สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iClebo OMEGA

หลังจากที่เราได้เห็นอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีมาให้ในกล่องผลิตภัณฑ์ ในหัวข้อก่อนหน้านี้กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลองมาสำรวจดูที่ตัวไฮไลท์ ที่ถือว่าเป็นพระเอกสำคัญกันดีกว่า นั่นคือตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น นั่นเอง

ส่วนประกอบด้านบน

มาดูกันที่ส่วนประกอบด้านบนของตัวเครื่องกันดูบ้าง ว่ามีอะไรบ้าง ? โดยด้านบนจะเป็นชุดแผงสามารถดูได้จาก ตามหมายเลขที่ระบุเอาไว้ด้านล่างได้เลย

iClebo OMEGA Component Top
ส่วนประกอบด้านบน ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iClebo OMEGA
  1. Front Bumper (กันชนดูดซับแรงกระแทกด้านหน้า) : กันชนหน้าเครื่อง ที่สามารถให้ตัวได้เล็กน้อย จัดเป็นส่วนสำคัญ ที่จะต้องเกิดการประทะ ระหว่างตัวเครื่อง กับ อุปกรณ์ในบ้านต่างๆ พร้อมเซ็นเซอร์ด้านในอีก 4 ชุดหลักๆ ประโยชน์ของมันคือ เพื่อใช้ดูดซับแรงกระแทก ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายระหว่างตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเอง กับ ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน อย่างเช่น เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

    iClebo OMEGA Component Side
    ด้านข้างของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iClebo OMEGA แถบสีทองด้านหน้าเครื่องคือ กันชนดูดซับแรงกระแทก
  2. Mapping Camera (กล้องสร้างแผนที่จำลอง) : กล้องถ่ายวีดีโอ เพื่อสร้างแผนที่จำลอง ที่มี ความไวระดับ 20 เฟรมต่อวินาที (FPS) ของตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เพื่อจดจำว่า พื้นที่ไหนวิ่งไปแล้ว หรือยังไม่ได้วิ่ง ถือได้ว่ามีความแม่นยำสูง ส่งผลให้ตัวเครื่องไม่วิ่งทำงานแบบมั่วๆ ช่วยประหยัดเวลาการทำงาน และ แบตเตอรี่ ไปได้เยอะ
  3. Control Button and Display Screen (ปุ่มควบคุมและหน้าจอแสดงผล) : ปุ่มควบคุมการทำงานของเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ตรงชุดปุ่มควบคุมนี้จะประกอบไปด้วยปุ่มหลักๆ ทั้งหมด 3 ปุ่มด้วยกันได้แก่
    1. Power Button : ปุ่มเปิดปิดเครื่อง
    2. Mode Button : ปุ่มปรับเปลี่ยนโหมด การทำงานดูดฝุ่น ซึ่งมีทั้งหมด 3 โหมด คือ AUTO MAX และ SPOT กดซ้ำเพื่อเปลี่ยนโหมดวนไปเรื่อยๆ ทั้ง 3 โหมด
    3. Start/Stop Button : ปุ่มสั่งเครื่องเริ่มหรือหยุดการทำงานชั่วคราว

    และนอกจากนี้แล้ว ก็ยังมี หน้าจอแสดงผล (Display Screen) ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โหมดที่กำลังใช้งานอยู่ สถานะของแบตเตอรี่ เวลา และ รหัสข้อผิดพลาด (Error Code) ของการทำงานจากตัวเครื่อง (สามารถดูความหมายของรหัสข้อผิดพลาด จาก คู่มือการใช้งาน หรือจาก ด้านในฝาเปิดปิดกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ได้เช่นกัน) ก็จะแสดง ณ จุดนี้เช่นกัน

    iClebo OMEGA Mapping Camera Control Button and Display Screen
    กล้องสร้างแผนที่จำลอง ปุ่มควบคุม และ หน้าจอแสดงผล ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iClebo OMEGA
  4. Dustbin Door (ฝาเปิดปิดกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง) : ที่เก็บกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ขนาด 0.5 ลิตร เปิดได้โดยการกดปุ่มเข้าไปครั้งนึง และ ฝาก็จะกระเด้งเปิดขึ้นมา ผู้ผลิตเขาทำในรูปแบบพลาสติกใส เพื่อให้ดูว่ามีฝุ่นละอองถูกเก็บอยู่ในกล่องมากน้อยเพียงใด เพื่อรอการทำความสะอาดต่อไป และถ้าหากมองทะลุเข้าไป จะเห็นในส่วนของแผ่นตะแกรงสีเหลืองๆ ตรงนั้นคือ แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง (High-Performance Air Filter) กรองอากาศเสีย ไม่ให้กลับออกไปนอกเครื่อง

ส่วนประกอบด้านข้าง และ ด้านหลังเครื่อง

มาดูด้านข้าง กับ ด้านหล้งของเครื่องกันบ้าง ในส่วนของด้านข้างตัวเครื่อง ฝั่งขวามือ จะมี สวิตซ์เปิดปิดหลัก และ ช่องเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์ อยู่ด้านข้างของเครื่อง

iClebo OMEGA Power Switch and Manual Charging Jack
ช่องเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์ (Manual Charging Jack) และ สวิตซ์เปิดปิดหลัก (Power Switch) ที่อยู่ด้านข้างของเครื่อง iClebo OMEGA
  1. Manual Charging Jack (ช่องเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์) : หุ่นยนต์ดูดฝุ่นบางตัวอาจเรียกว่า “Adapter Jack” จัดเป็นออปชั่นเสริมที่ ให้คุณได้สามารถต่อไฟตรงจากอะแดปเตอร์ (Adapter) ที่แปลงไฟบ้าน (AC) มาเป็นไฟที่ใช้กันภายในหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (DC) เผื่อในกรณีที่คุณลืมเอาแท่นชาร์จมา หรือ แท่นชาร์จเสีย ก็สามารถต่อไฟตรงได้เช่นกัน
  2. Power Switch (สวิตซ์เปิดปิดหลัก) : ใช้ตัดวงจรไฟฟ้าระหว่างตัวเครื่อง กับ แบตเตอรี่ ที่อยู่ด้านใน ถ้าใครไม่ได้ใช้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้เป็นระยะเวลานานๆ แนะนำให้กดปุ่มสวิตซ์ ตัวนี้ปิดไปเลยดีกว่า แต่ถ้าใช้เป็นประจำทุกวัน ก็ไม่ควรปิดก็ได้

