iRobot Roomba

iRobot Roomba 880

 

มาอีกแว้ววว ! จากที่ได้รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นมาแล้วหลายตัว คราวนี้ ผมก็ได้มีโอกาส ที่จะมา รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba กันบ้าง ขอบอกว่าเจ้าชื่อแบรนด์ของ “ไอโรบอท – iRobot” นี้ถือได้ว่าแทบจะเป็นยี่ห้อที่เรียกติดปากในหมู่ผู้คน ทุกหมู่เหล่าที่เอ่ยถึงหุ่นยนต์ดูดฝุ่น กันไปแล้ว โดยมักที่จะใช้คำว่า “iRobot” นี้เรียกแทน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ยี่ห้ออื่นๆ ไปด้วยเลย ได้อารมณ์ประมาณว่าเรียกเครื่องถ่ายเอกสาร ว่า เครื่องซีร็อกซ์ ทั้งๆ ที่เครื่องซีร็อกซ์ นี่เป็นแค่ยี่ห้อของเครื่องถ่ายเอกสาร ยี่ห้อหนึ่งในตลาดเท่านั้นเอง

โดยตัวที่ได้มารีวิวนี้จะเป็น iRobot Roomba 880 เป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถือได้ว่าเป็นตัวท็อป ในยุคปัจจุบัน (ขณะที่กำลังรีวิว) ของไอโรบอทเลยทีเดียว มันเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นอเนกประสงค์ ที่สามารถรองรับการใช้งานกับพื้นผิวห้องได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น พื้นพรม พื้นไม้ พื้นกระเบื้อง พื้นไวนิล และ ลามิเนต โดยมันจะปรับการทำงานโดยอัตโนมัติ เพื่อความเหมาะสม ตามสภาพของพื้นผิวในขณะนั้น เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และ ดูดฝุ่นให้สะอาดมากที่สุด

หลังจากที่เขาได้ออกผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ออกมาหลายรุ่น หลายปีมาแล้ว ตัวนี้ถือว่าเป็นตัวที่เอาปัญหาจากรุ่นก่อนๆ ที่ผ่านๆ มา มาแก้ไขเพื่อให้ผู้ใช้งานได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในรุ่นถัดๆ ไปเช่นกัน

เนื่องจากบทความรีวิวนี้ เป็นบทความที่ยาวพอสมควร เรียกได้ว่า หากจะอ่านจากบนลงล่างทั้งหมด อาจจะเสียเวลา เกือบชั่วโมง (แต่ถ้าใครอ่านได้ ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งนะครับ) ด้านล่างนี้เป็นเมนูลัด ที่ผมตระเตรียมเอาไว้ ให้สามารถเข้าถึงเนื้อหา ต่างๆ ได้อย่างสะดวก และ รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

  1. รู้จักกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot กันสักนิด
  2. แกะกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880
  3. อุปกรณ์ภายในกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880
  4. คุณสมบัติ และ ความสามารถที่โดดเด่น
  5. สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง iRobot Roomba 880
  6. รู้จักกับ Virtual Wall Lighthouse
  7. รู้จักกับ รีโมทคอนโทรล สั่งงานระยะไกล
  8. เปิดใช้งานหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880
  9. 10 คำถามที่คุณต้องอยากรู้ เกี่ยวกับมัน (FAQs)
  10. บทสรุปการใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880

ก่อนที่จะเข้าไปอ่านรายละเอียดของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 เพิ่มเติม ผมมีทำคลิปวีดีโอรีวิว บนยูทูปมาฝาก ประมาณ 14 นาที แต่ถ้าอยากอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถกดลิ้งค์เข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยจ้า

รู้จักกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot กันสักนิด

 


iRobot Logo

หากเอ่ยถึงยี่ห้อ “ไอโรบอท – Robot” เป็นแบรนด์หุ่นยนต์ดูดฝุ่นสัญชาติอเมริกัน อีกหนึ่งแบรนด์ ที่ถูกก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (อย่าสับสนกับภาพยนตร์ ไอโรบอท พิฆาตแผนจักรกลเขมือบโลก นะ ไม่เกี่ยวกันเลย)

โดยแบรนด์ iRobot นี้ชื่อก็บอกอยู่แล้วแน่นอนว่าต้องเป็นแบรนด์ที่ทำสินค้าเกี่ยวกับหุ่นยนต์อย่างแน่นอน ซึ่งไม่ใช่แค่หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ภายในบ้าน ในห้อง ที่พวกเรารู้จักอย่างเดียวเท่านั้น เขายังออกผลิตภัณฑ์รวมไปถึง หุ่นยนต์ทำความสะอาดสระว่ายน้ำ หุ่นยนต์ที่ใช้ด้านการทหาร ตำรวจ ความมั่นคง อย่าง หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด ที่ถูกใช้ในสงครามต่างๆ มากมาย อีกเรียกได้ว่าแตกไลน์การผลิตออกมาเยอะมากๆ ด้านประสบการณ์ การออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์นั้นไม่ต้องพูดถึง ประสบการณ์เพียบแน่นอน ! นอกจากนี้แล้วยังเป็นบริษัทที่ถูกจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ของประเทศสหรัฐอเมริกา อีกด้วย การันตี ชื่อเสียง คุณภาพ อย่างแน่นอน

ในเมืองไทยบ้านเรา หุ่นยนต์ iRobot ถูกนำเข้ามา และ จัดจำหน่าย อย่างเต็มรูปแบบ มีศูนย์บริการอะไหล่พร้อม โดย บริษัท ทีเอชโรโบติก จำกัด (www.throbotics.com) ที่จดทะเบียนและนำเข้ามาขายในประเทศไทย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) โดยสำหรับประเทศไทย ทาง ทีเอชโรโบติก นำหุ่นยนต์เข้ามจำหน่ายทั้งหมด 4 รุ่นหลักๆ ด้วยกัน

หุ่นยนต์ดูดฝุ่นของไอโรบอท นั้นเขาจะแบ่งตระกูลออกเป็นหลักๆ 3 ตระกูล ที่เข้ามาทำตลาดในบ้านเรา ด้วยความสามารถและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปดังต่อไปนี้ (ขอถือโอกาสตรงนี้อธิบายเพิ่มเติมสักนิดนึง)

  1. iRobot Roomba : ตระกูลนี้จะเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ทำความสะอาดพื้นห้อง ด้วยการ ใช้แปรงกวาดปัดฝุ่นเข้าไปเก็บไว้ในกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองที่อยู่ในเครื่อง หลักการเดียวกับเครื่องดูดฝุ่น (ซึ่งรีวิวฉบับนี้เรารีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในตระกูลนี้)
  2. iRobot Scooba : ตัวนี้จะเป็นการทำความสะอาดด้วยน้ำ และ ขัดพื้น ไปในตัวด้วย หรือที่เขาจะเรียกหุ่นยนต์ประเภทนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า “Floor Scrubbing Robot” หรือ หุ่นยนต์ถูพื้น นั่นเอง หลักการจะเป็นการฉีดพ่นน้ำสะอาด จากถังเก็บน้ำ ลงบนพื้นผิวของห้อง และ จะมีแปรงกวาดพื้น พร้อม ดูดน้ำที่ชำระล้างพื้นกลับขึ้นไปเก็บไว้บนถังเก็บน้ำเสีย อีกทีหนึ่ง ก่อนหน้านี้ผมเคย รีวิว iRobot Scooba 390 กันมาแล้ว หากใครสนใจ สามารถกดเข้าไปอ่านได้เลย
  3. iRobot Braava : รุ่นนี้ถือเป็นรุ่นเล็กของ iRobot ไม่มีการดูดฝุ่นเข้ามาเก็บไว้ในเครื่องแต่อย่างใด แต่รุ่นนี้จะใช้หลักการเดียวกับการใช้ ไม้ม็อบถูพื้น ที่จะไม่มีการดูดฝุ่นเข้าเครื่อง หรือการใช้น้ำทำความสะอาด แต่อย่างใด แต่ฝุ่น เส้นผม ขนาดเล็ก จะถูกติดหนึบกับผ้าไมโครไฟเบอร์ ทันที ที่เจ้าเครื่องนี้วิ่งผ่านนั่นเอง
  4. iRobot Mirra : ตัวนี้ไม่ใช่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ใช้ตามบ้าน แต่เป็น หุ่นยนต์ทำความสะอาดสระว่ายน้ำ (Swimming Pool) ที่สามารถทำความสะอาดพื้นผิวของสระว่ายน้ำ และ น้ำในสระได้อย่างหมดจดโดยอัตโนมัติ และปราศจากการใช้ระบบกรอง ท่อหรือปั๊มสนับสนุนของสระว่ายน้ำ โดยไม่ต้อง

แกะกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880

ส่วนนี้จะเป็นส่วนของการ แกะกล่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เพื่อให้ดูกันแบบซิงๆ ว่าถ้าซื้อมาแล้วจะเจอกับอุปกรณ์อะไรด้านในกันบ้าง เจ้าของผลิตภัณฑ์มีความพิถีพิถัน ใส่ใจตั้งแต่กล่องผลิตภัณฑ์มากน้อยเพียงใด แต่ก่อนที่จะแกะกล่องขอมาให้ดูรูปลักษณ์ของกล่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นด้านนอกกันก่อนดีกว่า

ด้านนอกกล่อง

เครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 นั้นมากับกล่องในโทนสีเทา ผสมกับสีเขียว (สีเขียวเป็นสีโลโก้ของแบรนด์) ซึ่งเป็นสีเอกลักษณ์เฉพาะของยี่ห้อไอโรบอท อยู่แล้ว เน้นความหรูหรา ไฮโซ แต่แฝงไปด้วยความทันสมัยและชาญฉลาด (ว่าไปนั่น  ! แต่เมื่อเห็นแล้วก็รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ)

iRobot Roomba 880 Box Front
หน้ากล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880

ด้านหน้าของกล่อง ก็ไม่มีอะไรมาก มีแต่รูปตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba ตั้งเด่นตระหง่านในแนวเฉียงอยู่ พร้อมหัวมุมซ้ายบนเป็นโลโก้ยี่ห้อสินค้า ด้านมุมซ้ายล่างเป็นรูป แปรงกวาดหลักแบบคู่ (Dual Main Brush) พร้อมเขียนว่า “Aeroforce™ – Performance Cleaning Systems” ซึ่งจุดนี้แน่นอน ถือว่าเป็นจุดเด่น ถึงเด่นมากๆ ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นนี้เลยทีเดียว เพราะก่อนหน้านี้ ผมรีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นมาหลายตัว ก็ยังไม่เคยพบเคยเห็นหุ่นยนต์ที่มีแปรงกวาดหลักคู่แบบนี้

iRobot Roomba 880 Box Rear
หลังกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 บอกคุณสมบัติเด่นสุด 3 อย่าง ของเครื่อง

ด้านหลังกล่อง ใช้สโลแกนว่า “Let the robots do the work” ประมาณว่าให้หุ่นยนต์ทำงานบ้านแทนคุณ ซึ่งมีการอธิบายสรรพคุณของเทคโนโลยี AeroForce™ เพิ่มเติมพร้อมคำบรรยายว่า “Delivers up to 50% greater cleaning performance” คือเพิ่มความสะอาดหมดจด มากขึ้นอีกกว่า 50% จากที่เคยเป็นอยู่ พร้อมกับรูปกราฟฟิกอธิบายเทคโนโลยีนี้เพิ่มเติมอีก 3 อย่างคือ

