AUTOBOT Lazer Review

AUTOBOT Lazer and Box
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer

ห่างหายกันไปนานแรมปี กับการรีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นจากค่าย AUTOBOT แบรนด์หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน กว่า 4 กว่าปี (ในวงการหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถือว่านานมาก) และในวันนี้ทาง Thanop.com ได้มีโอกาสได้ มา รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer ที่นำทางด้วยระบบเลเซอร์วัดระยะทาง มารีวิวให้ชมกัน

สินค้าตัวนี้ ยกเลิกจำหน่าย จากทางผู้นำเข้าแล้ว !
(คุณสามารถชมรีวิว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer 4 รุ่นใหม่ล่าสุด ได้ที่นี่)

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer จัดว่าเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่นมีมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่ก็ได้พกเอาความสามารถมาให้แบบเต็มอิ่ม ไม่ว่าจะเป็น การถูพื้นแบบเปียก (มีถังน้ำ พร้อมผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ ติดมาให้เสร็จสรรพ) รวมไปถึงการสั่งงานผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ iOS และ Android พร้อมแสดงตำแหน่งปัจจุบันของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น กันแบบสดๆ แถมยังสามารถตั้งเวลาทำความสะอาดได้หลายครั้งต่อวัน (ส่วนใหญ่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นอื่นๆ จะตั้งได้แค่วันละครั้ง)

นอกจากนี้ยังใช้การดูดฝุ่นแบบ ระบบลมดูดฝุ่น (Vacuum Power) แทนการดูดด้วยแปรงกวาดหลัก (แปรงหมุน) เพื่อลดโอกาสเส้นผมยาวๆ หรือ ขนสัตว์ ไปติดที่แปรงกวาดหลัก แถมยังประหยัดค่าบำรุงรักษาต่างๆ ไปได้มากได้อีกด้วย นอกนั้นยังมีความสามารถอื่นๆ ในอีกๆ หลายส่วน ที่จะมานำเสนอกัน (ข้ามไปยัง : คุณสมบัติ และความสามารถทั้งหมด) ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดูกันเลย

และเช่นเคย ผมได้ทำเมนูลัดเอาไว้ ให้ทุกท่าน ได้สามารถกดข้ามไปอ่านหัวข้ออื่นๆ ที่ต้องการได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว เพราะเนื่องจากเป็นบทความรีวิวที่ค่อนข้างยาวพอสมควร

  1. ทำความรู้จักกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น AUTOBOT กันสักนิด
  2. แกะกล่องผลิตภัณฑ์
  3. อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์
  4. ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค
  5. คุณสมบัติ และความสามารถของตัวเครื่อง
  6. สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง
  7. เตรียมเครื่อง และเปิดใช้งานจริง
  8. คุณสมบัติ และความสามารถ ของแอพพลิเคชั่น iPlus Link กับเครื่อง AUTOBOT Lazer
  9. คำถามที่คุณต้องอยากรู้ (FAQs) เกี่ยวกับการใช้งาน
  10. บทสรุปการใช้งานเครื่อง

ด้านล่างนี้เป็นคลิปวีดีโอรีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer อย่างละเอียด แนะนำความสามารถ พร้อมส่วนประกอบต่างๆ ของตัวเครื่อง รวมไปถึงวิธีการเชื่อมต่อ และใช้งานแอพพลิเคชั่น iPlus Link ความยาวเกือบครึ่งชั่วโมง ถ้าต้องการศึกษาข้อมูลส่วนไหนเพิ่มเติม กลับมาอ่านที่บทความรีวิวฉบับนี้ต่อได้เลย

ทำความรู้จักกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น AUTOBOT กันสักนิด

AUTOBOT Logo
โลโก้ ผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ทำความสะอาด จาก ออโต้บอท (AUTOBOT)

คุณสามารถทำความรู้จักกับ ประวัติที่มาที่ไปของ หุ่นยนต์ทำความสะอาด AUTOBOT ให้มากกว่านี้ พร้อมรายละเอียดติดต่อสั่งซื้อ รวมไปถึง รายละเอียดการติดต่อบริษัท พร้อมศูนย์บริการ และข้อมูลอื่นๆ ได้ที่ลิงค์เชื่อมต่อด้านล่างนี้ได้เลย

⇒ ทำความรู้จักกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น AUTOBOT

แกะกล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer

AUTOBOT Lazer Box
กล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer

กล่องผลิตภัณฑ์มีขนาดที่ใหญ่ตามตัวเครื่อง กล่องมีขนาดมิติ (Dimension) อยู่ที่ ยาว (L) 571 x กว้าง (W) 129 x สูง (H) 432 มิลลิเมตร (วัดเองด้วยตลับเมตร) และมี น้ำหนักสินค้ารวมกล่อง (Gross Weight) ทั้งสิ้นอยู่ที่ประมาณ 7.2 กิโลกรัม (ชั่งเองด้วยเครื่องชั่งน้ําหนักดิจิตอล) เท่านั้น สีกล่องจะเน้นใช้ใช้โทนสีขาว เป็นหลัก ผสมผสานด้วยโดย สีฟ้า เข้ามาแซมเล็กน้อย

ด้านหน้ากล่อง : รูปตัวเครื่องมุมมองเฉียงวางโดดเด่นอยู่ทางด้านขวามือ ขณะที่มุมขวาบน เป็นโลโก้ “reddot design award winner 2016” ซึ่ง reddot นี้เป็นรางวัลการแข่งขันออกแบบสินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในโลก ถัดลงมาข้างล่างเป็น โลโก้แบรนด์และชื่อรุ่นอย่าง “AUTOBOT LAZER” พร้อมข้อความเขียนว่า “Intelligent Mapping” ตามลำดับ โดยด้านล่างเป็นที่อยู่เว็บไซต์ของแบรนด์ AUTOBOT อย่าง autobotvacuum.com นั่นเอง

ด้านหลังกล่อง  : ด้านบนจะมีบอก ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิคของตัวเครื่อง ถัดลงมาเป็น คุณสมบัติ และความสามารถของตัวเครื่อง พร้อมโลโก้ iOS App Store และ Google Play Store เพื่อเน้นยำว่า มันสามารถการสั่งงานผ่านเครือข่าย Wi-Fi จาก แอพพลิเคชั่น ได้ทั้ง 2 ค่ายจริงๆ ขณะที่ด้านขวามือก็เป็นรูปตัวเครื่องมุมมองหน้าตรง

ด้านซ้ายกล่อง : เป็นโลโก้แบรนด์และชื่อรุ่น ขณะที่ด้านขวามีรายละเอียดอื่นๆ ของตัวเครื่องเช่น ประเทศผู้ผลิต บริษัทผู้นำเข้า และอื่นๆ อีกเล็กน้อย

ด้านขวากล่อง : เป็นรายละเอียดการติดต่อของบริษัทผู้นำเข้า และจัดจำหน่าย ในหลากหลายช่องทาง ทั้งทางเบอร์โทรศัพท์และโซเชียลมีเดีย

อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer

AUTOBOT Lazer Box Unpacked without Cover
เมื่อเปิดฝากล่องผลิตภัณฑ์ AUTOBOT Lazer ออกมา หลังจากเอาแผ่นฝาปิดด้านบนออกไปแล้ว

เมื่อเปิดฝากล่องผลิตภัณฑ์ออกมา จะมีแผ่นฝาปิดที่เป็นกระดาษแข็งวางปิดเอาไว้อยู่ เมื่อนำออกไป ก็จะเห็นตัวเครื่องวางอยู่ทางด้านซ้ายมือ มีโดมกลมๆ ที่ทางผู้ผลิตเขาเรียกว่า “เลเซอร์เรดาร์ (Laser Radar)” อยู่ตรงกลาง นี่แหละคือส่วนของ เลเซอร์วัดระยะทาง (Laser Distance Sensor) วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวไหนที่นำทางด้วยเลเซอร์ ก็จะมีโดมลักษณะที่ใกล้เคียงกันนี้อยู่แบบนี้แหละ ขณะที่ส่วนด้านขวาของกล่องจะเป็นกล่องเก็บอุปกรณ์เสริม (Accessory Box) ต่างๆ ก็จะเก็บเอาไว้เป็นสัดเป็นส่วนที่นี่

AUTOBOT Lazer Component
อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ AUTOBOT Lazer

โดย AUTOBOT Lazer จัดว่าเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น อีก 1 ตัวที่ให้อุปกรณ์เสริม และอะไหล่สำรองมาเพียบ ภายในกล่องมีอุปกรณ์มาให้เบ็ดเสร็จทั้งหมด 10 ชนิดด้วยกัน ดูตามรูปประกอบด้านล่างได้เลย โดยบางตัวมีแยกขายเป้นอะไหล่ด้วยดเช่นกัน (ดูราคาอะไหล่ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น AUTOBOT Lazer)

