AUTOBOT Storm Mark I Review

AUTOBOT Storm Share
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm

รีวิวนี้เป็น รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm (ออโต้บอทสตอร์ม) จากค่าย AUTOBOT เป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นกลาง แต่ความสามารถอยู่หัวแถว มาด้วยคอนเซป “STRONG | SMART | POWERFUL” มันมีความสามารถเด่นหลักๆ เลยคือ พลังดูดสูงถึง 40 วัตต์ สั่งงานด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ผ่าน Wi-Fi และที่สำคัญใช้นำทางด้วยเลเซอร์ด้วยระบบ ระบบ LiDAR 360 Mapping มีความแม่นยำในการทำงานสูงมากๆ เพราะนอกจากที่มันจะเอาค่าที่ได้ไปประมวลผลแล้ว มันยังแสดงแผนที่ห้องเราแบบสดๆ ขณะกำลังทำงานอีกด้วย จะได้รู้ว่าห้องเราเป็นอย่างไร จุดไหนที่มันสามารถเข้าถึง หรือไม่สามารถเข้าถึงได้ จะได้จัดข้าวของในห้องให้เหมาะสม

ขณะที่ความสามารถอื่นๆ ของที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั่วไปควรจะมี ก็ยังคงมีอยู่อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น เซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่น เซ็นเซอร์แท่นชาร์จ แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนความจุ 3,200 มิลลิแอมป์ ถังน้ำความจุ 0.15 ลิตร รวมไปถึง กล่องใส่ขยะฝุ่นละอองความจุ 0.6 ลิตร มาพร้อมกับ แผ่นกรองอากาศ HEPA ให้มาขนาดนี้ถือว่าไม่ขี้เหร่เลย

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm จัดเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นน้องของ AUTOBOT Lazer ที่ได้เคยรีวิวไปก่อนหน้านี้ ตัวนั้นจะมีราคาที่แพงกว่า ขนาดใหญ่กว่า และมีลูกเล่นที่มากกว่าเล็กน้อย โดย AUTOBOT Storm มีราคาขายสนนอยู่ที่ประมาณหมื่นกลางๆ เท่านั้นเอง ถือว่าหาได้ยากกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่มีความสามารถในระดับนี้ แต่ราคาเท่านี้ (เพราะส่วนมากแล้วจะทะลุ 2 หมื่นกันไปหมด) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีกลิ่นอายของรุ่นพี่มันอยู่ เช่นเสียงคนพูดที่ตัวเครื่อง วิธีการติดตั้งแอปพลิเคชัน เป็นต้น

ด้านล่างนี้เป็นเมนูลัด (Shortcut Menu) บอกที่ให้คุณได้สามารถเข้าถึงเนื้อหาต่างๆ ของรีวิว AUTOBOT Storm ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

  1. ทำความรู้จักกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น AUTOBOT กันสักนิด
  2. แกะกล่องผลิตภัณฑ์
  3. อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์
  4. ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค
  5. คุณสมบัติ และความสามารถของตัวเครื่อง
  6. สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง
  7. เตรียมเครื่อง และเปิดใช้งานจริง
  8. คุณสมบัติ และ ความสามารถของแอป Robotmaker กับเครื่อง AUTOBOT Storm
  9. คำถามที่คุณต้องอยากรู้ (FAQs) เกี่ยวกับการใช้งาน
  10. บทสรุปการใช้งานเครื่อง ข้อดี ข้อเสีย

ด้านล่างนี้เป็นคลิปวีดีโอรีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm อย่างละเอียดมากๆ ถ้าใครพอจะมีเวลาลองดูได้เลย

ทำความรู้จักกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น AUTOBOT กันสักนิด

AUTOBOT Logo
โลโก้ ผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ทำความสะอาด จาก ออโต้บอท (AUTOBOT)

คุณสามารถทำความรู้จักกับ ประวัติที่มาที่ไปของ หุ่นยนต์ทำความสะอาด AUTOBOT ให้มากกว่านี้ พร้อมรายละเอียดติดต่อสั่งซื้อ รวมไปถึง รายละเอียดการติดต่อบริษัท พร้อมศูนย์บริการ และข้อมูลอื่นๆ ได้ที่ลิงค์เชื่อมต่อด้านล่างนี้ได้เลย

⇒ ทำความรู้จักกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น AUTOBOT

แกะกล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm

AUTOBOT Storm Box
กล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm

กล่องผลิตภัณฑ์ของเครื่องมาในโทนสีน้ำเงิน เทา และขาว (สีพื้นหลัก) ตัวกล่องมีขนาดมิติอยู่ที่ ยาว (L) 500 x กว้าง (W) 130 x สูง (H) 423 มิลลิเมตร (วัดเองด้วยตลับเมตร) ขณะที่น้ำหนักสินค้ารวมกล่อง (Gross Weight) อยู่ที่ประมาณ 5.2 กิโลกรัม (ชั่งเองด้วยเครื่องชั่งน้ําหนักดิจิตอล)

ด้านหน้ากล่อง : โลโก้ผลิตภัณฑ์ AUTOBOT พร้อมชื่อรุ่นคือ Storm พร้อมบอกความสามารถสั้นๆ ว่า LiDAR Mapping (ระบบเลเซอร์นำทาง) | Hybrid (ดูดฝุ่น และถูพื้นเปียกได้) | Wi-Fi (สั่งงานผ่านแอปพลิเคชันได้)

ขณะที่ด้านล่างมีสโลแกนของเครื่องรุ่นนี้คือ STRONG | SMART | POWERFUL พร้อมรูปตัวเครื่องใหญ่ๆ หน้าตรงอยู่ทางด้านขวา และเว็บไซต์ของแบรนด์ www.autobotvacuum.com อยู่ที่มุมขวาล่าง

ด้านหลังกล่อง : ด้านหลังกล่องจะมีบอกความสามารถสั้นๆ ทั้งหมด 8 อย่าง พร้อมรูปประกอบ (ดูคุณสมบัติ และความสามารถ AUTOBOT Storm ทั้งหมด) ด้านล่างมีรายละเอียดช่องทางการติดต่อบริษัทฯ ต่างๆ ทั้งที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ (รายละเอียดการติดต่อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น AUTOBOT)

ด้านซ้าย และขวาของกล่อง : ทุกอย่างเหมือนกันเป๊ะคือ เขียนว่า AUTOBOT Storm และความสามารถสั้นๆ LiDAR Mapping · Hybrid · Wi-Fi (ตามที่ได้อธิบายไปแล้วด้านบน)

อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm

เมื่อเปิดฝากล่องออกมาแล้วจะพบกับแผ่นกระดาษแข็งวางปิดอยู่ชั้นบน เพื่อป้องกันความเสียหายด้านบนของตัวเครื่อง และเมื่อนำกระดาษแข็งออก ก็จะพบกับหนังสือคู่มือ และตัวเครื่อง AUTOBOT Storm พร้อมอุปกรณ์เสริมต่างๆ วางอยู่ในกระดาษแข็งขึ้นรูป และทั้งหมดถูกใส่อยู่ในห่อพลาสติกทุกชิ้น

AUTOBOT Storm Component
อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm

อุปกรณ์ที่ให้มาภายในกล่องนั้น โดยรวมก็เหมือนกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั่วๆ ไป เพราะในสมัยนี้ส่วนใหญ่แล้ว ความสามารถต่างๆ ส่วนมาก จะไปวัดกันในเรื่องของการวิ่งทำความสะอาด การเอาตัวรอดจากอุปสรรคต่างๆ หรือแม้แต่ ความสามารถของแอปพลิเคชัน เสียมากกว่า

1. AUTOBOT Storm (หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น x 1 เครื่อง)

AUTOBOT Storm
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm

เครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm เป็นเครื่องทรงกลม (Round Shape) มันมีขนาดมิติอยู่ที่ 350 x 350 x 94.5 มิลลิเมตร (ความสูงของเครื่องประมาณ 9.5 เซนติเมตร) และน้ำหนักเครื่องอยู่ที่ 3.5 กิโลกรัม

วัสดุบนตัวเครื่องใช้เป็นพลาสติกผิวด้าน มีข้อดีอยู่ตรงที่ เวลาใช้มือจับเครื่อง จะไม่เป็นรอยลายนิ้วมือที่ตัวเครื่อง เหมือนบางรุ่นที่ใช้พลาสติกผิวมัน แบบนั้นร้อยจะเยอะหน่อย (แต่ก็ไม่ได้มีผลอะไรกับการทำความสะอาดเครื่อง)

2. Water Tank and Microfiber Cloth (ถังน้ำ x 1 ถัง และ ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ x 1 ผืน)

AUTOBOT Storm Water Tank and Microfiber Cloth
ถังน้ำขนาดความจุ 0.15 ลิตร และผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์

