← กลับไปอ่านหน้า 1 (Previous Page)

สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง หุ่นยนต์เช็ดกระจก GlassBot W110S

และเมื่อได้ ศึกษา และ ทำความเข้าใจ พร้อมทั้ง เห็นอุปกรณ์ ที่ทางผู้ผลิตเขาได้ ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คราวนี้ลองมาสำรวจ แบบเจาะลึก ลงไปที่ ตัวเครื่องหุ่นยนต์เช็ดกระจก ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ ของรีวิวฉบับนี้กันดูบ้าง ว่าแต่ละด้าน มีจุดอะไร จุดไหน ที่น่าสนใจกันบ้าง

ด้านบน หุ่นยนต์เช็ดกระจก GlassBot W110S

มาดูส่วนประกอบด้านบนของมันกันดูก่อนว่ามีอะไรน่าสนใจกันบ้าง ตามรูปประกอบด้านล่างกันเลย

GlassBot W110S Component Top
ส่วนประกอบด้านบน ของตัวเครื่อง หุ่นยนต์เช็ดกระจก GlassBot W110S
  1. Hooking Hole (ช่องเกี่ยวเชือกนิรภัย) : ช่องเกี่ยวเชือกนิรภัย (Safety Rope) มีมาให้อยู่ 2 ฝั่งซ้ายขวา สามารถเลือกเอาได้เลยว่าต้องการจะเสียบเข้าทางฝั่งไหน
  2. DC Power Jack (จุดเสียบสายไฟ) : หรืออาจจะเรียกว่า “Adapter Jack” มันเป็น ช่องเสียบสายไฟที่ต่อพ่วง ซึ่งกระแสไฟจะถูกลำเลียงผ่านสายไฟขนาดความยาว 6.2 เมตร มาจากอะแดปเตอร์ ส่งตรงถึงตัวเครื่อง
  3. Power Switch (ปุ่มเปิดปิดเครื่อง) : ปุ่มเปิดพัดลมดูดอากาศ เพื่อสร้าง สภาวะสุญญากาศ ให้ตัวเครื่องใช้แรงสุญญากาศยึดเกาะติดกับ กระจก กำแพง หรือ ผนัง ต่างๆ ได้อย่างเหนียวหนึบ ไม่มีตกหล่น
  4. Air Outlet and Carrying Handle (ช่องอากาศออก และ หูหิ้ว) : ช่องอากาศที่ปล่อยอากาศ ถูกดูดเข้ามาจาก พัดลมดูดอากาศ (Vacuum Motor) เพื่อสร้างสภาวะสุญญากาศ ให้เครื่องยึดติดหนึบกับกระจก กำแพง ผนัง ต่างๆ และในขณะเดียวกัน ช่องนี้ก็สามารถใช้เป็นหูหิ้ว เพื่อยกตัวเครื่องไปไหนมาไหน ได้อย่างสะดวกสบายเช่นกัน (จริงๆ ทางผู้ผลิตไม่ได้บอกหรอกว่าเป็นหูหิ้ว แต่ผมใช้มันไปแล้วโดยปริยาย)
  5. Touch-On or START Switch (ปุ่มเริ่มต้นการทำงาน หรือ ปุ่มสตาร์ท) : ใช้กดเพื่อสั่งให้เครื่องเริ่มต้นทำความสะอาดกระจก ในโหมดอัตโนมัติ
  6. LED Indicator (ไฟแสดงสถานะการทำงานตัวเครื่อง) : มีจำนวนทั้งหมด 4 ดวง ซึ่งจะบอกสถานะต่างๆ มากมาย
  7. Buzzer (ลำโพงส่งเสียงสัญญาณแจ้งเตือน) : ลำโพงจะส่งเสียงบี๊บๆ (Beep Sound) ออกมาจากตัวเครื่อง ในกรณีที่เครื่องต้องการแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้งาน ต่างๆ เช่นในกรณีที่ ไม่มีกระแสไฟฟ้า จากไฟบ้านเข้าในข้างในตัวเครื่อง และ อื่นๆ อีกมากมาย แบบนี้เป็นต้น

ด้านล่าง หุ่นยนต์เช็ดกระจก GlassBot W110S

GlassBot W110S Component Underside
ส่วนประกอบด้านล่าง ของตัวเครื่อง หุ่นยนต์เช็ดกระจก GlassBot W110S