1. AUTOBOT Lazer (หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น x 1 เครื่อง)

AUTOBOT Lazer Side
ด้านข้างของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer

เครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer เป็นเครื่องทรงกึ่งกลม (Semi-Round Shape) คือเกือบๆ จะกลม โดยมีขนาดมิติ อยู่ที่ 370 x 350 x 95 มิลลิเมตร (ความสูงของเครื่อง 9.5 เซนติเมตร) จัดว่ามีขนาดค่อนข้างใหญ่พอสมควร น้ำหนักเครื่องอยู่ที่ 3.8 กิโลกรัม วัสดุบนตัวเครื่องเป็นแบบพลาสติกสีดำผิวมัน ขณะที่กันชนเป็นพลาสติกผิวด้าน

2. Charge Base (แท่นชาร์จ x 1 ชุด)

แท่นชาร์จ (Charge Base) เปรียบเสมือนบ้านของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่เดี๋ยวนี้กลายเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ทุกเครื่องต้องมีแล้ว มันมีขนาดมิติอยู่ที่ 220 x 76.9 x 114.5 มิลลิเมตร และมีน้ำหนักอยู่ที่ 0.65 กิโลกรัม เท่านั้นเอง

แท่นชาร์จของ AUTOBOT Lazer มีข้อดีตรงที่ จุดสัมผัสแท่นชาร์จอยู่ที่ด้านหน้าของตัวแท่นชาร์จ (น้อยยี่ห้อ น้อยรุ่นที่จะเป็นแบบนี้) ส่งผลให้ทั้งตัวแท่นชาร์จเอง และตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น มีหน้าสัมผัสที่กว้างกว่าจุดสัมผัสแท่นชาร์จที่อยู่ข้างใต้เครื่อง สรุปง่ายๆ คือ ไม่ต้องดูแลอะไรมันมากมาย ไม่ต้องคอยหมั่นเช็ดทำความสะอาดจุดสัมผัสแท่นชาร์จบ่อยครั้ง

ขณะที่ด้านหลังของแท่นชาร์จก็ยังมีดไซน์ที่สวยงาม และยังมีที่ม้วนเก็บสายไฟ ไม่ให้มาระเกะระกะระหว่างเครื่องกำลังทำงานอีกด้วย

3. Adapter Set (ชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ x 1 ชุด)

อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ ใช้แปลงไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Power) ไปเป็น ไฟฟ้ากระแสตรง (DC Power) ที่ใช้ภายในตัวเครื่อง เป็นอะแดปเตอร์แบบที่รองรับแรงดันไฟฟ้าระหว่าง 100 ถึง 240 โวลต์ (V) นั่นหมายความว่า มันสามารถใช้ได้กับทุกประเทศทั่วโลก มีสายไฟขนาดความยาวประมาณ 1.5 เมตร (วัดด้วยตลับเมตรเอง) มาให้

โดยทาง AUTOBOT Lazer เขาใช้อะแดปเตอร์ชาร์จไฟของยี่ห้อ Simsukan เป็นยี่ห้อของบริษัท Shenzhen Simsukian Electronics Technology จากประเทศจีน โดยบริษัทนี้เป็นบริษัทที่ผลิตอะแดปเตอร์ชาร์จไฟอย่างเดียว รับรองว่ามีความเชี่ยวชาญสูงอย่างแน่นอน

4. Side Brush (แปรงกวาดข้าง x 2 ชุด = 4 แปรง)

แปรงกวาดข้าง อีกหนึ่งอุปกรณ์พื้นฐานสำคัญของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นทรงกลม ที่มักจะมีจุดบอดตรงการดูดฝุ่นตรงขอบมุมของห้อง หรือเฟอร์นิเตอร์ และ AUTOBOT Lazer นี้ก็เช่นกัน แม้ว่ารูปร่างของมันจะเป็นทรงกึ่งกลมก็ตาม แต่ก็ยังจำเป็นอยู่ดี ซึ่งทาง AUTOBOT เขาให้มาทั้งหมด 2 ชุด รวมทั้งสิ้น 4 แปรงด้วยกัน

โดยแปรงกวาดข้างนี้ จะเป็นหัวแปรงแบบ 4 แฉก (4 ก้าน) มีขนแปรงสีเทา พร้อมพลาสแถบติกสีฟ้ายึดที่ขั้วของแปรง เพื่อใช้ป้องกันขนแปรงหลุดออกมาขณะกำลังหมุนทำงาน ขนาดความยาวของขนแปรงในแต่ละแฉก จะอยู่ที่ 5 เซนติเมตร (รวมทั้งก้านและขนแปรง 7 เซนติเมตร)

5. Cleaning Brush (แปรงทำความสะอาดอเนกประสงค์ x 1 แปรง)

ใช้ทำความสะอาดส่วนประกอบต่างๆ ของตัวเครื่อง ตามขอบซอกหลืบต่างๆ อาทิ ด้านข้างล้อขับเคลื่อนหลัก ร่องระหว่างกันชนหน้ากับตัวเครื่อง เป็นต้น ความยาวของแปรงทั้งสิ้นอยู่ที่ 20 เซนติเมตร

6. Spare HEPA Filter (แผ่นกรองอากาศ HEPA ชุดสำรอง x 1 แผ่น)

แผ่นกรองอากาศ HEPA ชุดสำรอง (อีกแผ่นนึงถูกติดตั้งอยู่กับกล่องใส่ชยะฝุ่นละออง ในตัวเครื่องแล้ว) เป็น แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง ขนาดเล็ก มีขนาดมิติ (กว้าง) 3.5 x (ยาว) 12 เซนติเมตร รวมพื้นที่ 42 ตารางเซนติเมตร เป็น แผ่นกรองอากาศแบบละเอียด ใช้ดักเศษฝุ่นละอองที่ถูกดูดเข้ามาพร้อมลม ไม่ให้กลับออกไปสู่ภายนอกอีกครั้ง โดยจะปล่อยอากาศบริสุทธิ์กลับออกไปเท่านั้น

7. Magnetic Strip (แถบแม่เหล็กกั้นขอบเขต x 1 เส้น)

แถบแม่เหล็กกั้นขอบเขต ความยาวประมาณ 2 เมตร (วัดได้ประมาณ 206 เซนติเมตร) เอาใช้สำหรับวางหน้าพื้นที่ ที่ไม่ต้องการให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่น วิ่งเข้าไปทำความสะอาดในบริเวณนั้น เพราะอาจจะมีสิ่งของที่หกเลอะเทอะ หรือแตกง่าย

นอกจากนี้แล้วเราสามารถที่จะใช้กรรไกรตัดแถบแม่เหล็กกั้นขอบเขตเพื่อให้ได้ขนาดตามความต้องการ และนำไปกั้นหน้าพื้นที่ต่างๆ ได้ แต่มีข้อแม้ว่าตัดแล้วตัดเลย ไม่สามารถนำมาต่อได้อีก

8. Microfiber Cloth (ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ x 2 ผืน)

ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ทรงครึ่งวงรี มีขนาดพื้นที่อยู่ที่ประมาณ 260 ตารางเซนติเมตร จัดว่ามีขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ทำให้การถูพื้นแบบเปียกครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น

9. Water Tank (ถังน้ำ x 1 ถัง)

ถังน้ำทรงแบน มีขนาดความจุ 150 มิลลิลิตร (0.15 ลิตร) พร้อมแถบตีนตุ๊กแกด้านล่างทั้งหมด 4 แถบยาว รอบๆ ด้านของถังน้ำ โดยด้านบนมีฝาเปิดเติมน้ำแบบยาง เพื่อให้เปิดเติมน้ำลงถังกันได้ง่ายๆ และยังมีสติ๊กเกอร์แปะคำแนะนำวิธีการใช้งานเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมรูปประกอบที่เข้าใจง่าย

10 User Manual and Quick Start Guide (คู่มือการใช้งาน x 1 เล่ม และ คู่มือเริ่มต้นใช้งานฉบับย่อ x 1 แผ่น)

เอกสาร 2 ชุดที่ให้มาในกล่องคือ คู่มือการใช้งาน (User Manual) ภาษาอังกฤษล้วนๆ จำนวน 8 หน้า ข้อมูลละเอียดมาก ไม่ว่าจะเป็น แนะนำอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบของตัวเครื่อง วิธีการติดตั้ง วิธีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น พร้อมคำแนะนำด้านความปลอดภัย ฯลฯ โดยมีรูปประกอบเท่าที่จำเป็น ถือว่ากระทัดรัดดี