  1. Tangle-Free AeroForce™ Extractor : แปรงกวาดหลัก มีทั้งหมด 2 แปรง ผลิตจากยางที่มีความเหนียว และ ยืดหยุ่นสูง ช่วยลดโอกาสการติดพันของเส้นผมบนแปรง ระหว่างการดูด (ซีรีย์ 880 ถือเป็นรุ่นแรก ที่นำเอาเทคโนโลยี 2 แปรง มาใช้)
  2. Airflow Accelerator : เพิ่มการไหลเวียนของอากาศ เพื่อให้การดูดฝุ่นจากพื้นถึงกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองนั้น มีประสิทธิภาพสูงสุด
  3. High-Efficiency Vacuum : ระบบการดูดฝุ่นมีประสิทธิภาพสูง ตรงที่นอกจากแปรงกวาดหลัก 2 แปรง จะช่วยปั่นฝุ่น ดูดฝุ่นเข้าไปเก็บเอาไว้ในเครื่องแล้ว ยังมีระบบลมดูด (Vacuum) พลังสูง ที่จะเข้ามาช่วยเสริมเพิ่มแรงดูด ให้มากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ซึ่งจะเป็นหลักการเดียวกับเครื่องดูดฝุ่น ทั่วๆ ไป ที่จะใช้พลังลมมหาศาล ในการดูดฝุ่นเข้าไปเก็บไว้ในเครื่อง (หุ่นยนต์ดูดฝุ่นน้อยตัว ที่มีความสามารถตรงนี้ ต้องตัวท็อปๆ รุ่นใหญ่ๆ ถึงจะมี)

ส่วนด้านข้างกล่องทั้ง 2 ฝั่ง (ซ้ายกับขวา) ก็จะเป็นการบอกบรรยายถึงความสามารถของตัวเครื่องอย่างละเอียด พร้อมกับ อุปกรณ์ที่ให้ติดมาในกล่องว่ามีอะไรบ้าง

ด้านในกล่อง

เมื่อลองเปิดกล่องของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ออกมาดูกันภายนอกแล้ว ก็จะพบกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูกบรรจุอยู่ในหีบห่อ อย่างดี พร้อมคู่มือการใช้งานที่เป็นทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และ ภาษาจีน อย่างดี ! จริงๆ

อุปกรณ์ภายในกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880

จากที่ดูรูปลักษณ์ภายนอกของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้กันมาแล้ว ขอเชิญมาดูอุปกรณ์ที่ทางผู้ผลิต เขาให้มาในกล่องกันดูบ้าง ว่ามีอุปกรณ์ชิ้นไหนกันบ้าง โดยขออธิบายตามตัวเลข ที่กำกับอยู่ในรูปเลย

iRobot Roomba 880 Component
รายการอุปกรณ์ ที่มีมาให้ในกล่อง iRobot Roomba 880
  1. Virtual Wall Lighthouse (VWLH) (2 ชุด) : ชุดอุปกรณ์สร้างกำแพงจำลอง (กำแพงเสมือน) และ ประตู ด้วยแสงอินฟราเรด หากกรณีที่ คุณไม่ต้องการให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเข้าไปทำความสะอาดในบางห้อง และที่สำคัญห้องนั้นไม่มีประตูกั้น เพราะในห้องนั้นมีเด็กทารก หรือ ข้าวของเครื่องใช้ที่สำคัญวางอยู่บนพื้น คุณก็สามารถใช้เจ้ากล่องนี้วางไว้แทนประตูได้ ที่ปากประตูห้อง โดยไม่ต้องมีสิ่งกีดขวาง อย่างสิ่งของ ฉากกัน หรือแถบแม่เหล็ก มาขวางมันจริงๆ โดยรัศมีทำการของมันคือ 7 ฟุต หรือ ประมาณ 2 เมตร นั่นเอง แต่จะใช้งานได้ ก็ต้องใส่ถ่านก้อนใหญ่ด้วยนะ (มีถ่านแถมมาให้ในกล่อง)
  2. User Manual Set (1 ชุด) : ชุดคู่มือการใช้งานหุ่นยนต์ดูดฝุ่น อธิบายอย่างละเอียดเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และ ภาษาจีน ตามลำดับ ภายในซองประกอบไปด้วย
    1. Owner’s Manual – คู่มือการใช้งาน จำนวน 38 หน้าต่อภาษา (1 เล่ม)
    2. Quick Start Manual – คู่มือผู้ใช้เริ่มต้นอย่างรวดเร็ว (1 เล่ม)
    3. Warranty Card – ใบรับประกันสินค้า (1 แผ่น)
  3. Home Base™  (1 แท่น) : ตัวนี้คือ “แท่นชาร์จ” บางยี่ห้ออาจจะเรียกมันว่า “Charge Base” ก็ได้แล้วแต่ถนัดจะเรียก แต่ขอให้พึงระลึกเอาไว้เลยว่า มันคือสิ่งสิ่งเดียวกัน นั่นคือตัวชาร์จพลังงาน จากไฟบ้าน เข้าไปสู่ตัวเครื่องดูดฝุ่น ซึ่ง iRobot Roomba 880 รุ่นนี้นั้นสามารถวิ่งกลับเข้าแท่นชาร์จเองได้โดยอัตโนมัติ โดยผู้ใช้งานไม่ต้องไปค้นหามันเอง ว่าไปดับ ไปจอดอยู่ที่ไหน หลังจากที่มันทำการดูดฝุ่นเสร็จ มันฉลาดพอที่จะวิ่งกลับแท่นชาร์จได้เอง โดยไม่หลง
  4. Remote Control (1 อัน) : รีโมทคอนโทรล หรือ ตัวควบคุม ส่งคำสั่ง สั่งงานระยะไกลของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เพิ่มความสะดวกสบาย ในการใช้งานมากขึ้นไปอีก แบ่งการทำงานหลักๆ ออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ คือ
    1. ปุ่มควบคุมทิศทาง
    2. ปุ่ม “SPOT” เพื่อใช้ทำความสะอาดเฉพาะจุดที่ต้องการ มีรัศมีทำการ 1 เมตร โดยจะวนเป็นก้นหอย เมื่อเสร็จจะกลับไปที่เดิม
    3. ปุ่ม “CLEAN/POWER” หรือปุ่มสั่งเครื่องเพื่อเริ่มทำความสะอาด และ ปุ่มเปิดปิดเครื่อง (ใช้ปุ่มเดียวกัน)
    4. ปุ่ม “DOCK” เพื่อเรียกให้เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น กลับไปยังแท่นชาร์จ
  5. Charge Cord (1 เส้น) : สายไฟขนาดความยาวสุทธิ 1 เมตร เอาไว้เชื่อมต่อระหว่าง แท่นชาร์จ กับ ปลั๊กไฟบ้าน
  6. iRobot Roomba 880 (1 เครื่อง) : และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Robot Vacuum) ที่ต้องให้มากับกล่อง 1 เครื่อง ด้วยน้ำหนักตัว ขนาด 3.8 กิโลกรัม ก็ไม่ถือว่ากำลังพอดี ไม่หนักมากเท่าไหร่ หากเทียบกับคู่แข่งอีกหลายๆ ตัว
  7. HEPA Air Filter (2 แผ่น – อยู่ในเครื่อง 1 แผ่น และ สำรอง 1 แผ่น) : แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง ที่สามารถกรองเศษฝุ่นละออง ที่มีขนาดอนุภาคเล็กๆ ได้ อย่าง เชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ต่างๆ ถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันฝุ่นที่ถูกดูดเข้าไปเก็บในเครื่อง ตีกลับพ่นออกมาในห้องที่กำลังดูดฝุ่นได้อีก
  8. Battery (แบตเตอรี่ หรือ ถ่านไฟฉาย) : เนื่องจากมีอุปกรณ์ 2 ชนิด ภายในกล่อง ที่จำเป็นจะต้องใช้ถ่าน ในการหล่อเลี้ยงพลังงาน ได้แก่ตัวสร้างกำแพงและประตูจำลอง (Virtual Wall Lighthouse) และรีโมทคอนโทรล (Remote Control) โดยเขาให้มาดังต่อไปนี้
    1. ขนาด AA จำนวน 2 ก้อน เพื่อใช้สำหรับรีโมทคอนโทรล
    2. ขนาด C จำนวน 4 ก้อน เพื่อใช้สำหรับตัวสร้างกำแพงจำและประตูลอง (สำหรับ 2 ชุดชุดละ 2 ก้อน)
  9. iRobot Cover (1 แผ่น) : แผ่นกระดาษแข็งพื้นหลังสีเทาไล่ขาว เขียนสโลแกนสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “Let the robots do the work” พร้อมรูปผลิตภัณฑ์ในสายการผลิตของเขา พร้อมกับเขียนมุมขวาล่างว่า “Designed in Boston” ซึ่งเป็นเมืองบอสตัน ซึ่งเป็น เมืองหลวงของรัฐแมสซาชูเซตส์ในสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ ของบริษัทเขาตามที่ได้กล่าวไว้ด้านบน นั่นเอง

คุณสมบัติ ความสามารถของ iRobot Roomba 880

iRobot Roomba 880 Tilt View
อีกมุมกับ iRobot Roomba 880

โดยส่วนมากแล้วข้างกล่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เกือบร้อยทั้งร้อย ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ มักจะต้องมีส่วนที่บรรยายสรรพคุณ ความสามารถของเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นกันอยู่แล้ว ไม่เหมือนกล่องมือถือไอโฟน ที่เป็นกล่องสีขาว ไม่มีบอกสรรพคุณความสามารถอะไรเลย สาเหตเพราะคนซื้อไอโฟนนั้น มีความศรัทธา และ เชื่อมั่น ในตัวแบรนด์สินค้านั้นๆ มาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผิดจากกล่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เพราะอุปกรณ์นี้ถือเป็นแกดเจ็ทใหม่ ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดได้ไม่กี่ปี ดังนั้นลูกค้า คงจะไม่เสียเงินเป็นหมื่นๆ เพื่อมาซื้อสินค้าที่ตัวเองไม่รู้จัก หรือเชื่อมั่นเป็นแน่

แน่นอนว่าผมมักจะชอบอ่านตรงจุดนี้เป็นพิเศษ สาเหตเพราะอะไรนะเหรอ ? ก็เพราะทางบริษัทผู้ผลิต เขาจะต้องงัดเอาความสามารถที่โดดเด่นทั้งหมดของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่เขามี ออกมาแสดง ณ จุดนี้ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาไปมากกว่านี้ มาดูถึงความสามารถของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 นี้กันเลยดีกว่า

โดยข้างกล่อง เขาแบ่งคุณสมบัติและความสามารถออกเป็นสองกลุ่มหลักๆ คือ การทำงานที่ครอบคลุม และ ความสะดวกสบาย

คุณสมบัติด้านการทำงานที่ครอบคลุม (Coverage Features)

  1. Vacuums on its own using iAdapt Responsive Cleaning Technology : มีระบบการดูดที่ชาญฉลาดและทันสมัย ด้วยเทคโนโลยี iAdapt ลิขสิทธิ์เฉพาะของไอโรบอท สามารถดูดฝุ่นได้ทุกสถานการณ์ ดูดสะอาด ตอบสนองเยี่ยม ทุกสภาพของพื้นของห้อง )
  2. Makes multiple passes of every section of your floor : สามารถวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับ ระหว่างห้องต่างๆ หรือ ระหว่างพื้นพรมกับพื้นกระเบื้องห้อง ได้อย่างสบายๆ
  3. Cleans along walls using spinning side brush for most through floor coverage : มีแปรงข้าง (Side Brush) ที่ให้เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นสามารถดูดฝุ่นซอกซอน เข้าไปตามขอบกำแพง หรือแม้แต่ หัวมุมของห้องได้อย่างง่ายๆ ซึ่งจากที่เห็นมา หุ่นยนต์ดูดฝุ่นในตลาดหลายตัว ไม่มีแปรงข้างแบบนี้ นอกจากนี้จุดเด่นของมันอีกอย่างของแปรงข้างคือ มันมีแปรงข้างที่ค่อนข้างยาวมากๆ ยาวกว่าหลายๆ ยี่ห้อเลยทีเดียว
  4. Navigate under and around furniture and through loose cords without damaging household objects : คุณสมบัตินี้ถือว่าหลายๆ คนคงจะปรารถนา เนื่องจาก เป็นคุณสมบัติที่บอกว่ามันจะสามารถทำงานและเอาชนะอุปสรรค สิ่งกีดขวางต่างๆ ได้ง่ายๆ รวมไปถึงยัง วิ่งลอดใต้เฟอร์นิเจอร์ได้อย่างไม่มีติดขัด หากอยู่ข้างใต้เฟอร์นิเจอร์อย่างโซฟา มันจะสามารถเอาตัวรอดวิ่งออกมาได้เอง โดยที่ไม่ต้องให้เราต้องก้มไปหยิบออกมาจากใต้โซฟา และอีกอย่างคือ มันสามารถวิ่งผ่านสายไฟต่างๆ ได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ กับทั้งตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเอง และ สายไฟ พูดง่ายๆ คือมันมีความสามารถในการเอาตัวรอดได้ดีนั่นเอง
  5. Avoids stairs and other drop-offs : หากวิ่งไปถึงขอบชั้น หรือขอบบันได มันจะไม่วิ่งตกลงไป ด้วยเซนเซอร์ที่มีอยู่รอบตัวของมัน ผสมผสานกับเทคโนโลยี iAdapt ที่กล่าวมาด้านบน ทำให้ปัญหานี้หมดห่วง
  6. Optically and Acoustically detects dirtier areas and cleans them more intensely : มีความสามารถในการตรวจจับ หาพื้นที่สกปรก หรือมีฝุ่นละอองเยอะ เพื่อที่จะให้ iRobot Roomba ตัวนี้มันได้สามารถเน้นยำการดูด หรือทำความสะอาด ตรงจุดๆ นั้นได้อย่างละเอียดและสะอาดหมดจด