ถังน้ำทรงแบน มีขนาดความจุ 150 มิลลิลิตร (0.15 ลิตร) พร้อมแถบตีนตุ๊กแกด้านล่างทั้งหมด 2 แถบยาวๆ ที่อยู่ด้านหลังของถัง เพื่อใช้ยึดกับผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ ขณะที่ด้านหน้าจะรัดด้วยสายรัดยางยืด (Elastic Belt) เพื่อป้องกันผ้าม็อบฯ หลุด หรือเผยอ ออกมานั่นเอง

ด้านบนมีฝาเปิดเติมน้ำแบบยาง เพื่อให้เปิดเติมน้ำลงถังกันได้ง่ายๆ และยังมีสติ๊กเกอร์แปะคำแนะนำวิธีการใช้งานเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมรูปประกอบที่เข้าใจง่าย

ในขณะที่ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ เป็นผ้า 2 ผืนที่ถูกเย็บติดกันเพื่อเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้น และเพื่อประโยชน์ที่หลากหลายมากขึ้น โดยด้านหน้า ของผ้าเป็นผ้าแบบสากเน้นการขจัดคราบสกปรกที่อยู่บนพื้น ด้านหลังเป็นผ้าเรียบช่วยในการเช็ดให้แห้ง

3. Cleaning Brush (แปรงทำความสะอาดอเนกประสงค์ x 1 แปรง)

AUTOBOT Storm Cleaning Brush
แปรงทำความสะอาดอเนกประสงค์ (Cleaning Brush) ใช้ทำความสะอาดตัวเครื่องหลังการใช้งาน

แปรงขนก้านยาว ประมาณ 20 เซนติเมตร มีเอาไว้ใช้ทำความสะอาดส่วนประกอบต่างๆ ของตัวเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นตามขอบซอกมุม หรือหลืบต่างๆ อาทิ

  • กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง
  • ด้านข้างล้อขับเคลื่อนหลัก
  • ร่องระหว่างกันชนหน้ากับตัวเครื่อง
  • แผ่นกรองอากาศ HEPA เป็นต้น

4. User Manual and Quick Start Guide (คู่มือการใช้งาน x 1 เล่ม และ คู่มือเริ่มต้นใช้งานฉบับย่อ x 1 แผ่น)

AUTOBOT Storm User Manual
คู่มือการใช้งาน (User Manual) และ คู่มือเริ่มต้นใช้งานฉบับย่อ (Quick Start Guide)

เอกสาร 2 ชุดที่ให้มาในกล่องคือ คู่มือการใช้งาน (User Manual) เป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ สามารถอ่านแล้วทำความเข้าใจได้ง่ายๆ มีจำนวนหน้าทั้งสิ้น 16 หน้า (รวมหน้าปก) ข้อมูลที่ให้มาค่อนข้างละเอียดมาก ไม่ว่าจะเป็น แนะนำอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบของตัวเครื่อง วิธีการติดตั้ง วิธีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น พร้อมคำแนะนำด้านความปลอดภัย ฯลฯ โดยมีรูปประกอบเท่าที่จำเป็น ถือว่ากระทัดรัดดี

นอกจากนี้ยังมี คู่มือเริ่มต้นใช้งานฉบับย่อ (Quick Start Guide) เป็นพับกระดาษแผ่นเดียว มีเนื้อหาอยู่ 3 หน้า (ไม่รวมหน้าปก) ภายในมีบอกแค่วิธีการเริ่มต้นใช้งานตั้งแต่ต้นจบจบ (รวมถึงการติดตั้งแอปพลิเคชันอย่างละเอียดด้วย)

5. Side Brush (แปรงกวาดข้าง x 2 ชุด – ชุดละ 1 แปรง = 2 แปรง)

AUTOBOT Storm Side Brush
แปรงกวาดข้าง (Side Brush) แบบ 3 แฉก ขนแปรงยาวแฉกละ 4.5 เซนติเมตร

แปรงกวาดข้าง (Side Brush) เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ทางผู้ผลิตหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่เป็นทรงกลมทุกๆ เจ้า จะต้องมีติดไม้ติดมือมาให้ด้วย เพราะหุ่นยนต์ดูดฝุ่นทรงกลม มักจะมีจุดบอดเรื่องของการดูดฝุ่นตามขอบมุมต่างๆ ของกำแพง หรือเฟอร์นิเจอร์ (เพราะจะดูดได้ไม่หมด) แต่สำหรับเครื่อง AUTOBOT Storm นั้นจะใช้จริงๆ แค่แปรงเดียวเท่านั้น (ส่วนที่ให้มา 2 แปรงเพราะเผื่อสำรองอีก 1 แปรง นั่นเอง) (สาเหตุที่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น AUTOBOT Storm มีแปรงกวาดข้างเดียว)

แปรงกวาดข้าง (Side Brush) เครื่องนี้มีให้มาในกล่องทั้งหมด 2 แปรง โดยเป็นแปรงแบบ 3 แฉก ขนแปรงมีความยาวแฉกละ 4.5 เซนติเมตร (ถ้ารวมก้านและขนแปรงจะอยู่ที่ประมาณ 6.5 เซนติเมตร)

6. Adapter Set (ชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ x 1 ชุด)

AUTOBOT Storm Adapter Set
ชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ พร้อมฉลากกำกับ (Label)

อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ อุปกรณ์ที่เอาไว้ใช้ในการแปลงไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Power) ไปเป็น ไฟฟ้ากระแสตรง (DC Power) ที่ใช้ภายในตัวเครื่อง เป็นอะแดปเตอร์แบบที่รองรับแรงดันไฟฟ้าระหว่าง 100 ถึง 240 โวลต์ (V) นั่นหมายความว่า มันสามารถใช้ได้กับทุกประเทศทั่วโลก มีสายไฟขนาดความยาวประมาณ 1.2 เมตร (วัดเองด้วยตลับเมตรเอง)

โดยชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟที่ให้มาเป็นของยี่ห้อ KPTEC อีกหนึ่งแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ หัวแปลงสัญญาณต่างๆ ชื่อดังจากประเทศจีน มีสินค้าขายอยู่ทั่วโลก (ค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมา) เรื่องของคุณภาพไว้ใจได้เลย

7. Charge Base (แท่นชาร์จ x 1 ชุด)

AUTOBOT Storm Charge Base and Adapter Set
แท่นชาร์จ (Charge Base) และ ชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ (Adapter Set) พร้อมสายไฟยาว 1.2 เมตร

แท่นชาร์จ (Charge Base) มีขนาดมิติ ยาว (L) 163 x กว้าง (W) 134 x สูง (H) 101 มิลลิเมตร (วัดเองด้วยตลับเมตร) ขณะที่น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 0.25 กิโลกรัม (ชั่งเองด้วยเครื่องชั่งน้ําหนักดิจิตอลขนาดเล็ก) มันเป็นเหมือนบ้านของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่เมื่อทำความสะอาดจนเสร็จสิ้นภารกิจทั้งหมดแล้ว เครื่องจะกลับมาจอดที่นี้โดยอัตโนมัติ พร้อมกับชาร์จไฟไปด้วย เพื่อให้เตรียมพร้อมกับการออกปฏิบัติงานในครั้งถัดไป

โดยแท่นชาร์จของ AUTOBOT Storm เครื่องนี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก มีขั้วชาร์จไฟ 2 ขั้ว เพื่อชาร์จไฟเข้าหุ่นยนต์ดูดฝุ่น อยู่ติดกับพื้น และด้านล่างของแท่นชาร์จ จะมีแผ่นยางกันลื่นเป็นวงกลม 4 แผ่น พร้อมกับที่เก็บสายไฟของชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ (ต้องเปิดฝาปิดออกมาถึงจะเห็น) เพื่อไม่ให้สายไฟมาวางระเกะระกะขณะที่เครื่องกำลังทำงาน

ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm

รายละเอียด
(Specification)
ขนาดมิติ
(Dimension)
350 x 350 x 94.5 มม.
น้ำหนัก
(Weight)
3.5 กิโลกรัม
ไฟเข้า
(Input)
AC 100-240V 50/60 Hz (0.6A)
ไฟออก
(Output)
DC 20V 1.2A (กินไฟ <24W)
ประเภทของแบตเตอรี่
(Battery Type)
Li-Ion
ปริมาณความจุแบตเตอรี่
(Battery Capacity)
3,200 mAh
ระดับเสียง
(Noise Level)
ประมาณ 66 dB. (เดซิเบล) ในโหมดเทอร์โบ
(วัดจากที่ระยะห่าง 1 เมตร)
ขนาดกล่องใส่ขยะ (ลิตร)
(Dustbin Capacity – Litre)
0.60 ลิตร (600 mL)
ขนาดความจุถังน้ำ (ลิตร)
(Water Tank Capacity – Litre)
0.15 ลิตร (150 mL)

คุณสมบัติ และความสามารถของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm

AUTOBOT Storm Laser Radar Zoom
เลเซอร์วัดระยะทาง เปรียบเสมือน ดวงตาของมัน โดยจะมี 2 ช่อง ช่องนึงปล่อยแสงเลเซอร์ อีกช่องรับแสงที่สะท้อนกลับมา