ขณะที่ด้านหลัง หรือ ด้านท้ายเครื่อง ก็จะมีลักษณะเป็นช่อง ที่เป็นซี่ๆ จำนวนมาก ตรงนั้นเป็นช่องระบายอากาศ จากพัดลมช่วยดูดอากาศ  (Vacuum Fan) ที่ดูดเข้ามาพร้อมกับฝุ่นตรงแปรงกวาดหลัก ปล่อยออกมาตรงจุดนี้ด้วย แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องว่าจะมีฝุ่นละอองปะปนกลับออกมาสู่ห้องด้วย เพราะมันมี แผ่นกรองอากาศ HEPA ช่วยกรองอากาศตรงจุดนี้ไว้แล้ว

iClebo OMEGA Ventilator
ช่องระบายอากาศ (Ventilator) ที่อยู่ด้านท้ายเครื่อง iClebo OMEGA ที่ผ่านการกรองโดย แผ่นกรองอากาศ 2 ชั้น รวม แผ่นกรองอากาศ HEPA แล้ว

ส่วนประกอบด้านล่าง

ส่วนประกอบด้านล่างของของตัวเครื่องนี้ ก็ถือว่าเรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อนมากมาย ก็เหมือนหุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั่วๆ ไป ที่มีทั้งระบบขับเคลื่อน แบตเตอรี่ ระบบดูดฝุ่น ถูพื้น ต่างๆ มาดูกันเลย

iClebo OMEGA Component Underside
ส่วนประกอบด้านล่าง ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iClebo OMEGA
  1. PSD & IR Sensor (เซ็นเซอร์อินฟราเรด ป้องกันการตกหล่น) : มีอยู่ทั้งหมด 3 จุดใต้เครื่อง เอาไว้เช็คว่าพื้นที่ ที่กำลังเคลื่อนที่เข้าไปนั้น ปลอดภัยพอ ที่จะวิ่งเข้าไปทำความสะอาดต่อ หรือเปล่า ดังนั้นหายห่วงเลยว่า เครื่องจะวิ่งตกบันได หรือ ตกจากชั้นบน ลงสู่ชั้นล่าง
  2. Caster Wheel (ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหน้า) : เป็นล้อยาง ขนาดค่อนข้างใหญ่ บึกบึน (ถ้าเทียบกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ตัวอื่นๆ ที่เคยรีวิวมา) พร้อมลูกปืนล้อขนาดใหญ่เช่นกัน ดูแข็งแรงมากๆ จุดนี้ประทับใจเลยทีเดียว
  3. Charging Contact (จุดสัมผัสแท่นชาร์จ) : แผ่นโลหะสี่เหลี่ยม สีเงิน 2 ตัว ขนาบข้าง กับ ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหน้า เป็นตัวที่เอาไว้ใช้ในการ ถ่ายทอดพลังงานไฟฟ้า จาก แท่นชาร์จ เข้ามาที่ตัวเครื่อง และ ส่งต่อพลังงาน เข้าไปเก็บยังแบตเตอรี่ เป็นลำดับต่อไป
  4. Side Brush (แปรงกวาดข้าง) : แปรงกวาดข้างแบบ 10 แฉก ที่ถูกติดตั้งอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง ซ้าย-ขวา ช่วยปัดกวาดฝุ่นที่อยู่รอบๆ นอกตัวเครื่อง ตามขอบมุมเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในรัศมีของแปรงกวาดหลัก เพื่อให้ดูดเข้าไปใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ต่อไปได้ นอกจากนี้มันยังสามารถถอดออก ได้ตามต้องการ (ตอนใส่ง่าย แต่ตอนถอดออก อาจจะต้องออกแรงดึงกันหน่อยนะ)
  5. Main Brush Component (ส่วนประกอบของ แปรงกวาดหลัก) : ชุดฝาครอบแปรงกวาดหลัก และ ตัวแปรงกวาดหลัก แบบยาง (Rubber) ขนาด 20 เซนติเมตร อยู่ด้านใน ซึ่งแปรงกวาดออกแบบมาเพื่อ ป้องกันการพัดกันของเส้นผม ขนสัตว์ ได้เป็นอย่างดี
  6. Main Wheel (ล้อขับเคลื่อนหลัก) : เป็นล้อยางยางที่มีดอกยาง เพื่อการยึดเกาะกับพื้นทุกชนิด อยู่ฝั่งซ้าย-ขวา พร้อมมอเตอร์ ที่ใช้ในการ ขับเคลื่อนตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ให้ไปในทิศทางที่ต้องการ และ ปีนพื้นที่ต่างระดับ ได้สูงสุด 1.5 เซนติเมตร
  7. Battery Cover (ฝาครอบแบตเตอรี่) : ฝาพลาสติกที่ ห่อหุ้ม แบตเตอรี่ แบบ Li-Ion ขนาดความจุ 4,400 mAh จำนวน 1 ลูก ที่อยู่ด้านใน การถอดออกสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ ไขน๊อต 2 ตัว ที่อยู่ด้านบน ก็สามารถเปิดฝา และ ดึงแบตเตอรี่ ออกมาได้เลย
  8. Mop Plate Installation Area (พื้นที่ติดตั้งถังน้ำ) : พื้นที่สำหรับติดตั้ง ที่ติดผ้าม็อบถูพื้น ซึ่งจะอยู่ด้านท้ายของตัวเครื่อง โดยจะมีช่องเอาไว้สำหรับยึดอยู่ การติดตั้งก็ง่ายๆ แค่จับลงเข้าช่อง ที่เตรียมไว้ก็เป็นอันเรียบร้อย

รู้จักกับแบตเตอรี่ iClebo OMEGA ขนาด 4,400 mAh.