ความคิดเห็นส่วนตัว

จากสรรพคุณที่กล่าวมาด้านบนนี้ มีหลายข้อที่เป็นความสามารถพื้นฐานของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นสูงๆ ที่มีติดตัวมาให้อยู่แล้ว อาทิ การวิ่งผ่านพื้นต่างระดับ การหลบหลีกสิ่งกีดขวาง หรือ การป้องกันไม่ให้ตกบันได เป็นต้น

แต่ความสามารถแปรงข้าง (Side Brush) จากที่กล่าวไว้ในคุณสมบัติข้อ 3. หากดูผ่านๆ ก็ปกติ แต่เมื่อเห็นของจริงแล้ว ขนาดแปรงข้าง ของเจ้า iRobot Roomba 880 ตัวนี้นั้นมีขนาดใหญ่ ขนแปรงยาว มากๆ ทำให้ซอกซอนตามซอกมุมของห้อง กำแพง ผนัง ได้อย่างหมดจด

ในส่วนของข้อ 4. เรื่องของการเอาตัวรอดจากสายไฟที่วางกองอยู่บนพื้นก็ดูน่าสนใจ เพราะหุ่นยนต์ดูดฝุ่นส่วนมากมักจะเอาตัวรอดจากสายไฟที่กองอยู่บนพื้น ไม่ค่อยได้ และไม่ค่อยถูกกัน เช่นสายชาร์จโทรศัพท์มือถือ สายไฟจากพัดลมตั้งพื้น ถือว่าเป็นอริกันเหมือน งูกับเชือกกล้วย เลยทีเดียว

รวมไปถึงข้อ 6. หรือ ระบบการตรวจจับหาพื้นที่สกปรก และให้เน้นให้มันดูดเป็นพิเศษ ดูดอย่างละเอียด ตรงนี้ก็ถือว่า จากที่รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นมาหลายตัว ไม่เคยเห็น ความสามารถตรงนี้มาก่อน

คุณสมบัติด้านการทำงานที่สะดวกสบาย (Convenience Features)

  1.  Extractors eliminate the hassle of hair-tangled brushes : ด้วยแปรงกวาด (Brush) แบบคอมโบ 2 แปรงช่วยกันปั่น ดูดฝุ่น เข้าไปบนเครื่อง ทำให้ลดโอกาสเศษผมติดพันกับตัวแปรงกวาด ซึ่งผลลัพธ์คือ จะต้องทำความสะอาดบ่อย
  2. Automatically charges itself between cleanings : มีความสามารถในการวิ่งกลับแท่นชาร์จได้ด้วยตัวเอง หากการดูดฝุ่นทั่วทั้งพื้นที่ในห้องเสร็จสิ้น
  3. Cleans on a schedule that’s convenient for you : สามารถตั้งเวลาทำความสะอาดได้เป็นกิจวัตร ระบบนี้จะมีประโยชน์มากๆ หากคุณจะต้องออกไปทำงาน หรือ เรียนหนังสือ และกลับบ้านเย็น คุณสามารถตั้งเวลาให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นสามารถดูดฝุ่นก่อนเวลาคุณกลับบ้านได้ พอคุณกลับมาถึงบ้านก็เพียงแค่เอาฝุ่นและเศษขยะ ที่อยู่ กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dirt Bin) ไปทิ้งถังขยะ ก็เป็นอันเสร็จพิธี
  4. Stays in one room until it is completely clean then moves to the next : ความฉลาดอีกอย่างของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 คือ มันจะทำการดูดฝุ่นให้ทั่วทั้งบริเวณห้อง ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายออกไปดูดในห้องหรือพื้นที่ถัดไป
  5. Works on all floor types : สามารถดูดฝุ่น ทำงานได้ทุกสภาพพื้นผิวห้อง ไม่ว่าจะเป็น พื้นพรม พื้นปาร์เก้ พื้นกระเบื้อง ไม้ยาง ต่างๆ ให้ประสิทธิภาพสูงสุด ไม่แตกต่างกัน

ความคิดเห็นส่วนตัว

สรรพคุณด้านการทำงานในส่วนนี้ ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นข้อ 1 และ ข้อ 4 โดยขอเริ่มจากข้อ 1 ก่อนเลยละกันด้านล่าง

กล่าวขยายความในข้อ 1 นั้นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นโดยมากแล้วจะมี แปรงกวาดหลักแปรงเดียว และถ้าหากมีเศษผม โดยเฉพาะเส้นผมของสุภาพสตรีซึ่งมีความยาวมาก เข้ามาติดพันกันกับตัวแปรงมากขึ้น และเจ้าของเครื่องไม่ทำความสะอาดเป็นเวลานาน จะส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการดูดฝุ่นลดน้อยลงไปอีก เพราะแปรงมีอุปสรรคหมุนได้ช้าลง แต่รุ่นนี้ไม่ใช่ มี 2 แปรง ช่วยกันปั่นและดูดฝุ่น เข้าไป

นอกจากนี้แล้ว ข้อ 4 หรือ การที่ดูดให้ครบทั่วพื้นที่ทั้งห้องให้เสร็จก่อนจะเคลื่อนย้ายไปดูในพื้นที่ต่อไป ก็ถือว่าชาญฉลาดเช่นกัน เพราะหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวอื่นๆ ส่วนมากจะวิ่งมั่ว เข้าห้องนี้ ออกห้องโน้น สักพักก็วิ่งกลับมาดูดห้องเดิมอีก สลับไปสลับมา ผลลัพธ์คือ เสียเวลาดูดนาน แถมบางทีดูดไม่ทั่วทุกพื้นที่ด้วย

สำรวจหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880

หลังจากที่ได้เห็นอุปกรณ์ ที่ทางผู้ผลิตเขาได้ ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คราวนี้ลองมาสำรวจตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ ของสินค้า กันดูบ้าง ว่าแต่ละด้าน มีจุดอะไร จุดไหน ที่น่าสนใจกันบ้าง

ด้านบน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880

ส่วนแรกนี้คือ มุมมองที่อยู่ด้านบนของเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot รุ่น Roomba 880 มากับตัวเครื่องสีดำมืด สลับเทาเข้มรอบๆ ให้ความรู้สึกดุดัน และ ทันสมัย ลองมาดูบ้างว่ามีอะไร ส่วนประกอบตรงไหน ที่น่าสนใจกันบ้าง

iRobot Roomba 880 Top
มุมมองด้านบนของตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 ตัวนี้มีลักษณะเป็นทรงกลม ดังนั้นจึงทำให้การเข้าไปดูดฝุ่นตามซอกมุมต่างๆ ของห้อง ตลอดจนข้างกำแพงนั้นถือเป็นอุปสรรค ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่ใช้ทรงนี้อยู่แล้ว แต่ครับแต่ ! แต่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้ เขาได้แก้ปัญหาอุปสรรคตรงนี้โดยใช้แปรงข้าง (Side Brush) ที่มีขนาดยาว จึงทำให้มันเข้าไปปัดกวาดฝุ่นที่อยู่ข้างๆ เข้ามาอยู่ในรัศมีทำการของเครื่อง เพื่อที่จะให้มันได้ดูเข้าไปได้อย่างไร้ปัญหากันเลยทีเดียว เอาเป็นว่าขอเริ่มอธิบายส่วนประกอบต่างๆ ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ด้านบนกันเลยดีกว่า

  1. Bin Release Button (ปุ่มเปิดถังขยะ) : ใช้กดเพื่อปลดล็อค กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dirt Bin) ออกจากเครื่อง เพื่อนำฝุ่น และ เศษขยะ ที่ดูดเสร็จออกไปทิ้งที่ถังขยะ และ ทำความสะอาด
  2. Control Panel (แผงควบคุม และ แสดงสถานะเครื่อง) : เนื่องจากการแสดงสถานะ แสดงผลต่างๆ ของเครื่องนี้ใช้แบบหน้าจอตัวเลขดิจิตอล ไม่ใช่แบบจอ LED ดังนั้นจึงทำให้มีปุ่มควบคุมบนหน้าเครื่อง พร้อมพื้นที่ไฟแสดงสถานะ เยอะสักนิดนึง ซึ่งเดี๋ยวจะขออธิบายเพิ่มเติมในลำดับต่อไป
  3. Carry Handle (หูหิ้ว) : หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 ตัวนี้มีสิ่งที่เรียกว่า “หูหิ้ว” ให้จับยกเครื่อง ขึ้นมาจากพื้นด้วย ส่วนใหญ่แล้วตัวอื่นๆ จะไม่ค่อยมีให้เห็น ดูเหมือนเป็นส่วนประกอบที่พื้นๆ ธรรมดา แต่ขอบอก มีประโยชน์มากๆ เลยทีเดียว
  4. RCON (Room Confinement Sensor) : ที่เห็นเป็นวงกลม จุดสีดำๆ อยู่ด้านบนนั้นคือส่วนที่เรียกว่า “RCON” มันคือ เซ็นเซอร์จำกัดบริเวณห้อง ที่เอาไว้ทำงานร่วมกับ กำแพงจำลอง ที่ผู้ใช้งานสามารถวางไว้ตามปากประตูของห้อง ที่ไม่ต้องการให้มันวิ่งเข้าไป
  5. Bumper (กันชน) : ใช้ดูดซับแรงกระแทก ระหว่างตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba กับ วัสดุ สิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ ที่อยู่ในห้อง ให้ไม่เกิดความเสียหาย เป็นรอย ขีดข่วนได้เป็นอย่างดี

กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง iRobot Roomba 880

iRobot Roomba 880 Dirt Bin Removed
กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ของ iRobot Roomba 880 ขณะถอดแยกออก จากตัวเครื่อง

อีกส่วนที่อยากจะให้ดูกันคือ กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dirt Bin) ของเจ้าหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ตัวนี้กันดูบ้าง ตามสเปคของทางผู้ผลิตแล้ว iRobot Roomba 880 มีขนาดความจุของกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ให้คุณมาใส่เศษขยะ เศษยางลบ เศษผม ต่างๆ กันอยู่ที่ 0.42 ลิตรด้วยกัน

และจากที่ลองสัมผัสดูแล้วนั้น มันมีความคงทนแข็งแรงค่อนข้างสูง มีระบบการปิดกั้นฝุ่นในกล่องไม่ให้หลุดรั่วออกมาข้างนอกอีกครั้ง หรือ ออกมาลอยในอากาศที่ค่อนข้างแน่นหนา ลองดูที่รูปประกอบ 4 รูปเพิ่มเติม ด้านล่างนี้ได้เลย

ความคิดเห็นส่วนตัว

จากที่รีวิวมาหลายตัว กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 ตัวนี้ ถือว่าประกอบได้แนบเนียน มีความแข็งแรงทนทานสูง กว่าตัวอื่นๆ แถมยังทำความสะอาดง่ายอีกต่างหาก