ในส่วนของด้านล่าง ของตัวเครื่องนั้น เมื่อหงายท้องมันขึ้นมาดูแล้ว จะเห็นว่าไม่มีอะไรมากมาย และ ซับซ้อนเลย มีแค่วงกลมที่เป็น พลาสติก 2 วง ซึ่งทางผู้ผลิตเขาเรียกว่า “Cleaning Wheel” หรือ วงล้อทำความสะอาด ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าไมโครไฟเบอร์เช็ดกระจก 2 ผืน ที่จะคอยหมุน สลับไปสลับมา 2 ข้าง เพื่อใช้ทำความสะอาดกระจกให้สะอาดใส และ กำแพง ผนัง ต่างๆ สะอาด นั่นเอง

รู้จักกับ รีโมทคอนโทรล หุ่นยนต์เช็ดกระจก GlassBot

GlassBot W110S Remote Control
รีโมทคอนโทรล (Remote Control) ควบคุม และ สั่งงาน เครื่องนี้ได้ ผ่านอุปกรณ์นี้เลย

อีกหนึ่งอุปกรณ์ ที่สำคัญมากๆ ของ หุ่นยนต์เช็ดกระจกตัวนี้ นั่นก็คือ รีโมทคอนโทรล (Remote Control) นั่นเอง เพราะการควบคุมและสั่งงานเครื่อง ทั้งหมดจะอยู่ที่นี่ โดยในกล่องผลิตภัณฑ์ เขาให้มา 1 ชุด พร้อมกับ ถ่านแบตเตอรี่ แบบ CR2032 ที่แถมมาให้ในกล่อง (อย่างของของผมได้ยี่ห้อ Panasonic มา)

GlassBot W110S Remote Control Battery
รีโมทคอนโทรล ของ หุ่นยนต์เช็ดกระจก GlassBot W110S ใช้ถ่านแบตเตอรี่ แบบ CR2032 (แถมมาให้ 1 ชุดในกล่อง)

คุณสามารถใช้รีโมทคอนโทรลในการสั่งงาน เปลี่ยนโหมดต่างๆ ได้ตามต้องการ โดยจะสังเกตเห็น 3 ปุ่มด้านบน นั่นคือ โหมดอัตโนมัติ 3 โหมด ที่ได้กล่าวรายละเอียดมาแล้วด้านบน (ดูรายละเอียดโหมดอัตโนมัติ กดตรงนี้) ถัดลงมาจะเป็นลูกศร ขึ้น ↑ ลง ↓ ซ้าย ← ขวา → เอาไว้ใช้ควบคุมทิศทาง ของตัวเครื่องด้วยตัวเอง

นอกจากนี้แล้วก็ยังสามารถสั่งเครื่องหยุดทำงาน สั่งทำงานต่อ ก็ได้ ผ่านทางรีโมทคอนโทรล ชุดนี้เช่นเดียวกัน ถือว่ามีความสะดวกมากๆ สำหรับผู้ที่อาจจะยังใช้สมาร์ทโฟน เพื่อเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน ไม่เป็น หรือ ไม่ถนัด

คำเตือน และ ข้อควรระวัง ก่อนเริ่มต้นใช้งาน

GlassBot W110S Side Warning Message
ข้อความแจ้งเตือน ก่อนเริ่มใช้งาน ของ หุ่นยนต์เช็ดกระจก GlassBot W110S

เนื่องจากอุปกรณ์ชิ้นนี้ เป็นอุปกรณ์ที่ต้องอาศัยการยึดเกาะกระจก กำแพง ผนัง ด้วยการสร้าง สภาวะสุญญากาศ ดังนั้น ถ้าหากตัวเครื่องสูญเสียแรงยึดเกาะ และ ไม่มีสภาวะสุญญากาศ ขณะที่กำลังทำงานเมื่อไหร่ จะทำให้เครื่องตกหล่นพื้น อาจแตก และ เสียหายได้ทันที

ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหาย ที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเครื่อง จึงต้องมีคำเตือน ข้อห้าม และ ข้อควรระวังต่างๆ มากมาย ทั้งข้างกล่อง ในคู่มือการใช้งาน หรือแม้แต่ตัวเครื่องหุ่นยนต์เช็ดกระจกเอง ที่ทางผู้ผลิตเขาได้แจ้งมา ซึ่งทั้งหมดนี้ ผมได้สรุปรายละเอียดเป็นภาษาไทย เรียบร้อยแล้ว ดังต่อไปนี้