มาดูกันที่แบตเตอรี่ของเครื่องนี้กันดูบ้าง ซึ่งเป็นแบบ ลิเธียมไอออน (Li-Ion) ที่มีคุณสมบัติเด่นคือ แม้แบตเตอรี่จะเหลือน้อย แต่มันก็ยังคงจ่ายไฟนิ่ง และ คงที่ เสมือนเพิ่งชาร์จไฟเต็มหมาดๆ ทำให้การทำงานของตัวเครื่อง แรงไม่มีตกตลอดการใช้งาน จนกว่าแบตเตอรี่จะหมด ผลดีที่ตามมาคือ มันก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานของตัวเครื่องอีกด้วยเช่นกัน

เริ่มกันที่ถอดฝาครอบแบตเตอรี่ ออกมาก่อน ด้านในแบตเตอรี่ ได้ถูกวางไว้ใต้เครื่องพร้อม ฝาครอบแบตเตอรี่ เชื่อมต่อด้วยสายไฟ ที่มีสลักยึดอย่างดี (ลักษณะคล้ายๆ กับสายไฟของอุปกรณ์ภายในเคส ของเครื่องคอมพิวเตอร์เลยทีเดียว) การถอดประกอบ

และหลังจากนั้นก็ถอดเอาแบตเตอรี่ ที่อยู่ด้านในเครื่อง ออกมาส่องกันดูซะเลย เอาออกง่ายมากๆ ดังนั้น ในกรณีที่มีหัญหา สามารถเปลี่ยนด้วยตัวเองเองได้เลย ส่วนรายละเอียดต่างๆ ก็พบตามที่เห็นด้านล่างนี้

iClebo OMEGA Battery Front
ด้านหน้า แบตเตอรี่แบบ ลิเธียมไอออน (Li-Ion) ของ iClebo OMEGA ความจุ 4,400 mAh. พร้อมรายละเอียดผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้แล้ว ผมทดลองแกะฝาครอบแบตเตอรี่ และ เอามันออกมาดูพบว่า แบตเตอรี่ได้ถูกบรรจุอย่างดี ตรงฉลากมีรายละเอียดมากมายเป็น คำเตือน (Warning Messages) อยู่ประมาณ 5 ข้อ พร้อมหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์ (Serial Number) ของแบตเตอรี่ ซึ่งหมายเลขนี้จะไม่มีทางซ้ำกันเลยทุกตัว

ด้านล่างบอกบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ คือ Elentec Co.,Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทของประเทศเกาหลี อยู่แล้ว และแน่นอนมีระบุว่า “Made in Korea“ผลิตในประเทศเกาหลีแน่นอน ด้านมุมขวาล่างของฉลากยังมีระบุ เดือนกับปีที่ผลิตตัวแบตฯ (ตัวอย่างในรูปคือ 2016.03 คือ ผลิตใน เดือนมีนาคมปี ค.ศ. 2016 นั่นเอง)

และเมื่อพลิกไปอีกด้าน เห็นว่ามีตัว เซ็นเซอร์อุณหภูมิ (Bimetal Thermostat) ระดับอุณหภูมิไม่เกิน 70 องศาเซลเซียส ถ้าหาว่าร้อนเกินกำหนด ระบบจะตัดการจ่ายไฟจากแบตเตอรี่ไปยังตัวเครื่องทันที เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การบวมหรือระเบิดของแบตเตอรี่ ซึ่งถือว่าจุดนี้ ค่อนข้างเซฟตี้มากๆ ประทับใจครับ

iClebo OMEGA Battery Temperature Sensor
แบตเตอรี่ iClebo OMEGA มีเซ็นเซอร์อุณหภูมิ หรือเขาเรียกว่า ไบเมทัลเทอร์โมสตัท (Bimetal Thermostat) หากอุณหภูมิสูงเกิน กำหนด จะตัดไฟ และ การทำงานทันที

รู้จักกับกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง และ แผ่นกรองอากาศ HEPA

อีกจุดหนึ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ทุกตัวทุกรุ่นเลยนั่นก็คือ “กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin)” ที่มีหน้าที่เก็บเศษฝุ่น เส้นผมต่างๆ ที่เครื่องดูดมาเก็บเอาไว้ เพื่อรอวันเอาเศษฝุ่นเหล่านี้ไปทิ้ง หรือไปทำความสะอาดนั่นเอง และถ้าหาก ถามว่าทำไมสำคัญ ? ผมสามารถสรุปให้ได้ 2 ประเด็นคือ

  1. การนำไปทำความสะอาด : หากมีซอกมุมเยอะแยะมากมาย การทำความสะอาดก็จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ถ้าไม่มีส่วนซอกมุม อะไรเลย โล่งๆ เหลี่ยมๆ ก็ทำความสะอาดง่าย ประหยัดเวลาไปได้เยอะ
  2. ประสิทธิภาพการดูดฝุ่น : บางตัวหากตรงช่องระบายอากาศออก คับแคบ เมื่อมีฝุ่นเข้ามาเยอะๆ และไม่ได้เอามันไปทิ้งอย่างสม่ำเสมอ ก็อาจจะทำให้ฝุ่นเกาะตรงแผ่นกรองอากาศมากจนทำให้ พลังการดูดฝุ่นลดน้อยลงไปด้วย สรุปคือ มันจะดูดไม่สะอาดนั่นเอง

โดยกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ของเครื่องนี้ มีขนาดความจุอยู่ที่ 0.5 ลิตร ในสเปคเครื่องไม่ได้มีระบุไว้ (หาไม่เจอ) แต่ว่าผม หาปริมาตรของมันด้วยการ เติมน้ำเปล่า จากขวดน้ำขนาด 0.5 ลิตรเข้าไปได้เต็มกล่อง และน้ำหมดขวด พอดี จึงกล้าบอกได้เต็มปากว่า 0.5 ลิตร แน่นอน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง เป็นทรงใส สังเกตเห็นฝุ่นด้านในได้ง่ายๆ การทำความสะอาดก็ง่ายๆ เพียงเอา แผ่นกรองอากาศ HEPA ออก ก็นำเศษฝุ่นออกได้เลย

iClebo OMEGA Dustbin
กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ทรงใส ขนาดความจุ 500 ลิตร ทำความสะอาดง่ายมากๆ ไม่ซับซ้อน