นอกจากนี้ยังมี คู่มือเริ่มต้นใช้งานฉบับย่อ (Quick Start Guide) เป็นพับกระดาษแผ่นเดียว มีเนื้อหาอยู่ 3 หน้า (ไม่รวมหน้าปก) ภายในมีบอกแค่วิธีการเริ่มต้นใช้งานตั้งแต่ต้นจบจบ (รวมถึงการติดตั้งแอพพลิเคชั่น อย่างละเอียดด้วย)

ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer

รายละเอียด
(Specification)
ขนาดมิติ
(Dimension)
370 x 350 x 95 มม.
น้ำหนัก
(Weight)
3.8 กิโลกรัม
ไฟเข้า
(Input)
AC 100-240V 50/60 Hz (1.5A)
ไฟออก
(Output)
DC 20V 2.0A (กินไฟ <40W)
ประเภทของแบตเตอรี่
(Battery Type)
Li-Ion
ปริมาณความจุแบตเตอรี่
(Battery Capacity)
3,200 mAh
ระดับเสียง
(Noise Level)
ประมาณ 63 dB. (เดซิเบล)
(วัดจากที่ระยะห่าง 1 เมตร)
ขนาดกล่องใส่ขยะ (ลิตร)
(Dustbin Capacity – Litre)
0.60 ลิตร (600 mL)
ขนาดความจุถังน้ำ (ลิตร)
(Water Tank Capacity – Litre)
0.15 ลิตร (150 mL)

คุณสมบัติ และความสามารถของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น AUTOBOT Lazer ตัวนี้มี มีฟังก์ชั่นแปลกๆ ไม่มากเท่าไหร่ แต่จะเน้นไปในเรื่องของการทำงานให้มีประสิทธิภาพแทนเสียมากกว่า ลองมาดูกันเลย

1. LIDAR 360 Navigation System (ระบบการนำทางด้วยเลเซอร์)

AUTOBOT Lazer Radar
โดมเลเซอร์เรดาร์ (Laser Radar) หรือ เลเซอร์วัดระยะทาง (Laser Distance Sensor) ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer

ระบบ LIDAR ย่อมาจากคำว่า “Light Detection and Ranging” เป็นระบบการนำทางด้วย เลเซอร์วัดระยะทาง (Laser Distance Sensor) หลักการของมันคือ มันจะยิงแสงเลเซอร์ออก (ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า) จากโดมเลเซอร์เรดาร์กลมๆ ที่อยู่ด้านบนไปรอบทิศทาง (360 องศา) เพื่อทำสร้างแผนที่จำลอง (Mapping) โดยอาศัยการคำนวณระยะเวลาที่แสงไปออกจากแหล่งกำเนิด (ตัวเครื่อง) แล้วไปตกกระทบกับวัตถุ (กำแพง โต๊ะ เก้าอี้ โซฟา ฯลฯ) เพื่อหาระยะห่าง โดยระบบนี้จะมีความแม่นยำที่สูงมากถึงมากที่สุด

2. Japan NIDEC Motor (มอเตอร์พัดลมดูดฝุ่นจาก NIDEC ประเทศญี่ปุ่น)

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น AUTOBOT Lazer ตัวนี้ ใช้มอเตอร์พัดลมดูดฝุ่น จาก NIDEC เป็นกลุ่มบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยักษ์ใหญ่จากจากประเทศญี่ปุ่น ที่ก่อตั้งมากว่า 100 ปี ดังนั้นด้านคุณภาพ รวมไปถึงประสิทธิภาพการทำงานนั้นหายห่วงเลย

3. High Suction Power (พลังดูดสูงมาก)

เนื่องจากเครื่องนี้ใช้ระบบการดูดฝุ่นด้วยลมอย่างเดียว ไม่ได้ใช้ระบบการดูดฝุ่นด้วยแปรงกวาดหลัก ดังนั้นมอเตอร์พัดลมดูดฝุ่น ที่นำมาใช้งานจะต้องมีพลังการดูดที่สูง โดยมอเตอร์ที่นำมาใส่ในเครื่องนี้ ให้พลังดูดสูงถึง 2,000 ปาสคาล (Pa) หรือประมาณ 0.02 บาร์ (Bar) เลยทีเดียว นับว่าสูงมากๆ สำหรับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั่วๆ ไป (ดูปริมาณฝุ่นในกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองหลังใช้งานมา 2 สัปดาห์)

4. Wi-Fi Control (ควบคุมสั่งงานผ่านแอพพลิเคชั่น)

สามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi เพื่อสั่งงานผ่านแอพพลิเคชั่น iPlus Link (ไอพลัสลิงค์) ที่มีให้ดาวน์โหลด ทั้งบนมือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ส่วนใดในโลก (ที่มีอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อ) ก็สามารถเชื่อมต่อเข้ามาหาหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer ของคุณได้ทันที (วิธีการเชื่อมต่อแอพ iPlus Link ผ่าน Wi-Fi) (คุณสมบัติ และความสามารถ ของแอพ iPlus Link)

5. Independent Front Bumper (กันชนหน้าแบบแยกอิสระ)

ถ้ามองดูที่กันชนหน้าแบบผิวเผิน ก็ดูจะเหมือนหุ่นยนต์ดูดฝุ่นปกติทั่วๆ ไป แต่ถ้าสังเกตดูดีๆ มันเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวแรกที่ไม่ใคร เพราะว่า มันแบ่งกันชนที่ตัวมันเองก็เป็นเซ็นเซอร์กันกระแทก (Impact Sensor) ออกเป็น 5 ส่วนด้วยกัน คือ ซ้ายหลัง – ซ้าย – กลาง – ขวา – ขวาหลัง

การที่เป็นแบบนี้จะส่งผลให้มันสามารถให้ตัวได้อย่างอิสระ ข้อดีคือ มันทำให้ตัวเครื่อง สามารถวิ่งเข้ามุมได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าเป็นกันชนหน้าแบบชิ้นเดียว สมมุติถ้าเกิดว่าชนวัตถุที่ด้านหน้าตัวเครื่อง เครื่องก็จะถอยออกทันที โดยมันจะไม่พยายามบิดซ้าย หรือบิดขวา เพื่อเข้าไปทำความสะอาดตรงจุดอีก แต่ตัวนี้ไม่ใช่แบบนั้น

สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer

มาดูส่วนประกอบต่างๆ ที่ตัวเครื่องว่าส่วนไหนเอาไว้ทำอะไรบ้าง โดยจะนำเสนอเป็น 2 หัวข้อหลักๆ คือ ส่วนประกอบด้านบนและด้านข้าง รวมไปถึง ส่วนประกอบด้านล่าง ของตัวเครื่อง

Front and Side Components (ส่วนประกอบด้านบน และด้านข้างของตัวเครื่อง)

ด้านบนของตัวเครื่องจริงๆ แล้วไม่มีอะไรเลย มีแค่โดมเลอร์เซอร์เรดาร์กลมๆ และ “ปุ่ม CLEAN” เท่านั้น เราเลยขอรวบยอด ถ่ายเฉียงๆ ให้ติดด้านหน้า และด้านหลังของเครื่องมาดูเลย สามารถดูหมายเลขกำกับแต่ละตำแหน่ง พร้อมคำอธิบายด้านล่างได้เลย (สามารถกดที่ภาพ เพื่อขยายใหญ่ได้เลย)