  1. ยึดเชือกนิรภัย กับอุปกรณ์หรือสิ่งของที่ติดอยู่กับที่ (Fixture) เพื่อความปลอดภัยทุกครั้ง ก่อนการใช้งาน
  2. ตรวจสอบเชือกนิรภัยว่ามีการชำรุดเสียหายหรือปมเงื่อนหลุดออกจากตัวเครื่องหรือไม่ ก่อนการใช้งาน
  3. จัดเตรียมพื้นที่ให้เรียบร้อย และ พื้นที่ด้านล่าง ชั้นล่างด้วยเช่นกัน
  4. ชาร์จ อุปกรณ์จ่ายไฟสำรอง (UPS) ให้เต็มความจุเสียก่อน โดยสามารถสังเกตจาก ไฟสีเขียว แสดงที่ตัวเครื่อง
  5. อย่าเปิดใช้งานเครื่องขณะฝนกำลังตก หรือ เปียกชื้น เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงาน และ การยึดเกาะลดลง
  6. เปิดเครื่องก่อนเริ่มต้นการใช้งานทุกครั้ง เพื่อสร้างสภาวะสุญญากาศให้ยึดเกาะพื้นผิว
  7. ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าตัวเครื่องสามารถยึดเกาะกับพื้นผิวกระจก กำแพง ผนัง ก่อนปล่อยมือออกอย่างช้าๆ
  8. ก่อนจะปิดเครื่อง ให้เอามือข้างนึงจับที่ตัวเครื่องเสียก่อน เพื่อความปลอดภัย และ ป้องกันเครื่องตกหล่นพื้น
  9. ห้ามใช้งานกับกระจกที่ไม่มีขอบ หรือ ไร้ขอบ (Frameless Glass) เด็ดขาด !
  10. ตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่า ผ้าไมโครไฟเบอร์เช็ดกระจก ได้ถูกใส่เข้าไปใน วงล้อทำความสะอาด เป็นที่เรียบร้อย
  11. ห้ามสเปรย์พ่นหรือเทน้ำ ลงไปบนตัวเครื่อง
  12. หลีกเลี่ยง และ เก็บตัวเครื่องให้พ้นจากมือเด็ก
  13. ห้ามใช้งานบนกระจกที่มีรอยร้าว หรือ กระจกที่ถูกเคลือบด้วยสารต่างๆ เพราะอาจทำให้สารเคลือบเหล่านั้นหลุดได้
  14. เอามือ นิ้ว หรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย ออกจากเครื่องขณะกำลังทำงาน เพื่อป้องกันอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นขณะทำงาน
  15. อย่าใช้งานเครื่องในพื้นที่ที่สามารถติดไฟได้ไง ของเหลวไวไฟ แก๊ส ต่างๆ

เปิดใช้งาน หุ่นยนต์เช็ดกระจก GlassBot W110S

มาถึงช่วงของการเริ่มต้นใช้งาน เจ้าตัวเครื่อง หุ่นยนต์เช็ดกระจก GlassBot W110S กันแล้ว ขอบอกว่า ใช้งานได้ไม่ยาก โดยไม่ต้องตั้งค่าอะไรเลย ก่อนการใช้งาน เพียงแค่เสียบปลั๊ก แล้ว เปิดเครื่องปุ๊บ ก็สามารถเริ่มใช้งานได้ทันที

  1. ก่อนจะเสียบสายของ อะแดปเตอร์แปลงไฟบ้าน เพื่อเปิดเครื่อง ให้นำเอา ผ้าไมโครไฟเบอร์เช็ดกระจก ทรงกลม 2 อัน มาใส่เข้าไปในวงล้อทำความสะอาด (Cleaning Wheel) ทั้ง 2 วง ให้เรียบร้อยเสียก่อน (จะถอดวงล้อทำความสะอาด ออกมาก่อนแล้วค่อยใส่ผ้าก็ได้ หรือ จะใส่ผ้า)