มาดูความสามารถหลักๆ ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm เครื่องนี้อย่างละเอียดกันดูบ้าง ว่ามีจุดไหนที่โดดเด่น และน่าสนใจบ้าง

1. LiDAR 360 Navigation System (ระบบการนำทางด้วยเลเซอร์)

AUTOBOT Storm Feature LiDAR 360 Navigation System
ระบบการนำทางด้วยเลเซอร์ (LiDAR 360 Navigation System)

ระบบการนำทางด้วยเลเซอร์ LiDAR 360 โดยมันย่อมาจากคำว่า “Light Detection and Ranging” มีหน้าที่ส่งแสงเลเซอร์ออกจากโดมเลเซอร์เรดาร์กลมๆ ที่อยู่บนตัวเครื่อง (โดมนี้มีชื่อเรียกว่า เลเซอร์เรดาร์ – Laser Radar) ออกไปตกกระทบกับวัตถุที่อยู่รอบๆ ตัวเครื่องแบบรอบทิศทาง (360 องศา) เพื่อทำสร้างแผนที่จำลอง (Mapping)

หลักการทำงานของมันคือ มันจะอาศัยการคำนวณระยะเวลาที่แสงไปออกจากแหล่งกำเนิด (ตัวเครื่อง) แล้วไปตกกระทบกับวัตถุ (กำแพง โต๊ะ เก้าอี้ โซฟา ฯลฯ) เพื่อหาระยะห่าง โดยระบบนี้จะมีความแม่นยำที่สูงมากถึงมากที่สุด

2. Multi-room Cleaning and Resume (สามารถทำความสะอาดข้ามห้อง และจดจำพื้นที่ล่าสุดได้)

AUTOBOT Storm Feature Multi-Room Cleaning and Resume
สามารถทำความสะอาดข้ามห้อง และจดจำพื้นที่ล่าสุดได้ (Multi-room Cleaning and Resume)

สามารถวิ่งทำความสะอาดเข้าออกตามห้องต่างๆ ที่มีความซับซ้อนได้อย่างสบายๆ และกลับมายังแท่นชาร์จของมันได้โดยไม่หลงทาง สำหรับใครที่พักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม หรือบ้านที่มีหลายห้อง ก็หายห่วงเลย

นอกจากนี้แล้ว AUTOBOT Storm ยังมีความสามารถในการจดจำพื้นที่ล่าสุดที่ทำความสะอาดเอาไว้ได้ มันจะมีประโยชน์อย่างมากเวลาแบตเตอรี่ใกล้หมด เครื่องจะวิ่งกลับไปชาร์จแบตเตอรี่ที่แท่นชาร์จ และเมื่อแบตเตอรี่เต็ม มันจะวิ่งกลับมาทำงานต่อยังตำแหน่งเดิมได้ทันที โดยไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

3. Three Adjustable Suction Powers (ปรับระดับความแรงของพัดลมดูดฝุ่นได้ 3 ระดับ)

AUTOBOT Storm Feature Three Adjustable Suction Power
ปรับพลังดูดได้ 3 ระดับ (Three Adjustable Suction Powers)

มีหุ่นยนต์ดูดฝุ่นน้อยเครื่อง ที่สามารถปรับระดับความแรงของพัดลมดูดฝุ่นได้ถึง 3 ระดับ (หุ่นยนต์ดูดฝุ่นส่วนมากจะปรับได้อย่างมากแค่ 2 ระดับ หรือปรับไม่ได้เลย) แต่ว่า AUTOBOT Storm สามารถปรับได้สูงสุดถึง 3 ระดับ คือ โหมดประหยัดพลังงาน (ECO Mode) โหมดธรรมดา (Normal Mode) และ โหมดเทอร์โบ (Turbo Mode) เพื่อให้สามารถเลือกใช้งานได้ตามความเหมาะสม

ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องนี้พลังดูดสูงสุดถึง 1,800 ปาสคาล (Pa) หรือ 0.018 บาร์ (Bar) ถือว่าแรงพอที่จะดูดฝุ่นละอองขนาดเล็กขึ้นมาบนเครื่องได้ (ในขณะที่ฝุ่นขนาดใหญ่ก็จะมีแปรงกวาดหลัก) ช่วยในการตีฝุ่นเข้ามาเก็บไว้ภายในเครื่องอยู่แล้ว

4. Wi-Fi Control via Full-Featured Application (ควบคุมสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน ที่มีความสามารถเพียบ)

AUTOBOT Storm Feature Full Featured and Real-time Mapping
ควบคุมสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน ที่ความสามารถเพียบ (Wi-Fi Control via Full Featured Application)

เครื่องนี้สามารถสั่งงานผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือได้ทั้งบนระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ด้วยแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “Robot Maker” ที่ให้คุณได้สามารถตั้งค่าต่างๆ สั่งงาน หรือแม้แต่ดูแผนที่พร้อมรายงานการทำความสะอาด ในแต่ละครั้งได้แบบสดๆ ว่าตอนนี้เครื่องอยู่ตรงไหน ส่วนใดของห้องแล้ว

นอกจากแผนที่แล้วเครื่องยังมีบอกขนาดพื้นที่ที่ทำความสะอาดไปแล้ว (หน่วยเป็นตารางเมตร – m3) และเวลาที่ใช้ในการทำความสะอาด (หน่วยเป็นนาที) ถือว่าละเอียดมากๆ เลยทีเดียว

5. Flexible Scheduled Cleaning (ตั้งเวลาทำความสะอาดแบบยืดหยุ่น)

AUTOBOT Storm Feature Flexible Schedule Cleaning
ตั้งเวลาทำความสะอาดแบบยืดหยุ่น (Flexible Schedule Cleaning)

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm เครื่องนี้สามารถตั้งเวลาทำความสะอาด (Cleaning Reservation) ได้แบบยืดหยุ่นมากๆ เช่น วันนี้ทำ พรุ่งนี้ไม่ทำ หรือแม้แต่วันนี้ทำเวลานี้ พรุ่งนี้ทำอีกเวลานึง

และยิ่งไปกว่านั้นคือ มันยังสามารถตั้งเวลาทำความสะอาดต่อวันได้วันละหลายครั้ง (พูดง่ายๆ คือ จะให้ทำความสะอาดกี่ครั้งก็ได้) เช่น ทำความสะอาดช่วงเช้าหลังออกจากบ้าน และช่วงเย็นก่อนกลับบ้าน ความสามารถนี้หาได้ยากกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นราคาหมื่นกลางๆ บางทีหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่แพงกว่านี้ยังหาความสามารถนี้ยาก

6. Virtual Wall on App (สร้างกำแพงจำลองผ่านแอปพลิเคชัน)

AUTOBOT Storm Feature Virtual Wall on App
สร้างกำแพงจำลองผ่านแอปพลิเคชัน (Virtual Wall on App)

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm สามารถกำหนดพื้นที่ที่ต้องการ หรือไม่ต้องการให้เข้าไปทำความสะอาดผ่าน แอปพลิเคชัน Robotmaker ได้เลยโดยตรง โดยเราไม่ต้องไปวาง แถบแม่เหล็กกั้นขอบเขต หรือกล่องสร้างกำแพงจำลอง (แบบใส่ถ่านแบตเตอรี่) ไว้หน้าพื้นที่ให้เกะกะ หรือรกบ้าน

7. Lithium-Ion Battery (แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน)

แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน (Lithium-Ion หรือ Li-Ion Battery) ที่มีจุดเด่นในเรื่องของการจ่ายไฟที่แรงคงที่ และเก็บประจุไฟได้นาน (ถ้ามีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง) ความจุ 3,200 มิลลิแอมป์ (mAh) เพียงพอต่อการต่อเนื่องเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 60 นาที

8. HEPA Filter (แผ่นกรองอากาศ HEPA คุณภาพสูง)

แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง หรือ แผ่นกรองอากาศ HEPA มีความถี่ของเส้นใยที่ใช้ในการกรองอากาศสูง สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่นละเอียดที่มีขนาดเล็กได้ถึง 0.3 ไมครอน (µ) เลยทีเดียว

มันจะช่วยกันฝุ่นไม่ให้หลุดลอดกลับออกไปข้างนอกอีกครั้ง การทำความสะอาดก็ง่ายมาๆ เพียงแค่นำไปเคาะๆ หรือใช้แปรงทำความสะอาดอเนกประสงค์ปัดๆ เพื่อให้ฝุ่นที่เกาะอยู่หลุดออกมา (ไม่ควรใช้นำล้าง เพราะจะทำให้แผ่นกรองฯ เสื่อมสภาพเร็วขึ้น)

สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm

ส่วนประกอบของตัวเครื่อง AUTOBOT Storm มาดูกันว่าแต่ละส่วนนั้น มีความสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยจะเป็นภาพประกอบพร้อมคำบรรยายอย่างละเอียด ในที่นี้ขอนำเสนอเป็น 4 หัวข้อหลักๆ ได้แก่