นอกจากนี้แล้วในส่วนของ แผ่นกรองอากาศ HEPA นั้น นอกจากจะมีขนาดใหญ่ ระบายอากาศได้ดีแล้ว ก็ยังมี แผ่นตาข่ายแบบซี่เล็กๆ ถี่ๆ (แผ่นตาข่าย ก็สามารถถอดออกไปทำความสะอาดได้) เพื่อใช้กรองฝุ่นขนาดใหญ่ๆ หรือ เส้นผม ขนสัตว์ ต่างๆ ก่อนที่มันจะหลุดลอดออกไปติดในร่องซี่ของ แผ่นกรองอากาศ HEPA ซึ่งถ้าหากเศษฝุ่นขนาดใหญ่เข้าไปติดนั้น ขอบอกว่าจะ “ทำความสะอาดยากมากๆ !” เพราะต้องแคะ เคาะ มันออกมาจากร่อง สร้างความลำบาก และ เสียเวลาอยู่พอสมควร (จากประสบการณ์ตรง)

รู้จักกับเซ็นเซอร์ ที่มีอยู่รอบๆ ตัวเครื่อง มากมาย

เนื่องจาก หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iClebo OMEGA ตัวนี้ มีเซ็นเซอร์ตรวจจับสิ่งกีดขวาง (Obstacle Detection Sensors) อยู่รอบๆ ตัวมากมาย ทั้งด้านหน้า ด้านบน ด้านล่าง ของตัวเครื่อง เพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่สูงสุด เพื่อให้เครื่องได้ทำงานได้แม่นยำ ผมจึงแยกหัวข้ออธิบาย กันให้เห็นๆ เลย ว่ามีอะไรบ้าง

iClebo OMEGA Sensor List
รายการ เซ็นเซอร์ตรวจจับ รอบๆ ตัวเครื่อง iClebo OMEGA ทั้งหมด ที่มี

เซ็นเซอร์ด้านบนตัวเครื่อง (Top Sensor)

  1. Camera Sensor (เซ็นเซอร์กล้องสร้างแผนที่จำลอง) : ใช้ประมวลผลจากภาพวีดีโอที่ถ่ายมาจาก กล้องสร้างแผนที่จำลอง (Mapping Camera) เพื่อนำมาประเมินอีกทีว่า ส่วนไหนที่ทำความสะอาดไปแล้ว หรือยังไม่ได้ทำ
  2. Dustbin Filter Sensor (เซอร์เซอร์จับความสกปรกแผ่นกรองอากาศ) : ใช้วัดความสกปรก หรือ ปริมาณฝุ่น ที่เข้าไปติดที่ แผ่นกรองอากาศ HEPA ในตัวเครื่อง เพราะถ้า แผ่นกรองอากาศ HEPA สกปรกมากๆ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการดูดฝุ่นลดน้อยลง ดังนั้นควรหมั่นดูแล และทำความสะอาดบ่อยๆ
  3. Dust Detect Sensor (เซ็นเซอร์ตรวจจับปริมาณฝุ่น) : ใช้วัดปริมาณฝุ่นที่อยู่ภายใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ถ้าฝุ่นเยอะ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการดูฝุ่นลดน้อยลง เช่นกัน

เซ็นเซอร์ด้านหน้า (Front Sensor)

  1. Bumper Sensor (เซ็นเซอร์กันชน) : เซ็นเซอร์ป้องกันการชนกับวัตถุด้านหน้า อย่างข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ ต่างๆ ลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างตัวเครื่อง กับ วัตถุต่างๆ
  2. Charging Station Detect Sensor (เซ็นเซอร์ตรวจจับแท่นชาร์จ) : เซ็นเซอร์ใช้ในการค้นหา แท่นชาร์จ ในกรณีที่ เครื่องทำความสะอาดเสร็จ หรือ แบตเตอรี่ใกล้หมด มันจะทำการส่งสัญญาณ เพื่อสื่อสารกันระหว่าง ตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น กับ แท่นชาร์จ ของมัน เพื่อให้เข้าไปจอดอย่างแม่นยำ
  3. PSD & IR Sensor (เซ็นเซอร์อินฟราเรด ป้องกันการตกหล่น) : คำว่า PSD ย่อมาจาก “Position Sensitive Device” และ IR ย่อมาจาก “Infrared” ใช้เพื่อป้องกันการวิ่งตกบันได หรือ ตกจากที่สูง มีอยู่รอบๆ ตัวทั้งหมด 3 ตัว มั่นใจได้เลยว่า ปลอดภัย ไม่ตกบันได เครื่องไม่เสียหายอย่างแน่นอน

เซ็นเซอร์ด้านล่างตัวเครื่อง (Underside Sensor)