    GlassBot W110S Component Underside Putting
    ใส่ ผ้าไมโครไฟเบอร์เช็ดกระจก (Micro-Fiber Cloth) เข้าไปที่ วงล้อทำความสะอาด (Cleaning Cloth)
  2. ติดตั้งเชือกนิรภัย ให้กับตัวเครื่อง โดย ยึดเชือกนิรภัย เข้ากับ ช่องเกี่ยวเชือกนิรภัย (Hooking Hole) ด้านในด้านหนึ่ง แล้วกระตุก หรือ ขยับเชือกนิรภัยให้แน่น เพื่อให้มั่นใจว่า เชือกนิรภัย ได้ถูกผูกยึดกับเครื่องอย่างแน่นหนาแล้วจริงๆ ส่วนอีกด้าน อาจจะติดยึดตะขอกับราวบันได ราวตากผ้า หรือ อุปกรณ์หรือสิ่งของที่ติดอยู่กับที่ (ที่แข็งแรงพอ)

    ติดตั้งเชือกนิรภัย (Safety Rope) ของ หุ่นยนต์เช็ดกระจก GlassBot W110S กับ อุปกรณ์หรือสิ่งของที่ติดอยู่กับที่ อาทิ ราวตากผ้า ราวบันได ฯลฯ
    ติดตั้งเชือกนิรภัย (Safety Rope) ของ หุ่นยนต์เช็ดกระจก GlassBot W110S กับ อุปกรณ์หรือสิ่งของที่ติดอยู่กับที่ อาทิ ราวตากผ้า ราวบันได ฯลฯ
  3. เสียบ สายอะแดปเตอร์แปลงไฟบ้าน เข้ากับ ช่องเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์ ด้านบนตัวเครื่อง (อย่าเพิ่ง )

    GlassBot W110S Top with Safety Rope and Power Cable
    ขณะติดตั้ง เชือกนิรภัย และ สายอะแดปเตอร์แปลงไฟบ้าน เข้ากับตัวเครื่อง เพื่อเตรียมพร้อมใช้งาน
  4. กดปุ่มเปิด ปุ่มเปิดปิดเครื่อง (Power Switch) ค้างเอาไว้ 3 วินาที แล้วนำไปติดกับกระจก กำแพง หรือ ผนังบ้าน แล้วค่อยๆ ปล่อยมืออกช้าๆ เพื่อดูก่อนว่า พัดลมดูดอากาศ ของตัวเครื่องนั้นได้ สร้างสภาวะสุญญากาศ ให้กับเครื่องในการ ยึดเกาะกับผนัง เป็นที่เรียบร้อยดีแล้วหรือยัง อย่าเอามือออกจากเครื่องทันที แบบพรวดพราด มิเช่นนั้นอาจจะทำให้เครื่องตกหล่น เสียหายได้เช่นกัน

    GlassBot W110S Working with Wall
    กดที่ ปุ่มเปิดปิดเครื่องหลัก ค้างเอาไว้ 3 วินาที เพื่อให้ หุ่นยนต์เช็ดกระจก GlassBot W110S เริ่มเปิดพัดลมดูดอากาศ และ สร้างสภาวะสุญญากาศ เพื่อดูด ให้เครื่องติดหนึบกับกำแพง
  5. ฉีดน้ำยาเช็ดกระจก ลงไปบน ผ้าไมโครไฟเบอร์เช็ดกระจก ที่ถูกติดตั้งอยู่กับเครื่อง ทั้ง 2 ฝั่ง หรือ จะฉีดบนผิวกระจก หรือจะฉีกทั้งบนตัวเครื่อง และ บนผิวกระจก ทั้งคู่เลยก็ได้เช่นกัน
  6. สามารถกดปุ่มสั่งงาน ส่งคำสั่งเครื่อง ได้ผ่าน 2 วิธีคือ
    1. ผ่านรีโมทคอนโทรล ที่ให้มากับตัวเครื่อง
    2. ผ่านแอปพลิเคชัน GlassBot บนมือถือทั้งระบบ Android และ iOS โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ (รายละเอียดวิธีการใช้งาน กดดูที่หัวข้อด้านล่างนี้เลย)
      1. ดาวน์โหลดแอป GlassBot สำหรับ iOS ผ่าน App Store
      2. ดาวน์โหลดแอป GlassBot สำหรับ Android ผ่าน Play Store