  1. ส่วนประกอบด้านบนและด้านข้าง
  2. ส่วนประกอบด้านล่าง
  3. ส่วนประกอบภายใน
  4. ส่วนประกอบกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง

Top Component (ส่วนประกอบด้านบน)

AUTOBOT Storm Component Top
ส่วนประกอบด้านบน ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm
  1. Laser Radar (เลเซอร์วัดระยะทาง) : หรือจะเรียกว่า “Laser Range Sensor” ก็ได้ ภายในโดมนี้จะมีส่วนที่หมุนได้ 360 องศา เพื่อยิงแสงเลเซอร์ ให้ไปตกกระทบกับวัตุที่อยู่รอบๆ ตัวเครื่องเพื่อใช้ในการสร้างแผนที่จะลอง และประมวลผลให้เครื่องวิ่งไปทำความสะอาดตามจุดต่างๆ ที่ต้องการ
  2. Front Bumper (กันชนหน้า) : อุปกรณ์พื้นฐานที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเกือบทุกตัวจะต้องมี มีหน้าที่เอาไว้ใช้ดูซับแรงกระแทกระหว่างตัวเครื่องกับเฟอร์นิเจอร์ หรือข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านต่างๆ
  3. Air Outlet (ช่องอากาศออก) : หลังจากที่ฝุ่นและอากาศถูกดูดเข้ามาภายในตัวเครื่องโดยพัดลมดูดฝุ่น ฝุ่นก็จะถูกกักเก็บเอาไว้ภายในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ด้วยแผ่นกรองอากาศ HEPA ขณะที่อากาศก็จะออกมาข้างนอกได้ทางช่องนี้
  4. Recharge Sensor (เซ็นเซอร์แท่นชาร์จ) : จะใช้ในกรณีที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นต้องการจะวิ่งกลับแท่นชาร์จ มันจะส่งสัญญาณออกไปเพื่อสแกนหาแท่นชาร์จ และวิ่งกลับเข้าไปจอดให้ตรงจุด ตรงขั้วอย่างแม่นยำ
  5. Removable Cover (ฝาปิดเครื่องที่ถอดออกได้) : เครื่องนี้มาแปลกนิดนึงคือบนตัวเครื่อง มันจะมีฝาปิดเครื่องอยู่ด้านบนที่สามารถดึงถอดออกมาได้ มันเป็นฝาพลาสติกทรงกลมแบน ที่ถูกยึดกับตัวเครื่องด้วยแม่เหล็กทั้งหมด 4 ตำแหน่ง โดยไม่ได้มีเกลียวล็อคอะไรเลย ดังนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องเกลียวล็อคจะหักอะไร นอกจากนี้แล้ว กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ของเครื่องนี้ ก็ถูกซ่อนอยู่ด้านใต้ฝาปิดเครื่องนี้เช่นกัน (ตอนแรกก็หาไม่เจอเหมือนกันว่าอยู่ไหน)
  6. Control Panel (แผงควบคุมบนตัวเครื่อง) : ปุ่มกดบนตัวเครื่อง จะอยู่ทั้งหมด 3 ปุ่มหลักๆ ด้วยกันคือ
    1. Recharge Button (ปุ่มให้เครื่องกลับแท่นชาร์จ)
    2. Power ON/OFF and Clean Button (ปุ่มเปิดปิดเครื่อง และ ปุ่มเริ่มต้นหรือหยุดทำความสะอาด)
    3. Spot Cleaning Button (ปุ่มเปิดโหมดทำความสะอาดเฉพาะจุด)

Underside Component (ส่วนประกอบด้านล่าง)

AUTOBOT Storm Component Underside
ส่วนประกอบด้านล่าง ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm
  1. Cliff Sensor (เซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่น) : คำว่า “Cliff” แปลว่าเหวหรือหน้าผา มันเป็นเซ็นเซอร์ที่เอาไว้ป้องกันการตกจากที่สูง เช่นตกบันไดเป็นต้นเครื่องนี้มีให้มา 4 ตัว รอบๆ ด้านหน้าของตัวเครื่อง มั่นใจได้เลยว่าไม่มีวิ่งตกบันไดอย่างแน่นอน
  2. Front Caster Wheel (ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหน้า) : ล้อพลาสติกสีดำขนาดค่อนข้างใหญ่ (กว่าตัวอื่นๆ ที่รีวิวมา) สามารถรอบตัวหมุนได้อิสระแบบ 360 องศา (ศัพท์ในคู่มือเขาเรียกว่า Omni-Directional Wheel)
  3. Lithium-Ion Battery and Charge Pins (แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน และจุดสัมผัสแท่นชาร์จ) : เครื่องนี้ ตรงจุดสัมผัสแท่นชาร์จกับ แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนขนาดความจุ 3,200 มิลลิแอมป์ (mAh) ได้ถูกประกอบเป็นชุดเดียวกันเลย เวลามีปัญหาจะเอาออกมาดูหรือเปลี่ยน ก็สามารถบีบสลักล็อคทั้ง 2 ฝั่งเข้าหากัน แล้วดึงขึ้นมาทั้งก้อนได้เลย โดยไม่ต้องไขน๊อต
  4. Side Brush Installation Area (พื้นที่ติดตั้งแปรงกวาดข้าง) : เครื่องนี้มีพื้นที่ติดตั้งแปรงกวาดข้าง แค่เพียงฝั่งเดียวเท่านั้น การติดตั้งก็ง่ายๆ เพียงแค่เสียบแล้วกดลงไปจนลงล็อคของมัน (เสียงดังแก๊ก) ก็เสร็จพิธี ถ้าต้องกาารดึงออก ก็ใช้มือจับที่ก้านสีดำๆ (ไม่ควรจับที่ตัวขนแปรง เดี๋ยวหลุด) แล้วค่อยๆ ดึงขึ้นมาได้เลย
  5. Main Brush Installation Area (พื้นที่ติดตั้งแปรงกวาดหลัก) : พื้นที่ติดตั้งแปรงกวาดหลักที่ทาง AUTOBOT Storm ให้เป็น แปรงขน ผสมกับแปรงยางแบบเกลียว (Spiral Combo Brush) ความยาว 17 เซนติเมตร (170 มิลลิเมตร) มาให้ โดยแปรงแบบนี้ข้อดีของมันคือ สามารถใช้งานได้อเนกประสงค์ และใช้ได้กับทุกพื้นผิว (ใช้กับพรมก็ได้) โดยด้านนอกจะเป็นฝาครอบแปรงกวาดหลัก การนำออกก็ง่ายๆ เพียงแค่ดันสลักทั้ง 2 ฝั่งออกไป แล้วดึงขึ้นได้เลย
  6. Main Wheel (ล้อขับเคลื่อนหลัก) : ล้อขนาดใหญ่ 2 ล้อมีมอเตอร์ควบคุมแบบแยกอิสระ ให้เดินหน้าหรือถอยหลัง เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา วางอยู่ตำแหน่งกึ่งกลางของตัวเครื่อง เป็นล้อพลาสติกหุ้มด้วยดอกยางเห็นค่อนข้างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีสปริงโช๊คอัพ ช่วยให้วิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับได้ ประมาณ 1.0-1.5 เซนติเมตร
  7. Water Tank Installation Area and Product Label (พื้นที่ติดตั้งถังน้ำ และ ฉลากรายละเอียดผลิตภัณฑ์) : ที่ส่วนท้ายเครื่องด้านล่างจะเป็น พื้นที่เอาไว้ยึดติดกับถังน้ำขนาด 0.15 ลิตร ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ด้วย โดยเราสามารถนำมาติดตั้ง หรือถอดออกก็ได้ พร้อมกับฉลากรายละเอียดผลิตภัณฑ์คร่าวๆ

Inside Component (ส่วนประกอบภายในเครื่อง)

เครื่องนี้ขอโชว์ส่วนประกอบภายในเครื่องให้ดูกันซะหน่อย เพราะมันมีของแปลกอยู่ตรงที่ ด้านบนของตัวเครื่องจะมี ฝาปิดเครื่องที่ถอดออกได้ เมื่อดึงออกมาแล้วหน้าตาจะเป็นอย่างไร มาดูไปพร้อมๆ กันเลย

สรุปคือ ถ้านำเอาฝาปิดเครื่องที่ถอดออกได้ ออกไปก็จะพบกับ กล่องขยะฝุ่นละอองออก (Dustbin) ขนาดความจุ 0.6 ลิตร แอบซ่อนอยู่ในนี้นี่เอง การนำออกก็ง่ายๆ จับหูหิ้วตั้งขึ้น และดึงกล่องฯ ขึ้นมาได้เลย หลังจากนั้นสิ่งที่เราจะเห็นก็คือ ช่องฝุ่นเข้า (Dust Inlet) และ ช่องอากาศเข้า (Air Inlet) ไปยังพัดลมดูดฝุ่น ที่อยู่ด้านในก่อนจะปล่อยออกทางช่องอากาศออก เป็นลำดับต่อไป