  1. Laser Radar (เลเซอร์วัดระยะทาง) : ภายในจะมีส่วนที่หมุนได้ 360 องศา เพื่อยิงแสงเลเซอร์ ให้ไปตกกระทบกับวัตุที่อยู่รอบๆ ตัวเครื่องเพื่อใช้ในการสร้างแผนที่จะลอง และประมวลผลให้เครื่องวิ่งไปทำความสะอาดตามจุดต่างๆ ที่ต้องการ
  2. CLEAN Button and Indicator Light (ปุ่มเริ่มต้นและหยุดทำความสะอาด และไฟแสดงสถานะ) : เห็นปุ่มแค่ปุ่มเดียวแบบนี้ กดสั่งปลุกเปิดเครื่องในการกดครั้งแรก และสั่งให้เครื่องเริ่มทำความสะอาดในโหมดอัตโนมัติ (AUTO Mode) ในการกดครั้งที่ 2 เท่านั้น นอกจากนี้แล้วถ้ากดปุ่มนี้ค้างเอาไว้ 5 วินาที จะเป็นการเริ่มการตั้งค่าเครือข่าย (Network Configuration) ให้เชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่น โดยทันทีนอกจากนี้แล้วรอบๆ ตัวปุ่มยังมีไฟแสดงสถานะอีกด้วย (ความหมายของแสดงไฟสถานะที่ปุ่ม CLEAN)
  3. Indicator Band (แถบไฟแสดงสถานะ) : แถบไฟ LED ใช้แสดงสถานะต่างๆ ของตัวเครื่องขณะกำลังทำความสะอาดเท่านั้น (ความหมายของแถบไฟแสดงสถานะ)
  4. Ultrasonic Sensor Transmitter (ตัวส่งสัญญาณเสียงอัลตร้าโซนิค) : ตัวส่งคลื่นเสียงความถี่สูงออกจากตัวเครื่อง มีอยู่จุดเดียวตรงกลางเครื่อง เพื่อใช้ตรวจจับหาวัตถุที่อยู่ใกล้ตัวเครื่อง เพื่อป้องกันการชนได้อย่างแม่นยำ
  5. Ultrasonic Sensor Receivers (ตัวรับสัญญาณเสียงอัลตร้าโซนิค) : ตัวรับสัญญาณคลื่นเสียงความถี่สูง มี 2 จุด ข้างๆ (ฝั่งซ้ายและขวา) ใช้รับสัญญาณเสียงอัลตร้าโซนิค ที่ถูกส่งออกมาจากตัวส่งสัญญาณ (ตำแหน่งหมายเลข 4) เพื่อนำไปประมวลผลต่ออีกที
  6. Front Bumper and Impact Sensor (กันชนหน้า และ เซ็นเซอร์กันกระแทก) : ใช้ตรวจจับการชนกับวัตถุที่อยู่ด้านหน้าตัวเครื่อง และยังเป็นกันชน (Bumper) เพื่อใช้ดูดซับแรงกระแทกได้อีกด้วย โดยมีทั้งหมด 3 ตัว แยกเป็นอิสระต่อกัน
  7. Charging Contact Chips or Charge Pins (จุดสัมผัสแท่นชาร์จ) : มีความยาวประมาณ 60 มิลลิเมตร (6 เซนติเมตร) ถือว่ามีหน้ากว้างพอสมควร ทำให้ชาร์จไฟง่าย วางอยู่ตำแหน่ง ด้านหลังของตัวเครื่อง (เวลาเครื่องเข้าแท่นชาร์จจะถอยหลังเข้า)
  8. Air Outlet (ช่องอากาศออก) : หลังจากที่ฝุ่นและอากาศถูกดูดเข้ามาภายในตัวเครื่องโดยพัดลมดูดฝุ่น ฝุ่นก็จะถูกกักเก็บเอาไว้ภายในกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองด้วยแผ่นกรองอากาศ HEPA ขณะที่อากาศก็จะเล็ดลอด ผ่านออกมาข้างนอกได้ทางช่องนี้

Underside Component (ส่วนประกอบด้านล่างของตัวเครื่อง)

ด้านล่างของเครื่องตัวนี้ ก็เหมือนหุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั่วๆ ไป ไม่มีอะไรแตกต่าง ยกเว้นแต่ ระบบการดูดฝุ่นที่เป็นระบบลมดูด ซึ่งก็จะดูโล่งๆ หน่อย ไม่มีแปรงกวาดหลักแต่อย่างใด กับอีก 1 ข้อได้เปรียบก็คือ ด้วยความที่เครื่องนี้มีขนาดใหญ่ พื้นที่ติดตั้งถังน้ำจึงมีขนาดที่ใหญ่ไปด้วย ส่งผลให้ ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ มีหน้าสัมผัสพื้นที่ค่อนข้างเยอะ มาดูกันเลย

AUTOBOT Lazer Component Underside
ส่วนประกอบด้านหลัง ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer
  1. Cliff Sensor (เซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่น) : คำว่า “Cliff” แปลว่าเหวหรือหน้าผานั่นเอง มีเอาไว้เพื่อป้องกันการวิ่งตกบันได หรือตกจากที่สูง จัดเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทุกตัวในโลกต้องมี โดยเครื่องนี้มีให้มา 4 ตัว เลยทีเดียว หายห่วงเรื่องตกบันได้แน่นอน
  2. Caster Wheel (ล้อเลื่อนรับน้ำหนัก) : เนื่องจากเครื่องนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ดังนั้นเขาจึงให้ล้อเลื่อนรับน้ำหนักมา 2 ล้อด้วยกันคือ
    1. Front Caster Wheel (ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหน้า) : ล้อพลาสติกที่หมุนได้ 360 องศา
    2. Rear Caster Wheel (ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหลัง) : ล้อพลาสติกธรรมดาที่หมุนไม่ได้
  3. Battery Cover (ฝาครอบแบตเตอรี่) : ฝาพลาสติกที่ห่อหุ้มแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนขนาดความจุ 3,200 มิลลิแอมป์ (mAh) เอาไว้อยู่ข้างใน โดยแบตเตอรี่ฯ ที่ใช้กับเครื่องนี้ ผลิตจากบริษัท BYD จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไอทีชื่อดังบริษัทหนึ่งจากประเทศจีน
  4. Side Brush Installation Area (พื้นที่ติดตั้งแปรงกวาดข้าง) : ด้วยความที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเป็นทรงกลม ทำให้การทำความสะอาดขอบมุม ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ มันจึงจำเป็นจะต้องมี แปรงกวาดข้าง ที่จะคอยช่วยปัดฝุ่นที่อยู่ข้างๆ ตัวเครื่องให้เข้ามาอยู่ในรัศมีทำการของระบบดูดฝุ่น เราสามารถถอดเข้าออกได้เอง โดยใช้มือ (ไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ) แต่อาจจะดึงยากสักนิดนึง เพื่อความเหนียวแน่น จะได้ไม่หลุดขณะที่เครื่องกำลังวิ่งทำงานอยู่
  5. Suction Inlet (ช่องลมดูดฝุ่น) : ช่องโหว่ขนาดความยาว 76 มิลลิเมตร (7.6 เซนติเมตร) เป็นช่องที่ให้ฝุ่นวิ่งเข้าไปเก็บในกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองที่รอต้อนรับอยู่ด้านใน นอกจากนี้ยังมีแถบยางสีดำเพื่อโอบล้อมฝุ่นให้เข้ามาในช่องอีกด้วย
  6. Main Power Switch Button (ปุ่มสวิตซ์เปิดปิดเครื่องหลัก) : สวิตซ์ที่ใช้ปิดการจ่ายไฟจากแบตเตอรี่ เข้าไปในแผงวงจรหลักของตัวเครื่อง ถ้าหากไม่ได้ใช้เครื่องเป็นเวลานานๆ ควรปิดสวิตซ์ตัวนี้ เพื่อป็นการถนอมแบตเตอรี่ และยืดอายุการใช้งานให้ตัวเครื่อง
  7. Dustbin Handle (หูหิ้วกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง) : เอาไว้ปลดล็อค และยกกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองขึ้นมาจากด้านล่างของตัวเครื่อง
  8. Dustbin (กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง) : มีขนาดความจุ 0.6 ลิตร (ค่อนข้างใหญ่เลยทีเดียว) ตัวนี้มาแปลกหน่อย มันติดตั้งอยู่ข้างใต้ตัวเครื่อง อาจจะเอาออกมาลำบากนิดนึง เพราะต้องยกตัวเครื่องขึ้น แล้วคว่ำลง (รายละเอียดกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง)
  9. Main Wheel (ล้อขับเคลื่อนหลัก) : เป็นล้อพลาสติกหุ้มด้วยดอกยางที่เห็นลายได้อย่างชัดเจน หน้าที่หลักๆ ของมันคือเอาไว้ขับเคลื่อน ให้ตัวเครื่องสามารถวิ่งไปมาได้ ไม่ว่าจะเป็น เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา โดยแต่ละล้อจะมีมอเตอร์ฝังอยู่ ซึ่งจะแยกอิสระ ซ้าย-ขวา จากกัน ใช้ขับเคลื่อนให้สามารถไปในทิศทางที่ต้องการได้ นอกจากนี้แล้วยังมีสปริงโช๊คอัพ ที่จะทำให้เครื่องสามารถวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับได้ ประมาณ 1.0-1.5 เซนติเมตร
  10. Water Tank Installation Area and Product Label (พื้นที่ติดตั้งถังน้ำ และ ฉลากรายละเอียดผลิตภัณฑ์) : ที่ส่วนท้ายเครื่องด้านล่างจะเป็น พื้นที่เอาไว้ยึดติดกับถังน้ำขนาด 0.15 ลิตร ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ด้วย โดยเราสามารถนำมาติดตั้ง หรือถอดออกก็ได้  พร้อมกับฉลากรายละเอียดผลิตภัณฑ์คร่าวๆ

