← กลับไปอ่านหน้า 1 (Previous Page)

7. ชนิดของแผ่นกรองอากาศหลัก
(Primary Air Filter Types)

หัวใจสำคัญที่สุดของเครื่องฟอกอากาศ ก็คือ แผ่นกรองอากาศ (Air Filter) นั่นเอง โดยส่วนมาก เครื่องฟอกอากาศ จะมีแผ่นกรองอากาศหลักๆ อยู่ทั้งหมดประมาณ 2-3 แผ่นด้วยกัน (บางเครื่องอาจจะมากถึง 4-5 แผ่นก็มี) แต่โดยหลักๆ แล้ว (เกือบ 100%) ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นเครื่องฟอกอากาศ ก็จะมีแผ่นกรองอากาศ ดังต่อไปนี้

7.1 แผ่นกรองอากาศชั้นต้น (Pre Filter)

แผ่นกรองอากาศชนิดนี้ บางยี่ห้ออาจเรียกว่า แผ่นกรองหยาบ หรือ แผ่นกรองชั้นแรก หรือ แผ่นกรองชั้นนอก (มีหลายชื่อเหลือเกิน แล้วแต่ผู้ผลิตจะเรียก) โดยตำแหน่งของมันจะอยู่ชั้นนอกสุด

โดยลักษณะจะเป็นแผ่นตาข่ายขนาดเล็ก ถึงปานกลาง ที่ถูกเย็บแบบถี่ๆ หรือบางรุ่นบางยี่ห้อ ก็จะเป็น แผ่นฟองน้ำบางๆ หรือบางรุ่นบางยี่ห้อ ก็มีทั้งคู่เลย (ทั้งแผ่นกรองตาข่าย และแผ่นฟองน้ำ) มีหน้าที่เอาไว้กรอง หรือดักจับฝุ่นละอองขนาดใหญ่ เอาไว้ชั้นนึงก่อนที่จะเข้าไปยังแผ่นกรองอากาศ HEPA เป็นลำดับต่อไป โดยส่วนมากแล้ว แผ่นกรองอากาศชนิดนี้จะสามารถนำมาล้างทำความสะอาดได้ และถ้าเป็นแผ่นฟองน้ำ ก็สามารถนำไปซักได้เช่นกัน

7.2 แผ่นกรองอากาศ HEPA (HEPA Filter)

แผ่นกรองอากาศ HEPA (ย่อมาจากคำว่า “High Efficiency Particulate Air” หรือ “High Efficiency Particulate Absorption“) เป็นแผ่นกรองอากาศประสิทธิภาพสูง ที่มีความสามารถในการกรองฝุ่นขนาดเล็กมากๆ (หรือฝุ่นละออง PM 2.5) ได้

โดยมาตรฐานของ แผ่นกรองอากาศ HEPA* นั้น โดยทั่วไปจะกำหนดให้มีความสามารถในการกรองอนุภาคต่างๆ ได้เล็กสุดถึง 0.3 ไมครอน 99.97% นั่นหมายความว่า นอกจากที่มันจะสามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 (ขนาด 2.5 ไมครอน) ได้แล้ว มันยังสามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กอย่างเชื้อรา, เชื้อแบคทีเรีย, ละอองเกสรดอกไม้, รวมไปถึง มลพิษต่างๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศได้เป็นอย่างดี อีกด้วยเช่นกัน

หมายเหตุ* : ตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (The American Society of Mechanical Engineers – ASME) และ กระทรวงพลังงานของประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Department of Energy – US.DOE)

Air Purifier HEPA Filter Warning
แผ่นกรองอากาศ HEPA บางแผ่น จะมีข้อความแจ้งเตือนว่าห้ามนำไปล้าง หรือซัก (Do Not Wash)

วิธีการสังเกตง่ายๆ คือ จะเป็นแผ่นที่มีร่องลึกๆ อยู่ลักษณะเป็นขุยๆ หน่อย โดยส่วนมากแล้วทางผู้ผลิตจะไม่แนะนำให้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำ เพราะจะทำให้แผ่นกรองเปื่อย และเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น แต่ก็มีส่วนน้อยที่ยอมให้นำไปล้างน้ำได้ (แต่ก็ห้ามใช้ผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดใดๆ อยู่ดี) (รายละเอียดของ แผ่นกรองอากาศ HEPA เพิ่มเติม)

Atmosphere SKY and MINI HEPA Filter Length Comparison
ตัวอย่างความยาว แผ่นกรองอากาศ HEPA ของ เครื่องฟอกอากาศ Atmosphere SKY และ Atmosphere MINI

ภาพด้านบนนี้เป็นอีกตัวอย่างของ แผ่นกรองอากาศ HEPA ของ เครื่องฟอกอากาศ Atmosphere SKY จาก Amway ที่ทางผู้ผลิตเขาได้ใส่ตัวแผ่นกรองอากาศทบกันไปมาหลายชั้นเอามากๆ ซึ่งถ้าหากคลี่ หรือกางออกมาดู จะมีความยาวมากถึง 9.44 เมตร กันเลยทีเดียว ในขณะที่ เครื่องฟอกอากาศ Atmosphere MINI ที่เป็นรุ่นเล็ก ก็จะมีความยาว 4.5 เมตร เมื่อคลี่ออกมา เห็นแบบนี้ถือว่าหนาพอสมควรกันเลยทีเดียว

7.3 แผ่นกรองคาร์บอน หรือ แผ่นกรองกลิ่นไม่พึงประสงค์ (Carbon Filter หรือ Deodorizing Filter)

แผ่นกรองคาร์บอน หรือ แผ่นกรองกลิ่น มีหน้าที่ใช้กรองกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลิ่นควันบุหรี่ กลิ่นอาหาร กลิ่นของก๊าซไข่เน่า (กลิ่นตด) รวมไปถึงการกรอง สารฟอลมาลดีไฮด์ สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs ย่อมาจากคำว่า “Volatile Organic Compounds“) อย่างเช่นกลิ่นสี กลิ่นย้ำยาย้อมผอม น้ำยาทาเล็บ ของคุณสุภาพสตรี การกรองก๊าซ กรองสารเคมีต่างๆ ก็มีคุณสมบัติอีกด้วยเช่นกัน

Air Purifier Carbon Filter Thickness
ความหนาของแผ่นกรองคาร์บอน ของเครื่องฟอกอากาศ Atmosphere SKY

สำหรับวิธีการสังเกตง่ายๆ ของแผ่นกรองอากาศชนิดนี้คือ คือสีของแผ่นกรอง จะเป็นสีเข้มๆ ดำๆ หน่อย เพราะมันมีส่วนผสมของ “ถ่าน (Carbon)” นั่นเอง บางทีเอาแผ่นกรองชนิดนี้มาเขย่าๆ อาจได้ยินเสียงเม็ดถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal หรือ Activated Carbon) อยู่ข้างในก็ได้ (อันนี้แล้วแต่ผู้ผลิตจะทำออกมา)

ขอเสริมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ในส่วนของรูพรุนของเม็ดถ่านกัมมันต์นิดนึงว่า ถ้ายิ่งมีความพรุนมากก็จะมีความสามารถในการดักจับกลิ่นไม่พึงประสงค์ หรือสารเคมีต่างๆ ได้มากเป็นเงาตามตัวเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เครื่องฟอกอากาศ Atmosphere ที่มีรูพรุนมาก และมีปริมาณของถ่านกัมมันต์ มากถึง 1,020 กรัม ในรุ่น SKY และ 340 กรัม ในรุ่น MINI เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติม

“เครื่องฟอกอากาศบางรุ่น หรือบางยี่ห้อ จะมีเซนเซอร์ตรวจจับกลิ่นไม่พึงประสงค์ (Odor Sensor หรือ Smell Detector) เพื่อปรับความแรงของพัดลมดูดอากาศ ให้แรงขึ้นโดยอัตโนมัติ เพื่อกำจัดกลิ่นให้หายไปโดยเร็วที่สุด”