Dustbin Component (ส่วนประกอบกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง)

AUTOBOT Storm Dustbin
กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) ขนาดความจุ 0.6 ลิตร ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm

กล่องใส่ขยะฝุ่นละอองขนาดใหญ่ ด้านบนมีหูหิ้วให้สามารถหยิบออกมาจากตัวเครื่องได้ง่ายๆ วัสดุเป็นพลาสติกทรงใสทำให้มองเห็นปริมาณฝุ่นที่อยู่ภายในได้อย่างชัดเจน มันมีความจุฝุ่นมากถึง 0.6 ลิตร หรือ 600 มิลลิลิตร (ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างมากเลยทีเดียว เพราะที่รีวิวมา ขนาดใหญ่สุดจะอยู่ที่ 0.7 ลิตร) สามารถนำไปทำความสะอาดได้ง่ายๆ เพราะส่วนเว้า จุดอับ จุดบอดต่างๆ ค่อนข้างน้อยมาก

การนำฝุ่นออกก็เพียงแค่เอา แผ่นกรองอากาศ HEPA ที่อยู่ด้านหน้าออกมา ก็สามารถนำฝุ่นออกจากกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองได้อย่างง่ายดาย

เตรียมเครื่อง และเปิดใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm

การใช้งานเครื่องนี้ ก็จะเหมือนหุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั่วๆ ไป ที่จะต้องมีการติดตั้งแท่นชาร์จ รวมไปถึงการชาร์จไฟ เข้าเครื่องให้เรียบร้อยเสียก่อนที่จะเริ่มต้นใช้งาน ในครั้งแรก มาดูกันเลย

1. Charge Base Installation and Protection Removing (การติดตั้งแท่นชาร์จ และ ดึงอุปกรณ์ป้องกันเครื่องออก)

หาพื้นที่ติดตั้งแท่นชาร์จ ที่อยู่ชิดกับผนังห้อง ที่จะต้องเป็นที่โล่ง โดยจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางในระยะมาตรฐานคือ ด้านหน้า 1.5 เมตรด้านหน้า ขณะที่ฝั่งซ้ายและขวา 0.5 เมตร ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อความแม่นยำของเครื่องในการตรวจจับหาแท่นชาร์จและเข้าออก เพื่อให้มีความแม่นยำ

นอกจากนี้แล้ว เครื่องนี้ยังมีแผ่นโฟมขนาดเล็ก ที่คั่นระหว่างกันชนหน้า กับตัวเครื่อง เพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายขณะขนส่ง ขนย้ายต่างๆ ก็จะต้องดึงออกด้วยเช่นกัน

2. First Time Charging (การชาร์จไฟครั้งแรก)

หลังจากที่ติดตั้งแท่นชาร์จเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็นำเครื่องมาวางที่แท่นชาร์จ โดยให้จุดสัมผัสแท่นชาร์จที่อยู่ด้านหน้าของตัวเครื่อง AUTOBOT Storm สัมผัสกับขั้วชาร์จไฟของแท่นชาร์จ โดยการชาร์จไฟของเครื่องนี้ สามารถทำได้วิธีเดียวคือ ชาร์จผ่านแท่นชาร์จ (Charge via Charge Base) เท่านั้น

และสำหรับการชาร์จไฟในครั้งแรก ก็ขอแนะนำให้ชาร์จไฟทิ้งเอาไว้ข้ามคืนไปเลย ประมาณ 6-8 ชั่วโมง ให้แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน เก็บประจุไฟให้เต็มเสียก่อน เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการใช้งานในครั้งแรก

3. Water Tank Installation (การติดตั้งถังน้ำเพื่อถูพื้นแบบเปียก)

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm ตัวนี้ก็เหมือนกับตัวอื่นๆ คือ มันมีออปชั่นให้ถังน้ำขนาดความจุ 0.15 ลิตร สำหรับคนที่ต้องการให้มันถูพื้นแบบเปียกได้ด้วย ซึ่งเราจะต้องติดผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ เข้ากับถังน้ำ ก่อนจะนำไปติดกับตัวเครื่อง โดยการติดตั้งก็ไม่ได้ยากเลย

4. Application Connection via Wi-Fi (การเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน ผ่าน Wi-Fi)

Robotmaker App Logo
โลโก้ แอปพลิเคชัน Robotmaker

ถึงแม้ว่าเครื่อง AUTOBOT Storm นี้จะมีปุ่มกดบนแผงควบคุมของเครื่องอยู่ 3 ปุ่ม (มากกว่า AUTOBOT Lazer รุ่นพี่ ที่มีแค่ปุ่มเดียว) แต่สั่งงาน และใช้งานต่างๆ ที่เหลืออีกประมาณ 85% ก็ยังคงต้องสั่งงานผ่านแอปพลิเคชันอยู่ดี

โดยเครื่องนี้ มีให้เลือกใช้กันทั้ง 2 ระบบปฏิบัติการยอดฮิต นั่นก็คือ iOS และ Android

  1. ดาวน์โหลดแอป Robotmaker สำหรับ iOS ผ่าน App Store
  2. ดาวน์โหลดแอป Robotmaker สำหรับ Android ผ่าน Play Store

เมื่อดาวน์โหลดและติดตั้งเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็สามารถทำตามขั้นตอนด้านล่างนี้ เพื่อเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน Robotmaker กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm ได้เลย

  1. เปิดแอป Robotmaker เข้ามาแล้ว จะแสดงหน้าจอเข้าสู่ระบบ (Log in) ให้กดที่ “ปุ่ม Register” ที่มุมขวาล่างของหน้าจอ เพื่อทำการลงทะเบียนผู้ใช้งาน (ทำแค่ครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น)
  2. ลงทะเบียนโดยการกรอกที่ช่อง อีเมล (E-Mail) รหัสผ่าน (Password) และยืนยันรหัสผ่านอีกครั้ง (Confirm Password) เมื่อกรอกครบทุกช่องแล้วกด “ปุ่ม Register” เพื่อลงทะเบียน
  3. มาที่หน้าจอเข้าสู่ระบบอีกครั้ง กรอกข้อมูลอีเมล และรหัสผ่าน ที่ใช้ลงทะเบียนมา เพื่อเข้าสู่ระบบเป็นลำดับต่อไป
  4. เมื่อเข้าสู่ระบบมาแล้ว ถ้าเป็นครั้งแรกเราจะไม่เจออุปกรณ์อะไรใดๆ เลย ซึ่งเราจะต้องเพิ่มอุปกรณ์ลงไปก่อน โดยกด “ปุ่ม Add Device” เพื่อเพิ่มอุปกรณ์เข้าสู่ระบบ
  5. เลือกรุ่นของอุปกรณ์ที่เราต้องการจะเพิ่มเข้าไป สำหรับรีวิวนี้ให้เลือก “STORM
  6. กลับไปที่ตัวเครื่อง และกด “ปุ่ม Recharge” และ “ปุ่ม Spot Cleaning” ค้างเอาไว้ 3 วินาที จนกว่า ไฟสีน้ำเงินที่ปุ่มบนแผงควบคุมทั้งหมดจะกระพริบ และได้ยินเสียงพูดขึ้นมาว่า  “🔊 Network Configuring” ดังขึ้นมาพร้อมๆ กัน
  7. กลับไปที่แอป Robotmaker อีกครั้ง กดเลือกติ๊กถูกที่ช่อง เพื่อยืนยันว่ากด “ปุ่ม Recharge” และ “ปุ่ม Spot Cleaning” ค้างเองไว้แล้ว (The button was long-pressed until the blue light started flashing) และกด “ปุ่ม Next” เพื่อดำเนินการต่อไป
  8. กรอกรหัสผ่าน Wi-Fi ของ SSID ปัจจุบัน ที่เราใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ (แต่สามารถกดที่ “ปุ่ม …” เพื่อเปลี่ยน SSID ได้ตามต้องการ) แล้วกด “ปุ่ม Next
  9. ระบบจะขึ้นคำแนะนำในการเปลี่ยนการเชื่อมต่อจาก SSID ของเรา ไปเป็น SSID ของ AUTOBOT Storm เมื่ออ่านแล้วกด “ปุ่ม Configure Network” เพื่อดำเนินการต่อ
  10. ระบบขึ้นหน้าจอถามว่า “Please connect to the desired available Wi-Fi network in Settings and return” ให้กด “ปุ่ม OK” เพื่อไปต่อ
  11. ระบบจะพาออกไปที่เมนูตั้งค่า Wi-Fi ให้เลือก SSID ที่เป็นชื่อของ AUTOBOT Storm โดยชื่อ SSID จะขึ้นต้นประมาณ “STORM-xxxxxx
  12. กลับไปที่แอป Robotmaker อีกครั้ง หน้าจอบนแอปฯ จะขึ้นว่า “Please place device and your phone closer to router” แล้วรอสักครู่ เพื่อเริ่มการเชื่อมต่อ ใช้เวลาไม่เกิน 30 วินาที (ครึ่งนาที)
  13. หลังจากนั้นระบบจะขึ้นคำว่า “Your device has been successfully connected to Wi-Fi” พร้อมให้กด “ปุ่ม Confirm” เพื่อยืนยันการเชื่อมต่ออุปกรณ์
  14. ระบบจะพาเข้ามาในหน้าจอหลัก (Main Interface) ของแอป Robotmaker และพร้อมใช้งานทันที