  1. Carpet Detect Sensor (เซ็นเซอร์ตรวจจับพื้นพรม) : เซ็นเซอร์ที่เอาไว้ใช้ในการตรวจจับพื้นผิวของพื้นห้อง ที่กำลังดูดฝุ่น ทำความสะอาด อยู่ว่าเป็นพื้นผิวแบบใด เพื่อที่จะได้ประเมินระดับความแรงของการดูดฝุ่นได้อย่างเหมาะสม อาทิ พื้นที่ที่มีฝุ่นเยอะ หรือ พื้นที่ที่เป็นพรม ก็จะทำการ เพิ่มพลังการดูดที่แรงขึ้น ด้วยโหมดเทอร์โบ ทั้งหมดทั้งมวล มาจากเซ็นเซอร์ตรวจจับตัวนี้นั่นเอง
  2. Gyro Sensor (ไจโรสโคปเซ็นเซอร์) : ใช้ในการตรวจจับ และ จดจำ ลักษณะการหมุน การทำงาน ของตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ในแบบ 3 แกน (แกน X แกน Y และ แกน Z) ซึ่งการที่มีไจโรสโคป จะช่วยเรื่องของ องศาการหมุนตัวของตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เวลาหมุนจะ หมุนด้วยองศาพอดี ทำให้ไม่เหลือพื้นที่ว่าง ที่ไม่ได้ดูด ซึ่งแม้แต่ พื้นที่เล็กๆ น้อยๆ ก็มิอาจพ้นเงื้อมมือ ของ iClebo OMEGA ตัวนี้ไปได้
  3. Wheel Sensor (เซ็นเซอร์ล้อขับเคลื่อน) : ใช้ตรวจสอบว่าพื้นที่ไหนสามารถวิ่งเข้าไปได้ หรือ เข้าไปไม่ได้ พื้นที่ไหนปืนขึ้นไปได้ หรือ ไม่ได้ หรือว่าถ้าล้อขับเคลื่อนด้านใดด้านหนึ่ง เกิดการติดขัด ก็จะส่งข้อมูลไปยังหน่วยประมวลผลกลาง ให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า และ เอาตัวรอดออกมาจากอุปสรรคเหล่านั้นให้ได้
  4. Wheel Speed Detect Sensor (เซ็นเซอร์ตรวจจับความเร็วของเครื่อง) : ใช้ควบคุมความเร็วของตัวเครื่อง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พื้นที่ไหนควรช้า พื้นที่ไหนควรวิ่งเร็ว เพื่อความสะอาดสูงสุด

เปิดใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iClebo OMEGA

มาถึงช่วงของการเปิดใช้งานเครื่องกันจริงๆ แล้ว ว่ามันมีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร แต่ว่าก่อนที่จะใช้งานจริง ก็จำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมเครื่อง ก่อนใช้งานสักเล็กน้อย เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ขอไล่เรียงกันเป็นข้อๆ ไปเลยนะครับ

1. ติดตั้งแท่นชาร์จ และ ตัวเครื่อง ในตำแหน่งที่เหมาะสม (Charge Base Installation)

iClebo OMEGA Charging Area
ติดตั้งแท่นชาร์จ iClebo OMEGA ในพื้นที่โล่ง ซ้าย-ขวา ฝั่งละ 0.5 เมตร และ 1.5 เมตร จากด้านหน้า

เริ่มแรกคือการติดตั้งแท่นชาร์จ ในตำแหน่งที่เหมาะสมเสียก่อน ว่าจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางในรัศมีเท่าใดอย่างไร เพราะแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นก็จะมีสเปค ที่แตกต่างกันออกไป และสำหรับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iClebo OMEGA นั้น ทางผู้ผลิตแนะนำว่า ไม่ควรมีสิ่งกีดขวางใดๆ อยู่ในรอบรัศมี 1.0 เมตร ฝั่งซ้าย (0.5 เมตร) และขวา (0.5 เมตร) สำหรับด้านหน้าคือ 1.5 เมตร เพื่อประสิทธิภาพ การวิ่งเข้าออกแท่นชาร์จที่ดีกว่า

นอกจากนี้แล้ว ผมยังอยากแนะนำให้เก็บสายไฟของ อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ เอาไว้ด้านหลังของแท่นชาร์จด้วย (เขามีที่เก็บสายไฟด้านหลังให้ด้วย) ไม่ควรให้เอาออกมาวางระเกะ เพราะอาจจะทำให้เครื่องติดพันสายไฟของตัวมันเอง ตกไม้ตาย ไปต่อไม่ได้อีกด้วย

2. ชาร์จแบตเตอรี่ทิ้งเอาไว้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง (Battery Charging)

ด้วยความที่มันเป็น แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน (Li-Ion) คุณสามารถชาร์จแบตเตอรี่ทิ้งไว้ตอนเริ่มต้น เพียงแค่ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้นก็เต็มความจุแล้ว และที่สำคัญก็ไม่ต้องห่วงว่าชาร์จแบตเตอรี่เต็มแล้ว เพราะเครื่องนี้มีระบบตัดวงจรไฟอัตโนมัติ เมื่อแบตเตอรี่เต็ม เพื่อเป็นการถนอมและยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่

โดยเครื่องนี้สามารถชาร์จไฟได้ 2 วิธีคือ ผ่านแท่นชาร์จ หรือชาร์จไฟตรง ผ่านทาง ช่องเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์

แต่ว่าเมื่อชาร์จไปได้ประมาณชั่วโมงครึ่ง (1.30 ชั่วโมง) ก็ชาร์จไฟเต็มแบตเตอรี่แล้ว สาเหตุเพราะในแบตเตอรี่ มีไฟมาจากโรงงานอยู่แล้วส่วนนึง

3. ตั้งเวลาให้กับตัวเครื่อง (Time Setting)

เนื่องจากเครื่องนี้มีความสามารถของการ ตั้งเวลาทำความสะอาดรายวัน ได้ดังนั้นหากต้องการ ที่จะใช้ความสามารถนี้ จะต้องทำการตั้งเวลาให้เครื่องเสียก่อน เพื่อให้มันรู้เวลาปัจจุบัน และใช้ความสามารถตัวนี้ได้

การตั้งเวลาให้เครื่องก็ง่ายมากๆ สามารถตั้งจากรีโมทคอนโทรลได้เลย (ไม่สามารถตั้งผ่านแผงควบคุม หรือ ปุ่มบนตัวเครื่องได้) เพียงแค่กด “ปุ่ม CLOCK” แล้วก็เลื่อนลูกศรขึ้นลง ด้านบนรีโมทคอนโทรล เพื่อตั้งค่าชั่วโมง หลังจากนั้นกด “ปุ่ม OK” เพื่อเลือกค่านาที เป็นลำดับต่อไปทำเหมือนกันและกด “ปุ่ม OK” อีกครั้ง ก็เป็นอันเสร็จพิธี

iClebo OMEGA Time Setting
สามารถ ตั้งเวลาเครื่อง (Time Setting) ผ่านรีโมทคอนโทรล ได้เลย

คำถามที่คุณต้องอยากรู้ (FAQs) ?