7.4 แผ่นกรองอากาศแบบออลอินวัน – รวมทั้งหมด (All-in-One Air Filter)

แผ่นกรองอากาศแบบออลอินวัน หรือ แผ่นกรองอากาศแบบรวมทั้งหมด ส่วนมากจะเห็นได้ในเครื่องฟอกอากาศที่มีราคาถูกหน่อย หรือไม่ก็เครื่องฟอกอากาศที่มีขนาดของตัวเครื่องไม่ใหญ่มาก อย่างเช่น เครื่องฟอกอากาศในรถยนต์ (Car Air Purifier) หรือเครื่องฟอกอากาศในบ้านที่รองรับพื้นที่ได้น้อยๆ แบบไม่เกิน 25 ตารางเมตร เป็นต้น

โดยโครงสร้างของแผ่นกรองอากาศแบบออลอินวันนั้น จะเป็นการรวมแผ่นกรองทั้งหมดเข้าไว้ในแผ่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น (1) แผ่นกรองอากาศชั้นต้น (2) แผ่นกรองอากาศ HEPA (3) แผ่นกรองคาร์บอน หรือแม้แต่ แผ่นกรองอื่นๆ (ถ้ามี) ซึ่งทางผู้ผลิตก็จะจัดเรียงลำดับชั้นของการกรองอากาศให้แบบเสร็จสรรพ เพื่อความสะดวกสบายในการติดตั้งใช้งาน รวมไปถึง ง่ายต่อการดูแลรักษา และจัดจำหน่ายของทางผู้ผลิตเช่นกัน

ในขณะที่ด้านการดูแลรักษาก็ง่ายๆ คือ “ไม่ต้องทำอะไรกับมันเลย” เพราะโดยส่วนมากแล้ว จะแกะ หรือรื้อออกมาก็ไม่ได้เลย ซึ่งก็ไม่สามารถนำไปล้างน้ำ หรือไปซักได้เลย เพราะภายในมีแผ่นกรองหลายชนิดอยู่ เกรงว่าจะเสื่อมประสิทธิภาพลงอย่างรวดเร็ว ข้อแนะนำคือ เมื่อถึงอายุการใช้งานที่ทางผู้ผลิตระบุเอาไว้ก็ต้อง “เปลี่ยนอย่างเดียว

ตัวอย่างของ แผ่นกรองอากาศแบบออลอินวัน ของ เครื่องฟอกอากาศ Blueair Classic 690i

Blueair Classic 690i DualProtection™ Filter Detail

  1. Natural Coconut Carbon Filter or Blueair Carbon Based Filter
    (แผ่นกรองชั้นคาร์บอนจากมะพร้าวธรรมชาติ)
  2. HEPA Filter หรือ Blueair Particle Filter
    (แผ่นกรองอากาศชั้น HEPA)

ตัวอย่างของ แผ่นกรองอากาศแบบออลอินวัน ของ เครื่องฟอกอากาศ Atmosphere MINI

  1. Pre-Filter
    (แผ่นกรองอากาศชั้นต้น หรือ แผ่นกรองหยาบ)
  2. Carbon Filter Layer
    (แผ่นกรองชั้นคาร์บอน) (น้ำหนักถ่านกัมมันต์ 340 กรัม, มีพื้นที่ผิวภายในรูพรุนคาร์บอน 323,000 ตารางเมตร)
  3. HEPA Filter Layer
    (แผ่นกรองอากาศชั้น HEPA) (เมื่อคลี่ออกมามีความยาว 4.5 เมตร)
CUCKOO Air Purifier D Model Air Filter with Pre Filter Removed
แผ่นกรองอากาศชั้นต้น (Pre Filter) ที่อยู่ชั้นนอกสุด สามารถถอดแยกออกมา เพื่อล้างทำความสะอาดได้ง่ายๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม

“ในปัจจุบันนี้ มีแผ่นกรองอากาศแบบออลอินวัน ในเครื่องฟอกอากาศบางรุ่น บางยี่ห้อ ที่สามารถถอดแยก แผ่นกรองอากาศชั้นต้น ที่อยู่ด้านนอกออกมาล้างทำความสะอาดฝุ่นละอองขนาดใหญ่ ที่เกาะอยู่ด้านนอกได้เช่นกัน

โดยลักษณะจะเป็นแผ่นตาข่ายบางๆ ที่สามารถยืดหยุ่นได้ เป็นตัวครอบอีกที ซึ่งจะติดยึดด้วยแถบเทปตีนตุ๊กแก เพื่อความสะดวกในการถอดออกมา และนำกลับเข้าไปใหม่”

8. ฟังก์ชันเสริมที่เกี่ยวกับการฟอกอากาศ (Purifying Functions)

เท่าที่เห็นมาเครื่องฟอกอากาศหลายเครื่องจะมี ฟังก์ชันเสริมที่ช่วยในการฟอกอากาศอีก เพื่อสร้างความโดดเด่นให้แก่ผลิตภัณฑ์ อย่างเช่น

8.1. หลอดไฟ UV ฆ่าเชื้อโรค (UV Sterilizing Lamp)

Air Purifier UV Sterilizing Lamp
หลอดไฟ UV ฆ่าเชื้อโรค (UV Sterilizing Lamp) ที่อาจมีอยู่ในเครื่องฟอกอากาศบางรุ่น บางยี่ห้อ

หลอดไฟปล่อยแสง UV (สีจะออกม่วงๆ หน่อย) ถูกติดตั้งอยู่ด้านในของตัวเครื่องฟอกอากาศ ซึ่งเป็นรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่อยู่ในแสงแดด โดยส่วนมากแล้ว เขาจะใช้รังสี UV ประเภท UVC ที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคอย่าง เชื้อแบคทีเรีย หรือ เชื้อราที่ลอยอยู่ในอากาศ ได้เป็นอย่างดี

ข้อดี 🙂

  • ช่วยกำจัด และฆ่าเชื้อโรค เชื้อจุลินทรีย์ เชื้อรา หรือแม้แต่ เชื้อแบคทีเรีย ที่ลอยอยู่ในอากาศให้อีกแรง (ช่วยกันกับแผ่นกรองอากาศต่างๆ)

ข้อเสีย 🙁

  • มีค่าบำรุงรักษาที่เพิ่มขึ้น เพราะหลอดไฟ UV ฆ่าเชื้อโรค เมื่อใช้ไปนานๆ หลอดอาจจะขาดได้ ต้องเปลี่ยนใหม่ และส่วนมากก็ถอดเปลี่ยนเองยากอีก และเป็นหลอดเฉพาะรุ่นของมัน ซึ่งอาจจะต้องส่งศูนย์บริการกันเลยทีเดียว
  • การมองหลอดไฟ UV ที่กำลังสว่างอยู่ อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ (ในกรณีที่เครื่องฟอกอากาศไม่มีเซนเซอร์การเปิดฝาเครื่อง)

8.2 ตัวปล่อยประจุไฟฟ้า หรือปล่อยไออน (IONIZER)

Air Purifier ANION or Negative Ion Generator Pins
ภาพตัวอย่าง เข็มปล่อยไอออนประจุไฟฟ้าลบ (ANION หรือ Negative Ion Generator Pins)

ฟังก์ชันนี้ไม่ได้มีส่วนช่วยในการกรองอากาศแต่อย่างใด แต่มันมีส่วนในการเรียกฝุ่นขนาดเล็กมากๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศให้เข้ามาใกล้ๆ กับตัวเครื่องฟอกอากาศ ด้วยการ ปล่อยประจุไฟฟ้าลบ (ANION หรือ Negative Ion) ออกไปในอากาศ ผ่านทางเข็มปล่อยประจุ (ส่วนมากเราจะไม่เห็นหรอก เพราะมันอยู่ภายในตัวเครื่องฟอกอากาศ)

