้ทำความสะอาด จุดสัมผัสแท่นชาร์จ ที่อยู่ข้างใต้ตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้ชาร์จไฟไม่เข้า
  4. Roller (ลูกกลิ้ง) : ถูกติดตั้งอยู่ข้างๆ ระนาบเดียวกันกับ แปรงทำความสะอาด จุดสัมผัสแท่นชาร์จ มีเอาไว้เพื่อลดแรงเสียดทาน และป้องกันไม่ให้ใต้ท้องของตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ไปครูดกับส่วนของฐานแท่น

Underside Component (ส่วนประกอบด้านล่าง)

Roborock Auto-Empty Dock Component Underside
ส่วนประกอบด้านล่างของ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock
  1. Base Fastening Screws (สกรูยึดฐาน x 5) : นี่คือตำแหน่งส่วนที่เราจะต้องมาขันนอต ให้เรียบร้อย เสียก่อน เพื่อยึด แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ (Dock) กับ ส่วนของฐานแท่น (Base) เข้าไว้ด้วยกัน ให้แข็งแรง
  2. Screwdriver (ไขควง) : ไขควง 4 แฉกขนาดเล็ก ถูกติดอยู่ข้างใต้ส่วนของฐานแท่น สามารถนำมาใช้ได้เลย โดยไม่ต้องห่วงเรื่องของที่บ้านไม่มีไขควง
  3. Air Duct Cover (ฝาครอบท่ออากาศ) : ฝาครอบพลาสติกใส เพื่อให้เห็นว่ามันมีอะไรติดค้างอยู่ที่ด้านในหรือไม่ โดยมันเป็นทั้งท่ออากาศ และท่อลำเลียงฝุ่น อยู่ในตัวเดียวกัน มันถูกติดตั้งตลอดแนว ตั้งแต่ช่องดูดฝุ่น ยาวไปจนถึง แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ
  4. Air Duct Cover Screws (สกรูยึดฝาครอบท่ออากาศ x 7) : ฝาครอบท่ออากาศ สามารถถอดออกมาได้ ในกรณีที่อาจจะมีอะไรบางอย่าง เช่น กระดาษทิชชู่ขนาดใหญ่ ติดค้างอยู่ภายในท่อ ก็สามารถถอดออกมา เพื่อนำสิ่งตกค้างเหล่านี้ออกมาได้อย่างราบรื่น
  5. Non-Slip Rubber Pad (แผ่นยางกันลื่น x 4) : ป้องกันตัวแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ ลื่นไถล และป้องกันพื้นของห้อง ในการเกิดรอยครูด หรือรอยขีดข่วน

Rear Component (ส่วนประกอบด้านหลัง)

Roborock Auto-Empty Dock Rear
ด้านหลังของแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock

ในส่วนของ ส่วนประกอบด้านหลังเครื่อง ก็มีจุดที่น่าสนใจอยู่เล็กน้อย คือ มีที่ม้วนเก็บสายไฟ (Power Cable Management) ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อไม่ให้สายไฟมาระเกะระกะอยู่บนพื้น ซึ่งอาจจะทำให้เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock ทำงานได้ไม่สะดวก และนอกจากนี้ก็ยังมี ช่องเสียบสายไฟ (Power Socket) อยู่ทางด้านซ้ายมือ (ถ้าหันหน้าเข้าที่ตัวแท่นฯ) ของเครื่องอีกด้วยเช่นกัน

ความเปลี่ยนแปลงในแอป Roborock หลังจากติดตั้ง แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock

หลังจากที่เปลี่ยนจากแท่นชาร์จปกติ (ที่ให้มาภายใน กล่องผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ดูดฝุ่น) เป็น แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock ก็พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ภายในแอปพลิเคชัน Roborock โดยทันที (ผมเดาว่ามันน่าจะมาจากตัว ตำแหน่งสัญญาณแท่นชาร์จ ที่เป็นตัวส่งสัญญาณ มาบอกชนิดของบ้านมันกับตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ว่าเป็นประเภทใด) ซึ่งทั้งหมดนี้ สามารถทำได้โดยไม่ต้องทำการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์คใหม่แต่อย่างใด ถือว่าง่ายมากๆ

สำหรับการเปลี่ยนแปลง หลังจากที่ติดตั้ง แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock ไปแล้วนั้น ผมได้สังเกตเห็น การเปลี่ยนแปลงหลักๆ ทั้งหมด 3 ข้อ หลักๆ ดังต่อไปนี้

Roborock App Interface Changes after Auto-Empty Dock Installation
สิ่งที่เปลี่ยนไปของแอปพลิเคชัน Roborock หลังจากที่ติดตั้ง แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock (สามารถกดที่ภาพ เพื่อขยายได้)

1 มีปุ่มทำความสะอาดกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง โผล่ขึ้นมาในหน้าจอหลัก

ปุ่มนี้จะอยู่ที่ด้านมุมซ้ายล่างของหน้าจอหลัก (Main Screen) เพื่อให้เราสามารถสั่งแบบแมนนวลให้ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ ดูดฝุ่นจากตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เข้ามาเก็บภายใน ถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน ที่อยู่ภายในตัวแท่นฯ ได้ทุกเมื่อ โดยมันจะมีคำถาม ขึ้นมาถามเพื่อแจ้งเตือนก่อนว่า จะมีเสียงดังนะ ยอมหรือไม่ ? (Emptying will make a lot of noise. Empty anyway ?)