วิธีการสั่งงานเครื่องผ่าน แอปพลิเคชั่น GlassBot

ยังมีอีก 1 วิธีการควบคุม นอกจากการสั่งงาน และควบคุมเครื่อง หุ่นยนต์เช็ดกระจก เครื่องนี้ผ่านรีโมทคอนโทรล นั่นก็คือ การสั่งงานเครื่องผ่าน แอปพลิเคชัน ที่มีชื่อว่า “GlassBot” นั่นเอง ซึ่งสนับสนุนทั้ง ระบบปฏิบัติการ iOS และ Android สำหรับใครที่ใช้สมาร์ทโฟน ระบบปฏิบัติการตัวไหนอยู่ ก็สามารถเข้าไปดาวน์โหลด ได้เลยจากลิ้งค์เชื่อมต่อด้านบนนี้ได้เลย ใช้มือถือของคุณสแกนรหัสคิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่อยู่ข้างกล่อง หรือ ในเล่มคู่มือการใช้งานก็ได้เช่นกัน

และ หลังจากที่ดาวน์โหลด App ควบคุมหุ่นยนต์เช็ดกระจก GlassBot เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เปิดแอปฯ ขึ้นมาเลย เพื่อเตรียมพร้อมเริ่มต้นการใช้งาน ลองดูขั้นตอนวิธีการใช้งาน จากรูปหน้าจอ ได้เลย

คำถามที่คุณต้องอยากรู้ (FAQs)

มาถึงช่วงของ คำถามที่ต้องอยากรู้ ผมได้สรุปเอาประเด็นคำถาม ที่เกิดขึ้นในใจก่อนใช้งาน พอหลังใช้งานแล้ว ได้คำตอบมา ก็เอามาแบ่งปันให้ทราบกันครับ เริ่มกันเลย 🙂

1. ระหว่างใช้งานอยู่ ถ้าเกิดไฟดับขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น ?

ภายใน หุ่นยนต์เช็ดกระจก เครื่องนี้มีอุปกรณ์จ่ายไฟสำรอง (UPS) ด้วยแบตเตอรี่ขนาด 500 มิลลิแอมป์ (mAh) ให้คุณได้สามารถใช้งานได้ต่อหลังจากที่ไฟดับ ไปได้อีกประมาณ 10 นาที เป็นอย่างน้อย (อย่างมากสุด 30 นาที)

หากไฟดับ พัดลมดูดอากาศ ที่สร้างสภาวะสุญญากาศ จะทำงานเบาลง แต่ก็ยังไม่สูญเสียแรงยึดเกาะกับกระจก กำแพง ผนัง ต่างๆ แต่ไฟจะมีการแจ้งเตือน พร้อมๆ กัน 2 ช่องทางโดย

  1. ไฟแสดงสถานะการทำงานตัวเครื่อง (LED Indicator) จะเป็นสีแดงกระพริบ
  2. มีเสียงบี๊บ แจ้งเตือนออกมาทาง ลำโพงส่งเสียงสัญญาณแจ้งเตือน (Buzzer)

และถ้าหากว่าไฟมา ตัวเครื่องก็จะกลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่ว่าจะต้องกดสั่งให้เครื่องทำงานใหม่อีกครั้ง จาก รีโมทคอนโทรล หรือ ผ่าน แอปพลิเคชัน GlassBot

2. การแจ้งเตือนสถานะของเครื่อง มีรูปแบบ ?

รูปแบบสถานะ
(Specification)
ความหมาย
(Descriptions)
ไฟสีส้มแสดง
(Orange-LED is On) 
แบตเตอรี่กำลังชาร์จไฟอยู่
(Charging Battery)
ไฟสีเขียวแสดง
(Green-LED is On)
แบตเตอรี่ชาร์จไฟเต็มแล้ว
(Fully Charged Battery)
ไฟสีแดงกระพริบ และ มีเสียงบี๊บดังต่อเนื่อง
(Red-LED Flashing and Beed Sounds)
ไม่มีกระแสไฟฟ้าเข้าตัวเครื่อง
(No Electrical Power)
ไฟสีแดงกระพริบ และ ไฟสีน้ำเงินกระพริบ
(Red-LED and Blue LED Flashing)
เกิดความผิดพลาดขึ้นกับอุปกรณ์
(Hardware Error)
ไฟสีแดงแสดง และ เสียงบี๊บดังครั้งเดียว
(Red-LED and One Time Beep)
สภาวะสุญญากาศต่ำ
(Vacuum Pressure is too Low)
ไฟสีแดงแสดง และ เสียงบี๊บดังครั้งเดียว
(Red-LED and One Time Beep)
เกิดการรั่วไหลของอากาศขณะทำงาน
(Air Leakage while it’s Working)

3. หากเป็นกำแพงที่พื้นผิวไม่เรียบ ตะปุ่มตะป่ํา จะเป็นอย่างไร ?