และเมื่อฝุ่นลอยเข้ามาใกล้ๆ เครื่องฟอกอากาศ มันก็จะถูกพัดลมดูดอากาศ ดูดเข้าไปในเครื่องอีกที พูดง่ายๆ คือคือ ตัวปล่อยประจุไฟฟ้าลบนี้มีหน้าที่ “เรียกแขก” หรือ “เรียกฝุ่นเข้ามาใกล้ๆ เครื่องฟอกอากาศ” นั่นเอง

เทคโนโลยี HEPASilent™ ของเครื่องฟอกอากาศ Blueair

เทคโนโลยี HEPASilent™ เป็นเทคโนโลยีสิทธิบัตรเฉพาะของ เครื่องฟอกอากาศ Blueair ที่สามารถทำงานร่วมกันได้ระหว่าง แผ่นกรองอากาศปกติ กับ การปล่อยประจุไฟฟ้าสถิต เพื่อ ช่วยทำให้ฝุ่นละออง หรืออนุภาคขนาดเล็กต่างๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศลอยเข้ามาเกาะกับตัวแผ่นกรองอากาศได้ง่ายขึ้น

เทคโนโลยี Plasmacluster ของเครื่องฟอกอากาศ Sharp

เทคโนโลยีการปล่อยประจุไฟฟ้าเข้าไปในอากาศนี้ ในแต่ละยี่ห้อจะมีชื่อเฉพาะของเขาอยู่ ถือเป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้า (Trademark) ของเขา ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า Sharp จะเทคโนโลยีนี้ว่า พลาสม่าคลัสเตอร์ (Plasmacluster) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสิทธิบัตรเฉพาะจาก เครื่องใช้ไฟฟ้า Sharp เท่านั้น

โดยหลักการคร่าวๆ คือมันจะปล่อยไอออนทั้งประจุไฟฟ้าลบ (-) และประจุไฟฟ้าบวก (+) ออกมาพร้อมๆ กันเพื่อเป็นการทำลายผนังของเซลล์เชื้อรา เชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) ซึ่งก็จะส่งผลทำให้อากาศสะอาดบริสุทธิ์มากขึ้นไปอีก นั่นเอง

ในขณะที่ฝั่ง แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า LG จากแดนกิมจิประเทศเกาหลี ก็จะมีชื่อเฉพาะที่ใช้เรียกเทคโนโลยีนี้ว่า พลาสมาสเตอร์ ไอออไนส์เซอร์ พลัส (Plasmaster Ionizer Plus) เป็นต้น

ข้อดี 🙂

  • ช่วยเรียกฝุ่นละออง หรืออนุภาคขนาดเล็กต่างๆ ให้ลอยเข้ามาอยู่ใกล้ๆ ตัวเครื่องก่อนจะถูกดูดเข้าไปอีกที
  • ช่วยทำให้ฝุ่นละออง หรืออนุภาคขนาดเล็กต่างๆ ยึดติดกับตัวแผ่นกรองอากาศ ภายในเครื่องได้ง่ายขึ้น

ข้อเสีย 🙁

  • มีค่าบำรุงรักษาที่เพิ่มขึ้น เพราะเข็มปล่อยประจุไฟฟ้า ที่อยู่ภายในตัวเครื่องอาจจะเสียได้ตามอายุการใช้งาน
  • เวลาเข็มปล่อยประจุไฟฟ้าเสีย อาจจะมองดูไม่ออก เพราะมันไม่ได้มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด

8.3 แผ่นกรองอากาศเสริมพิเศษ (Special or Additional Air Filters)

เครื่องฟอกอากาศบางรุ่น บางยี่ห้อ นั้นก็อาจจะมี แผ่นกรองอากาศเสริมพิเศษ มาให้เพิ่มเติม ที่นอกเหนือจาก แผ่นกรองอากาศหลัก ที่ให้มาอยู่แล้ว เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการกรองอากาศให้มากขึ้นไปอีก อาทิ

  1. Allergen Filter (แผ่นกรองสารก่อภูมิแพ้) : แผ่นกรองอากาศที่เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพของ แผ่นกรองอากาศ HEPA ที่มีคุณสมบัติในการกรองพวกเชื้อโรคอย่างละอองเกสรดอกไม้ หรือแม้แต่ตัวไรฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศอยู่แล้ว ตัวนี้ก็เข้ามาช่วยเสริมอีกชั้น
  2. Harmful Gas Filter or Photocatalyst Filter (แผ่นกรองก๊าซอันตราย หรือ แผ่นกรองสารเคมี) : ต่อยอดจากแผ่นกรองคาร์บอน ที่มีคุณสมบัติในการกรองกลิ่นไม่พึงประสงค์ หรือแม้แต่ ก๊าซอันตราย อย่างเช่น ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ของยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดยแผ่นกรองอากาศตัวนี้ เขาอาจจะมีส่วนผสมของถ่านกัมมันต์ และวัสดุอื่นๆ เข้าไปด้วย ซึ่งก็แล้วแต่สูตรของผู้ผลิตเครื่องฟอกอากาศ ในแต่ละยี่ห้อนั่นเอง

9. ฟังก์ชันเสริมที่ไม่เกี่ยวกับการฟอกอากาศ (Nonpurifying Functions)

สำหรับเครื่องฟอกอากาศรุ่น บางยี่ห้อ ก็ยังได้เสริมเอาความสามารถ หรือฟังก์ชันอื่นๆ เข้าไปอีก โดยความสามารถเหล่านี้ ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการฟอกอากาศเลย อาทิ

9.1 ฟังก์ชันการเพิ่มความชื้นในอากาศ (Humidification Function)

เครื่องฟอกอากาศที่มีฟังก์ชันนี้ จะมีถังน้ำขนาดใหญ่ อยู่ภายในตัวเครื่อง (ต้องเติมน้ำก่อนใช้งาน) เพื่อที่จะค่อยๆ ปล่อยละอองน้ำออกมาในอากาศ เพื่อไม่ให้อากาศอยู่ในสภาวะที่แห้งจนเกินไป เหมาะสำหรับผู้ที่ผิวแห้ง หรือผู้ที่เส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตกบ่อยๆ (มีเลือดกำเดาออกบ่อยๆ)

โดยเครื่องฟอกอากาศชนิดนี้มักจะมีเซนเซอร์วัดความชื้น (Humidity Sensor) อยู่ภายในด้วย เพื่อคำนวณการปล่อยไอน้ำออกมาให้เหมาะสมกับระดับความชื้นภายในห้องเพื่อความสบายของผู้อยู่อาศัย แต่ในขณะเดียวกันจะเราก็จะต้องหมั่นตรวจสอบปริมาณน้ำในถังบ่อยๆ ด้วยว่าน้ำหมดถังแล้วหรือยัง

การที่น้ำในถังจะลดช้า หรือลดเร็วนั้น ก็ขึ้นอยู่กับระดับความชื้นในอากาศ ถ้าความชื้นในอากาศมาก น้ำในถังก็จะลดช้า เช่นตอนฝนตก เครื่องก็จะไม่ปล่อยน้ำในถังออกมา เพราะมีความชื้นในอากาศสูงอยู่แล้ว แต่ถ้าช่วงไหนที่อากาศแห้งๆ หน่อย อย่างเช่นหน้าหนาวน้ำในถังก็จะลดลงเร็ว เพราะความชื้นอยู่ในระดับต่ำ

ข้อดี 🙂

  • ช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ ทำให้อากาศไม่แห้ง ส่งผลให้ผิวไม่แห้ง ผิวไม่แตก ลดโอกาสการเกิดเลือดกำเดาไหล
  • ภายในเครื่องฟอกอากาศจะต้องมีเซนเซอร์วัดความชื้น เพื่อส่งข้อมูลไปประมวลผลในการปล่อยละอองน้ำออกมาจากตัวเครื่องให้เหมาะสมกับสภาพอากาศปัจจุบันด้วย และส่วนมากมักจะมีหน้าจอแสดงความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเป็นตัวเลข หรือเป็นสีที่สื่อความหมาย พูดง่ายๆ คือเหมือนได้ เครื่องวัดความชื้นในอากาศ ไปในตัว