 

ด้านล่าง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880

iRobot Roomba 880 Underside
มุมมองด้านล่าง (หงายท้อง) หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880

ส่วนประกอบด้านล่าง ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่สำคัญมากๆ เพราะนั่นคือส่วนที่จะต้องสัมผัสพื้น คอยวิ่งเซาะ วิ่งเลาะ ไปตามพื้นที่ต่างๆ รอบๆ ห้องของเรา และยังเป็นส่วนที่จะดูดฝุ่น เศษขยะ เศษผม ต่างๆ เพื่อเข้าไปเก็บเอาไว้ในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง จึงสำคัญมากๆ เลยทีเดียว

จากรูปจะสังเกตเห็นตรงใต้หมายเลข 3 และ หมายเลข 6 จะมีแผ่นสีเหลืองๆ พร้อมลงศรชี้ลงเข้าหาตัวเราอยู่ นั่นคือแผ่นที่เขาปิดคั่นอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ให้สัมผัสกัน ก่อนการเปิดใช้งานครั้งแรก โดยแถบสีเหลืองตัวหมายเลข 6 นั้นเป็น แถบกันขั้วแบตเตอรี่ (Battery Pull Tab) เป็นการปิดมาจากโรงงาน ดึงออกแล้วใช้งานได้เลย และไม่ต้องใส่กลับเข้าไปอีกนะ

  1. Cliff Sensors (เซ็นเซอร์พื้นที่ต่างระดับ) : เอาไว้ตรวจสอบดูว่า มันวิ่งไปถึงพื้นที่ต่างระดับแล้วหรือยัง แล้วเมื่อใดควรหยุดวิ่ง หรือ วิ่งทำงานต่อ พูดง่ายๆ มันคือ เซ็นเซอร์เอาไว้ป้องกันหุ่นยนต์ดูดฝุ่นวิ่งตกบันได โดยมันอาจนำมาสิ่งความเสียหายที่ใหญ่หลวงก็ได้ ซึ่งเจ้าเซ็นเซอร์พื้นที่ต่างระดับ นี้มีอยู่ทั้งหมด 6 จุด รอบตัวเครื่อง มั่นใจได้แน่นอน ว่าไม่ตกบันได
  2. Main Wheel (ล้อขับเคลื่อนหลัก) : ส่วนนี้คือล้อขับเคลื่อนหลัก ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น มี 2 ล้อ (ซ้าย และ ขวา) ที่จะนำพาหุ่นยนต์ดูดฝุ่น วิ่งไปดูดฝุ่นตามพื้นที่ต่างๆ ในห้องของเรา รวมไปถึงการบังคับเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ก็เกิดจากล้อขับเคลื่อนหลักนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ล้อขับเคลื่อน 2 ล้อนี้จึงมีขนาดใหญ่ที่สุด พร้อมกับมีสปริง ในการให้ตัวของล้อ เพื่อที่จะให้มันสามารถวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับ หรือ สิ่งกีดขวาง ที่มีขนาดไม่สูงมากได้
  3. Aeroforce™ Extractors (แปรงกวาดหลักแบบคู่) : ส่วนนี้ทางผู้ผลิตเขาเรียกเป็นภาษาไทยว่า “ระบบดูดสิ่งสกปรกแบบสูญญากาศ” แต่จริงๆ แล้วจากที่รีวิวมาหลายตัว มันก็คือสิ่งที่เรียกว่า “Main Brush – แปรงกวาดหลัก” นั่นเอง โดยวัสดุมันทำมาจากยาง ที่มีความเหนียว และ คงทนสูง มีมี 2 แปรง คอยช่วยกันดูดฝุ่น ขึ้นไปเก็บไว้บนถังใส่ขยะ นั่นเอง (สามารถถอดล้างทำความสะอาดได้)
  4. Side Brush (แปรงข้าง) : แปรงข้าง ส่วนนี้เอาไว้ใช้ปัดกวาดฝุ่นที่อยู่นอกรัศมีทำการของเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 เพื่อให้มันเข้ามาอยู่ด้านในรัศมีทำการของ แปรงกวาดหลักคู่ ที่พร้อมจะส่งพลังดูดฝุ่นออกมาอย่างมหาศาล เพื่อเข้าไปเก็บในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ในลำดับต่อไป โดยจะมีแค่ฝั่งขวา ฝั่งเดียวเท่านั้น สาเหตุเพราะตัวเครื่องจะวิ่งเลาะกำแพงฝั่งขวาเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีฝั่งซ้าย
  5. Removable Caster Wheel (ล้อเลื่อนแบบถอดออกได้) : ถือเป็นล้อรับน้ำหนักของเครื่องด้านหน้า มันสามารถกลิ้งหมุนไปหมุนมาได้ เพื่อพาตัวเครื่องไปยังทิศทางที่ต้องการได้ นอกจากนี้แล้ว จุดเด่นของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้คือ มันสามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้ อีกด้วย เจ๋งๆ
  6. Home Base™ Contact Point (จุดสัมผัสแท่นชาร์จ) : เอาไว้ใช้ในการถ่ายทอดพลังงานจากแท่นชาร์จ หลังการดูดฝุ่นเสร็จสิ้น นั่นเอง ผู้ใช้งานไม่ต้องเป็นกังวลว่าเวลามันกลับมายังแท่นชาร์จแล้ว จะสามารถสัมผัสตรงเป๊ะ หรือไม่ คำตอบคือ มันฉลาด โคต.. ที่จะเข้ามาสัมผัสอย่างตรงเป๊ะ และชาร์จไฟอย่างอัตโนมัติได้เลย

มาขยายซูมภาพของ ฉลากที่ปิดใต้เครื่องกันแบบชัดๆ ดูบ้างว่ามีอะไรน่าสนใจกันบ้าง

iRobot Roomba 880 Underside Label
รายละเอียดฉลาก ที่ถูกติดอยู่ใต้เครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 อย่างชัด

จากที่สังเกตดูแล้ว เครื่องนี้ไม่มีการใช้เลเซอร์ในการนำทาง (Laser-Guided Navigation) จึงไม่มีฉลากแจ้งการใช้เทคโนโลยีของเลเซอร์ระบุไว้ นอกจากนี้มีระบุว่า “Designed in USA, Assembled in China” นั่นหมายความว่าเครื่องถูกออกแบบในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ถูกผลิตในประเทศจีน นั่นเอง

iRobot Roomba 880 Vertical View
จับ iRobot Roomba 880 มาวางในแนวตั้งกันดูบ้าง

ลองดูภาพอีกมุมของ iRobot Roomba 880 ที่ผมได้นำจับมาวางในแนวตั้งดู จะสังเกตเห็นด้านขวา จะมีซี่ๆ คล้ายๆ รูระบายอากาศอยู่ ถูกต้องครับ ! มันคือ รูระบายอากาศ จากพลังลมที่ดูดเข้าไปแล้วถูกพ่น ออกมาจากเครื่องนั่นเอง แต่อย่างที่กล่าวไว้ด้านบนว่าลมที่ออกมาจากเครื่องนั้น ถูกกรองอากาศที่สกปรก โดยแผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง HEPA เอาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้มั่นใจว่าอากาศที่ออกมาจากเครื่องนั้นสะอาดบริสุทธิ์ อย่างแน่นอน

รู้จักกับ Virtual Wall Lighthouse คืออะไร ?

iRobot Roomba Virtual Wall Lighthouse
หน้าตา กำแพงจำลอง หรือ กำแพงเสมือน เรียกว่า Virtual Wall Lighthouse ของ iRobot ตระกูล Roomba

จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วเรื่องของ ตัวสร้างกำแพงจำลอง (Virtual Wall) หรือ กำแพงเสมือน (แล้วแต่จะเรียก) นั้นตัว iRobot Roomba ตัวนี้เค้าจัดมาให้ในกล่องถึง 2 ตัวด้วยกัน ซึ่งถือว่ามากที่สุดแล้ว ตั้งแต่เคยรีวิวมา (ส่วนมากจะให้แค่ตัวเดียว หรือไม่ให้เลย) รูปทรงมันก็เป็นกล่องสีดำเล็กๆ หน้าตาเหมือน กระติกน้ำลูกเสือ ที่ใช้กัน (ดูด้านบนสิ มีกลมๆ เหมือนฝาเปิดกระติกน้ำเลย แหะๆ)

ขออธิบายอีกครั้งสั้นๆ หากใครที่ยังไม่ได้อ่านประโยชน์ของมันที่ไหนมาก่อน คือ มันเอาไว้สร้างแผงกั้นห้องจำลอง หากห้องนั้นไม่มีประตูกั้นห้อง และคุณไม่ต้องการให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเข้าไปทำความสะอาดด้านในห้องนั้น เช่น ห้องนั้นอาจจะมีเด็กทารกอยู่ ในห้อง ดังนั้น การปล่อยเอาหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเข้าไปทำความสะอาดในห้องที่มีเด็กเล็ก หรือ ทารกนั้น อาจเป็นอันตรายต่อเด็กทารกได้

หรืออีกกรณีหนึ่งคือ หากคุณมีเฟอร์นิเจอร์ เครื่องแก้ว หรืออะไรก็ตามแต่ที่สามารถแตก หรือ พังง่าย และไม่ต้องการให้ iRobot Roomba เข้าไปทำความสะอาดใกล้ๆ เพราะเสียวแตก เสียวพัง ก็สามารถเอากำแพงจำลอง นี้ไปวางใกล้กับเครื่องแก้ว หรือ เฟอร์นิเจอร์ นั้นได้เลย

การใช้งานมันต้องใส่ถ่านขนาด C (ถ่านก้อนใหญ่) เข้าไปชุดละ 2 ก้อน ด้วยกัน พร้อมกับเปิดใช้งาน โดย Virtual Wall ตัวนี้จะมี ให้เลือกอยู่ 2 โหมด ได้แก่ Virtual Wall Mode และ Lighthouse Mode ซึ่งสามารถปรับได้โหมดได้หมุนสวิตซ์ ที่หน้ากล่องได้เลยทั้ง 2 ตัว

นอกจากนี้แล้วยังสามารถปรับระดับความแรงของสัญญาณ ที่ถูกปล่อยออกมาในรูปแบบของโคน (Cone) ได้อีกด้วย สามารถยิงรัศมีได้ไกลที่สุดถึง 2.4 เมตร (8 ฟุต) ด้วยกันเลยทีเดียว

Virtual Wall Lighthouse กับความสามารถ 2 โหมด ที่ต้องอึ้ง !

iRobot Roomba Virtual Wall Lighthouse with Battery
Virtual Wall Lighthouse (VWLH) ถ่ายคู่กับแบตเตอรี่ ของมัน

เจ้าตัวกำแพงจำลอง ที่เห็นอยู่จากรูปด้านบนตัวนี้ มีชื่อว่า “Virtual Wall Lighthouse” คุณอาจจะสงสัยว่า ประโยชน์ของมันคืออะไรกันแน่ ? และที่สำคัญ ทำไมต้องมีคำว่า “Lighthouse” ต่อห้อยท้ายมาด้วย ?