รู้จักกับกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง

AUTOBOT Lazer Dustbin
กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) ขนาดความจุ 0.6 ลิตร พร้อมหูหิ้ว

อย่างที่ได้กล่าวในข้างต้นว่า กล่องใส่ขยะฝุ่นละอองของเครื่อง AUTOBOT Lazer นั้นจะถูกติดตั้งอยู่ใต้ตัวเครื่อง ดังนั้นการเอามันออกมาทำความสะอาด อาจจะลำบากซักนิดนึง เพราะว่าต้องยกเครื่องขึ้น แล้วคว่ำลงอีกทีหนึ่ง (เครื่องก็มีน้ำหนักมากพอสมควร) แต่ว่าก็มีเรื่องให้เราชื่นใจนิดนึงคือ ขนาดของกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองนั้นค่อนข้างที่จะใหญ่ (พูดง่ายๆ คือนานๆ ทีค่อยเอาออกมาทิ้งก็ได้) แถมยังสามารถเอาฝุ่นออกจากกล่องฯ ได้ง่ายมากๆ อีกด้วย

เตรียมเครื่อง และเปิดใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer

การใช้งานเครื่องนี้ ก็จะเหมือนหุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั่วๆ ไป ที่จะต้องมีการติดตั้งแท่นชาร์จ รวมไปถึงการชาร์จไฟ เข้าเครื่องให้เรียบร้อยเสียก่อนที่จะเริ่มต้นใช้งาน ในครั้งแรก มาดูกันเลย

1. Charge Base Installation and Protection Removing (การติดตั้งแท่นชาร์จ และ ดึงอุปกรณ์ป้องกันเครื่องออก)

อันดับแรกสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือ การติดตั้งแท่นชาร์จ โดยจะต้องหาพื้นที่ในบ้าน ที่เป็นขอบผนังห้องที่โล่ง และ ไม่มีสิ่งกีดขวางในระยะ 1 เมตรด้านหน้า ขณะที่ ฝั่งซ้าย และ ฝั่งขวา ฝั่งละ 0.5 เมตร เพื่อความแม่นยำของเครื่องในการตรวจจับหาแท่นชาร์จและเข้าออก ได้อย่างแม่นยำ (ตัวนี้ถือว่าต้องการพื้นที่น้อยกว่าชาวบ้าน ถือว่าดีงาม)

2. First Time Charging (การชาร์จไฟครั้งแรก)

หลังจากที่ติดตั้งแท่นชาร์จเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการชาร์จไฟลงแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน ที่อยู่ในเครื่องเสียก่อน โดยก่อนการชาร์จไฟนั้น อย่าลืมเปิดปุ่มสวิตซ์เปิดปิดเครื่องหลัก ที่อยู่ข้างใต้ตัวเครื่องให้เรียบร้อยเสียก่อน โดยการชาร์จไฟ ก็ทำได้วิธีเดียวเท่านั้นคือ ชาร์จผ่านแท่นชาร์จ (Charge via Charge Base)

AUTOBOT Lazer Charging from Charge Base
ขณะ AUTOBOT Lazer กำลังชาร์จไฟผ่านแท่นชาร์จ

โดยขอแนะนำให้ชาร์จไฟทิ้งเอาไว้ข้ามคืนไปเลย ประมาณ 6-8 ชั่วโมง ให้แบตเตอรี่ฯ เต็มความจุเสียก่อน เพื่อให้มีความพร้อมในการใช้งานมากที่สุด

3. การติดตั้งถังน้ำเพื่อถูพื้นแบบเปียก

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer ตัวนี้ก็เหมือนกับตัวอื่นๆ คือ มันมีออปชั่นให้ถังน้ำขนาดความจุ 0.15 ลิตร สำหรับคนที่ต้องการให้มันถูพื้นแบบเปียกได้ด้วย โดยการติดตั้งก็ไม่ได้ยากเลย ดูตามขั้นตอนได้เลย

iPlus Link App Logo
โลโก้ แอพพลิเคชั่น iPlus Link

การสั่งงานส่วนใหญ่กว่า 95% ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer ตัวนี้จะต้องสั่งผ่านแอพพลิเคชั่น บนมือถือเท่านั้น เพราะที่หน้าตัวเครื่องนั้นมีแค่ “ปุ่ม CLEAN” ปุ่มเดียวเท่านั้น ซึ่งก็สามารถสั่งให้เครื่องเริ่มหรือหยุดทำงานได้เท่านั้น

โดยอันดับแรก ต้องดาวน์โหลด “แอพ iPlus Link” กันก่อน ถ้าหากใครมีสมาร์ทโฟน ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS หรือ Android ก็ขอแนะนำว่าต้องใช้เลย

  1. ดาวน์โหลดแอพ iPlus Link สำหรับ iOS ผ่าน App Store
  2. ดาวน์โหลดแอพ iPlus Link สำหรับ Android ผ่าน Play Store

เมื่อดาวน์โหลดและติดตั้งเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็สามารถทำตามขั้นตอนด้านล่างนี้ เพื่อเชื่อมต่อ แอพ iPlus Link กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer ได้เลย

  1. เปิดแอพ iPlus Link เมื่อถึงหน้าจอเข้าสู่ระบบ (Log in) ให้กดที่ “ปุ่ม Register” ด้านล่าง เพื่อลงทะเบียนผู้ใช้งานครั้งแรก
  2. ลงทะเบียนโดยการกรอกที่ช่อง อีเมล (E-Mail) รหัสผ่าน (Password) และยืนยันรหัสผ่านอีกครั้ง (Confirm Password) และกด “ปุ่ม Register
  3. มาที่หน้าจอเข้าสู่ระบบอีกครั้ง กรอกข้อมูลอีเมล และรหัสผ่าน ที่ใช้ลงทะเบียนเมื่อสักครู่เพื่อเข้าสู่ระบบ
  4. เมื่อเข้าสู่ระบบมาแล้ว ถ้าเป็นครั้งแรกเราจะไม่เจออุปกรณ์อะไรใดๆ เลย ซึ่งเราจะต้องเพิ่มอุปกรณ์ลงไปก่อน โดยกด “ปุ่ม Add Device” เพื่อเพิ่มอุปกรณ์เข้าสู่ระบบ
  5. กลับไปที่ตัวเครื่อง และกด “ปุ่ม CLEAN” ค้างเอาไว้ 5 วินาที จนกว่า ไฟสีน้ำเงินในปุ่ม CLEAN จะกระพริบ และได้ยินเสียงพูดว่า  “🔊 Network Configuring” ดังขึ้นมาพร้อมๆ กัน
  6. กลับไปที่แอพฯ อีกครั้ง กดเลือกติ๊กถูกที่ช่อง เพื่อยืนยันว่ากด “ปุ่ม CLEAN” ค้างเองไว้แล้ว (The button was long-pressed until the blue light started flashing) และกด “ปุ่ม Next” เพื่อดำเนินการต่อไป
  7. กรอกรหัสผ่าน Wi-Fi ของ SSID ปัจจุบัน ที่เราใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ (แต่สามารถกดที่ “ปุ่ม …” เพื่อเปลี่ยน SSID ได้ตามต้องการ) แล้วกด “ปุ่ม Next
  8. ระบบจะขึ้นคำแนะนำในการเปลี่ยนการเชื่อมต่อจาก SSID ของเรา ไปเป็น SSID ของ AUTOBOT Lazer เมื่ออ่านแล้วกด “ปุ่ม Configure Network” เพื่อดำเนินการต่อ
  9. ระบบจะพาออกไปที่เมนูตั้งค่า Wi-Fi ให้เลือก SSID ที่เป็นชื่อของ AUTOBOT Lazer โดยชื่อ SSID จะขึ้นต้นประมาณ “Letgo-xxxxxx
  10. กลับไปที่แอพ iPlus Link อีกครั้ง หน้าจอจะขึ้นว่า “Please place device and your phone closer to router” แล้วรอสักครู่ประมาณไม่เกิน 30 วินาที (ครึ่งนาที)
  11. หลังจากนั้น ไฟสีน้ำเงินที่กระพริบอยู่จะดับลง และระบบจะพากลับไปที่ หน้าจอแสดงรายการอุปกรณ์ทั้งหมด (Device List)
  12. กด “ปุ่ม Enter Main Interface Panel” เพื่อเข้าไปสั่งงานเครื่อง AUTOBOT Lazer ได้เลย


ดูวีดีโอสาธิตวิธีการเชื่อมต่อแอพพลิเคชั่น iPlus Link กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer

  1. สั่งงานเครื่อง (Execute Cleaning Command)
    1. สั่งให้เครื่องเริ่มทำงาน (Start Cleaning)
    2. หยุดทำงานชั่วคราวหรือทำงานต่อ (Pause / Continue Cleaning)
    3. กลับแท่นชาร์จ (Back to Charge Base)
    4. เปลี่ยนระดับความแรงในการดูดฝุ่น (Change Vacuum Power Level)
      1. โหมดประหยัดพลังงาน (ECO Mode) – ดูดเบา
      2. โหมดปกติธรรมดา (Normal Mode) – ดูดแรง
  2. การดูสถานะของตัวเครื่อง (Robot Status)
    1. ดูสถานะปัจจุบันของตัวเครื่อง (Robot Status) ได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ อาทิ
      1. กำลังทำงาน (Working)
      2. กำลังกลับแท่นชาร์จ (Recharge)
      3. ชาร์จแบตเตอรี่เสร็จสิ้น (Charge Completed)
    2. ขนาดพื้นที่ที่ทำความสะอาดไปแล้ว (Cleaned Area) (หน่วยเป็นตารางเมตร – m2)
    3. เวลาที่ใช้ในการทำความสะอาด (Cleaned Time) (หน่วยเป็นนาที – Min)
    4. ดูแผนที่การทำความสะอาดแบบสดๆ (Real-time Cleaning Map) เพื่อดูว่าเครื่องทำงานครบทั่วทั้งพื้นที่ห้องแล้วหรือยัง และ ตรวจสอบรูปแบบการทำความสะอาดว่าทำงานอยู่ในโหมดใด นอกจากนี้ยังมีการบอก จำนวนตารางเมตร ที่เครื่องทำความสะอาดไปแล้ว
  3. สามารถตั้งเวลาทำความสะอาด (Cleaning Reservation) ได้แบบยืดหยุ่น เช่น วันนี้ทำ พรุ่งนี้ไม่ทำ หรือ วันนี้ทำเวลานี้ พรุ่งนี้ทำอีกเวลานึง นอกจากนี้แล้ว มันยังสามารถตั้งเวลาทำความสะอาดต่อวันได้วันละหลายครั้ง (กี่ครั้งก็ได้)
  4. ประวัติการทำความสะอาดย้อนหลัง (Cleaning Record)
    1. ดูขนาดพื้นที่ที่ทำความสะอาด และเวลาที่ใช้ในการทำความสะอาดแต่ละครั้ง (Cleaned Area and Time)
    2. ดูแผนที่การทำความสะอาดในแต่ละครั้งได้หมด ว่าจุดไหนวิ่งเข้าไปหรือไม่ได้วิ่งเข้าไป (Cleaned Map)
    3. ลบประวัติการทำความสะอาดย้อนหลัง (Delete Cleaning Record)
  5. การตั้งค่า (Setting)
    1. เปลี่ยนรหัสผ่าน (Change Password)
    2. เปลี่ยนภาษาภายในแอพ (Change Language) (ไม่มีภาษาไทย)
    3. การจัดการอุปกรณ์ (Device Management)
      1. เปลี่ยนชื่อเครื่อง (Change Device Nickname)
      2. ดูหมายเลขจำเพาะของเครื่อง  (Device ID)
      3. ปรับเวลาให้ตรงกับปัจจุบัน (Synchronize Time)
      4. กลับมาทำงานต่ออัตโนมัติหลังแบตเต็ม (Breakpoint Clean)
      5. เปิดปิดการแจ้งสถานะเครื่องด้วยเสียง (Voice Prompt)
      6. ปรับระดับความดังของเสียง (Volume Control)
      7. เลือกอุปกรณ์ควบคุมตัวอื่น (Device Selection)
      8. อัพเกรดเฟิร์มแวร์ในเครื่อง (Firmware Upgrade) (สามารถอัพเดทผ่านแอพฯ นี้ได้เลย)
    4. การตั้งค่าเครือข่าย (Network Configuration)
    5. การสนับสนุนทางเทคนิค (Technical Support)
    6. เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ (About Software)
  6. ช่วยเหลือ (Help) : รวมคำถามที่ถามบ่อย (FAQs) ไว้ในนี้

หมายเหตุ : ความสามารถต่างๆ ของแอพ iPlus Link อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ได้ตลอดเวลา เนื่องจากแอพพลิเคชั่น มีการพัฒนาและอัพเดทอย่างต่อเนื่อง

รูปประกอบความสามารถของ การใช้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer ผ่านแอพพลิเคชั่น iPlus Link

การใช้งานทั่วไป (General Usage)

การตั้งค่า และดูสถิติต่างๆ (Setting and Usage Statistics)

ความหมายของไฟแสดงสถานะที่ปุ่ม CLEAN และ แถบไฟแสดงสถานะ

นอกจากที่เครื่องนี้จะมีการแจ้งสถานะด้วยเสียง (Voice Prompt) แล้ว ก็ยังมีการแจ้งสถานะด้วยไฟแสดงสถานะ (Indicator) อีกด้วย โดยมี 2 ชุดด้วยกัน คือ ไฟแสดงสถานะที่ปุ่ม CLEAN และ แถบไฟแสดงสถานะ ซึ่งแต่ละชุดก็มีความหมายที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

สถานะไฟที่ปุ่ม CLEAN (Indicator Light)

  1. ไฟสีน้ำเงินสว่างค้าง : สถานะปกติ
  2. ไฟสีน้ำเงินกระพริบ : อยู่ในโหมดตั้งค่าเครือข่าย (Network Configuration Mode)
  3. ไฟสีน้ำเงินกระพริบห่างๆ : กำลังเปิดเครื่อง หรือกำลังอัพเกรดเฟิร์มแวร์
  4. ไฟสีเหลืองกระพริบ : กำลังชาร์จไฟ หรือแบตเตอรี่ใกล้หมด
  5. ไฟสีเหลืองกระพริบห่างๆ : กำลังชาร์จไฟ
  6. ไฟสีแดงกระพริบรัวๆ : เครื่องผิดปกติ

สถานะไฟที่แถบไฟแสดงสถานะ (Indicator Band)

  1. ไฟสีน้ำเงินสว่างค้าง : เครื่องกำลังทำความสะอาดพื้น
  2. ไฟสีน้ำเงินกระพริบ : หยุดทำงานชั่วคราว
  3. ไฟปิด : ไม่มีการทำความสะอาดใดๆ เกิดขึ้น

คำถามที่ต้องอยากรู้ ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer

1 สามารถทำงานได้ดีบนพื้นอะไรบ้าง ?

เครื่อง AUTOBOT Lazer สามารถทำงานได้ดีบนพื้นเนื้ออ่อนหรือเนื้อแข็ง ทั่วๆ ไปได้หมด ไม่ว่าจะเป็น พื้นกระเบื้อง พื้นไม้ปาร์เก้ พื้นกระเบื้องยาง พื้นไม้ลามิเนต หรือแม้แต่พื้นพรมก็สบายๆ เพราะเครื่องนี้ใช้ระบบลมดูดฝุ่น จะไม่มีแปรงกวาดหลัก ไม่สัมผัสพื้นให้เป็นรอย ร่อน หรือเกิดความเสียหายใดๆ ได้

2. สภาพกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง หลังดูดมา 2 สัปดาห์ มีปริมาณฝุ่นเป็นอย่างไร ?

เนื่องจากเครื่องนี้ใช้ระบบลมดูดฝุ่น ไม่มีแปรงกวาดหลักใดๆ มาช่วย ผมก็เลยอยากทดสอบว่า ถ้ามีปริมาณฝุ่นสะสมในกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองเป็นจำนวนมากๆ แล้ว ที่เขาโฆษณาว่ามันเป็น มอเตอร์พัดลมดูดฝุ่นจาก NIDEC ประเทศญี่ปุ่น มีพลังดูดกว่า 2,000 Pa นั้น มันแรงขนาดไหน มีพลังพอที่จะดูดฝุ่นแม้ในกล่องมีฝุ่นเต็มอยู่มากน้อยแค่ไหน

สุดท้ายผมตั้งเวลาให้เครื่อง AUTOBOT Lazer ทำการดูดฝุ่นเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ โดยให้ดูดต่อเนื่องกันทุกวัน ผลก็ตามรูปถ่ายด้านล่างเลย

จากที่เห็นคือฝุ่นได้ถูกอัดเป็นก้อน ไม่ใช่เป็นผงเละๆ ส่งผลให้ทำความสะอาดง่ายมาๆ และครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ผมทดสอบ ปริมาณฝุ่นในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ต่อเนื่องนานที่สุด ตั้งแต่เคยรีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นมาเลยก็ว่าได้

3. เครื่องจะวิ่งตกบันไดหรือตกจากที่สูงหรือไม่ ?