ข้อเสีย 🙁

  • ต้องหมั่นเติมน้ำในถังน้ำบ่อยๆ (การที่จะเติมบ่อยหรือไม่บ่อย ก็ขึ้นอยู่สภาพอากาศในขณะนั้นว่ามีความชื้นมากน้อยเพียงใด)
  • ต้องหมั่นทำความสะอาดถังน้ำบ่อยๆ ด้วย เพราะเมื่อใช้ไปเรื่อยๆ ภายในถังจะมีลักษณะของมูกเหนียวๆ อยู่ (ทั้งๆ ที่ใช้น้ำกรองแล้วก็ยังมีมูกอยู่)
  • ราคาค่าบำรุงรักษาจะสูงกว่า เนื่องจากมีอุปกรณ์ที่ใช้มากกว่าเช่น ถังน้ำ ชุดถาดทำไอน้ำ หรือแม้แต่ แผ่นกรองไอน้ำ (ที่มีอายุการใช้งานเหมือนกัน)

9.2 ฟังก์ชันการลดความชื้นในอากาศ (Dehumidification Function)

ฟังก์ชันนี้ยังคงมีถังน้ำอยู่ภายในตัวเครื่องฟอกอากาศเช่นกัน แต่ว่าเป็นถังน้ำเปล่า (ไม่ต้องเติมน้ำก่อนใช้งาน) โดยหน้าที่หลักๆ จะ ตรงกันข้ามกับ การเพิ่มความชื้นในอากาศ (ข้อ 4.1) อย่างสิ้นเชิง เพราะหน้าที่ของมันคือการดูดเอาไอน้ำในอากาศ (ดูดความชื้น) เข้าไปเก็บภายถังน้ำ และเราจะต้องคอยหมั่นนำเอาน้ำในถังไปเททิ้งอีกด้วย

โดยความชื้นนั้นเกิดมาจากการคายน้ำของพืชรอบๆ หรือแม้แต่ในช่วงฝนตก (หรือฝนหยุดตกใหม่ๆ) หรือแม้แต่ห้องน้ำที่อยู่ภายในห้องนอน หลังอาบน้ำเสร็จ (ถ้าไม่เช็ดห้องน้ำให้แห้ง) ก็อาจจะมีความชื้นสะสมอยู่ในปริมาณมากด้วยเช่นกัน

ข้อดีของฟังก์ชันนี้ก็คือ มันจะช่วยดูดความชื้นที่อยู่ในอากาศออกไป เพราะการมีความชื้นภายในห้องมากๆ จะส่งผลเสียให้กับข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านได้ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า อาจขึ้นราได้ แถมยังเป็นสภาพแวดล้อมชั้นดีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะมาอาศัยอยู่กับเราได้ ในด้านสุขภาพก็อาจจะรู้สึกร้อนอบอ้าว เหงื่อออกง่าย ครั่นเนื้อครั่นตัว แต่การมีฟังก์ชันการลดความชื้นในอากาศนี้ จะทำให้เราสบายตัวมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

หมายเหตุ : ฟังก์ชันการลดความชื้นในอากาศ ของเครื่องฟอกอากาศนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากเท่าไหร่นัก เนื่องจากมีหลายวิธีเช่น การเปิดแอร์ เพราะนอกจากที่มันจะทำความเย็นแล้ว มันก็ยังสามารถช่วยลดความชื้นในอากาศได้ด้วยเช่นกัน (ความชื้น หรือไอน้ำในอากาศจะถูกดูดเข้ามา และถูกปล่อยออกทางท่อน้ําทิ้งแอร์ นั่นเอง)

ข้อดี 🙂

  • ช่วยลดความชื้นในอากาศที่อาจจะมีมากเกินไป อันเป็นสาเหตุของการเกิดเชื้อราบนข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน หรือแม้แต่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย
  • ภายในเครื่องฟอกอากาศจะต้องมีเซนเซอร์ตรวจวัดความชื้น เพื่อส่งข้อมูลไปประมวลผลในการดักจับความชื้น (น้ำ) ในอากาศ และส่วนมากมักจะมีหน้าจอแสดงความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเป็นตัวเลข หรือเป็นสีที่สื่อความหมาย เรียกได้ว่าเหมือนได้ เครื่องวัดความชื้นในอากาศ ไปในตัว

ข้อเสีย 🙁

  • ต้องคอยหมั่นนำน้ำไปเททิ้ง (การที่เทน้ำในถังทิ้งบ่อย หรือไม่บ่อย ก็ขึ้นอยู่สภาพอากาศในขณะนั้นว่ามีความชื้นมากน้อยเพียงใด)
  • ราคาค่าบำรุงรักษาจะสูงกว่า เนื่องจากมีอุปกรณ์ที่ใช้มากกว่าเช่นกัน

9.3 ฟังก์ชันการดักยุง (Mosquito Catching Function)

Air Purifier Glue Sheet
แผ่นกาวดักยุง (Glue Sheet)

ฟังก์ชันนี้เห็นจะมี เครื่องฟอกอากาศ ของ Sharp ที่ผลิตขึ้นมาเป็นตัวแรกของโลก (ดูรายละเอียดรีวิว เครื่องฟอกอากาศดักยุงของ Sharp บนทาง Thanop.com) โดยมันเป็นการนำเอาสิ่งที่เครื่องฟอกอากาศทั่วๆ ไปมีอยู่แล้ว มาต่อยอดด้วยการเพิ่มความสามารถบางอย่างเข้าไป เพื่อให้มันมีความสามารถในการดักยุงได้นั่นเอง โดยหลักการของมันก็คือ มันจะต้องมีองค์ประกอบต่างๆ ดังต่อไปนี้

Sharp FP-FM40B-B Catch Panel with Glue Sheet Installing
ขณะกำลังติดตั้ง แผ่นกาวดักยุง (Glue Sheet) ลงไปใน แผงดักยุง (Catch Panel) ต้องดึงแผ่นพลาสติกออกก่อนใช้งาน
  1. UV Light (มีแสงยูวีดึงดูดยุง) : เนื่องจากยุงเป็นสัตว์ที่ชอบสีของหลอดไฟ UV (สังเกตได้จากเครื่องดักยุงทั้งหลาย ที่จะใช้หลอดไฟ UV) มาเป็นตัวล่อยุงให้เข้ามาใกล้ๆ ตัวเครื่อง
  2. Black Color (ตัวเครื่องเป็นสีดำ) : อีกหนึ่งจุดที่ยุงชอบไปอาศัยอยู่มากๆ เลยคือที่มืดๆ ลับตา ทางผู้ผลิตเครื่องฟอกอากาศดักยุง จึงมักจะให้ตัวเครื่องเป็นสีดำ เพื่อเป็นอีก 1 ปัจจัยในการล่อยุงเข้ามา
  3. Powerful Airflow (ดูดยุงเข้าไปด้านในเครื่องด้วยพัดลมดูดอากาศพลังสูง) : ข้อนี้ถือเป็นการใช้สิ่งที่เครื่องฟอกอากาศมีอยู่แล้วมาต่อยอดนั่นเอง เพราะว่าปกติแล้ว เครื่องฟอกอากาศจะต้องดูดอากาศเข้าไปภายในเครื่องอยู่แล้ว อันนี้ก็ถือโอกาสดูดยุงเข้ามาด้วยซะเลย
  4. Glue Sheet (แผ่นกาวดักจับยุง) : และเมื่อยังถูกดูดเข้ามาด้านหลังของตัวเครื่องแล้ว จะพบกับแผ่นกาวดักจับยุง อยู่ ซึ่งสาเหตที่ไม่ใช้ไฟฟ้าช็อตยุงให้ตาย ก็เพราะเหตุผลเรื่องของความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน เด็ก และสัตว์เลี้ยงนั่นเอง