เครื่องจะไม่ฝืนวิ่งเข้าไปทำงาน ในพื้นที่นั้นต่อ เพราะหากเข้าไป อาจจะทำให้เครื่องสูญเสียสภาวะสุญญากาศ และ ตกหล่นพื้นในที่สุด

4. สามารถใช้งานได้บนพื้นที่ไหนได้บ้าง ?

หุ่นยนต์เช็ดกระจกเครื่องนี้ สามารถทำงาน ได้กับกระจก กำแพง หรือแม้แต่ผนัง ต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ตามรูปประกอบด้านล่าง ที่ผมได้ลองไปทดสอบดูมาแล้ว

5. มีการบำรุงรักษา และ ดูแลเครื่องหุ่นยนต์เช็ดกระจก อย่างไรบ้าง ?

เครื่องนี้มีการบำรุงรักษา ดูแล ที่ง่ายมากๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนเลย เพียงแค่ถอดนำ ผ้าไมโครไฟเบอร์เช็ดกระจก (Micro-Fiber Cleaning Cloth) ทั้ง 2 ออกมาซักล้างทำความสะอาด เหมือนซักผ้าขี้ริ้วตามปกติ แล้วนำกลับเข้าไปใส่ใน วงล้อทำความสะอาด ที่ตัวเครื่องอีกครั้ง ก็เป็นอันเสร็จพิธี

GlassBot W110S Cleaning Cloth Washing
ทำความสะอาด ผ้าไมโครไฟเบอร์เช็ดกระจก หลังจากใช้งาน สังเกตดูว่าน้าดําปี๋ เลยทีเดียว

6. สามารถทำความสะอาดกระจก ที่มีสติ๊กเกอร์ หรือ ติดฟิลม์ ได้หรือไม่ ?

ได้เลย ไม่มีปัญหา แต่ต้องมีเงื่อนไขว่า ตรงขอบสติ๊กเกอร์จะต้องไม่เผยอออกมา หรือแม้แต่ฟิลม์กรองแสง จะต้องไม่มีฟองอากาศเข้าไปอยู่ด้านใน มิเช่นนั้นอาจจะทำให้มันหลุดออกมาทั้งยวงได้เช่นกัน

บทสรุปการใช้งาน หุ่นยนต์เช็ดกระจก GlassBot

หุ่นยนต์เช็ดกระจกตัวนี้ ก็จัดว่าเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีนวัตกรรมล้ำหน้าอยู่พอสมควร หลังจากที่ใช้ทดลองทำความสะอาดกระจกดูแล้ว ก็พบว่ามันก็สะอาดจริงๆ แต่ก็มีข้อจำกัดด้วยความปลอดภัยมากมายเช่นกัน ต้องอ่านคู่มือการใช้งานอย่างละเอียด เพื่อศึกษาวิธีการใช้งาน ศึกษาข้อจำกัดของเครื่อง และ คำเตือนต่างๆ ก่อนเริ่มต้นใช้งาน เอาเป็นว่ามาดูข้อดีข้อเสียกันเลยทีกว่า