เป็นคำถามที่อาจจะดูเชยไปนิดสำหรับยุคนี้ เพราะหุ่นยนต์ดูดฝุุ่นแทบจะ 100% สมัยนี้ เขามีเซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่นมาให้เป็นอุปกรณ์พื้นฐานอยู่แล้ว

AUTOBOT Lazer Floor Sensor Test
AUTOBOT Lazer จะไม่วิ่งลงพื้นที่ต่างระดับขนาดเล็กถ้ามันไม่สามารถกลับขึ้นมาได้ ขณะที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นอีกหลายๆ ตัว มักจะวิ่งลงไป แต่กลับขึ้นมาไม่ได้

แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ ถึงแม้ว่ามันจะมีเซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่นมาให้ไม่ให้ตกบันได หรือตกจากที่สูงก็จริงอยู่ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ต่างระดับที่เตี้ยๆ (ส่วนมากจะเจอแบบนี้ระหว่างห้องน้ำหรือห้องครัว กับห้องอื่นๆ) หุ่นยนต์ดูดฝุ่นส่วนมาก ก็มักจะชอบลงไปวิ่งเล่นเหมือนกัน และที่สำคัญคือ พอวิ่งลงไปแล้ว ดันกลับขึ้นมาไม่ได้อีก เพราะพื้นที่สูงเกินที่ความสามารถเครื่องจะวิ่งกลับขึ้นมาได้นั่นเอง แต่สำหรับตัวนี้ “ไม่ใช่” มันจะไม่วิ่งลงไปเลย แม้จะเป็นพื้นที่ต่างระดับขนาดไม่สูงมาก (แต่สูงเกินที่มันจะวิ่งกลับขึ้นมาได้) ก็ตาม

4. การถูพื้นแบบเปียกเป็นอย่างไร ?

AUTOBOT Lazer Working with Mopping Function
AUTOBOT Lazer ขณะติดตั้งถังน้ำ และผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ ที่ท้ายเครื่อง

เครื่องนี้มีการกระจายน้ำจากถังน้ำลงบนพื้นอย่างเหมาะสม จากช่องระบายน้ำ 3 จุดอย่างช้าๆ เพื่อไม่ให้มันเปียกแฉะจนเกินไป และด้วยความที่เครื่องใหญ่ ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ก็จะมีขนาดใหญ่ ส่งผลให้มีหน้าสัมผ้สพื้นที่กว้างตามไปด้วย

5. ขณะที่เครื่องกำลังทำงาน มีเสียงดังมากน้อยแค่ไหน ?

จาการทดสอบด้วยการวัดระดับเสียงผ่านแอพพลิเคชั่นบนระบบปฏิบัติการ iOS (ใช้กับ iPhone/ iPad) พบว่า ถ้าเป็น โหมดประหยัดพลังงาน (ECO Mode) ระดับเสียงจะอยู่ประมาณ 55 เดซิเบล (dB) +/- นิดหน่อย ก็จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ค่อยดังมากเท่าไหร่นัก ถือว่าอยู่ในระดับบทสนทนาทั่วไปของมนุษย์ (Conversation)

แต่ถ้าเป็น โหมดธรรมดา (Normal Mode) ระดับเสียงจะอยู่ที่ประมาณ 62 เดซิเบล +/- นิดหน่อยเช่นกัน จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ระดับเดียวกับการเปิดเพลงดัง (Loud Music) (วัดห่างจากเครื่องประมาณ 1 เมตร ในทั้ง 2 โหมด)

คำแนะนำ : ถ้าเปิดใช้งานเครื่อง AUTOBOT Lazer เป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว เปิดเพียงโหมดประหยัดพลังงาน ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว

6. ถ้าหากว่าใช้เครื่องทุกวัน วันละครั้ง ค่าไฟต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ?

AUTOBOT Lazer Power Consumption when Charging
อัตราการกินไฟ ขณะเครื่อง AUTOBOT Lazer กำลังชาร์จไฟ (Charging)

อัตราการกินไฟของเครื่องนี้ จัดว่าไม่มากเลย ผมได้ลองใช้ เครื่องทดสอบอัตราการกินไฟดิจิตอล (Digital Power Consumption Meter) เหมือนเช่นเคย ในการวัดอัตราการกินไฟของเครื่องนี้ (ขณะกำลังชาร์จไฟ และ ชาร์จเสร็จแล้วแต่เสียบปลั๊กไฟค้างเอาไว้)* ก็จะอยู่ที่

สถานการณ์
(Situation)
การกินไฟ
(Power Consumption)
การคำนวณค่าไฟ
(Power Consumption Calculation)
ค่าไฟ / เดือน
(Electricity Charge / Month)
1. ขณะไฟยังไม่เต็มแบตเตอรี่

(When Charging)
≈ 36.1 วัตต์ (36.1 วัตต์* x 2 ชั่วโมง* x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต***) / 1,000 10.83 บาท
2. ขณะไฟเต็มแบตเตอรี่แล้ว

(Fully Charged)

≈ 1.5 วัตต์ (1.5 วัตต์ x 21 ชั่วโมง* x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต***) / 1,000 4.72 บาท

 

รวมทั้งสิ้นค่าไฟของเครื่องนี้ประมาณ 15.55 บาท ต่อเดือน

หมายเหตุ* : ประเมินจากสถานการณ์ ถ้าหาก เครื่องทำงานจนแบตเตอรี่เกือบหมดเกลี้ยง จะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. ระยะเวลาการชาร์จไฟสูงสุดประมาณ์ : 2 ชั่วโมง (ต่อครั้ง ต่อวัน)
  2. ระยะเวลาที่เหลือขณะจอดที่แท่นชาร์จเฉยๆ : 21 ชั่วโมง (ต่อวัน)
  3. ระยะเวลาที่เครื่องออกไปทำงาน : 1 ชั่วโมง (ต่อวัน) (ไม่ถูกนำไปคำนวณ เพราะไม่ได้จอดอยู่ที่แท่นชาร์จ)

หมายเหตุ** : ตัวเลข 36.1 วัตต์ (Watts) นี้ เป็นจำนวนวัตต์แรกเริ่ม เมื่อชาร์จไฟ แต่พอชาร์จไปได้สักพัก จำนวนวัตต์ขณะชาร์จก็จะลดลงไปเรื่อยๆ (ไม่ได้อยู่นิ่งคงที่ 36.1 วัตต์ ไปแบบนี้ตลอด 2 ชั่วโมง) แต่ก็ยังคงใช้ค่านี้คำนวณค่าไฟตลอดการชาร์จ 2 ชั่วโมง (เอาจริงๆ ก็ไม่ถึง 2 ชั่วโมงด้วยซ้ำไป ประมาณชั่วโมงกว่าๆ) เพื่อเป็นการคำนวณค่าสูงสุด ดังนั้นค่าไฟจะถูกกว่านี้อีกแน่นอน สาเหตุที่คำนวณแบบนี้เพราะคำนวณสูงเอาไว้ก่อนจะดีกว่า

หมายเหตุ*** : คุณสามารถเปลี่ยน ค่าไฟต่อยูนิต (ในตัวอย่างนี้คิด 5 บาทต่อยูนิต – ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง) ให้เป็นตามที่จ่ายจริง เพราะที่พักอาศัยในแต่ละที่อาจจะคิดไม่เท่ากัน

7. ราคาอะไหล่ของเครื่องมีอะไรบ้าง และ แพงหรือไม่ ?

ชื่ออะไหล่ภาษาอังกฤษ
(English Part Name)
ชื่ออะไหล่ภาษาไทย
(Thai Part Name)
ราคาต่อหน่วย
(Unit Prices)
Side Brush (1 Set – PCs) แปรงกวาดข้าง (1 ชุด – 2 ชิ้น) 250 บาท
HEPA Filter (1 Set) แผ่นกรองอากาศ HEPA (1 ชุด) 300 บาท
Li-Ion Battery (1 PC) แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน (1 ชิ้น) 2,000 บาท

8. มีระยะเวลาการรับประกัน ยาวนานแค่ไหน?

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer มีการรับประกันในส่วนของอุปกรณ์ภายในตัวเครื่องเป็นระยะเวลา 1 ปี หลังจากหมดช่วงระยะประกันแล้วสามารถ ติดต่อสั่งซื้ออุปกรณ์อะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆ ได้ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ของผู้จัดจำหน่ายได้เลย

โดยลูกค้าที่สั่งซื้อไปใช้งานแล้ว ถ้าหากเครื่องมีปัญหา ก็สามารถติดต่อแผนกบริการหลังการขาย (After Service Support Team) ได้โดยตรงเลยที่

  • Hotline (สายด่วน) : 0-2215-2577
  • LINE ID (ไลน์ไอดี) : @autobot

9. ติดต่อสั่งซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer ได้ที่ไหน ?