คุณสมบัติ และความสามารถ ของแอปพลิเคชัน Robotmaker กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm

ความสามารถของแอปพลิเคชัน Robotmaker ที่ใช้กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm ตัวนี้จัดว่าเยอะแยะมากมายเหลือเกิน โดยขอสรุปมาให้ตามฟังก์ชั่นการใช้งานดังต่อไปนี้

  1. การสั่งงานเครื่อง (Execute Cleaning Command)
    1. สั่งให้เครื่องเริ่มทำงาน (Start Auto Cleaning)
    2. สั่งให้เครื่องหยุดทำงานชั่วคราวหรือทำงานต่อ (Pause / Continue Cleaning)
    3. สั่งให้เครื่องกลับแท่นชาร์จ (Back to Charge Base – Recharge)
    4. ปรับระดับความแรงของพัดลมดูดฝุ่น (Change Vacuum Power Level)
      1. โหมดประหยัดพลังงาน (ECO Mode) – ดูดเบา
      2. โหมดธรรมดา (Normal Mode) – ดูดปกติ
      3. โหมดเทอร์โบ (Turbo Mode) – ดูดแรง
    5. ความสามารถเสริมพิเศษ (Special Features)
      1. โหมดทำความสะอาดเฉพาะพื้นที่ (Area Cleaning Mode)
      2. โหมดทำความสะอาดเฉพาะจุด (Spot Cleaning Mode) (วิ่งทำความสะอาดภายในกรอบ พื้นที่สี่เหลี่ยมจตุรัส 2 x 2 เมตร หรือ 4 ตารางเมตร)
      3. โหมดทำความสะอาดที่เน้นการถูพื้น (Mopping Mode)
      4. การสร้างกำแพงจำลอง (Virtual Wall)
      5. โหมดควบคุมทิศทางเครื่องด้วยตัวเอง (Manual Control Mode)
      6. โหมดทำความสะอาดแบบเลาะขอบกำแพง (Corner Mode) (วิ่งเลาะขอบ ชิดขวาอย่างเดียว)
      7. โหมดทำความสะอาดซ้ำ 2 รอบ (Twice Cleaning Mode) (ใช้เวลานานขึ้น แต่ก็สะอาดขึ้นด้วย)
  2. การดูสถานะของตัวเครื่อง (Robot Status)
    1. ดูสถานะปัจจุบันของตัวเครื่อง (Robot Status) ได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ อาทิ
      1. กำลังทำงาน (Working)
      2. กำลังกลับแท่นชาร์จ (Recharge)
      3. ชาร์จแบตเตอรี่เสร็จสิ้น (Charge Completed)
    2. ขนาดพื้นที่ที่ทำความสะอาดไปแล้ว (Cleaned Area) (หน่วยเป็นตารางเมตร – m2)
    3. เวลาที่ใช้ในการทำความสะอาด (Cleaned Time) (หน่วยเป็นนาที – Min)
    4. ดูแผนที่การทำความสะอาดแบบสดๆ (Real-time Cleaning Map) เพื่อดูว่าเครื่องทำงานครบทั่วทั้งพื้นที่ห้องแล้วหรือยัง และ ตรวจสอบรูปแบบการทำความสะอาดว่าทำงานอยู่ในโหมดใด นอกจากนี้ยังมีการบอก จำนวนตารางเมตร ที่เครื่องทำความสะอาดไปแล้ว
    5. แจ้งบอกตำแหน่งปัจจุบันของตัวเครื่องด้วยเสียงผ่านแอปพลิเคชัน (Location)
  3. สามารถตั้งเวลาทำความสะอาด (Cleaning Reservation) ได้แบบยืดหยุ่น เช่น วันนี้ทำ พรุ่งนี้ไม่ทำ หรือ วันนี้ทำเวลานี้ พรุ่งนี้ทำอีกเวลานึง นอกจากนี้แล้ว มันยังสามารถตั้งเวลาทำความสะอาดต่อวันได้วันละหลายครั้ง (กี่ครั้งก็ได้)
  4. ดูประวัติการทำความสะอาดย้อนหลัง (Cleaning Record)
    1. ดูขนาดพื้นที่ที่ทำความสะอาด และเวลาที่ใช้ในการทำความสะอาดแต่ละครั้ง (Cleaned Area and Time)
    2. ดูแผนที่การทำความสะอาดในแต่ละครั้งได้หมด ว่าจุดไหนวิ่งเข้าไปหรือไม่ได้วิ่งเข้าไป (Cleaned Map)
    3. ลบประวัติการทำความสะอาดย้อนหลัง (Delete Cleaning Record)
  5. การตั้งค่า (Setting)
    1. เปลี่ยนรหัสผ่าน (Change Password)
    2. เปลี่ยนภาษาภายในแอป (Change Language) (ไม่มีภาษาไทย)
    3. การจัดการอุปกรณ์ (Device Management)
      1. เปลี่ยนชื่อเครื่อง (Change Device Nickname)
      2. ดูหมายเลขจำเพาะของเครื่อง  (Device ID)
      3. ปรับเวลาให้ตรงกับปัจจุบัน (Synchronize Time)
      4. การงดทำความสะอาดในช่วงเวลาพักผ่อน คือ 22:00 ถึง 07:00 น. (Quite)
      5. เปิดปิดการแจ้งสถานะเครื่องด้วยเสียง (Voice Prompt)
      6. ปรับระดับความดังของเสียงแจ้งเตือน (Volume Control)
      7. เลือกอุปกรณ์ควบคุมตัวอื่น (Device Selection)
      8. การสอบเทียบกับค่ามาตรฐาน (ZeroCalibration)
      9. การอัพเกรดเฟิร์มแวร์ในเครื่อง (Firmware Upgrade) (สามารถอัพเดทผ่านแอปฯ นี้ได้เลย)
    4. การตั้งค่าเครือข่าย (Network Configuration)
    5. การสนับสนุนทางเทคนิค (Technical Support)
    6. เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ (About Software)
  6. การช่วยเหลือ (Help) : รวมคำถามที่ถามบ่อย (FAQs) ไว้ในนี้

หมายเหตุ : ความสามารถต่างๆ ของแอปพลิเคชันนี้ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ได้ตลอดเวลา เนื่องจากมันมีการพัฒนาและอัพเดทอย่างต่อเนื่องจากทางผู้พัฒนา

รูปประกอบความสามารถของ การใช้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm ผ่านแอปพลิเคชัน Robotmaker

การใช้งานทั่วไป (General Usage)

การตั้งค่า และดูสถิติต่างๆ (Setting and Usage Statistics)

ความหมายของไฟแสดงสถานะที่ปุ่มบนแผงควบคุม

นอกจากที่เครื่องนี้จะมีการแจ้งสถานะด้วยเสียง (Voice Prompt) แล้ว ก็ยังมีการแจ้งสถานะด้วยไฟแสดงสถานะที่ปุ่มบนแผงควบคุมด้วย ความหมายก็มีดังต่อไปนี้

  1. ไฟสีน้ำเงินสว่างค้าง : สถานะปกติ
  2. ไฟสีน้ำเงินกระพริบ: อยู่ในโหมดตั้งค่าเครือข่าย (Network Configuration Mode)
  3. ไฟสีน้ำเงินกระพริบห่างๆ : กำลังเปิดเครื่อง หรือกำลังอัพเกรดเฟิร์มแวร์
  4. ไฟสีเหลืองกระพริบ : กำลังชาร์จไฟ หรือแบตเตอรี่ใกล้หมด
  5. ไฟสีเหลืองกระพริบห่างๆ : กำลังชาร์จไฟ
  6. ไฟสีแดงกระพริบรัวๆ : เครื่องมีความผิดปกติ (โปรดฟังเสียงพูดจากเครื่องในรายละเอียด)

คำถามที่ต้องอยากรู้ ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm

1. ฝุ่นที่ได้มาจากการดูด 1 ครั้ง มีปริมาณมากน้อยแค่ไหน ?

AUTOBOT Storm Dustbin After Used
ปริมาณฝุ่นละอองภายในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ที่ถูกดูดสะสมมา 2 วันติดต่อกัน

ภาพที่เห็นด้านล่าง คือปริมาณฝุ่นที่สะสมเอาไว้ในการดูด 2 ครั้ง (ดูด 2 วันติดต่อกัน) ถ้าดึงเอาแผ่นกรองอากาศ HEPA ออกมา และจะพบฝุ่นถูดอัดติดอยู่กับแผ่นกรองชั้นต้น ด้านใน ทั้งฝุ่นขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ (เส้นผมต่างๆ) ก็ถูกดูดเข้ามาด้วยเช่นกัน

2. การถูพื้นแบบเปียกเป็นอย่างไร ?