2. มีเมนูย่อยการตั้งค่าแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ (Auto-Empty Settings) เพิ่มเข้ามาในส่วนของการตั้งค่า

จากเดิมที่ไม่มีเมนูนี้มาก่อน แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ เมื่อไหร่ จะมีเมนูชื่อ “Auto-Empty Settings” โผล่ขึ้นมาในส่วนของการตั้งค่า (Settings) โดยทันที

และเมื่อกดเข้าไปด้านใน ก็จะเห็นว่ามีเมนูหลักให้เลือกอยู่อันเดียวคือ ต้องการจะเปิด หรือปิดระบบดูดฝุ่นอัตโนมัติ (Auto Emptying – Enable / Disable) ซึ่งถ้าเปิด ก็จะพบว่า มีตัวเลือกย่อยโผล่ขึ้นมาอีก 4 ตัวเลือกด้วยกันคือ

  1. Smart Mode (โหมดอัจฉริยะ) : ปรับแรงดูดให้เหมาะสม ตามปริมาณฝุ่นที่มีในเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (แนะนำ)
  2. Light Mode (โหมดดูดเบา) : เหมาะสำหรับบ้าน หรือห้องขนาดเล็ก (เสียงค่อย)
  3. Balanced (โหมดดูดระดับกลาง) : เหมาะสำหรับบ้าน หรือห้องขนาดกลาง (เสียงดังปานกลาง)
  4. Max Mode (โหมดสูงสุด) : เหมาะสำหรับบ้าน หรือห้องขนาดใหญ่ ที่มีความสกปรกมาก (เสียงดังมาก)

3. เพิ่มรายละเอียด ในส่วนของ ประวัติการทำความสะอาดย้อนหลัง

ส่วนของประวัติการทำความสะอาดย้อนหลัง (Cleaning History) เป็นส่วนที่มีในแอปพลิเคชัน Roborock มาอย่างช้านานแล้ว (ใช้กับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock มาแล้วหลายรุ่น)

แต่ถ้าเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7 ที่ใช้งานร่วมกับแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock และมีการดูดฝุ่นออกจากตัวเครื่อง ไปเก็บไว้ที่แท่นฯ จะมีการแสดงข้อความคำว่า “Dust-Collected” ไว้ในประวัติการทำความสะอาด ให้เราสามารถมาดูย้อนหลังได้อีกด้วย

สภาพหลังการใช้งาน แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock

ถ้าสังเกตดูดีๆ ภายใน ถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน มันจะมีฝุ่นละออง และเศษสิ่งสกปรก ถูกกักเก็บอยู่ภายในถัง เยอะพอสมควร (ตามจำนวนการใช้งาน และปริมาณฝุ่นในห้องของเรา) อารมณ์เหมือนเราใช้ เครื่องดูดฝุ่นแบบด้ามจับ ซักเครื่องเลยครับ ดูภาพประกอบ

ราคาอะไหล่ของ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock

ขณะนี้ยังไม่ทราบราคาอะไหล่ หรือ อุปกรณ์สิ้นเปลือง ของ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock

การติดต่อสั่งซื้อ และ การรับประกัน แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock S7

1. ติดต่อสั่งซื้อ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock ได้ที่ไหน ?

คุณสามารถสั่งซื้อ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock นี้ได้ผ่านทางหลายช่องทาง สามารถติดต่อสอบถามก่อนได้ที่รายละเอียด ในแต่ละช่องทางที่ด้านล่างนี้เลย

  • Telephone No (เบอร์โทรศัพท์) : 08-2388-1688
  • LINE Official Account (บัญชีไลน์ธุรกิจ) : @RoborockThailand
  • Facebook Page (เพจเฟสบุ๊ค) : RoborockTHA (โรโบร็อคทีเฮชเอ)

2. มีระยะเวลาการรับประกัน ยาวนานแค่ไหน?

แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock ตัวนี้มีการรับประกันในส่วนของอุปกรณ์ภายในตัวเครื่องเป็นระยะเวลา 2 ปีเต็ม (ยกเว้นอุปกรณ์สิ้นเปลืองต่างๆ)

บทสรุปหลังการใช้งาน ข้อดี ข้อเสีย ของแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock S7

Roborock Auto-Empty Dock Disposable Dust Bag Installed
หลังการติดตั้ง ถุงเก็บฝุ่นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Disposable Dust Bag) กับตัวแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock

ข้อดี 🙂

  • แทบไม่ต้องมาดูแลตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เพื่อเอาฝุ่นไปทิ้งเลยจริงๆ (ในกรณีที่ต้องการแค่ดูดฝุ่นอย่างเดียวเท่านั้นนะ เพราะถ้าจะใช้ฟังก์ชันการถูพื้นด้วย ก็ต้องดูแลบ่อย เพื่อเติมน้ำอยู่ดีครับ)
  • ฝุ่นถูกดูดออกจากกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ที่อยู่ภายในเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ไปแบบหมดจดจริงๆ มาดูทุกครั้งคือโล่ง ไม่เหลืออะไรเลย
  • ถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน มีขนาดใหญ่มาก พร้อมหูหิ้วด้านบน ยกออกมาได้เลยง่ายๆ (ต้องระวัง เพราะมันไม่ได้มีตัวล็อกกับอะไรเลย ในกรณีต้องขนย้าย อาจตกหล่นแตกได้ แนะนำให้เอาออกมาก่อนที่จะยกตัวแท่นฯ)
  • สามารถเปลี่ยนสลับกับแท่นชาร์จปกติ (ที่มากับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock) ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องตั้งค่าอะไรเลย เปลี่ยนปุ๊บ มันก็รู้จักทันที
  • การติดตั้งไม่ต้องกลัวนอตหาย หรือหลุดออกไปจาก ฐานของแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ เพราะยังไงมันก็ไม่สามารถนำนอตออกมาจากตัวฐานฯ ได้ เขามีระบบป้องกันที่ดี (ไขให้หลุดจากตัวแท่นฯ ได้ แต่หลุดออกมาจากฐานฯ ไม่ได้)
  • สามารถสั่งให้มันดูดฝุ่นออกจากกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองได้เองแบบแมนนวล ในกรณียกเครื่องไปทำความสะอาดที่อื่นมา (เช่นยกไปทำความสะอาดชั้นล่าง ที่ไม่ได้มีแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ เป็นต้น)
  • มีรูปแบบการเก็บฝุ่นให้เลือก 2 รูปแบบ คือ การเก็บในถังเก็บฝุ่นแบบไซโคลน และ ถุงเก็บฝุ่นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (เอาที่ตัวเองชอบ) โดยการสลับเปลี่ยนไปใช้ ถุงเก็บฝุ่นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร
  • หนังสือคู่มือการใช้งาน มีมาให้อย่างละเอียดยิบเช่นเคย จะดูออนไลน์ก็ได้ หรือจะเปิดเล่มดูก็ได้ แล้วแต่สะดวก
Roborock Auto-Empty Dock Screwdriver Storage Area
พื้นที่เก็บไขควง (Screwdriver Storage Area) อยู่ข้างใต้ส่วนของฐานแท่น (Base)