หลังจากที่ใช้งานไปได้สักระยะนึงแล้ว ก็ขอมาบอกเล่าประสบการณ์ ความรู้สึกที่ใช้เครื่องนี้มากันดู ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

1. สามารถวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับได้สูงมากน้อยแค่ไหน ?

ตามสเปคจากโรงงาน ระบุว่าสามารถวิ่งผ่าน ปีนป่าย พื้นที่ต่างระดับ อาทิ ธรณีประตู พื้นพรมกับกระเบื้อง รวมไปถึง รางประตูบานเลื่อน ได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร ซึ่งจะการที่มาทดลองใช้งานดู ก็วิ่งผ่านได้จริงๆ ไม่มีปัญหาเลย

เครื่องนี้เป็นหนึ่งในหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เพียงไม่กี่เครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่สามารถวิ่งผ่าน รางประตูบานเลื่อน ที่กั้นระหว่างห้องครัว กับ ห้องโถงรับแขก ทานข้าว ซึ่งสูงประมาณ 2 เซนติเมตร ได้อัตโนมัติ แบบไม่ได้ไปสั่งบังคับอะไรมันเลย พูดง่ายๆ คือ เข้าไปในห้องครัวได้เอง และ กลับออกมาได้เอง

2. สามารถวิ่งเข้าออกห้องต่างๆ ได้เองอัตโนมัติหรือไม่ ?

ได้สบายๆ ตัวเครื่องมีกล้องที่เอาไว้สร้างแผนที่จำลอง จากระบบ “Smart Mapping System” มันสามารถจดจำพื้นที่ต่างๆ ได้ว่า พื้นที่ไหนที่ทำความสะอาดไปแล้ว หรือ ยังไม่ทำความสะอาด ถ้าเมื่อไหร่ มันมีที่ว่างเมื่อไหร่ มันจะวิ่งเข้าไปทันที

iClebo OMEGA Working Crossing Doorsill
ขณะที่ iClebo OMEGA กำลังวิ่งผ่าน ธรณีประตู (Doorsill)

3. สามารถทำงานในขณะที่ห้องปิดไฟ ได้หรือไม่ ?

ได้สบายๆ เช่นกันสามารถอุ่นใจได้เลยว่า แม้ขณะที่เราจะไม่อยู่บ้านและต้องปิดไฟในห้อง ตัวเครื่องนี้ก็สามารถช่วยคุณทำความสะอาดบ้าน ทำความสะอาดห้องต่างๆ ได้สบายๆ

4. ขณะที่กำลังทำการดูดฝุ่น เสียงดังหรือไม่ ?

เครื่องนี้ มีระดับเสียงอยู่ที่ประมาณ 66 dB. โดยเฉลี่ย (อาจจะมีสูงกว่า หรือต่ำกว่านิดหน่อย) วัดผ่าน แอพ LINE Tools เนื่องจากขณะวัดระดับเสียง ค่อนข้างจะลำบาก เพราะต้องวัดขณะที่เครื่องวิ่งทำงานไปด้วย

5. ฟังก์ชั่นการถูพื้นด้วย ผ้าม็อบอัลตร้าไมโครไฟเบอร์แบบเปียก เป็นอย่างไร ?

เราสามารถให้เครื่องดูดฝุ่น ทำการ ถูพื้นไปในตัวได้ ด้วยการนำเอา ผ้าม็อบอัลตร้าไมโครไฟเบอร์แบบเปียก (Wet Mop) และ ที่ติดผ้าม็อบ (Mop Plate) เข้ามาประกอบไว้ด้วยกัน และติดตั้งตรงพื้นที่หลังเครื่อง ที่ได้จัดเตรียมเอาไว้ให้

ก่อนการใช้งานเราสามารถนำ ผ้าม็อบอัลตร้าไมโครไฟเบอร์แบบเปียก ไปชุบน้ำหมาดๆ แล้วมาติดตั้งให้มันถู ก็ได้เช่นกัน เพื่อให้การถูพื้นนั้นสะอาดหมดจดมากยิ่งขึ้น เสร็จแล้วก็นำไปซักตากให้แห้ง และนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

iClebo OMEGA Component Underside with Mopping Function
ขณะที่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iClebo OMEGA ติดตั้ง ผ้าม็อบอัลตร้าไมโครไฟเบอร์แบบเปียก (Wet Mop) เข้ากับ ที่ติดผ้าม็อบ (Mop Plate) ท้ายเครื่องเรียบร้อยแล้ว

6. ปริมาณฝุ่น สภาพกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง หลังการใช้งานเป็นอย่างไร ?

ปริมาณฝุ่นหลังการใช้งาน ค่อนข้างดี ตรงที่ฝุ่นทั้งหมด จะถูกเข้าไปติดกับ แผ่นตาข่าย (ก่อนที่จะถึง แผ่นกรองอากาศ HEPA) แบบแน่นเป็นแผ่นๆ ซึ่งสามารถดึงออกมาทั้งแผ่นได้เลย ง่ายๆ ส่วนเศษที่เหลืออีกนิดหน่อย ที่อยู่ด้านในกล่อง ก็แค่นำไปเคาะๆ ก็ออกมาหมดแล้ว

iClebo OMEGA Dustbin After Used
ปริมาณฝุ่น ที่อยู่ด้านใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง หลังการใช้งาน

7. สามารถสั่งซื้อเครื่อง iClebo OMEGA ได้ที่ไหน ?