ความจริงชื่อที่ยาวๆ ของมันนี้ก็ไม่ได้มีเอาไว้เพื่อความเท่ห์ เก๋ แต่อย่างใด แต่เจ้ากล่องนี้ มันมีคุณสมบัติและความสามารถที่โดดเด่นไม่เหมือนเจ้าอื่นคือ โดยหลักการทำงานของมันนั้น มันจะมีโหมดการทำงานหลักๆ อยู่ 2 โหมด ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ตามใจชอบ ปรับเลื่อนได้ที่สวิตซ์บนกล่องเลย รายละเอียดมีดังต่อไปนี้

  1. Virtual Wall Mode : โหมดแรกนี้ก็ถือว่าธรรมดา เหมือนกับกำแพงจำลองที่เคยเห็นทั่วๆ ไป หลักการทำงานของมันคือ หากคุณไม่ต้องการให้เครื่องเข้าไปเกิน หรือ ล้ำเข้าไปในบริเวณที่ Virtual Wall วางอยู่นั้นอย่างถาวรเลย ละก็คุณสามารถเปิดโหมดนี้ได้เลย
  2. Lighthouse Mode : คำว่า “Lighthouse” นั้นภาษาไทยแปลว่า “ประภาคารเรือ” ที่คอยให้สัญญาณกับเรือเดินสมุทรต่างๆ ในมหาสมุทรต่างๆ เจ้าโหมด Lighthouse ในหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ตัวนี้ก็เช่นเดียวกัน มันสามารถ ทำงานเป็นเหมือนประตูอัตโนมัติ (Automatic Gate) คอยที่จะเป็นเหมือนตัวบังคับให้เจ้า iRobot Roomba ทำความสะอาดให้เสร็จครบทุกพื้นที่เป็นห้องๆ ไป ไม่ใช่วิ่งมั่วเข้าห้องนี้ทีนึง ออกห้องโน้นทีนึง ซึ่งเสียเวลา และ เปลืองแบตเตอรี่ มากๆ ยกตัวอย่างสถานการณ์เช่น สมมุติว่าที่คอนโดมิเนียมของคุณมี 3 ห้องหลักด้วยกัน มันจะบังคับให้เครื่องทำความสะอาดห้องที่ 1 ให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะยอม หรือ อนุญาต ให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เข้าไปทำความสะอาดต่อทันทีในห้องที่ 2 (Room 2) และหากดูดครบทุกพื้นที่ในห้อง 2 แล้ว มันจะยอมให้ออกไปทำความสะอาดต่อในห้องที่ 3 (Room 3) ต่อเลยโดยทันที เมื่อเสร็จสิ้นครบทั้ง 3 ห้อง ก็จะกลับมายังแท่นชาร์จ เพื่อเติมไฟเข้าสู่เครื่องโดยอัตโนมัติ

โดยมาดูกันที่ส่วนประกอบ หน้ากล่อง Virtual Wall Lighthouse กันดูบ้าง มันจะมีแผงควบคุมเล็กๆ อยู่ 2 ปุ่มด้วยกัน ตามหมายเลขที่ระบุเอาไว้บนภาพด้านล่างดังต่อไปนี้

  1. ปุ่มปรับโหมด ว่าต้องการให้มันทำงานในโหมดใด ระหว่าง Lighthouse หรือ Virtual Wall
  2. ปุ่มปรับความแรงของสัญญาณ ที่ปล่อยออกมาจากกล่อง ตามสัญลักษณ์เลยคือ บนสุดสัญญาณจะเบาสุด และ ล่างสุดสัญญาณจะแรงสุด นั่นหมายความว่า มันจะส่งความแรงสัญญาณออกไปได้ไกล ในกรณีที่ปากประตูของคุณกว้างมาก ซึ่งมันสามารถส่งความแรงของสัญญาณออกไปได้ไกลสุดได้มากถึง 2.4 เมตร (8 ฟุต)
iRobot Roomba Virtual Wall Lighthouse Front View
ปุ่มปรับโหมดการทำงาน (โหมด Virtual Wall หรือ โหมด Lighthouse) และ ความแรงของสัญญาณ

อ้อ ! เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก่อนการเปิดใช้งาน คือ อย่าลืมใส่ถ่านขนาด C จำนวน 2 ก้อน เข้าไปที่ด้านล่างของ กล่อง Virtual Wall Lighthouse ด้วยนะ

iRobot Roomba Virtual Wall Lighthouse Underside
ด้านล่างของ Virtual Wall Lighthouse เป็นฝาเปิดสำหรับใส่ถ่านขนาด C จำนวน 2 ก้อน

เมื่อใส่ไปแล้ว อย่าลืมปิดฝา พร้อมหมุนตัวล็อคฝาปิดสีเหลือง เพื่อเป็นอันพร้อมเริ่มต้นการใช้งาน สามารถนำไปวางประจำการตามจุดต่างๆ ของปากประตูห้องได้เลย

รีโมทคอนโทรล iRobot Roomba 880 สั่งงานระยะไกล

iRobot Roomba 880 Remote Control
รีโมทคอนโทรล หน้าตาหรูหราไฮโซ เอาไว้สั่งาน iRobot Roomba 880 จากระยะไกล

ภาพด้านบนคือหน้าตาชัดๆ ของ รีโมทคอนโทรล (Remote Control) หรือ อุปกรณ์สั่งงานระยะไกลของเจ้า iRobot Roomba 880 (ตัว Roomba 870 ไม่มีรีโมทมาให้นะ) ถือเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ ที่จะมาช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย ให้กับผู้ใช้งาน

ตัวรีโมทคอนโทรล นี้มาพร้อมกับถ่านขนาด AA จำนวน 2 ก้อน เมื่อใส่ถ่านเข้าไปแล้ว ก็พร้อมใช้งานได้เลยทันที ด้านการใช้งานก็ไม่มีอะไรมาก มันถูกแบ่งปุ่มหลักๆ ออกเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ

  1. Direction Control (ส่วนควบคุมทิศทาง) : จะสังเกตเห็นเป็นปุ่มวงกลม สีดำอยู่ด้านบน ส่วนนี้เอาไว้ใช้ควบคุมทิศทางของเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 ให้เคลื่อนที่ วิ่งไปในทิศทางที่เราต้องการ สามารถสั่งมันเดินหน้า เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ถอยหลัง ได้ตรงนี้ เรียกได้ว่าซ้ายหัน ขวาหัน สั่งมันได้ตรงนี้เลย
  2. Function Control (ควบคุมฟังก์ชั่นการทำงาน) : จะอยู่ในส่วนของวงกลมด้านล่าง จะประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นการทำงานทั้งหมด 3 ฟังก์ชั่นด้วยกันได้แก่
    1. ปุ่ม SPOT : ทำความสะอาดเฉพาะจุด โดยมันจะเคลื่อนที่วนเป็นก้นหอย ในรัศมี 1 เมตร (3 ฟุต) และจะวนกลับมายังจุดเดิมอีกครั้ง
    2. ปุ่ม CLEAN : ปุ่มกลมตรงกลาง ไว้ใช้สั่งทำความสะอาดในโหมดอัตโนมัติ ซึ่งมันจะวิ่งไปทั่วห้อง แบบอัตโนมัติ
    3. ปุ่ม DOCK : ที่เห็นปุ่มเป็นลักษณะของ จุด จุด จุด . . . นั่นคือปุ่มเรียกหุ่นยนต์ดูดฝุ่นกลับบ้าน หรือ ให้มันกลับไปยังแท่นชาร์จ Home Base™ ของมันนั่นเอง เพื่อนำพลังไฟ เข้าไปเก็บไว้ในเครื่อง เพื่อใช้ในโอกาสต่อๆ ไป

เห็นแล้วจะรู้สึกว่าไม่ยุ่งยากเลย แถมพอมาใช้งานจริงๆ จะยิ่งรู้สึกว่าใช้งานง่ายเข้าไปใหญ่ รีโมททีวี ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้จะดูยากไปเลย (จริงๆ นะ)

เปิดใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880

ในที่สุดก็มาถึงเวลาสำคัญของการเปิดเจ้า หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 ใช้งาน หลังจากที่เสียเวลาลูบคลำ พลิกซ้าย พลิกขวา พร้อมถ่ายรูปมาลงรีวิวอยู่พอสมควร ก็ได้เวลาเตรียมใช้งานจริงเสียที

แต่ก่อนอื่น หากเป็นสินค้าที่มีแบตเตอรี่ ผมจะต้องเสียบชาร์จไฟล่วงหน้าให้เต็มก่อน ในสำหรับครั้งแรก ก่อนการเปิดใช้งาน ถึงแม้ว่าสินค้าส่วนมากแล้วจะมีปริมาณไฟสำรอง มาให้จากโรงงานอยู่แล้วส่วนนึง ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความมั่นใจ ผมจึงเปิดชาร์จเครื่องนี้กับแท่นชาร์จ (Home Base™) เอาไว้ทั้งคืน เพื่อจะได้แบตเตอรี่เต็มเปี่ยม พร้อมสำหรับการเปิดใช้งานครั้งแรก

ติดตั้งแท่นชาร์จ (Home Base™ Installation)

ส่วนแรกที่จะต้องติดตั้งก่อนใครเพื่อนเลย นั่นก็คือส่วนของการติดตั้งแท่นชาร์จ หรือที่เรียกว่า “Home Base™” นั่นเอง โดยทาง iRobot ผู้ผลิต เขาได้ให้แท่นชาร์จ พร้อมกับสายไฟขนาด 1 เมตร มาให้

โดยวิธีการติดตั้งนั้น ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เพียงแค่หาพื้นที่ติดผนัง (ติดกำแพง) และไม่มีสิ่งกีดขวางรอบๆ ในรัศมี 1.2 เมตร (4 ฟุต) หากมีสิ่งกีดขวางในรัศมีทำการ อาจจะทำให้ความแม่นยำของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ในการวิ่งเข้าแท่นชาร์จลดลง

เมื่อพร้อมแล้วให้เสียบสายไฟเข้าทางด้านขวาของแท่นชาร์จ Home Base™ และอีกฝั่งเสียบเข้าปลั๊กไฟบ้าน ได้เลยทันที เป็นอันพร้อมใช้งาน

ข้อพึงระวัง

ทางผู้ผลิตบอกเคล็ดลับ การเก็บรักษาดูแลแบตเตอรี่ ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba มา 3 ข้อหลักๆ ในคู่มือ ดังต่อไปนี้ ซึ่งดูแล้วก็ไม่ยากและลำบากกับผู้ใช้งาน จะดูแลรักษาเลย

  1. ชาร์จแบตเตอรี่ ของ iRobot Roomba ข้ามคืนก่อนการใช้งานในครั้งแรก
  2. ชาร์ตแบตเตอรี่ ของ iRobot Roomba ทันที หลังการใช้งานเสร็จ การรอหลายวันก่อนทำการชาร์จ อาจทำให้แบตเตอรี่เสียหาย และ เสื่อมสภาพได้เร็ว
  3. หากต้องการเก็บ iRobot Roomba ออกนอกแท่นชาร์จ ต้องถอดแบตเตอรี่ ที่ชาร์จแล้ว ออกจากตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น และไปเก็บในที่แห้งและเย็น

ติดตั้งตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Robot Vacuum Installation)

หลังจากเตรียมแท่นชาร์จ เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วกลับมาดูที่พระเอกของงานอย่าง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 กันบ้าง เมื่อนำหุ่นยนต์ดูดฝุ่นมาวางแนบบนแท่นชาร์จ พึงระลึกเอาไว้อย่างนึงว่า จะต้องให้ขั้วไฟจุดสัมผัสตรงกัน ระหว่างใต้เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น กับ แท่นชาร์จด้วย มิเช่นนั้นหากไม่สัมผัสกัน ก็จะชาร์จไฟไม่เข้า

และที่สำคัญ !! อย่าลืมดึงแผ่นที่เขาคั่นอุปกรณ์สีเหลืองที่อยู่ใต้เครื่อง ซึ่งทางผู้ผลิตเขาเรียกว่า แถบกั้นขั้วแบตเตอรี่ (Battery Pull Tab) ออกจากเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ก่อนด้วยละ มิเช่นนั้นตัวเครื่องจะไม่สามารถทำงานได้ปกติ จะขึ้นข้อความว่า “Err 1” เพราะชาร์จไฟไม่เข้า (เจอกับตัวเองมาแล้ว)

iRobot Roomba 880 Battery Pull Tab
แถบกั้นขั้วแบตเตอรี่ iRobot Roomba 880 ต้องดึงออก ก่อนทำการใช้งาน มิเช่นนั้นจะชาร์จไฟไม่เข้า !