ข้อดี 🙂

  • ช่วยลดปริมาณยุงในห้องพัก ทั้งยุงรําคาญ ยุงลาย ฯลฯ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่ว่า “ยุง” ก็เป็นพาหะของการเกิดโรคร้ายที่อันตรายถึงชีวิตอาทิ โรคไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever) โรคไข้มาลาเรีย (Malaria) โรคเท้าช้าง (Elephantiasis) หรือแม้แต่ โรคไข้ซิกา (Zika Fever)

ข้อเสีย 🙁

  • ราคาค่าบำรุงรักษาจะสูงกว่า เพราะต้องเปลี่ยนแผ่นกาวดักจับยุงอยู่บ่อยๆ โดยอายุการใช้งานของมันก็อยู่ประมาณ 1 เดือน แล้วก็ต้องเปลี่ยนใหม่ เพราะมิเช่นนั้นประสิทธิภาพการดักจับยุงก็จะลดลง (เพราะกาวมันไม่เหนียวแล้ว)

10. ฟังก์ชันเสริมเพื่อความสะดวกสบายอื่นๆ (Additional Convenience Functions)

ความสามารถเสริมเหล่านี้ ก็เป็นฟังก์ชันที่ถูกเพิ่มเข้ามาให้ผู้ใช้งาน ซึ่งเครื่องฟอกอากาศในบางรุ่น บางยี่ห้อก็มี บ้างก็ไม่มี อันนี้ก็แล้วแต่ว่าเขาจะใส่มาให้หรือเปล่า ขึ้นอยู่กับราคาของเครื่องด้วยเช่นกัน

10.1. ฟังก์ชันป้องกันเด็ก (Child Lock Function)

Air Purifier Child Lock Function
ฟังก์ชันป้องกันไม่ให้เด็กมากดปุ่มเล่น (Child Lock Function) ของ เครื่องฟอกอากาศ Sharp

ฟังก์ชันนี้จะมาในลักษณะของปุ่มกด ที่คุณจะต้องกดค้างเอาไว้นานประมาณ 3-5 วินาที เพื่อทำการล็อคเครื่องไม่ให้สามารถกดปุ่มอะไรใดๆ ได้อีกเลย

โดยหลังจากกดปุ่มนี้ไปแล้ว ทุกปุ่มจะเพิกเฉย และไม่ตอบสนองใดๆ ต่อการกดปุ่มต่างๆ บนตัวเครื่องของคุณ จนกว่าจะไปกดปุ่มเดิมค้างเอาไว้ประมาณ 3-5 วินาที ซ้ำอีกครั้ง เพื่อยกเลิกฟังก์ชันนี้

สำหรับประโยชน์ของมันก็คือ ช่วยป้องกันไม่ให้เด็กมากดปุ่มเล่นบนตัวเครื่องนั่นเอง เช่น กดปุ่มโน้นที ปุ่มนี้ที

และนอกจากนอกจากนี้แล้ว เครื่องฟอกอากาศ รุ่นใหม่ๆ ที่มีความสามารถควบคุมเครื่องผ่านแอปพลิเคชัน ได้ ก็สามารถเปิดฟังก์ชันนี้ ผ่านแอปพลิเคชันได้อีกด้วยเช่นกัน

10.2. โหมดนอนหลับ หรือ โหมดกลางคืน (Sleep Mode or Night Mode)

Air Purifier Sleep Mode and Timer Function
โหมดนอนหลับ และ ฟังก์ชันป้องกันไม่ให้เด็กมากดปุ่มเล่น (Sleep Mode and Timer Function) ของเครื่องฟอกอากาศ MITSUTA รุ่น MAP450

เครื่องฟอกอากาศที่เห็นอยู่ในท้องตลาดหลายๆ รุ่น หลายๆ ยี่ห้อ ก็จะมีออปชั่นให้กดปุ่มเปิดโหมดนอนหลับ (บางรุ่นอาจจะเรียกว่า “โหมดกลางคืน”) มาให้ด้วย

โดยส่วนมากแล้ว การเปิดโหมดนอนหลับ จะช่วยให้เครื่องฟอกอากาศรบกวนคุณในขณะนอนหลับน้อยลง เพื่อให้คุณได้นอนหลับพักผ่อนกันได้อย่างเต็มที่ การทำานของเครื่องที่เปลี่ยนไปอย่างเช่น ไฟต่างๆ บนตัวเครื่องจะดับ หรือหรี่ลง และนอกจากนี้แล้วพัดลมดูดอากาศ ก็จะทำงานในระดับที่ต่ำลงอีกด้วย (เสียงเครื่องจะเบาลง)

10.3. ฟังก์ชันตั้งเวลาเปิดหรือปิดเครื่องล่วงหน้า (Timer or Auto On/Off Function)

เครื่องฟอกอากาศบางรุ่น บางยี่ห้อ ก็มีออปชั่นให้เราสามารถตั้งเวลาเปิดเครื่อง (Auto Power On) หรือปิดเครื่อง (Auto Power Off) ล่วงหน้าได้ตามต้องการ ซึ่งสามารถเลือกได้ในช่วงระยะเวลาที่ทางผู้ผลิตเขากำหนดมาให้ เช่น ทุกๆ 1/ 2/ 4/ 8 ชั่วโมงเป็นต้น หรือบางรุ่น บางยี่ห้อ เขาก็จะมีช่วงระยะเวลาการตั้งเวลาทุกช่วงเวลา (ทุกชั่วโมง) เพื่อให้ยาวไปจนถึง 24 ชั่วโมงเลยก็มีเช่นกัน เพื่อความยืดหยุ่นในการใช้งาน

สำหรับการตั้งเวลาปิดเครื่องนั้น เครื่องฟอกอากาศ ก็จะทำการนับเวลาถอยหลังทันทีที่กดปุ่มตั้งเวลาปิดเครื่องล่วงหน้า และเมื่อถึงเวลาเครื่องก็จะปิดทำงานโดยอัตโนมัติโดยทันที

ในขณะที่การตั้งเวลาเปิดเครื่องนั้น ก็พบว่ามีบางรุ่นที่สามารถทำได้แล้ว โดยฟังก์ชันนี้จะสามารถใช้ ได้ในขณะที่เครื่องกำลังปิดอยู่ (ก็แหงละ) แต่ต้องเสียบปลั๊กเอาไว้ด้วยเพื่อให้ไฟเลี้ยงเครื่อง (คล้ายๆ กับโหมดนอนหลับบนเครื่องคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป) แล้วให้กดปุ่มตั้งเวลา โดยเมื่อถึงเวลาเครื่องก็จะเปิดทำงานโดยอัตโนมัติทันทีเช่นกัน

โดยส่วนมากแล้ว ปุ่มตั้งเวลาเปิดเครื่อง และ ปุ่มตั้งเวลาปิดเครื่อง นั้น แท้จริงแล้วคือปุ่มเดียวกันนี่เอง เพียงแต่ว่าเราจะใช้งานมันในสถานะที่แตกต่างกันออกไปกล่าวคือ

  • ในขณะที่เครื่องกำลังเปิดใช้ตั้งเวลาปิดเครื่องอัตโนมัติ
  • ในขณะเครื่องกำลังปิดใช้ตั้งเวลาเปิดเครื่องอัตโนมัติ

หมายเหตุ : ถ้าเป็นเครื่องฟอกอากาศที่สามารถสั่งงานด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย Wi-Fi ได้ ก็จะสามารถตั้งค่าผ่านแอปฯ ได้อีกด้วยเช่นกัน อย่างเช่น เครื่องฟอกอากาศ Atmosphere จาก Amway, Blueair ในรุ่นที่เชื่อมต่อ Wi-Fi ได้เป็นต้น

10.4 ฟังก์ชันการใช้งานแบบไร้สาย หรือพกพา (Cordless or Portable Functions)

CUCKOO Air Purifier B Model Cordless Adapter Set Zoom
ภาพขยายของชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ เครื่องฟอกอากาศ CUCKOO B Model