คุณสามารถสั่งซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iClebo OMEGA ได้จากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นจาก ทั้งช่องทางออนไลน์ อย่างทางเว็บไซต์ และช่องทาง ออฟไลน์ อย่างตาม ห้างสรรพสินค้า ชั้นนำทั่วไปได้ดังต่อไปนี้เลย

  • iCleboThailand.com
  • Lazada.co.th
  • ShopAt7.com
  • iTrueMart.com
  • ห้างสรรพสินค้า Central Plaza (ในบางสาขา)
  • ห้างสรรพสินค้า Mega Bangna (ทางเข้าลานจอดรถ Homepro)
  • และอื่นๆ อีกมากมาย

หรือจะใช้ช่องทางเสริม อย่างเช่นเบอร์โทรศัพท์ หรือ LINE ติดต่อกับทาง บริษัท เอ็ม เอ็ม โกลบอลเทรด จำกัด เจ้าของแบรนด์สินค้านี้ได้โดยตรงเลยที่

  • Tel (โทรศัพท์) : 08-7087-5352
  • LINE ID (บัญชีไลน์)Mister_Robot

และสุดท้าย ก็สามารถติดต่อผ่านทางช่องทางเฟสบุ๊คเพจ (Facebook Page) ได้จากกล่องด้านล่างนี้เลย

บทสรุปการใช้งานเครื่อง

ก่อนจากกัน ขอทิ้งท้ายด้วย บทสรุปการใช้งานของตัวเครื่อง ซึ่งผมขอสรุปข้อดี และ ข้อเสีย ของการใช้งานมาให้ดูกันเลยดีกว่า

ข้อดี 🙂

  • ใช้เวลาดูดทั่วทั้งห้องประมาณ 45 นาที เท่านั้น และวิ่งครบทั่วทั้งบริเวณ ขณะที่ตัวอื่นๆ ใช้มากกว่า 60 นาที (1 ชั่วโมง)
  • เครื่องมีขนาดเล็ก ไม่ใหญ่เทอะทะ มีความคล่องตัวสูง มุดลอดใต้เฟอร์นิเจอร์ได้เป็นอย่างดี
  • วัสดุของเครื่อง หลังจากที่ได้ลูบคลำ และ ทดลองใช้งานจริงแล้วรู้สึกว่า แข็งแรง บึกบึน ไม่ก๊องแก๊ง
  • ปุ่มควบคุม ที่อยู่ด้านบนตัวเครื่อง ก็ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน แทบไม่ต้องอ่านคู่มือการใช้งานเลย
  • ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหน้า มีขนาดใหญ่มาก (ใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยรีวิวมา) แถม ถอดออกมาเปลี่ยน หรือ ทำความสะอาดได้ง่ายๆ อีกด้วยเช่นกัน
  • มีเซ็นเซอร์ตรวจจับต่างๆ มากกว่า 10 ตัว รอบๆ เครื่อง เพื่อเพิ่มความแม่นยำ และ ประสิทธิภาพในการทำงาน
  • สัญชาตญาณ การเอาตัวรอดของเครื่องนี้สูงมากๆ แม้มันจะเข้าไปติดพรม ที่จะขยุกขยุยเข้ามา มันก็เอาตัวรอดได้ด้วยการพยายามพลิกตัวเองไปมา ซ้ายขวา จนออกมาจากอุปสรรคเหล่านั้นได้
  • อุปกรณ์ต่างๆ สามารถถอดไปล้างทำความสะอาด และ ถอดเปลี่ยนเองได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องพึ่งช่าง หรือ เข้าศูนย์บริการ เว้นเสียแต่การซ่อมใหญ่
  • เสียงเครื่องขณะทำงานไม่ดังมากจนน่ารำคาญ
  • แบตเตอรี่มีขนาดความจุมากถึง 4,400 mAh ซึ่งมากพอที่จะขับเคลื่อนให้เครื่องทำงานได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ดับ แบตฯ หมดกลางทาง
  • แบตเตอรี่มีเซ็นเซอร์อุณหภูมิ เพื่อความปลอดภัย ถ้าร้อนเกิน จะตัดการทำงานโดยอัตโนมัติ เพื่อรักษาตัวเครื่อง และ ชีวิตของคนในบ้าน
  • รีโมทคอนโทรล สามารถสั่งงานแบบไม่ต้องชี้ตรงไปที่ตัวเครื่องก็ได้ ขอให้อยู่ในห้องเดียวกันพอ สะดวกกว่า
  • สามารถตั้งเวลาเครื่อง และ ตั้งเวลาทำความสะอาด ได้ง่ายๆ กดรีโมท ไม่ซับซ้อนเลย (บางรุ่นซับซ้อนกว่านี้พอสมควร)

ข้อเสีย 🙁

  • อุปกรณ์สิ้นเปลืองต่างๆ อาทิ แปรงกวาดข้าง แผ่นกรองอากาศ HEPA ให้มาใช้แค่ชุดเดียว ไม่ได้ให้ชุดสำรองมาด้วย
  • ไม่สามารถตั้งค่าต่างๆ เช่น ตั้งเวลาเครื่อง หรือ ตั้งเวลาทำความสะอาด ผ่านรีโมทคอนโทรลได้ ถ้ารีโมทเสีย ก็แย่เลย
  • การใช้ ผ้าม็อบถูพื้นอัลตร้าไมโครไฟเบอร์แบบเปียก หากจะถูพื้นแบบเปียก ต้องหมั่นเอาผ้าไปชุบน้ำตลอดเวลา ผ้าจะแห้งเร็ว เพราะไม่มีถังน้ำคอยหยดน้ำลงมาเติมความเปียกให้กับผ้า
  • ไม่สามารถสั่งงานผ่านแอพพลิเคชั่นได้

หลังจากที่อ่านบทความรีวิวนี้มาซะยาวเหยียด ก็หวังว่าจะได้รับข้อมูล ในการไปประกอบการตัดสินใจสั่งซื้อได้ไม่มากก็น้อย แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีครับ 🙂

กลับไปอ่าน รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iClebo OMEGA หน้าแรก

18 ความคิดเห็น

  1. ต้องติดฝ่ายซ่อมบำรุงติดต่อได้ที่ไหนครับ

  2. ตอนนี้ใช้เครื่อง YCR-M07 มีปัญหา ไม่ทราบว่าจะส่งซ่อมที่ไหนได้บ้างค่ะ
    เท่าที่อ่านรีวิว ทางคุณนิ้ตอบแต่ลูกค้าที่ชม ลูกค้าที่มีปัญหาเรื่องเครื่องคุณนิ้งไม่ตอบเลยหรอค่ะ

  3. สวัสดีค่ะ ใช้เครื่องนี้มานาน3-4ปีแล้ว ตอนนี้มีปัญหาเล็กน้อยอยากสอบถามศูนย์บริการ-ส่งซ่อมได้ที่ไหนคะ?