คุณสามารถสั่งซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer ได้ผ่านทางหลายช่องทาง ถ้าไปซื้อหน้าร้านก็ เช่นที่ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ทุกสาขา และ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในบางสาขา อาทิ เซ็นทรัลพระราม 9 เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ ฯลฯ หรือจะโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถามก่อนได้ที่เบอร์โทรศัพท์ ด้านล่างนี้เลย

  • Telephone No (เบอร์โทรศัพท์) : 0-2215-2577
  • Website (เว็บไซต์) : http://www.autobotvacuum.com/
  • Line ID (ไลน์ไอดี) : @autobot
  • Facebook Page (เพจเฟสบุ๊ค) : robotmaker (โรบอทเมคเกอร์) ตามกรอบด้านล่าง

บทสรุปการใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer

ข้อดี 🙂

  • เครื่องวิ่งทำงานค่อนข้างดี สามารถเข้าออกแท่นชาร์จได้อย่างแม่นยำ วิ่งครบทั่วทุกพื้นที่ สมคำโฆษณาของระบบนำทาง LIDAR 360°
  • สามารถตั้งเวลาทำความสะอาดได้ตามใจชอบ วันนึงจะตั้งให้ออกมาทำความสะอาดกี่ครั้ง หรือกี่เวลาก็ได้ (จุดนี้ชอบมากๆ)
  • ฝุ่นขนาดเล็กใหญ่ สามารถดูดได้หมด เส้นผมยาวๆ แม้จะไม่มีแปรงกวาดหลักก็ตาม เพราะเนื่องจากมอเตอร์มีพลังสูงมาก สมคำโฆษณา
  • เครื่องใช้ระบบลมดูดฝุ่น ไม่ต้องกลัวพื้นห้องเป็นรอยโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นไม้ต่างๆ อาทิ พื้นไม้ปาร์เก้ เป็นต้น
  • กล่องใส่ขยะฝุ่นละอองมีขนาดใหญ่ สามารถล้างทำความสะอาดง่าย ไม่ค่อยมีซอกมุมเล็กๆ เท่าไหร่ เช่นเดียวกับแผ่นกรองอากาศ HEPA ที่อยู่ด้านใน ก็มีตาข่ายดักฝุ่นขนาดเล็ก ช่วยป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้าไปเกาะอยู่ตามซอกหรือร่องของแผ่นกรองฯ ทำความสะอาดง่ายขึ้นไปอีก
  • ไม่ค่อยเข้าไปติดกับพรมหรือพื้นที่ต่างระดับอื่นๆ ได้ง่ายถ้ามันขึ้นได้มันก็ขึ้น ถ้ามันลงได้ก็ลง ถ้าขึ้นหรือลงไม่ได้มันจะเลี่ยง โดยไม่พยายามไปฝืนเข้าไปจนกระทั่งติดแหง็ก ไปไหนต่อไม่ได้
  • อุปกรณ์เสริมหรืออะไหล่สำรองต่างๆ ที่จำเป็นถือว่าให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์อย่างครบถ้วน
  • แอพพลิเคชั่น iPlus Link ค่อนข้างมีความเสถียรสูง ไม่ค่อยเอ๋อ ไม่ค่อยหลุดการเชื่อมต่อง่ายๆ

ข้อเสีย 🙁

  • เวลาจะหยิบเอากล่องใส่ขยะฝุ่นละอองไปเทฝุ่นทิ้ง หรือทำความสะอาด จะต้องยกเครื่องขึ้น แล้วคว่ำลงอีกที เพราะตัวกล่องมันอยู่ข้างใต้ตัวเครื่อง ไม่สามารถดึงออกมาได้เลย ลำบากเหมือนกัน
  • เครื่องมีพลังขับเคลื่อนค่อนข้างสูง ขนาดที่ว่าราวตากผ้าสแตนเลส ที่แขวนเสื้อผ้าเอาไว้เต็ม มันยังสามารถดันเข้าไปชิดกำแพงได้ ต้องระวังพื้นเป็นรอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นไม้ปาร์เก้ ควรจะต้องเอา แถบแม่เหล็กกั้นขอบเขต วางกันไว้ข้างหน้า
ทบทวนภาพรวม
ความสะอาดการดูดฝุ่น
10
ความสะอาดการถูพื้น
9
การดูดทั่วทั้งบริเวณในห้อง
10
การเอาตัวรอดจากอุปสรรค กลับแท่นชาร์จเอง
9
การดูแลรักษา ทำความสะอาด
8
ความหลากหลายของอุปกรณ์เสริม
10
ความสะดวก และ ง่ายต่อการใช้งาน
10
ความสามารถของแอพพลิเคชั่น
8
ความสะดวก และ ง่ายของการใช้แอพพลิเคชั่น
9
ความคุ้มค่าเทียบกับราคา
8
ความพึงพอใจโดยรวม
10
บทความก่อนหน้านี้หุ่นยนต์ดูดฝุ่น รุ่นไหนดี ? ใครกำลังจะ ซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่น อ่านบทความนี้ก่อน !
บทความถัดไปWindamp พัดลมไร้ใบพัด เสียงเงียบ ปลอดภัยกับเด็ก สัตว์เลี้ยง
Thanop Somprasong
Thanop.com Founder + Thaiware.com Co-Founder + Business Director, Cloud Business Co.,Ltd. + Committee Thai Webmaster Association
autobot-lazer-reviewหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Lazer เป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ที่ใช้ระบบเลเซอร์วัดระยะทาง ในการทำงาน โดยถูกฝังอยู่ในโดมที่เรียกว่าเลเซอร์เรด้าร์ แถมใช้งาน (ตั้งค่า สั่งงานเครื่อง) ผ่านแอพพลิเคชั่นบน iOS และ Android ได้ โดยแอพพลิเคชั่นค่อนข้างมีความเสถียรพอสมควร ไม่หลุดง่าย สั่งงานจากนอกบ้านได้เลย <br /><br /> ชอบตรงวิ่งทำความสะอาดค่อนข้างแม่นยำจริงๆ การเดินมีระบบระเบียบ มีรูปแบบการทำความสะอาด (Cleaning Pattern) ที่ชัดเจน คือ ขึ้นลง ขึ้นลง แบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้วิ่งมั่วไปมั่วมาแบบไร้ทิศทาง การวิ่งกลับแท่นชาร์จก็แม่นยำ <br /><br /> แม้ว่าเครื่อง AUTOBOT Lazer ตัวนี้จะใช้ระบบลมดูดฝุ่น แทนการใช้แปรงกวาดหลัก (แปรงหมุน) ข้อดีคือ มันจะทำให้พื้นไม้ต่างๆ ไม่เป็นรอย เพราะไม่มีแปรงกวาดหลักมาหมุนโดนพื้น แถมยังมีพลังการดูดที่สูงมากๆ เส้นผมขนาดเล็กใหญ่ เศษอาหารแห้งต่างๆ ดูดได้หมด แถมกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองสามารถเก็บฝุ่นเอาไว้ได้ในปริมาณที่เยอะมากๆ โดยเก็บได้นานกว่า 2 อาทิตย์ โดยที่พลังดูดไม่มีตก ยังดูดฝุ่นได้เหมือนเดิม (ทดสอบมาด้วยตัวเอง เพราะขี้เกียจยกเครื่อง ที่ค่อนข้างหนัก) <br /><br /> สุดท้ายนี้ AUTOBOT Lazer ถือเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นอีกตัวที่คุ้มค่าสำหรับใครที่มีงบอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นต้นๆ ตัวนี้ก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลวเลยทีเดียว

1 ความคิดเห็น

  1. ขอคำแนะนำการซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่นและถือพื้นค่ะ ชั้น 2 มีห้อง ขนาด 4X4 จำนวน 2 ห้อง ขนาด 7X6 จำนวน 1 ห้อง มีชั้นลอยไหว้พระเหนือบันได ให้ขึ้นไปนั่งไหว้ และโถงตรงบันไดก่อนเข้าห้อง ชั้นล่างมีห้อง ขนาด 4X4 จำนวน 2 ห้อง ห้องขนาด 8X7 จำนวน 1 ห้อง ไม่มีเด็ก ไม่มีสัตว์เลี้ยง ทำงานนอกบ้าน ต้องซื้อ 2 เครื่อง ชั้นบน ชั้นล่างแยกกัน ชั้นล่างกระเบื้อง ชั้นบนปาร์เก้ เจ้าของบ้านอายุ 50 ขึ้น เทคโนโลยีไม่เก่ง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้