ปัจจุบันนี้มีเครื่องฟอกอากาศที่มีความสามารถของการใช้งานแบบไร้สาย (Cordless) เพิ่มเข้ามาด้วย นั่นหมายความว่าเครื่องฟอกอากาศ เครื่องนั้นจะมีแบตเตอรี่เป็นแหล่งจ่ายไฟอยู่ภายในในขณะที่ไม่มีไฟ โดยส่วนมากจะเป็น แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน (Lithium-Ion) ที่มีคุณสมบัติในการจ่ายไฟที่แรง และคงที่ แม้ในขณะที่แบตเตอรี่ใกล้หมดก็ตาม เพื่อให้คุณได้สามารถเคลื่อนย้ายตัวเครื่องไปใช้งานในพื้นที่ ที่ไม่มีปลั๊กไฟ หรือใช้งานในขณะที่ไฟฟ้าที่บ้านดับได้เช่นกัน

โดยเครื่องฟอกอากาศประเภทนี้ จะมีชุดอะแดปเตอร์แปลงไฟ ที่จะแปลงไฟฟ้าแบบกระแสสลับ (AC Power) ไปเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC Power) ก่อนที่จะจ่ายเข้าไปใช้ภายในตัวเครื่อง

CUCKOO Air Purifier B Model Cordless Underside with Battery Installed
เครื่องฟอกอากาศแบรนด์ CUCKOO B Model จากประเทศเกาหลี มีแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน (Li-Ion) ความจุ 5,000 มิลลิแอมป์ (mAh) อยู่ข้างใต้เครื่อง ที่สามารถใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ได้สูงสุดเกือบ 11 ชั่วโมง

นอกจากนี้แล้ว มันยังจะสามารถใช้งานในขณะที่เสียบปลั๊กไปด้วย และชาร์จไฟไปด้วย ก็สามารถทำได้เช่นกัน (เหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค) ระยะเวลาการใช้งานจะขึ้นอยู่กับระดับความแรงของพัดลมดูดอากาศ ว่าเปิดในระดับแรงมากน้อยแค่ไหน

ข้อดี 🙂

  • สามารถเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบาย เช่นนำไปใช้ในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าได้ หรือจะใช้งานในขณะที่ไฟฟ้าดับก็ได้อีกด้วยเช่นกัน

ข้อเสีย 🙁

  • น้ำหนักเครื่องอาจจะมากกว่าเครื่องฟอกอากาศทั่วๆ ไป เพราะมีน้ำหนักของแบตเตอรี่ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
  • มีค่าบำรุงรักษาในเรื่องของแบตเตอรี่เพิ่มเติม เพราะแบตเตอรี่เป็นอุปกรณ์ที่มีอายุการใช้งานจำกัด

10.5 การสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟน (Smartphone Control)

ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีของเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ถูกพัฒนาไปมาก จนทำให้มันสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ทั่วโลก ซึ่งเราเรียกเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ว่า อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things – IoT)

และในวงการของเครื่องฟอกอากาศ ก็เช่นเดียวกัน ในปัจจุบันนี้ก็มีเครื่องฟอกอากาศหลายรุ่น หลายยี่ห้อ ที่ได้นำเอา เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things หรือ IoT) เข้ามาประยุกต์ใช้ ซึ่งทำให้มันสามารถควบคุมเครื่อง เช่น สั่งเปิดปิดเครื่อง, ตั้งเวลาเปิดปิดเครื่อง, ปรับเปลี่ยนโหมดการทำงาน หรือแม้แต่การดูค่าของสภาพอากาศ และคุณภาพอากาศ อย่างค่าอุณหภูมิห้อง (Temperature), ค่าความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity), ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และอื่นๆ ลองมาดูตัวอย่างด้านล่างกัน

แอปพลิเคชัน Blueair

Blueair App Logo
โลโก้แอปพลิเคชัน Blueair

แอป Blueair เป็นแอปพลิเคชันที่เอาไว้ใช้ในการควบคุม และสั่งงาน รวมไปถึงดูการตั้งค่า รวมไปถึงคุณภาพอากาศของเครื่องฟอกอากาศ Blueair ประเทศสวีเดนทั้งหมด (ที่รองรับการควบคุม และสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน)

โดยมันสามารถใช้ควบคุมเครื่องฟอกอากาศ Blueair ได้หลายรุ่น และหลายเครื่อง ผ่านแอปพลิเคชัน ภายใต้บัญชีผู้ใช้ (User Account) บัญชีเดียว

Blueair App Interface General Example for HealthProtect Family
รูปตัวอย่างหน้าจอในเมนูต่างๆ ของแอปพลิเคชัน Blueair ที่ใช้ในการควบคุม เครื่องฟอกอากาศ Blueair HealthProtect 7770i

แอปพลิเคชัน Atmosphere Connect

Atmosphere Connect App Logo
โลโก้แอปพลิเคชัน Atmosphere Connect

ในส่วนนี้ขอยกตัวอย่างแอป Atmosphere Connect จากแบรนด์เครื่องฟอกอากาศ Atmosphere ของ Amway ประเทศสหรัฐอเมริกา (USA) นั่นเอง

โดยแอปพลิเคชันตัวนี้ ก็สามารถที่จะใช้ ควบคุมเครื่องฟอกอากาศ Atmosphere SKY และ  Atmosphere MINI ได้ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งจะสะดวกมากๆ ในกรณีที่เราอยู่นอกบ้าน อย่างเช่น อยู่ที่ทำงาน หรือจะอยู่ต่างจังหวัด, ต่างประเทศ และต้องการที่จะเข้ามาดูสถานะ ดูค่าต่างๆ ของตัวเครื่อง หรือจะสั่งงานเครื่อง ก็สามารถทำได้อย่างสะดวกสบายอีกด้วยเช่นกัน

Atmosphere Connect App Interface General Example for Atmosphere Mini
รูปตัวอย่างหน้าจอในเมนูต่างๆ ของแอปพลิเคชัน Atmosphere Connect ที่ใช้ในการควบคุม เครื่องฟอกอากาศ Atmosphere MINI

11. ความน่าเชื่อถือของยี่ห้อสินค้า และผลิตภัณฑ์ (Brand and Product Reliability)

เนื่องจากเครื่องฟอกอากาศ ถือเป็นสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ (Health Product) ดังนั้นก่อนที่จะซื้อหา ก็ควรที่จะศึกษาหาข้อมูลของทางผู้ผลิตสักนิดนึง เพื่อให้เราได้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในราคาที่คุ้มค่ามากที่สุด โดยปัจจัยในการพิจารณา มีหลักๆ อยู่ 3 ข้อดังต่อไปนี้

11.1 Brand (ยี่ห้อสินค้า)

ยี่ห้อสินค้า ถือเป็นปัจจัยแรกๆ ที่ผู้ที่สนใจจะซื้อเครื่องฟอกอากาศ มักจะตั้งคำถามว่า “เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อไหนดี ?” ซึ่งโดยมากแล้ว ความสามารถต่างๆ ขอให้เน้นดูจากความน่าเชื่อถือของแบรนด์เป็นหลัก และการบริการหลังการขายจะดีกว่า เพื่อความสบายใจของลูกค้าในระยะยาว

ในปัจจุบันนี้ มีเครื่องฟอกอากาศแบรนด์ต่างประเทศ เข้ามาทำตลาดเองในประเทศไทยอยู่มากมาย ที่ส่วนมากแล้วจะขายผ่านตัวแทนอย่าง ผู้ได้รับอนุญาตจัดจำหน่าย (Authorized Distributor) อีกที ซึ่งก็หมายความว่า กว่าที่ผู้ได้รับอนุญาตจัดจำหน่ายในไทย จะได้สิทธิ์ขายตรงนี้ ก็ต้องผ่านการตรวจสอบจาก เจ้าของแบรนด์ ต่างประเทศดีอยู่ในระดับนึงแล้ว