  4. หลังจากดูรีวิวของคุณนิ้งมาพักใหญ่ ก็ตัดสินใจซื้อตัว Iclebo Omega ค่ะ โดยรวมถูกใจมากๆ ทั้งดีไซน์และการทำงาน เสียอย่างตรงที่เวลาขึ้นพรมชอบไปติดและค้างเกือบทุกครั้ง หลังๆจึงกดปิดโหมดปีน จะได้ไม่ขึ้นมาค้างบนพรมอีก ตรงส่วนพรมก็ใช้ดูดมือเอาค่ะ
    แล้วก็ตัวแปรงที่ได้มาไม่เหมือนกับที่คุณนิ้งรีวิวนะคะ (ซื้อ มิ.ย 60) หัวแปรงมีแค่ 3 แฉกค่ะ แอบเสียใจนิดนึงเพราะตอนแรกที่ตัดสินใจส่วนหนึ่งก็เพราะตัวแปรงที่มีหลายแฉกนี่แหละค่า

    • อัพเดทครับ (24/08/2017) : ผมติดต่อไปทาง Mister Robot ผู้จัดจำหน่าย หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iClebo ให้แล้วนะครับ รบกวนคุณกัน ติดต่อไปที่ LINE ID : @mister_robot ทีนะครับ แล้วแจ้งเรื่องกับเจ้าหน้าที่ เขาจะส่งแปรงกวาดแบบ 5 แฉก ไปให้นะครับผม ขอบคุณมากครับ

      • เพิ่งได้เข้ามาอ่านข้อความค่ะ ไม่ทราบถ้าติดต่อไปติดต่อไปตอนนี้จะยังได้ไหมคะ

  5. รบกวนสอบถามเรื่องบริการหลังการขาย เป็นไงบ้างครับของบริษัทนี้
    กำลังตัดสินใจครับ ห่วงเรื่องบริการถ้าหมดประกันแล้วครับ
    ขอบคุณครับ

  6. หลังจากใช้งานมาหนึ่งอาทิตย์ (ค่าเสียหาย 19,900 แถมเครื่องดูดฝุ่นแบบทรงตั้ง)

    ข้อที่ชอบ
    1.ดูดโคตรสะอาด ยิ่งใส่ผ้าไมโครไฟเบอร์ข้างหลังด้วยแล้ว ยิ่งสะอาดใหญ่ (วิธีตรวจของผมคือเอาไฟฉายส่องเลียดและขนานกับพื้น) ทำงานไปสักชั่วโมง เอาถังฝุ่นออกมาดูแล้วตกใจ…ตกใจว่า “ที่ผ่านๆมานี้ตรูกวาดบ้านไม่ได้เรื่องขนาดนี้เลยหรอ” เพราะเราจะพบฝุ่นที่เราไม่สามารถจัดการได้ ติดเข้ามาให้เห็นกับตา เยอะเลย
    2.ฉลาดเดินมากๆ ไม่เดินมั่ว วิธีคิดของหุ่นก็ฉลาดดี กลับฐานก็ไวดีครับ
    3.sensor กันร่วงไวดีครับ
    4.แบตโคตรถึก คงเพราะมันเยอะ และการเดินที่ฉลาดของเขา ทำให้ไม่เปลืองแบตนัก

    ข้อที่ขัดใจ
    1.เสียงดังครับ ดังกว่า Mister Robot Hybrid Mapping เกือบเท่าตัว คงเพราะระบบดูดฝุ่นที่เป็นระบบดูดฝุ่นจริงๆ และดูดแรงครับ
    2.sensor กันร่วงมันไวไปหน่อย บางที่พื้นต่างระดับกันนิดเดียว ตีความเป็นจะร่วงไปซะแล้ว แล้วถ้าใส่แผ่นไมโครไฟเบอร์เข้าไปด้วย ระบบปีนพื้นต่างระดับ จะถูกตัดทิ้งไปเลย (ด้วยระบบของเขาเองเลย)
    3.เวลาที่อีหนูเขาทำงาน (เรียกอีหนูเพราะผมเรียกเขาว่า “อีแจ๋ว” ครับ) ต้องเอาสายไฟขึ้นนะครับ ไม่งั้นจะเข้าไปพัดกับล้อได้ เพราะการออกแบบดอกยางของล้อมันกว้างไปนิดครับ

    สรุป
    โดยรวมแล้วถูกใจมากๆครับ ชอบมากกว่า Mister Robot Hybrid Mapping ที่มีอยู่ก่อนหน้า
    ถึงแม้ว่า Mister Robot Hybrid Mapping มีระบบถูพื้นด้วย แต่ถ้าใช้ๆไปแล้ว จะพบว่าถูด้วยตัวเองได้ใจกว่ามากครับ

    • อ้อ!!! ลืมชมไปอีกข้อ

      ผมชอบระบบ Intelligent Turbo Mode (หรือก็คือ auto turbo นั้นเอง) ของเขามากครับ ฉลาดจริงจัง ขึ้นพรมหน่อยเอาแล้ว เสียงดูดดังขึ้นเห็นๆ

      ขอบๆครับ

    • โอ้วว มาเต็มครับ ขอบคุณมากๆ นะครับสำหรับสำหรับความคิดเห็นส่วนตัว ช่วยๆ กันแชร์ครับ

  7. ระหว่างตัว omega กับตัว arte ตัวไหนคุ้มค่ามากกว่ากันครับ จุดประสงค์หลักคือ เอาไว้ดูดทำความสะอาดขนแมวภายในบ้าน และชอบในส่วนของการที่สามารถติด ที่ถูกพื้นได้ด้วย

    • ตัว iClebo OMEGA เป็นเวอร์ชั่นที่พัฒนาต่อมาจากตัว Arte ครับผม ดังนั้นส่วนตัวผมว่า OMEGA ดีกว่าครับ 🙂

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้