ข้อเสีย 🙁

  • กล่องผลิตภัณฑ์หนักมากกกก ยกลำบาก แต่ก็ยังดีที่มีหูหิ้วพลาสติก ที่ด้านบนของกล่องมาให้ (แต่ก็ยังหนักอยู่ดี)
  • ขนาดตัวแท่นฯ ค่อนข้างใหญ่ ต้องเผื่อพื้นที่ด้านบนด้วย (เพราะมันสูงประมาณ 38.3 เซนติเมตร)
  • การติดตั้งครั้งแรกอาจจะดูวุ่นวายสักเล็กน้อย เพราะต้องไขนอตจำนวนมาก (5 ตัว) และด้วยอุปกรณ์ อย่าง แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ (อุปกรณ์ตัวหลัก) ที่มีน้ำหนักเยอะ แถมยังต้องอยู่ด้านบน (แต่มันก็ทำแค่ครั้งเดียวนิเนอะ)
  • เสียงตอนที่มันกำลังดูดฝุ่นจากตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เข้าไปเก็บภายในแท่นฯ ดังไปนิดนึง (จริงๆ แล้วก็ดังเหมือนเราใช้งาน เครื่องดูดฝุ่น (Vacuum Cleaner) ทั่วๆ ไปนะแหละครับ ไม่ได้ดังกว่าเลย)
ทบทวนภาพรวม
ความสะอาดการดูดฝุ่น (ออกจากตัวเครื่อง)
10
การดูแลรักษา ทำความสะอาด
10
ความหลากหลายของอุปกรณ์เสริม
10
ความสะดวก และ ง่ายต่อการใช้งาน
10
ความคุ้มค่าเทียบกับราคา
8
ความพึงพอใจโดยรวม
10
บทความก่อนหน้านี้Roborock S7 หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่ดูดฝุ่นก็ดี ถูพื้นก็ดีมากๆ ใช้เลเซอร์นำทาง สั่งผ่าน App ได้
บทความถัดไปSalir เครื่องฟอกอากาศประจุลบ สิทธิบัตรจากญี่ปุ่น กำจัดเชื้อโรค ประหยัดไฟ ไร้แผ่นกรอง
Thanop Somprasong
Thanop.com Founder + Thaiware.com Co-Founder + Business Director, Cloud Business Co.,Ltd. + Committee Thai Webmaster Association
roborock-auto-empty-dock-review<p>ถ้าดูจากเกณฑ์การให้คะแนนของผมแล้ว ขอบอกตรงๆ ว่าไม่รู้จะไปหาที่หักคะแนนตรงไหนจริงๆ ครับ เพราะมันเต็ม 10 เยอะแยะไปหมด ลองมาดูเหตุผลของแต่ละข้อกันดีกว่าครับ</p> <p><strong>ความสะอาดการดูดฝุ่น (ออกจากตัวเครื่อง) (10/10)</strong> : หลังจากที่ตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock เข้ามาจอดที่แท่นฯ แล้วตัวระบบก็จะทำการดูดฝุ่นโดยอัตโนมัติทันที เรียกได้ว่าสะอาดหมดจด จริงๆ ครับ ไม่เหลือเส้นผมสักเส้น หรือเศษฝุ่นอะไรเลยสักชิ้น (เขาคงออกแบบดีไซน์มาดีแล้ว)</p> <p><strong>การดูแลรักษา ทำความสะอาด (10/10)</strong> : นี่คือวัตถุประสงค์หลัก ของเจ้าแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติตัวนี้ นั่นก็คือ ลดภาระหน้าที่ของการดูแลรักษา ทำความสะอาด ของเราให้น้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้ ซึ่งมีออปชันการเก็บฝุ่นให้เลือก 2 แบบคือ <ol> <li><strong>ถังเก็บฝุ่นไซโคลน</strong> : ต้องดูแลบ้าง ด้วยการเอาฝุ่นไปเททิ้ง และ เอาไปล้างน้ำทำความสะอาด (เหนื่อยนิดหน่อย แต่ไม่เสียเงินเพิ่ม)</li> <li><strong>ถุงเก็บฝุ่นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง</strong> : ไม่ต้องดูแลเลย แค่เอาถุงฯ ออกจากเครื่อง แล้วไปทิ้งลงถังขยะได้เลย (สบาย แต่ต้องซื้อถุงฯ เพิ่มเรื่อยๆ เมื่อมันเต็ม)</li> </ol> </p> <p><strong>ความหลากหลายของอุปกรณ์เสริม (9/10)</strong> : ข้อนี้ต้องยอมรับจริงๆ ว่า อุปกรณ์เสริม ให้มาเยอะ และจัดเต็มมากๆ ไม่ว่าจะเป็น ไขควง (ที่ไม่ต้องคอยหาเพิ่ม) รวมไปถึง ถุงเก็บฝุ่นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (แต่ไม่ได้ให้อะไหล่มาด้วย เพราะเข้าใจในเรื่องของต้นทุนที่อาจจะสูงขึ้นพอสมควร)</p> <p><strong>ความสะดวก และ ง่ายต่อการใช้งาน (10/10)</strong> : อย่างที่บอกมาในเนื้อหาข้างบน ว่า เราสามารถสลับเปลี่ยนไปใช้ แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ แทนการใช้ แท่นชาร์จธรรมดาได้เลย โดยที่ไม่ต้องทำการเชื่อมต่อ หรือตั้งค่าอะไรเพิ่มเติม เพื่อที่จะให้มันใช้งานได้เลยแม้แต่น้อย จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องมาหักคะแนนในจุดนี้</p> <p><strong>ความคุ้มค่าเทียบกับราคา (8/10)</strong> : เป็นจุดเดียวที่พอจะหักคะแนนได้ ด้วยเรื่องของราคาที่สูงหน่อย เฉพาะแท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ Roborock ตัวนี้ตัวเดียวก็ 12,900 บาท ละครับ ซึ่งจะซื้อมาเล่นอย่างเดียว ก็คงไม่ได้ ต้องซื้อคู่กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock ด้วย ซึ่งถ้าเป็นแพ็กคู่กับเครื่อง ราคาก็จะสนนอยู่ประมาณ 3 หมื่นกว่าๆ กันเลยทีเดียว</p> <p><strong>ความพึงพอใจโดยรวม (10/10)</strong> : </p>

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้