เมื่อดึงแถบกั้นขั้วแบตเตอรี่ ออกเป็นที่เรียบร้อย ก็นำมาวางบนแท่นชาร์จ หน้าที่ของผู้ใช้งานอย่างเราๆ ก็ต้อง รอ ร๊อ รอ การชาร์จ กันอย่างอย่างใจจดใจจ่อ จนกว่าจะถึงวันพรุ่งนี้เช้า เพื่อการเปิดใช้งานในครั้งแรก

iRobot Roomba 880 Charging at Home Base
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 กำลังประจำเข้าที่ชาร์จ

และหลังจากที่ใช้เวลาชาร์จมาทั้งคืนแล้ว ก็ได้ว่ามาลองเปิดเจ้าหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 เพื่อใช้งานจริงกันแล้ว

โดยมันไม่มีหน้าจอ LED แสดงผล แต่จะเน้นไปในด้านของความเรียบง่าย ถ้าสังเกตดูที่ด้านบนของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น จะเห็นว่ามีปุ่มกดหลักประจำการ อยู่ทั้งหมด 5 ปุ่มด้วยกัน ซึ่งใน 5 ปุ่มนี้ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกันได้แก่

  • ปุ่มกดตรงกลางเงาๆ ซึ่งเป็นปุ่มที่ใหญ่ที่สุดบนหน้าปัด ปุ่มนี้จะเป็นปุ่มที่เอาไว้ใช้ในการกดเปิดปิดเครื่อง (หากกดแค่ครั้งแรกครั้งเดียว) และมันยังเป็น ปุ่มสั่งเครื่องเริ่มทำงานได้อีกด้วย (หากเครื่องเปิดแล้ว มันจะกลายเป็นปุ่มสั่งให้เครื่องเริ่มทำการดูดฝุ่น)
  • ปุ่มตั้งค่าต่างๆ 4 ปุ่ม สังเกตเป็นปุ่มเล็กๆ ด้านล่าง ซึ่งจะมีชื่อฟังก์ชั่นขึ้นมากำกับ ว่าปุ่มนี้ใช้ทำอะไรบ้าง
iRobot Roomba 880 Top Control Panel
แผงควบคุมด้านบน iRobot Roomba 880 หลังจากกดปุ่มกลาง เพื่อเปิดเครื่องแล้ว

โดยหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้ มีเมนูหลักให้เลือกทั้งหมด 3 เมนูด้วยกัน ได้แก่ Clock Schedule และ Spot ซึ่งถือว่าไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย ใครๆ ก็สามารถใช้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ก็สามารถเริ่มต้นใช้งานได้เองเช่นกัน โดยไม่ต้องให้ลูกหลานมาสอนใช้งาน สำหรับ รายละเอียดของเมนูมีดังต่อไปนี้

  1. Clock : ส่วนนี้เอาไว้ตั้งค่าวันของสัปดาห์ และ เวลาปัจจุบัน เท่านั้น ไม่ต้องใส่ปี ค.ศ. เข้าไป เพียงแค่กดปุ่ม “Day” เพื่อเลือกวันปัจจุบันในสัปดาห์ อย่าง อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ หลังจากนั้นกดปุ่ม “OK” ด้านขวาสุด ต่อด้วยปุ่ม “Hour” เพื่อตั้งค่าชั่วโมง โดยเขาจะใช้หน่วย 12 ชั่วโมง โดยมี AM/PM ช่วยบอกว่าอันไหนเป็นช่วงเช้า ช่วงเย็น และอีกปุ่มคือปุ่ม “Minute” เพื่อใช้ตั้งเวลาในหน่วยนาที เมื่อตั้งค่าเสร็จกดปุ่ม “OK” เช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นส่วนของนาฬิกา (Clock) นี้จะไปสัมพันธ์กับเมนูที่ 2 หรือ “Schedule” เพื่อที่เอาไว้ใช้ตั้งเวลาทำความสะอาดรายวัน
iRobot Roomba 880 Time Setting
เมนูการตั้งค่าเวลา (Time Setting) ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เรียบง่าย เรียนรู้ได้เร็ว
  1. Schedule : ปุ่มนี้เป็นปุ่มที่เอาไว้ใช้ในการตั้งเวลาทำความสะอาดอัตโนมัติ (Scheduling Roomba) ได้ในแต่ละวันของสัปดาห์ โดยคุณสามารถตั้งเวลาให้เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba ออกปฏิบัติงาน ทำความสะอาดห้องได้ตามใจชอบ ยกตัวอย่างเช่น วันเสาร์และอาทิตย์ อยู่บ้านทั้งวัน อยากให้บ้านสะอาดๆ ตั้งแต่ตื่นนอน ก็ตั้งให้มันทำความสะอาดตอน 6 โมงเช้าได้ ส่วนวันจันทร์ถึงศุกร์ กลับบ้านหัวค่ำเพราะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ก็สามารถตั้งเวลาให้มันทำความสะอาดตอน 5 โมงเย็น ก่อนคุณกลับบ้านได้ เป็นต้น และบางวันหากไม่ต้องการให้มันออกมาทำความสะอาด ก็ไม่ต้องป้อนค่าให้มันออกมาก็ได้เช่นกัน ถือว่ามีความยืดหยุ่นสูงเลยทีเดียว
iRobot Roomba 880 Schedule Setting
โหมด ตั้งเวลาทำความสะอาดรายวัน (Scheduling Roomba) ของ iRobot Roomba 880
  1.  Spot : ปุ่มนี้มีหน้าที่เป็นปุ่มสั่งการของ โหมดการทำความสะอาดเฉพาะจุด (Spot Cleaning) ซึ่งโหมดนี้จะมีหน้าที่ทำความสะอาดพื้นที่บริเวณใกล้ๆ ภายในรัศมี 1 เมตร (3 ฟุต) จากจุดที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 เริ่มทำงาน หลักการทำงานของมันจะวิ่งวนไปเป็นรูปก้นหอย และจะวิ่งกลับมายังจุดเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อเสร็จสิ้น ประโยชน์ของการใช้โหมดนี้ในการดูดฝุ่น ก็คือหากคุณทำเศษขนมหกพื้น อาหารแห้งหกพื้น ขี้เลื่อย ขนสัตว์ร่วงหลังจากเจ้าตูบมานอนกลิ้งเกือกอยู่แถวนี้ ละก็ โหมดนี้แหละ เหมาะสมสำหรับคุณอย่างแน่นอน หากคุณกดปุ่ม “Spot” นี้เมื่อไหร่ละก็ มันจะวิ่งไปปฏิบัติหน้าที่ทันที ทันใด

นอกจากนี้มันยังมีไฟสถานะ ที่เอาไว้แจ้งเตือน และแสดงสถานะ การทำงานของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 อีกมากมาย จะอยู่รอบๆ ปุ่มวงกลมใหญ่ หรือ ปุ่มเปิดปิด อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

  1. Battery Light : ไฟแสดงสถานะแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ใกล้หมด หรือ กำลังชาร์จอยู่
  2. Dirt Detect : ไฟแสดงเซ็นเซอร์ตรวจพบถึงความสกปรกของบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก
  3. Troubleshooting Light : ไฟแสดงการแจ้งเตือนปัญหา ซึ่งเขาจะมีโค๊ดแสดงอยู่บนหน้าจอ (หน้าจอเดียวกับที่แสดงเวลานะ) โดยโค๊ดที่แสดงจะเป็นลักษณะ “Err 1” อะไรแบบนี้เป็นต้น ซึ่งสามารถตีความหมายของรหัสได้จากคู่มือการใช้งานที่ติดมาในกล่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ได้เลยทันที
  4. Anti-Tangle Light : ไฟแสดงการแจ้งเตือนของการพันของแปรงข้าง หากมีการติดขัด หรือไม่สามารถทำงานได้ ไฟนี้จะแจ้งเตือนทันที
  5. Full Bin Light : ไฟแสดงสถานะถังขยะเต็ม ถ้าหากมีขยะอยู่ในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง เป็นจำนวนมาก มันก็จะทำให้ประสิทธิภาพ และ พลังในการดูดฝุ่นลดน้อยลง ดังนั้นหากไฟดวงนี้แสดงขึ้นมา ขอให้รีบทำความสะอาดมันโดยทันที และ จากที่รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น มาหลายตัว หลายตัวไม่มีความสามารถในการแจ้งเตือน ตรงนี้

10 คำถาม ที่ทุกคนอยากรู้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880

ส่วนนี้จะเป็นส่วนของคำถามที่ผมเชื่อว่า ก่อนจะซื้อไปใช้งานแล้ว ทุกคนต้องอยากรู้ ว่ารายละเอียดหลักๆ การใช้งานจริงๆ ของมันแล้วเป็นอย่างไร ดูดสะอาดมั้ย ตกบันได หรือเปล่า วิ่งกลับฐาน (แท่นชาร์จ) เองได้หรือไม่ ? ตรงจุดนี้มีคำตอบมาให้จ้า

1. หลังจากดูดเสร็จ iRobot Roomba 880 วิ่งกลับแท่นชาร์จ เองได้หรือเปล่า ?

ตามหลักการและสเปคของผู้พัฒนาแล้วคือ “วิ่งกลับได้อัตโนมัติ” หลังจาก การใช้งานจริง ที่ทดลองใช้ทุกวันมาแล้วเกือบ 2 อาทิตย์ มันสามารถกลับเข้ามาชาร์จไฟยัง แท่นชาร์จ ได้เกือบทุกวัน แต่มีอยู่แค่ วันเดียวที่ไปติดค้างอยู่ข้างนอก ไม่ยอมกลับแท่นชาร์จ เนื่องจากไปเกยตื้นอยู่บนฐานเก้าอี้ทานข้าว ตามรูปประกอบด้านล่าง

Floor Between Living Room and Dining Chair
ขาเก้าอี้ทานข้าว

ดังนั้นคำแนะนำคือหากคุณมีขาเก้าอี้ หรือ อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่มีความสูงประมาณ 2-3 เซนติเมตร กรุณาหลีกเลี่ยง โดยการเอาอะไรมาขวาง หรือ ยกเก้าอี้วางไว้บนโต๊ะเสียก่อน เพื่อจะได้ให้มันดูดได้สะดวก และไม่ต้องติดคาอยู่ตรงนี้ ไม่วิ่งกลับแท่นชาร์จ

สาเหตเพราะ ระยะความสูงระดับนี้ ถือว่าค่อนข้างสูง แต่มันยังพออยู่ในระยะทางหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้สามารถปืนข้ามไปได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปืนได้ทุกครั้ง นั่นหมายความว่า บางครั้งมันอาจจะปืนได้ บางครั้งมันก็อาจจะปืนไม่ได้ ด้วยถึงความเร็วตอนวิ่งปีน มุมตอนวิ่งปีน ต่างๆ ถ้าหากได้จังหวะ ได้มุม มันก็ผ่านไปได้ แต่ถ้าไม่ได้จังหวะ มันก็อาจจะไปติดแหง็ก คาอยู่บนขอบ

2. วิ่งตกบันไดหรือไม่ ?

ด้วยความสามารถระดับเทพขนาดนี้ ด้วยเซ็นเซอร์พื้นที่ต่างระดับ (Cliff Sensor) ที่มีอยู่รอบตัวในตำแหน่งใต้เครื่องกว่า 6 จุด ทำให้มั่นใจได้เลยว่า หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้ จะไม่สร้างความเสียหายกับตัวมันเอง หรือเรียกได้ว่า ฆ่าตัวตาย โดยการตกบันได อย่างแน่นอน

3. เอาตัวรอดจากอุปสรรคสิ่งกีดขวางได้ไหม ?