ข้อดี 🙂

  • เหมาะสำหรับทำความสะอาดบานกระจก หรือ กำแพงที่คนไม่สามารถปืนออกไปเช็ดได้ อย่างเช่น บานกระจกของหน้าต่างด้านนอก ของ คอนโดมิเนียม เป็นต้น
  • เริ่มต้นใช้งานได้เอง ง่ายๆ เพียงไม่กี่ขั้นตอน และ ไม่ต้องตั้งค่าอะไรมากมาย แต่ว่าจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำในคู่มือการใช้งานอย่างเคร่งครัด
  • สามารถสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน ทั้ง iOS และ Android ด้วยเทคโนโลยีบลูทูธ (Bluetooth) โดยไม่ต้องมีการต่อ Wi-Fi หรือ ใส่รหัส Wi-Fi ให้ยุ่งยาก และยังสามารถสั่งงานได้ง่าย ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน การเชื่อมต่อก็ง่ายทุกครั้ง
  • รีโมทคอนโทรล มีถ่านแบตเตอรี่ขนาด CR2032 มาให้ในกล่องด้วย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีงาม เพราะสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หลายๆ อย่าง ซื้อมาแล้วมักไม่ให้ถ่านแบตเตอรี่มาด้วย ต้องไปหาซื้อเองให้เสียเวลา และ เสียเงินอีก
  • ตัวเครื่องมีน้ำหนักเบา สามารถขนย้ายไปไหนมาไหนสะดวกสบาย หยิบใส่ถุงพลาสติก ไปได้เลย
  • ถ้าหากพัดลมดูดอากาศ ได้สร้างสภาวะสุญญากาศ ให้เครื่องยึดเกาะกระจก กำแพง ผนัง แล้ว ยากที่จะตกหล่น ขนาดเอามือไปดึงออกจากกระจก ยังจะไม่หลุดเลย ต้องออกแรงมากๆ ถึงจะหลุด
  • มีระบบเซฟตี้สำรองมากมาย เพื่อป้องกันการตกหล่น ของตัวเครื่อง จากที่สูงขณะทำงาน เพื่อลดโอกาสเกิดความเสียหายที่มีต่อตัวเครื่องเอง ไม่ว่าจะเป็น
    • มีเชือกนิรภัย (Safety Rope) ที่มีความเหนียว หนา มาให้ผูกติดกับตัวเครื่อง อีกฝั่งจะเป็นตะขอเกี่ยว สามารถนำไปหาที่ยึดเกาะได้เลย รองรับแรงดึงได้สูงสุด 150 Kgf
    • มีอุปกรณ์จ่ายไฟสำรอง (UPS) เป็น แบตเตอรี่ขนาด 500 mAh. มาให้เผื่อกรณีฉุกเฉิน เช่น ไฟดับขณะกำลังทำงาน เพื่อให้เครื่องไม่สูญเสียสภาวะสุญญากาศ และ ยึดเกาะ กระจก กำแพง ผนัง ต่อไปขณะทำงาน ไม่ทำให้กระจกเสียหาย และ ไม่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับตัวบานกระจก ขณะกำลังทำงานมากมาย
  • ไม่ต้องดูแลรักษาอะไรมาก เพราะหลังเสร็จสิ้นการใช้งานก็เพียงแค่ถอดเอา ผ้าไมโครไฟเบอร์ ไปซักทำความสะอาดปกติ แล้วนำมาใช้ใหม่ ได้เลยทันที
  • มีอะไหล่สำรอง (Spare Parts) ต่างๆ มาสำรองให้แบบจัดเต็ม เพียบ ! ใช้งานกันได้แบบสบายๆ เหลือเฟือ
    • Micro-Fiber Cleaning Cloth (ผ้าไมโครไฟเบอร์เช็ดกระจก) : ให้มาสำรองทั้งหมดอีก 6 คู่ (12 ผืน) และถ้าหากรวมที่มีติดเครื่องที่มีอยู่แล้วอีก 1 คู่ รวมทั้งสิ้นเป็น 7 คู่ หรือ (14 ผืน)
    • Cleaning Wheel (วงล้อทำความสะอาด) : ให้มาเผื่อสำรองกรณีเสียหาย แตก อีก 1 คู่ (2 วง) ในกล่อง และถ้าหากรวมที่มีติดเครื่องที่มีอยู่แล้วอีก 1 คู่ รวมทั้งสิ้นเป็น 2 คู่ หรือ (4 วง)

ข้อเสีย 🙁

  • ขณะเครื่องทำงานเสียงค่อนข้างดัง หากพักอาศัยอยู่อยู่บน คอนโดมิเนียม อาจจะต้องใช้งานในเวลากลางวัน เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนชาวบ้าน ห้องข้างๆ
  • ตามขอบมุมฉาก ของกระจก กำแพง หรือ ผนัง อาจจะไม่ได้เข้าไปทำความสะอาด ได้ เพราะเนื่องจากตัวชุด วงล้อทำความสะอาด เป็นวงกลม

← กลับไปอ่านหน้า 1 (Previous Page)

1 ความคิดเห็น

  1. ซื้อมาใช้ครั้งแรก ไฟสีแดงขึ้น ใช้งานไม่ได้ โทรไปทางศูนย์ปรากฏว่าต้องให้ลูกค้าออกค่าส่งเครื่องไปศูนย์เอง บริการหลังการขายแย่มากครับ เครื่องยังใหม่เอี่ยม ใช้งานครั้งแรกก็ใช้ไม่ได้แล้ว ยังเป็นภาระกับลูกค้าอีก

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้