AUTOBOT Storm Working with Mopping Function
AUTOBOT Storm ขณะติดตั้งถังน้ำ และผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ ที่ท้ายเครื่อง

เครื่องนี้มีการกระจายน้ำจากถังน้ำลงบนพื้นอย่างเหมาะสม จากช่องระบายน้ำ 2 จุดอย่างช้าๆ เพื่อไม่ให้มันเปียกแฉะจนเกินไป และด้วยความที่เครื่องใหญ่ ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ก็จะมีขนาดใหญ่ (หน้ากว้างสุดประมาณ 1 ฟุต) ส่งผลให้มีหน้าสัมผ้สพื้นที่กว้างตามไปด้วย

นอกจากนี้แล้วเครื่องนี้ยังมี โหมดทำความสะอาดที่เน้นการถูพื้น (Mopping) ที่สามารถเลือกใช้ได้จากแอป Robotmaker ได้เลย มันจะทำให้รูปแบบการวิ่งทำความสะอาดเปลี่ยนไป โดยจะเน้นการหมุนตัว พลิกตัว ไปมาให้มากขึ้นแทนการวิ่งเป็นเส้นตรง เพื่อให้ผ้าม็อบฯ ได้สัมผัสพื้นในจุดๆ เดิมมากขึ้น ส่งผลให้คราบสกปรกที่ติดพื้นต่างๆ หลุดออกง่ายขึ้นนั่นเอง

3. ทำไมเครื่อง AUTOBOT Storm นี้มีแปรงกวาดข้างแค่ฝั่งเดียว ?

ประโยชน์ของการมีแปรงกวาดข้างคือใช้ปัดฝุ่นที่อยู่รอบๆ เครื่องเข้ามาในรัศมีทำการของแปรงกวาดหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ่นยนต์ดูดฝุ่นทรงกลม ที่จะมีจุดบอดอยู่มุมซ้ายและขวาของเครื่อง

แต่เนื่องจากเครื่องนี้ถูกโปรแกรมให้วิ่งทำงานด้วยการวิ่งชิดขอบกำแพงด้านขวาตลอด ดังนั้นการเข้าขอบมุมกำแพง หรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ จะเข้าทางด้านขวาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีแปรงกวาดข้าง 2 ฝั่งนั่นเอง

4. ขณะที่เครื่องกำลังทำงาน มีเสียงดังมากน้อยแค่ไหน ?

AUTOBOT Storm Soundtest Turbo
ระดับเสียงเครื่องขณะทำงาน ในโหมดเทอร์โบ (Turbo Mode)

ส่วนนี้จะเป็นการวัดระดับเสียงด้วยแอปพลิเคชัน Sound Meter ที่ใช้งานบนระบบปฏิบัติการ iOS (ใช้สำหรับ iPhone หรือ iPad) เพื่อวัดระดับเสียงของ AUTOBOT Storm ขณะกำลังทำงานในทุกระดับความแรง ว่าเป็นอย่างไร มาดูกันเลย

  1. ECO Mode (โหมดประหยัดพลังงาน) : 56 เดซิเบล
  2. Normal Mode (โหมดปกติ) : 61 เดซิเบล
  3. Turbo Mode (โหมดเทอร์โบ) : 66 เดซิเบล

ข้อมูลข้างบนเป็นการตรวจรวัดคร่าวๆ ผ่านแอปพลิเคชัน ดังนั้นจึงไม่ได้แม่นเป๊ะ ดังนั้นค่าอาจจะมีการคลาดเคลื่อนบวกลบ (+/-) ได้นิดหน่อย แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะ ในแต่ละระดับความแรงของการดูดฝุ่น ระดับเสียงจะต่างกันอยู่ที่ประมาณ 5 เดซิเบล (dB)

คำแนะนำ : การเปิดใช้งานในโหมดประหยัดพลังงาน ก็เพียงพอต่อการใช้งาน AUTOBOT Storm เป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปิดแรง ไม่เปลืองพลังงาน และเสียงเบา

5. ถ้าหากว่าใช้เครื่องทุกวัน วันละครั้ง ค่าไฟต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ?

AUTOBOT Storm Power Consumption when Charging
อัตราการกินไฟ ขณะเครื่อง AUTOBOT Storm กำลังชาร์จไฟ (Charging)

ใช้เครื่องทดสอบอัตราการกินไฟดิจิตอล (Digital Power Consumption Meter) ในการวัดอัตราการกินไฟ ขณะกำลังชาร์จไฟ และชาร์จเสร็จแล้วแต่เสียบปลั๊กไฟค้างเอาไว้ เหมือนกับที่เคยทดสอบกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวอื่นๆ

สถานการณ์
(Situation)
การกินไฟ
(Power Consumption)
การคำนวณค่าไฟ
(Power Consumption Calculation)
ค่าไฟ / เดือน
(Electricity Charge / Month)
1. ขณะไฟยังไม่เต็มแบตเตอรี่
(When Charging)
≈ 24.3 วัตต์ (24.3 วัตต์* x 2 ชั่วโมง** x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต***) / 1,000 7.29 บาท
2. ขณะไฟเต็มแบตเตอรี่แล้ว
(Fully Charged)
≈ 6.5 วัตต์ (6.5 วัตต์ x 21 ชั่วโมง** x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต***) / 1,000 20.47 บาท

 

รวมทั้งสิ้นค่าไฟของเครื่องนี้ประมาณ 27.76 บาท ต่อเดือน

หมายเหตุ* : ตัวเลข 24.3 วัตต์ (Watts) นี้ เป็นจำนวนวัตต์แรกเริ่ม เมื่อชาร์จไฟ แต่พอชาร์จไปได้สักพัก จำนวนวัตต์ขณะชาร์จก็จะลดลงไปเรื่อยๆ (ไม่ได้อยู่นิ่งคงที่ 24.3 วัตต์ ไปแบบนี้ตลอด 2 ชั่วโมง)

แต่ว่าเราก็ยังคงใช้ค่านี้คำนวณค่าไฟตลอดการชาร์จ 2 ชั่วโมง (เอาจริงๆ ก็ไม่ถึง 2 ชั่วโมงด้วยซ้ำไป ประมาณชั่วโมงกว่าๆ) เพื่อเป็นการคำนวณค่าสูงสุด ดังนั้นค่าไฟจะถูกกว่านี้อีกแน่นอน สาเหตุที่คำนวณแบบนี้เพราะคำนวณสูงเอาไว้ก่อนจะดีกว่า

หมายเหตุ** : ประเมินจากสถานการณ์ ถ้าหากเครื่องทำงานจนแบตเตอรี่เกือบหมดเกลี้ยง จะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. ระยะเวลาการชาร์จไฟสูงสุดประมาณ์ : 2 ชั่วโมง (ต่อครั้ง ต่อวัน)
  2. ระยะเวลาที่เหลือขณะจอดที่แท่นชาร์จเฉยๆ : 21 ชั่วโมง (ต่อวัน)
  3. ระยะเวลาที่เครื่องออกไปทำงาน : 1 ชั่วโมง (ต่อวัน) (ไม่ถูกนำไปคำนวณ เพราะไม่ได้จอดอยู่ที่แท่นชาร์จ)

หมายเหตุ*** : คุณสามารถเปลี่ยน ค่าไฟต่อยูนิต (ในตัวอย่างนี้คิด 5 บาทต่อยูนิต – ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง) ให้เป็นตามที่จ่ายจริง เพราะที่พักอาศัยในแต่ละที่อาจจะคิดไม่เท่ากัน

6. มีระยะเวลาการรับประกัน ยาวนานแค่ไหน?

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm มีการรับประกันในส่วนของอุปกรณ์ภายในตัวเครื่องเป็นระยะเวลา 1 ปี หลังจากหมดช่วงระยะประกันแล้วสามารถ ติดต่อสั่งซื้ออุปกรณ์อะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆ ได้ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ของผู้จัดจำหน่ายได้เลย

โดยลูกค้าที่สั่งซื้อไปใช้งานแล้ว ถ้าหากเครื่องมีปัญหา ก็สามารถติดต่อแผนกบริการหลังการขาย (After Service Support Team) ได้โดยตรงเลยที่

  • Hotline (สายด่วน) : 0-2215-2577
  • LINE ID (ไลน์ไอดี) : @autobot

7. ติดต่อสั่งซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm ได้ที่ไหน ?