หุ่นยนต์ดูดฝุ่นหลายตัว มักจะมีปัญหาเรื่องการเอาตัวรอดจากอุปสรรค สิ่งกีดขวางที่อยู่บนพื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับสิ่งที่เรียกว่า “สายไฟ” เพราะสายไฟนั้นมันมีรูปทรงที่ไม่แน่นอน จะวงกลมก็ไม่ใช่ สี่เหลี่ยมก็ไม่ใช่ และนอกจากนี้แล้วมันยังพริ้วไหวตัว เปลี่ยนรูปทรงได้อยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เอง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น บางตัวถึงขั้นเอาตัวรอดไม่ได้ ไปไม่เป็นกันเลยทีเดียว จนสุดท้ายทำให้แบตเตอรี่หมด และจอดตายมันอยู่ตรงนั้นเลยทีเดียว

ผมก็ได้ทดลองให้มันวิ่งเข้าหาสายไฟพัดลม กับเครื่องฟอกอากาศของผมด้วยใจตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่ามันจะทำสายไฟตรูพังหรือเปล่า แต่เพื่อรีวิวฉบับนี้ ก็ยอมลงทุนปล่อยให้มันวิ่งเข้าไปสู้กับมัน !

iRobot Roomba 880 Working
หุ่นยนต์ iRobot Roomba 880 ขณะกำลังปฏิบัติงานภายใต้สายไฟ

ผลลัพธ์คือ มันสามารถวิ่งเข้าไปพัวพันกับสายไฟ และเอาตัวรอดออกมาได้ แบบไม่สร้างความเสียหายใดๆ ให้กับทั้งสายไฟ และ ตัวเครื่อง iRobot Roomba 880 เอง

4. สามารถวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับได้มากน้อยแค่ไหน ?

โดยรวมๆ ผ่านได้ แต่ให้ไม่เกินขนาดความสูงประมาณ < 1.5 เซนติเมตร เพราะจากที่ลองทดสอบแล้ว ถ้าสูงกว่า 2 เซนติเมตร นั้นก็มีโอกาสผ่านได้ แต่มีโอกาสเสี่ยงที่ผ่านแล้วจะไปติดอยู่เช่นกัน

จากรูปประกอบด้านล่าง ที่มีทั้งพื้นที่ต่างระดับระหว่างห้องน้ำกับห้องโถงรับแขก และ มีพรมเช็ดเท้าอีก 2 ผืน โดยผืนนึงไม่มีขน และอีกผืนนึงมีขนเยอะและหนา จากการทดสอบ เจ้า iRobot Roomba 880 ก็สามารถแล่นผ่าน และเอาตัวรอดได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาอย่างยิ่งพรมที่มีขนหนา ตอนแรกก็ดูเหมือนจะผ่านไม่ได้ แต่สุดท้ายมันก็เอาตัวรอดออกมาได้ดี

Floor Between Living Room and Bathroom
พื้นต่างระดับ ห้องน้ำ กับ ห้องโถง และ พรมเช็ดเท้าในรูปแบบต่างๆ ก็วิ่งผ่านได้

5. มีระดับเสียงดังมากน้อยแค่ไหน

จากการที่ทดสอบด้วย แอพ LINE Tools ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นเครื่องมือสารพัดประโยชน์ของ LINE ในส่วนของฟังก์ชั่น Sound Level Meter ซึ่งเป็นส่วนที่เอาไว้วัดระดับความดังของเสียง หน่วยเป็นเดซิเบล (dB) แล้วนั้น พบว่ามี ระดับเสียงอยู่ที่ 63 dB บวกลบนิดหน่อย เพราะผมต้องเอาไมโครโฟนของมือถือเข้าไปจ่อใกล้ๆ ขณะมันกำลังทำงาน ถือว่าค่อนข้างเบากว่ามาตรฐานของเครื่องดูดฝุ่นทั่วๆ ไปและ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ยี่ห้ออื่นในบางรุ่นอีกด้วย

iRobot Roomba 880 Soundtest
ระดับความดังของเสียง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 ที่ใช้แอพ LINE Tools ตรวจวัด

 

6. เทคโนโลยี AeroForce™ ของ iRobot ดูดสะอาดจริงหรือไม่ ?

หุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นก่อนๆ จะเป็นแค่ใช้แปรงกวาดหลัก (Main Brush) จำนวน 1 แปรง ในการปั่นเพื่อดูดฝุ่นเข้าไปเก็บเอาไว้ในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง แต่สำหรับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 ตัวนี้นั้น มีเทคโนโลยี ที่เค้าเรียกว่า AeroForce™ เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ iRobot เท่านั้น หลักการคือ ตัวเครื่องจะ ใช้ทั้งแปรงกวาดหลัก ถึง 2 แปรง พร้อมระบบลมดูด (Vacuum) เสริมกำลัง พลังดูด จากด้านท้ายเครื่อง เพื่อให้การดูดฝุ่นนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

จากประสบการณ์ที่ลองใช้งานมาแล้ว หากมันวิ่งผ่านพื้นที่ที่มีเส้นผมอยู่ เพียงแค่ครั้งเดียวก็สามารถดูดได้สะอาดแล้ว โดยไม่ต้องวิ่งมาดูดซ้ำเพิ่มอีก

iRobot Roomba Main Brush
แปรงกวาดหลัก 2 แปรง จุดเด่น ตัวชูโรง ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 รุ่นนี้เลย ดูดสะอาดจริง ลดโอกาสการติดพัน

7. กำแพงเสมือน Virtual Wall Lighthouse ใช้ดีจริงไหม ?

ตอนเปิดเริ่มใช้งานวันแรกๆ ยังไม่ได้เอาเจ้ากล่อง Virtual Wall Lighthouse มาใช้งาน ก็เปิดใช้งานปกติ ห้องผมเป็น 3 ห้อง (1 ห้องโถงใหญ่ 2 ห้องนอน) มันก็วิ่งเข้าออกห้องแต่ละห้องกันอย่างทั่วถึง แต่ก็มีวนเข้าวนออกบ้าง ตามประสาหุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั่วไป

แต่เมื่อหลังจากลองเอากล่อง Virtual Wall Lighthouse มาใส่ถ่านและใช้งาน โดยวางไว้ปากประตูของห้องนอนแต่ละห้อง แล้วก็เปิดโหมด “Lighthouse” แล้วรู้สึกเลยว่าการดูดฝุ่นของมันมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก เพราะมันจะดูดห้องนึงให้เสร็จทั่วถึงทุกบริเวณก่อนที่จะออกไปดูดในห้องนอนย่อยต่อๆ ไป แบบนี้จะเป็นอะไรที่สะอาดหมดจดจริงๆ ไม่ได้วิ่งมั่ว เข้าๆ ออกๆ

iRobot Roomba Virtual Wall Lighthouse Running
วาง Virtual Wall Lighthouse ไว้ปากประตูทางเข้าของห้องนอน

8. หลังจากใช้งานแล้วฝุ่นดูดออกมาได้เยอะหรือไม่ ?

ก่อนอื่นผมขอบอกไว้ก่อนว่า ผมมีใช้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นอีกตัว ดูดที่ห้องคอนโดมิเนียม เป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว โดยตั้งเวลาทำความสะอาด (Cleaning Schedule) เอาไว้ให้มันดูดเป็นประจำทุกวันตอนเย็น เวลา 17:30 น. และนอกจากนี้แล้วรอบดึก หลังจากกลับมาถึง ยังมีการถูพื้นด้วยไม้ถูพื้นชุบน้ำหมาดๆ ด้วยตัว (ภรรยา) ผมเอง อีกเป็นประจำทุกวัน (เป็นคนรักความสะอาดสุดๆ)

ด้วยเหตุนี้เอง การทดสอบ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 ผมจึงได้ลองดูดตอนสายๆ ประมาณ 9:30 น. ของทุกวันแทน แต่ในขณะที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นอีกตัวที่ใช้ประจำ ก็ยังคงดูดตอนเย็นเหมือนเดิมต่อไป และผลที่ได้รับหลังจากการผ่านการใช้งานมา 3 วัน โดยไม่ได้ทำความสะอาด กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง คือ มีเศษผม และ เศษฝุ่นละออง อยู่ในกล่องมากมายในระดับนึง (นี่ขนาดถูพื้น และ มีหุ่นยนต์ดูดฝุ่น อีกตัวทำงานเป็นประจำตอนเย็นอยู่แล้วนะ) ลองดูภาพประกอบด้านล่างนี้เลย

9. iRobot Roomba 880 ต่างกับ iRobot Roomba 870 อย่างไร ?

หลายคนอาจจะไปศึกษาหาข้อมูลของ iRobot Roomba จากแหล่งอื่น มาบ้างแล้ว และอาจจะพบว่ามันมีรุ่นน้องของมันอีกรุ่นอย่าง iRobot Roomba 870 ด้วย (ตัวที่เรารีวิวคือ Roomba 880) อาจจะเกิดความสงสัยว่า 2 รุ่นนี้ มันต่างกันอย่างไรกันแน่ คำตอบคือ “เหมือนกันทุกอย่าง !!” ทั้งมิติ กว้าง ยาว น้ำหนัก แผ่นกรองอากาศ HEPA รวมไปถึง เทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ ยกเว้น 2 ออปชั่นหลัก ที่ตัว 870 ไม่ได้มีให้มาคือ

  1. Remote Control : สำหรับรุ่น 870 จะไม่ได้ให้รีโมทคอนโทรล เหมือน รุ่น 880 เพื่อให้คุณได้สั่งการระยะไกลได้ อยากสั่งการนะเหรอ ! เดินไปที่หน้าเครื่องเองเลย ออกกำลังกายกันหน่อย ฮึบ ฮึบ !!
  2. Virtual Lighthouse Mode : โหมดประภาคารสั่งการทำงานข้ามห้อง “Room-to-Room Navigation” ตรงจุดนี้จะไม่มีมาให้

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถ้าคุณคิดว่าหากขาด เจ้า 2 สิ่งด้านบนนี้ไปแล้ว ก็ไม่เป็นไร รับได้ และรู้สึกว่ามันไม่จำเป็นสำหรับคุณ ก็สามารถถอย iRobot Roomba 870 มาใช้ได้เช่นกันนะ

ในส่วนของเรื่องราคาก็ iRobot Roomba 880 แพงกว่า iRobot Roomba 870 อยู่ประมาณ 3,600 บาท ด้วยกัน

10. อะไหล่หายากมั้ย และ การรับประกันเป็นอย่างไร ?

โชคดีตรงที่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba นั้นถูกนำเข้าประเทศไทย และ จัดจำหน่ายโดย บริษัท ทีเอชโรโบติก จำกัด (www.throbotics.com) สำนักงานตั้งอยู่ที่

842 ซอยสุขมวิท 55 (ทองหล่อ) ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110

เวลาทำการ : จันทร์ – เสาร์ เวลา 9.00 – 18.00 น.
โทรศัพท์: 02 714 7799

เซอร์วิส เซ็นเตอร์ : 080 057 4757, Email: service@throbotics.com

ฝ่ายขาย : 091 818 8870, Email: shopthonglor@throbotics.com

ดังนั้นเรื่องเครื่องเสีย มีปัญหานั้นหายห่วงเลย มีศูนย์บริการอยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศไทย ด้านอะไหล่มีให้เปลี่ยนเกือบครบทั้งตัวเครื่อง ราคาก็แตกต่างกันออกไป ที่แพงสุดเห็นเหมือนจะเป็นแบตเตอรี่ ราคาเหยียบ 4 พันกว่าบาทเลยทีเดียว ลองดูรายละเอียดอะไหล่ พร้อมราคาได้ที่

http://www.throbotics.com/accessories.php?Model=Roomba%C2%AE880

สำหรับรายละเอียดการรับประกัน ของ iRobot Roomba 880 นั้นจะรับประกันตัวเครื่อง (ที่อยู่ในสถาพดี) เป็นเวลา 1 ปี (ไม่รวมแบตเตอรี่) แต่หากเป็นตัวแบตเตอรี่ จำรับประกัน 6 เดือน (ครึ่งปี)

บทสรุปหลังการใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880

ที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับ บทสรุปปิดท้ายก่อนจากกันในแต่ละรีวิวบนเว็บไซต์ Thanop.com เราก็จะต้องมีการสรุป ข้อดี ข้อเสีย ที่เกิดขึ้น หลังการใช้งานจริงๆ จากประสบการณ์จริงๆ มาให้คุณผู้อ่านได้ทราบ เพื่อเอาไว้ใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจ ซึ่งข้อมูลทั้งหมด ขอเรียนตามตรงว่าเป็นการเขียนที่เป็นกลาง อันไหนดีกว่าตัวอื่น ก็ว่าดี อันไหนแย่กว่าก็ว่าแย่ ว่ากันไปตามเนื้อผ้ากันจริงๆ