จากภาพด้านล่าง คือ เครื่องฟอกอากาศ Atmosphere, Blueair และ IQAir ที่เน้นประสิทธิภาพการกรองอากาศในระดับสูง มีความสามารถในการกรองฝุ่นละออง หรืออนุภาคขนาดเล็กต่างๆ ได้ละเอียดกว่ามาตรฐานของ แผ่นกรองอากาศ HEPA ลงไปอีก จนถึงระดับที่สามารถกรองเชื้อโรคอย่างไวรัสได้

Atmosphere Air Purifier by Amway Logo
โลโก้ผลิตภัณฑ์ เครื่องฟอกอากาศ Atmosphere โดย Amway จากประเทศสหรัฐอเมริกา

Blueair Logo
โลโก้ผลิตภัณฑ์ Blueair จากประเทศสวีเดน

IQAir Logo
โลโก้ผลิตภัณฑ์เครื่องฟอกอากาศ IQAir จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์

11.2 Verified and Test by Labs (การรับรองจากสถาบันทดสอบ)

เครื่องฟอกอากาศส่วนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากเป็นแบรนด์ที่เราไม่ค่อยรู้จัก ผู้ผลิตเขามักจะโชว์ผลการทดสอบ และผลการรับรองจากสถาบันทดสอบชั้นนำที่เป็นกลางในด้านต่างๆ เช่น ผลการทดสอบการกำจัดกลิ่น การกรองฝุ่น การกำจัดเชื้อโรค และอื่นๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นการสแกนใบรับรองเข้ามาแบบดิบๆ เพื่อความน่าเชื่อถือ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย ถ้าหากพอมีเวลา ก็ลองแปลด้วย Google Translate ดู พร้อมค้นหาชื่อสถาบันทดสอบดูสักหน่อย ว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่

ด้านล่างนี้เป็นโลโก้รับรองเครื่องฟอกอากาศ ที่ถือว่าเป็นการรับรองที่มีความน่าเชื่อถือจากสมาคม หรือสถาบันระดับโลกที่น่าเชื่อถือ และไว้วางใจได้ ก็มีอย่าง “โลโก้ AHAM Verified” จากประเทศสหรัฐอเมริกา (USA) และ “โลโก้ Allergy UK” จากสหราชอาณาจักร (UK) เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น เครื่องฟอกอากาศ Atmosphere (ทั้งรุ่น SKY และ MINI) ได้รับโลโก้ Allergy UK จากสถาบัน British Allergy Foundation (BAF) ของสหราชอาณาจักร เพราะผ่านการทดสอบแล้วว่า มันสามารถกรองสารก่อภูมิแพ้ได้ทั้ง 22 หมวด ซึ่งมีน้อยผลิตภัณฑ์ที่สามารถกรองอนุภาคต่างๆ ได้มากมายขนาดนี้ และด้วยเหตุนี้เอง มันจึงเหมาะกับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ เป็นอย่างมาก

11.3 Product Warranty (การรับประกันสินค้า)

โดยส่วนมากเครื่องฟอกอากาศจะรับประกันเฉพาะตัวเครื่อง และมอเตอร์ของพัดลมดูดอากาศ ที่เกิดจากการผลิต หรือจากการใช้งานทั่วไปเท่านั้น (ไม่นับรวมการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ) ซึ่งโดยส่วนมากแล้วก็จะไม่เกิน 1-2 ปี แต่ก็มี เครื่องฟอกอากาศบางรุ่น บางยี่ห้อ ที่มีการรับประกันคุณภาพมากกว่านั้น (ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ระดับไฮเอนด์) อย่างเช่น

  • Atmosphere SKY : รับประกัน 5 ปี
  • Atmosphere MINI : รับประกัน 3 ปี
  • Blueair HealthProtect 7770i : รับประกัน 5 ปี
  • IQAir HealthPro 250 : รับประกัน 3 ปี (สำหรับใช้ภายในที่พักอาศัย) และ 1 ปี (สำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์)

ในขณะที่ พวกอะไหล่ หรืออุปกรณ์สิ้นเปลือง (Consumable Parts) ต่างๆ อย่างเช่น แผ่นกรองอากาศชั้นต่างๆ ก็จะไม่มีการรับประกัน โดยส่วนใหญ่ (แทบจะทั้งหมด เลยก็ว่าได้)

11.4 Money Back Guarantee (การรับประกันคืนเงิน)

เครื่องฟอกอากาศบางยี่ห้อ มีการรับประกันความพึงพอใจในการใช้งาน หากนำไปใช้ไม่เกินจำนวนวันที่กำหนด สามารถคืนเงินให้ลูกค้ากลับได้แบบเต็มจำนวน (100% ของราคาสินค้า – ตามเงื่อนไขที่กำหนด) อย่างเช่น เครื่องฟอกอากาศ Atmosphere จาก Amway ที่มีการรับประกันความพึงพอใจแบบคืนเงิน 90 วัน เป็นต้น

12. การดูแลรักษาเครื่องฟอกอากาศ (Air Purifier Maintenance)

การดูแลเครื่องฟอกอากาศส่วนมาก ถ้าเป็นเครื่องฟอกอากาศธรรมดาทั่วไป ก็จะเป็นการทำความสะอาด แผ่นกรองอากาศ เสียมากกว่า แต่สำหรับเครื่องฟอกอากาศที่มี ฟังก์ชันเสริมที่ไม่เกี่ยวกับการฟอกอากาศ (Nonpurifying Functions) ก็อาจจะมีการดูแลรักษาเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย ลองดูจากตารางด้านล่างนี้เลย

ประเภท
(Type)
การทำความสะอาด
(Cleaning Method)
รอบการทำความสะอาด โดยเฉลี่ย
(Average Cleaning Cycle)
การเปลี่ยน
(Replacement Cycle)
แผ่นกรองอากาศชั้นต้น
(Pre-Filter)
ใช้น้ำสะอาดล้าง และผ้าเช็ดให้แห้ง 1-2 เดือน ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน
(ถ้าตาข่าย หรือแผ่นฟองน้ำ ไม่ขาด)
แผ่นกรองอากาศ HEPA
(HEPA Filter)
นำมาดูดฝุ่น หรือ แปรงปัดตามร่องของมัน แล้วเคาะๆ เพื่อให้เศษฝุ่นละอองที่เกาะอยู่หลุดออกไป

ขณะที่บางรุ่น บางยี่ห้อ สามารถนำมาแช่น้ำเปล่าทิ้งไว้ได้ ประมาณ 4-5 ชั่วโมง และนำมาตากแดดให้แห้ง (ต้องอ่านคำแนะนำดีๆ)

(ห้ามใช้สบู่ หรือ น้ำยาทำความสะอาดใดๆ มาล้าง มิเช่นนั้น แผ่นกรองฯ จะเปื่อย และเสื่อมสภาพเร็ว)

4-6 เดือน เปลี่ยนทุกๆ 1-3 ปี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการใช้งาน และสถานที่ตั้งของเครื่องฟอกอากาศ
แผ่นกรองคาร์บอน
(Carbon Filter)
นำมาเคาะๆ แปรงปัดฝุ่นมาปัด หรือ เครื่องดูดฝุ่น มาดูด

(ห้ามใช้นำล้างเด็ดขาด !)

4-6 เดือน เปลี่ยนทุกๆ 1-3 ปี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการใช้งาน และสถานที่ตั้งของเครื่องฟอกอากาศ
แผ่นกรองอากาศแบบออลอินวัน
(All-in-One Air Filter)
เปลี่ยนทุกๆ 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการใช้งาน และสถานที่ตั้งของเครื่องฟอกอากาศ

(ในระหว่าง 1-2 เดือน อาจนำมาทำความสะอาดได้ด้วยการ ใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดที่ตัวแผ่นกรองฯ หรือ เคาะตบเบาๆ กับมือตัวเอง ให้ฝุ่นคลุ้ง ซึ่งควรทำภายนอกอาคาร แต่ห้ามใช้นำล้างเด็ดขาด !)