คุณสามารถสั่งซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm ได้ผ่านทางหลายช่องทาง ถ้าไปซื้อหน้าร้านก็ เช่นที่ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ทุกสาขา และ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในบางสาขา อาทิ เซ็นทรัลพระราม 9 เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ ฯลฯ หรือจะโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถามก่อนได้ที่เบอร์โทรศัพท์ ด้านล่างนี้เลย

  • Telephone No (เบอร์โทรศัพท์) : 0-2215-2577
  • Website (เว็บไซต์) : http://www.autobotvacuum.com/
  • Line ID (ไลน์ไอดี) : @autobot
  • Facebook Page (เพจเฟสบุ๊ค) : robotmaker (โรบอทเมคเกอร์) ตามกรอบด้านล่าง

บทสรุปการใช้งาน ข้อดี ข้อเสีย หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm

ข้อดี 🙂

  • การทำความสะอาดค่อนข้างครอบคลุมทั่วทั้งอาณาบริเวณ มีความแม่นยำสูง ด้วยความที่มันนำทางด้วยระบบเลเซอร์ หรือ LiDAR 360° นั่นเอง
  • วัสดุที่ใช้ทั้งตัวเครื่อง แท่นชาร์จ และชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ มีความแข็งแรงสูง ไม่ก๊องแก๊ง
  • การนำเอากล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ออกมาทำความสะอาด ถือว่าง่ายมาก แค่นำฝาปิดเครื่องที่ถอดออกได้ที่ยึดด้วยแม่เหล็กออกมา จับหูหิ้ว แล้วดึงขึ้นมาตรงๆ ได้เลย
  • จุดสัมผัสแท่นชาร์จ กับแบตเตอรี่คือชุดเดียวกัน เวลาเปลี่ยนก็สามารถบีบสลักล็อคทั้ง 2 ฝั่ง แล้วดึงขึ้นมาทั้งก้อนได้เลย โดยไม่ต้องไขน๊อต
  • หากที่บ้านไม่มี Wi-Fi และไม่ได้ต่ออินเทอร์เน็ต ก็ยังสามารถสั่งงานเครื่องผ่านปุ่มบนแผงควบคุมบนตัวเครื่องได้เช่นกัน
  • ความสามารถของแอปพลิเคชันมีมากมาย ลูกเล่นเพียบจริงๆ
  • มีโหมดทำความสะอาดที่เน้นการถูพื้น (Mopping) ที่จะเน้นการหมุนพลิกตัวไปมา เพื่อให้ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ ได้สัมผัสโดนพื้นในจุดๆ เดิมมากขึ้น ช่วยขจัดคราบสกปรกบนพื้นให้หลุดออกง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ถูพื้นแบบเปียกก็ได้ ถูพื้นแบบแห้งก็ดี
  • การเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน กับตัวเครื่องไม่ซับซ้อนอะไรมากมาย แต่ถ้าอ่านรีวิว Thanop.com แล้วจะเข้าใจแน่นอน 🙂
  • ราคาหมื่นกลางๆ กับความสามารถระดับนี้ถือว่าคุ้มมากๆ

ข้อเสีย 🙁

  • มีแปรงกวาดข้างแค่ฝั่งขวาเดียว แม้ว่าตัวเครื่องจะวิ่งชิดขอบทางฝั่งขวาฝั่งเดียวอยู่แล้ว แต่ก็ยังแอบรู้สึกว่ามี 2 ฝั่งก็ยังดีกว่า (แค่ความเห็นส่วนตัวเท่านั้นนะครับ)
  • ตัวเครื่องค่อนข้างสูง เพราะว่ามันมีโดมเรเซอร์เรดาร์ (ถือเป็นเรื่องปกติ ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ใช้ระบบเลเซอร์วัดระยะทาง) จึงอาจจะมุดลอดใต้เฟอร์นิเจอร์อะไรต่างๆ ได้ไม่ดีพอ แต่ก็แลกมาด้วยความแม่นยำที่สูงมาก
ทบทวนภาพรวม
ความสะอาดการดูดฝุ่น
10
ความสะอาดการถูพื้น
8
การดูดทั่วทั้งบริเวณในห้อง
10
การเอาตัวรอดจากอุปสรรค กลับแท่นชาร์จเอง
8
การดูแลรักษา ทำความสะอาด
8
ความหลากหลายของอุปกรณ์เสริม
8
ความสะดวก และ ง่ายต่อการใช้งาน
10
ความสามารถของแอพพลิเคชั่น
10
ความสะดวก และ ง่ายของการใช้แอพพลิเคชั่น
9
ความคุ้มค่าเทียบกับราคา
10
ความพึงพอใจโดยรวม
10
บทความก่อนหน้านี้Home Dishwasher เครื่องล้างจาน อบจาน พร้อมฆ่าเชื้อโรค แถมล้างผักผลไม้ก็ได้ ไม่ต้องติดตั้ง
บทความถัดไปNeato Botvac D7 Connected นำทางด้วย Laser กั้นขอบเขตผ่าน App รองรับ SmartHome
Thanop Somprasong
Thanop.com Founder + Thaiware.com Co-Founder + Business Director, Cloud Business Co.,Ltd. + Committee Thai Webmaster Association
autobot-storm-reviewหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น AUTOBOT Storm จัดเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นราคาถูก ที่มีความชาญฉลาดเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบการนำทางด้วยเลเซอร์วัดระยะทาง LIDAR 360 มีเซ็นเซอร์แท่นชาร์จช่วยให้การวิ่งกลับแท่นชาร์จเป็นไปด้วยความแม่นยำ และยังมีเซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่นถึง 4 จุด ที่ทำให้คุณหายห่วงเรื่องการวิ่งตกบันได ไปได้เลย นอกจากนี้แล้วมันยังสามารถสั่งงานด้วยแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย Wi-Fi ได้อีกด้วย <br /><br /> พูดถึงคุณสมบัติของแอพพลิเคชั่น Robotmaker จัดว่าให้มาเต็มแม็กมากๆ เช่นโหมดการทำความสะอาดเฉพาะพื้นที่ (Area Clean) เฉพาะจุด (Spot Clean) เลาะขอบมุมกำแพงอย่างเดียว (Corner Clean) รวมไปถึงการขีดเส้นกั้นเป็นเหมือนกำแพงจำลอง ได้ผ่านแอพพลิเคชั่น (Virtual on App) โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมใดๆ มาวางบนพื้นจริงๆ <br /><br /> นอกจากนี้ ถ้าจะบอกว่ามีถังน้ำพร้อมผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์มาให้ คงจะดูเป็นเรื่องธรรมดาไปหน่อย เพราะเครื่องนี้มี โหมดทำความสะอาดที่เน้นการถูพื้น (Mopping) อย่างเดียว ที่จะปรับเปลี่ยนท่วงท่าของการวิ่งทำความสะอาดให้โดนพื้นในแต่ละจุดให้นานขึ้น เป็นต้น <br /><br /> ด้านอุปกรณ์เสริม จัดว่าให้มาครบครัน ทั้งแปรงกวาดข้าง (มีสำรองให้ 1 แปรง) แปรงทำความสะอาดอเนกประสงค์ แต่ไม่มีรีโมทคอนโทรลมาให้ (เพราะควบคุมผ่านแอพฯ ทั้งหมด) <br /><br /> การวิ่งทำงานเครื่องจัดว่าทำงานแม่นยำ วิ่งครบทั่วทั้งห้อง ทุกห้อง (ที่สามารถเข้าถึงได้) แต่มีข้อแม้ว่าเราต้องจัดข้าวของภายในห้องของเรา ให้เอื้ออำนวยต่อการวิ่งทำงานของเครื่องด้วยเช่นกัน ถ้าผ่านการใช้งานไปสักระยะ ตัวเครื่องอาจมีรอยถลอกบ้าง แต่ก็สามารถเช็ดออกได้ง่าย ฝุ่นละอองในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ก็สามารถนำไปทิ้ง และทำความสะอาดง่ายเช่นกัน <br /><br /> โดยรวม AUTOBOT Storm ถือเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ที่ความสามารถมาเต็มมากๆ ในราคาเพียง หมื่นกลางๆ (เทียบเท่าหุ่นยนต์ดูดฝุ่นราคาเหยียบๆ 3 หมื่น) ใครมีงบระดับนี้ แนะนำเลยครับ ...

4 ความคิดเห็น

  1. สอบถามเพิ่มเติมครับ จากที่ใช้งานแปรงปัดหลักที่ดูดฝุ่น เส้นผมฟันติดแปรงมากน้อยแค่ไหนครับ

    • ถ้าเส้นผมยาวๆ (ของผู้หญิง) จะติดอยู่เหมือนกันครับ แต่ถ้าเส้นผมสั้นๆ ไม่ยาวมาก ก็จะถูกดูดเข้าไปภายในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ครับ

  2. อยากทราบว่า Autobot เป็น brand ของประเทศ และผลิตในประเทศอะไรครับ

    • เป็นแบรนด์ของประเทศไทยครับ โดยสินค้าเป็นแบบ OEM นำเข้ามาจากต่างประเทศครับ หลักๆ ก็มีของประเทศจีน และเกาหลี ครับผม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้