ข้อดี 🙂

  • มีแปรงกวาดหลัก 2 แปรง ทำมาจากวัสดุยางเหนียว ทำให้ประสิทธิภาพการดูด มีมากขึ้นกว่าเดิม ดูดได้ละเอียดกว่าเดิม
  • มีระบบสร้างกำแพงเสมือน (Virtual Wall Lighthouse) ที่ชาญฉลาดและทันสมัยกว่าใครเพื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน โหมด Lighthouse
  • มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ 4,400 mAh ถือว่ามากกว่าใครเพื่อน หากเทียบกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในรุ่นเดียวกัน
  • แบตเตอรี่สามารถถอดไปเก็บรักษาได้ง่าย เพียงแค่ขันสกรู ที่อยู่ใต้เครื่องออก 2 ตัว ถ้าเทียบกับตัวอื่นๆ การถอดแบตเตอรี่ออกนั้น เป็นไปได้ยุ่งยาก และ บางรุ่นอาจต้องอาศัยช่างผู้ชำนาญในการถอดประกอบแบตเตอรี่ออกจากเครื่อง
  • มีหูหิ้ว (Carry Handle) ที่ให้สามารถยกเครื่องไปไหนมาไหนได้สะดวก และถนัด โดยไม่ต้องกลัวหล่นพื้น
  • ตัวเครื่องดูดฝุ่นสามารถเคลื่อนที่ได้เร็ว ถือว่าทำงานเร็วพอสมควร
  • เวลาวิ่งชนขา ขณะกำลังยืนอยู่ ไม่ค่อยรู้สึกเจ็บเท่าไหร่นัก ถ้ามันรู้สึกว่าชนสิ่งกีดขวางเมื่อไหร่ มันจะถอยหลัง ออกห่าง เพื่อหลีกเลี่ยงไปยังเส้นทางอื่นโดยทันที
  • มีระดับเสียงที่เงียบหากเทียบกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในรุ่นเดียวกัน ผมวัดเองได้ประมาณ 63 dB. (ผู้ผลิตบอกว่า 66 dB เงียบกว่าที่เคลมเอาไว้)
  • มีแปรงกวาดข้าง (Side Brush) ที่มีขนาดยาว ทะลุทะลวงตามซอกมุมได้ดี
  • มีรีโมทคอนโทรล ที่ทำให้นั่งอยู่กับที่ ก็สามารถสั่งงานหุ่นยนต์ ให้ทำงานตามต้องการได้
  • กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ถือว่ามีความแข็งแรงสูง ทำความสะอาดง่าย ไม่ซับซ้อน
  • สามารถเอาตัวรอดจากสายไฟ ที่วางกองอยู่บนพื้นได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีการติดชะงัก และ ดับอยู่กับที่ตรงนั้น
  • มีความพิถีพิถัน ในการบรรจุผลิตภัณฑ์ ใส่กล่องมาจากโรงงานเป็นอย่างดี ส่วนไหนที่อาจกระทบกันได้ ก็จะมีวัสดุป้องกันความเสียหาย

ข้อเสีย 🙁

  • ตัวเครื่องมีผิวสัมผัสที่มันวาว จับบ่อยๆ เป็นลายนิ้วมือ หากเป็นคนชอบให้เครื่องรูปลักษณ์ภายใน ใสใหม่กิ๊กอยู่ตลอดเวลา (เหมือนผม) ต้องทำความสะอาดกันบ่อยๆ ละ
  • กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง มีขนาดค่อนข้างเล็ก ประมาณ 0.4 ลิตร หากเทียบกับคู่แข่งตัวอื่นๆ ในระดับและราคาใกล้เคียงกันจะมีขนาดกล่องใส่ขยะ อยู่ประมาณ 0.6 ถึง 0.7 ลิตร
  • หากจะทำงานให้ดี มีประสิทธิภาพ ละก็จะต้องทำงานร่วมกับอุปกรณ์ “Virtual Wall Lighthouse” เสมอ มิเช่นนั้นหากไม่ใช้ บางครั้งมันอาจจะไม่วิ่งเข้าไปดูดฝุ่นทำความสะอาด ในบางห้อง
  • คู่มือการใช้งาน ในส่วนของภาษาไทย พิมพ์ผิด สระตก เป็นจำนวนมาก (แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะยังไงหากเป็นคนไทยแท้ ก็ยังอ่านรู้เรื่องอยู่ดี)

สุดท้ายนี้ก็หวังว่า รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านอย่างคุณได้ไม่มากก็น้อยนะ

23 ความคิดเห็น

  1. ใช้วานประมาณเดือนนึง อยู่เครื่องก็ไม่ยอมวิ่งบนพื้นแกรนิตค่ะ ซึ่งปกติจะวิ่งพื้นนี้เป็นหลักอยู่แล้ว แล้วเครื่องบอกว่า error 6 แต่เราก็ทำความสะอาดเซ็นเซอร์เช็ดฝุ่นไรต่อไรแล้วนะคะ แต่พอไปวางพื้นไม้ วิ่งได้ค่ะ พอจะทราบไหมคะ ว่าเพราะอะไร หรือต้องส่งศูนย์อย่างเดียวเลย

  2. roomb 880 กินไฟมากมั้ยคะ
    แล้วอายุการใช้งานของเครื่องประมาณกี่ปีคะ

    • เรื่องกินไฟผมไม่เคยวัดตรงนี้นะครับ แต่ผมคิดว่าน้อยมากๆ ครับ ไม่น่าเกิน 20 Watts ครับ

  3. รบกวนแนะนำด้วยค่ะ ระหว่าง irobot roomba 980 กับ Neato รุ่น Connect รุ่นไหนดีคะ

    • แหะๆ ผมกำลังรีวิว ทั้ง 2 รุ่นนี้อยู่พอดีเลยครับ เดี๋ยวถ้าเสร็จแล้ว ผมจะรีบแจ้งนะครับ หรือคุณ Pinball เข้ามาดูใหม่ช่วงประมาณ ปลายๆ สัปดาห์หน้านี้นะครับ น่าจะเสร็จทั้ง 2 ตัวนะครับ

  4. ผมใช้ Samsung VR20H9050UW/ST POWERbot และ Irobot roomba880 ชอบ samsung มากกว่า การที่มันมีกล้องด้านบนทำแผนที Samsung เลยทำงานได้หลายห้องมากกว่า มันมีเซนเซอร์มากกว่าหลบหลีกได้ดีกว่าข้อเสียคือตัวสูงทำให้บางพื้นที่มันมุดไม่ได้แต่การวัดพื้นที่ต่างระดับทำได้ดีกว่า Irobot ถ้าพื่้นที่ต่างระดับสูงน้อยกว่า10ซม.บาวครั้ง IROBOT ค้างอยู่ตรงนั้นเลย การกลับแท่นSamsung ทำได้ดีกว่าใช้มายังไม่เคยเจอกลับแท่นไม่ได้ ราคาตอนนี้ถูกกว่ากันประมาณ 7000บาท

  5. รบกวนช่วยแนะนำหน่อยค่ะ สนใจ iRobot Roomba880 กับ Samsung Powerbot VR9000 รุ่นไหนใช้ได้ดีกว่ากันค่ะ ขอบคุณค่ะ

  6. เจ้าตัวนี้ มันกวาด (ดูด) ฝุ่น แต่ไม่ได้ถูพื้นใช่ไหมค่ะ
    และกล่องเก็บฝุ่น สามารถใช้งานได้กี่ครั้ง หรือกี่วัน (อายุการใช้งาน) ค่ะ พอทราบไหมค่ะ

    ขอบคุณมากๆ ค่ะ
    ปล. อ่านแล้วมีประโยชน์มากๆ เลย ช่วยในการตัดสินใจในการซื้อ ให้เห็นภาพทุกมิติเลยค่ะ ขอบคุณอีกครั้งนะคะ

    • ใช่ครับผม มันกวาดพื้นอยากได้ แต่ไม่ได้ถูพื้นโดยใช้น้ำ ถ้าต้องการจะถู ต้องซื้อรุ่นที่เป็น iRobot Scooba ครับ (ตัวนี้เป็น Roomba) คนละซีรีย์กัน

      ในส่วนของกล่องเก็บฝุ่นนี่คือ ประมาณ 2-3 วันควรจะเคลียร์ ทำความสะอาดสักครั้งนึงนะครับ เพราะถ้ายิ่งปล่อยนานวันไป ฝุ่นเยอะขึ้น พลังดูดมันก็จะต่ำลงครับผม

      ขอบคุณที่ติชมนะคร้าบ 🙂

  7. รบกวนค่ะไม่ทราบว่ารุ่นที่มีรีโมทและแปลงปัด2อันราคาเท่าไหร่ค่ะ

  8. สวัสดีครับ

    ผมสนใจจะซื้อมาใช้ครับ อยากรบกวนสอบถามคุณนิ้งว่า ถ้านำไปใช้ต่างประเทศจะต้องใช้ Adapter เพื่อแปลงไฟหรือเปล่าครับ

    ขอบคุณครับ

      • ขอบคุณมาก ๆ ครับ คุณนิ้ง
        รีวิวของคุณนิ้งนี่ละเอียด สุดยอดมาก ๆ เลยครับ ^ ^

        • ขอบคุณมากๆ คร้าบ ด้วยความยินดีครับผม มีอะไรก็สอบถามเข้ามาได้เลยเรื่อยๆ นะครับ

  9. ผมสนใจจะหามาใช้อีกสักเครื่อง ช่วยแนะนำด้วยครับ ตัวไหนดีกว่ากัน ระหว่าง irobot กับ neato
    เดิมผมใช้ Lg hombot square อยู่เสียงเงียบดี แต่รู้สึกดูดไม่ค่อยแรง
    และชอบกินสายไฟ บ่อยๆ
    ขอบคุณครับ

    • ส่วนตัวผมชอบ Neato ครับ รู้สึกว่ามันวิ่งกลับฐาน แท่นชาร์จ ได้อย่างแม่นยำมากกว่า แต่ข้อเสียของมันคือเสียงดังกว่า ดังค่อนข้างมากครับ ส่วนเรื่องการความแรงของการดูดฝุ่นนั้น ทั้ง Neato Botvac และ iRobot Roomba 880 นั้นดูดแรงทั้งคู่ครับผม ลองตัดสินใจดูนะครับ อ้อ และก็ราคาต่างกันพอสมควร

      Neato Botvac ประมาณ 25k
      iRobot Roomba 880 ประมาณ 32k

      ครับผม

  10. พอดีผมใช้Neato เอาข้อมูลมา share คับ
    ผมว่าตัวนี้ดีหมดยกเว้นระบบ Lighthouse ที่ต้องใส่ถ่านนี้ละ – -”
    ถ้า bat หมดขึ้นมาจะรู้ได้อย่างไร แถมถ้าไม่เอามากั้นมันก็วิ่งมั้วๆอีก
    ผมเลยไปซื้อของ Neato มาไม่ต้องเอาอะไรไปวางทั้งนั้น มันวิ่งเป็นห้องๆเอง
    ของผมห้องข้างเยอะเป็นโถงใหญ่ 1 + ห้อง4ย่อย และก็มีอีก1ห้องซ้อนอยู่ในห้องย่อยห้องนึงอีก
    มันวิ่งครบทุกห้องหมดใน 1 Charge เลยชอบมากๆ
    แต่ข้อเสียของNeato ที่ผมเจอคือ
    – ถ้าเจอสาย iPhone อยู่บนพื่น+พรมยาวๆมันจะติดแน่นอน
    – เส้นผมยาวๆจะถูกม้วนๆติดอยู่ที่แปรง(พันเยอะๆบาดแปลงขาดด้วย)และตัว bearing(ลูกปืน)ลองเปลี่ยนเป็น “Sealed” Ball Bearing ก็ติดเยอะอยู่ดี
    ตรงนี้ต้องดูบ่อยๆเลย
    – ชอบรื่อกองหนังสือพิมพ์ด้วยไม่รู้เป็นอะไร เหมือนมันชนแล้วเห็นว่ามันขยับได้มันเลยใถๆๆ ไปเรื่อยๆ -*-

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้