ถังน้ำ
(Water Tank)
  • เติมน้ำสะอาดให้เต็มถัง
    (สำหรับเครื่องฟอกอากาศที่มีระบบเพิ่มความชื้นในอากาศ)
  • เทน้ำในถังทิ้ง
    (สำหรับเครื่องฟอกอากาศที่มระบบดูดความชื้นในอากาศ)
  • ล้างคราบสกปรกในถังน้ำ
3-7 วัน
(ขึ้นอยู่กับปริมาณความชื้นในอากาศ)
ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน
(ถ้าถังน้ำไม่ได้ชำรุด)
แผ่นกาวดักจับยุง
(Glue Sheet)

ต้องเปลี่ยนทุกๆ 1-2 เดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณยุง ที่ติดอยู่ที่ตัวแผ่นกาว

← กลับไปอ่านหน้า 1 (Previous Page)

1
2
ทบทวนภาพรวม
ความจำเป็นที่ต้องมีเอาไว้ครอบครอง
7.5
การประหยัดไฟในภาพรวม
9
ความง่ายในการดูแลรักษา
7
บทความก่อนหน้านี้RESTER ALPHA เก้าอี้นวดไฟฟ้า ที่ผสมผสานความสบาย เข้ากับความหรูหราที่ทันสมัย อย่างลงตัว
บทความถัดไปRoborock S7 MaxV Ultra หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ที่เก็บฝุ่นอัตโนมัติ และซักผ้าม็อบฯ ได้เอง
Thanop Somprasong
Thanop.com Founder + Thaiware.com Co-Founder + Business Director, Cloud Business Co.,Ltd. + Committee Thai Webmaster Association
air-purifier<strong>ความจำเป็นที่ต้องมีเอาไว้ครอบครอง (7.5)</strong> : ในสมัยก่อน เครื่องฟอกอากาศ (Air Purifier) อาจจะเป็นสินค้าสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม อย่างเช่น คนที่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ อย่างโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด เป็นต้น หรืออาจจะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยสำหรับกลุ่มคนที่รักสุขภาพ สำหรับสถานที่ ที่นิยมใช้เครื่องฟอกอากาศคือโรงพยาบาลเป็นต้น <br /><br /> แต่ในปัจจุบันนี้ เมื่อมีมลพิษในอากาศมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้เครื่องฟอกอากาศ กลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น ที่ทุกบ้าน ทุกครัวเรือน ควรจะต้องมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยว หรือคอนโดมิเนียม หอพัก ต่างๆ เครื่องฟอกอากาศก็เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่แทบจะขาดไม่ได้แล้ว เหมือนกับ ตู้เย็น ไมโครเวฟ หรือเครื่องแอร์ ขณะที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามชนบท อาจยังไม่มีความจำเป็นเท่าไหร่นัก <br /><br /> <strong>การประหยัดไฟในภาพรวม (9.0)</strong> : ด้านการกินไฟ จริงๆ แล้ว เครื่องฟอกอากาศนั้น ก็เหมือนกับพัดลมทั่วๆ เพียงแต่จะแตกต่างกันตรงที่ เครื่องฟอกอากาศมีการใส่แผ่นกรองอากาศ และเซ็นเซอร์ต่างๆ บางอย่างเข้าไป ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หมายความว่า มันจะกินไฟไปมากไปกว่าพัดลมทั่วๆ ไปเลย ดังนั้นถ้าพูดถึงการประหยัดไฟในภาพรวมถือว่าโอเคเลยทีเดียว <br /><br /> <strong>ความง่ายในการดูแลรักษา (7.0)</strong> : จริงๆ แล้วการดูแลรักษาเครื่องฟอกอากาศ ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากมายเลย หลักๆ คือการทำความสะอาด และเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศตามระยะเวลาที่กำหนด โดยต้องหมั่นทำเป็นประจำ อย่างสม่ำเสมอ เพราะมิเช่นนั้นจากเครื่องฟอกอากาศ ที่ช่วยทำให้อากาศภายในห้องบริสุทธิ์ จะกลับกลายเป็นเครื่องสร้างมลพิษภายในห้องเสียเอง (เพราะมีปริมาณฝุ่นสะสมอยู่ในแผ่นกรองอากาศเยอะ)

8 ความคิดเห็น

  1. ห้องที่สามารถให้เครื่องฟอกอากาศได้ เป็นห้องปิดหรืออากาศถ่ายเทคะ

  2. รมิดา สันติพงษ์ไพบูลย์ เบอร์ติดต่อ 089-623-4691 รมิดา สันติพงษ์ไพบูลย์ เบอร์ติดต่อ 089-623-4691

    รบกวนขอราคาเครื่องฟอกอากาศสำนักงาน โดยมีพื้นที่โดยรวมประมาณ 1,200 ตร.ม. มี 2 ชั้น ชั้น 1 มีห้อง 6 ห้อง
    ชั้น 2 มี 8 ห้อง ขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามข้อมูลด้านล่างนะคะ ขอบคุณคะ สำนักงานตลาดไท

  3. เข้าใจง่าน มีประโยชน์ต่อผู้ใช้งานหรือผู้ที่กำลังจะหาซื้อมาใช้งานมากๆ…ขอบคุณครับ

  4. รีวิวดีมากๆเลยค่ะ ประกอบการตัดสินใจได้เยอะเลยค่ะ

  5. อ่านแล้วตอนนี้ผมตัดสินใจซื้อของ Xiaomi Air Purifier น่ะครับ ยังไงก็ขอบคุณมากสำหรับข้อมูลที่ละเอียดขนาดนี้น่ะครับ เพราะ สุดท้ายแล้วผมมองแค่ว่า ขนาดห้องเท่าไหร่ และ ผมต้องการ options เสริมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งส่วนตัวแล้วกลัวแค่สภาพความเป็นฝุ่นของค่า PM2.5 เท่านั้นดังนั้นแล้ว ผมใช้แค่เป็น HEPA Filter ก็ได้ (ประหยัดเงินอยู่) และ ถ้าหากว่าเป็นของเสี่ยวหมี่จะมีคนทำ Non-brand filter หลายรายเหมือนกัน และ สามารถซือกับผู้ผลิตโดยตรงก็ได้เหมือนกัน ทำให้ประหยัดค่าฟิลเตอร์ได้อีก !

    ส่วนตัวผมมองค่าใช้จ่ายต่อเวลาเป็นประเด็นสำหรับ เรียกง่ายๆว่า ดูว่าอะไรต้องเปลี่ยนและต้องเปลี่ยนความถี่เท่าไหร่ และ คำนวณเป็นเงินค่าใข้จ่ายรายเดือนหรือรายปีแทน แล้วเทียบกัน ทำให้สุดท้ายเลือกอะไรที่เป็น mass เอามากๆน่ะครับ

    รุ่นที่เพิ่งซื้อจะเป็นรุ่น Xiaomi Air Purifier 3 (ใหม่สุด)

    คอมเม้นท์อีกอย่างน่ะครับ คือ ตัวที่เป็น Plastma เห็นส่วนมาก จะเห็นที่โรงแรมที่ญี่ปุ่นน่ะครับ ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นประจำและ เราจะเห็นโรงแรมเกรดสามดาวหรือสี่ดาว จะมีเครื่องฟอกวางเอาไว้และทั้งหมดจะเป็นของในประเทศเขาคือ Philips Plasma เข้าใจว่าน่าแก้ปัญหาพวกกลิ่นบุหรี่ได้ดีนะครับ

  6. ขอใบเสนอราคาเครื่องฟอกอากาศขนาดเล็กราคาประมาณ 2000 บาท คะ

  7. รีวืวได้ละเอียดมากครับ ตอนนี้ระหว่างรอของก็หารีวิวไปเรื่อยๆ ก่อน ขอบคุณมากครับ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้